Skip to main content
sharethis

         

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จากข้อมูลล่าสุดพบว่า ปัจจุบันมีคนไทยป่วยด้วยโรคไตเรื้อรังร้อยละ 17.6 ของประชากร หรือประมาณ 8 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้าย 2 แสนคน หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะเกิดโรคแทรกซ้อนถึงเสียชีวิตได้ ซึ่งการรักษาคือการผ่าตัดปลูกถ่ายไต แต่ด้วยข้อจำกัดโดยเฉพาะการขาดแคลนผู้บริจาคไต นอกจากค่าผ่าตัดที่ยุ่งยากแล้ว ทำให้แต่ละปีทั่วประเทศสามารถปลูกถ่ายไตได้เพียงปีละ 400 รายเท่านั้น ขณะที่มีผู้ป่วยที่รอการเปลี่ยนถ่ายไตใหม่ถึง 40,000 ราย ดังนั้นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเหล่านี้จึงต้องทำการล้างไตเพื่อยืดอายุ ไม่ให้เสียชีวิต 

ทั้งนี้ก่อนหน้าที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะกำหนดสิทธิประโยชน์การักษาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเหล่านี้ มีจำนวนมากที่มีปัญหาการเข้าถึงการรักษา เนื่องจากโรคไตนับเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงมาก เพียงแค่การฟอกไตผ่านเครื่องไตเทียม ค่าใช้จ่ายครั้งละ 1,500-2,000 บาท ซึ่งผู้ป่วยต้องรับการฟอกไตสัปดาห์ละ 2 ครั้งต่อเนื่องไปตลอดชีวิต หรือได้รับการปลูกถ่ายไตใหม่ ทำให้มีผู้ป่วยโรคไตและครอบครัวผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ต้องกู้หนี้ยืมสิน จนถึงขั้นล้มละลาย ขณะที่ค่าใช้จ่ายการปลูกถ่ายไตใหม่นั้นอยู่ที่ 200,000 บาทต่อคน ไม่รวมถึงยากดภูมิคุ้มกันที่ต้องกินไปตลอดชีวิตเช่นกัน เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการรักษา

นพ.วินัย กล่าวว่า หลังจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้กำหนดให้การรักษาโรคไตเรื้อรัง เป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พร้อมสนับสนุนการพัฒนาหน่วยบริการให้เพียงพอกับการดูแลผู้ป่วย และได้แยกบริหารจัดการเป็น “กองทุนผู้ป่วยโรคไต” ออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2551 ครอบคลุมตั้งแต่การรักษาทดแทนไตด้วยวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนไต การล้างไตผ่านช่องท้องอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการฟอกไตผ่านเครื่องที่กำหนดให้เฉพาะผู้ที่ไม่สามารถล้างไตผ่านช่องท้องได้ นอกจากช่วยผู้ป่วยโรคไตเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้ภาวะการล้มละลายจากการรักษาโรคไตเรื้อรังลดลง ทั้งนี้ จากการดำเนินการในช่วง 6 ปี ที่ผ่านมา สามารถลดอัตราการเสียชีวิตและยืดอายุผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังให้มีอายุยืนยาวขึ้น โดยข้อมูลปี 2556 มีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 27,210 ราย เป็นผู้ป่วยล้างไตผ่านหน้าท้องมากที่สุด 14,318 ราย ฟอกไตผ่านเครื่อง 11,964 ราย ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต 90 ราย และผู้ป่วยปลูกถ่ายไตที่ต้องได้รับยากดภูมิ 838 ราย

 “แม้ว่า สปสช.จะได้จัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง โดยในปี 2557 ได้จัดงบประมาณไว้ที่ 5,178 ล้านบาท เป็นงบสำหรับบริการผู้ป่วยทดแทนไต 35,429 ราย เป็นเงิน 5,154 ล้านบาท และเป็นงบสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 24.7 ล้านบาท แต่มีการคาดการณ์ว่าจำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังในประเทศจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากการรายงานสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ พบผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง 8 ล้านคน มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 10,000 คน โดยในปี 2560 คาดว่าอาจจะต้องใช้งบประมาณในการดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังกว่า 17,000 ล้านบาท” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

นพ.วินัย กล่าวต่อว่า โรคไตวายเรื้อรังเกิดจากพฤติกรรมการบริโภค โดยเฉพาะอาหารที่รสเค็มจัดหรือมีโซเดียมคลอไลด์สูงเป็นประจำโดยไม่คำนึงถึงสุขภาพ และด้วยวันพฤหัสบดีสัปดาห์ที่ 2 เดือนมีนาคมของทุกปี เป็นวันที่ International Federation of Kidney Foundation และ International Society of Nephrology ได้กำหนดให้เป็น "วันไตโลก” (World Kidney Day) โดยปีนี้ตรงกับวันที่ 13 มีนาคม จึงเป็นโอกาสอันดีในการรณรงค์ให้ประชาชนเกิดความตระหนักในการป้องกันและช่วยลดจำนวนผู้ป่วยไตเรื้อรัง เพราะแม้ว่าประเทศไทยจะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีสิทธิประโยชน์ครอบคลุมการรักษาผู้ป่วยโรคไต แต่หากจำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมีจำนวนมากเกินไป ไม่เพียงจะกลายเป็นภาระงบประมาณในอนาคตได้ แต่ยังอาจส่งผลต่อการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยเอง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net