Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ปกติการวัดความเหลื่อมลำ้ทางเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ มักจะมีมาตรวัดจากรายได้ในแต่ละปีอยู่ 2-3 อย่าง เช่น

วัดจาก GINI Coefficient Index ซึ่งมีค่าตั้งแต่ 0 ถึง 1 ถ้า0 แปลว่าทุกคนได้รับรายได้เท่ากันหมด ถ้า 1 แปลว่า คนเดียวได้ไปหมด ประเทศกลุ่มที่การกระจายดีสุดได้แก่ กลุ่มประเทศยุโรปเหนือ เช่น Sweden Denmark Norway Finland จะมีค่าอยู่แถว 0.25 ส่วนที่ห่วยเกิน 0.5 มักเป็นประเทศด้อยพัฒนา

ของไทยเรา ค่า GINI ดูเหมือนดีขึ้นเรื่อยๆ จาก 45.2%ในปี1980 ไหลลงไปพีคสุดปี 1992 ที่ 47.9 แล้วก็ปรับดีขึ้นมาตลอด เป็น 42.8 ในปี 2000 และมีเฮ เบรค40ได้ครั้งแรก คือเป็น 39.4% ในปี 2010 ส่วนนี้หลายคนสงสัยว่าการเก็บสถิติดีพอหรือเปล่า กับถ้าศึกษาลงไปรายละเอียด รายกลุ่ม ค่าGINI จะบอกผลแตกต่างอื่นๆหรือเปล่า (ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล เคยทำวิจัยนำเสนอในงาน BOT Symposium)

วิธีวัดอื่นๆก็มี เช่น เอารายได้ในหนึ่งปี ของคน 10% ที่รวยสุด มาหารด้วย คน 10% ที่จนสุด ของเราเท่ากับ
12.6 เท่า ซึ่งคงที่แถวนี้มา 25 ปีแล้ว (ของประเทศ Scandinavia อยู่ที่ 6 เท่า ของญี่ปุ่น 4.5 เท่า)

รายได้ของคนไทย 1% แรกมีส่วนแบ่ง 13% ของGNP (ข้อมูลดร.กอบศักดิ์) คนรวยๆปลิ้นก็จริง แต่คนจน(ตามนิยามเส้นความยากจนของ UN) ก็ลดจำนวนลงอย่างมาก จาก 40% ในปี 1988 เหลือน้อยกว่า10% ในปัจจุบัน

ดูเผินๆเราก็ไม่ได้เลวร้ายสักเท่าใดในด้านความเหลื่อมลำ้ด้านรายได้ แต่ที่มันลุกลามมากลายเป็นปัญหาแตกแยกใหญ่โต มันมีมิติอื่นๆทางสังคม ทางการเมือง และการไหลเข้าเมืองของประชากรชนบท ซึ่งผมได้เขียนวิเคราะห์ไว้หลายครั้งแล้ว

แล้วความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่ง(Wealth Distribution)ล่ะ ของไทยเราเป็นอย่างไร

ปกติไม่มีมาตรวัดที่ชัดเจน แต่เนื่องจาก"ความมั่งคั่ง" หรือ Wealth หมายถึง "รายได้ส่วนเกินสะสม" ก็เป็นที่อนุมานได้เลยว่า ความแตกต่าง ความเหลื่อมลำ้ จะยิ่งทวีขึ้นยิ่งกว่าความเหลื่อมลำ้ด้านรายได้มากมาย เพราะเป็นที่รู้กันอยู่ว่า คนรายได้น้อย หรือที่เราชอบเรียกว่าเป็นพวก"หาเช้า กินคำ่" นั้นย่อมไม่มีรายได้ส่วนเกินที่จะสะสม แถม
คนจำนวนมากมักจะหาได้ไม่พอ ติดขัดต้องกู้ยืม หรืออาจเรียกได้ว่า "ความมั่งคั่งติดลบ" คือ มีหนี้มากกว่าทรัพย์สินเสียด้วยซำ้ ยิ่งสถาบันการเงินแข่งกันเอาเงินมาเสนอให้กู้ประเภท"ใช้ไปก่อน แล้วค่อยหามาคืนทีหลัง" ประกอบกับรัฐประเคน"เงินกู้ประชานิยม"ให้อีกอย่างต่อเนื่อง ก็เลยประมาณได้ว่า คนไทยไม่น้อยมีความมั่งคั่งตำ่ หรือติดลบเลยทีเดียว

แล้วสถิติที่ว่า ประเทศไทยมีการออมดี ความลึกทางการเงินก็ใช้ได้ Financial Depth > 250%ของ GDP มันมาจากไหนกันล่ะ ใครมันเป็นเจ้าของ

จากข้อมูลในหน้าการเงินของ"โพสต์ทูเดย์"วันนี้(2 มีค.57) มีตารางตัวเลขที่น่าสนใจมากครับ

- เรามีบัญชีเงินฝากธนาคารรวม 84.5 ล้านบัญชี เรียกว่าประชาชนแทบทุกคนมีบัญชีเงินฝากธนาคาร มีเงินฝากรวม 11 ล้านล้านบาท

- บัญชีเกิน 500 ล้าน(ผมเชื่อว่าหลายส่วนเป็นบ/ช บริษัท) มี 1,110 บัญชีแต่ฝากเงิน 1.52 ล้านๆบาท

- บัญชีเกิน 10 ล้าน มีรวมประมาณ 108,759บัญชี รวมมีเงินฝากถึง 5.44ล้านล้านบาท คิดเป็น 49% ของเงินฝากทั้งหมด

- บัญชี 1-10 ล้าน มี1,154,722 บัญชี มีเงินฝาก 3 ล้านๆ

- สรุป แสนคน(.02%ของคนไทย)มี 49% 1.2 ล้านคน (2% ของประชากร)มี 76.4% ของเงินฝากทั้งหมด

- ที่เหลือแบ่งกันไปในหมู่ประชากรส่วนใหญ่ โดยมีถึง 76.8 ล้านบัญชี (91%ของบัญชีทั้งหมด)ที่มีเงินฝากไม่ถึง 100,000บาท ซึ่งน่าจะถือได้ว่ายังไม่มีเงินออม หรืออาจมี"ความมั่งคั่ง"ติดลบด้วยซำ้

จริงอยู่ ตัวเลขเหล่านี้อาจยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ถูกต้องทั้งหมด หลายคนคงมีหลายบัญชี บัญชีใหญ่หลายอันอาจเป็นของบริษัท(ซึ่งก็เป็นของคนรวยอีกแหละ)หรือหน่วยงานราชการ แถมการออม ทรัพย์สินทางการเงินอื่นๆก็มีให้เลือกอีกเยอะขึ้น แต่อย่างน้อย ก็น่าจะพอฉายภาพรวมภาพใหญ่ เกี่ยวกับ "การกระจายความมั่งคั่งในประเทศไทย"ได้บ้าง น่าที่จะได้มีการศึกษาวิจัยกันต่อให้มาก (เห็นตัวเลขแล้วก็รู้ได้เลยว่าเป็นโจทย์ที่หนักหนาสาหัสเอาการอยู่)

เพราะใครๆก็ตะโกนกันไปทั่ว ว่าเราจะแก้ปัญหา "ความเหลื่อมลำ้"

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net