รายงาน: ปัญหาเหมืองทอง ทุ่งคำเปิดใจ รัฐบาลต้องเปิดบัญชี?

 
 
 

 
พื้นที่น้ำคิว-ภูขุมทอง เนื้อที่ประมาณ 545 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 340,605 ไร่ โดย กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ อาชญาบัตรพิเศษ และประทานบัตร สำหรับการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ ในพื้นที่จังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย และบริเวณใกล้เคียง เพื่อการพัฒนาเหมืองแร่ทองคำเป็นโครงการใหญ่ แปลงที่ 4 พื้นที่ทั้งหมดมีภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อน ซึ่งเป็นทั้งแหล่งต้นน้ำ ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตป่ามาตรา 4 (1) ที่ดิน ส.ป.ก. และที่ดินทำกินของชุมชนที่อยู่อาศัยในบริเวณเหล่านั้นมาหลายชั่วคน
 

 
ร่องน้ำห้วยผุกและการทำนาข้าวในร่องหุบเขา รับน้ำจากแนวเทือกเขาภูปกในพื้นที่ตำบลวังสะพุง เทือกเขาหนึ่งในพื้นที่น้ำคิว-ภูขุมทอง ซึ่งคลุมพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอท่าลี่ และอำเภอภูเรือ และอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เนื้อที่ประมาณ 545 ตารางกิโลเมตร โดยทุ่งคาฮาร์เบอร์และทุ่งคำเป็นผู้ได้รับสิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ
 

ทำนาในร่องหุบเขา เก็บพืชสัตว์ในร่องน้ำเป็นอาหาร วิถีชีวิตของชาวเมืองเลย

 
จากเหตุการณ์ต่อเนื่องเมื่อวันที่ 17 มีนาคม ที่ชาววังสะพุงเดินขบวนร้องเพลงไปคัดค้านการต่ออายุใบอนุญาตให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด (“ทุ่งคำ”) ใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโคกภูเหล็ก และที่ดิน ส.ป.ก. ที่ดินป่ามาตรา 4 (1) ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำและพื้นที่เพื่อการเกษตรทำเหมืองแร่ทองคำที่หน้าสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเลย และหน้าสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรจังหวัดเลยนั้น
 
การคัดค้านในประเด็นนี้มีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างทุ่งคำ กับ จังหวัดเลย
 
ไม้ตายของทุ่งคำ “รัฐบาลถือหุ้นเหมืองทอง”
 
ย้อนกลับไปสองปีก่อน กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ได้เดินทางไปชุมนุมและยื่นหนังสือคัดค้านการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโคกภูเหล็ก เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำของทุ่งคำ ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่หน้าศาลากลางจังหวัดเลย ซึ่งวันนั้นทางจังหวัดได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันกับ กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน เกี่ยวกับการคัดค้านการอนุญาตต่ออายุการใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโคกภูเหล็ก เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2555 และทางจังหวัดได้ส่งบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นหนังสือ เลขที่ ลย 0013.3/8746 ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2555 ให้กับทุ่งคำพิจารณา
 
วันที่ 12 กรกฎาคม 2555 หนังสือชี้แจง 7 หน้า เลขที่ ทค.ลย. ว 212/2555 จากทุ่งคำร่อนมาถึง จังหวัด และอบต.เขาหลวง กรณีการขอคัดค้านการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโคกภูเหล็ก ทั้งนี้ ทุ่งคำได้ลำดับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยยกมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2530 ที่รัฐบาลไทยกำหนดนโยบายว่าด้วยการสำรวจและพัฒนาแร่ทองคำ ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 10 มกราคม 2532 ที่อนุมัติให้กระทรวงอุตสาหกรรมออกอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ อาชญาบัตรพิเศษ และประทานบัตร สำหรับการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ ในพื้นที่จังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย และบริเวณใกล้เคียง  เพื่อการพัฒนาเหมืองแร่ทองคำเป็นโครงการใหญ่ จำนวน 4 แปลง รวมพื้นที่ 2,425 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1.51 ล้านไร่
 
จากนั้น บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) (“ทุ่งคาฮาร์เบอร์”) ได้รับการพิจารณาให้รับสิทธิในการสำรวจและทำเหมืองแร่ในจังหวัดเลย ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2532 โดยทุ่งคาฮาร์เบอร์ เป็นผู้ได้รับสิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่น้ำคิว-ภูขุมทอง เนื้อที่ประมาณ 545 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 340,605 ไร่
 
ต่อมา กรมทรัพยากรธรณี ซึ่งเป็นตัวแทนในนามรัฐบาล กับทุ่งคาฮาเบอร์ และทุ่งคำ ได้ทำ สัญญาว่าด้วยการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ แปลงที่สี่ พื้นที่น้ำคิว-ภูขุมทอง เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2534 โดยให้ “เขตสิทธิ” ในการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงแร่อื่นๆ 545 ตารางกิโลเมตร แก่ทุ่งคำโดยไม่ระบุระยะเวลาสิ้นสุดในสัญญา
 
สัญญาฉบับนี้ลงนามโดย นายวิสิทธิ์ น้อยพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ กรรมการ บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด นายราชัน กาญจนะวณิชย์ กรรมการ บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และ นายอาชิบอลด์ เจฟรี เลาดอน ประธานกรรมการ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด
 
หลังสัญญามีผลผูกพัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีหนังสือแสดงความไม่ขัดข้องในการกันพื้นที่จำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาทรัพยากรธรณีออกจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม ตามนโยบายของรัฐบาลและข้อผูกพันที่มีต่อภาคเอกชน
 
ส่วนคณะกรรมการป่าไม้แห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบในการกันเขตแหล่งแร่ในท้องที่จังหวัดเลยออกจากเขตป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม
 
วันที่ 9 มีนาคม 2535 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีหนังสือแสดงความเห็นชอบการกำหนดพื้นที่บริเวณจังหวัดเลย และจังหวัดใกล้เคียง เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการพัฒนาทรัพยาธรณีที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอ
 
วันที่ 28 มีนาคม 2535 กรมทรัพยากรธรณีออกอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำให้กับทุ่งคำ จำนวน 34 แปลง รวมเนื้อที่ 335,672 ไร่
 
นี่คือกระบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้นหลังจากทุ่งคำเซ็นสัญญากับรัฐบาล
 
ประเด็นสำคัญ คือ ในรายละเอียดของสัญญาดังกล่าวมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการให้ “ผลประโยชน์พิเศษ” โดยทุ่งคำได้ให้สิทธิกับรัฐบาลไทยในการซื้อหุ้นของบริษัทในอัตราร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดในราคาทุน บวกอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำ จากนั้นรัฐบาลได้ให้กระทรวงการคลังเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทฯ ตามที่ได้ตกลงกัน
 
และกลายเป็น “ไม้ตาย” ที่ทุ่งคำเน้นว่า การเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโคกภูเหล็กเพื่อทำเหมืองแร่ ก็ประหนึ่งว่าเป็นข้อผูกพันกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย โดย กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ได้ทำไว้กับบริษัททั้งสองโดยชอบธรรม อีกทั้งรัฐบาลไทย โดย กระทรวงการคลัง ในฐานะตัวแทนของรัฐบาล ก็เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ด้วยในบริษัทฯ ทำให้การดำเนินกิจการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทฯ อยู่ภายใต้การรับรองคุ้มครองตามกฎหมาย และภายใต้นโยบายของรัฐบาลไทยมาโดยตลอดในหนังสือชี้แจง
 
ที่น่าจะสร้างความเจ็บปวดให้เจ้าหน้าที่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง จังหวัดเลย ไปมากกว่านั้น คือ เนื้อหาในข้อชี้แจงยังระบุว่า การที่จังหวัดเลย โดยเจ้าหน้าที่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเพียงหน่วยราชการปกครองท้องถิ่นที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล กลับมาทำหน้าที่ที่สวนทางกับนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมของรัฐบาล ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง โดยมิได้พิจารณาถึงบทบาทและหน้าที่ของจังหวัดเลยที่ต้องบริหารงานตามนโยบายของรัฐบาล แต่กลับเป็นผู้สนับสนุนชาวบ้านให้มีข้อพิพาทกับ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้เชิญชวนให้เข้ามาทำกิจการเหมืองแร่ทองคำในเขตพื้นที่นี้ อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อแนวทางการบริหารงาน และนโยบายของรัฐบาลที่ได้ตกลง และทำไว้กับ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ผู้ได้รับสัมปทานโดยตรง การกระทำของจังหวัดเลย โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
 
ส่วนข้อเรียกร้องของกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ที่ต้องการให้มีการตรวจสอบแปลงประทานบัตรบนภูทับฟ้าและภูซำป่าบอนของทุ่งคำ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการขอต่ออายุใบอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโคกภูเหล็ก เนื่องจากเป็นแหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม วันที่ 25 มิถุนายน 2535 และให้กันพื้นที่อนุรักษ์หรือสงวนหวงห้ามไม่ควรมีการทำเหมืองแร่นี้ออกจากประทานบัตรของทุ่งคำ รวมทั้งให้มีการงด ยุติ ยกเลิก หรือกระทำการอื่นใด ซึ่งจะเป็นการต่อใบอนุญาตให้ทุ่งคำสามารถเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าดังกล่าวนั้น
 
ทุ่งคำได้โต้แย้งอย่างท้าทายไว้ในหนังสือชี้แจงว่า เป็นข้อเรียกร้องที่จะต้องไปเรียกร้องเอากับทางกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย ให้เป็นผู้ดำเนินการตามข้อเรียกร้องของกลุ่มชาวบ้าน ไม่ใช่มาเรียกร้องเอากับ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ให้เป็นผู้จัดการตามที่ตัวเองเรียกร้องต้องการโดยพละการแต่ประการใด เพราะบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้เข้ามาทำกิจการเหมืองแร่ทองคำในบริเวณพื้นที่นี้ ก็เป็นการเข้ามาตามคำเชิญชวน เชื้อเชิญ และตามนโยบายการขยายกิจการอุตสาหกรรมของรัฐบาลไทย ภายใต้การควบคุมดูแลของ กระทรวงอุตสาหกรรมที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลไทย โดย บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ก็ได้ดำเนินการขอเปิดกิจการเหมืองแร่ทองคำตามระเบียบ และขั้นตอนตามกฎหมายทุกอย่าง มิฉะนั้นรัฐบาลไทยคงไม่อนุญาตให้มีการสัมปทานการทำเหมืองแร่ทองคำให้กับ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และคงจะไม่ยอมเข้ามาถือหุ้นเพื่อเป็นเจ้าของใน บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ด้วยอย่างแน่นอน
 
ในตอนท้ายของหนังสือชี้แจงทุ่งคำตอกย้ำอีกครั้ง โดยสรุป คือ  การที่จังหวัดเลย โดยเจ้าหน้าที่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อันเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ร่วมกันทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันกับกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน เกี่ยวกับการคัดค้านการอนุญาตต่ออายุการใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโคกภูเหล็ก ให้กับทุ่งคำ เป็นการทำบันทึกข้อตกลงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ กล่าวคือ เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อมติของคณะรัฐมนตรี ที่ได้วางแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นไว้แล้ว เพื่อให้องค์กรส่วนปกครองท้องถิ่น อันได้แก่จังหวัดเลย ได้ปฏิบัติตาม มิใช่ทำงานให้ขัดต่อมติและนโยบายของรัฐบาลที่ได้วางเอาไว้ ขาดการพิจารณาให้รอบคอบ สร้างกระแสความขัดแย้งให้บานปลายยิ่งขึ้น ถือได้ว่าได้กระทำการปฏิบัติหน้าที่โดยพละการนอกเหนือจากที่คณะรัฐมนตรีได้สั่งการเอาไว้
 
และก่อนย่อหน้าสุดท้าย ทุ่งคำได้อธิบายคล้ายข่มขู่ว่า หากผลจากการกระทำโดยการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของทางจังหวัดเลย มีผลทำให้เกิดความเสียหายแก่ บริษัท ทุ่งคา ฮาร์เบอร์ จำกัด อันเป็นบริษัทแม่ และ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด จนไม่อาจดำเนินการทำกิจการเหมืองแร่ทองคำตามที่ได้รับสัมปทานต่อไปแล้ว ทางจังหวัดและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต่อเรื่องนี้ จะต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ลงทุนทำกิจการเหมืองแร่ทองตามคำเชิญชวนของรัฐบาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ทำให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด จึงต้องไปกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อนำมาลงทุนอย่างต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานนับสิบปี รวมเป็นเงินที่ได้ลงทุนไปแล้วในการทำเหมืองแร่เป็นจำนวนเงินนับ 1,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ บริษัท ทุ่งคา ฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) อันเป็นบริษัทแม่ และ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ยังคงมีภาระหนี้สินที่จะต้องชำระคืนแก่สถาบันการเงินอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งหากมิใช่เนื่องมาจากการเชิญชวนของรัฐบาลไทยในขณะนั้น ที่ทำให้บริษัททั้งสองเชื่อมั่น จึงได้ตัดสินใจลงทุนดังกล่าวมา บริษัท ทุ่งคา ฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด คงไม่ต้องมีภาระหนี้สินที่ได้เกิดจากการไปกู้ยืมเงินที่ในประเทศไทยและในต่างประเทศมาลงทุนในการทำเหมืองแร่เป็นจำนวนมากขนาดนี้ ซึ่งหากบริษัททั้งสองไม่สามารถดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำต่อไปได้ อันเกิดมาจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของจังหวัดเลย และบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดดังกล่าวมาแล้ว จะต้องมีผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ต่อไป
 
หนังสือชี้แจงฉบับดังกล่าวลงนามโดย ดร.บัณทิต แสงเสรีธรรม รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ปฏิบัติหน้าที่แทนกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด
 
กรณีของที่ดิน ส.ป.ก. สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดเลย (ส.ป.ก.) ก็เคยมีปัญหาข้อขัดแย้งกับทุ่งคำ และได้ยกเลิกความยินยอมให้ทุ่งคำใช้พื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดินจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดเลย และให้บริษัทฯ ขนย้ายสิ่งปลูกสร้างและพนักงานออกจากเขตปฏิรูปที่ดินภายใน 60 วัน เนื่องจากทุ่งคำไม่ได้ชำระค่าตอบแทนการใช้ที่ดินระหว่างเดือนมกราคม ถึง พฤศจิกายน 2550 เป็นจำนวน  14,563,336  บาท
 
แต่ทุ่งคำเห็นว่าการเรียกเก็บเงินดังกล่าวเป็นภาระเกินควรและไม่เป็นธรรม จึงฟ้องต่อศาลปกครองขอนแก่น เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2551เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวของ ส.ป.ก. และขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอนหนังสือเรียกเก็บเงินค่าตอบแทนของ ส.ป.ก.
 
จากนั้นทุ่งคำได้แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง โดยขอให้ศาลมีคำสั่งให้ ส.ป.ก. คืนเงินที่ทุ่งคำได้จ่ายไปแล้ว จำนวน 84 ล้านบาทแก่ทุ่งคำ แต่ศาลปกครองขอนแก่นโอนคดีที่ฟ้องไปยังศาลปกครองอุดรธานี ซึ่งท้ายที่สุด ศาลปกครองจังหวัดอุดรธานี ได้พิพากษาโดยใจความสรุปได้ว่า การที่ ส.ป.ก. เรียกเก็บค่าตอบแทนการเข้าใช้ที่ดินและเรียกเก็บเท่ากับค่าภาคหลวงแร่ เป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจ ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ พรบ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม พ.ศ.2518 และยังสร้างภาระเกินสมควรแก่ผู้ฟ้องคดี จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงส่งผลให้การชำระค่าตอบแทนการเข้าใช้ที่ดินไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่มีผลบังคับ นอกจากนี้ผู้ถูกฟ้องคดีไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเข้าทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของผู้ฟ้องคดี
 
ผลของคำพิพากษาดังกล่าวทำให้ทุ่งคำมีสิทธิประกอบกิจการอยู่ในพื้นที่สัมปทานโดยไม่ต้องชำระค่าการเข้าใช้ที่ดินให้แก่ สปก. เพราะการใช้ที่ดินและการจ่ายผลประโยชน์ให้รัฐอยู่ภายใต้การกำกับของหน่วยงานอื่นที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงกับการประกอบกิจการเหมืองแร่
 
ทั้งๆ ที่ตอนทุ่งคำขออนุญาตใช้ที่ดินของ ส.ป.ก. ได้มีข้อตกลงว่า บริษัทจะชำระค่าตอบแทนการใช้พื้นที่ให้ ส.ป.ก. ในอัตราร้อยละ 2 ของราคาประเมินพื้นที่ แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อไร่ต่อปี ดังนั้นจากเนื้อที่ 369-3-17 ไร่ บริษัทจะต้องชำระค่าตอบแทนให้ ส.ป.ก. 1.85 ล้านบาท และต้องตอบแทนค่าขนแร่ออกจากเขตประทานบัตรเท่ากับค่าภาคหลวง คือ 1 ตัน เสียค่าภาคหลวงเท่าไหร่ ก็ต้องชำระให้ ส.ป.ก. เท่านั้น
 
ต่อกรณีปัญหาทั้งสองที่เกิดขึ้นนี้ มีคำถามใหญ่ๆ 2 ประการ ประการแรก ผลประโยชน์ที่ได้จากทุ่งคำ และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้พื้นที่ป่า และที่ดิน ส.ป.ก.เพื่อทำเหมืองทอง รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนทั้ง 6 หมู่บ้าน จะประเมินความคุ้มค่ากับราคาที่ต้องจ่ายได้อย่างไร
 
ประการที่สอง เมื่อ กระทรวงการคลัง ในฐานะตัวแทนของรัฐบาล เป็นผู้ถือหุ้นในทุ่งคำ การดำเนินกิจการทำเหมืองแร่ทองคำที่ทุ่งคำได้อ้างว่าอยู่ภายใต้การรับรองคุ้มครองตามกฎหมาย และภายใต้นโยบายของรัฐบาลไทยมาโดยตลอด กระบวนการตั้งแต่การให้อาชญาบัตรสำรวจแร่ การจัดทำและการพิจารณาความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบรายงานอีไอเอ/อีเอชไอเอ การให้ประทานบัตรโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ตัดสินทางนโยบายที่จะต้องตัดสินใจต่อการอนุมัติ/อนุญาตโครงการ ตลอดจนการตรวจสอบและประเมินผลการปฎิบัติตามมาตรการต่างๆ ที่ระบุไว้ในรายงานอีไอเอ/อีเอชไอเอ และตามขั้นตอนกฎหมายต่างๆ จะมีความโปร่งใส ได้มาตรฐาน ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ถูกแทรกแซงหรือไม่ เพราะรัฐบาลและทุ่งคำอยู่ภายใต้ความสัมพันธ์ที่เอื้อประโยชน์ต่อกัน
 
ปัญหากับทุ่งคำที่เกิดขึ้นกับการปฏิบัติงานของ จังหวัดเลย และ ส.ป.ก. และผลกระทบหลายปีที่ทำให้ชุมชน 6 หมู่บ้านออกมาคัดค้านเพื่อให้มีการปิดเหมืองฟื้นฟู สะท้อนภาพคำถามเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน
 
เปิดบัญชี “ผลประโยชน์พิเศษ” ระหว่างรัฐบาลกับทุ่งคำ วันนี้กำไรหรือขาดทุน?
 
กลับมาที่สัญญาว่าด้วยการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ แปลงที่สี่ พื้นที่น้ำคิว-ภูขุมทอง มีเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญา คือ
            (1) “ผลประโยชน์พิเศษ” ในรูปของเงินโบนัส
                        (ก) บริษัทจะชำระเงินโบนัสในวันที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายลงนามในสัญญา เป็นเงิน 5,790,000 บาท
                        (ข) บริษัทจะชำระเงินโบนัสเป็นเงิน 6,500,000 บาท ในวันที่บริษัทได้รับมอบประทานบัตรแปลงแรกหรือกลุ่มแรกสำหรับการทำเหมือง “แร่ทองคำ”
            (2) “ผลประโยชน์พิเศษ” ในรูปของการแบ่งผลผลิต
                        (ก) บริษัทจะเสนอการแบ่งผลผลิต ในรูปแบบของการถือ “หุ้นของรัฐบาล” ใน บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ให้แก่รัฐบาล เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละห้าและไม่เกินร้อยละสิบของจำนวนหุ้นทั้งหมด
                        (ข) บริษัทจะแบ่งผลผลิตในรูปของการแบ่งผลผลิตจาก “สินแร่ทองคำ” เป็นทองคำบริสุทธิ์หรือชำระเป็นเงินให้แก่รัฐบาล เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งจุดห้าของผลผลิตหลังจากชำระค่าภาคหลวงแล้ว
                        (ค) ถ้ารัฐบาลไม่ประสงค์ที่จะชำระเงินสำหรับหุ้นซึ่งบริษัทจะได้เสนอให้แก่รัฐบาลเวลาที่จะซื้อหุ้นแล้ว ก็ให้เอาส่วนแบ่งผลผลิต “สินแร่ทองคำ” ซึ่งรัฐบาลมีสิทธิจะได้รับมาชำระเป็นค่าซื้อ “หุ้นของรัฐบาล”
            (3) ให้ “มูลค่าหุ้น” ของ “หุ้นรัฐบาล” มีราคาเท่ากับราคาหุ้นที่จดทะเบียนไว้ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด
 
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2550 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กรมทรัพยากรธรณีเดิม) ได้ทำสัญญาการกำหนดขั้นตอนการแบ่งผลผลิต กับทุ่งคาฮาร์เบอร์ และทุ่งคำ ตามเงื่อนไขในสัญญาว่าด้วยการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ แปลงที่สี่ ขึ้นอีกหนึ่งฉบับ โดยบริษัทฯ ตกลงจ่ายผลประโยชน์พิเศษเป็นเงินให้แก่รัฐบาล เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งจุดห้า ของผลผลิตหลังจากชำระค่าภาคหลวงแร่แล้ว ในทุกสิ้นเดือนมีนาคม มิถุนายน กันยายน และธันวาคมของทุกปี นับตั้งแต่งวดเดือน มีนาคม 2550 เป็นต้นไป
 
ลงนามในสัญญาโดย นายอนุสรณ์ เนื่องผลมาก อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ นายจอห์น ปีเตอร์ มิลล์ส และนายอุดม จิรพนาธร กรรมการ บริษัท ทุ่งคาฮาร์เบอร์ จำกัด
 
แต่ตลอด 7 ปีตั้งแต่ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ทำสัญญาฯ ฉบับดังกล่าวกับ ทุ่งคาฮาเบอร์ และ ทุ่งคำ ที่น่าสังเกตคือไม่เคยมีการรายงาน เปิดเผย หรือตรวจสอบ สถานะทางบัญชี หรือธุรกรรมด้านธุรกิจ การเงิน จากผลประโยชน์พิเศษเป็นเงิน ร้อยละ 1.5 ของรายได้ของทุ่งคำหลังจากจ่ายค่าภาคหลวงแร่แล้ว ที่บริษัทจะต้องจ่ายให้แก่รัฐบาลต่อสาธารณะมาก่อน
 
ส่วนข้ออ้างในหนังสือชี้แจงของทุ่งคำ กรณีการขอคัดค้านการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโคกภูเหล็ก ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2555 ที่ระบุว่า “กระทรวงการคลัง ในฐานะตัวแทนของรัฐบาล เป็นผู้ถือหุ้นในทุ่งคำ” รัฐบาล กระทรวงการคลัง หรือกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จะอธิบายเรื่องนี้อย่างไร?
 
ยิ่งเมื่อพบว่าปัจจุบันทุ่งคำ และทุ่งคาฮาเบอร์ ไม่ได้ส่งงบการเงินประจำปี 2555 และ ปี 2556 แก่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) อีกทั้ง ตลท. ได้ประกาศว่าหลักทรัพย์ของบริษัทฯ เข้าข่ายต้องปรับปรุงฐานะการเงินและการดำเนินงาน หรือเครื่องหมาย NC (Non-compliance) ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2554 หมายถึง ทุ่งคาฮาร์เบอร์ ติดอยู่ในรายชื่อ NC ระยะที่ 3 และยังคงขึ้นเครื่องหมาย SP (Suspension) หมายถึงห้ามซื้อหรือขายหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ซึ่งหากบริษัทไม่สามารถดำเนินการให้มีคุณสมบัติพ้นจากเหตุเพิกถอนภายในระยะเวลาที่กำหนด ตลาดหลักทรัพย์จะพิจารณาเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทต่อไป
 
ไม่เพียงเท่านั้นเพราะทุ่งคำ ยังถูกฟ้องให้ล้มละลายโดย บริษัท สินธนา โฮลดิ้งส์ และ บริษัท ซิโน แพค ดีเวลลอปเม้นท์ เนื่องจากไม่จ่ายหนี้เงินกู้ 46 ล้าน คดีอยู่ในชั้นศาล จากนั้นทุ่งคำได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2556 รวมทั้งทุ่งคำยังถูกฟ้องจาก ธนาคารดอยซ์ แบงก์ เอ จี ให้ตกเป็นบุคคลล้มละลาย ตามคดีหมายเลขดำที่ ล.3991/2556 ทุนทรัพย์ 1,651.9 ล้านบาท โดยในคดีเดียวกันนี้ อนุญาโตตุลาการ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้มีคำชี้ขาดให้บริษัทฯ แพ้คดี ตามหลักกฎหมายอังกฤษ โดยบริษัทฯ ต้องชำระเงินจำนวน 51.44 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 1,543.2 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่เกินทุนจดทะเบียนของบริษัททุ่งคำ
 
จากสถานการณ์ทั้งหมดในช่วงเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา ทุ่งคำอยู่ในภาวะขาดทุนมาโดยตลอด ไม่มีผลกำไรจากการประกอบการ หรือถึงขั้นอาจต้องล้มละลาย หรือต้องปรับโครงสร้างการบริหารใหม่และยินยอมให้บริษัทอื่นเข้ามารับช่วงกิจการ
 
อีกประเด็นคำถามที่ย้อนกลับไปที่ สัญญาว่าด้วยการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ แปลงที่สี่ พื้นที่น้ำคิว-ภูขุมทอง ที่กรมทรัพยากรธรณี ได้ทำไว้กับทั้งสองบริษัทโดยระบุว่า ถ้าบริษัทไม่จ่าย “ผลประโยชน์พิเศษ” หรือไม่ดำเนินการให้รัฐบาลได้รับผลประโยชน์พิเศษตามสัญญา บริษัทยอมให้กรมปรับเป็นรายวันในอัตราวันละ 10,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ต้องจ่ายผลประโยชน์พิเศษหรือวันที่ต้องดำเนินการให้รัฐบาลได้รับผลพิเศษตามสัญญา จนถึงวันที่ดำเนินการถูกต้องครบถ้วน ในระหว่างที่มีการปรับถ้ากรมเห็นว่าบริษัทไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ กรมมีสิทธิบอกเลิกสัญญา และใช้สิทธิปรับไปจนถึงวันบอกเลิกได้ และ ถ้าบริษัทไม่ปฏิบัติตามข้อใดข้อหนึ่งในสัญญานี้ กรมมีสิทธิจะบอกเลิกสัญญาได้
 
คำถามจึงยังอยู่ที่ ทุ่งคำ หรือทุ่งคาฮาเบอร์ ได้ดำเนินการทุกประการตามที่ระบุไว้ในสัญญาฯ คือต้องให้ผลประโยชน์พิเศษดังกล่าวทั้ง 3 ข้อในข้างต้นแก่รัฐบาล หรือไม่ อย่างไร
 
เพื่อความโปร่งใสตรวจสอบได้ในสถานการณ์ที่บริษัทฯ คู่สัญญากำลังประสบปัญหาทางด้านการเงิน  กพร. กระทรวงการคลัง หรือรัฐบาล ควรเปิดเผยบัญชี หุ้น หรือธุรกรรมด้านธุรกิจ การเงิน และผลประโยชน์พิเศษตามสัญญาทั้งหมดที่กล่าวในข้างต้นที่ได้ทำไว้กับบริษัทต่อสาธารณะ
 
เพราะหากทุ่งคำ หรือทุ่งคาฮาเบอร์ ไม่ได้จ่าย “ผลประโยชน์พิเศษ” หรือไม่ดำเนินการให้รัฐบาลได้รับผลประโยชน์พิเศษตามสัญญา รัฐบาลจะต้องทำการปรับ และบอกเลิกสัญญาฯ ฉบับดังกล่าวในทันที
 
ส่วนกรณีที่บริษัทฯ ต้องขายทอดกิจการหรือให้บริษัทอื่นเข้ามารับช่วงกิจการ และต้องการจะโอนสิทธิการสำรวจตามอาชญาบัตรพิเศษ หรือ สิทธิตามประทานบัตรการทำเหมืองแก่บุคคลอื่น ซึ่งในสัญญาฯ ระบุให้แจ้งแก่ กรมทรัพยากรธรณี (ปัจจุบัน โดนถ่ายงานมาอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) พิจารณาก่อน ทั้งนี้โดยผู้รับโอนหรือผู้รับช่วงแล้วแต่กรณีจะต้องยอมทำสัญญาใหม่ ตามเงื่อนไขเดิม
 
แต่กับสัญญาฯ ดังกล่าวที่หน่วยงานของรัฐ ในนามรัฐบาล ได้ทำสัญญาเกินกว่าขอบเขตที่ พ.ร.บ.แร่ ได้บัญญัติไว้ โดยใช้อำนาจฝ่ายบริหารผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขยายอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐในการอนุมัติ/อนุญาตสัมปทานสำรวจแร่และทำเหมืองแร่ ในลักษณะที่ให้สิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ในคราวเดียวกันเพื่อจูงใจนักลงทุน ด้วยการให้บริษัทฯ ทำสัญญาจับจองพื้นที่แหล่งแร่เอาไว้ก่อน ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้รับอาชญาบัตรให้สำรวจแร่และประทานบัตรให้ทำเหมืองแร่ และสัญญาฯ ดังกล่าวเป็นการคุ้มครองพื้นที่แหล่งแร่นั้นไว้ให้กับผู้ประกอบการที่ทำสัญญาโดยไม่กำหนดวันสิ้นสุดสัญญา มิหนำซ้ำรัฐบาลยังยังถือหุ้นในบริษัทฯ อีก ซึ่งหากทุ่งคำประกอบกิจการต่อไปอย่างไร้ความรับผิดชอบ และก่อให้เกิดผลกระทบหนักหนายิ่งขึ้นกว่าเดิมโดยไม่สามารถเยียวยาแก้ไข สถานการณ์ที่ผ่านมาจึงมีคำถามมากมายที่ไร้คำตอบ
 
เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานโครงการนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ มองจากภาพรวมของกระบวนการก่อเกิดสัญญาอันบิดเบี้ยวนี้ว่าเป็นการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารมาล้มล้างขั้นตอนสำคัญที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.แร่
 
ส่วนรายงานอีไอเอและอีเอชไอเอ ซึ่งเป็นเครื่องมือในการบังคับให้ราชการ รัฐวิสาหกิจ และเอกชนต้องทำก่อนดำเนินโครงการ และในขั้นตอนสุดท้ายหน่วยงานผู้มีอํานาจในการอนุมัติตัดสินชี้ขาดโครงการ คือ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ในขณะที่ กก.วล. มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ และเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ที่มีหน้าที่ในการพิจารณาความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบรายงานอีไอเอ ตลอดจนการติดตามตรวจสอบและประเมินผลการปฎิบัติตามมาตรการต่างๆ ที่ระบุไว้ในรายงานอีไอเอที่เหมืองทองไม่ได้ปฎิบัติตามเงื่อนไขที่วางไว้  ก็ไม่มีผลในทางปฏิบัติ และไม่ส่งผลใดๆ กับโครงการ เนื่องจากรัฐบาลมีผลประโยชน์ร่วมกันกับนายทุน ซึ่งเป็นแรงกดดันให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่สามารถทำงานตามหน้าที่ที่รับผิดชอบได้อย่างมีอิสระ
 
“เมื่อรัฐบาล โดยนายกฯ เป็นประธาน กก.วล. และเป็นผู้แต่งตั้ง คชก. ยื่นข้อเสนอให้เอกชนเข้ามาทำเหมืองแร่เพื่อต้องการได้ส่วนแบ่งจากผลกำไร ถ้าทำไปตามขั้นตอนตามกฎหมายแร่จะมีความยุ่งยากและล่าช้า ก็จำเป็นต้องทำสัญญาเพื่อเป็นการเปิดทางและหลีกเลี่ยงข้อกฎหมายที่เข้มงวดเพื่อเชื้อเชิญให้เอกชนเข้ามาลงทุน จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่รายงานอีไอเอจะมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการที่เข้มงวดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบ ซึ่งเห็นได้จากผลกระทบเต็มไปหมดและความผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการทำเหมืองทอง เช่น ทำเกิดการปนเปื้อนของสารพิษในพื้นที่ เขื่อนไซยาไนด์แตก เนื่องจากเริ่มตั้งแต่การไต่สวนประทานบัตรที่บอกว่าไม่ทับทางน้ำ การทำรายงานอีไอเอทั้งหมดทำขึ้นก็เพื่อให้โครงการผ่าน สามารถดำเนินการได้ โครงการนี้จึงเป็นโครงการที่รัฐบาลตั้ง คชก. ขึ้นมาชงเองกินเอง” เลิศศักดิ์ กล่าว
 
ที่น่ากังวล คือ พื้นที่ 2,425 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1.51 ล้านไร่ ในท้องที่จังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย และจังหวัดอุดรธานี กระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดให้พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่เพื่อการพัฒนาเหมืองแร่ทองคำเป็นโครงการใหญ่ไปแล้ว ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 19 กรกฏาคม 2532 ได้แก่
            1. พื้นที่ภูโล้น-นางิ้ว คลุมพื้นที่อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย อำเภอปากชม จังหวัดเลย และอำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธารี เนื้อที่ประมาณ 400 ตารางกิโลเมตร
            2. พื้นที่ปากชม-หาดคำภีร์ คลุมพื้นที่อำเภอปากชม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี และอำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย เนื้อที่ประมาณ 740 ตารางกิโลเมตร
            โดยบริษัท ผาคำเอ็กซ์พลอเรชั่น แอนด์ไมนิ่ง จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำทั้งสองแปลง รวม 1,140 ตารางกิโลเมตร
            3. พื้นที่ถ้ำพระ-ภูหินเหล็กไฟ คลุมพื้นที่อำเภอปากชม อำเภอเชียงคาน อำเภอเมือง อำเภอนาด้วง และอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เนื้อที่ประมาณ 740 ตารางกิโลเมตร โดยทุ่งคาฮาร์เบอร์ และบริษัท ภูเทพ จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ และได้ทำสัญญาว่าด้วยการการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำกับกรมทรัพยากรธรณีไปแล้ว
            4. พื้นที่น้ำคิว-ภูขุมทอง คลุมพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอท่าลี่ และอำเภอภูเรือ และอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เนื้อที่ประมาณ 545 ตารางกิโลเมตร โดยทุ่งคาฮาร์เบอร์และทุ่งคำเป็นผู้ได้รับสิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ และได้ทำสัญญาว่าด้วยการการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำกับกรมทรัพยากรธรณีไปแล้ว
 
เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2534 บริษัทฯ ทั้งหมดที่ได้ลงนามในสัญญาได้มอบผลประโยชน์พิเศษตอบแทนในการอนุญาตสิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ พื้นที่รวม 2,425 ตารางกิโลเมตร หรือ 1.51 ล้านไร่ ระหว่าง กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงอุตสาหกรรม กับบริษัทผู้ได้รับสิทธิ เป็นผลประโยชน์พิเศษตอบแทนฯ ให้แก่รัฐบาล 16.07 ล้านบาท โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุสาหกรรมเป็นผู้รับมอบ
 
หากวิเคราะห์สภาพปัญหาและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่แล้วมา ไม่ได้เป็นบทพิสูจน์แล้วหรือว่า สัญญาฯ ในลักษณะนี้ ไม่เพียงจะผิดทั้งหลักการและขั้นตอนของกฎหมายแร่ แต่ยังละเมิดสิทธิของชุมชน และเป็นการเสียโอกาสที่จะได้คัดเลือกบริษัทฯ ที่มีคุณสมบัติและมีธรรมาภิบาล ความรับชอบต่อการดำเนินกิจการที่ดีกว่า มีความพร้อมกว่าที่จะเข้ามาขอสิทธิสำรวจแร่และขอสัมปทานทำเหมืองแร่ตามขั้นตอนของกฎหมายแร่ เพื่อนำทรัพยากรแร่อันมีค่ามาใช้ประโยชน์และก่อเกิดรายได้ต่อการพัฒนาท้องถิ่นและประเทศได้อย่างแท้จริง
 
ซึ่งหากยึดตามหลักการให้ถึงที่สุด  ถ้าทุ่งคา และทุ่งคำ ไม่ได้จ่ายผลประโยชน์พิเศษตามสัญญา รัฐต้องปรับเงินและยกเลิกสัญญาโดยยึดถือผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ
 
และในเมื่อกระบวนการในการได้สิทธิในการสำรวจและการได้มาซึ่งประทานบัตรเพื่อทำเหมืองทองของนักลงทุน เป็นการได้มาในครั้งเดียว จากรัฐบาล โดย มติครม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ประกาศให้พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่เพื่อการพัฒนาเหมืองแร่ทองคำเป็นโครงการใหญ่ ทั้งยังได้ทำสัญญาระหว่างรัฐและเอกชนกำกับไว้ด้วย ซึ่งตามเหตุและผลหากนักลงทุนผิดสัญญา รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เพียงต้องยกเลิกสัญญา แต่จะต้องยกเลิกสิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่บนพื้นที่ขนาดใหญ่นั้น ตลอดจนต้องยกเลิกประทานบัตรทั้งหมดที่มอบให้แก่นักลงทุนด้วย
 
สุดท้ายแล้วหากจะเปรียบกับการที่ทุ่งคำเสนอหุ้นของบริษัทให้ชาวบ้านกลุ่มรักษ์บ้านเกิด 20% พร้อมด้วยข้อเสนอที่น่าสนใจอีกหลายประการ เพื่อแลกกับการทำลายกำแพงเพื่อให้บริษัทสามารถทำกิจการเหมืองแร่ต่อไปได้ แต่ด้วยจิตสำนึกรักบ้านเกิดที่พยายามจะปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของชาติไว้ส่งต่อให้ลูกหลาน คำปฏิเสธว่า “พวกเราไม่ได้คัดค้านเหมืองทองเพื่อจะได้เป็นเจ้าของเหมือง ยืนยัน ปิดเหมือง ฟื้นฟู เท่านั้น” ซึ่งหากนำมาเทียบกับการเอื้อประโยชน์เพื่อการถือหุ้นทองคำของรัฐบาล และการคำนึงถึงศักยภาพแหล่งแร่ที่เป็นตัวชี้วัดกิจกรรมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยไม่ได้คำนึงถึงความเปราะบางทางระบบนิเวศ ป่าไม้ ต้นน้ำ ที่จำเป็นต้องได้รับการปกปักรักษา และการพัฒนาศักยภาพพื้นที่ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชน
 
อนาคต “การพัฒนาเหมืองแร่ทองคำ” ในประเทศไทย ก็คงคาดได้ไม่ยากว่าจะถูกคัดค้านเพื่อรื้อถอนกันอย่างจริงจังจากผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมากขึ้น ในพื้นที่ที่กว้างขวางยิ่งขึ้น เท่านั้นเอง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท