สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 2-8 เม.ย. 2557

ครม.เห็นชอบเพิ่มเงินเดือนครูแรกบรรจุและแต่งตั้ง ขรก.แรงงาน
 
ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รักษาการรองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.วันนี้ ว่า ที่ประชุมอนุมัติงบกลางปี 2556 เพื่อเบิกจ่ายเป็นเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายสนับสนุนการจัดการศึกษา ตั้งแต่ในระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนเอกชน รายการจัดการเรียนการสอน จำนวน 1,234 ล้านบาท โดยเป็นการปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการครูระดับก่อนประถม /ประถมและระดับมัธยม ในอัตราแรกบรรจุข้าราชการวุฒิปริญาตรี ปรับเป็น 13,300 บาท/เดือน
 
ร.ท.หญิง สุนิสา กล่าวว่า ที่ประชุมยังมีมติแต่งตั้งข้าราชการกระทรวงแรงงาน 4 ตำแหน่ง คือ นายวิษณุ ปาณวร รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน นายอารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เป็นผู้ตรวจราชการ นายวินัย ลู่วิโรจน์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน เป็นผู้ตรวจราชการ และนายกรีฑา สพโชค รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน นอกจากนี้ กระทรวงยุติธรรมเสนอขอต่อเวลาตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรมอีก 1 ปี ให้นายวิทยา สุริยะวงค์ โดยทั้งหมดจะต้องเสนอ กกต.เห็นชอบอีกครั้ง
 
(สำนักข่าวไทย, 1-4-2557)
 
จัดหางานเมืองชล เตือนแรงงานไทยที่จะไปทำงานในแอฟริกาใต้
 
นายพิชิต นิลทองคำ จัดหางานจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า กรมการจัดหางาน ได้ทราบข่าวว่ามีแรงงานหญิงไทยที่เดินทางไปทำงานตำแหน่งพนักงานนวดแผนไทย ในประเทศแอฟริกาใต้โดยการชักชวนจากนายหน้าผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ถูกบังคับให้ทำงานอย่างหนักโดยไม่ได้รับค่าจ้างจากการทำงาน
       
และยังถูกนายจ้างอ้างว่าเป็นลูกหนี้เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงาน และไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ เนื่องจากถูกนายจ้างยึดหนังสือเดินทางไว้ จนกระทั่งได้รับความช่วยเหลือจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ และกรมการกงสุล ให้เดินทางกลับประเทศไทย
       
สำนักงานจัดหางานจังหวัดชลบุรี จึงขอแจ้งเตือนคนหางาน และประชาชนที่ต้องการจะเดินทางไปทำงานต่างประเทศให้ระมัดระวัง และคิดให้รอบคอบ เนื่องจากปัจจุบันมีกระบวนการหลอกลวงแรงงานหลายหลายรูปแบบ และต้องศึกษาเงื่อนไขในสัญญาจ้างงานอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจเดินทางไปทำงาน ซึ่งสัญญาจ้างงานจะต้องผ่านการรับรองจากสำนักงานแรงงานไทย หรือสถานทูต สถานกงสุลไทยประจำประเทศนั้นๆ เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง ความเหมาะสมของสถานที่ทำงาน และสภาพการจ้างงาน
       
อีกทั้งเพื่อเป็นการกลั่นกรองความเหมาะสมของการจ้างงาน และคุ้มครองแรงงานไทยก่อนเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ
       
นอกจากนี้ แรงงานไทยจะต้องทราบกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวกับการจ้างงานในประเทศที่จะเดินทางไปทำงาน และที่อยู่เบอร์โทรศัพท์ของสำนักงานแรงงานไทย หรือสถานทูต/สถานกงสุลไทยประจำประเทศนั้นๆ เพื่อจะได้ติดต่อขอความช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาให้แก่แรงงานไทยได้ทันท่วงทีหากประสบปัญหาต่างๆ
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 3-4-2557)
 
แรงงานพม่านับหมื่น ล้นด่านพรมแดนแม่สอด กลับไปสงกรานต์-สัมมะโนประชากร
 
เมื่อวันที่ 3 เมษายน แรงงานพม่า ทั้งชาย-หญิง หลากหลายอาชีพได้เดินทางกลับมาจากกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด เพื่อกลับไปยังภูมิลำเนา ที่ประเทศพม่า โดยผ่านด่านพรมแดน  แม่สอด - เมียวดี บริเวณสะพานมิตรภาพไทย  พม่า บ้านริมเมย ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ส่งผลให้บริเวณดังกล่าวแออัดไปด้วยแรงงานพม่า รถยนต์โดยสาร และรถยนต์บรรทุกสนค้าจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ต้องทำงานหนัก เพื่อดำเนินการพิธีทางหนังสือเดินทางในการประทับตราออกนอกประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ มีชาวพม่าเดินทางกลับไปพม่าวันละประมาณ 2,000 - 3,000 คน เพื่อกลับไปสัมมะโนประชากรในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2557 จนถึงเดือนเมษายน 2557 แต่ในขณะนี้ชาวพม่านับ 10,000 คน เดินทางกลับประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อไปเล่นน้ำสงกรานต์และสัมมะโนประชากรด้วย ทำให้ปีนี้ชาวพม่ากลับไปพม่ามากกว่าทุกปี
 
นายโกล่ะ แรงงานพม่า อายุ 28 ปี กล่าวว่า การเดินทางกลับของตนเองไปประเทศพม่านั้น เพื่อต้องการกลับไปเล่นน้ำสงกรานต์ และมีชาวพม่าจำนวนมากมากไปเล่นน้ำสงกรานต์
 
พ.ต.อ.พงษ์นคร นครสันติภาพ ผกก.ตม.ตาก กล่าวว่า ชาวพม่าที่กลับไปในช่วงนี้ เนื่องจาก ทางพม่ามีการสัมมะโนประชากร และชาวพม่าที่ๆได้วีซ่า หมดอายุ รวมทั้งการเดินทางกลับไปเล่นน้ำสงกรานต์ตามประเพณี ซึ่งแต่เดิมพบว่า เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2557 แรงงานพม่ากลับไปภูมิลำเนาผ่านด่านพรมแดนไทย - พม่าถาวร  วันละ 6,000 คน  และเพิ่มเป็น 8,000 คน ต่อมาเพิ่มมากขึ้นก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์
 
พ.ต.อ.พงษ์นคร กล่าวว่า ได้เพิ่มเจ้าหน้าที่และช่องบริการเพิ่มเป็น 10 ช่อง บริเวณหน้าด่านพรมแดน และให้เจ้าหน้าที่ลงไปตัดแถว ที่ต่อคิวไปใช้บริการกับ ตรวจคนเข้าเมือง ให้ลงไปที่ทำการข้างล่าง เพื่อแก้ไขความแออัด และให้รวดเร็ว 
 
(เนชั่นทันข่าว, 3-4-2557)
 
คาด 'อ้อย-กุ้ง-เครื่องนุ่งห่ม' จะถูกปลดจากสินค้าใช้แรงงานเด็ก
 
นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงานสัมมนาระดับชาติ เรื่องการคุ้มครองแรงงานเด็กและแรงงานต่างชาติในอุตสาหกรรมแปรรูปกุ้งและอาหารทะเล ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมเซ็นจูรีพาร์ค ซึ่งกระทรวงแรงงานร่วมกับสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชนในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยความร่วมมือกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) 
 
นายจีรศักดิ์กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การใช้แรงงานเด็กในประเทศไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้นแต่ยังมีปัญหาที่ท้าทายและข้อห่วงใยขององค์กรทั้งในและต่างประเทศ คือ การใช้แรงงานเด็กในปัจจุบันมีการทำงานหลากหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละรูปแบบมีความซับซ้อนและค่อนข้างละเอียดอ่อนมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาแรงงานเด็กต่างชาติผิดกฎหมายที่ลักลอบเข้าเมืองเนื่องจากมีหลายช่องทางในการเข้ามาในประเทศไทย ทั้งที่ติดตามพ่อแม่เข้ามา และเด็กต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งอาจส่งผลให้แรงงานเด็กข้ามชาติเพิ่มมากขึ้น
 
อย่างไรก็ตาม แรงงานเด็กกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกใช้แรงงานในรูปแบบที่เลวร้าย เช่น ถูกนำไปใช้งานเยี่ยงทาสและทำงานที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพความปลอดภัยและศีลธรรมอันดี และจากการที่กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกาได้จัดทำและเผยแพร่รายงานบัญชีรายชื่อสินค้าที่มีการใช้แรงงานเด็กแรงงานบังคับ (List Goods Produced by Child Labor or Forced Labor) ที่ระบุถึงสินค้าไทยที่มีเหตุผลเชื่อว่า ผลิตจากการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ ได้แก่กุ้ง อ้อย เครื่องนุ่งห่ม สื่อลามก และปลา ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงแรงงานจะต้องให้ความสำคัญและหาแนวทางในการป้องกันและขจัดปัญหาดังกล่าวให้หมดสิ้นไป และนำไปสู่การขอถอดรายการสินค้าดังกล่าวออกจากบัญชีรายชื่อดังกล่าว
 
สำหรับมาตรการทางกฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่ให้การคุ้มครองสิทธิแรงงานโดยไม่เลือกปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือถูกกฎหมาย หากมีสถานะเป็นนายจ้างลูกจ้างย่อมได้รับการคุ้มครองโดยเสมอภาคเช่นเดียวกับแรงงานไทย ทั้งนี้ บทบัญญัติคุ้มครองเด็กทำงานอายุ 15 ไม่เกิน 18 ปี และห้ามนายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี หากพบการใช้แรงงานเด็กผิดกฎหมายดังกล่าวจะมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ทั้งนี้การดำเนินการคุ้มครองแรงงานเด็กแรงงานข้ามชาตินั้นจำเป็นต้องดำเนินงาน 3 ประสาน คือ ภาครัฐ เอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานซึ่งกันและกัน เพราะปัญหาดังกล่าวค่อนข้างละเอียดอ่อนและอ่อนไหวจึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างบรรลุผล
 
ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลการตรวจแรงงานของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พบว่ามีการจ้างแรงงานเด็กในปี 2554 มีจำนวน 19,074 คน และในปี 2555 มีจำนวน 14,972 คน และข้อมูลลูกจ้างเด็กจากผู้ประกันตนของสำนักงานประกันสังคมมีจำนวน 50,239 คน ในปี 2554 ลดลงเหลือเพียง 20,465 คน ในปี 2555 ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลการสำรวจภาวะการมีงานทำของประชากรจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าจำนวนลูกจ้างภาคเอกชนที่เป็นเด็กในปี 2554 มีทั้งสิ้น 227,013 คน และในปี 2554 ลดลงเหลือ 189,633 คน จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่เด็กไทยอายุระหว่าง 15 - 18 ปี เข้าสู่ตลาดแรงงานลดลง อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีแรงงานต่างด้าวทั้งที่ติดตามพ่อแม่เข้ามาและเด็กต่างด้าวที่เข้ามาหางานทำในประเทศไทย ซึ่งไม่มีข้อมูลตัวเลขที่แท้จริงว่ามีอยู่จำนวนเท่าใด ด้วยเส้นทางการเข้ามาในประเทศไทยมีหลายช่องทาง จึงมีแนวโน้มที่แรงงานต่างด้าวจะเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นทุกปี ทำให้ประเทศไทยมีโอกาสที่จะมีเด็กต่างด้าวเพิ่มมากขึ้นซึ่งอาจส่งผลให้เกิดเป็นแรงงานเด็กต่างด้าวขึ้นได้ในอนาคต
 
(ไทยรัฐออนไลน์, 3-4-2557)
 
สปส.ชวนผู้สูงอายุเพิ่มเงินบำนาญชราภาพ
 
นายอำมร เชาวลิต เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงานประกันสังคมขยายความคุ้มครองประกันสังคมตามมาตรา 40 เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางเลือกที่ 3 (เงินบำนาญชราภาพ) ให้แก่แรงงานนอกระบบที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เพียงผู้สมัครจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเดือนละ 100 บาท รัฐบาลร่วมจ่ายอุดหนุน 100 บาท จะมีเงินออมเดือนละ 200 บาท
 
นอกจากนี้สำนักงานประกันสังคมยังเปิดโอกาสให้แรงงานนอกระบบที่มีอายุเกินกว่า 65 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป จะได้รับความคุ้มครองเฉพาะกรณีชราภาพ (บำนาญชราภาพ) แรงงานนอกระบบที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ได้ โอกาสดีดังกล่าวมีระยะเวลาเพียง 1 ปี คือตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2556 จนถึง 8 ธันวาคม 2557 เท่านั้น
 
ซึ่งในวันที่ 13 เมษายนของทุกปี กำหนดให้เป็นวันผู้สูงอายุ และในปี 2557 นี้นับเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ที่มีอาชีพอิสระที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปจะได้มีเงินออมและหลักประกันที่มั่นคงกับประกันสังคมในยามวัยชรา สำนักงานประกันสังคมจึงขอเชิญประชาชนทั่วไปที่มีอาชีพอิสระสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 (ทางเลือกที่ 3 ) ได้ทันที โดยไม่ต้องตรวจสุขภาพแต่อย่างใด
 
(สำนักข่าวไทย, 3-4-2557)
 
ไอแอลโอแนะไทยทำฐานข้อมูลแรงงานเด็ก ชี้ช่วยแก้ปัญหาง่ายขึ้น เล็งดันเด็กต่างด้าวเข้า ร.ร.
 
(3 เม.ย.) นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) กล่าวในการเป็นประธานเปิดงานสัมมนาระดับชาติเรื่อง “การคุ้มครองแรงงานเด็กและแรงงานเด็กต่างชาติในอุตสาหกรรมแปรรูปกุ้งและอาหารทะเลโครงการแก้ปัญหาแรงงานเด็กในกิจการแปรรูปสินค้ากุ้งและอาหารทะเลในประเทศไทย” จัดโดยสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับกระทรวงแรงงาน และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ ว่า ปัจจุบันในประเทศไทย มีเด็กเข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมต่างๆ แม้กฎหมายการศึกษากำหนดให้มีการศึกษาภาคบังคับถึง 9 ปี แต่ยังมีแรงงานเด็กจำนวนหนึ่งที่ไม่เข้าสู่ระบบการศึกษาลักลอบทำงาน โดยเฉพาะเด็กข้ามชาติ คือ พม่า ลาว กัมพูชา ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสหรัฐอเมริกายังมีข้อสงสัยเรื่องการปราบปรามจับกุม และการดำเนินคดีที่ล่าช้า อย่างไรก็ตาม ในปี 2555 สถานการณ์การใช้แรงงานเด็กของไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการพยามแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมกุ้ง จนอเมริกาจัดอันดับให้ไทยเป็น 1ใน10ประเทศที่มีความคืบหน้าและพยายามแก้ปัญหา
        
“ภาครัฐมีเครื่องมือคือนโยบาย กฎหมายและมีเจ้าหน้าที่ แต่ยังมีจุดอ่อนในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย การแก้ปัญหาในเรื่องนี้ทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรต่างประเทศต้องร่วมมือกัน และจากการลงพื้นที่ตรวจสอบ เชื่อว่าสินค้าจากอุตสาหกรรมอ้อย สิ่งทอ และอุตสาหกรรมกุ้ง จะสามารถปลดล็อคการขึ้นบัญชีดำการห้ามนำเข้าสินค้าเหล่านี้ของสหรัฐอเมริกาได้ จาก 5 ประเภทสินค้า คือ อ้อย สิ่งทอ กุ้ง ปลาและสื่อลามก ซึ่งการสัมมนาวันนี้จะนำข้อเสนอแนะไปจัดทำนโยบายและแผนระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ปี 2558-2563 ” นายจีรศักดิ์ กล่าว
        
ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) พบว่า ในปี 2554 มีการจ้างแรงงานเด็กจำนวน 19,074 คน ในปี 2555 จำนวน 14,972 คน และจากฐานข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) พบว่าในปี 2554 มีแรงงานเด็กเข้าสู่ระบบ 50,239 คน และในปี 2555 จำนวน 20,465 คน ขณะที่ข้อมูลการสำรวจภาวะการมีงานทำของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าในปี 2554 ภาคเอกชนมีการจ้างลูกจ้างที่เป็นเด็ก 227,013 คน และในปี 2555 จำนวน 189,633 คน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแรงงานเด็กที่มีอายุระหว่าง 15-18 ปี เข้าสู่ตลาดแรงงานลดลง
        
นายมอริซิโอ บุสสี รักษาการ ผอ.องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ประจำประเทศไทย กัมพูชา และลาว กล่าวว่า หลังจากไทยรับรองอนุสัญญาไอแอลโอฉบับที่182 ว่าด้วยการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย เมื่อปี 2544 ขณะนี้การแก้ปัญหาการใช้แรงงานเด็กดีขึ้นมาก โดยเฉพาะการใช้แรงงานเด็กในกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปกุ้งและอาหารทะเล ซึ่งไอแอลโอได้ร่วมกับรัฐบาลไทยและภาคเอกชนแก้ปัญหามากว่า 2 ปี ทั้งนี้ หากไทยจะแก้ปัญหาให้ดีขึ้น ยังมีประเด็นสำคัญที่จะต้องดำเนิน 5 เรื่อง ได้แก่ 1.ควรมีการเก็บสถิติและฐานข้อมูลการใช้แรงงานเด็กในระดับชาติ เพื่อนำใช้แก้ปัญหา 2.การบังคับใช้กฎหมายและลงโทษอย่างเข้มงวด 3.มีระบบติดตามเฝ้าระวังและช่วยเหลือแรงงานเด็กที่มีประสิทธิภาพ 4.ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชนต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และ 5.มีการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการตามแผนและนโยบายการแก้ปัญหาการใช้แรงงานเด็ก
        
น.ส.อภิชญา ง่วนบรรจง เจ้าหน้าที่ติดตามและประเมินผลโครงการแก้ปัญหาแรงงานเด็กในกิจการแปรรูปสินค้ากุ้งและอาหารทะเล ไอแอลโอ กล่าวถึงรายงานการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็กในประเทศไทยว่า โครงการนี้เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2551 เพื่อรวบรวมข้อมูลแรงงานเด็กจากกลุ่มพื้นที่อุตสาหกรรมเกี่ยวกับกุ้งและอาหารทะเล โดยล่าสุดจากการลงพื้นที่เป้าหมาย 4 จังหวัดคือ สมุทรสาคร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราชและสงขลาในช่วงเดือนมีนาคม-สิงหาคมปี 2555 จากการลงพื้นที่มีสถานประกอบการกุ้งและอาหารทะเลใน 4 จังหวัด พบว่า มีประมาณ 7,000 ครัวเรือน มีประชากรกว่า 40,000 ทั้งคนไทยและต่างด้าว ในจำนวนนี้มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี กว่า 8,000 คน มีทั้งเด็กไทยและต่างด้าวที่ส่วนใหญ่เป็นพม่า และพบว่าเด็กอายุ 15-17 ปี บางส่วนทำงานแล้วในอุตสาหกรรมอาหารทะเล การเกษตรและบริการ และพบการใช้แรงงานเด็กที่ต่ำกว่า 15 ปี บ้างแต่ก็ถือเป็นส่วนน้อย
       
“อยากให้ไทยทำฐานข้อมูลเด็กต่างด้าวทั้งที่ทำงานและติดตามพ่อแม่เข้ามาในไทย เช่น จำนวนเด็ก อายุและงานที่ทำ การได้รับการคุ้มครอง เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการวางแผนแก้ปัญหาการค้ามนุษย์และใช้แรงงานเด็ก รวมทั้งเป็นดัชนีชี้วัดความคืบหน้าการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์และใช้แรงงานเด็ก ซึ่งประเทศในอาเซียนร้อยละ 80-90 มีการทำฐานข้อมูลนี้แล้ว แต่ไทยต้องทำความเข้าใจกับสังคม เนื่องจากบางคนมองว่าการที่เด็กทำงานถือเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องต้องนำไปหารือต่อไป” น.ส.อภิชญา กล่าว
        
น.ส.อภิชญา กล่าวอีกว่า ยังพบว่ามีเด็กต่างด้าวทั้งที่ติดตามพ่อแม่เข้ามาและเกิดที่ไทยที่ไม่เข้าโรงเรียนเป็นจำนวนมากทั้งจากที่เด็กไม่มีเอกสาร กลัวถูกตำรวจจับ พ่อแม่ ไม่สนับสนุนให้เรียนเพราะเห็นว่า ไม่สามารถนำวุฒิไปเทียบโอนที่ประเทศต้นทางได้ และพ่อแม่ ตัวเด็กต่างด้าวบางครอบครัวมีความคิดว่าเข้ามาในไทยก็เพื่อหาเงิน เมื่อมีเงินมากพอจะกลับประเทศ อีกทั้งมีปัญหาว่าผู้ปกครองของเด็กไทยไม่อยากให้เรียนร่วมกับเด็กต่างด้าวเพราะวัฒนธรรมต่างกัน
        
“โครงการได้ร่วมกับภาคประชาสังคมเข้าไปช่วยเหลือให้เด็กที่ไม่มีเอกสารสามารถเข้าเรียนได้ รวมทั้งการขอสถานที่ เงินสนับสนุน จากสถานประกอบการ รวมทั้งจ้างครูผู้สอน ซึ่งปัจจุบันยังขาดแคลนครูอย่างมาก เพื่อจัดตั้งห้องเรียนภาษาไทย ซึ่งมีโรงเรียนบางแห่งในอ.เมือง จ.สมุทรสาครใช้ภาษาพม่าสอนเด็กโดยครูชาวพม่าซึ่งเด็กเรียนหนังสือได้ดีและเรียนรู้ทั้งภาษาพม่า ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ โครงการช่วยให้เด็กสามารถเข้าเรียนได้แล้วกว่า3,500 คนโดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าปีนี้จะนำเด็กต่างด้าวเข้าโรงเรียนให้ได้ประมาณ 5,000 คน” น.ส.อภิชญา กล่าว
       
นอกจากนั้นได้มีการเสวนา “บทบาทของภาครัฐในการคุ้มครองแรงงานเด็กและแรงงานต่างชาติ” โดยนายธีร์ ภวังคนันท์ หัวหน้าศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ปัจจุบันมีเด็กต่างด้าวไม่มีเอกสารรับรองสถานะในพื้นที่ชายแดน เช่น ตาก จันทบุรี จำนวน 65,739 คน และจังหวัดพื้นที่เมืองท่า เช่น สมุทรสาคร มีเด็กต่างด้าวกลุ่มนี้อยู่ที่หลักพันคน ซึ่ง สพฐ.ได้ช่วยเหลือให้เด็กกลุ่มนี้ได้เข้าเรียนโดยออกบัตรประจำตัวเลข 14 หลัก เพราะ สพฐ.มีระเบียบจัดการศึกษา รวมทั้งยึดหลักให้การคุ้มครองและการศึกษาแก่เด็กด้อยโอกาส รวมทั้งเด็กต่างด้าวให้มากที่สุด แต่จะต้องทำความเข้าใจกับหน่วยงานในสังกัดและโรงเรียนให้มีความเข้าใจเรื่องระเบียบให้ตรงกัน ทั้งนี้ ล่าสุดพบว่ามีเด็กถูกบังคับขายแรงงาน 114 คน และบังคับขายบริการ 61 คน ซึ่ง สพฐ.ได้ตั้งศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองฯขึ้นใน 225 เขตพื้นที่การศึกษาเพื่อดูแลคุ้มครองเด็ก
        
นางธีรดา สุธีรวุฒิ นักวิชาการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในปี 2556 มีแรงงานต่างด้าวเข้าสุ่ระบบประกันสุขภาพของ สธ.จำนวน 405,453 คน และยังมีแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ได้เข้ามากว่า 4-5 แสนคน ทำให้โรงพยาบาลสังกัดสธ.ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาปีละกว่า 300 ล้านบาท ส่วนเด็กต่างด้าวเกิดใหม่ในประเทศไทยอยู่ที่ปีละกว่า 2-3 หมื่นคนโดยปี 2555 อยู่ที่ 33,319 คน ซึ่ง สธ.ได้ฉีดวัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยักให้แก่เด็กเหล่านี้
        
นางสุวรีย์ ใจหาญ ผอ.สำนักป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าหญิงและเด็ก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า สถานการณ์การค้ามนุษย์ล่าสุดนั้นพบว่ามีต่างด้าวถูกหลอกมาค้าบริการมากที่สุด คือ ลาว รองลงมาถูกหลอกมาบังคับใช้แรงงานมีจำนวน 700 คน โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 50 เป็นคนไทย อีกร้อยละ 50 เป็นแรงงานต่างด้าวโดยเป็นพม่ามากที่สุด รองลงมาเป็นกัมพูชาและลาว ซึ่ง พม.ได้มีศูนย์รับร้องเรียนและมีกองทุนช่วยเหลือต่างด้าวให้กลับประเทศ
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 3-4-2557)
 
คนงานสยามมิชลินบุกประท้วงหน้าสำนักงานใหญ่
 
เวลา 10.20 น. วันที่ 4 เมษายน ที่กระทรวงแรงงาน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คนงานบริษัทสยามมิชลิน จำกัด จ.ชลบุรี หลายร้อยคนที่ปักหลักชุมนุมเรียกร้องที่กระทรวงแรงงานตั้งสัปดาห์ที่ผ่านมาในเรื่องสภาพการจ้างงาน ได้ตั้งขบวน เพื่อเดินจากกระทรวงแรงงานไปบริษัทสยามมิชลิน จำกัด สำนักงานใหญ่ อาคารเอสพีอีทาวเวอร์ ถนนพหลโยธิน กรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้ผู้บริหารจากสำนักงานใหญ่เข้ามาช่วยเหลือ โดยระหว่างที่กลุ่มคนงานหลายร้อยคนเดินขบวนเรียกร้อง ก็ได้มีคนงานบางส่วนปักหลักเฝ้าพื้นที่ภายในกระทรวงแรงงาน
 
จากนั้นเวลาประมาณ 11.50 น. คนงานได้เดินทางมาถึงอาคารและรวมตัวกันบริเวณฟุตปาธด้านหน้าอาคารเอสพีอีทาวเวอร์ ชูป้ายผ้า และปราศรัยบนรถกระบะติดเครื่องขยายเสียงโจมตีเรื่องสัญญาจ้างที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งเรื่องของสวัสดิการ โดยที่ผ่านมามีการเจรจามาถึง 6 ครั้งแล้วแต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ จึงมาเรียกร้องให้กรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัท สยามมิชลิน สำนักงานใหญ่ช่วยเหลือ
 
คนงานยืนยันขอเงินตอบแทนพิเศษประจำปี หรือ โบนัส 3.3 เดือน บวกเงินอีก 15,000 บาท รวมทั้งปรับค่าจ้างในอัตราไม่ต่ำกว่าน้อยละ 4 อายุตกลง 1 ปี ค่าเช่าบ้าน 2,700 บาท และเบี้ยขยัน 1,500 บาท แต่นายจ้างไม่ยินยอม และส่งผู้ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจมาเจรจา 
 
โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ดินแดง นำโดย พ.ต.ท.ธรรมนูญ บุญเรือง รองผู้กำกับปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลดินแดง(รองผกก.ป.สน.ดินแดง) มาดูแลความเรียบร้อยของคนงานที่มาชุมนุมด้านหน้าอาคาร นอกจากนี้ผู้ดูแลเว็บไซต์ voice labour แจ้งว่ามีผู้บริหารบริษัท สยามมิชลิน ติดต่อขอส่งเอกสารชี้แจงถึงกรณีข้อพิพาทแรงงานด้วย
 
(มติชนออนไลน์, 4-4-2557)
 
บอร์ด สปส.ไฟเขียวเพิ่มงบรักษาโรคร้ายแรงเป็น 6.1 พันล้านบาทต่อปี
 
นายสุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ดสปส.)เร็วๆ นี้ มีมติเห็นชอบให้เพิ่มงบประมาณค่ารักษาตามกลุ่มโรคร้ายแรงในปี 2557 อาทิ โรคมะเร็ง ทั้ง 7 ชนิด ได้แก่มะเร็งเต้านม ปอด ปากมดลูก รังไข่ โพรงจมูก หลอดอาหาร และลำไส้ใหญ่และลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย โรคไต โดยครอบคลุมทั้งการฟอกไตและการปลูกถ่ายไต โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องจากไวรัสอันเป็นผลให้เกิดโรคติดเชื้อโรคหลายชนิด โรคปอด โรคหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง เป็นต้น จากเดิมในปี 2555 และ 2556 ตั้งงบประมาณไว้ที่ปีละ 4,460 ล้านบาท เป็นปีละ 6,104 ล้านบาท 
 
หากคิดเป็นรายหัวจะตกอยู่ที่คนละ 560 บาทต่อปี จากจำนวนผู้ประกันตนประมาณ 10.9 ล้านคน ผู้ประกันตนสามารถเข้ารักษาที่สถานพยาบาลเครือข่าวกว่า 2,200 แห่ง โดยไม่ต้องสำรองจ่าย เพราะทางสถานพยาบาลเครือข่ายสามารถยื่นเบิกกับทางสปส.ได้โดยตรง โดยเกณฑ์การจ่ายค่ารักษาพยาบาลยังเป็นไปตามเกณฑ์เดิมคือ ใช้ระบบจ่ายตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม(ดีอาร์จี) โดยจ่ายค่ารักษาตามระดับความรุนแรงของโรค(RW) หากมีค่า RW ตั้งแต่ระดับเกินกว่า 2 ขึ้นไป เบิกได้ระดับละ15,000 บาท
 
นายสุรเดช กล่าวต่อไปว่า บอร์ดสปส.มีมติให้เพิ่มงบประมาณรักษาในกลุ่มโรคร้ายแรง เนื่องจากเห็นว่าการจ่ายค่ารักษาดังกล่าวช่วยให้ผู้ประกันตนเข้าถึงการบริการรักษาโรคร้ายแรงได้มากขึ้นและจำนวนผู้ประกันตนที่เข้ารับบริการมีจำนวนเพิ่มขึ้น อีกทั้งโรงพยาบาลต่างๆ ในระบบประกันสังคมได้มีการปรับขึ้นค่าจ้างให้แก่บุคลากรด้วย ซึ่งงบประมาณค่ารักษาตามกลุ่มโรคร้ายแรงนี้โรงพยาบาลในระบบประกันสังคมและโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูง เช่น โรงพยาบาลสังกัดโรงเรียนแพทย์ที่เป็นคู่สัญญาซึ่งให้บริการรักษาพยาบาลโรคร้ายแรงแก่ผู้ประกันตนสามารถขอเบิกจ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2557
 
ทั้งนี้ผลการดำเนินการจัดตั้งงบค่ารักษาตามกลุ่มโรคร้ายแรงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาพบว่า ผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงการให้บริการได้มากกว่าก่อนหน้าที่สปส.จะตั้งงบนี้ขึ้นมา ซึ่งผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคร้ายแรงเข้าถึงบริการได้ไม่เต็มที่เพราะโรงพยาบาลกังวลว่าจะเบิกค่ารักษาได้ยาก ทั้งนี้ในปี 2556 ที่ผ่านมา มีผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยจำนวน 32,283,848 คน และมีผู้ประกันตนเข้ารักษาโรคร้ายแรงต่างๆ ประมาณ 200,000 คน
 
(มติชนออนไลน์, 7-4-2557)
 
เผยปี 56 แรงงานไทยไม่ผ่านตรวจโรคในต่างแดนถูกส่งตัวกลับ 52 ราย
 
นายวินัย ลู่วิโรจน์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน(กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในปี 2556  มีแรงงานไทยผลการตรวจสุขภาพของแรงงานไทยก่อนเดินทางไปทำงานต่างประเทศในปี 2556 พบว่า มีแรงงานไทยผ่านการตรวจ 39,916 คนและไม่ผ่านการตรวจเป็นชาย 1,814 คน หญิง 343 คน ส่วนใหญ่ป่วยเป็นวัณโรคปอด ไวรัสตับอักเสบ ซิฟิลิส ความดันโลหิตสูง ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปทำงานต่างประเทศได้เพราะคุณสมบัติไม่ผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนด 
 
กกจ.กำหนดให้แรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ต้องผ่านการตรวจสุขภาพก่อน โดยจะต้องไม่ป่วยเป็นโรคที่ประเทศที่จะไปทำงานกำหนด ปัจจุบันมีสถานพยาบาลที่ให้บริการตรวจสุขภาพแรงงานไทยโดยกระทรวงสาธารณสุข ให้การรับรองและแจ้งมายังกกจ.ทั้งหมด 83 แห่ง โดยในจำนวนนี้มีสถานพยาบาลที่แรงงานไทยไปใช้บริการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมออยู่ 47 แห่ง 
 
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศเรียบร้อยแล้วแต่ถูกส่งตัวกลับ  เนื่องจากไม่ผ่านการตรวจสุขภาพจากประเทศที่เดินทางไปทำงาน  ในช่วงตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2555 – กันยายน 2556 พบว่า มีแรงงานไทย 52 คน ถูกส่งกลับจากต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศไต้หวันมากที่สุด รองลงมาประเทศแถบตะวันออกกลางและเกาหลีใต้ ส่วนใหญ่ตรวจพบว่าเป็นวัณโรคปอด ไวรัสตับอักเสบเอ บี ซี ซิฟิลิส ความดันโลหิตสูง เอชไอวี มีอาการทางจิตและพบสารเสพติดในร่างกาย ทำให้กองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศต้องจ่ายเงินช่วยเหลือไปกว่า 1.1 ล้านบาท อีกทั้งแรงงานไทยกลุ่มนี้ก็ได้เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปแล้ว แต่กลับไม่ได้ทำงาน
 
 “กกจ.จะปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับสถานพยาบาล ที่ตรวจสุขภาพแรงงานไทย โดยเน้นในเรื่องศักยภาพ มาตรฐานในการตรวจให้เข้มข้นมากขึ้น  กกจ.มีแนวคิดจะเพิ่มการตรวจหาสารเสพติดของแรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วย โดยจากการตรวจสอบพบในทางกฎหมายแล้วพบว่าไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิบุคคลตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการในระดับกรม”  รองอธิบดีกกจ.กล่าวและว่า จากนั้นจะประสานไปยังกระทรวงสาธารณสุข ขอให้ตรวจสอบมาตรฐานและศักยภาพสถานพยาบาลที่จะให้บริการตรวจสุขภาพแรงงานไทยตามกฎหมายที่ได้ปรับปรุง
 
(มติชนออนไลน์, 8-4-2557)
 
ครม.ไฟเขียวประกาศค่าจ้างฝีมือแรงงาน 13 อาชีพ
 
ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2557 ที่ประชุมรับทราบประกาศคณะกรรรมการค่าจ้าง เรื่อง การกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานใน 5 กลุ่มสาขา 13 อาชีพ โดยให้มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
สำหรับกลุ่มอาชีพที่ได้รับการกำหนดอัตราค่าจ้างใหม่ ประกอบด้วย กลุ่มช่างอุตสาหการ ช่างอุตสาหกรรมศิลป์ ช่างก่อสร้าง ช่างเครื่องกล และภาคบริการ โดยได้รับอัตราค่าจ้างต่ำสุดวันละ 350 บาทจนถึงสูงสุดวันละ 815 บาท
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 8-4-2557)
 
กกร. แจ้งผู้ประกอบการ ต่ออายุแรงงานต่างด้าว หลัง ครม. มีมติขยายเวลา ป้องเกิดผลกระทบ
 
นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวภายหลังร่วมประชุมคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) ประจำเดือนเมษายน 2557 ว่า ขณะนี้มาตรการแก้ไขปัญหาเรื่องของแรงงานต่างชาติ (ลาว พม่า กัมพูชา) ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งครบกำหนดวาระการจ้างงาน 4 ปี ทางรัฐบาลรักษาการ ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขโดยให้ขยายการจ้างงานแรงงานต่างด้าวออกไปอีก 180 วัน เพื่อลดความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ ซึ่งหลังจากนี้ กกร. จะแจ้งไปยังผู้ประกอบการทำการต่ออายุหนังสือเดินทาง เอกสารรับรองบุคคล ให้ไปดำเนินการให้เรียบร้อย เพื่อที่จะเตรียมเอกสารให้พร้อม หากมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาดำเนินการ
 
ขณะที่ตัวเลขแรงงานต่างด้าวทั้ง 3 ประเทศ ในปี 2557 อยู่ที่จำนวน 370,529 คน โดยหากครบวาระการจ้างงาน 4 ปีแล้ว จะต้องผลักดันออกนอกประเทศภายใน 360 วัน ซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบในอนาคต
 
(ไอเอ็นเอ็น, 8-4-2557)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท