Skip to main content
sharethis

 

12 มี.ค.2557  หลายองค์กรออกแถลงการณ์เนื่องในโอกาส 10 ปีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิร  คณะผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติเรียกร้องให้รัฐบาลไทยพิสูจน์ความจริงและหาตัวผู้กระทำผิด เช่นเดียวกับข้อเรียกร้องของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ขณะที่ ฯพณฯ จุฬาราชมนตรี ส่งสารให้กำลังใจครอบครัวนีละไพจิตร ชีวิตและชี้ว่าร่างกายที่สูญหายไปของทนายสมชายไม่เคยสูญเปล่า แต่ได้ให้บทเรียนอันมีคุณค่าและเป็นแบบอย่างของความเป็นมุสลิมที่ดีใน การต่อสู้และผดุงความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม

0000000000000000

ครอบครัวทนายสมชาย นีละไพจิตรยังคงรอคอยความจริงและความยุติธรรม

๑๐ ปีหลังจากการหายตัวไปของทนายสมชาย

 

คณะผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติวันนี้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยพิสูจน์ความจริงและดำเนินการให้ผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตรรับผิดชอบภายใต้กฎหมายอาญา  คณะผู้เชี่ยวชาญอิสระฯ กล่าวในวันครบรอบ ๑๐ ปีการหายตัวไปของทนายสมชายว่าการสืบสวนคดีนี้ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนและเตือนว่าเจ้าหน้าที่รัฐอาจจะยุติการสืบสวนคดีนี้

คณะทำงานของสหประชาชาติว่าด้วยการบังคับบุคคลให้สูญหายหรือโดยไม่สมัครใจกล่าวว่า “เรายังไม่ทราบถึงชะตากรรมและข้อเท็จจริงว่าสมชาย นีละไพจิตรอยู่ที่ไหนหลังจากสิบปีที่เขาได้หายตัวไป เราขอให้รัฐบาลไทยดำเนินการสืบสวน พิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าสมชายอยู่ที่ไหน ดำเนินการตรวจสอบอย่างยุติธรรม เปิดเผยข้อมูลให้กับสาธารณชน และรับประกันว่าผู้กระทำผิดจะต้องถูกดำเนินคดีตามกระบวนการทางอาญา”

สมชาย นีละไพจิตรเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและเป็นสมาชิกอาวุโสของสมาคมกฎหมายสองแห่ง สมชายได้หายตัวไปในวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๗ โดยการหายตัวไปของเขาน่าจะมีความเกี่ยวโยงกับบทบาทของเขาในการเป็นทนายความปกป้องสิทธิชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้ ศาลชั้นต้นตัดสินว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจห้านายที่ถูกฟ้องร้องภายใต้ข้อหาชิงทรัพย์และขู่เข็ญได้พ้นผิด ข้อหาเหล่านี้มีความเกี่ยวโยงกับการลักพาตัวทนายสมชาย ปัจจุบันคดีนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา

ผู้เชี่ยวชาญอิสระฯ ชี้ว่า “แม้ว่าทางรัฐได้ให้ค่าชดเชยทางการเงินจำนวนหนึ่งกับครอบครัวของสมชาย นีละไพจิตร แต่นั้นไม่ได้ปลดเปลื้องภาระของรัฐบาลไทยในการค้นหาข้อเท็จจริงของการบังคับบุคคลให้หายตัวไปและนำความยุติธรรมมาให้กับเหยื่อของอาชญากรรมที่รุนแรงนี้ เราเรียกร้องให้รัฐบาลไทยสร้างความพยายามมากขึ้นในการต่อสู้กับการที่บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบังคับให้บุคคลสูญหายสามารถลอยนวลได้โดยไม่ต้องรับโทษ”

คณะผู้เชี่ยวชาญอิสระฯ กล่าวเพิ่มว่า “ในฐานะที่ประเทศไทยได้ลงนามกับอนุสัญญาเพื่อปกป้องบุคคลจากการถูกบังคับให้สูญหายในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ประเทศไทยต้องทำให้การบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดทางอาญา การกระทำที่เทียบเท่ากับการบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเลวร้ายดังนั้นการกระทำเช่นนั้นต้องได้รับการลงโทษตามความร้ายแรงนี้”

คณะทำงานฯ เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยรับประกันความปลอดภัยของครอบครัวทนายสมชายโดยเฉพาะกับคุณอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายสมชายผู้ได้ต่อสู้อย่างไม่หยุดยั้งเพื่อความยุติธรรมสำหรับสามีของเธอและของเหยื่อผู้ถูกบังคับให้สูญหายคนอื่นๆ ในประเทศไทย แม้ว่าเธอจะถูกข่มขู่เป็นจำนวนมาก”

แถลงการณ์ของคณะทำงานฯ ฉบับนี้ได้ความสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติท่านอื่นๆ รวมถึงผู้ตรวจสอบพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยสถานการณ์นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้ตรวจสอบพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและทนาย ผู้ตรวจสอบของสหประชาชาติว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี และผู้ตรวจสอบพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิในการชุมนุมและการสมาคมอย่างสันติ

00000000000

 

ประเทศไทย: 10 ปีผ่านไป ร่วมกันค้นหาความจริงและความยุติธรรม

ให้กับครอบครัวของทนายสมชาย นีละไพจิตร

ในโอกาสครบรอบ 10 ปีของการบังคับบุคคลให้สูญหายกรณีนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชนของไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้ทางการไทยค้นหาว่าเขาอยู่ที่ใด และมีชะตากรรมอย่างไร และให้นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ทางหน่วยงานยังเรียกร้องให้ทางการให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) โดยทันที ทั้งนี้ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาดังกล่าวเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 และให้นำมาบังคับใช้เป็นกฎหมายในประเทศ

สมชาย นีละไพจิตรหายตัวไปจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 แม้จะมีความพยายามร่วมกันทั้งครอบครัวของเขาและภาคประชาสังคมในไทยเพื่อค้นหาความจริง แต่ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับชะตากรรมและที่อยู่ของเขา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเห็นว่าการหายตัวไปของสมชาย นีละไพจิตรถือได้ว่าเป็น “การบังคับบุคคลให้สูญหาย” ซึ่งเกิดจากการกระทำของหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลที่กระทำตามคำสั่ง หรือได้รับความสนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจจากรัฐ

จนถึงปัจจุบัน ทางการไทยยังไม่ได้นำตัวผู้ที่ทำให้บุคคลสูญหายมาลงโทษ นอกจากนั้น ศาลอุทธรณ์ยังปฏิเสธการร้องขอเป็นโจทก์ร่วมของครอบครัวของสมชาย นีละไพจิตร ในคดีที่มีการยกฟ้องนายตำรวจที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด

 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องอีกครั้งหนึ่งให้ทางการไทยนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษโดยผ่านกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม รวมทั้งตัวผู้ที่มีพยานหลักฐานที่รับฟังได้มากเพียงพอและยืนยันว่าเกี่ยวข้องในการสั่งการ การ ปฏิบัติหรือการปกปิดกรณีการบังคับบุคคลให้สูญหายที่มีต่อสมชาย นีละไพจิตร และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ที่กระทำต่อเขา โดยไม่คำนึงว่าบุคคลดังกล่าวจะมีตำแหน่งหรือยศใด

อีกครั้งเรียกร้องให้ทางการไทยรับประกันว่า ครอบครัวของสมชาย นีละไพจิตรสามารถเข้าถึงการเยียวยาจากการบังคับบุคคลให้สูญหาย รวมทั้งการชดเชย ค่าเยียวยา การบำบัดฟื้นฟู ความพึงพอใจ และการรับประกันว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำอีก

การแก้ปัญหากรณีการสูญหายของสมชาย นีละไพจิตรเป็น “บททดสอบสำคัญ” ในแง่การเคารพต่อสิทธิมนุษยชนในไทย รวมทั้งการให้การเยียวยาและการชดเชยเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน และทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับความจริงใจหรือความสามารถของทางการไทยในการแก้ปัญหาการลอยนวลพ้นผิดของผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและกระทำความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศ 

ความจำเป็นที่จะต้องแสวงหาความจริงและความยุติธรรมอย่างต่อเนื่องในกรณีของสมชาย นีละไพจิตร และการสูญหายในกรณีอื่น การคุกคามที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของเขาและอดีตลูกความของเขาที่พยายามแสวงหาการเยียวยา เน้นให้เห็นความจำเป็นที่ทางการต้องประกันให้มีความรับผิดเมื่อเกิดการละเมิดและการปฏิบัติมิชอบทางสิทธิมนุษยชน และต้องประกันให้เกิดบรรยากาศที่ประชาชนสามารถเข้าแจ้งความเมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐละเมิดสิทธิมนุษยชน และกล้าที่จะแสวงหาการเยียวยาโดยไม่กลัวการตอบโต้

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอเรียกร้องอีกครั้งให้ทางการยุติการลอยนวลพ้นผิด และประกันให้มีการสืบสวนสอบสวนโดยพลัน อย่างถี่ถ้วน อย่างเป็นอิสระและอย่างไม่ลำเอียง ต่อการแจ้งความกรณีผู้สูญหายทุกกรณี ทั้งนี้เพื่อให้นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษและเพื่อให้การคุ้มครองอย่างเป็นผลต่อผู้เสียหาย ผู้แจ้งความ พยาน และครอบครัวของพวกเขาในระหว่างที่มีการดำเนินคดี

ข้อมูลพื้นฐาน

นายสมชาย นีละไพจิตร อายุ 53 ปี ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม และรองประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ได้ถูกบังคับให้สูญหายในช่วงค่ำ วันที่ 12 มีนาคม 2547 ที่กรุงเทพฯ โดยมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่าผู้ลงมือกระทำเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบห้านาย ก่อนหายตัวไปอย่างลึกลับเพียงหนึ่งวัน นายสมชายได้ยื่นหนังสือร้องเรียนในนามของลูกความห้าคนซึ่งเป็นผู้ต้องหาคดีปล้นปืนที่จังหวัดนราธิวาสเมื่อเดือนมกราคม 2547 และได้ร้องเรียนกับนายสมชายว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายร่างกายเพื่อบังคับให้รับสารภาพระหว่างถูกควบคุมตัว

เดือนเมษายน 2547 เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งห้านายได้ถูกจับกุมในข้อหาเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของนายสมชาย แต่เนื่องจากกฎหมายไทยไม่มีข้อบัญญัติโดยตรงในกรณีการบังคับบุคคลให้สูญหาย จึงไม่มีการตั้งข้อหาการทำให้บุคคลสูญหายต่อตำรวจ และเนื่องจากไม่สามารถค้นพบศพของนายสมชาย และเป็นผลสืบเนื่องมาจากหลักเกณฑ์ด้านพยานหลักฐานของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทำให้ไม่สามารถตั้งข้อหาฆาตกรรมต่อตำรวจได้ เป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนข้อหาเป็นการปล้นทรัพย์และการใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย

เดือนมกราคม 2549 เจ้าหน้าที่ตำรวจหนึ่งในห้านาย ได้ถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุกเป็นเวลาสามปี ส่วนตำรวจอีกสี่นายสามารถกลับไปทำงานโดยไม่ถูกลงโทษ ขณะนี้คดีดังกล่าวยังอยู่ในศาลฎีกา

ปี 2554  ศาลอุทธรณ์ได้อ่านคำพิพากษายกฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจจากความผิดฐาน กักขังหน่วงเหนี่ยว  และความผิดต่อเสรีภาพ และเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นจำเลยเพียงคนเดียวได้หายตัวไปอย่างปริศนา อีกทั้งยังตัดสิทธิของครอบครัวในการเข้าเป็นโจทก์ร่วม  เนื่องจากไม่มีหลักฐานว่าทนายสมชายบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต  

หลังการหายตัวของทนายสมชาย ครอบครัวนีละไพจิตรต้องอยู่อย่างหวาดระแวง มีโทรศัพท์ข่มขู่เป็นระยะให้ระมัดระวังอาจมีอันตราย

เดือนธันวาคม 2555 เจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรมแจ้งแก่ผู้สื่อข่าวว่าเอกสารสำนวนคดีของทนายสมชาย นีละไพจิตร หายไปบางส่วนระหว่างที่ผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเข้ายึดพื้นที่สำนักงาน แต่หลังจากครอบครัวนีละไพจิตรยื่นหนังสือสอบถามข้อเท็จจริงและขอให้เร่งรัดการดำเนินคดี เจ้าหน้าที่ให้สัมภาษณ์ต่อมาว่าพบเอกสารสำนวนคดีของทนายสมชายแล้ว

ข้อร้องเรียนเรื่องการถูกทรมานจากลูกความทั้งห้าคนของทนายสมชายได้รับการสอบสวน เมื่อธันวาคม 2553 ข้อร้องเรียนดังกล่าวถูกยกฟ้องเนื่องจากไม่มีหลักฐานที่เป็นรูปธรรมพิสูจน์ได้ว่ามีการทรมาน ต่อมาลูกความคนหนึ่งได้ถูกตำรวจแจ้งความกลับในข้อหาแจ้งความเท็จ ในปี 2554 ศาลอาญากรุงเทพตัดสินว่าจำเลยมีความผิดจากการให้หลักฐานปรักปรำเจ้าหน้าที่รัฐ และลงโทษจำเลยด้วยโทษจำคุกสองปี ส่วนลูกความอีกหนึ่งคนที่เป็นพยานให้การถึงการหายตัวไปของทนายสมชายได้หายตัวไปในปี 2552

00000000000

 

สาร ฯพณฯจุฬาราชมนตรี
เนื่องในโอกาส “10 ปี แห่งการสูญหายของทนายสมชาย นีละไพจิตร”
-----------------------------------------

ข้าพเจ้ายังคงรู้สึกสลดใจและเสียใจเป็นอย่างยิ่งกับการสูญหายของทนายสมชาย นีละไพจิตร ถึงแม้ว่าเวลาได้ล่วงเลยไปถึง 10 ปีมาแล้วก็ตาม ดังนั้น ในเบื้องต้นนี้จึงใคร่ขอเป็นกำลังใจให้กับสมาชิกในครอบครัว “นีละไพจิตร” ทุกคนให้มีความเข้มแข็งและอดทนกับการกำหนดของพระผู้เป็นเจ้าในครั้งนี้ แม้ว่าจะเป็นไปในลักษณะความอยุติธรรมที่ได้รับก็ตาม เพราะเราในฐานะที่เกิดมาเป็นมุสลิมถูกสอนให้ต้องเป็นผู้อดทนซึ่งเป็นคุณค่า สำคัญของผู้มีความศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าไม่ว่าเขาจะเผชิญกับความยากลำบาก อย่างมากมายเช่นไรก็ตาม ดังที่คัมภีร์ อัล-กุรอ่าน ได้กล่าวว่า

“แน่นอนยิ่งพวกเจ้าจะถูกทดสอบ.....และหากพวกเจ้าอดทนและยำเกรงแล้ว แท้จริงนั่นคือส่วนหนึ่งจากกิจการที่เด็ดเดี่ยว” (3 : 186)

“บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! จงอาศัยความอดทนและการละหมาดเถิด แท้จริงอัลลออ์นั้นทรงอยู่ร่วมกับผู้อดทนทั้งหลาย” (2 : 153)

ข้าพเจ้าเห็นว่าตลอดชีวิตของ ทนายสมชาย นีละไพจิตร ท่านได้อุทิศตัวเป็นแบบอย่างของความเป็นมุสลิมที่ดีในการเอาใจใส่กับความ ทุกข์ยากเดือดร้อนของผู้อยู่ในฐานะเสียเปรียบในสังคม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านการเป็นทนายผู้ธำรงยืนหยัดในความยุติธรรม

จะเห็นได้ว่า ข้อเรียกร้องสำคัญที่สุดประการหนึ่งในศาสนาอิสลามทั้งต่อผู้ที่แข็งแรงหรือ อ่อนแอก็ตาม คือ การสถาปนาความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม ดังนั้น การกระทำใด ๆ ก็ตามเพื่อสร้างความยุติธรรมจึงเปรียบเท่ากับว่าเป็นการกระทำเพื่อพระผู้ เป็นเจ้า ดังตัวอย่างคำสอนในอัล-กุรอ่าน ที่เรียกร้องให้มุสลิมต้องมีหน้าที่ในการสร้างความยุติธรรมและต่อต้านการกด ขี่และความอยุติธรรมทั้งหลาย ได้แก่

“ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! จงเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีเพื่ออัลลอฮ์ เป็นพยานด้วยความเที่ยงธรรมและจงอย่าให้การเกลียดชังพวกหนึ่งพวกใด ทำให้พวกเจ้าไม่ยุติธรรม จงยุติธรรมเถิด มันเป็นสิ่งที่ใกล้กับความยำเกรงยิ่งกว่า และพึงยำเกรงอัลลอฮ์เถิด แท้จริงอัลลอฮ์นั้น เป็นผู้ทรงรอบรู้อย่างละเอียดในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำกัน” (5 : 8)

“แท้จริงอัลลอฮ์ทรงใช้ให้รักษาความยุติธรรมและทำดี และการบริจาคแก่ญาติใกล้ชิด และให้ละเว้นจากการทำลามกและการชั่วช้า และการอธรรม พระองค์ทรงตักเตือนพวกเจ้าเพื่อพวกเจ้าจักได้รำลึก”(16: 90)

ดังนั้น ในหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม การสถาปนาความยุติธรรมในสังคมจึงเป็นสิ่งที่ควบคู่กับความเป็นมุสลิมเสมอ และมนุษย์จะต้องพยายามแสวงหาสันติภาพด้วยความยุติธรรม ซึ่งหลักการนี้เป็นหน้าที่ของผู้คนโดยทั่วไป รวมทั้งผู้ที่เป็นผู้ปกครอง ท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ.ล.) ได้เรียกร้องให้มุสลิมยึดมั่นในความยุติธรรมและต่อต้านความอยุติธรรมทั้ง หลาย ไม่ว่าความอยุติธรรมนั้นจะมาจากผู้ที่เป็นมุสลิมหรือไม่ใช่มุสลิม หรือแม้แต่ผู้ที่ใกล้ชิดก็ตาม

“ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! จงเป็นผู้ที่ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม จงเป็นพยานเพื่ออัลลอฮ์ และแม้ว่าจะเป็นอันตรายแก่ตัวของพวกเจ้าเอง หรือผู้บังเกิดเกล้าทั้งสองและญาติที่ใกล้ชิดก็ตาม หากเขาจะเป็นคนมั่งมีหรือคนยากจน อัลลอฮ์ก็สมควรยิ่งกว่าเขาทั้งสอง ดังนั้น จงอย่าปฏิบัติตามความใคร่ใฝ่ต่ำในการที่พวกเจ้าจะมีความยุติธรรม และหากพวกเจ้าบิดเบือนหรือผินหลังให้ แท้จริงอัลลอฮฺทรงรอบรู้อย่างถี่ถ้วนในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำกัน” อัล-กุรอ่าน (4 : 135)

จะเห็นได้ว่า การแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางของศาสนาอิสลามมาจากพื้นฐานในการช่วยเหลือและ เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ที่อ่อนแอหรือไร้อำนาจในสังคม การต่อสู้เพื่อต่อต้านการกดขี่การช่วยเหลือคนจนผู้ยากไร้ และการมองมนุษย์อย่างมีความเท่าเทียมกัน สิ่งเหล่านี้นับเป็นคุณค่าอันเป็นแก่นของคำสอนของศาสนาอิสลาม อิสลามเรียกร้องให้มนุษย์ต้องกระทำความดี ไม่เพียงต่อผู้ที่เป็นบุพการีและผู้ที่เป็นญาติพี่น้องเท่านั้น หากรวมถึงต้องกระทำดีและรับผิดชอบต่อผู้ที่เป็นเด็กกำพร้า คนจนผู้ยากไร้ ผู้คนที่ไม่มีใครคอยให้ความดูแลช่วยเหลือ ตลอดจนผู้ที่เป็นเพื่อนบ้าน ไม่ว่าพวกเขาจะมีความเกี่ยวข้องกับเราในทางใดหรือไม่ก็ตาม และมุสลิมจะต้องสร้างความยุติธรรม ความมีคุณธรรม ตลอดจนกระทำความดีงามทั้งต่อผู้ที่เป็นมุสลิมและผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม

ดังนั้น ชีวิตและร่างกายที่สูญหายไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร จึงไม่เคยสูญเปล่า แต่ท่านได้ให้บทเรียนอันมีคุณค่าและเป็นแบบอย่างของความเป็นมุสลิมที่ดีใน การต่อสู้และผดุงความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม ข้าพเจ้าจึงใคร่ขอพรจากอัลลอฮ์(ซ.บ.)ได้โปรดประทานความโปรดปรานและเมตตาแก่ ทนายสมชาย นีละไพจิตร ตลอดจนสมาชิกในครอบครัวทุกคน อามีน

(นายอาศิส พิทักษ์คุมพล)
จุฬาราชมนตรี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net