Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


การประกาศผลรางวัลออสการ์เพิ่งจบไปหมาดๆ แต่ในแวดวงลิขสิทธิ์ยังมีปัญหาปวดหัวกันไม่จบ เนื่องจากในสัปดาห์ที่ผ่านมามีคดีสำคัญออกมาจาก ศาลอุทธรณ์เขตที่ 9 (The Court of Appeal of the 9th Circuit) แห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นศาลที่มีอิทธิพลสูงยิ่งต่อวงการภาพยนตร์เนื่องจากเป็นศาลที่พิจารณาคดีลิขสิทธิ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย จนได้รับการขนานนามว่าเป็น "ศาลอุทธรณ์ของฮอลอีวู้ด" คดีดังกล่าวคือ Garcia v. Google, Inc. (พิพากษา ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗) ซึ่งถูกคาดว่าจะสร้างความตื่นตัวต่อการตีความสิทธิของนักแสดงโดยเฉพาะในวงการหนังสั้น หรือหนังอินดี้ในอนาคต

คดี Garcia v. Google เป็นกรณีสืบเนื่องมาจากการสร้างหนังสั้นอื้อฉาว "The Innocence of Muslim” เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๕ โดยตัวหนังมีเนื้อหาล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัด และถ่ายทอดชีวประวัติของท่านนบีในลักษณะอื้อฉาว ทำให้เกิดกระแสต่อต้านตัวหนังอย่างรุนแรงไปทั่วโลกมุสลิม เป็นผลให้มีมีท้ังคนตาย และการขู่ฆ่าบุคคลที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยผู้นำมุสลิมในหลายประเทศได้เรียกร้องในรูปแบบของ "ฟัตวา" (fatwa) ให้มีการสังหารผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง "Innocence of Muslim” ทุกคน อย่างไรก็ดีทางบริษัท Google ผู้เป็นเจ้าของ Youtube ปฏิเสธที่จะนำภาพยนตร์ดังกล่าวออกจากการเข้าถึงของสาธารณะชน โดยเหตุผลว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกอัพโหลดโดยตัวผู้ทำหนังเอง และรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาปกป้องสิทธิการแสดงความคิดเห็นทุกอย่างแม้จะเป็น hate speech ก็ตาม โดยการวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาอยู่ในขอบข่ายที่ยอมรับได้ในสังคมและกฎหมายอเมริกัน

นางสาวการ์เซีย เป็นบุคคลหนึ่งที่ถูกจ้างให้มาแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้ เธอได้รับข้อความขู่ฆ่ามากมายมหาศาล และ หวาดกลัวต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตน จึงยื่นฟ้องบริษัทกูเกิ้ลให้นำภาพยนตร์ออกจากยูทูปทันที ที่น่าสนใจคือการ์เซียอ้างว่าหนังเรื่องนี้ละเมิดลิขสิทธิ์ของเธอในฐานะนักแสดง ทั้งๆที่เธอปรากฎเป็นตัวประกอบในหนังเรื่องนี้เพียงแค่ ๕-๖ วินาทีเท่านั้น ซึ่งไม่เคยปรากฎมาก่อนว่าตัวประกอบที่โผล่ในหนังเพียงช่วงสั้นๆ สามารถฟ้องห้ามเอาหนังออกเผยแพร่ต่อสาธารณะชน โดยการ์เซียเปิดเผยต่อไปว่า เธอถูกหลอกลวงให้มาแสดงหนังเรื่องนี้ ซึ่งตอนแรกเธอเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นตัวอย่างหนังเรื่อง "นักรบทะเลทราย" (Dessert Warrior) และไม่ทราบเลยว่าเนื้อหามีความเกี่ยวข้องกับศาสดามูฮัมหมัด 

ปัญหาสำคัญในเรื่องนี้ คือ ประเด็นว่านักแสดงที่รับจ้างแสดงตามบทมี "ลิขสิทธิ์" ในงานสร้างสรรค์ในฐานะ "ผู้สร้างสรรค์" คนหนึ่งหรือไม่? และหากจะตอบว่าใช่ ก็มีคำถามต่อไปว่าตัวนักแสดงดังกล่าวสามารถฟ้องห้ามนำภาพยนตร์ออกเผยแพร่ต่อสาธารณะชนได้หรือไม่แค่ไหน อย่างไร? เราจะแยกพิจารณาปัญหาข้อนี้ออกเป็นประเด็นย่อยตามการให้เหตุผลของศาลอุทธรณ์เขตที่ 9 (The Court of Appeal of the 9th Circuit) ดังต่อไปนี้

1. นักแสดงมีลิขสิทธิ์หรือไม่

ปกติในทางปฏิบัติ นักแสดงไม่ถือเป็นผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นแต่คนเล่นตามบทที่เขาแต่งขึ้น แต่เนื่องจากนักแสดงมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์ ในทางกฎหมายแล้วสิทธิ์ของนักแสดงตามปกติจึงถือว่าเป็นเพียงสิทธิข้างเคียง (neighboring rights) ของงานอันมีลิขสิทธิ์เท่านั้น นักแสดงมีสิทธิ์ที่จะเรียกค่าตอบแทนตามความเป็นธรรมได้ และสามารถห้ามการบันทึกเทปการแสดงของตนได้ แต่หากมีการบันทึกเทปการแสดงนั้นเกิดขึ้นก็ต้องถือว่า "ลิขสิทธิ์" ตกเป็นของผู้ที่ถ่ายทำบันทึกเทป พูดง่ายๆว่ากฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความสำคัญกับคนทำหนังมากกว่านักแสดง

แต่ปัญหาไม่จบเท่านั้นเนื่องจากตามกฎหมายแล้ว งานนาฏกรรม (แยกออกได้เป็นสามประเภท คือ dramatic/dramatico-musical, choreographic และ การแสดงใบ้) สามารถได้รับความคุ้มครองได้โดยอัตโนมัติแม้ไม่ได้มีการบันทึกไว้ ขึ้นอยู่กับกฎหมายของแต่ละประเทศว่าจะกำหนดให้การบันทึก หรือ fixation เป็นเงื่อนไขของการคุ้มครองหรือไม่

ศาลอุทธรณ์ในคดี Garcia พิพากษาว่า การแสดงของการ์เซียเป็นงานสร้างสรรค์อันมีลิขสิทธิ์ แยกต่างหากจากตัวหนังแม้ว่าเธอจะไม่ได้เขียนสคริปต์ก็ตาม และแม้ว่าจะเป็นแค่ตัวประกอบย่อยๆ! ผลของคำพิพากษานี้หมายความว่าในสหรัฐอเมริกา นักแสดงทุกระดับและทุกบทบาทสามารถอ้างลิขสิทธิ์ในการแสดงของตนต่างหากได้ (ในประเทศอเมริกาการสร้างสรรค์งานตามสัญญาจ้างทำของ ลิขสิทธิ์ตกเป็นของผู้รับจ้างทำของ) หากไม่มีสัญญาว่าไว้เป็นอย่างอื่น

หากเป็นกรณีหนังทุนสร้างใหญ่ๆคงไม่มีปัญหาอะไร เพราะทนายความคงร่างสัญญาให้นักแสดงและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดอยู่ในฐานะผู้รับจ้างแรงงาน ซึ่งลิขสิทธิ์จะตกเป็นของนายจ้าง แต่ในกรณีหนังทุนสร้างเล็กๆ หนังอินดี้ หรือภาพยนตร์สมัครเล่นทั่วไป เราอาจจะเห็นปัญหาเกิดขึ้นได้ในอนาคต และนอกจากนี้ตามกฎหมายอเมริกา การโอนลิขสิทธิ์แม้เป็นการโอนเด็ดขาดจะยุติลงในเวลา ๓๕ ปีโดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นการที่กฎหมายมีวัตถุประสงค์คุ้มครองศิลปินผู้แต่งเพลง หรือนักเขียนบทภาพยนตร์ ให้มีโอกาสต่อรองกับสตูดิโอใหญ่ เมื่อตนมีชื่อเสียงมากขึ้นในภายภาคหน้า ผลของคดี Garcia จึงหมายความว่าในอนาคตบุคคลที่สามารถยกเลิกการโอน หรืออนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์จะไม่ได้มีแค่นักเขียนบทเท่านั้น แต่จะรวมไปถึงนักแสดงทั้งรายใหญ่และรายย่อยๆด้วย คำพิพากษาในคดีนี้จึงสร้างแรงสั่นสะเทือนในวงการฮอลลีวู้ดไม่น้อยทีเดียว

2. นักแสดงที่ไม่ได้ทำสัญญาอนุญาตให้ผู้ถ่ายทำใช้ลิขสิทธิ์ สามารถห้ามเผยแพร่ภาพยนตร์ที่ตนเข้าร่วมแสดงได้หรือไม่

ปกติแล้วการรับจ้างแสดงบทภาพยนตร์ นักแสดงย่อมสันนิษฐานได้อยู่เองว่าผู้ถ่ายทำย่อมต้องการนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณะ หรือออกฉาย ดังนั้นถึงแม้จะไม่ได้มีการตกลงในเรื่องการอนุญาตให้ใช้สิทธิในทางกฎหมายย่อมสามารถนำออกฉายได้โดยปริยาย ทางกฎหมายเราเรียกสัญญาให้ใช้สิทธิประเภทนี้ว่า "implied license” หากจะมีปัญหาก็คือว่าขอบเขตของสัญญาประเภทนี้กว้างแค่ไหนเพียงไร?

ในคดี Garcia v. Google, Inc. ศาลอุทธรณ์ที่ 9 อธิบายว่าสัญญาอนุญาตให้ใช้โดยปริยายนี้ จะแคบเสียนักก็ไม่ได้ มิเช่นนั้นนักแสดงอาจใช้สิทธิขัดขวางการฉายภาพยนตร์ได้ง่ายๆ เพียงเพราะว่าไม่พอใจในคุณภาพการถ่ายทำ หรือไม่ชอบบทบาท หรือเกิดอายภายหลัง เช่นกรณีที่เป็นหนังประเภทติดเรท มีฉากโป๊ฉากเปลือยของตน แต่ศาลอุทธรณ์พิจารณาต่อไปว่า ในกรณีที่นักแสดงถูกหลอกลวงให้หลงผิดในบทบาทจนถึงระดับของการ "สำคัญผิดในลักษณะแห่งการจ้าง" อย่างเช่นที่การ์เซียถูกหลอกให้มาแสดงโดนได้รับแจ้งว่าเป็นหนังตัวอย่างของภาพยนตร์เรื่อง "Dessert Warrior” ที่ไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนาอิสลามโดยตรง แต่ความจริงเป็นหนังมีเนื้อหาดูหมิ่นศาสนา อย่างนี้ผู้พิพากษา Kozinski แห่งศาลอุทธรณ์ที่ 9 บอกว่าเป็นการล้ำเส้นสัญญาให้ใช้โดยปริยายเช่นว่าได้ และตัวนักแสดงคือนางสาวการ์เซียย่อมสามารถใช้สิทธิห้ามเผยแพร่ภาพยนตร์ได้

คดี Garcia จบลงโดยที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ฝ่ายจำเลย (กูเกิ้ล) เอาภาพยนตร์พิพาทออกจากระบบการให้บริการของเว็ปยูทูปทั้งหมด ทั้งนี้แม้จำเลยจะโต้แย้งว่าคำสั่งห้ามเผยแพร่ (injunction) มีขอบเขตกวางเกินไป เพราะส่วนที่เป็นลิขสิทธิ์ของนางสาวการ์เซียมีแค่ 5 วินาที แต่ศาลก็ไม่แก้ไขคำสั่ง

3. Google (ยูทูป) จะมีข้อต่อสู้อื่นๆหรือไม่

คดีนี้ถึงพิพากษาแล้วกูเกิ้ลก็ยังไม่ยอมแพ้ ล่าสุดเพิ่งยื่นขอพิจารณาคดีใหม่ให้มีการพิจารณาอุทธรณ์แบบครบองค์คณะ (en banc) นับว่าน่าชมเชยในส่วนของกูเกิ้ลที่พยายามต่อสู้เพื่อสิทธิ์ในการแสดงออกทางความคิดเห็นแม้จะไม่มีผลประโยชน์ทางการค้าอะไรโดยตรง เพราะจะว่าไปแล้วการพยายามปกป้องสิทธิในการเผยแพร่หนังที่มีเนื้อหาดูหมิ่นศาสนาอิสลามนั้น ผลได้ย่อมมีน้อยกว่าผลเสีย ถ้าใจไม่ถึงจริงคงไม่ยื้อกันมาถึงจุดนี้

ที่ผ่านมากูเกิ้ลได้สู้ไปแล้วในประเด็นว่าคำสั่งห้ามเผยแพร่จะมีผลเหมือนการเซ็นเซอร์ชิพ และย่อมขัดต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ (First Amendment) แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า "เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญไม่คุ้มครองไปถึงการละเมิดลิขสิทธิ์" ซึ่งเป็นการพิพากษาตามแนวศาลฎีกาในคดี Eldred v. Ashcroft (2003) ในจุดนี้จึงแสดงว่าในอเมริกาการใช้กฎหมายลิขสิทธิ์เพื่อป้องกันการเข้าถึงข้อมูล หรือที่เรียกกันว่าการเซ็นเซ่อร์โดยฝ่ายเอกชน (private censorship) นั้น ยังเป็นความจริงอยู่มาก

อย่างไรก็ดี กูเกิ้ลยังไม่แพ้โดยสิ้นเชิงเพราะยังสามารถยื่นเป็นคดีใหม่ขอให้ศาลรับรองว่าการใช้งานลิขสิทธิ์นี้เป็นการใช้โดยชอบธรรมในลักษณะ Fair Use ได้ เนื่องจาก ประการแรก ภาพยนตร์ "The Innocence of Muslim” เป็นภาพยนตร์ที่มีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์ ซึ่งแม้จะมีเนื้อหาไม่เหมาะสม แต่ก็ไม่เป็นเนื้อหาที่ผิดกฎหมายในประเทศอเมริกา และการเปิดให้สาธารณะชนเข้าถึงย่อมมีประโยชน์ทั้งในการศึกษาและการวิพากษ์วิจารณ์ ประการต่อมา ตัวโจทก์คือนางสาวการ์เซีย แทบไม่มีผลประโยชน์ทากการค้าอะไรเกี่ยวข้องกับภาพยนตร์เรื่องนี้เพราะค่าจ้างก็ได้รับไปแล้ว และบทของเธอเองมีเพียงแค่ 5 วินาที ในขณะที่ตัวหนังยาวประมาณ 15 นาที จึงต้องถือเป็นการละเมิดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

นอกจากนี้ ยูทูปเองก็มีการบล๊อกไม่ให้ผู้อาศัยในประเทศมุสลิมหลายประเทศสามารถเข้าถึงได้อยู่แล้ว การที่จะให้กูเกิ้ลนำวิดีโอนี้ออกจากการให้บริการเข้าชมโดยสิ้นเชิงหมดทั้งโลก ย่อเป็นการไปรบกวนสิทธิ์ของผู้ที่อยู่ในประเทศที่สามารถรับชมได้ ข้ออ้างของการ์เซียที่ว่าหากมีวิดีโอนี้อยู่ต่อไปตนเองอาจได้รับอันตรายจึงไม่มีเหตุผลเพียงพอ เพราะเท่าที่ผ่านมาสองปี ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับการ์เซียเลย

เนื่องจากความเป็นไปได้ของข้อต่อสู้ดังกล่าว จึงน่าติดตามว่าจะมีบทต่อเนื่องของคดีนี้ติดตามมาหรือไม่ ซึ่งจะมีความสำคัญต่อทั้งวงการกฎหมายลิขสิทธิ์ และเสรีภาพการแสดงออกทางความคิดแน่นอน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net