Skip to main content
sharethis

"บุญยืน สุขใหม่" นักเคลื่อนไหวสิทธิแรงงาน คว้ารางวัลสิทธิมนุษยชน

กองทุนรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ได้ประกาศผลผู้ที่มีผลงานโดดเด่นในด้านสิทธิมนุษยชน ปี 2557 ในรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ปี2557 เนื่องในวาระครบรอบ10ปี การหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร โดยผู้ที่ได้รับรางวัลประเภทบุคคล, ชุมชน, กลุ่มบุคคล,องค์กร ได้แก่ นายบุญยืน สุขใหม่ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงาน ขณะที่ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา และนางเยาวลักษณ์ อนุพันธุ์ ทนายสิทธิมนุษยชน ที่ถูกเสนอชื่อและผ่านการคัดเลือกรอบสุดท้ายได้รับรางวัลผู้มีผลงานสิทธิมนุษยชนน่ายกย่อง

นอกจากนั้นยังได้มอบรางวัลประเภทงานวิจัยทางวิชาการหรือวิทยานิพนธ์ให้กับ น.ส.ศิโรนี โต๊ะสัน นักศึกษาคณะสังคมศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้ทำวิทยานิพนธ์ เรื่อง การสร้างความรู้โดยชุมชนในบริบทการเคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน กรณีศึกษาชุมชนบ้านตะเคียนดำ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช

ทั้งนี้ นายบุญยืน มีผลงานที่เป็นที่ประจักษ์และผ่านการตัดสินให้ได้รับรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ปี2557 เนื่องจากได้ใช้เวลาหลังจากเลิกงานเป็นแรงงานเต็มเวลาที่โรงงานอุตสาหกรรมรถยนต์ ให้คำปรึกษากับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เรื่องสิทธิแรงงาน โดยปัจจุบันมีคดีความด้านแรงงานมากกว่า 100 คดีที่นายบุญยืนให้คำปรึกษา อาทิ ปัญหาแรงงานได้รับค่าแรงขั้นต่ำไม่เป็นตามกฎหมาย, ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม นอกจากนั้นยังได้ช่วยเขียนและทำสำนวนฟ้องยื่นคำร้องในการเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงาน

(เนชั่นทันข่าว, 12-3-2557)

 

แรงงาน "ทูน่า" ทำงานแฮปปี้ เชื่อไทยไม่ถูกจัดชั้น "เทียร์ 3"

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยว่า สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปโดยกลุ่มผู้ผลิตทูน่าได้ให้ศูนย์วิจัยการย้าย ถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาวิจัยและพัฒนาเรื่องการสำรวจลักษณะการจ้างแรงงานย้ายถิ่นในกิจการต่อ เนื่องประมงทะเล ในธุรกิจอาหารสำเร็จรูปประมงทะเลปลาทูน่า ของไทย เพื่อสำรวจลักษณะการจ้างงาน ซึ่งผลการศึกษาพบว่าอุตสาหกรรมต่อเนื่องประมงทะเลในส่วนของอุตสาหกรรมทูน่า ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่พบการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และแรงงานข้ามชาติถูกหลอกให้มาทำงาน

"ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาจัดให้ ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองเรื่องการใช้แรงงานผิดกฎหมาย หรือเทียร์ 2 และจะมีการทบทวนในเดือน เม.ย.-พ.ค. นี้ว่าจะถูกเลื่อนเป็นเทียร์ 3 หรือไม่ และการทบทวนของสหรัฐที่จะมีขึ้นช่วงกลางปีนี้เราหวังว่าจะไม่ถูกลดระดับลงไป อีก แต่ในกรณีเลวร้ายที่สุดหากไทยถูกลดระดับเป็นเทียร์ 3 การส่งออกของไทยจะต้องขยายตัวในตลาดอียูและอาเซียนให้มากขึ้น" น.ส.กัณญภัคกล่าว

ส่วนการส่งออกอาหารสำเร็จรูปในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 5% จากปีที่ผ่านมาที่ส่งออกได้ 1.8 แสนล้านบาท โดยปัญหาการเมืองระยะสั้นยังไม่ส่งผลกระทบกับการส่งออก

(มติชน, 13-3-2557)

 

ฮ่องกงย้ายฐานสิ่งทอไปพม่าเมียนมาร์ พบค่าแรงต่ำกว่าจีนหลายเท่า ห่วงไทยแข่งขันราคาลำบาก

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ  กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ ฮ่องกง ได้รายงานว่า ผู้ผลิตสิ่งทอในฮ่องกงได้ลงนามในสัญญาเพื่อจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมแห่งแรกขนาด 200 เฮกตาร์ หรือ ประมาณ 1,250 ไร่ ในกรุงย่างกุ้ง คาดว่าจะลดต้นทุนการผลิตได้กว่าครึ่งหนึ่ง โดยค่าจ้างแรงงานที่เขตอุตสาหกรรมดังกล่าวจะลดลงเหลือเพียง 1 ใน 5 ของค่าจ้างแรงงานในจีนแผ่นดินใหญ่เท่านั้น  คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้กลางปี 58 และจะเริ่มผลิตได้ภายในปี 59

เขตอุตสาหกรรมดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งของ Thilawa Special Economic Zone คาดว่าจะ  จ้างแรงงานเมียนมาร์(พม่า)ได้อย่างน้อย  30,000 คน ค่าแรงอยู่ที่ประมาณ 100 – 200 เหรียญสหรัฐต่อเดือน ทั้งสินค้าที่ส่งออกจากเมียนมาร์ไปยังสหภาพยุโรป(อียู)จะไม่เสียภาษีนำเข้าอีกด้วย อย่างไรก็ดี ภาคเอกชนในจีนยังไม่เห็นแนวโน้มของผู้ผลิตที่จะย้ายฐานการผลิต แต่ยังมีปัญหาอื่นๆ อีกมาก อาทิ ขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งหากต้องส่งออกไปสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่อียู ก็ไม่ควรย้ายฐานการผลิตไปเมียนมาร์ เพราะการขนส่งจะลำบากกว่าเดิม

รายงานข่าวจากสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ ฮ่องกง แจ้งว่า อุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งหุ่มต่างชาติ เริ่มให้ความสำคัญในการลดต้นทุนการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยได้ย้ายฐานการผลิตจากจีน ซึ่งมีค่าจ้างแรงงานต่ำแล้ว ไปยังเมียนมาร์ที่มีค่าจ้างแรงงานลดลงไปอีก  20%  รวมทั้งหวังใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากร(จีเอสพี) ไม่เสียภาษีนำเข้าที่อียูให้แกเมียนมาร์อีกด้วย

“สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มนั้น ไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่า ปัจจุบันไทยมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องค่าจ้างแรงงาน ทำให้ไม่อาจแข่งขันในเรื่องราคาได้ต่อไป โดยเฉพาะหากมองว่าคู่ค้าของไทยอย่างฮ่องกง พยายามเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยการลดต้นทุนการผลิตเช่นกัน ดังนั้นแทนที่ผู้ประกอบไทยจะพยายามแข่งขันในเรื่องราคา ควรจะหันไปให้ความสำคัญในเรื่องการยกระดับการผลิต และพัฒนาสินค้าให้มีมาตรฐานและคุณภาพสูง สร้างแบรนด์ของตนให้มีชื่อติดตลาด พัฒนาการบริหารจัดการ การวิจัยและพัฒนาสินค้าให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างมูลค่า เพิ่มให้สินค้าไทยและเปลี่ยนไปเจาะตลาดบนแทนแข่งขันด้านราคาในตลาดล่าง”

นอกจากนี้ผู้ประกอบการไทยควรพิจารณาความเป็นไปได้ในการใช้ประโยชน์จากการเป็นฐานการผลิตเดียวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)ให้เต็มที่ โดยพิจารณาการพัฒนาห่วงโซ่การผลิตให้มีประสิทธิภาพครบวงจรทั้งกระบวนการผลิตและการตลาด หรือ พิจารณาขยายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงต่ำ อาทิ เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา เป็นต้น

(แนวหน้า, 16-3-2557)

 

แจงให้บริการทำพาสปอร์ตเฉพาะแรงงานไปทำงานต่างประเทศ

(17  มี.ค.) นายสุชาติ หทัยเจริญลาภ   หัวหน้าสำนักงานหนังสือเดินทาง ประจำศูนย์บริการการไปทำงานต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน (รง.)  กล่าวถึงกรณีที่มีหนังสือบนเว็บไซต์ข่าวสารของกรมการกงสุล  กระทรวงการต่างประเทศ แจ้งว่าศูนย์บริการการไปทำงานต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน  เป็นหนึ่งใน 3 จุด ที่เปิดให้บริการประชาชนในการทำหนังสือเดินทาง และลงวันที่ 16 มีนาคม 2557 ว่า การเปิดให้บริการที่ศูนย์ฯแห่งนี้ เปิดให้บริการเฉพาะแรงงานไทยที่จะไปทำงานต่างประเทศเท่านั้น ไม่ได้เปิดให้บริการประชาชนทั่วไป เนื่องจากขีดความสามารถในการให้บริการมีจำกัด โดยขณะนี้ทางศูนย์ฯ สามารถรับเรื่องและดำเนินการจัดทำพาสปอร์ตได้เฉลี่ยวันละ  130 เล่มเท่านั้น เนื่องจากอาคารกรมการกงสุลแจ้งวัฒนะ ปิดให้บริการอยู่ จึงไม่สามารถผลิตเล่มได้มากหนัก ทั้งนี้ ได้เปิดให้บริการผู้ใช้แรงงานในการลงทะเบียนขอทำหนังสือเดินทางตั้งแต่เวลา 08.30 -15.30 น.บริเวณชั้น 12 อาคารสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 3 กระทรวงแรงงาน

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 17-3-2557)

 

ก.แรงงานไทยจับมือ 9 ประเทศยกร่างกรอบมาตรฐานดูแลแรงงานอาเซียน

(17 มี.ค.) ม.ล.ปุณฑริก สมิติ รองปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) ในฐานะประธานคณะทำงานยกร่างตราสารอาเซียนเพื่อให้มีการปฏิบัติตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานต่างด้าว ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้ประชุมคณะทำงานยกร่างตราสารอาเซียนฯซึ่งมีตัวแทนอีก 9  ประเทศอาเซียนเข้าร่วมด้วยที่กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยที่ประชุมได้หารือถึงกรอบร่างตราสารหรือแนวทางเพื่อให้มีการปฏิบัติตามปฏิญญาอาเซียนฯ โดยมีข้อตกลงร่วมกันว่าช่วงระยะแรกของการดำเนินการตามปฏิญญาอาเซียนฯจะเน้นดูแลแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งประเทศที่เป็นผู้ส่งแรงงานจะต้องควบคุมค่าใช้จ่ายในการเดินทางและการจัดทำเอกสารเพื่อไม่ให้มีการเก็บค่าใช้จ่ายสูงเกินจริง และดูแลเรื่องสัญญาจ้าง รวมทั้งป้องกันการหลอกลวงจากนายหน้าเถื่อน ขณะที่ผู้รับแรงงานจะต้องดูแลเรื่องไม่ให้การหลอกลวงแรงงานต่างด้าว ดูแลให้มีการทำสัญญาจ้างให้มีการจ้างงานถูกต้องตามกฎหมาย  มีการออกใบอนุญาตทำงาน    รวมไปถึงการจ่ายค่าจ้าง  การคุ้มครองแรงงานและสิทธิประโยชน์ให้เป็นไปตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานของประเทศผู้รับกำหนดเอาไว้

รองปลัด รง.กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านประกันสังคมนั้น แต่ละประเทศมีข้อกำหนดที่แตกต่างกันไป และสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองซึ่งสอดคล้องกับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ)  ฉบับที่   87  และ98    บางประเทศในอาเซียนให้การรับรองแล้ว   แต่บางประเทศ เช่น   ประเทศไทย ยังไม่ได้ให้การรับรองอนุสัญญาไอแอลโอทั้งสองฉบับนี้   ทำให้ทั้งสองเรื่องนี้ไม่สามารถทำข้อตกลงร่วมกันได้ ทั้งนี้ จะรายงานข้อสรุปเบื้องต้นในการยกร่างตราสารอาเซียนฯในที่ประชุมปลัดกระทรวงแรงงานของอาเซียน ซึ่งจะมีการประชุมกันในช่วงเดือน เม.ย.นี้ที่กรุงเนปิดอว์   ประเทศพม่า เพื่อนำรายงานต่อไปยังที่ประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนซึ่งประชุมที่ประเทศพม่าเช่นกัน หลังจากนั้นคณะทำงานฯจะประชุมอีกครั้งในเดือน พ.ค.นี้ เพื่อพิจารณาในรายละเอียดต่อไปโดยตั้งเป้าหมายจะยกร่างตราสารอาเซียนให้แล้วเสร็จภายในปีนี้

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 17-3-2557)

 

กิจการประมงขอลดค่าประกันสุขภาพต่างด้าว ระบุ 2.8 พันสูงเกิน ชี้บางรายไม่ได้ใช้ประโยชน์

(18 มี.ค.) ม.ล.ปุณฑริก สมิติ รองปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์ประสานแรงงานประมงในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครและสงขลา เพื่อติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงานของศูนย์ฯ และตรวจเยี่ยมสถานการณ์การค้ามนุษย์ในกิจการประมงซึ่งจากการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมประมงจังหวัด ผู้ประกอบกิจการประมง มีข้อเสนอแนะว่าอยากขอให้ลดค่าประกันสุขภาพของแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในภาคประมง โดยปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรียกเก็บอยู่ที่คนละ 2,800 บาทต่อปี แบ่งเป็นค่าตรวจสุขภาพ 600 บาทและค่าประกันสุขภาพ 2,200 บาท จากเดิมเก็บค่าตรวจสุขภาพและค่าประกันสุขภาพอยู่ที่คนละ 1,800 บาท เนื่องจากมีการเพิ่มค่ารักษาในส่วนของโรคที่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง เช่น ป่วยฉุกเฉิน ยาต้านไวรัสเอดส์ เพราะค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้ผู้ประกอบกิจการประมงมองว่าแรงงานบางส่วนไม่ได้ใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะแรงงานประมงนอกน่านน้ำไม่ได้ใช้สิทธิประโยชน์ในเรื่องนี้ เนื่องจากมีระยะเวลาออกเรือเป็นเวลานานและกลับเข้าฝั่งปีละไม่กี่ครั้ง ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้นำเรื่องนี้ไปพูดคุยกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักดูแลแก้ปัญหาค้ามนุษย์ เพื่อให้ช่วยหารือกับสธ.โดยร่วมกับสมาคมประมงแยกกลุ่มแรงงานประมงออกเป็นกลุ่มประมงในน่านน้ำกับประมงนอกน่านน้ำและกำหนดการประกันสุขภาพให้เหมาะสมกับสภาพการทำงานของแรงงานต่างด้าวภาคประมงแต่ละกลุ่ม       

“ผู้ประกอบการกังวลในเรื่องภาระค่าใช้จ่ายค่าประกันสุขภาพแรงงานประมง จึงน่าเป็นห่วงว่าจะมีผลทำให้ผู้ประกอบการนำแรงงานต่างด้าวภาคประมงมาขึ้นทะเบียนเป็นจำนวนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น โดยขณะนี้กระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างเปิดให้จดทะเบียนรอบที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม - 31 พฤษภาคม 2557 หากสามารถลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ก็จะช่วยกระตุ้นให้มีการนำแรงงานมาจดทะเบียนมากขึ้น” ม.ล.ปุณฑริก กล่าว       

รองปลัด รง.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ผู้ประกอบกิจการประมงยังได้แจ้งปัญหาว่าเมื่อนำแรงงานต่างด้าวมาจดทะเบียนแล้วนายหน้ากลับพาไปทำงานบนฝั่ง ทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนแต่กลับไม่มีแรงงานทำงาน ซึ่ง รง.จะแก้ปัญหานี้โดยดูแลให้มีการทำสัญญาจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เพื่อปิดช่องโหว่ไม่ให้นายหน้านำแรงงานต่างด้าวไปทำงานบนฝั่ง หากนายหน้าพาไปก็สามารถเอาผิดได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ส่วนแผนการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในปีนี้ จะมีการตรวจแรงงานแบบบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแบบสหวิชาชีพโดยตรวจเรือประมงใน 22 จังหวัดชายฝั่งทะเลรวม 1,100 ลำ มีจำนวนลูกจ้าง 38,000 คน

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 18-3-2557)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net