สปสช.เยียวยากรณีรถพยาบาล รพ.ลันตาคว่ำ

สปสช.เยียวยากรณีรถพยาบาล รพ.ลันตาคว่ำ ตามม. 41 และ 18(4) มอบอนุกก.จว.พิจารณา วงเงินชดเชยรายละไม่เกิน 4 แสนบาท

สปสช. แสดงความเสียใจต่อการสูญเสีย กรณี “อุบัติเหตุรถพยาบาลฉุกเฉิน รพ.ลันตา พลิกคว่ำ” ระบุ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ม.41 และ 18(4) เยียวยาทั้งผู้รับและผู้ให้บริการ มอบอำนาจ “คณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นระดับจังหวัด” พิจารณาตามหลักเกณฑ์ชดเชยความเสียหาย เสียชีวิตได้รับชดเชยตั้งแต่ 2.4 แสนบาทถึง 4 แสนบาท รวมถึงทารกในครรภ์ด้วย

 
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีรถพยาบาลฉุกเฉินโรงพยาบาลเกาะลันตาซึ่งเกิดอุบัติพลิกคว่ำบริเวณถนนสายหัวหิน-ห้วยน้ำขาว ม.10 ต.ห้วยน้ำขาว อ.คลองทอม จ.กระบี่ ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 4 ราย และเสียชีวิต 2 ราย โดยผู้เสียชีวิต คือ นางสาเราะห์ วะเจดีย์ อายุ 17 ปี ท้องแก่ 9 เดือน และนางวรรณวิลัย ก๊กใหญ่ อายุ 37 ปี พยาบาลโรงพยาบาลเกาะลันตา ว่า จากอุบัติเหตุดังกล่าวนับว่าเป็นความสูญเสียอย่างยิ่ง และคงไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น จึงขอแสดงความเสียใจกับผู้ประสบเหตุและครอบครัวของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ทั้งนี้อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนับว่าเป็นเหตุสุดวิสัยเพราะเกิดจากสภาพถนนลื่นหลังฝนตก ซึ่งเป็นทางระหว่างรถพยาบาลฉุกเฉินวิ่งนำส่งนางสาเราะห์ที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์ 9 เดือนและใกล้คลอด ไปโรงพยาบาลลันตาเพื่อคลอดลูก ถือว่าอยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่
 
นพ.วินัย กล่าวว่า สำหรับการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์ข้างต้นนี้ ในส่วนของ “ผู้รับบริการ” นั้น สปสช. จะดำเนินการตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 14 และ 18(4) ได้ให้การช่วยเหลือทั้งฝ่ายผู้รับบริการและผู้ให้บริการ เพื่อเป็นการช่วยเยียวยาบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น สำหรับผู้รับบริการนั้น ตาม“ข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2555” ที่เป็นเงินเพื่อช่วยเหลือผู้รับบริการหรือผู้อุปการะเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ในกรณีที่ผู้รับบริการได้รับความเสียหายที่เกิดจากการรักษาพยาบาลซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัยของหน่วยบริการโดยมิต้องรอพิสูจน์ โดยในกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพอย่างถาวร หรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิต และมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ตั้งแต่ 240,000 บาท แต่ไม่เกิน 400,000 บาท  กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 240,000 บาท และกรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ไม่เกิน 100,000 บาท
 
ทั้งนี้ ในกรณีที่ทารกเสียชีวิตในครรภ์ระหว่างการดูแลของหน่วยบริการนั้น ตามข้อบังคับฯ ข้างต้น ยังกำหนดให้มีการชดเชยความเสียหายที่ต้องเป็นไปตามเกณฑ์การพิจารณา ซึ่งจะได้รับการชดเชยเท่ากับอัตรากรณีผู้รับบริการเสียชีวิต หรือทุพพลภาพอย่างถาวร โดยกรณีนี้หากมารดาได้รับความเสียหายอื่นด้วย ก็ให้ได้รับเงินช่วยเหลือได้อีกตามประเภทความเสียหายที่ได้รับ ทั้งนี้กรณีที่เกิดขึ้นนี้ ทาง “คณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นระดับจังหวัด” จะเป็นผู้พิจารณา
 
ส่วนการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในส่วน “ผู้ให้บริการ” นั้น นพ.วินัย กล่าวว่า ให้ดำเนินการตาม “ข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้ให้บริการได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข พ.ศ. 2556” ซึ่งเป็นกฎหมายเพื่อให้การดูแลผู้ให้บริการในหน่วยบริการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเป็นการชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการให้บริการสาธารณสุขกับผู้ให้บริการหรือทายาท มีอัตราการจ่ายค่าชดเชยความเสียหายในอัตราเดียวกับการชดเชียความเสียหายให้กับผู้รับบริการ โดยมีคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นระดับจังหวัดเป็นผู้พิจารณาตามหลักเกณฑ์การชดเชยดังกล่าวเช่นกัน
 
นพ.วินัย กล่าวต่อว่า ภายหลังจากการดำเนินการตามมาตรา 41 พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ตั้งแต่ปี 2551-2555 มีผู้รับบริการที่ยื่นคำร้องขอรับการชดเชยทั้งสิ้น 4,260 ราย หรือเฉลี่ย 852 ราย/ปี ในจำนวนนนี้เข้าเกณฑ์การรับการชดเชยทั้งสิ้น 3,531 ราย หรือเฉลี่ย 706.2 ล้านบาท/ปี เป็นจำนวนเงินที่จ่ายชดเชย 401.85 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 82.17 ล้านบาท/ปี โดยภาพรวมการร้องทุกข์เพื่อขอรับการชดเชยความเสียหายในช่วง 5 ปี มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งปี 2555 อยู่ที่ 951 ราย มีการจ่ายค่าชดเชย 64.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ซึ่งอยู่ที่ 658 ราย จำนวนเงินค่าชดเชยอยู่ที่ 98,63 ล้านบาท ขณะที่การชดเชยส่วนผู้ให้บริการ ตามาตรา 18 (4) พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยในปี 2554-2555 มีผู้ให้บริการยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 624 ราย เข้าหลักเกณฑ์รับการชดเชยคิดเป็น 511 รายหรือคิดเป็นร้อยละ 81.89 โดยจ่ายเงินชดเชยช่วยเหลือทั้งหมด 4.50 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการจ่ายกรณีบาดเจ็บและเจ็บป่วยต่อเนื่อง 508 ราย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท