ระบอบคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือกับมลภาวะทางแสง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การใช้งานแสงสว่างภายนอกอาคารในเวลากลางคืน (outdoor lighting at night)  โดยทั่วไปแล้วย่อมเกิดจากการใช้งานแสงสว่างภายนอกอาคารจากแหล่งกำเนิดแสงประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไฟถนน ไฟรักษาความปลอดภัย ไฟจากป้ายโฆษณา ไฟส่องสว่างจากสนามกีฬาและพื้นที่ประกอบกิจกรรมนันทนาการ และไฟส่องสว่างภายนอกอาคารประเภทอื่นๆ การใช้งานแสงสว่างเหล่านี้ทำให้ปัจเจกชนและสาธารณชนสามารถประกอบกิจกรรมภายนอกอาคารในยามค่ำคืนได้ เพราะแสงสว่างย่อมเอื้อต่อการมองเห็นของมนุษย์ (visibility) ทำให้มนุษย์มองเห็นวัตถุต่างๆ ได้ดีในเวลากลางคืน มนุษย์จึงใช้ประโยชน์หรือข้อได้เปรียบจากการพัฒนาเทคโนโลยีส่องสว่างและสถาปัตยกรรมแสงสว่าง ทำให้ตนเองมองเห็นสิ่งต่างๆ ในเวลาค่ำคืนอัน การมองเห็นวัตถุต่างๆในเวลากลางคืนย่อมทำให้มนุษย์สามารถประกอบกิจกรรมได้ในยามค่ำคืนและยืดเวลาในการทำกิจกรรมของมนุษย์ในเวลากลางคืน ทำให้มนุษย์สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ในยามค่ำคืนเสมือนว่าเป็นเวลากลางวันได้อีกด้วย

แสงสว่างที่ถูกปล่อยออกมาจากแหล่งกำเนิดแสงหรือแสงสว่างที่มีอยู่สิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างในบริเวณพื้นที่ชุมชนเมือง ย่อมก่อให้เกิดหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือภาวะที่เป็นพิษภัยอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนได้ หากแสงสว่างที่ถูกปล่อยออกมาดังกล่าวมีปริมาณความส่องสว่างหรือปริมาณแสงที่กระทบลงบนวัตถุต่อพื้นที่ (illiminance) ไม่เหมาะสมกับพื้นที่ใช้งานหรือมีทิศทางการส่องสว่าง (direction) ที่ส่องไปยังพื้นที่ที่ไม่ต้องการใช้งานแสงสว่าง แสงสว่างที่ถูกปล่อยออกมาจากแหล่งกำเนิดแสงเหล่านี้ อาจกลายเป็นมลภาวะทางแสง (light pollution) ได้

อย่างไรก็ตาม ระบอบการปกครองคอมมิวนิสต์ในบางประเทศ ได้กำหนดข้อห้ามหรือข้อจำกัดบางประการที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น ข้อห้ามในการวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำสูงสุดของประเทศและข้อจำกัดการครอบครองทรัพย์สิน ซึ่งข้อห้ามหรือข้อจำกัดต่างๆ เหล่านี้ แม้ว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบในด้านลบต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชนในประเทศ แต่อาจมีข้อดีหลายประการที่อาจส่งผลในด้านบวกต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของมนุษย์ในยามค่ำคืนให้ปลอดจากมลภาวะทางแสง

ระบอบการปกครองในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีหรือประเทศเกาหลีเหนือ (North Korea Regime) เป็นระบอบการปกครองในรูปแบบคอมมิวนิสต์ที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยประเทศเกาหลีเหนือได้วางหลักเกณฑ์ข้อห้ามออกจากบ้านหลังเวลา 5 ทุ่ม (11 p.m. curfew) ซึ่งข้อห้ามภายใต้ระบอบการปกครองของประเทศเกาหลีเหนือดังกล่าว ถือเป็นข้อห้ามที่กระทบต่อสิทธิในการเดินทางและชุมนม (right to freedom of movement and assembly) อันถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึงมีโดยตรง

ในทางตรงกันข้าม ข้อห้ามออกจากบ้านหลังเวลา 5 ทุ่ม อาจส่งผลดีต่อการควบคุมมลภาวะทางแสงอย่างดียิ่ง เพราะหากรัฐควบคุมไม่ให้ประชาชนออกจากบ้านในเวลากลางคืน ก็ย่อมไม่มีการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายนอกอาคารภายในระยะเวลาที่ประชาชนถูกห้ามไม่ให้ออกจากบริเวณตัวอาคารหรือออกมาบริเวณภายนอกที่พักอาศัย อันเป็นสาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้ประชาชนในประเทศเกาหลีเหนือลดการใช้งานแสงสว่างในยามค่ำคืนจากไฟส่องสว่างภายนอกอาคาร (outdoor lights) ประเภทต่างๆ ไปโดยปริยาย ภายใต้ข้อห้ามไม่ให้ประชาชนออกจากบ้านยามวิกาล
 


ภาพถ่ายจากดาวเทียมขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติหรือองค์การนาซา (National Aeronautics and Space Administration - NASA)  แสดงให้เห็นว่าประเทศเกาหลีเหนือมีการใช้งานแสงสว่างภายนอกอาคารหรือการบริโภคไฟส่องสว่างภายนอกอาคารในปริมาณที่ต่ำมากยามค่ำคืนเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเช่นประเทศจีนและประเทศเกาหลีใต้

แม้ข้อห้ามไม่ให้ประชาชนออกจากบ้านยามวิกาลที่จำกัดสิทธิในการเดินทางและสิทธิในการชุมนม แต่กลับกลายส่งผลให้เป็นการสร้างมาตรการลดมลภาวะทางแสงทางอ้อม (indirect light pollution control) ที่ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ในประเทศเกาหลีเหนือกลายเป็นพื้นที่ภูมิทัศน์ที่มีความมืดมิดค่อนข้างสูง (intrinsic dark landscapes) อันปลอดจากมลภาวะทางแสงที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ได้ ซึ่งแม้หลายประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยพยายามจัดทำมาตรการในการควบคุมมลภาวะทางแสงโดยตรงทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น แต่ก็ไม่สามารถลดปริมาณระดับของมลภาวะทางแสงได้อย่างเช่นประเทศเกาหลีใต้

ประเด็นที่ได้กล่าวมาในข้างต้น ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งยวดในเรื่องของการจำกัดสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับสิทธิในการเดินทางและชุมนุมกับสิทธิที่จะอยู่ในพื้นที่มืดมิดในยามค่ำคืน ในพื้นที่หรือภูมิทัศน์ตามธรรมชาติที่ปลอดจากผลกระทบของมลภาวะทางแสง เพราะมนุษย์ย่อมควรมีสิทธิและเสรีภาพในการใช้ไฟส่องสว่างภายนอกอาคารในเวลากลางคืน รวมไปถึงสิทธิที่จะเดินทางและร่วมชุมนุมภายนอกอาคารในยามค่ำคืน แต่ในขณะเดียวกันมนุษย์เองก็ย่อมมีสิทธิที่จะอยู่อย่างปลอดภัยภายใต้ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมที่ดี (right to healthy environment) อันปลอดจากมลภาวะทางแสงในเวลากลางคืน

ด้วยเหตุนี้รัฐทั้งในประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยและรัฐที่ปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์จึงควรสร้างสมดุล (balance) ระหว่างสิทธิทั้งสองประการ อันทำให้ประชาชนสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีภายใต้การส่งเสริมสิทธิของประชาชนในการทำกิจกรรมในยามค่ำคืนและการควบคุมมลภาวะทางแสงภายนอกอาคาร
 

ที่มาภาพ: NASA Earth Observatory. (2013). The Koreas at Night. 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท