คุยกับ 'สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล' มองความท้าทายใหม่ยุคดิจิตอล

ในยุคที่ประชากรโลกทุก 100 คนจะมีโทรศัพท์มือถือ 97 คน จำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊กทั่วโลกมีขนาดพอๆ กับประชากรในอินเดีย แถมยังมีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่าประชากรจีนในปีหน้า คนอเมริกัน 82% ใช้บริการธนาคารออนไลน์อย่างน้อยหนึ่งครั้งใน 30 วัน ปัญหาของผู้ใช้บริการได้เปลี่ยนรูปแบบไป โดยมีความซับซ้อนมากขึ้นทั้งในด้านเทคนิคและกฎหมาย

การจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคในยุคดิจิตอลจึงถูกจัดขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาของผู้บริโภคจากประเทศต่างๆ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่โรงแรมดิเอมเพรส จังหวัดเชียงใหม่ โดย กสทช. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสหพันธ์ผู้บริโภคสากล ซึ่งภายในงานมีคนทำงานด้านผู้บริโภคกว่า 200 คนจาก 32 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม

หนึ่งในผู้ร่วมงานที่น่าสนใจ คือตัวแทนจากองค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International: CI) หนึ่งในองค์กรร่วมจัดที่มีบทบาทในการคุ้มครองและสร้างเสริมพลังของผู้บริโภคในระดับโลก ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2503 โดยมีสมาชิก 240 องค์กร จาก 120 ประเทศ

"ประชาไท" คุยกับ "อินดรานี ตูไรซิงแฮม" (Indrani Thuraisingham) หัวหน้าสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและตะวันออกกลาง เพื่อถามถึงสถานการณ์และแนวโน้มการคุ้มครองในยุคดิจิตอล
 


อินดรานี ตูไรซิงแฮม
หัวหน้าสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและตะวันออกกลาง

ความแตกต่างของการคุ้มครองผู้บริโภคในยุคดิจิตอลกับยุคก่อนหน้านี้คืออะไร
เมื่อ 15 ปีก่อน ยังไม่มีเทคโนโลยีดิจิตอลอย่างทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมในแนวปฏิบัติขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคที่ร่างขึ้นในปี 2529 จึงยังไม่ครอบคลุมถึงเรื่องอย่างการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ต่อมาในปี 2542 ก็มีการเพิ่มเพียงแค่เรื่องการบริโภคที่ยั่งยืนเท่านั้น จะเห็นว่า แม้แต่ในปี 2542 ก็ยังไม่มีเรื่องทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก หรือวอทแอพ องค์กรกำกับดูแลหรือผู้จัดทำนโยบายไม่เคยคาดเรื่องนี้มาก่อน

เราอยู่ในยุคสมัยที่รวดเร็ว ที่เทคโนโลยีดิจิตอลทำให้คุณสามารถส่งข้อความหรือติดต่อกับคนที่เรารักได้ทันที ตอนนี้คุณไม่ต้องไปธนาคารจริงๆ แล้ว คุณสามารถทำธุรกรรมออนไลน์ได้ มันสะดวกมากๆ เลย แต่ในความสะดวกนั้นก็มีความท้าทายอยู่ เช่น เรื่องสิทธิในความเป็นส่วนตัวของคุณ ข้อมูลที่คุณกรอกไปในโลกออนไลน์ มันได้รับการคุ้มครองไหม มีใครเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นบ้าง
 

อย่างที่คุณบอกว่าเทคโนโลยีนั้นไปเร็ว จะมียุทธศาสตร์ในการก้าวไปดักหน้ามันยังไงเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล ร่วมกับองค์กรสมาชิกผลักดันการแก้ไขแนวปฏิบัติของยูเอ็น เพราะเวลาที่รัฐบาลส่วนใหญ่จะปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ก็มักใช้แนวปฏิบัติของยูเอ็นเป็นแนวทาง เราถึงอยากจะเพิ่มเรื่องของการบริการด้านการเงิน ธุรกิจออนไลน์ ธุรกรรมออนไลน์ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และความเป็นส่วนตัว เวลาที่ประเทศต่างๆ จะปรับปรุงกฎหมายจะได้เห็นว่ามีประเด็นเหล่านี้อยู่

ดังนั้น ฉันคิดว่าควรต้องมีสภาพแวดล้อมที่ผู้บริโภคจะรู้สึกปลอดภัยและมั่นใจในตลาด และทางเดียวที่จะเป็นอย่างนั้นได้ คือการมีกฎหมายที่จำเป็น และ สอง ก็คือการอบรมองค์กรเพื่อผู้บริโภคซึ่งเป็นสมาชิกของเราในการสร้างความตระหนักและให้ความรู้กับผู้บริโภค พวกเขาควรแน่ใจว่าเมื่อพวกเขาส่งบัตรประจำตัวประชาชนให้กับธนาคารหรือร้านค้า ข้อมูลในบัตรจะไม่ถูกนำไปใช้ในทางมิชอบ

นอกจากนี้ ฉันคิดว่ายังมีความท้าทายอีกมากรออยู่ เพราะประเด็นเหล่านี้บางเรื่องค่อนข้างเป็นเรื่องเทคนิค นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราพยายามสนับสนุนสมาชิกด้วยการสร้างความร่วมมือกับองค์กรผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เช่น สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) กสทช.ของไทย
 

มีประเทศไหนที่คุณคิดว่าเป็นตัวอย่างที่ดีไหม
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฉันคิดว่าประเทศไทยมีหน่วยงานที่พูดได้ว่าก้าวหน้ามาก เพราะ กสทช. เป็นหน่วยงานเกิดใหม่ และพยายามที่จะเป็นอิสระให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะได้ไม่ต้องพึ่งพารัฐบาลหรือภาคอุตสาหกรรม

ส่วนถ้ามองตัวอย่างที่ดีในเอเชียแปซิฟิก ฉันคิดว่าออสเตรเลียมีกฎหมายและโครงสร้างพื้นฐานที่ดีมาก เช่น การมีผู้ตรวจการ ในกรณีมีเรื่องร้องเรียน ก็จะมีองค์กรอิสระดูแลเรื่องข้อร้องเรียนเหล่านี้

กสทช.เองเป็นองค์กรใหม่ จึงมีบทบาทหลายอย่าง ทั้งด้านการกำหนดนโยบาย ออกใบอนุญาต รับเรื่องร้องเรียน แม้ว่าจะมีการแบ่งออกเป็นหลายแผนก แต่ก็ดูเหมือนทุกอย่างจะรวมกันอยู่ในนั้น ซึ่งฉันคิดว่ามันก็ดีที่มีหน่วยงานที่กำหนดนโยบายและออกใบอนุญาต แต่ก็ควรจะมีอีกหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการบังคับใช้ รับเรื่องร้องเรียน และจัดการเรื่องร้องเรียน

ฉันคิดว่านี่เป็นภารกิจที่สำคัญและนี่เป็นเหตุผลที่ฉันหวังว่า กสทช.และสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากลจะทำงานร่วมกัน เพื่อแบ่งปันกระบวนการทำงานเพื่อพัฒนาตัวเอง ฉันมองว่า แง่นี้ กสทช.ค่อนข้างเปิดกว้าง เราจึงเซ็น MOU กันเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยการประชุมที่ผ่านมานี้ถือเป็นภารกิจร่วมอันแรก และหวังว่าจะมีกิจกรรมร่วมกันที่จะเป็นประโยชน์กับทั้งการเคลื่อนไหวของผู้บริโภคและองค์กรระดับชาติอย่าง กสทช.ด้วย
 

ปัจจุบันผู้บริโภคสามารถส่งเสียงบอกปัญหาของพวกเขาหลายช่องทางขึ้น บทบาทขององค์กรคุณเปลี่ยนไปหรือเปล่า
พวกเขามีช่องทางในการส่งเสียงบอกปัญหามากขึ้น ไม่ว่าจะเขียนถึงหนังสือพิมพ์ ทีวี หรือผ่านทางออนไลน์ โอกาสที่จะบอกถึงปัญหานั้นมีอยู่ตลอด แต่ประเด็นคือแล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร ฉันคิดว่านี่คือบทบาทขององค์กร เราทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างผู้บริโภคกับผู้ให้บริการ
 

คุณคิดว่าอะไรคือประเด็นที่ท้าทายที่สุดตอนนี้
ธุรกรรมออนไลน์ นี่เป็นความท้าทายอย่างใหญ่หลวงทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาค ยกตัวอย่างว่า ประเทศในสหภาพยุโรปนั้นรวมตัวกัน มีผลผูกพันกันตามกฎหมาย ดังนั้น กฎหมายจำนวนมากจึงประสานและสอดคล้องกัน ขณะที่หลายภูมิภาค เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้เราจะมีอาเซียน แต่เราก็อยู่กันด้วยการสร้างฉันทามติ ไม่ได้มีการบังคับทางกฎหมายร่วมกัน

ดังนั้น เมื่อเราพูดถึงการทำธุรกรรมออนไลน์ ซึ่งทำข้ามพรมแดนนั้น ก็มีคำถามว่า ถ้าซื้อของมาแล้ว ไม่พอใจ หรือไม่ได้รับบริการที่ดี จะร้องเรียนได้ที่ใคร จะใช้กฎหมายของฝั่งคนขายหรือคนซื้อ นี่เป็นประเด็นที่ท้าทาย เพราะต่างประเทศกันก็ใช้กันต่างกฎหมาย

เราจะต้องหากลไกและรูปแบบที่้เหมาะสมเพื่อที่จะสามารถแก้ไขปัญหาของผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการทำธุรกรรมข้ามพรมแดน นี่เป็นเรื่องท้าทายที่สุดที่เราจะได้เห็นในอนาคต โดยรัฐบาลเองต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพื่อหากลไกที่จะจัดการกับเรื่องนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท