Skip to main content
sharethis

‘อวัตถุศึกษากับอธิป’ สัปดาห์นี้ นำเสนอข่าวเฟซบุ๊กจะยกระดับโฆษณาเป็นวีดีโอสั้นๆ ใน feed, เริ่มใช้หุ่นยนต์เขียนข่าวในวงการวารสารศาสตร์

Immaterial Property Research Center ตั้งขึ้นในวันที่ 18 มกราคม หรือ "วันเสรีภาพอินเทอร์เน็ต" เพื่อเป็นศูนย์ข่าว ศูนย์ข้อมูล และศูนย์วิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุ (หรือที่เป็นที่รู้จักทั่วไปว่าทรัพย์สินทางปัญญา) ต่างๆ อย่างสัมพันธ์กับระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ และระบบการเมืองในโลก ทางศูนย์ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานของศูนย์ฯ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุที่เอื้อให้เกิดเสรีภาพในเชิงบวกไปจนถึงความเท่าเทียมกันของผู้คนในโลก
 

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Oxford ชี้ว่า 47% ของงานที่คนในโลกทำทุกวันนี้จะถูกเครื่องจักรแทนที่ใน 20 ปี

คำสัญญาหนึ่งของทุนนิยมที่มีมาตั้งแต่สมัยการปฏิวัติอุตสาหกรรมก็คือการที่มันจะนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาสู่งมนุษยชาติ ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ร่วมสมัย ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็หมายถึงการได้มาซึ่งผลผลิตมากขึ้นในการลงทรัพยากรทางการผลิตไปเท่าเดิม

โดยทั่วไปมันก็ทำได้ตามที่สัญญาจริงๆ เพราะผลิตภาพของมนุษยชาติก็ขยายตัวอย่างมหาศาลไปพร้อมๆ กับทุนนิยม

แต่แน่นอนว่าทุนนิยมก็ไม่ได้ต่างจากเทพหรือปีศาจตนต่างๆ ในตำนานที่ทำสัญญาแต่ละทีก็ไม่เคยบอกมาทั้งหมดว่าสิ่งที่มันให้จะนำไปสู่อะไรบ้าง

ในกรณีของทุนนิยมความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ มันนำมาสู่ "ปัญหา" การกระจายรายได้ทั้งในระดับท้องถิ่นและโลกในเวลาต่อมา ซึ่งปัญหานี้ก็เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วตั้งแต่นักเศรษฐศาสตร์พัฒนายันนักกิจกรรม

อย่างไรก็ดี ปัญหาที่จับต้องได้มากกว่านั้นของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เป็นไปได้คือมันทำให้คน "ตกงาน"

การที่เครื่องจักรมาแทนที่คนเคยสร้างปัญหามากมายมาแล้วในช่วงต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรมของอังกฤษ จนทำให้เกิดขบวนการทุบทำลายเครื่องจักรอันลือชื่ออย่างขบวนการลุดไดท์

ซึ่งเหตุสำคัญที่ปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้เกิดปัญหาว่างงาน ก็เพราะอังกฤษขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการทอผ้าเป็นหลัก การใช้เครื่องจักรทอผ้าแทนคนจึงสร้างภาวะว่างงานอย่างมหาศาลอย่างน้อยก็ในระยะสั้น (ที่น่าสนคือปัญหาเดียวกันไม่ได้เกิดขึ้นที่ฝรั่งเศส สินค้าหลักของฝรั่งเศสคือเสื้อผ้า การแทนที่คนทอผ้าด้วยเครื่องจักรไม่ได้ทำให้คนทอผ้าตกงาน แต่มันทำให้พวกเขากลายมาเป็นแรงงานภาคการผลิตเสื้อผ้าแทน อังกฤษไม่มีอุตสาหกรรมเสื้อผ้าในระดับเดียวกับฝรั่งเศสแรงงานจึงเคลื่อนย้ายในแบบเดียวกันไม่ได้การตกงานจึงเกิดขึ้น นอกจากนี้ปัญหาอีกประการที่ทำให้การตกงานในอังกฤษหนักข้อมากก็คือการขยายตัวทางประชากรอย่างบ้าคลั่งของอังกฤษด้วย)

แน่นอน หลังจากนั้นเราก็ไม่ค่อยได้ยินปัญหาเรื่อง "เครื่องจักรแย่งงานมนุษย์" อย่างหนาหูอะไรนัก เพราะโดยทั่วไปปัญหาของการตกงานนั้นถ้าไม่โยงกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำก็ดูจะโยงกับพวกข้อตกลงทางการค้าต่างๆ มากกว่าที่จะโยงกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีใดๆ (ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ใช่ไม่มี เช่น การแพร่หลายของตู้เย็นก็ทำให้อุตสาหกรรมขนส่งน้ำแข็งแช่เย็นในบางประเทศพังไปเลยเหมือนกัน)

แต่นี่คงจะไม่จริงอีกต่อไปหลังการปฏิวัติดิจิทัล

เหล่านักวิจัยจาก Oxford Martin Programme on the Impacts of Future Technology (เข้าชมเว็บโครงการได้ที่ http://www.futuretech.ox.ac.uk/) ชึ้ว่าภายใน 20 ปี งาน 47% ที่คนทำจะถูกเครื่องจักรทำแทนที่กันหมด (อ่านเปเปอร์ฉบับเต็มได้ที่ http://www.futuretech.ox.ac.uk/sites/futuretech.ox.ac.uk/files/The_Future_of_Employment_OMS_Working_Paper_1.pdf)

งานชี้อย่างน่าสนใจว่ากระแสการแทนที่งานของมนุษย์ด้วยเครื่องจักรจะมีสองระลอก ระลอกแรกแรงงานทางกายภาพจะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์และเครื่องจักรก่อนหลังจากเทคโนโลยีเหล่านี้พัฒนาขั้น แรงงานที่จะถูกแทนที่ในระลอกแรกนี้ก็ได้แก่แรงงานด้านการขนส่ง การประกอบ การก่อสร้าง หรือกระทั่งพวกการขาย และการบริการ

การแทนที่งานของมนุษย์ด้วยเครื่องจักรในขั้นแรกพอดำเนินไปเต็มที่ การแทนที่งานก็จะหยุดชะงักสักพัก ก่อนที่เทคโนโลยี "ปัญญาประดิษฐ์" (AI) จะพัฒนาพอที่จะทำงานแทนที่แรงงานที่ต้องใช้ปัญญาในระดับสูง ซึ่งการแทนที่รอบที่สองนี้ จะทำให้แรงงานด้านการบริหาร วิศวกรรม ไปจนถึงด้านวิทยาศาสตร์ และศิลปะ ถูกแทนที่ไปด้วย

แน่นอนว่าคนทำงานสารพัดทุกวันนี้โดยไม่ได้ตามเรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอะไรมากมายก็คงจะไม่รู้สึกรู้สาว่างานของตนจะถูกแทนที่ได้ง่ายๆ

แต่สำหรับผู้ติดตามความก้าวหน้าเทคโนโลยีใกล้ชิด การกล่าวอ้างที่ว่าก็ดูจะไม่เกินจริงนักถ้าจะพูดกันในกรอบของ 2 ทศวรรษ

แน่นอนว่า ถ้าการแทนที่ดังกล่าวจะเกิดขึ้นจริงๆ มันก็คงเป็นความไม่มั่นคงด้านการจ้างงานอย่างร้ายแรงที่สุดที่มนุษย์เงินเดือนบูชาทุนนิยมที่ไหนก็คงจะไม่ต้องการ

อย่างไรก็ดีถ้าเราจะเชื่อ "คำทำนาย" บนฐานของศาสตร์สมัยใหม่นี้แล้ว ไม่ว่าเราทำงานใดๆ ก็ควรจะมีทางหนีทีไล่ไปงานชนิดอื่นตลอด เพราะเทคโนโลยีที่จะถล่ม "อาชีพ" ของเราไปภายใน 10 ปีมันก็อาจจะโผล่มาเมื่อไรเราก็ไม่อาจทราบได้

เพราะการที่งาน 47% ของงานทุกวันนี้จะหายไปใน 20 ปี มันก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีงานใหม่ๆ ใดๆ ถือกำเนิดเกิดขึ้นมา แต่งานใหม่ๆ เหล่านั้นจะเป็นรูปแบบใดคนในแต่ละภาคการผลิตก็คงจะต้องจินตนาการและพัฒนาทักษะไว้ดักรองานกันเอง

สุดท้าย เรื่องราวทั้งหมดก็คงจะไม่ใช่ข่าวดีเท่าไรของบรรดารัฐในประเทศเจริญแล้วที่ตอนนี้ประสบปัญหาการว่างงานอย่างบ้าคลั่งอยู่แล้ว ซึ่งก็นำมาสู่ข้อถกเถียงเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการอย่างเผ็ดร้อน และสร้างความชอบธรรมให้กับนโยบายทางเศรษฐกิจที่ค่อนไปทางสังคมนิยมขึ้นทุกขณะ

Source:

 

Facebook ยกระดับการขายโฆษณาโดยจะมีโฆษณาเป็นวีดีโอโผล่มาใน News Feed ผู้ใช้แล้ว

หลังจากการตัดสินใจให้มีโฆษณามาเพ่นพ่านใน News Feed ของผู้ใช้ Facebook ในนามของ "Sponsored Post" ไปจนถึงการลงโฆษณาที่แถบด้านขวาที่ทำให้ผู้ใช้หลายๆ คนเซ็ง จนชินไปแล้ว

ล่าสุด Facebook ก็ได้ประกาศจะเพิ่มรูปแบบโฆษณาแบบวีดีโอมาด้วยโดยจะเริ่มมีในตอนกลางปี 2014 นี้

โดยโฆษณานี้จะยาวเพียง 15 วินาทีและไม่มีเสียง โดยจะมีการรันภาพอัตโนมัติเมื่อผู้ใช้เลื่อนผ่าน และจะหยุดรันภาพเมื่อผู้ใช้เลื่อนผ่านไป

ทั้งนี้ Facebook ก็บอกว่าผู้ใช้จะไม่เจอโฆษณาแบบนี้เกินวันละ 3 ครั้ง

Source: http://gigaom.com/2014/03/13/report-facebook-to-roll-out-video-ads-this-spring/

 

การปฏิวัติดิจิทัลกับ "หุ่นยนต์" เขียนข่าว

ยุคปัจจุบันเป็นยุคทองของ "แรงงานทางปัญญา" (intellectual labour) ที่เหล่าแรงงานคอปกขาวเป็นแรงงานประเภทที่ได้ผลตอบแทนสูงที่สุดในสารบบแรงงานในระบบเศรษฐกิจก็จริง แต่เหล่าแรงงานก็ไม่อาจจะมั่นใจได้ว่าการงานทุกอย่างของตนจะอยู่ค้ำฟ้าเมื่อเทคโนโลยี "ปัญญาประดิษฐ์" (artificial intelligence หรือ AI) พัฒนาไปเรื่อยๆ

งานข่าว (Journalism) เป็นงานที่ผูกอยู่กับมนุษย์มาตั้งแต่การอ่านออกเขียนได้ขยายตัวในศตวรรษที่ 18 ในยุโรปก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้ว ซึ่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมก็ยิ่งทำให้การทำข่าวขยายตัวขึ้นด้วยปัจจัยต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมโดยตรงไม่ว่าจะเป็นการผลิตกระดาษด้วยกระบวนการแบบอุตสาหกรรม ไปจนถึงการขยายตัวของการขนส่งราคาถูกที่เอื้ออำนวยด้วยการขยายตัวของรถไฟภายใต้เทคโนโลยีเครื่องจักรไอน้ำ

ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา งานข่าวก็ขยายตัวไปพร้อมๆ กับตลาดมวลชน (mass market) หรือกลุ่มชนชั้นล่างที่กลายมาเป็นผู้บริโภคข่าวใหม่ และมันก็ขยายตัวมาเรื่อยในศตวรรษที่ 20 กับเทคโนโลยีอย่างวิทยุและโทรทัศน์

ในการพัฒนาเทคโนโลยีตลอดมาอุตสาหกรรมข่าวก็เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานมนุษย์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่นักข่าวภาคสนาม ช่างภาพ คอลัมนิสต์อิสระ นักจัดหน้า ยันบรรณาธิการข่าว

การขยายตัวของการจ้างงานเป็นไปได้เพราะเม็ดเงินโฆษณานั้นไหลมาเทมาในอุตสาหกรรมข่าว

อย่างไรก็ดีการขยายตัวก็หยุดลงและเข้าสู่ภาวะถดถอยในภาพรวมเนื่องจากเงินโฆษณานั้นไหลบ่าออกไปจากอุตสาหกรรมข่าวไปในโลกอินเทอร์เน็ตแทน

สำนักข่าวจำนวนมากต้องปรับตัวตั้งแต่การตัดคอลัมน์ที่ไม่จำเป็นออก จ้างนักเขียนด้วยเงินที่น้อยลง ไปจนถึงบางสำนักข่าวก็ไล่ช่างภาพออกแล้วฝึกให้นักข่าวภาคนามเอาสมาร์ทโฟนไปถ่ายรูปเอง

ถ้าการลดงบประมาณคือโจทย์ คำตอบในหลายๆ ครั้งก็คือการลดการใช้แรงงานมนุษย์และใช้เครื่องจักรทำงานแทน ซึ่งนี่ก็เป็นกระแสใหญ่ที่จะถาโถมเข้าปะทะตลาดแรงงานโลกในช่วง 10-20 ปีนี้

การใช้ "หุ่นยนต์" เขียนข่าวแทนมนุษย์ก็ดูจะเป็นแนวทางแบบหนึ่งที่น่าจับตามองว่าเหล่าสำนักข่าวจะใช้มากน้อยเพียงใด

ในแง่เทคโนโลยี การสร้างอัลกอริธึมที่รวมข้อมูลมาเขียนเป็นข่าวมีมานานแล้ว แต่คุณภาพการเขียนยังต่ำอยู่ แต่ก็เช่นเดียวกับเทคโนโลยีการจำลองกิจกรรมของมนุษย์ด้วยอัลกอริธึ่มอื่นๆ เมื่อเวลาผ่านไป มันก็ยิ่ง "เหมือนมนุษย์" มากขึ้น และก็มีบริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีแบบนี้ไปเรื่อยๆอย่าง Narrative Science ที่พัฒนาอัลกอริธึ่มเพื่อรวบรวมข้อมูลมาเขียนข่าวกีฬาอย่างโดนดังเมื่อสองสามปีก่อน หรือโปรแกรมอย่าง Quakebot ที่เป็นอัลกอริธึ่มที่สร้างขึ้นมาเพื่อเขียนข่าวแผ่นดินไหวโดยเฉพาะ

ล่าสุดงานวิจัยจาก Karlstad University ในสวีเดนก็ชี้ว่า ในมุมของผู้อ่าน การอ่านข่าวที่ "หุ่นยนต์" เขียนก็ไม่ได้ทำให้เขารู้สึกว่ามันต่างจากมนุษย์เท่าใดนัก ซึ่งมันก็ไม่ได้ให้ประสบการณ์ที่เหมือนกันซะทีเดียว มันก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันเช่นการเขียนข่าวโดยมนุษย์ก็น่าเบื่อน้อยกว่าและอ่านเพลินกว่า ในขณะที่ "หุ่นยนต์" นั้นเขียนข่าวได้อย่างให้ข้อมูลมากกว่า ไปจนถึงน่าเชื่อถือและเป็นกลางกว่า อย่างไรก็ดีทั้งหมดนี้ต่างกันน้อยมากๆ ในเชิงสถิติ กล่าวคือมันไม่ได้ให้ประสบการณ์ที่ต่างกันเองสำหรับผู้อ่าน

ในยุคที่ข้อมูลบินว่อนไปทั่วในไซเบอร์สเปซ อีกไม่นานนัก สำนักข่าวก็อาจใช้ "หุ่นยนต์" ไปตามเก็บเกี่ยวข้อมูลมาเขียนข่าวก็ได้ ในกรณีข่าวบางชนิด เพราะนั่นอาจมีประสิทธิภาพกว่าจ้างมนุษย์ให้รับเงินเดือนจากการนั่นหาข่าวหน้าคอมพิวเตอร์ (ซึ่งหากทำจริงๆ ก็อาจต้องมีบรรณาธิการข่าวอีกที ซึ่งนั่นก็น่าจะเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว)

ทั้งนี้ก็ยังไม่มีรายงานใดๆ ว่าเครื่องจักรใดๆ จะมาแทนที่เหล่านักข่าวภาคสนามได้ และการใช้เทคโนโลยีอย่างโดรนในการทำข่าวก็ดูจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของงานมากกว่าจะแย่งงาน เพราะการใช้โดรนในแง่นี้ถึงที่สุดก็คงไม่ได้แย่งงานใครนอกจากคนขับเฮลิคอปเตอร์

Source:

 

Snowden เผยอีกว่า NSA มีความสามารถในการเข้าถึงบันทึกการโทรศัพท์ทั้งหมดใน "บางประเทศ" ได้

Edward Snowden เผยความสามารถในการสอดส่องของ NSA อีก โดยคราวนี้เป็นเรื่องของโครงการชื่อ MYSTIC

อธิบายง่ายๆ โครงการนี้คือโครงการที่ NSA เก็บข้อมูลการโทรศัพท์ทั้งหมด (เน้น ทั้งหมด หรือ 100%) ของประเทศประเทศหนึ่ง (ซึ่งแหล่งข่าวก็ไม่ระบุว่าประเทศอะไร) และเก็บข้อมูลไว้ 30 วันก่อนเอาข้อมูลใหม่ใส่เข้าไป

โครงการนี้เริ่มนำร่องปี 2009 ก่อนจะดำเนินการเต็มที่ในปี 2011 และทาง NSA ก็พยายามจะขยายโครงการนี้ไปในอีก 6 ประเทศ (ไม่ระบุชื่อเช่นกัน)

ที่น่าสนใจที่สุดคือโครงการแบบนี้น่าจะเป็นไปไม่ได้แน่ๆ หากผู้ให้บริการด้านโทรศัพท์ในประเทศเหล่านั้นไม่ให้ความร่วมมือในการให้ NSA เข้าถึงข้อมูลเต็มที่ในระดับนั้น

และที่เพี้ยนที่สุดคือ "เอกสารลับ" ตัวนี้ที่ Snowden เผยมานั้นจบลงด้วยภาพของพ่อมดที่ปลายคธาเป็นโทรศัพท์

Source:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net