ศาลสั่งอีก 'นรินทร์' เหยื่อสลายชุมนุม 19 พ.ค.53 กระสุนมาจากฝั่งทหาร

25 มี.ค.2557 เวลา 9.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 404 ศาลอาญา กรุงเทพใต้ ศาลอ่านคำสั่งกรณีไต่สวนการเสียชีวิต นายนรินทร์ ศรีชมภู ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตระหว่างการสลายการชุมนุม กลุ่ม นปช. ของ ศอฉ. เมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 เวลาประมาณ 8.00 – 9.00 น. โดยถูกยิงเข้าที่ศีรษะ บริเวณทางเท้าหน้าคอนโดมิเนียมบ้านราชดำริ ถนนราชดำริ (ใกล้เคียงกับจุดที่ฟาบิโอ ช่างภาพอิตาลีถูกยิง)

โดยศาลมีคำสั่งว่า ผู้ตาย ถึงแก่ความตายที่ รพ.ตำรวจ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 เวลากลางวัน เหตุและพฤติการณ์แห่งการตาย สืบเนื่องมาจากถูกยิงบริเวณศรีษะ กระสุนปืนทำลายสมองด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง วิถีกระสุนปืนมาจากทางด้านเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ในการเข้าควบคุมพื้นที่จากแยกศาลาแดงมุ่งไปทางแยกราชดำริ ตามคำสั่งของ ศอฉ. โดยไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำ


ภาพจุดเกิดเหตุเทียบกับปัจจุบัน บริเวณหน้าคอนโดมิเนียมบ้านราชดำริ (ดู Google Map จุดดังกล่าว)
 

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 25 มี.ค. ที่ห้องพิจารณาคดี 404 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอ่านคำสั่งคดีหมายเลขดำที่ ช.2/2556 ที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายนรินทร์ ศรีชมภู ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณทางเท้าหน้าคอนโดมิเนียมบ้านราชดำริ ถนนราช ดำริ ใกล้แยกสารสิน ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มนปช. เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 เพื่อมีคำสั่งว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อใด ถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150
 
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า ระหว่างวันที่ 12 พ.ค.2553-19 พ.ค.2553 มีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. บริเวณถนนราชดำริ ข้างสวนลุมพินี มีการกางเต็นท์ และตั้งบังเกอร์ไม้ไผ่ โดยนายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง พร้อมมีคำสั่งจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็น ผอ.ศอฉ. เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 นายสุเทพมีคำสังให้เจ้าหน้าที่กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ กรมทหารม้าที่ 1 จำนวน  300 นาย พร้อมอาวุธปืนลูกซองและปืนเอชเค 33 เข้าควบคุมพื้นที่สวนลุมพินีบริเวณแยกสารสินและแยกราชดำริ ในวันดังกล่าว เวลาประมาณ 10.00 น. เจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหารม้าที่ 3 กองพลทหารม้าที่ 2 จำนวน 120 นาย ปฏิบัติการเข้าควบคุมพื้นที่ตามคำสั่ง โดยเคลื่อนย้ายกำลังไปยังแยกศาลาแดง กลุ่มผู้ชุมนุมได้จุดไฟเผายางรถยนต์ เจ้าหน้าที่ทหารจึงเข้าดับเพลิงและรื้อถอนรั้วของผู้ชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 จากนั้นเจ้าหน้าที่ทหารได้กระจายกำลังเต็มหน้ากระดานพร้อมเคลื่อนกำลังไปยังแยกราชดำริและมีการยิงปืนเข้าหากลุ่มผู้ชุมนุม โดยมีผุ้ชุมนุมถูกยิงเสียชีวิต 2 ศพ บริเวณหน้าตึก สก. รพ.จุฬาลกรณ์ นายนรินทร์ พร้อมผู้ชุมนุมคนอื่น และผู้สื่อข่าว ต่างวิ่งหนีจากแยกราชดำริไปยังแยกราชประสงค์
 
โดยผู้ตายยืนติดกำแพงใกล้ต้นไม้บริเวณหน้าอาคารบ้านราชดำริ ขณะนั้นมีเสียงปืนจากเจ้าหน้าที่ทหารดังมาเป็นระยะ นายนายภัสพล ไชยพงษ์ อยู่บริเวณต้นไม้และชะโงกหน้าไปดูก็ถูกยิงที่ต้นคอ ห่างจากผู้ตายประมาณ 2 เมตร โดยพบว่าผู้ตายถูกยิงบริเวณศรีษะ ก่อนร่วมกันนำตัวส่งโรงพยาบาล ต่อมาถึงแก่ความตายที่ รพ.ตำรวจ จากเอกสารชันสูตรพลิกศพ พบบาดแผลกระสุนบริเวณหน้าผาก และมีบาดแผลทะลุตามเนื้อสมองบริเวณศรีษะด้านขวาส่วนบน มีทิศทางการยิงจากหน้าไปหลัง ต่อมาพนักงานสอบสวนได้สอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ
 
มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า เหตุและพฤติการณ์แห่งการตายเป็นอย่างไร การไต่สวนได้ความจากนายสามารถ นุชน้อย นางยุพิน นุชน้อย นายภัสพล ไชยพงษ์ นายอุดร วรรณสิงห์ และนายวัฒนชัย เอี่ยมนาค ซึ่งเป็นผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช. ว่า พยานทั้งหมดอยู่บริเวณสามแยกราชดำริ เจ้าหน้าที่ทหารเคลื่อนกำลังมาจากแยกศาลาแดงและยิงปืนใส่กลุ่มผู้ชุมนุม โดยนายภัสพลหลบอยู่หลังต้นไม้ใกล้อาคารบ้านราชดำริได้ชะโงกหน้าออกไปดูเหตุการณ์ก็ถูกยิงเข้าที่ต้นคอ พยานปากนายภัสพลเห็นผู้ตายและได้ยินเสียงปืนจากฝั่งทหารยิงมาเป็นระยะ โดยขณะที่นายภัสพลถูกยิงที่ต้นคอ ผู้ตายได้ถือทรโข่งมาดูพยาน และถูกยิงที่ศีรษะ
 
ศาลอ่านคำสั่งต่อว่า พยานทั้งหมดถึงแม้จะเป็นกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. และยืนยันว่าผู้ตายถูกยิงมาจากเจ้าหน้าที่ทหาร แต่ผู้ร้องมีพยานปากนายมิเชล มาสส์ ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศ และไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด ได้เบิกความสนับสนุนว่า ขณะยืนอยู่บริเวณแยกราชดำริ พยานเห็นเจ้าหน้าที่ทหารมาจากศาลาแดงเคลื่อนมาทางแยกราชดำริ และมีการพกพาอาวุธปืน พยานเห็นผูิชุมนุมวิ่งหนี และได้ยินเสียงปืนดังจากฝั่งเจ้าหน้าที่ทหาร พยานจึงวิ่งตามพร้อมโทรศัพท์รายงานข่าวไปยังประเทศเนเธอร์แลนด์ ระหว่างรายงายข่าว พยานก็ถูกยิงบริเวณอาคารบ้านราชดำริ
 
นอกจากนั้น ยังมีพยานปาก น.ส.ธัญญธร สารสิทธิ์ ผู้สื่อข่าวของสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส ติดตามการปฏิบัติหน้าที่ของทหาร เบิกความสอดคล้องกับพยานดังกล่าวข้างต้นว่า พยานอยู่ทางด้านหลังฝั่งทหารบริเวณแยกศาลาแดง กลุ่มทหารเข้ากระชับพื้นที่ โดยปิดล้อมผลักดันไปทางถนนราชดำริ เมื่อมีจังหวะหยุดตามจุดต่างๆ พยานเห็นทหารยิงไปทางกลุ่มผู้ชุมนุม จากการตรวจสถานที่เกิดเหตุ มีพยานปาก พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์ ผอ.สำนักตรวจสถานที่เกิดเหตุ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เบิกความว่า พยานไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ เพื่อตรวจวิถีกระสุนปืนและรอยกระสุนปืน พบรอยกระสุนปืนที่ป้ายจราจรตั้งแต่แนวแยกราชดำริ หน้าอาคารบ้านราชดำริ หน้าสมาคมกรีฑาสโมสร โดยมีวิถีกระสุนจากแยกราชดำริไปยังแยกราชประสงค์ กระสุนมีตั้งแต่ระดับต่ำไม่ถึง 1 เมตร จนถึงระดับสูงเกิน 2 เมตร เห็นว่าจากคำให้การของพยานบุคคลดังกล่าว ประกอบกับการตรวจสถานที่เกิดเหตุ น่าเชื่อว่า วิถีกระสุนที่ผู้ตายถูกยิงมาจากแยกศาลาแดงไปยังแยกราชดำริ
 
ด้าน พล.ต.ต.พรชัย สุธีรคุณ ผู้บังคับการสถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ ซึ่งเป็นผู้ชันสูตรพลิกศพผู้ตาย เบิกความว่า จากการตรวจสภาพศพพบบาดแผลกระสุนปืนบริเวณหน้าผาก ชิดแนวกลางลำตัว บาดแผลทะลุตามเนื้อสมอง ทะลุกะโหลกศีรษะด้านขวาส่วนบน ทิศทางการยิงจากหน้าไปหลัง จากซ้ายไปขวา จากล่างขึ้นบน โดยถูกยิงในระยะเกินมือเอื้อม สาเหตุการตายเกิดจากกระสุนทำลายสมอง
 
ขณะที่ พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ ยาคุ้มภัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และวิถีกระสุนปืน เบิกความว่า บาดแผลทางเข้ากระสุนปืนมีขนาด 0.5 ซม. คูณ 0.3 ซม. ส่วนบาดแผลทางออกมีขนาด 5 ซม. คูณ 4 ซม.  พยานมีความเห็นเป็นไปได้ว่าจะถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง พยานทั้งสองปากดังกล่าวซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ เมื่อได้ชันสูตรศพและตรวจรายงานการชันสูตรพลิกศพแล้ว ต่างเบิกความไปทำนองเดียวกันว่าบาดแผลเกิดจากกระสุนปืนความเร็วสูง
 ส่วน พ.อ.จิรศักดิ์ พรรังสฤษฎ์  จ.ส.อ.ณรงค์ เกตุศรี และพ.อ.นพสิทธิ์ สิทธิพงศ์โสภณ เบิกความทำนองเดียวกันว่า การปฏิบัติการของทหารที่เข้าไปนั้น มีอาวุธประจำกายคือปืนลูกซองและปืนเล็กยาว เอชเค 33 โดยปืนลูกซองจะใช้กระสุนยางและกระสุนจริง ส่วนปืนเอชเค 33 ใช้กระสุนซ้อมรบ เห็นว่าจากการตรวจสถานที่เกิกเหตุมีร่องรอยกระสุนที่ยิงทะลุวัตถุที่เป็นโลหะ เช่น เสาไฟฟ้า ป้ายต่างๆ จึงไม่น่าเชื่อว่าเกิดจากกระสุนปืนลูกซองที่เป็นลูกปรายหรือกระสุนซ้อมรบ น่าจะเกิดจากกระสุนปืนจริงซึ่งมีความเร็วสูง
 
เมื่อพิจารณาจากกระสุนปืนที่นายมิเชล มาสส์ ซึ่งถูกยิงในบริเวณดังกล่าว และเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับผู้ตาย เป็นหัวกระสุนปืนความเร็วสูง สามารถใช้กับปืนเอ็ม 16 และเอชเค 33 สอดคล้องกับบาดแผลของผู้ตาย ในการไต่สวนไม่ปรากฏว่าทางด้านศาลาแดง มีบุคคลอื่นใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 หรือเอชเค 33 ในที่เกิดเหตุมีแต่เจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนเอชเค 33 จากการประเมินหลักฐานต่างๆ แล้วจึงน่าเชื่อว่า ผู้ตายถูกยิงด้วยกระสุนปืนจริงจากทางด้านเจ้าหน้าที่ทหารขณะเคลื่อนกำลังเข้าควบคุมพื้นที่จากทางแยกศาลาแดงมุ่งหน้าไปยังแยกราชดำริ สืบเนื่องจากปฏิบัติราชการตามหน้าที่ โดยไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำ
 
จึงมีคำสั่งว่า ผู้ตายคือ นายนรินทร์ ศรีชมภู ถึงแก่ความตายที่ รพ.ตำรวจ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 เวลากลางวัน เหตุและพฤติการณ์แห่งการตาย สืบเนื่องมาจากถูกยิงบริเวณศรีษะ กระสุนปืนทำลายสมองด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง วิถีกระสุนปืนมาจากทางด้านเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ในการเข้าควบคุมพื้นที่จากแยกศาลาแดงมุ่งไปทางแยกราชดำริ ตามคำสั่งของ ศอฉ. โดยไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท