คนห้องกรง: เครื่องแบบนักโทษ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ชุดนักโทษ จริงๆ แล้วไม่ได้มีแต่ชุดสีน้ำตาลลูกวัวที่เราเห็นทั่วไปตามหน้าสื่อนะ นั่นเป็นชุดที่นักโทษจะใส่เฉพาะตอน "ออกศาล" เท่านั้น อยากรู้ว่าชุดนักโทษมีกี่แบบ และต้องใส่แบบไหนในสถานการณ์อะไรบ้าง แอดมินขอชวนอ่านข้อเขียนเรื่องชุดนักโทษจากอดีตคนใน ที่จะทำให้เห็นชีวิตในเรือนจำมากขึ้น

การใส่ชุดผู้ต้องขังในเรือนจำของประเทศไทย เดิมที จะใส่ชุดอะไรก็ได้ ไม่มีการบังคับ แต่มีการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับใหม่ เมื่อประมาณต้นปี พ.ศ. 2556 วันธรรมดา จะบังคับให้ผู้ต้องขังที่คดีถึงที่สุดแล้ว ต้องใส่เสื้อสีฟ้า (อะไรก็ได้) และกางเกงสีกรมท่า (อะไรก็ได้) ส่วนผู้ต้องขังที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี ต้องใส่เสื้อสีน้ำตาล (อะไรก็ได้) และกางเกงสีน้ำตาลเข้ม (อะไรก็ได้) ทั้งนี้ ไม่มีการบังคับรูปแบบเสื้อ โดนเน้นบังคับเฉพาะสีของเครื่องแต่งกายเท่านั้น เพื่อสะดวกในการจำแนกประเภทผู้ต้องขัง ส่วนในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ผู้ต้องขังสามารถจะใส่ชุดอะไรก็ได้ ไม่มีการบังคับ

เรื่องสีเสื้อที่ใช้บังคับให้ใช้ภายในเรือนจำ ยังมีอีกหลายกรณี อย่างเช่น เมื่อมีการเยี่ยมญาติ (ญาติมาเยี่ยม) ผู้ต้องขัง จะต้องเปลี่ยนชุดที่ตัวเองใส่ จากสีฟ้า (เด็ดขาด) สีน้ำตาล (ระหว่าง) มาเป็น "สีเหลือง" เสื้อสีเหลืองจึงมีความหมายเดียวหมายถึงการออกไปเยี่ยมญาติ

การพบทนายความ พบเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานข้างนอก พบเจ้าหน้าที่สถานทูต พบเจ้่าหน้าที่สอบสวน ออกทำกิจกรรมเช่นเรียนหนังสือ ฝึกวิชาชีพ อบรมความรู้ต่างๆ หรือออกสถานพยาบาล บังคับให้ใส่เสื้อสีฟ้าเท่านั้น

ผู้ต้องขังที่ทำหน้าที่คอยให้บริการ งานต่างๆ ภายในเรือนจำเช่น เดินส่งจดหมาย ส่งหนังสือระหว่างแดน ประจำจุดเยี่ยมญาติ จะบังคับให้ใส่เสื้อ "สีขาว" ไม่จำกัดแขนสั้น หรือแขนยาว และกางเกงขาสั้น "สีน้ำเงินเข้ม"

ผู้ต้องขังที่ทำงานกองนอก ที่คอยให้บริการ "ภายนอกเรือนจำ" เช่นจุดเยี่ยมญาติ บริเวณพื้นที่โดยรอบเรือนจำ เก็บกวาดขยะ งานช่างต่างๆ ที่ไม่ได้ออกไปภายนอกบริเวณเรือนจำ จะบังคับให้ใส่เสื้อแขนยาว "สีน้ำเงิน" และกางเกงขาสั้น "สีน้ำเงินเข้ม"

ส่วนผู้ต้องขังที่ต้องออกไปทำงานสาธารณะ เช่น ลอกท่อน้ำ ตามสถานที่ต่างๆ ผู้ต้องขังกลุ่มนี้จะเรียกว่า "ทำงานสาธา" (เรียกเต็มๆ ว่าทำงานสาธารณะ) กลุ่มนี้จะต้องออกไปนอกบริเวณเรือนจำ ชุดที่ใส่จะเป็นเสื้อแขนยาว "สีน้ำเงินเข้ม" ด้านหลังจะมีสกรีนคำว่า "งานสาธารณะ" บางแห่งอาจระบุชื่อเรือนจำตามท้ายด้วย ส่วนกางเกง เป็นกางเกงขาสั้น "สีน้ำเงินเข้ม"

กรณีผู้ต้องขังที่ต้องเดินทางออกนอกเรือนจำ เพื่อไปยังศาล ผู้ต้องขังทุกคนจะต้องใส่ชุดสีน้ำตาล (หรือที่เรียกกันว่าสีลูกวัว) ซึ่งผู้ต้องขัง ที่คดียังไม่ถึงที่สุด ก็จะใส่ชุดสีนี้อยู่แล้วในวันธรรมดา ชุดสีน้ำตาลนี้ จะเรียกกันง่ายๆ ว่า "ชุดออกศาล" ชุดออกศาลนี้ ทางเรือนจำจะมีไว้ให้บริการ แต่จะไม่สะอาด เพราะจะซักทีเดียวในวันหยุด เสื้อจะเป็นลักษณะเสื้อคอกลม ไม่มีกระเป๋าเสื้อ ส่วนกางเกง จะเป็นสีน้ำตาลเข้มกว่าสีเสื้อ ลักษณะคล้ายกางเกงเล แต่่ขาสั้นกว่า คือมีกระเป๋าข้างแนบน่อง แล้วมีสายผ้า 2 เส้น สำหรับอ้อมมาผูกทางด้านหน้า (ต่อ 4a)

ซึ่งในเรือนจำ "ชุดออกศาล" เราจะพบเห็นได้อยู่ 3 ประเภทด้วยกัน อันได้แก่

(1) "ชุดหลวง" คือชุดที่ทางเรือนจำจัดเตรียมไว้ให้ เป็นชุดสาธารณะ ลักษณะจะเป็นผ้าหนาๆ และสกปรก เพราะผ่านการใช้งานจากผู้ต้องขังมากหน้าหลายตา โดยอาจมีการซักทำความสะอาดแค่เพียงสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง ชุดประเภทนี้ มีความจำเป็นจะต้องมี เพราะเมื่อมีกฎบังคับให้ผู้ต้องขังต้องสวมใส่ชุดเหล่านี้ ตามสีกำหนดไว้ สำหรับผู้ต้องขังรายใหม่ จึงไม่มีทางเลือกที่จะต้องสวมใส่ชุดเหล่านี้ แต่เมื่ออยู่ไประยะเวลาหนึ่ง อันเนื่องจากเหตุผลทางด้านคดี ที่จะทำให้ต้องอยู่ในเรือนจำนานออกไป การเลือกหาซื้อชุดประเภทที่ 2 จึงเกิดตามมา อันได้แก่

(2) "ชุดซื้อ" ชุดซื้อนี้ ทางเรือนจำ มีจำหน่ายอยู่ 2 แบบ ได้แก่ "ชุดออกศาล" ที่เป็นสีลูกวัว และ "ชุดผู้ต้องขังเด็ดขาด" ที่เป็นโทนสีฟ้า ชุดประเภทนี้ จะทำด้วยผ้าลักษณะที่ดีกว่า ที่แตกต่างคือกางเกง จะไม่เป็นรูปแบบ "กางเกงเล" ที่จะต้องใช้สายผ้าผูกมัด แต่จะเป็นกางเกงขาสั้น มีซิป มียางยืด ที่เรียกกันว่า "กางเกงจับหมู" ชุดออกศาล (สีลูกวัว) ประเภทนี้ เหมาะสำหรับผู้ต้องขังที่แน่ใจแล้วว่า จะต้องต่อสู้คดีอีกระยะหนึ่ง (คดียังไม่ถึงที่สุด) และประเมินแล้วว่าจะต้องใช้ชุดออกศาลต่ออีกหลายครั้ง ก็จะเลือกซื้อชุดประเภทนี้ มาเก็บไว้ ด้วยเหตุผลหลักๆ เลยก็คือสะอาด ไม่ต้องใช้ปะปนกับใคร ส่วนผู้ต้องขังที่คดีถึงที่สุดแล้ว ก็จะเลือกซื้อชุด "สีฟ้า" มาใช้เหมือนกัน อันเนื่องด้วยเหตุผลเดียวกัน

(3) "ชุดสั่งตัด" ใครจะใช้ชุดประเภทนี้ได้ จะต้องเป็น "ขาใหญ่" จริงๆ คือเป็นผู้ต้องขังค่อนข้างมีฐานะ เป็นคนมีชื่อเสียง เป็นคดีใหญ่ หรือออกศาลบ่อย ในกรณีคดียังไม่ถึงที่สุด (ชุดสีลูกวัว) ส่วนคดีถึงที่สุดแล้ว (ชุดสีฟ้า) ส่วนใหญ่จะไม่เน้นชุดสั่งตัด ผู้ต้องขังประเภทนี้จะเลือกใช้ "ชุดซื้อ" แทน การหาชุดสั่งตัดมาใช้นั้น ทำได้โดยการให้คนข้างนอก เช่น เพื่อน ญาติพี่น้อง ไปสั่งตัดมาให้เรียบร้อย จากนั้น ฝากเข้ามาให้ผู้ต้องขังในเรือนจำ (กรณีที่เรือนจำนั้นๆ อนุญาตให้นำเข้าเสื้อผ้าจากภายนอกได้) หรือยอมจ่าย ค่าใช้จ่ายในการนำเข้า (ภาษาคุกเรียก "หิ้วของ") ให้กับผู้คุมที่ดูแลอยู่ในแดนนั้นๆ นำเข้ามา ซึ่งค่าใช้จ่ายต่อครั้ง อยู่ที่ 300-1,000 บาท ขึ้นอยู่กับประเภท และจำนวนของที่นำเข้าในแต่ละครั้ง

เรื่องรองเท้า ผู้ต้องขังภายในเรือนจำ จะใส่รองเท้าอะไรก็ได้ รองเท้าแตะ รองเท้าผ้าใบ หรือไม่ใส่รองเท้า ไม่มีกฎข้อห้าม แต่กรณีถ้ามีการออกศาล เดิมทีจะอนุญาตให้ใส่รองเท้า(แตะ) ถุงเท้าไปด้วยได้ แต่หลังเกิดเหตุการณ์ผู้ต้องขังปารองเท้าใส่ผู้พิพากษา ทางเรือนจำจึงออกกฎใหม่ ไม่อนุญาตให้ผู้ต้องขังใส่รองเท้าออกศาล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวซ้ำอีก ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ต้องขังกลุ่มที่มีฐานะ มีความรู้ ส่วนผู้ต้องขังที่เป็นชาวบ้านธรรมดา จะไม่เดือดร้อน การแก้ไขปัญหาเรื่องการไม่อนุญาตให้ใส่รองเท้าไปศาลของผู้ต้องขังก็คือ การยอมใส่ถุงเท้า แทนรองเท้า หรือแอบซ่อนรองเท้าไปกับถุงอาหารที่อนุญาตให้นำติดตัวไป หรือบางราย ถ้ามีชื่อเสียง มีอิทธิพล ผู้คุมก็จะทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น ปล่อยให้ใส่ไปศาลได้ สังเกตได้ว่า ถ้าเห็นผู้ต้องขังที่ศาลคนไหนใส่รองเท้า นั่นสันนิษฐานได้ว่า อาจเป็นผู้ต้องขังที่มีชื่อเสียง หรือมีอิทธิพลได้เลย

อุปกรณ์ที่ห้ามอีกอย่างในการออกศาลก็คือ สนับเข่าที่เอาไว้สำหรับเกี่ยวสายโซ่ตรวนบริเวณเข่าทั้งสองข้าง เป็นอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับการใส่โซ่ตรวน ที่เฉพาะผู้ต้องขังขาใหญ่ มีฐานะ มีอิทธิพลเท่านั้น ที่จะมีไว้ใช้ อุปกรณ์นี้ ทำให้ไม่ต้องใช้มือถือเชือกที่ผูกตรวนเอาไว้ ทำให้สามารถเดินได้อย่างสะดวก ที่ห้ามเพราะส่วนประกอบของสนับจะทำด้วยเหล็ก เป็นเงี่ยงเอาไว้คล้องโซ่ ซึ่งสามารถดึงออก แล้วนำมาใช้เป็นอาวุธทำร้ายกันได้

ทั้งนี้การใส่โซ่ตรวนออกศาล จะบังคับเฉพาะผู้ต้องขังที่อายุไม่เกิน 60 ปี แต่ถ้าอายุเกิน 60 ปี ถ้าต้องการจะไม่ใส่โซ่ตรวน ก็จะต้องทำหนังสือแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรก่อน จึงจะได้รับอนุญาต ซึ่งจะถูกพันธนาการด้วยกำไลข้อมือแทน

 

 

ติดตามข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ แฟนเพจ: คนห้องกรง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท