Skip to main content
sharethis
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ทำหนังสือฉบับที่ 3 ร้อง สช.ศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี เผยร้องมา 3 ปี ยังเพิกเฉย ขู่หากยังไม่คืบ เตรียมฟ้องทั้งปกครอง-อาญา จงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
 
 
27 มี.ค. 2557 เวลา 09.00 น. ที่บ้านโนนสมบูรณ์ ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี นางมณี บุญรอด กรรมการกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี เปิดเผยว่า วันนี้ (27 มี.ค.) กลุ่มฯ ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ถึงคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อติดตามความคืบหน้าหนังสือที่เคยส่งไปเมื่อปี 2554 ซึ่งขอให้ทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ดำเนินการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ กรณีโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี
 
“ตั้งแต่ปี 54 กลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ใช้สิทธิตามมาตรา 11 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 โดยการส่งหนังสือให้ สช.ดำเนินการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ (เอชไอเอ) โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี แต่ก็ไม่ได้รับการตอบกลับจาก สช. และเคยทำหนังสือทวงก่อนแล้วในปีเดียวกันก็เงียบ ถึงวันนี้เกือบ 3 ปียังไม่มีการดำเนินการใดๆ ทางกลุ่มฯ จึงทำหนังสือฉบับที่ 3 ติดตามอีกครั้ง ซึ่งหากว่า สช. ยังเพิกเฉย กลุ่มอนุรักษ์ฯ ก็จะฟ้องเอาผิด สช. ตามหนังสือที่ส่งไป” นางมณีกล่าว
 
นางมณี กล่าวว่า สถานการณ์โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ตอนนี้บริษัทเอเชีย แปซิฟิคโปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) เสร็จแล้วตั้งแต่ปี 55 และกำลังเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งก็คาดว่าน่าจะผ่านรายงานในเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ดี กลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ทำหนังสือคัดค้านการทำรายงานอีเอชไอเอ ของบริษัทฯ มาโดยตลอด ขณะเดียวกันก็ร้องเรียนให้ สช.ทำรายงาน เอชไอเอ เพื่อให้เห็นข้อมูลชุมชนเปรียบเทียบควบคูกันไป จนกระทั่งวันนี้ สช.ก็ไม่ได้ดำเนินการอะไรเลย
 
“ทางกลุ่มฯ ขอเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ดำเนินการตามหนังสือฉบับนี้ ภายใน 30 วัน ซึ่งหลังจากนั้นหากว่ายังไม่มีการดำเนินการ ทางกลุ่มฯ ก็จะได้ร้องเรียนเอาผิดต่อสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ทั้งทางปกครอง และทางอาญา เพราะถือว่ามีการจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามกฎหมายอาญา มาตรา 157” ข้อความในหนังสือระบุ
 
ทั้งนี้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ในมาตรา 11 ระบุว่า “บุคคลหรือคณะบุคคลมีสิทธิร้องขอให้มีการประเมินและมีสิทธิร่วมในกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจากนโยบายสาธารณะ...”
 
ด้านนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เปิดเผยว่า สช.ควรทำงานตามหน้าที่ที่ชาวบ้านเขายื่นเรื่องมา เช่น ต้องตอบว่าเรื่องโปแตชเข้าข่ายมาตรา 11 ตาม พ.ร.บ.สุขภาพ พ.ศ.2550 หรือไม่ และควรทำอย่างไรต่อไป
 
นายสุวิทย์ กล่าวด้วยว่า การที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี มีมติจะฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้ สช. ศึกษาผลกระทบสุขภาพเรื่องเหมืองแร่โปแตช และจะไปแจ้งความตำรวจเอาผิด กรรมการ สช. มาตรา 157 นั้น คิดว่าเป็นสิทธิของชาวบ้าน และในฐานะที่ปรึกษาจะคุยกับกลุ่มฯ อีกครั้งหนึ่งถึงวิธีการอื่นๆ หรือการไปชุมนุมหน้า สช.เพื่อกดดัน
 
“ถึงเวลาแล้วที่เราต้องมาตรวจสอบองค์อิสระตระกูล ส. ซึ่งหลายคนไม่กล้าตรวจสอบเพราะกลัวว่าจะไม่ได้เงินทุนทำงาน ส่วนที่ชาวบ้านทวงถามเป็นเรื่องที่ดีและช่วยกันผลักดันให้ สช. ทำงาน เพราะปัจจุบันหน่วยงานนี้มีความแข็งตัวรักษาภาพลักษณ์องค์กรจนไม่กล้าที่จะทำอะไรตามความถูกต้อง มโนธรรมสำนึก และต้องถามว่าที่ผ่านมาคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เคยมีมติอะไรบ้างที่ตรวจสอบถ่วงดุลโครงการพัฒนา” ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าว
 
หนังสือฉบับที่ 1
 
หนังสือฉบับที่ 2
 
หนังสือฉบับที่ 3
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net