Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

<--break- />

 

 

เนื่องในโอกาสวันสตรีสากลปี 2557  ประเด็นผู้หญิงในประเทศไทยยังคงติดกับดักความคิดแบบอนุรักษ์นิยมและวัฒนธรรมอำนาจนิยมในระบบสังคมชนชั้น อันเนื่องจากเรามักได้ยินข่าวอาชญากรรมต่อเด็ก สตรี การใช้ความรุนแรงภายในบ้านที่สร้างความสะเทือนใจอย่างมาก ซึ่งสะท้อนความเรื้อรังของปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย อีกด้านหนึ่ง ผู้หญิงถูกเลือกปฏิบัติในหลายๆ เรื่อง เช่น ค่าจ้างต่ำกว่าผู้ชาย ด้อยการศึกษากว่า ไม่ได้รับการยอมรับเป็นผู้นำขององค์กรเท่าที่ควร แบกรับภาระดูแลครอบครัวมากกว่าผู้ชาย ซึ่งสะท้อนวิธีการกำหนดบทบาทหน้าที่ด้วยเพศสภาวะ รวมถึงการถูกโจมตี ดูหมิ่นด้วยอคติทางเพศ ดังตัวอย่างที่มักได้ยินได้ฟังจากคำปราศรัยบนเวทีของม็อบกปปส. ที่นำโดยสุเทพ เทือกสุบรรณ

ผู้เขียนขอขยายความถึงการกระทำอันรุนแรงต่อผู้หญิง และการเลือกปฏิบัติให้ต้อยต่ำกว่าผู้ชายและคนชั้นกลางระดับสูงจนถึงคนชั้นสูง กลายเป็นพลเมืองชั้นสองของสังคม ได้แก่ การกระทำชำเรา การทำอนาจาร ล่วงละเมิดทางเพศ ไปจนถึงการค้าประเวณี การทำให้ผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ การโฆษณาดึงดูดด้วยเพศและกามารมณ์ การทำให้เรือนร่างเป็นที่โฆษณาขายของ (Sexism) การใช้ความซื่อสัตย์ของผู้หญิงเป็นตัววัดคุณค่าของครอบครัว ในขณะที่สังคมไม่ตำหนิผู้ชายที่มีภรรยามากกว่า 1 คน การที่หญิงมีชู้กลายเป็นสาเหตุหย่า แต่ผู้ชายกลับไม่ หรือการร่วมเพศกับเด็กอายุไม่ถึงสิบห้าถือเป็นความผิดที่สามารถพ้นผิดได้ด้วยการแต่งงาน  ตามกฎหมายอาญาหมวดที่ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับเพศ มาตรา 277 วรรคท้าย  การถูกกำหนดหน้าที่ให้ต้องดูแลบ้านเลี้ยงลูก ขาดโอกาสศึกษาและได้งานดีๆ ทำ  การได้รับค่าจ้างต่ำกว่าผู้ชาย

การกระทำซึ่งเป็นความรุนแรงข้างต้นพบเห็นในชีวิตประจำวัน  ตัวเลขที่น่ากังวลคือ ปัญหาการข่มขืนกระทำชำเรา 60% เป็นเด็กที่ถูกกระทำมากกว่าผู้หญิง  (40%)  สำหรับผู้หญิงมักถูกกระทำโดยคู่สมรสมากที่สุด (49.25%)  รองลงมาคือแฟน เพื่อน ผู้ดูแล พ่อ พ่อเลี้ยง ญาติ เพื่อนบ้าน นายจ้าง ครู ตามลำดับ  ซึ่งส่วนใหญ่มาจากคนใกล้ชิด และสาเหตุมาจากสุรา ยาเสพติด การหึงหวง สุขภาพจิต ตกงาน ฐานะทางเศรษฐกิจ  (จิตราภา สุนทรพิพิธ. การกระทำความรุนแรงต่อสตรี. อนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิเด็ก สตรีและความเสมอภาคของบุคคล)

หลายประเทศมองปัญหาความรุนแรงในครอบครัวว่า เป็นปัญหาระดับโครงสร้างและวิธีคิดของคนในสังคม และไม่มีวันจะแก้ปัญหานี้ได้ ตราบใดที่ยังเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคมไม่ได้ ล่าสุดรัฐบาลประเทศอังกฤษถึงกับประกาศนโยบายใหม่ ตั้งใจจะขุดรากถอนโคนปัญหานี้ ด้วยการเริ่มสอนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ (Gender equality) กันแบบจริงๆ จังๆ ตั้งแต่ชั้นอนุบาล เด็กๆ จะถูกสอนว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องเลวร้าย ไม่ปกติ และไม่ควรต้องทนอยู่กับความรุนแรง (ธัญญา ใจดี. คลี่กฎหมายข่มขืน : คุ้มครองเด็กได้จริงหรือ?. 22 พฤศจิกายน 2555. เว็บไซด์ของมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง, http://www.whaf.or.th/?p=587 )

สำหรับสาเหตุของการกระทำความรุนแรง และความไม่เท่าเทียมทางเพศ  คณะอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิเด็ก สตรีและความเสมอภาคของบุคคล สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สรุปว่าความรุนแรงมาจากระบบชายเป็นใหญ่ ในงานสัมมนาเรื่องผู้หญิงถูกทำร้ายที่ชื่อภรรยา เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 56  แม้จะมีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ยังมีผู้เสียหายจากกรณีความรุนแรงเป็นจำนวนมากทุกปี เช่นในปี 54 มีจำนวน 27,000 กว่ากรณี ที่ชี้วัดได้ว่ากลไกของรัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาและคุ้มครองสิทธิเด็กและผู้หญิงได้  วิทยากรท่านหนึ่งมองว่า เป็นเรื่องของระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจของคนในสังคม ที่ปกครองกันด้วยวัฒนธรรมจารีต และการทำให้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ  ทั้งยอมรับว่าสามีที่เป็นแรงงานคอปกขาวมักถูกกระทำโดยนายจ้างและมาระบายอารมณ์กับภรรยาที่บ้าน

การหาทางออกของผู้หญิงที่ถูกกระทำ ในหมู่คนที่ถูกทำร้าย ครึ่งหนึ่งเคยคิดฆ่าตัวตาย และพบว่าผู้หญิงมักทนสามีเพราะถูกสั่งสอนมาว่าต้องอดทน มองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวมากกว่าเรื่องสังคม ทำให้การปกป้องตัวเองต่ำ ถูกครอบงำความคิด  บางรายพยายามแยกทาง แต่ถูกสามีรบกวน ถูกทำร้ายร่างกายซ้ำๆ หลายปี มีความแค้นสะสมและนำไปสู่การแก้แค้นของภรรยา หรือแม่ยายดังเช่นกรณีแม่ของหมอนิ่ม  แต่ยังมีบางรายสามารถแยกทางกับสามีและมีชีวิตที่ดีขึ้น 

จากข้างต้น หากมองในมุมมองชนชั้น จะเห็นว่า  ผู้หญิงที่ถูกกระทำมักเป็นคนชนชั้นล่าง ถูกละเมิด ถูกเลือกปฏิบัติในหลายพื้นที่ ได้แก่ ครอบครัว สถานที่ทำงาน สื่อโฆษณาและชุมชน ซึ่งเป็นระบบสังคมชนชั้น กำหนดหน้าที่และบทบาทผู้หญิงและผู้ชาย  ดังนี้

1. ในครอบครัว ผู้หญิงถูกกำหนดให้เลี้ยงลูก ทำงานบ้าน ดูแลสามี ในพิธีแต่งงานผู้หญิงต้องกราบเท้าหรือตักสามี การมอบสินสอดที่สะท้อนการเป็นเจ้าของ ให้ซื่อสัตย์ รักนวลสงวนตัว ส่วนผู้ชายถูกกำหนดให้มีหน้าที่หาเงินมาเลี้ยงครอบครัว เป็นผู้นำ และร่วมกันเชื่อในระบบผัวเดียวเมียเดียวแต่ในความเป็นจริงควบคุมเมียมากกว่า
2. ในสถานที่ทำงาน ผู้หญิงได้รับค่าจ้างต่ำกว่าผู้ชาย เนื่องด้วยการศึกษาต่ำกว่า ได้รับสวัสดิการต่ำ ไม่ได้รับการส่งเสริมเลื่อนขั้น เป็นผู้นำ  ถูกนายจ้าง ผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงานละเมิดทางเพศด้วยวาจาและการกระทำ
3. สื่อโฆษณา  ร่างกายผู้หญิงถูกทำให้เป็นสินค้า ดึงดูดผู้บริโภค ลูกค้าด้วยเรื่องเพศและกามารมณ์ เช่น ลูกกลิ้งที่ทำให้รักแร้เนียนขาว ครีมไวท์เทนนิ่งทำให้หน้าขาวกระจ่างใส สวยงามตามความคิดของนายทุน นักโฆษณา
4. สถานศึกษา มีการปลูกฝังวัฒนธรรมจารีตอนุรักษ์ ครอบด้วยศาสนา ไม่อนุญาตให้วิพากษ์วิจารณ์ผู้ใหญ่ ใช้ระบบอาวุโส ทำให้เด็กขาดความมั่นใจ ไม่กล้าทำสิ่งที่แตกต่าง
5. ชุมชน ช่วยผลิตซ้ำวัฒนธรรม วิธีคิดข้างต้น ทำให้ปัญหาเกิดขึ้นซ้ำซาก คนยอมรับความไม่เท่าเทียม ไม่อนุญาตให้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเต็มที่ ทำให้สังคมมีลักษณะใช้กำลังในการตัดสินปัญหาความขัดแย้ง อย่างที่เห็นกันทุกวันนี้  แทนที่จะเป็นสังคมที่อุดมไปด้วยปัญญา มีบรรยากาศการถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ เสริมสร้างความรู้ และเคารพคนที่คิดต่าง

ด้วยวัฒนธรรมอำนาจนิยมข้างต้น มาพร้อมกับการใช้กำลัง เงิน ตำแหน่งหน้าที่ และบทบาทในสังคม ส่วนความรุนแรงมากน้อยขึ้นอยู่กับการเรียนรู้ในการใช้ความรุนแรงและการยับยั้งชั่งใจ  ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างข้าราชการกับประชาชน ผู้ใหญ่กับเด็ก นายจ้างกับลูกจ้าง ครูกับนักเรียน สามีกับภรรยา มาจากตำแหน่งในโครงสร้างชนชั้นมากกว่าระบบชายเป็นใหญ่ที่เน้นแต่ความเป็นชายกดขี่หญิง  ยิ่งหากเราอยู่ในสังคมเผด็จการ มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงก็ยิ่งปรากฏให้เห็นถึงความไม่ยุติธรรมของการใช้อำนาจการปกครอง ใช้ความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา เพศ วัย การศึกษาในการกีดกัน แบ่งแยก ลดทอนความเป็นมนุษย์

ในมุมของผู้ชาย ถามว่าผู้ชายซึ่งก็มีฐานะไม่ต่างจากผู้หญิงโดยเฉพาะในชนชั้นแรงงาน จะได้ประโยชน์อะไรจากความคิดชายเป็นใหญ่ที่ถูกชนชั้นนำกล่อมเกลา  เมื่อฐานะและความเป็นอยู่ในครอบครัวไม่ดีขึ้น ไม่ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการที่ดี ไม่มีความมั่นคงในการทำงาน อำนาจต่อรองในที่ทำงานน้อย ถูกลิดรอนสิทธิ นำไปสู่ปัญหาช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน  ดังนั้น ผู้ชายที่ถูกสังคมเรียกร้องให้มีหน้าที่หาเงินมาเลี้ยงครอบครัว มีบทบาทเป็นผู้นำ ก็ถูกความคิดของชนชั้นนำกระทำด้วยเช่นกัน

วิธีการแก้ไขความรุนแรงทางเพศ การกดขี่สตรี คือ ขจัดทัศนคติเกี่ยวกับบทบาทและความรับผิดชอบของผู้หญิงและผู้ชายในครอบครัวและสังคม รวมถึงประเพณีดั้งเดิมที่เปิดโอกาสใช้ความรุนแรงต่อสตรี ในภาษาการเมืองคือวัฒนธรรมอำมาตย์  ที่ยอมรับอำนาจเผด็จการจากคนในตำแหน่งสูง กดทับและกีดกันคนธรรมดาไม่ให้ได้รับสิทธิประโยชน์การดูแลจากรัฐอย่างเต็มที่ เพื่อเป้าหมายที่จะสะสมความมั่งคั่งของตัวเอง

เราจึงต้องลดพื้นที่การควบคุมของผู้มีอำนาจ สร้างพื้นที่แสดงออกซึ่งเสรีภาพมากขึ้น และสร้างความสามัคคีของคนชนชั้นแรงงานไม่ว่าเพศไหน เพื่อปลดแอกจากระบบสังคมชนชั้น และร่วมผลักดันคุณภาพชีวิตที่ดี    อันได้แก่ 

1. สิทธิในการยุติการตั้งครรภ์เมื่อไม่พร้อม (ทำแท้ง) ผู้หญิงต้องมีเสรีภาพเหนือร่างกายของตัวเอง
2. สิทธิลาเลี้ยงดูบุตรที่คลอดของสามีเช่นเดียวกับภรรยา
3. ศูนย์เลี้ยงดูเด็กเล็กในสถานประกอบการ
4. สามีช่วยเหลือภาระงานบ้านและเลี้ยงดูลุก เมื่อภรรยาต้องออกไปทำงานข้างนอกด้วย
5. การยอมรับการตั้งครรภ์ไม่พร้อมของวัยรุ่น ไม่ให้ถูกไล่ออกจากโรงเรียน
6. สุขภาพและความปลอดภัยในที่ทำงานที่ไม่กระทบต่อการตั้งครรภ์
7. วัฒนธรรมการเลี้ยงดูเด็กไม่ควรใช้เพศแบ่งแยกบทบาทการกระทำ ควรใช้พื้นฐานนิสัย ความสนใจ ความถนัดของเด็กมากกว่า
8. วัฒนธรรมองค์กร เช่นในสถานที่ทำงาน สหภาพแรงงาน ไม่ควรกำหนดงานบริการเสริฟน้ำ กาแฟ ดูแลห้องประชุมให้ผู้หญิงแบกรับเพียงฝ่ายเดียว เปิดโอกาสให้ผู้หญิงนำวงเสวนา เป็นวิทยากรในจำนวนใกล้เคียงกับผู้ชาย และจัดสรรโควตาการดำรงตำแหน่งของผู้หญิงในโครงสร้างการบริหารงานองค์กรด้วย
9. สนับสนุนการเรียนฟรีถึงขั้นสูง การรักษาพยาบาลฟรี หรือราคาถูก สวัสดิการเลี้ยงดูบุตรธิดา นำเงินจากการเก็บภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้าจากคนรวยๆ มาจัดสวัสดิการเพิ่มเติมเหล่านี้
10. ลดงบประมาณและกองกำลังทหาร  ที่ทำตัวเป็นผู้ใหญ่รู้ดี และตัดสินด้วยกำลังอาวุธ
11. เพิ่มฐานค่าจ้าง /เงินเดือนให้แก่แรงงานหญิงเพื่อส่งผลต่อการลดการทำงานล่วงเวลา มีเวลาดูแลครอบครัว พักผ่อน ศึกษาหาความรู้มากขึ้น
12. ยืนยันสิทธิในการเลือกตั้ง 1 คน 1 เสียง คนธรรมดาต้องมีอำนาจในการตัดสินใจทางการเมือง ไม่ใช่เรียกร้องหานายกรัฐมนตรีจากการแต่งตั้ง หรือเผด็จการทหารมาตัดสินใจแทนประชาชน
13. ส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออก ปล่อยนักโทษการเมือง ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
14. เพิ่มอำนาจของประชาชนในการตรวจสอบการบริหารงานของหน่วยงานรัฐ นายจ้าง สื่อมวลชนให้มีความโปร่งใส และไม่ให้ควบคุม กดขี่ประชาชนอย่างที่เป็นอยู่ และตั้งสหภาพแรงงานได้อย่างเสรี

ที่ผ่านมา การที่ผู้หญิงออกมาทำงานนอกบ้านมากขึ้น ได้ช่วยปลดแอกพวกเขาออกจากกรอบประเพณีดั้งเดิมบางส่วน มีอำนาจต่อรองกับครอบครัว สามีเพราะมีอำนาจทางเศรษฐกิจในมือ เช่น ตัดสินใจที่จะแต่งงานหรือไม่แต่งงาน หรืออยู่ก่อนแต่งได้ เปลี่ยนคู่บ่อย มีเสรีภาพทางเพศ ต่อสู้กับนายจ้างในโรงงาน เฉื่อยงาน หยุดเครื่องจักร นัดหยุดงาน ตั้งสหภาพแรงงานเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง  แต่ในบริบทความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน การต่อสู้เพื่อให้ผู้หญิงมีศักดิ์ศรีและคุณภาพชีวิตที่ดีต้องไปพร้อมๆ กับการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยในทุกพื้นที่ ต่อสู้ทางความคิดกับกลุ่มอนุรักษ์นิยม และแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในระดับโครงสร้าง ให้ผู้มีอำนาจปรับตัว คนชั้นกลางปรับทัศนคติ และคนชั้นล่างรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง จึงจะเข้าถึงคุณค่าของวันสตรีสากล  ไม่ใช่เอาแต่เรียกร้องให้ผู้หญิงแต่งตัวมิดชิด วางตัวเหมาะสมไม่เปิดโอกาสให้ผู้ชายล่วงละเมิด อย่างที่พวกข้าราชการ นักวิชาการสายหนึ่งนำเสนอมานานและนำเสนอเป็นข้อแรกๆ ของการแก้ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง ซึ่งผู้เขียนมองว่าเป็นการโทษผู้หญิงที่ตัวบุคคลก่อนจะที่โทษที่ระบบโครงสร้างไม่เป็นธรรม  ฉะนั้น เมื่อเกิดอาชญากรรมต่อผู้หญิง จะต้องโทษผู้กระทำผิดกฎหมายและคุ้มครองผู้ถูกกระทำอย่างถึงที่สุด ไม่ว่าผู้ชายคนนั้นจะเป็นสามีก็ตาม

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net