Skip to main content
sharethis

เผยตรวจสอบ 8 เรื่อง เช่น การใช้สารเคมีสลายชุมนุม การปะทะระหว่าง ตร.กับผู้ชุมนุม การเนรเทศคนต่างด้าว กปปส.ขัดขวางการเลือกตั้ง การใช้ระเบิดสังหารผู้ชุมนุม กรณีเกี่ยวข้องกับเด็ก การตั้งสภาประชาชน เป็นต้น

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กสม. และ พญ.พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กสม.  ลงพื้นที่สะพานผ่านฟ้า เมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา หลังเหตุการณ์ขอคืนพื้นที่ 1 วัน

5 มี.ค.2557 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์ชี้แจงการทำงานเรื่องการตรวจสอบปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่การชุมนุมทางการเมืองของ กปปส. และกลุ่มชุมนุมอื่นๆเพื่อคัดค้านพ.ร.บ. นิรโทษกรรม การคัดค้านการดำเนินการต่อการเลือกตั้งล่วงหน้า และขับไล่รัฐบาล    ที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในหลายพื้นที่นั้นจากสถานการณ์การชุมนุมดังกล่าว มีผู้ร้องเรียนมีผู้ร้องเรียนมา

โดย กสม. ระบุว่าได้พิจารณาคำร้องเรียนอยู่ในอำนาจหน้าที่และรับเรื่องร้องเรียนไว้โดยสรุปประเด็นการร้องเรียนต่างๆได้ ดังนี้  กรณีการใช้สารเคมีในการสลายการชุมนุม, การปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้ชุมุนม, กรณีเนรเทศคนต่างด้าวที่แสดงความคิดเห็นทางการเมือง, การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับเด็ก, การออกหมายจับแกนนำของ กปปส., กรณีกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส.ขัดขวางการเลือกตั้ง, กรณีการใช้ระเบิดสังหาร อาวุธสงครามต่อผู้ชุมนุมและสถานที่ราชการ  และขอให้พิจารณาส่งเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการจัดตั้งสภาประชาชน

กสม. ได้มีมติมอบหมายประเด็นเกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพการชุมนุมทุกมิติให้คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองดำเนินการตรวจสอบ และได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านเด็ก สตรี และความเสมอภาคของบุคคล ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิเด็กและสตรี 

ในขณะนี้คณะอนุกรรมการฯ ทั้งสองคณะได้ตรวจสอบ รวบรวมข้อมูล  แสวงหาข้อเท็จจริง  รับฟังคำชี้แจงและรวบรวมพยานหลักฐาน  พยานเอกสาร พยานวัตถุ  รวมทั้งการเชิญผู้ร้อง ผู้ถูกร้องและผู้ที่เกี่ยวข้อง มาชี้แจงข้อเท็จจริง  นอกจากนี้คณะอนุกรรมการฯ ยังได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุร่วมกับคณะทำงานที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ  เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้านให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย  เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนแล้วจะมีการพิจารณาจัดทำรายงานผลการตรวจสอบ  และมาตรการการแก้ไขเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพิจารณาเป็นขั้นตอนสุดท้าย  อย่างไรก็ดี เนื่องจาก กสม.มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบ  แต่ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารการดำเนินงานตรวจสอบจึงมีข้อจำกัดในทางปฏิบัติอยู่บ้าง

โดย กสม. ยืนยันด้วยว่าจะได้เร่งรัดการดำเนินการ และรายงานความคืบหน้าเรื่องการตรวจสอบให้สาธารณชนได้รับรู้ตามโอกาสที่เหมาะสมต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net