Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 

ภายใต้ความขัดแย้งทางการเมืองไทยในปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นครั้งแรกที่องค์กรตำรวจถูกท้าทายเป็นอย่างมากจากฝั่งผู้ชุมนุมที่เรียกตนเองว่า " คณะกรรมการประชาชนเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข " หรือ กปปส. ที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปองค์กรตำรวจโดยให้โอนกิจการตำรวจไปสังกัดท้องถิ่นหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้วแต่กรณี[1]  แน่นอนว่าทางฝั่งตำรวจเองย่อมเกิดแรงต้านต่อข้อเสนอนี้เพราะเป็นการจัดการโครงสร้างใหม่ของตำรวจแบบสิ้นเชิง อย่างไรก็ตามข้อเสนอของผู้ชุมนุมนี้ไม่ได้เลื่อนลอยเกินจากความเป็นจริงเพราะในหลายประเทศก็มีตำรวจที่สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น “แต่” ข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุมนี้หากฟังดูแล้วจะเห็นว่าเป็นการถอดรื้อโครงสร้างที่ไม่มีรัฐใดสามารถทำได้ เพราะกิจการตำรวจนั้นภือเป็นบริการสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความสงบเรียบร้อยและการยุติธรรม ดังนั้นอำนาจในการบังคับบัญชาจึงตกอยู่กับส่วนกลางเป็นหลักในการดำเนินการบริหารจัดการเพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นเอกภาพในการรักษาความสงบเรียบร้อยของรัฐ

ในประเทศที่มีการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแบบเต็มรูปแบบเช่นประเทศ อิตาลี สเปน หรือการกระจายอำนาจแบบเกือบเต็มรูปแบบเช่นประเทศฝรั่งเศส นั้น กิจการตำรวจจะแบ่งออกเป็นสองประเภทด้วยกันได้แก่ตำรวจแห่งชาติ (police nationale) และตำรวจของเทศบาล (police municipale) ซึ่งมีเขตอำนาจที่แตกต่างกันตามแต่กฎหมายจะระบุไว้ ในบทความนี้จะขอยกตัวอย่างของกิจการตำรวจของประเทศฝรั่งเศสเพื่อเปรียบเทียบกับข้อเสนอของผู้ชุมนุมว่าเป็นไปได้มากน้อยหรือไม่เพียงใด[2]

ในประเทศฝรั่งเศสภายหลังจากการล่มสลายของระบอบเก่า (ancien régime) คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองปี 1789 ข้อ 12 ได้ระบุถึงการจัดตั้งกองกำลังที่ใช้อำนาจมหาชนเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิเสรีภาพของพลเมืองไว้ เราอาจกล่าวได้ว่านี่เป็นกฎหมายแรกในการจัดจะตั้งกองกำลังที่ใช้อำนาจมหาชนเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของฝรั่งเศสภายหลังระบอบเก่า

ปัจจุบันประเทศฝรั่งเศสแบ่งกิจการตำรวจออกเป็น 3 ประเภทหลักๆได้แก่ 1. ตำรวจแห่งชาติที่เป็นข้ารัฐการพลเรือน (police nationale) 2.ตำรวจของท้องถิ่นที่เป็นข้ารัฐการพลเรือน (police municipale) และ 3. ตำรวจแห่งชาติที่มีสถานะทางทหาร (gendarmerie nationale) ซึ่งตำรวจประเภทที่1 นั้นสังกัดโดยตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายใน ส่วนตำรวจประเภทที่3 จะสังกัดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการป้องกันประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายในที่ทำหน้าที่ในการบังคับบัญชาร่วมกันเฉพาะส่วนที่เป็นกิจการของตำรวจเท่านั้น ในส่วนของตำรวจประเภทที่2นั้นจะขึ้นตรงต่อนากยกเทศมนตรี (Maire) ในแต่ละท้องถิ่น

อย่างไรก็ตามการแบ่งประเภทของตำรวจข้างต้นเป็นเพียงการแบ่งตามลักษณะของต้นสังกัดเท่านั้นหากแต่ในความเป็นจริงแล้วการใช้อำนาจของตำรวจในประเทศฝรั่งเศสเองสามารถแบ่งได้เป็น2ลักษณะได้แก่ 1. การใช้อำนาจตำรวจตามประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา (police judiciaire) และ 2.การใช้อำนาจตำรวจทางปกครอง (police administrative) การใช้อำนาจของตำรวจทั้งสองประเภทนั้นมีความแตกต่างกันทั้งลักษณะของการใช้อำนาจและองค์กรตำรวจที่ใช้อำนาจ กล่าวคือ การใช้่อำนาจตำรวจตามประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญานั้นมีลักษณะของการใช้อำนาจเพื่อการแก้ไขหรือปราบปราม (répressive) ในทางตรงข้าม การใช้อำนาจตำรวจทางปกครองจะมีลักษณะของการป้องกัน (préventif)

สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อมาคืออำนาจตามประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญานั้นได้มอบให้แก่ตำรวจระดับชาติทั้งสถานะพลเรือนและกลาโหม แต่กฎหมายเองก็ไม่ได้ตัดสิทธิตำรวจของท้องถิ่นในการเข้ามาดำเนินกิจการทางอาญา โดยในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญามาตรา 21-2 ได้กำหนดให้ตำรวจของท้องถิ่นมีหน้าที่ในการเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานทางอาญา (APJA)[3] และจะเป็นกรณียกเว้นที่อำนาจของตำรวจของท้องถิ่นถูกโอนไปไว้กับผู้บังคับบัญชาของตำรวจแห่งชาติที่รับผิดชอบคดีนั้นเป็นการชั่วคราว โดยหลักแล้วการใช้อำนาจตำรวจตามประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญานั้นจะมีลักษณะที่เหมือนกับตำตวจของประเทศไทยทั้งรูปแบบปละเนื้อหา สิ่งที่น่าสนใจคือการใช้อำนาจตำตวจทางปกครองและการจัดโคงสร้างขององค์กรตำรวจของท้องถิ่นว่าสามารถนำไปปรับใช้หรือเป็นรูปแบบในการปฏิรูปได้มากน้อยเพียงใด

1.การใช้อำนาจตำรวจทางปกครอง

การใช้อำนาจตำรวจทางปกครองจะมีลักษณะที่ตรงกันข้ามกับอำนาจของตำรวจจามประมวลกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาคดีอาญา เนื่องจากการใช้อำนาจตำรวจทางปกครองนั้นแทบจะไม่มีลักษณะที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญาแต่จะเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายปกครองและข้อบัญญัติอื่นๆที่ออกโดยรัฐมนตรี ผู้แทนของรัฐในระดับdépartement และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การใช้อำนาจตำรวจทางปกครองนั้นจะให้น้ำหนักไปที่การรักษาความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงสาธารณะและสุขอนามัยสาธารณะ การใช้อำนาจตำรวจทางปกครองนั้นไม่มีความจำเป็นที่ผู้ใช้อำนาจจะต้องเป็นตำรวจเสมอไปเช่น ผู้แทนของรัฐในระดับdépartement สามารถใช้อำนาจตำรวจทางปกครองได้ผ่านการออกกฎ หรือ ข้อบังคับต่างๆเพื่อใช้ในการรักษาความสงบเรียบร้อยได้

การใช้อำนาจตำรวจทางปกครองนั้นอาจมีกรณีที่คาบเกี่ยวกับการใช้อำนาจตำรวจตามประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาได้ในกรณีที่มีการใช้อำนาจเพื่อป้องกันและรักษาความสงบเรียบร้อยของสาธารณะชนหากปรากฎว่ามีการละเมิดข้อกำหนดที่ได้กำหนดไว้ย่อมเป็นอำนาจของตำรวจที่ใช้อำนาจตามกฎหมายอาญาที่จะต้องมารับช่วงในการดำเนินคดีต่อไป โดยทั่วไปแล้วการใช้อำนาจตำรวจทางปกครองจะถูกใช้โดยนายกเทศมนตรี (maire) ซึ่งมีอำนาจตามประมวลกฎหมายว่าด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (CGCT) ในมาตรา L.2212-2 โดยจะเรียกกันว่าเป็นอำนาจตำรวจของนายกเทศมนตรี

2. การจัดรูปแบบและโครงสร้างอำนาจหน้าที่ของตำรวจท้องถิ่น

เพื่อให้การรักษาความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของท้องถิ่นและสุขอนามัยสาธารณะของท้องถิ่นได้รับการปกป้องประมวลกฎหมายว่าด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้กำหนดให้นายกเทศมนตรีสามารถจัดตั้งตำรวจท้องถิ่นได้ยกเว้นในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่สามารถจัดตั้งตำรวจของท้องถิ่นได้กฎหมายให้นายกเทศมนตรีสามารถตั้ง ผู้พิทักษ์ชนบท (Garde champêtre) เพื่อทำหน้าที่แทนตำรวจของท้องถิ่นได้ แต่การจัดตั้งผู้พิทักษ์ชนบทนี้มีข้อแม้คือต้องใช้อำนาจร่วมกับ ตำรวจแห่งชาติที่มีสถานะทางทหาร

อำนาจทั่วไปของตำรวจท้องถิ่นถูกกำหนดไว้ในมาตรา L.2212-5 ของประมวลกฎหมายว่าด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่กำหนดให้ตำรวจท้องถื่นมีอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อย การดูแลเพื่อให้มีการปฏิบัติตามข้อบัญญัติท้องถิ่น การดูแลความปลอดภัยตามประมวลกฎหมายการจราจร การดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายผังเมืองเป็นต้น

ในการจัดโครงสร้างองค์กรของตำรวจท้องถิ่นนั้นสามารถแบ่งลำดับชั้นของตำรวจท้องถิ่นออกเป็น3ระดับได้แก่

1.ตำรวจท้องถิ่นประเภทC หรือชั้นประทวน โดยคุณสมบัติทั่วไปของตำรวจในลำดับชั้นนี้ได้แก่ มีอายุ18ปี เป็นคนในกำกับของรัฐบาลฝรั่งเศส ,ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปหรือรัฐที่มีความตกลงกันระดับพหุภาคี และสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (bac) หรือเทียบเท่า โดยที่ตำรวจท้องถิ่นประเภท C สามารถสอบเลื่อนระดับไปสู่ชั้นสัญญาบัตรได้หากมีคุณสมบัติตามที่กำหนด

2. ตำรวจท้องถิ่นประเภท B หรือชั้นสัญญาบัตร คุณสมบัติทั่วไปไม่ต่างจากตำรวจท้องถิ่นประเภท C

3. ตำรวจท้องถิ่นประเภท A หรือผู้บัญชาการตำรวจท้องถิ่น (directeur de police municipale) คุณสมบัติของตำรวจประเภทนี้ที่เพิ่มเข้ามาคือสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีหรือปริญญาชั้น2ที่ได้รับการับรอง

การจัดโครงสร้างการบังคับบัญชาของตำรวจท้องถิ่นนั้นเป็นอำนาจเด็ดขาดของนายกเทศมนตรีที่จะรับสมัครแต่งตั้งหรือปลดตำรวจท้องถิ่นออกจากหน้าที่

จากอำนาจหน้าที่และการจัดโครงสร้างองค์กรของตำรวจที่ได้กล่าวมาไว้ข้างต้นจะพบว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะทำการโอนย้ายข้าราชการตำรวจให้ไปสังกัดท้องถิ่นภายใต้เงื่อนไขของความเป็นรัฐเดี่ยวเพราะการบังคับใช้กฎหมายควรเป็นไปอย่างเสมอภาคกันทั่วประเทศ ความเป็นไปได้ในการปฏิรูปองค์กรตำรวจของไทยในปัจจุบันนี้คงจะเป็นการจัดตั้งและปฏิรูปอำนาจของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่มีอยู่เช่นเทศกิจเพื่อยกระดับให้เป็นตำรวจท้องถิ่นในอนาคต




[1]     http://www.isranews.org/isranews-news/item/27966-policereform.html

[2]  เหตุที่ผู้เขียนยกฝรั่งเศสเป็นโมเดลเนื่องจากรูปแบบของการกระจายอำนาจของฝรั่งเศสมีความคล้ายคลึงกับของไทยมากกว่าอิตาลีและสเปนที่รัฐธรรมนูญรับรองให้ท้องถื่นมีความสามารถในการตรากฎหมายได้อย่างอิสระเท่าที่ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

[3] Les agents de police judiciaire adjoints

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net