Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

หลังจากที่ได้อ่าน คำพิพากษาคดีแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ 544/2557  เรื่องละเมิด ระหว่าง นายถาวร เสนเนียม (โจทก์) / นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำเลยที่ 1, ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง ที่ 2, พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว ที่ 3 แล้ว ซึ่งเนื้อคำพิพากษาฉบับเต็ม ผู้เขียนได้แทรกไว้ในเชิงอรรถ

ในชั้นนี้ จะขอกล่าวถึงประเด็นสำคัญๆ ที่หลายคนยังไม่เข้าใจ หรือยังเข้าใจผิดกันอยู่ ดังต่อไปนี้

ส่วนที่ 2 วิเคราะห์ คำพิพากษา

FAQ 1 : โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ !!!???

คดีนี้ มิตรสหายเสื้อแดงหลายท่าน มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ในการนำคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมาโดยตลอด

*กล่าวคือ ว๊อยซ์ ทีวี ได้เสนอข่าวชี้นำ โดยไม่มีการอธิบายข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายประกอบให้ครบถ้วน ในทำนองว่า

7 เมษายน 2553  นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เคยยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งในลักษณะเดียวกัน โดยครั้งนั้นได้ยื่นฟ้อง คณะรัฐมนตรี, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ.  เป็นจำเลยที่ 1-3 ฐานละเมิด เช่นเดียวกับคดีนี้

ต่อมา ในวันที่ 19 เมษายน 2553 ศาลแพ่งได้นัดฟังคำพิพากษา โดยมีคำสั่งยกฟ้องของนายพร้อมพงศ์ หลังพิเคราะห์แล้วเห็นว่าตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้อำนาจนายกรัฐมนตรี ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

ดังนั้น การที่คณะรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 ให้การเห็นชอบแก่นายอภิสิทธิ์ จำเลยที่ 2 ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ย่อมเป็นการใช้อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย อยู่ในอำนาจหน้าที่และดุลพินิจของฝ่ายบริหารโดยเฉพาะ ศาลมิอาจก้าวล่วงไปพิจารณา หรือทบทวนการใช้ดุลพินิจของฝ่ายบริหารได้

นอกจากนี้นายอภิสิทธิ์ จำเลยที่ 2 ยังมีคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่พิเศษ 2/2553 ให้นายสุเทพ จำเลยที่ 3 เป็นผู้กำกับ  การปฏิบัติงานในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ  ทั้ง 2 คนย่อมมีอำนาจตามความใน มาตรา 9 (2) และ (3) แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน  ที่จะใช้มาตรการอันจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้  ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 45 วรรคสี่ ที่ว่าการห้ามหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่น เสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมดหรือบางส่วน หรือการแทรกแซงด้วยวิธีการใดๆ เพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของ รัฐ

และตามที่โจทก์ขอให้ศาลมีคำพิพากษา หรือคำสั่ง ยกเลิกคำสั่งของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ กรณีสั่งให้ยุติการแพร่ภาพของสถานีโทรทัศน์พีเพิลชาแนล และขอให้มีคำสั่งให้นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ สั่งห้ามหน่วยงานของรัฐ  เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่จะได้รับข่าวสารที่ถูกต้องและเพียงพอ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มิใช่เป็นการรับทราบข้อมูลข่าวสารทั่วๆ ไป โจทก์ย่อมมิใช่ผู้เสียหาย หรือเป็นผู้ถูกโต้แย้งสิทธิการกระทำของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลแพ่งจึงพิพากษายกฟ้อง

ซึ่งการพาดหัวข่าวชี้นำว่า "ย้อนคำพิพากษาศาลแพ่งปี 53 ไม่ก้าวล่วงอำนาจบริหารออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" เป็นการพาดหัวข่าวที่มี "เจตนาบิดเบือนข้อกฎหมายอย่างร้ายแรง มุ่งประสงค์ผลบางประการอย่างชั่วร้าย"

ซึ่งในประเด็นดังกล่าว หากพิจาณาโดยถี่ถ้วนแล้ว จะเห็นได้ว่า "คำสั่งศาลในปี 53  ศาลไม่ได้มีคำสั่ง ว่าศาลแพ่งไม่มีอำนาจ" แต่อย่างใด ศาลเพียงแต่สั่งว่า "โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง" เท่านั้น

นั่นหมายความว่า "ศาลยังไม่ได้บอกว่า ศาลมี/ไม่มี อำนาจรับฟ้อง" แต่ในทางกฎหมายแล้ว หมายความว่า "โจทก์ยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิ"

คำสั่งศาลแพ่งปี 53 และคำพิพากษาศาลแพ่งปี 57 โจกท์ต่างฟ้องจำเลยเป็นคดีละเมิด ซึ่งคดีละเมิดเป็นคดีแพ่ง และเมื่อเป็นคดีแพ่ง ก็จะต้องใช้กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55

ป.วิ.พ. มาตรา 55 "เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง..... บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้"

การถูกโต้แย้งสิทธิ เป็นหัวใจสำคัญที่สุดในคดีแพ่ง ที่เป็นเหตุพื้นฐานในการนำคดีเข้ามาสู่การพิจารณาของศาล ซึ่งในการบรรยายฟ้องของนายพร้อมพงศ์ฯนั้น ผู้เขียนไม่ทราบว่านายพร้อมพงศ์ได้บรรยายฟ้องในลักษณะใด ศาลจึงสั่งคดีว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย หรือเป็นผู้ถูกโต้แย้งสิทธิ

หรือหากจะกล่าวว่าเป็นการบรรยายฟ้องที่ไร้สติปัญญา ก็ดูจะเป็นการดูแคลนคุณภาพสติปัญญาของนายพร้อมพงศ์ฯ ไปสักหน่อย เนื่องจากผู้เขียนยังไม่ได้อ่านคำสั่งศาลฉบับเต็มในปี 53 แต่อย่างใด ในชั้นนี้ ผู้เขียนจึงยังไม่ขอกล่าวเช่นนั้น

อนึ่ง หากมิตรสหายท่านใด นำคำสั่งฉบับเต็ม ปี 53 ดังกล่าวมาอธิบาย เพื่อที่ทำให้ผู้เขียนหงายเงิบ จนด้วยเกล้าในการหาเหตุผลมาโต้แย้ง ผู้เขียนจะถือว่าเป็นความกรุณาอย่างยิ่ง

FAQ 2 : ศาลแพ่ง "มีอำนาจ" รับคดีที่มีคำขอเพิกถอน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไว้พิจารณา หรือไม่ !!!???

หากไล่ Timeline แล้ว จะเห็นได้ว่า คำสั่งปี 53 นั้น ศาลมีคำสั่งในวันที่ 7 เมษายน 2553 ที่นายพร้องพงศ์ฯ เป็นโจทก์ฟ้องนายอภิสิทธิ์ฯ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ศาลไม่ได้สั่งในประเด็นว่า "ศาลมี/ไม่มี อำนาจรับคดีไว้พิจารณาพิพากษา"

** ต่อมา นายคารม พลทะกลาง (ผู้ถูกฟ้องคดี) ได้ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ฯ (ผู้ถูกฟ้องคดี) ต่อศาลปกครอง ในคดีของให้เพิกถอนประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ศาลปกครอง ได้ส่งสงความเห็นเพื่อขอใหศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 16 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 223 หรือไม่

รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 223  "ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ รวมทั้งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเรื่องที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง"

พ.ร.ก. ฉุกเฉิน มาตรา 16 "ข้อกําหนด ประกาศ คําสั่ง หรือ การกระทําตามพระราชกําหนดนี้ไม่อยูในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าดวยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง"

ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย ในคำวินิจฉัยที่ 9/2553 ใจความสำคัญว่า

มาตรา 223 วรรคหนึ่ง บัญญัติจํากัดอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครองไว้ โดยมีขอความวา “...ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ” อันเป็นการแสดงให้เห็นวา คดีพิพาทระหวางรัฐกับเอกชน หรือคดีอันเนื่องมาจากการใชอํานาจปกครองของหนวยงานของรัฐ หรือเจาหนาที่ของรัฐนั้น มิไดอยูในอํานาจของศาลปกครองทั้งหมด

รัฐอาจตรากฎหมายยกเว้นมิให้ศาลปกครองมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครองบางประเภทได้ เพื่อประโยชนแก่การดําเนินภารกิจของรัฐให้ลุลวงอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีกฎหมายที่ให้อํานาจฝายบริหารในการดําเนินกิจการของรัฐ โดยมิได้อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

เช่น พระราชกําหนดบรรษัทบริหารสินทรัพยไทย พ.ศ. 2544 มาตรา 11 ที่บัญญัติไม่ให้นํากฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง มาใช้บังคับแก่การดําเนินการเกี่ยวกับการบริหารสินทรัพยด้อยคุณภาพของ บสท.

หรือแม้แต่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 วรรคสอง บัญญัติ ให้คดีปกครองบางประเภทไม่อยู่ในอํานาจของศาลปกครอง เช่น การดําเนินการเกี่ยวกับวินัยทหาร การดําเนินการของคณะกรรมการตุลาการ และคดีที่อยูในอํานาจของศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลแรงงาน ศาลภาษีอากร ศาลทรัพยสินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลล้มละลาย หรือศาลชํานัญพิเศษอื่น เป็นตน

อนึ่ง การที่มาตรา 16 แห่งพระราชกําหนดนี้ บัญญัติมิให้ข้อกําหนด ประกาศ คําสั่ง หรือการกระทําตามพระราชกําหนดนี้ อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ก็เพื่อใหรัฐสามารถดําเนินการแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองให้บรรลุผลสําเร็จและเป็นไปตามความจําเป็นของสถานการณของบ้านเมืองเท่านั้น ซึ่งเป็นระยะเวลาชั่วคราว จนกว่าจะมีการประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน

ทั้งมิได้หมายความว่า สิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการดําเนินการตามพระราชกําหนดดังกลาวจะมิได้รับความคุ้มครอง *** เพราะผู้ได้รับความเสียหายยังสามารถนําคดีเขาสู่กระบวนการพิจารณาของศาลยุติธรรมได้ ตามความในมาตรา 218 ของรัฐธรรมนูญ รวมทั้งมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 17 ของพระราชกําหนดฉบับเดียวกัน จึงมิได้เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่มีลักษณะจํากัดสิทธิของบุคคล ในการนําคดีเขามาสู่กระบวนการตรวจสอบขององค์กรตุลาการแต่ประการใด

นั่นหมายความว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยออกมาแล้วว่า การขอยกเลิกประกาศตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สามารถดำเนินการร้องขอต่อศาลแพ่งได้ แต่ทั้งนี้ แม้ศาลแพ่งจะมีอำนาจไว้พิจารณาพิพากษา แต่ก็มิได้หมายความว่าศาลแพ่งจะมีคำพิพากษาให้ยกเลิกประกาศตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เสมอไป ซึ่งกระบวนการพิจารณาในศาลนั้น จะต้องพิจาณราพยานหลักฐานเป็นรายคดีไป

ข้อสังเกตุประการหนึ่งคือ การชุมนุมของ กปปส. เริ่มจากการต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรม ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 และศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยดังกล่าวไว้แล้ว เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2553

การชุมนุมโดย กปปส. เกิดหลังศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย เป็นระยะเวลากว่า 3 ปี 5 เดือน ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะบอกว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ออกมาเพื่อเป็นคุณแก่ กปปส. โดยเฉพาะ  ดังนั้น การกล่าวอ้างว่า ศาลเอียง ศาลไม่มีความเป็นธรรม ฯลฯ จึงเป็นข้อกล่าวอ้างของคนไร้สติปัญญาอย่างสิ้นเชิง

FAQ 3 : เป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ หรือไม่ !!!???

การชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธนั้น ศาลปกครองได้มีการวางหลักจากคำวินิจฉัยเอาไว้แล้ว กล่าวคือ

.....ผู้ฟ้อง ฟ้องว่าการชุมนุมซึ่งชาวบ้านเตรียมยื่นหนังสือเสนอข้อเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนโครงการท่อส่ง ก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ต่อนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยมีกำหนดการเดินทางมาประชุม ครม.สัญจรที่โรงแรมเจ.บี.หาดใหญ่ ในวันที่ 21 ม.ค. 2545 เป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ

สำนักงานตรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ ระบุว่ากลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าวชุมนุมกันเกิน 10 คน มีผู้สั่งการอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการตระเตรียมอาวุธทั้งที่เป็นอาวุธและมิใช่อาวุธโดยสภาพ ซึ่งสามารถตรวจยึดหนังสติ๊ก ลูกตะกั่ว กรรไกรปลายแหลม มีดสปาต้า และไม้ไผ่เสี้ยมปลายแหลม 175 อันนั้น

ศาลพิจารณาเห็นว่า การชุมนุมโดยใช้สิทธิอันชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญย่อมกระทำโดยคนเดียวไม่ได้ และไม่ปรากฏว่าแกนนำมีการสั่งการให้กลุ่มผู้ชุมนุมสั่งสมอาวุธ ในขณะเดียวกัน ศาลเห็นว่าหนังสติ๊ก ลูกตะกั่ว และมีดสปาต้านั้น ถือว่ามีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ชุมนุม โดยเป็นอาวุธที่ผู้คัดค้านเตรียมมาเป็นการส่วนตัว มิได้มีการสั่งการจากแกนนำแต่งอย่างใด

ส่วนไม้ไผ่เสี้ยมปลายแหลมพบว่าผู้ชุมนุมใช้เป็นเสาธง มิใช่อาวุธแต่เดิม แต่ได้ใช้เป็นอาวุธในเวลาต่อมาเมื่อตำรวจเข้าสลายการชุมนุม สำหรับการทำร้ายตำรวจและทรัพย์สินของทางราชการนั้น เกิดจากการที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมและทำร้ายผู้คัดค้านจนบาดเจ็บ

ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำวินิจฉัยว่า การชุมนุมของชาวบ้านผู้คัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย นั้นเป็นการชุมนุมโดยสงบ และการที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมโดยมิได้ดำเนินการตามหลักสากลคือจากเบาไปหา หนักจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ชุมนุมไม่สามารถใช้สิทธิเสรีภาพชุมนุมโดยสงบต่อไปได้

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผู้ถูกฟ้องที่ 1) จึงต้องรับผิดชอบ ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ถูกฟ้องที่ 1 - 24 โดยกำหนดให้จ่ายค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องที่ 1 - 24 รวมกันจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี....

ข้อสังเกตจากคำวินิจฉัยนี้คือ อย่างไรจึงจะเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบและมีอาวุธ

เมื่อพิจารณาคำวินิจฉัยศาลปกครองในทางกลับ หมายความว่า การชุมนุมที่ไม่สงบและมีอาวุธ หมายถึง การที่ผู้ชุมนุมแต่ละคนล้วนแล้วแต่มีอาวุธมาร่วมชุมนุม ไม่ว่าจะโดยสั่งการของแกนนำหรือไม่ก็ตาม

และจำนวนอาวุธ ย่อมมีสัดส่วนที่สัมพันธ์กับจำนวนผู้ชุมนุม มีการซ่องสุมอาวุธ พร้อมหยิบฉวยเอามาใช้ได้โดยทันที แม้ไม่มีเหตุร้ายแรงอันเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่รัฐเข้าสลายการชุมนุม และ/หรือ ไม่มีเหตุร้ายแรงอันเนื่องมาจากการยั่วยุก่อกาวนโดยผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็ตาม เช่น ผู้ชุมนุมมี 100,000 คน จำนวนอาวุธในกลุ่มผู้ชุมนุม ก็จะต้องมีจำนวนที่สัมพันธ์กับจำนวนผู้ชุมนุม ไม่ว่า ปืน 80,000 50,000 30,000 ฯลฯ กระบอก ซึ่งอยู่ที่ดุลยพินิจของผู้พิพากษาที่จะต้องใช้เงื่อนไขบริบทอื่นประกอบในการพิจารณาเป็นรายคดีไป

นอกจากนั้น แม้จะเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ และมีอาวุธแล้วก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่สามารถดำเนินการเข้าสลายการชุมนุมได้โดยผิดขั้นตอน ซึ่งหมายถึง มิพักต้องคำนึงว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธหรือไม่ การเข้าสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก -ในทุกกรณี-

FAQ 4 : การชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในคดีแพ่งเป็นอย่างไร !!!???

***** การชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในคดีแพ่งกับคดีอาญาแตกต่ากัน คดีแพ่งมีหลักใหญ่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ มาตรา 104 โดยให้ศาลมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบมานั้น จะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น

ส่วนคดีอาญามีหลักใหญ่บัญญัติอยู่ใน ป.วิ.อ. มาตรา 227 ว่า "ให้ศาลใช้ดุลพินิจชั่วน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริง และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น และเมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย"

การชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในคดีแพ่ง ศาลจะต้องวินิจฉัยโดยการชั่วน้ำหนักพยานทั้งสองฝ่ายเทียบกันดูว่า ฝ่ายใดมีเหตุผลและน้ำหนักดีกว่ากัน

เช่น ถ้าคิดเทียบกันเป็นเปอร์เซ็นต์ สมมติว่าพยานโจทก์ 51 เปอร์เซ็นต์ พยานจำเลย 49 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องตัดสินให้โจทก์ชนะ กลับกันถ้าพยานโจทก์ 49 เปอร์เซ็นต์ พยานจำเลย 51 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องตัดสินให้โจทก์แพ้

สำหรับคดีอาญาจะต้องพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์จนแน่ใจว่า มีความผิดเกิดขึ้นจริง และจำเลยกระทำความผิดนั้นจึงจะลงโทษจำเลยได้ จะเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ว่า ถ้าพยานโจทก์ 51 เปอร์เซ็นต์ พยานจำเลย 49 เปอร์เซ็นต์ แล้วจึงตัดสินลงโทษจำเลยไม่ได้ กรณีเช่นนี้ต้องถือว่าเป็นที่สงสัยต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

เมื่อหลักกฎหมายเป็นดังนี้ คำพิพากษาให้เพิกถอนประกาศที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับปี 57 นั้น จากคำให้การโจทก์ คำให้การจำเลย การนำสืบให้สมฟ้องของโจทก์ที่อ้างพยานหลายปากอย่างสอดคล้องต่อเนื่องกัน ศาลมองว่ามีน่ำหนักมากกว่าทำให้การจำเลยที่อ้างตนเองเป็นพยาน และนอกจากนี้ จำเลยก็ไม่มีพยานใดๆมาเบิกความยืนยันให้สมฟ้องแต่อย่างใด (โปรดอ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม ท้ายเชิงอรรถ)

FAQ 5 : ศาลพิพากษาให้เพิกถอนประกาศที่ออกโดย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้ว เป็นการให้ท้ายผู้ชุมนุมหรือไม่ !!!???

คำพิพากษาหน้าที่ 31 (คัดลอกมาอยู่ใน Note ตอนที่ 5 ย่อหน้า 7)

"ส่วนที่จำเลยที่ 3 อ้างว่าโจทก์และประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมได้กระทำผิดกฎหมาย เมื่อศาลได้วินิจฉัยให้ประกาศและข้อกำหนดต่างๆอันเป็นข้อห้ามหรือสั่งให้การกระทำต่างๆ ที่ได้ออกตามประกาศสถานการฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตามคำฟ้องทุกข้อของโจทก์ ไม่มีผลใช้บังคับต่อการชุมนุมของโจทก์และประชาชนที่ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธแล้ว หากการกระทำของโจทก์และประชาชนจะเป็นความผิดต่อกฎหมายใดหรือไม่ จะต้องพิจารณาตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่เป็นการทั่วไปตามปกติ"

"เมื่อผู้เขียนได้แปลภาษาไทย เป็นภาษาไทย ให้คนไทยได้อ่าน" แล้ว หมายความว่า อำนาจรัฐบาลในการจัดการดำเนินคดีกับผู้ชุมุนมตามกฎหมายปกติ เช่น กฎหมายอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือพระราชบัญญัติอื่นใด ที่มีโทษทางอาญา เช่น พระราชบัญญัติการจราจรทางบก สามารถบังคับใช้ได้ โดยไม่มีบรรทัดไหนที่ศาลพิพากษาว่า กปปส. สามารถละเมิดสิทธิของผู้อื่นได้อย่างชอบธรรม

หรือหากจะยกตัวอย่างให้เห็นได้ชัดเจนคือ หากศาลสั่งห้ามเจ้าหน้าที่ตำรวจ "วิสามัญฆาตกรรม" คนร้าย เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้นั้น กลับตีความคำพิพากษาของศาลด้วยเจตนาชั่วร้าย โดยการบอกกับประชาชนผู้เดือดร้อนว่า "เมื่อศาลห้าม วิสามัฯ คนร้ายแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะขอนั่งเล่นอยู่บนสถานีตำรวจเสียเลยดีกว่า"

ทั้งๆที่ข้อเท็จจริงแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจ มีกฎหมายอาญา กฎหมายวิธีพิจาณรณาความอาญาในมือ เพื่อดำเนินการเหตุเดือดร้อนให้เป็นไปตามกฎหมายอยู่แล้ว

นอกจากนั้น ยังมีนักกฎหมายจอมบิดเบือนบางท่าน กล่าวในทำนองว่า "ลองให้พี่น้องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยื่นคำฟ้องต่อศาล ให้เพิกถอน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้เลย ดีหรือไม่"

การท้าทายกฎหมาย โดยมีเจตนานำกฎหมายมาบิดเบือนการใช้ ในลักษณะไม่สมเจตนารมณ์นั้น เป็นความชั่วร้ายของนักกฎหมายประการหนึ่ง ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง หรือแม้แต่การประเทืองสติปัญญาของผู้รับสารเลยแม้แต่น้อย

มิตรสหายโปรดใช้สติคิดดูว่า เหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เป็นการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล อันนำมาซึ่งการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ / เหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มีความฉุกเฉินร้ายแรง จำเป็นที่จะต้องมีการระงับยับยั้งให้ทันท่วงทีหรือไม่

มิตรสหายเสื้อแดง ที่กำลังละเมิดอำนาจศาล ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ หรือไม่ว่าจากการชักจูงโน้มน้าวโดยกลุ่มบุคคลใด โปรดตั้งสติ และตรวจสอบตัวเองอยู่ตลอดเวลา

สังคมนี้ มีคนมีปัญญามากมายจนทะเลาะกัน แต่สิ่งที่สังคมนี้ยังขาดซึ่งคนที่มี "สติ"

โปรดพิจารณา

__________________

* http://shows.voicetv.co.th/voice-news/97748.html

** คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2553 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 127 ตอนที่ 77 ก ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2553 (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2553/A/077/36.PDF)

*** รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 218 "ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น"

**** คดีหมายเลขดำที่ อ.426/2549 ระหว่าง นายเจ๊ะเด็น อนันทบริพงศ์ ผู้ฟ้องที่ 1 กับพวกรวม 30 คน กับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องที่ 1, จังหวัดสงขลา ผู้ถูกฟ้องที่ 2 และกระทรวงมหาดไทย ผู้ถูกฟ้องที่ 3

***** "ข้อสังเกตในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานและการเขียนคำพิพากษา", บัญญัติ สุชีวะ, ธรรมศาสตร์บัณฑิต เนติบัณฑิตอังกฤษ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา (http://www.openbase.in.th/http:/%252Fwww.panyathai.or.th/wiki/index.php/%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%AB%E0%B8%99%25)

คำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 544/2557 ระหว่าง นายถาวร เสนเนียม (โจทก์) / นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำเลยที่ 1, ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง ที่ 2, พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว ที่ 3 ทั้ง 5 ตอน

1. https://www.facebook.com/notes/tongrob-sunontalad/%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A2-%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%81%E0%B8%B3%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%A5-1/604002302986956

2. https://www.facebook.com/notes/tongrob-sunontalad/%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A2-%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%81%E0%B8%B3%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%A5-2/604078066312713

3. https://www.facebook.com/notes/tongrob-sunontalad/%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A2-%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%81%E0%B8%B3%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%A5-3/604150562972130

4. https://www.facebook.com/notes/tongrob-sunontalad/%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A2-%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%81%E0%B8%B3%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%A5-4/605272976193222

5. https://www.facebook.com/notes/tongrob-sunontalad/%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A2-%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%81%E0%B8%B3%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%A5-5/605884752798711
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net