Skip to main content
sharethis

ประมวลข่าวสารลิขสิทธิ์รอบโลกสัปดาห์นี้ นำเสนอข่าวพ่อครัวร้านมิชลิน 3 ดาวในฝรั่งเศสอ้างการถ่ายรูปอาหารละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา, แขนกลตีกลอง, โดรนติดปืนไฟฟ้า

Immaterial Property Research Center ตั้งขึ้นในวันที่ 18 มกราคม หรือ "วันเสรีภาพอินเทอร์เน็ต" เพื่อเป็นศูนย์ข่าว ศูนย์ข้อมูล และศูนย์วิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุ (หรือที่เป็นที่รู้จักทั่วไปว่าทรัพย์สินทางปัญญา) ต่างๆ อย่างสัมพันธ์กับระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ และระบบการเมืองในโลก ทางศูนย์ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานของศูนย์ฯ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุที่เอื้อให้เกิดเสรีภาพในเชิงบวกไปจนถึงความเท่าเทียมกันของผู้คนในโลก
 

 

พ่อครัวจากร้านมิชลิน 3 ดาวฝรั่งเศสอ้างการถ่ายรูปอาหารเป็นการทำลายทรัพย์สินทางปัญญาของเขา

ลิขสิทธิ์เป็นกฎหมายที่ถูกสร้างขึ้นมาในตอนแรกเพื่อให้สิทธิในการผูกขาดการผลิตซ้ำหรือการตีพิมพ์งานเขียน และเมื่อเวลาผ่านมาลิขสิทธิ์ได้ได้ขยายขอบเขตคุ้มครองแทบจะทุกอย่างที่นับเป็นศิลปวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นภาพพิมพ์ งานดนตรี ภาพวาด ภาพถ่าย ภาพยนตร์ งานทางสถาปัตยกรรม ไปจนถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์

เกณฑ์การคุ้มครองของลิขสิทธิ์ถูกกำหนดโดยผูกกับรูปแบบศิลปวัฒนธรรมที่เด่นชัด ไม่ใช่ว่าจะอ้างว่าอะไรเป็นศิลปะหรือเป็นผลผลิตของแรงงานทางความคิดแล้วก็จะได้รับการคุ้มครองทั้งหมดเสนอไป

นี่หมายความว่ามีผลผลิตของแรงงานที่คนอ้างว่าเป็นแรงงานทางปัญญาจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ และในยุคที่ผู้คนนิยมกล่าวอ้างลิขสิทธิ์กันในเรื่องสากเบือยันเรือรบนี้ ผู้กล่าวอ้างว่าตนเป็นผู้ใช้แรงงานทางปัญญาเหล่านั้นก็เริ่มออกมาโวยวาย

อาหารนั้นโดยทั่วไปไม่ใช่สิ่งที่ผู้คนจะนับว่าเป็นศิลปวัฒนธรรม เพราะอย่างน้อยๆ ภายใต้การสถาปนาว่าอะไรเป็นหรือไม่เป็น “ศิลปะ” ของสุนทรียศาสตร์ในศตวรรษที่ 18 และ 19 กรอบคิดมันก็ออกจะมีความเห็นในเชิงดูถูกกับการรับรสมาตลอดในฐานะของผัสสะชั้นต่ำ ซึ่งก็แน่นอนว่าคงไม่มีนักคิดด้านสุนทรียศาสตร์ที่ไหนคิดว่าของสามานย์อย่างอาหารเป็น “ศิลปะ”

แต่การพยายามทำอาหารให้เป็น "ศิลปะ" ก็มีมาอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยๆ การกินอาหารในบรรดาร้านอาหารที่ได้ดาวของ "มิชลินชวนชิม" เต็ม 3 ดาวก็ดูจะขายอะไรมากกว่ารสชาติของอาหารกันเป็นปกติ

อาหารที่ถูกประดับประดาราวกับงานศิลปะในร้านอาหารจำนวนมากในประเทศที่เจริญแล้วนั้นเป็นสิ่งที่ตื่นตาของผู้มาใช้บริการร้านพอๆ กับที่รสชาติมันประทับใจบรรดาผู้มาใช้บริการ

ในยุคนี้ที่ผู้คนในประเทศที่เจริญแล้วพกกล้องถ่ายรูปติดมือถือกันเป็นปกติ มันก็น่าจะคาดเดาได้ว่าเหล่าผู้คนคงต้องควักกล้องมาถ่ายรูปอาหารอันตระการตาแน่ๆ ก่อนที่พวกเขาจะทำลายภาพอันตระการตานั้นหายไปชั่วกาลนานด้วยการลิ้มรสมัน (ซึ่งปกติรับประทานเพียงไม่กี่คำก็หมด)

หากผู้คนในยุคนี้ไม่ได้นิยมจะถ่ายรูปอาหารทุกชนิดที่กินเสมอไป จะถ่ายแค่อาหารบางชนิดที่ไม่ได้กินเป็นปกติ (เพราะอย่างน้อยๆ ก็คงจะไม่ปกติที่ใครจะมานั่งถ่ายรูปร้านข้าวแกงปากซอยออฟฟิสที่กินทุกวี่วัน เช่นเดียวกับคงไม่ปกติที่ใครจะถ่ายรูปแซนวิชดาษๆ ซ้ำๆ ซากๆ ที่ทำจากบ้านมากินที่ทำงาน) อาหารชั้นเลิศราคาแพงลิบแบบนี้แหละที่จะไม่พลาดจากการถูกถ่ายรูปแน่ๆ

อย่างไรก็ดีการถ่ายรูปนี้ก็ทำให้บรรดาพ่อครัวศิลปินทั้งหลายไม่พอใจนัก ร้านอาหารมิชลินสามดาวทั้งในฝรั่งเศสและอเมริกาจำนวนหนึ่งเริ่มแบนห้ามถ่ายรูปอาหารในร้าน โดยให้เหตุผลว่าการถ่ายรูปอาหารแล้วโพสต์เป็นการทำลายจังหวะการกินอาหาร ซึ่งกว่าจะถ่ายเสร็จโพสต์เสร็จอาหารก็เย็นชืดเสียแล้ว และนั่นเป็นการทำลายอาหารอย่างเลวร้ายที่สุด

แน่นอนว่าพ่อครัวเหล่านี้ก็ไม่ได้ต่างจากนักดนตรีจำนวนมากที่ต้องการควบคุมการบริโภคของผู้ซื้อสินค้า เพราะการต้องการกำหนดให้อาหารถูกกินอย่างถูกต้องในเวลาที่เหมาะสม ไม่ใช่มาถ่ายรูปก่อนกินนั้นก็ดูจะไม่ได้ต่างจากการที่นักดนตรีร็อคต้องการให้คนฟังเพลงของเขาตามลำดับในอัลบั้มเท่านั้น ไม่ใช่กด Shuffle ให้เพลงสลับกันไปมา (ไม่ต้องพูดถึงการแยกฟังเพลงเขาเดี่ยวๆ กับเพลงคนอื่น)

นี่เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้อยู่แล้วโดยทั่วไป เพราะอย่างน้อยๆ การไล่ตะเพิดลูกค้าที่ถ่ายรูปอาหารออกจากร้านไปนั้นก็คงจะไม่ใช่นโยบายที่ทำได้จริงๆ อย่างต่อเนื่องยาวนาน ถ้าคนยังรู้สึกว่าการถ่ายรูปอาหารเป็นสิทธิอันชอบธรรมอยู่

ความพยายามล่าสุดในการควบคุมพฤติกรรมการบริโภคอาหารในร้านของพ่อครัวศิลปินจากฝรั่งเศสผู้หนึ่งคือการอ้างว่าการถ่ายรูปอาหารเป็นการเอาทรัพย์สินทางปัญญาของเขาไปแม้จะเป็นเพียง "ส่วนเล็กๆ" ก็ตาม

แน่นอนว่านี่คงเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่มีกฎหมายรองรับเพราะไม่ว่าที่ใดในโลกก็ดูจะไม่ยอมรับว่าอาหารเป็น "ทรัยพ์สินทางปัญญา" ในระดับที่การถ่ายรูปก็เป็นการละเมิด

เพราะ ทรัพย์สินทางปัญญาที่ดูจะคุ้มครองอาหารได้จริงที่สุดดูจะเป็นสิทธิบัตรที่ในทางหลักการแล้ว "กระบวนการ" ทำอาหารชนิดหนึ่งๆ ที่จัดเป็นนวัตกรรมก็น่าจะสามารถไปจดสิทธิบัตรได้ ซึ่งก็แน่นอนว่ามันมีกระบวนการกลั่นกรองของสำนักงานสิทธิบัตรอยู่แล้วไม่ว่าจะประเทศใด ไม่ให้อาหารพื้นๆ ที่ประกอบกันทั่วไปอย่างกะเพราไก่ไข่ดาว ไข่เจียวหมูสับ หรือเบอร์เกอร์เนื้อกลายมาเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของใครคนใดคนหนึ่ง อย่างไรก็ดีเหตุผลหลักๆ ที่สิทธิบัตรทางอาหารแทบจะไม่มีก็คือตามหลักแล้วผู้จดสิทธิบัตรต้องเปิดเผยกระบวนการทั้งหมดในการจดสิทธิบัตรเพื่อแลกเปลี่ยนกับการสามารถผูกขาดกระบวนการนั้นได้เป็นเวลาสิบกว่าปี ซึ่งโดยทั่วไปก็ไม่มีพ่อครัวที่ไหนที่ต้องการเปิดเผย "สูตรลับ" ของตนเพื่อแลกการคุ้มครองดังกล่าว ดังนั้นการรักษาทรัพย์สินทางปัญญาในแง่สูตรอาหารที่ดีที่สุดคือการเก็บเป็นความลับ อันเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันมานมนานแล้วโดยไม่ต้องมีกฎหมายคุ้มครองความลับทางการค้าด้วยซ้ำไป

ทั้งนี้ ไม่มีระบบสิทธิบัตรที่ไหนในโลกที่จะบอกว่าคนที่ไปถ่ายรูปนวัตกรรมเป็นการละเมิดสิทธิบัตร เพราะนั่นไม่ได้เกี่ยวกับการทำซ้ำกระบวนการในสิทธิบัตรนวัตกรรมนั้น

ทรัพย์สินทางปัญญาแบบเดียวในโลกที่ผู้ถือครองมีสิทธิ์ดูจะห้ามผู้อื่นถ่ายรูปในที่สาธารณะได้คือลิขสิทธิ์ ซึ่งสิทธินี้ก็ไม่ได้สมบูรณ์อะไรนัก แม้ว่ามันมักจะถูกยกมาใช้ในกระบวนการ "เกรียนลิขสิทธิ์" หรือการฟ้องเพื่อเรียกค่ายอมความ ซึ่งกรณีที่ปรากฎบ่อยที่สุดคือการฟ้องร้องบริษัททำภาพยนตร์ทั้งเล็กและใหญ่ที่ไปถ่ายทำภาพยนตร์ติดงานอันมีลิขสิทธิ์ไม่ว่านั่นจะเป็นรายการโทรทัศน์ที่อยู่ในจอทีวีไกลลิบๆ หรือกระทั่งเก้าอี้ตัวหนึ่งที่อยู่ในฉาก

ดังนั้นการอ้างว่าสามารถห้ามถ่ายรูปอาหารได้ในนามของทรัพย์สินทางปัญญาจึงดูเป็นการอ้างว่าอาหารที่ทำออกมาเป็นสิ่งที่มีลิขสิทธิ์คุ้มครองไม่ต่างจากงานศิลปะ

ซึ่งการอ้างที่เลยเถิดแบบนี้คงจะเป็นสิ่งที่แม้แต่ทนายลิขสิทธิ์อันดับต้นๆ ของโลกไม่สามารถจะหาข้ออ้างมาสนับสนุนได้ด้วยซ้ำ

เพราะสุดท้ายการอ้างแบบนี้ได้จะเกิดคำถามจากสาธารณชนทันทีว่าอาหารจานใดได้รับการคุ้มครอง อาหารจานใดไม่ได้รับการคุ้มครอง?

เพราะการคุ้มครองอาหารทุกจานที่ถูกทำขึ้นมาในโลกคงจะดูบ้าคลั่งเกินสามัญสำนึกเกินไปแม้แต่ในหมู่ผู้นิยมลิขสิทธิ์

อย่างไรก็ดี ถ้าจะใช้มาตรฐานการคุ้มครองอาหารเช่นเดียวกับสิ่งอื่นๆ ในระบบกฎหมายลิขสิทธิ์ ก็คงจะต้องตอบว่าถ้าจะมีการคุ้มครองอาหารแล้ว อาหารทุกจานที่ถูกทำมาก็คงจะได้รับการคุ้มครองทันที ไม่ได้ต่างจากจากข้อเขียน หรือรูปถ่ายที่ ณ วินาทีที่งานถูกสร้างขึ้น การคุ้มครองลิขสิทธิ์ก็เริ่มแล้ว

การคุ้มครองอาหารราคาแพงที่คาบเกี่ยวกับความเป็นงานศิลป์แต่ไม่คุ้มครองอาหารข้างถนนนั้นเป็นไปไม่ได้ถ้าระบบกฎหมายลิขสิทธิ์ยังต้องการความคงเส้นคงวาอยู่

สิ่งที่เป็นไปได้ในทางกฎหมายก็อาจเป็นการบัญญัติทรัพย์สินทางปัญญาชนิดใหม่ขึ้นมา แต่นั่นก็ยากจะเป็นมาตรฐานโลก เพราะอย่างน้อยๆ การอ้างอย่างสมเหตุสมผลว่าอาหารเป็นมากกว่าของกิน แต่เป็นทรัพย์สินทางปัญญานั้นก็คงจะเป็นไปไม่ได้นักนอกฝรั่งเศส

Source:

 

CUPID: โดรนติดปืนช็อตไฟฟ้า

คงไม่ต้องกล่าวกันให้มากความกับผู้ที่ติดตามข่าวเทคโนโลยีมาบ้างว่าโดรนหรือเครื่องบินไร้คนขับนั้นเป็นเทคโนโลยีที่มาแรงมากๆ ในยุคนี้ ถ้าไม่นับการใช้ล่าสังหารระยะไกลทางการทหารอันเรียกว่า "โดรนสไตรค์" ที่มีมานานแล้ว ในพื้นที่อื่นๆ ของสังคมก็คงจะมีการใช้โดรนมากขึ้นแน่ๆ การใช้เทคโนโลยีโดรนในยุคนี้มีตั้งแต่การถ่ายภาพมุมสูงในภาพยนต์และการทำข่าวการประท้วง ไปจนถึงความพยายามใช้โดรนในเชิงพาณิชย์เช่นการใช้เพื่อส่งของ

ในบรรดาการใช้ใหม่ๆ สิ่งที่น่าจับตาและน่าสนใจเป็นพิเศษก็คือการใช้โดรนติดอาวุธในแง่การป้องกันตัว

แน่นอนว่าการใช้โดรนติดอาวุธปืนมาบินเพ่นพ่านในที่สาธารณะนั้นคงไม่ใช่สิ่งที่ถูกกฎหมายแน่ๆ แม้แต่ในประเทศที่การถือครองอาวุธปืนเป็นหนึ่งในสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ดีการติดอาวุธในแบบอื่นเช่นปืนช็อตไฟฟ้า (Stun Gun) ก็อาจไม่ผิดกฎหมายในแบบเดียวกัน

Chaotic Moon Studios อันเป็นบริษัทที่สร้างของประหลาดมาสารพัดได้ทดลองสร้างโดรนติดปืนช็อตไฟฟ้านามว่า CUPID ขึ้นมา

ปืนช็อตไฟฟ้าที่มันติดสามารถช็อตไฟฟ้า 80,000 โวลต์ ใส่คนได้ ซึ่งแรงกว่าปืนช็อตไฟฟ้าที่ตำรวจอเมริกันใช้ที่แรงช็อต 50,000 โวลต์เสียอีก

แน่นอนคนโดนยิงแล้วจะขยับไม่ได้ไปพักใหญ่ แต่ที่โหดกว่านั้นคือ ปืนช็อตไฟฟ้าของ CUPID สามารถส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไปทำลายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกในระยะ 4-5 ฟุตในการยิงได้อีก ซึ่งนี่ทำให้ CUPID ต้องมีกลไกเฉพาะในการป้องกันคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าดังกล่าวด้วย นี่หมายความอีกว่า CUPID สามารถใช้ทำลายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกอื่นๆ ได้ และหมายความอีกว่าอาวุธยิงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (EMP) นั้นไม่สามารถทำอะไร CUPID ได้อีกด้วย

แน่นอนว่าตอนนี้ CUPID ก็ยังไม่ได้อัจฉริยะอะไรมากมายยังต้องการคนบังคับและคนยังอยู่ แต่ภายใต้พัฒนาการเทคโนโลยีตอนนี้ การใส่เทคโนโลยีการบินอัตโนมัติ เทคโนโลยีจดจำใบหน้า ไปจนถึงเทคโนโลยีติดตามตัวเข้าไปก็ไม่ได้ยากอะไรนัก

คำถามคือถ้าใส่ทั้งหมดไปแล้ว CUPID จะกลายเป็นอะไรได้บ้าง?

มันคงจะเป็นได้หลายอย่างตั้งแต่โดรนที่ทำหน้าที่ไล่จับโจรของตำรวจ ยันการเป็นยามส่วนบุคคลในครัวเรือนหนึ่งๆ ที่จะบินไปช็อตแขกไม่ได้รับเชิญในยามวิกาลพร้อมส่งข้อมูลไปรายงานเจ้าของบ้าน

อย่างไรก็ดีขณะนี้ก็ยังไม่ใช่เจนนักว่าการเอาโดรนไปช็อตผู้คนในกรณีดังกล่าวนั้นจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งก็น่าจะได้รู้กันไม่นานเกิน 10 ปีนี้แน่ๆ เพราะมันน่าจะกลายเป็นเทคโนโลยีที่ทำได้แพร่หลายจนรัฐต้องออกมาสร้างความชัดเจน

Source:

 

มือกลองไซบอร์กกับแขนกล

เทคโนโลยีอวัยวะภายในเทียมแบบชีวภาพในตอนนี้พัฒนาไปไกลมากๆ ในระดับที่แทบจะเพาะอวัยวะอย่างหัวใจมาใส่แทนหัวใจเก่าได้แล้ว

แต่อวัยวะที่มีการทำงานซับซ้อนมากๆ อย่างแขน ตอนนี้ก็ยังไม่มีรายงานว่าจะมีการทำแขนเทียมชีวภาพที่ต่อกลับไปได้ และก็ยังไม่มีการเอาสเตมเซลล์ฉีดให้แขนงอกกลับมาใหม่ทั้งแขน (เต็มที่ที่ผู้เขียนเคยเห็นคือทำให้ปลายนิ้วที่ขาดงอกกลับมาได้ แต่นั่นก็ต้องใช้เวลาพอสมควร)

ในขณะที่ยังทำแขนเทียมแบบชีวภาพไม่ได้ ตอนนี้เทคโนโลยีแขนเทียมก็พัฒนาไปทั้งในแง่ความซับซ้อนอย่างการทำให้ผู้ส่วนใส่แขนเทียมมีความ "รู้สึก" ถึงสัมผัสของแขนได้ หรือในอีกด้านหนึ่งเทคโนโลยีการปริ๊น 3 มิติก็มีการพัฒนาไปในทางการสร้างแขนเทียมราคาย่อมเยาให้ผู้มีรายได้ไม่มากเข้าถึงได้

อย่างไรก็ดีการสร้างแขนเทียมที่ว่ามาทั้งหมด ล้วนเป็นการสร้างแขนเทียมเพื่อ "เลียนแบบมนุษย์" หรือสร้างมาแทนแขนเก่าเท่านั้น ไม่มีแขนเทียมใดถูกสร้างเพื่อจะมุ่งเป้าเพื่อให้ผู้สวมใส่ทำอะไรที่ "เหนือมนุษย์ได้"

Jason Barnes เป็นเด็กวัยรุ่นที่นิยมชมชอบการตีกลอง แต่กิจกรรมทางดนตรีของเขาก็ต้องจบสิ้นลงเมื่อเขาสูญเสียท่อนแขนขวาไปในอุบัติเหตุ แต่ความนิยมชมชอบทางดนตรีของเขาก็ยังดำเนินต่อไป เขาได้สร้างแขนเทียมง่ายๆ ทำจากโครงโลหะติดสปริง และก็สอบดนตรีผ่านได้มาเล่าเรียนด้านดนตรีที่ Atlanta Institute of Music and Media ทางคณาจารย์ที่นั่นเห็นความตั้งใจของเขา เลยแนะนำเขาให้ทีมนักวิทยาศาสตร์ของ Georgia Institute of Technology ซึ่งมีการพัฒนาแขนเทียมอยู่

ผลจากการร่วมมือกันของทาง Barnes และทีมนักวิทยาศาสตร์ของ Georgia Institute of Technology คือแขนเทียมสำหรับการตีกลองโดยเฉพาะขึ้น ซึ่งความสามารถของแขนนั้นเหนือกว่ามือกลองที่เป็นมนุษย์เสียอีก

การตีกลองโดยทั่วไปแรงเหวี่ยงจะมาจากข้อมือเป็นหลัก ดังนั้นไม่ว่ามือกลองจะเก่งแค่ไหน ไม้กลองที่ใช้ก็จะมีจำนวนได้แค่เท่าข้อมือที่เขามี

แต่แขนเทียมไม่ได้มีขีดจำกัดดังที่ว่านี้ และแขนเทียมสำหรับตีกลองของ Barnes ก็ถือไม้กลองได้พร้อมกัน 2 ไม้ด้วยกัน

ไม้หนึ่งทำงานหรือหวดกลองตามการสั่งการของ Barnes ผ่านคลื่นไฟฟ้าในแขนท่อนบนของเขา

ส่วนอีกไม้หนึ่งน่าจะเรียกได้ว่าเป็นไม้กลองอัจฉริยะ ที่จะตีเองตามจังหวะโดยรอบที่มันจับได้ ซึ่งก็ดูจากคลิปแล้วน่าจะอัจฉริยะจริงๆ เพราะมันก็สามารถตีไหลไปตามจังหวะไม่ว่าจะเป็นการรัวกลองสแนร์ (อันที่จริงฟังดูคล้าย "บลาสต์บีต" ในเอ็กซ์ตรีมมิวสิคอยู่เหมือนกัน แต่ Barnes เล่นแจ๊ส) หรือการตีลูกเล่นในการคุมจังหวะ ซึ่งทั้งหมดก็เกิดจากการเขียนอัลกอริธึ่มของทางทีมนักวิทยาศาสตร์

น้ำหนักของเสียงกลองนั้นดูเป็นธรรมชาติมาก เพราะอย่างน้อยๆ แขนท่อนล่างก็มีบทบาทในการคุมความหนักเบาของเสียงกลอง (อันเป็นสิ่งที่ชี้วัดความสามารถของมือกลองแจ๊สที่สำคัญอันหนึ่งทีดียว) ที่อาจฟังดูไม่เป็นธรรมชาติสำหรับมือกลองก็คือไลน์กลองบางท่อนที่มนุษย์จริงๆ คงจะตีไม่ได้หากไม่มี 3 แขน

โครงการทั้งหมดดูจะทำให้นักดนตรีที่นิยมเทคโนโลยีตื่นเต้นพอสมควรเพราะ การประสานร่างกายมนุษย์กับเทคโนโลยีก็ดูจะทำให้เกิดแนวทางการเล่นเครื่องดนตรีเดิมๆ แบบใหม่ๆ ได้ เพราะเทคนิคการเล่นดนตรีทั้งหลายก็ดูจะตีบตันมาหลายต่อหลายปีแล้ว อย่างน้อยๆ การเล่นเครื่องสายในโลกดนตรีสมัยนิยมตั้งแต่ร็อคยันแจ๊สก็แทบไม่มีเทคนิคการเล่นใหม่ๆ มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 แล้ว และพัฒนาการทางดนตรีหลังจากนั้นก็แทบจะเกิดการตั้งสายในแบบที่ต่างไปจากเดิม การใช้สายเบอร์ใหญ่ขึ้นเล่นเสียงที่ต่ำลง ไปจนถึงล่าสุดการเพิ่มจำนวนสาย และทั้งหมดนี้ก็แทบจะไม่มีอะไรใหม่ๆ ในทางเทคนิคการเล่นเอาเสียเลย

ดูคลิปการตีกลองได้ที่ http://youtu.be/5nqKO9Na3tI

Source:

 

กองทัพเรืออเมริกาเตรียมติด "ปืนเลเซอร์" บนเรือรบ

การทำสงครามนั้นนอกจากอาวุธที่ใช้จะต้องมีประสิทธิภาพในการทำลายล้างแล้ว มิติทางด้านเศรษฐกิจของต้นทุนของอาวุธก็สำคัญ

โดยทั่วไปเรือรบของกองทัพสหรัฐก็จะมีอาวุธจำพวกจรวดประจำการอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งราคาของจรวดก็มีหลากหลายตั้งแต่ที่ถูกที่สุดไม่กี่พันดอลลาร์ไปจนถึงลูกละหนึ่งล้านดอลลาร์

แม้ว่าวัตถุระเบิดเหล่านี้จะเป็นอาวุธทำลายล้างที่มีประสิทธิภาพสูงอย่างไม่ต้องสงสัย แต่การยิงนัดหนึ่งๆ ก็สิ้นเปลืองมากๆ และหากมองในทางกลับกัน ปัญหาใหญ่ก็คืออาวุธทำนองเดียวกันนี้ถ้าใช้ยิงมายังเรือรบ เรือก็ล่มได้ง่ายๆ

และปัญหาก็คือ อาวุธพวกนี้ยังไงก็ราคาถูกกว่าเรือรบ กล่าวคือต้นทุนการทำลายเรือรบนั้นถูกกว่าต้นทุนสร้างเรือรบอยู่โข

ดังนั้นการพัฒนาอาวุธเพื่อต่อต้านขีปนาวุธทำลายเรือรบเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่กองทัพเรือพยายามพัฒนามาตลอด

"ปืนเลเซอร์" หรือชื่อทางการว่า Laser Weapon System (LaWS) กำลังจะขึ้นประจำการบนเรือรบ และคาดหวังกันว่ามันจะใช้เพื่อการดังกล่าวได้ในอนาคต

ตอนนี้ปืนเลเซอร์ที่จะติดตั้งบนเรือรบยังไม่มีพลังทำลายสูงมาก เพราะทำลายได้เต็มที่ก็แค่พวกโดรนและเรือสอดแนมเท่านั้น อย่างไรก็ดีในอนาคตหากมีการเพิ่มพลังงานมากขึ้น ปืนเลเซอร์ก็จะทำลายวัตถุที่ใหญ่ขนาดนี้ได้ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินรบ หรือขีปนาวุธต่อต้านเรือรบ

ซึ่งเอาจริงๆ มิติที่น่าตื่นเต้นที่สุดในการสงครามของปืนเลเซอร์ไม่ใช่การยิงแสง (เพราะเวลายิงสายตาคนมองไม่เห็น) แต่ก็เป็นที่ต้นทุนการยิงแต่ละนัดที่ต่ำมากๆ แค่ประมาณ 1 ดอลลาร์เท่านั้น ซึ่งหากมันพัฒนาไปเป็นอาวุธทำลายเครื่องบินรบหรือขีปนาวุธได้ในงบหลักสิบดอลลาร์ต่อนัด มันก็ดูจะเป็นอาวุธทำลายล้างพลังทำลายสูงที่ประหยัดมากๆ

Source:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net