Skip to main content
sharethis

เนื่องในวันหยุดเขื่อนโลก 14 มีนาคมว่าเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคอีสาน ลำดับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนและเสนอต่อรัฐบาลให้ศึกษาถึงความคุ้มค่า คุ้มทุนจากการสร้างเขื่อนในประเทศไทยโดย และให้ยกเลิกโครงการสร้างเขื่อนที่มีการศึกษาแล้วว่าไม่คุ้มค่า มีผลกระทบต่อชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติ

0000

เขื่อน   (DAM)  ตามความเข้าใจในพจนานุกรมราชบัญฑิตยสถาน  พ.ศ. 2542 หมายถึง เครื่องป้องกันไม่ให้ตลิ่งพัง  สิ่งก่อสร้างขวางกั้นลำน้ำ เพื่อกักกันน้ำไว้ใช้ในทางชลประทาน  เป็นต้น

แต่ถ้ากล่าวถึงเขื่อนมันเป็นภาพความจริงที่ทำลายชุมชน  ทำลายวัฒนธรรม  ทำลายสิ่งแวดล้อม 
เพราะทุกครั้งที่สร้างเขื่อน  ก็คือการปิดแม่น้ำขนาดใหญ่  ไปจนถึงการปิดลำคลองขนาดเล็กเพื่อให้เกิดน้ำท่วมบริเวณที่ปิดแม่น้ำเหล่านั้น  และบริเวณที่น้ำท่วมก็เป็นที่ตั้งของชุมชน  วัด  โรงเรียน  ซึ่งจะต้องมีการรื้อย้าย  อพยพและนี่คือผลกระทบ

เขื่อนกับการพัฒนา  มักเป็น 2 คำ  ที่ถูกเขียนไว้คู่กันเสมอมา  ย้อนกลับไป 20 ปีก่อน  สังคมไทยเพิ่งจะตั้งคำถามกับ  “เขื่อน”  แต่สำหรับผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเขื่อนแล้ว  คำถามจำนวนมากได้ถูกตั้งขึ้นมานานแล้ว

เขื่อนถูกสร้างขึ้นบนความรู้เพียงด้านเดียว  คือ  ด้านวิศวกรรม  แต่นับจากเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดต่างๆ  ถูกทยอยสร้างขึ้นมากมายบนโลก  ความรู้ด้านต่างๆ  ที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบจากเขื่อน  จึงปรากฏชัดเจนขึ้น  ทั้งด้านสังคมวิทยา  วัฒนธรรมชุมชน  จริยธรรม  นิเวศวิทยา  เศรษฐศาสตร์  การเมือง  ฯลฯ 

เมื่อก่อนเรามีความรู้อย่างผิวเผินว่า  เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าและให้น้ำเพื่อชลประทาน  และประโยชน์ด้านต่างๆ  อย่างเอนกประสงค์  แต่ความจริงที่เราค้นพบก็คือ  เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าได้น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนทางเศรษฐกิจ  สังคม  และสิ่งแวดล้อมที่ต้องแลกมา  เช่น  กรณีเขื่อนปากมูล  ซึ่งเราค้นพบข้อมูลมากมาย  จากงานวิจัยของคณะกรรมาธิการเขื่อนโลก  งานวิจัยของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  งานวิจัยไทบ้านสมัชชาคนจนว่า  เขื่อนไม่สามารถให้ชลประทานได้คุ้มค่ากับต้นทุนที่ต้องการกักเก็บ  เพราะข้อจำกัดจำนวนมาก  เช่น ด้านงบประมาณ  ด้านภูมิศาสตร์  การมีแหล่งเกลือมหาศาลอยู่ใต้ดิน  การเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน  อันมีผลต่อการวางแผนการผลิต  ดังตัวอย่างเขื่อนราษีไศลและเขื่อนของกรมชลประทานจำนวนมากทั่วประเทศ

เราเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง  จากวัฏจักรของธรรมชาติ  เราเรียนรู้ทางเลือกใหม่ๆ  ในการพัฒนาและหนทางการพึ่งตัวเอง  เราเรียนรู้ประชาธิปไตยกับเผด็จการ  จากการกำหนดนโยบายเรื่องเขื่อนของนักการเมือง  เราเข้าใจวิกฤตการของธรรมชาติและสังคม  จากตัณหาของนักสร้างเขื่อน

เราได้เข้าใจถึงความรู้สึกของผู้คนบางกลุ่ม  ที่กล่าวกับเราว่า  โลกที่พวกเขาอาศัยอยู่ได้ล้มสลายลงแล้วนับตั้งแต่เขื่อนได้ถูกก่อสร้างขึ้นบนดินแดนของพวกเขา  การดิ้นรนขัดขืน  ความขมขื่น  ความเจ็บปวดจำนวนมากได้ถูกจารึกไว้  ณ  ที่ต่างๆ  เป็นคำบอกเล่า  ตำนาน หรือความทรงจำ 

ในภาคอีสาน มีโครงการโขง-ชี-มูน  สร้างเขื่อนกั้นทั้งลำน้ำมูลและลำน้ำชี  ด้วยเขื่อนในจังหวัดต่างๆ  กัน  รวมแล้วแม่น้ำละ  7-8  เขื่อน  และเพื่อป้องกันมิให้น้ำท่วมมากกว่าที่กำหนด  ก็สร้างพนังกั้นน้ำไว้  ปรากฏในยามฤดูฝนน้ำหลากพนังกั้นน้ำนี้แทนที่ป้องกันไม่ให้น้ำออกจากบริเวณน้ำที่จะท่วมกลับขวางทางน้ำไม่ให้น้ำไหลลงแม่น้ำในยามปกติ  เกิดน้ำท่วมหนักในเขตจังหวัดร้อยเอ็ด  ยโสธรและศรีษะเกษ  ทั้งหมดนี้มาจากการสร้างถนนเกือบจะทั้งสิ้น  แทนที่เมื่อเกิดน้ำท่วมต้องไปรื้อถนนให้น้ำไหลได้สะดวก  เราพบว่าในลำน้ำนั้นยังไม่ได้สร้างเขื่อน  นักวิจัยหลายคนบอกว่ามาจากถนนที่ขวางทางน้ำ  หน่วยงานที่สร้างเขื่อนยาวที่สุด  คือกรมทางหลวงไม่ได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบอะไรเลย  หรือทบทวนการสร้างพนังกั้นน้ำโดยการขยายของโครงการโขง  ชี  มูน

วัตถุประสงค์ของการสร้างเขื่อนที่ได้ยินได้ฟังกันบ่อยๆ  ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะตรงตามข้อกำหนดของ คณะกรรมการเขื่อนโลก ( The World Commission on Dams, WCD )  กล่าวว่าถ้าจะสร้างเขื่อนเพื่อเอนกประสงค์ต้องมีอย่างน้อย 6 ข้อดังนี้

1  เพื่อการผลิตไฟฟ้า
2  เพื่อการป้องกันน้ำท่วม
3  เพื่อการชลประทาน  หรือการเกษตร
4  เพื่อการประมง
5  เพื่อนการท่องเที่ยว
6  เพื่อการคมนาคมทางน้ำ

ลองมาทบทวนว่าเขื่อนเหล่านี้ได้สนองต่อวัตถุประสงค์นั้นหรือไม่

ความคุ้มทุนของการสร้างเขื่อน  นับวันงบประมาณที่มีการสร้างเขื่อนทวีขึ้นเรื่อยๆ  ถึงแม้ราคาก่อสร้างเขื่อนจะแพงอย่างไร  นักคำนวณตัวเลข  คิดความคุ้มทางเศรษฐกิจก็มองว่าคุ้มอยู่ดี  คิดแต่ตัวเลขได้  ไม่ได้คิดตัวเลขที่ได้จริงและไม่หักลบด้วยผลกระทบที่ทดแทนไม่ได้  เช่น  ผลกระทบทางสังคม  วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม  การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่  มีข้อกำหนดว่าจะต้องศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม  (EIA)  พบว่าคณะผู้ชำนาญการจะต้องสั่งให้มีการศึกษาเพิ่มเติมอยู่เสมอเพราะข้อมูลไม่ครบ  ซึ่งแตกต่างกว่าอดีตที่คิดจะสร้างเขื่อนก็สร้างได้เลย

จากบทเรียนที่ผ่านมาโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ภาคอีสานโดยเฉพาะการสร้างเขื่อนที่อยู่ภายใต้โครงการโขง ชี มูล ที่ไม่มีการศึกษาผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมหรือการจัดทำ (EIA)   และในอีกหลายโครงการที่รัฐบาลกำลังจะเดินหน้าสร้างอย่างโครงการ 3.5 แสนล้าน ทำให้เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคอีสานมีความเป็นห่วงต่อโครงการที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ของรัฐที่ผ่านมาไม่ได้ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาภัยแล้งปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นอย่างจิงจัง ซ้ำยังเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้ชาวบ้านในพื้นที่ที่มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ และยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ และวิถีชีวิตของชุมชน จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมต่อพื้นที่ที่เกิดปัญหา ในขณะที่การบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมายังเป็นไปในรูปแบบการรวมศูนย์อำนาจโดยรัฐเป็นคนจัดการ และกำหนดนโยบายจากบนลงล่างทำให้ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจากคนที่อยู่ในพื้นที่  และการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเสียถือว่าโครงการเหล่านี้ได้ริดรอนสิทธิของชุมชนและระบบนิเวศที่ชาวบ้านได้อาศัยห่วงโซ่เหล่านี้ในการดำเนินวิถีชีวิต

นอกจากนี้ยังมีสะท้อนให้เห็นว่าที่ผ่านมาโครงการพัฒนาแหล่งน้ำของรัฐหลังจากทยอยสร้างแล้วเสร็จก็จะมีการกักเก็บน้ำ แทนที่ผลลัพธ์จะเป็นไปดังคำกล่าวอ้าง ที่จะแก้ไขปัญหาความยากจน มีน้ำใช้ตลอดฤดูกาล ไม่ต้องอพยพโยกย้ายแรงงาน  ตรงข้ามโครงการเหล่านี้กลับทำลายแหล่งทำมาหากินของชุมชนที่ได้พึ่งพามาช้านาน คือสูญเสียพรรณพืชและสมุนไพรในพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามทุกลุ่มน้ำ สูญเสียข้าวเพราะถูกน้ำท่วมขังผิดปกติ สูญเสียวิถีการประมง สูญเสียพันธุ์สัตว์น้ำ สูญเสียที่ดินทำกิน ยังก่อให้เกิดการแพร่กระจายของดินเค็ม ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

นายอาทิตย์ กตะศิลา ชาวบ้านโนนเวียงคำ ต.เมืองคง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ชาวบ้านลุ่มน้ำมูลที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนหัวนา ได้เข้าร่วมการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลเยียวยาชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ เมื่อปี พ.ศ. 2541 เล่าว่า “เห็นชาวบ้านหลายคนมีความวิตกกังวลในเรื่องของระดับน้ำ กลัวจะเหมือนพี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล พื้นที่ของพี่น้องบางคนได้กลายเป็นอ่างเก็บน้ำไป บางคนถึงกับไม่มีที่ดินทำกิน ต้องอพยพกันไปทำมาหากินที่อื่น ซึ่งเรื่องระดับน้ำเป็นข้อมูลที่สำคัญมาก ซึ่งเท่ากับว่า การหาอยู่หากินของพี่น้อง ขึ้นอยู่กับการปิดเปิดเขื่อนของกรมชลประทานหรือ ทว่ารัฐไม่เคยเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ให้ชาวบ้านทราบ”

ตลอดระยะเวลา 16 ปี ในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิ  สมัชชาคนจนเขื่อนหัวนาได้ก่อเกิดและรวมตัวกันจนมาถึงปัจจุบันนี้ นับได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานพอสมควร ผู้เฒ่าผู้แก่หลายชีวิตได้ล้มหายตายจากไป นายอาทิตย์ เล่าว่า ... บทเรียนที่ผ่านมา ที่ตอกย้ำอยู่ในหัวใจมาตลอด คือ การทำงานของระบบราชการที่ไม่มีความจริงใจที่จะแก้ปัญหาให้กับพี่น้อง เพราะการปักขอบเขตอ่างที่เป็นปัญหายืดเยื้อมาจนถึงทุกวันนี้ มันมีคำถามในใจเรื่อยมา ว่ารัฐ “คุณ” คือ ผู้มอบสวัสดิการด้านต่างๆให้กับเรา ไม่ใช่ตัดแขนตัดขาเรา ให้เราทำมาหากินไม่ได้

สุดท้ายแล้วนโยบายการยกระดับชีวิตประชาชนของรัฐบาล เป็นการช่วยชาวบ้านหรือกระหน่ำซ้ำเติมชาวบ้านกันแน่!!
ด้านนายประดิษฐ์ โกศล รองนายกสมาคมคนทามลุ่มน้ำมูล เล่าว่าในช่วงแรกของการดำเนินการสร้างเขื่อนชาวบ้านยังมีความเข้าใจโดยทาบแต่เพียงว่าจะเป็นการสร้างฝายยางขนาดเล็กแต่เมื่อดำเนินการสร้างเสร็จกลายเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ 7 บานประตูและสร้างโดยไม่มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม

ผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากการสร้างเขื่อนเสร็จเมื่อปี 2535 และเริ่มกักเก็บน้ำเมื่อปี 2536 ทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงคือเกิดน้ำท่วมที่ดินทำกินของชาวบ้านและท่วมป่าบุ่งป่าทามซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญต่อวิถีการดำรงชีวิตของชาวบ้านลุ่มน้ำมูล อาชีพเลี้ยงวัวควายซึ่งเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านเริ่มลดลงมากเนื่องจากน้ำท่วมพื้นที่เลี้ยง รวมทั้งอาชีพเกษตรกรรมเช่นการทำนาทามก็ลดลงด้วยเช่นกันนอกจากนี้ยังส่งผลให้จำนวนปลาในแม่น้ำมูลลดลง นอกจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นแล้วการสร้างเขื่อนยังส่งผลกระทบด้านสังคมทำให้ชาวบ้านเกิดความขัดแย้งในพื้นที่อีกด้วย ในสถานการณ์ปัจจุบันชุมชนลุ่มน้ำมูลตอนกลางได้เกิดการปรับตัวปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นโดยเน้นการใช้วิถีการพึ่งตนเองมากขึ้น

ด้านแม่อมรรัตน์  วิเศษหวาน  ชาวบ้านดอนแก้ว  ตำบลบึงงาม  อำเภอทุ่งเขาหลวง  จังหวัดร้อยเอ็ด  ผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ดและเขื่อนยโสธร-พนมไพร ลุ่มน้ำชี เล่าว่า “เขื่อน  คือสัญลักษณ์ของการทำลายชีวิตของชาวนาลุ่มน้ำชีจังหวัดร้อยเอ็ด  สร้างความเดือนร้อนให้กับชาวบ้าน  เขื่อนเป็นสาเหตุของน้ำท่วมขังนาน  ๓-๔  เดือน ชาวนาต้องสูญเสียข้าวซึ่งเป็นผลผลิตหลักที่จะจุ่นเจือครอบครัวเป็นเวลามากกว่า10 ปี  เพราะมันคืออาชีพ  มันคือวิถีชีวิตของชาวนาลุ่มน้ำชี  เราไม่มีเขื่อน  เราก็ไม่เดือนร้อน”

พ่อมนัส  พันโท  ชาวบ้านวังทอง  ตำบลบึงงาม  อำเภอทุ่งเขาหลวง  จังหวัดร้อยเอ็ด  ผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ดและเขื่อนยโสธร-พนมไพรลุ่มน้ำชี เล่าว่า “สมัยก่อน  น้ำท่วม10-15 วัน  ชาวบ้านเรียกน้ำแก่ง  แต่เมื่อมีการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด  เขื่อนยโสธร-พนมไพรกั้นแม่น้ำชี  ทำให้น้ำท่วมขังนาน  3-4 เดือน  ระบบนิเวศ  พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน  พันธุ์ปลาพืชผัก  สมุนไพรเสียหายบางชนิดก็สูญพันธุ์  ไม่มีเขื่อนน้ำชีก็ไม่เคยแห้ง  ยังหล่อเลี้ยงชาวบ้านลุ่มน้ำชีให้มีวิถีชีวิตอยู่ได้  ไม่อยากให้มีเขื่อนเพราะผลกระทบที่ได้รับจากการสร้างเขื่อนมากเกินที่ชาวบ้านจะแบกรับได้อีกแล้ว”

ด้านนายนิมิต หาระพันธ์  ผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนธาตุน้อยลุ่มน้ำชี จ.ยโสธร เล่าว่า “ตั้งแต่ปี  2543  ที่เขื่อนสร้างเสร็จแล้วมีการทดลองกักเก็บน้ำ  ทำให้น้ำท่วมพื้นที่  3-4  เดือน  ทำให้เกิดความเสียหายทุกอย่าง  ข้าวที่เป็นผลผลิตหลักของชาวบ้านถูกน้ำท่วมไม่สามารถที่จะเก็บเกี่ยวได้นานกว่า 10 ปีติดต่อกัน  ชาวบ้านไม่มีข้าว  ไม่มีเงิน  นอกจากนั้นยังต้องกู้หนียืมสินมาลงทุนทำนาปีแล้วปีเล่าน้ำก็ท่วมทุกปี  เขื่อนทำให้ชาวบ้านเป็นทุกข์  เพราะทำลายทุกอย่าง  ทั้งทรัพยากร  สังคมและวัฒนธรรม”

เสียงสะท้อนจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนภายใต้โครงการโขง ชี มูล คงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่รัฐบาลควรรับฟังว่าโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่ผ่านมาเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าอย่างโครงการโขง ชี มูล ที่ไม่สามารถคิดอยู่ในระบบการคำนวณใดได้ และยิ่งซ้ำเติมปัญหาเดิมๆของคนอีสานให้หนักขึ้นไปอีก จึงเกิดปรากฏการณ์ที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาต่อต้านหรือเรียกร้องความเป็นธรรมเรียกร้องค่าชดเชยความเสียหาย ค่าสูญเสียโอกาส จากการก่อสร้างเขื่อน 14 ตัวในลุ่มน้ำมูล น้ำชี และลุ่มน้ำสาขา อย่างเช่น เขื่อนหนองหานกุมภวาปี เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร เขื่อนธาตุน้อย และที่อื้อฉาวที่สุดก็คือสองเขื่อนในลุ่มน้ำมูล คือเขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา ที่ใช้เวลาก่อสร้าง3 ปี แต่การตามแก้ไขปัญหาผลกระทบใช้เวลา20 ปีแล้วยังแก้ไขไม่เสร็จและมีแนวโน้มจะบานปลายไปเรื่อยๆ

ดังนั้นทางเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคอีสาน จึงได้มีข้อเสนอต่อรัฐบาลเนื่องในวันหยุดเขื่อนโลกดังนี้

1.ให้ศึกษาถึงความไม่คุ้มค่า คุ้มทุนจากการสร้างเขื่อนในประเทศไทย
2.ให้ยกเลิกโครงการสร้างเขื่อนที่มีการศึกษาแล้วว่าไม่คุ้มค่า มีผลกระทบต่อชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติ

 

แม่น้ำต้องไหลอิสระ

14 มีนาคม 2557
เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคอีสาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net