เพจสอนภาษาพม่าชี้แจงหลังเพจคนดังนำภาพไปตัดต่อทางการเมือง

กรณีเพจสื่อคนดังตัดต่อป้ายห้องน้ำภาษาพม่าเข้ากับภาพชุมนุมทางการเมือง ล่าสุดเพจสอนภาษาพม่าชี้แจงว่าภาพต้นฉบับเป็นภาพทางเข้าห้องน้ำที่พม่า ใช้เป็นสื่อการสอนภาษาพม่า และไม่ต้องการให้นำภาพไปใช้ในทางที่ผิดไปจากวัตถุประสงค์ และขอให้ผู้ที่ตัดต่อภาพชี้แจงสังคม

9 เม.ย. 2557 - วันนี้ (9 เม.ย.) เพจ ศูนย์ภาษาอีซี่เบอร์มีส ได้เผยแพร่คำชี้แจงกรณีถูกนำภาพถ่ายไปตัดต่อในแฟนเพจ Kanok Ratwongsakul Fan Page ของกนก รัตน์วงศ์สกุล พิธีกรข่าวและผู้บริหารเครือเนชั่นชื่อดัง เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยคำชี้แจงของศูนย์ภาษาอีซีเบอร์มีส มีดังนี้

000

ภาพประกอบการชี้แจงของศูนย์ภาษาอีซี่เบอร์มีส (ที่มา: facebook.com/EasyBurmese

 

(คำชี้แจง)

เรียนทุกท่าน

จากภาพที่ปรากฎเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2557 ภาพนี้ (คลิกเพื่อชมภาพ)

ขอชี้แจงให้ทราบว่าภาพห้องน้ำที่ถูกนำไปใช้ในภาพดังกล่าว เป็นภาพที่ดิฉันถ่ายเองที่เมือง Aung Ban ประเทศพม่า โดยถ่ายในเดือนพฤศจิกายน2556 และนำมาโพสต์ลงเพจในเดือนธันวาคม 2556 เพื่อนำมาใช้เป็นสื่อการสอนภาษาพม่า

โดยสามารถดูภาพต้นฉบับได้ตามลิงค์นี้ (คลิกเพื่อชมภาพ)

ดิฉันไม่ต้องการให้ภาพดังกล่าวถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดไปจากจุดประสงค์ และการนำภาพดังกล่าวไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงเรื่องภาพดังกล่าว มิได้เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงของการชุมนุมทางการเมืองแต่อย่างใด ดิฉันขอชี้แจงเพียงที่มาของภาพห้องน้ำภาษาพม่าดังกล่าว เพื่อยืนยันความจริงและรักษาสิทธิในส่วนของดิฉัน แต่ในส่วนข้อเท็จจริงของการชุมนุมว่าคนพม่ามาร่วมชุมนุมหรือไม่นั้น ดิฉันไม่ทราบข้อเท็จจริงและไม่ขอเกี่ยวข้องด้วยใดๆ ทั้งสิ้น

ผู้ที่กระทำการตัดต่อภาพดังกล่าว ขอความกรุณาชี้แจงข้อเท็จจริงให้สังคมได้รับทราบในส่วนตรงนี้ด้วยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

Admin เพจ www.facebook.com/EasyBurmese
9 เมษายน 2557

ป.ล.ทั้งนี้ดิฉันต้องขออภัยที่ออกมาชี้แจงล่าช้า เนื่องจากเพิ่งรับทราบข้อมูลดังกล่าวในวันนี้ค่ะ

000

 

 

 

โพสต์คำชี้แจงของเพจ Easy Burmese Language Center

 

 

โพสต์ต้นฉบับของภาพดังกล่าวเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2556 (ที่มา: เพจ Easy Burmese Language Center)

 

ก่อนหน้านี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงชุมนุมทางการเมืองของ นปช. ที่ ถ.อุทยาน หรือชื่อเดิมคือ ถ.อักษะ ระหว่างวันที่ 5-7 เม.ย. ที่ผ่านมา ได้มีการเผยแพร่ข่าวลือในอินเทอร์เน็ตหลายกรณี เช่น นายไพศาล พืชมงคล อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และนายไมเคิล ยอน บล็อกเกอร์ชาวสหรัฐอเมริกา ได้มีการนำประกาศของสถานทูตพม่าในประเทศไทย ที่เตือนพลเมืองไม่ให้เข้าร่วมการชุมนุมใดๆ มาเผยแพร่

อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวพบว่า ประกาศดังกล่าวเผยแพร่มาตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค. 2557 โดยเป็นการออกประกาศก่อนการชุมนุมใหญ่ของ กปปส. ในวันที่ 13 ม.ค. 2557 โดยคำประกาศเตือนให้ชาวพม่าในประเทศไทยอยู่ห่างจากพื้นที่การชุมนุม เพื่อความปลอดภัย และเพื่อหลีกเลี่ยงการตกเป็นประเด็นที่จะมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์อันดีของสองประเทศ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

เช่นเดียวกับเพจของ น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 4 เม.ย. ที่ผ่านมา ได้นำภาพแรงงานสวมเสื้อสีแดง ชุมนุมหน้าโรงงานแห่งหนึ่งมาโพสต์ และเรียกร้องให้ ผบ.ทบ. และนายทหารตรวจสอบว่ามีการนำชาวต่างชาติมารับจ้างชุมนุม อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบของผู้สื่อข่าวพบว่าภาพที่ น.ส.มัลลิกา เผยแพร่ไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมืองแต่อย่างใด แต่เป็นภาพชุมนุมเรียกร้องให้มีการปรับปรุงสวัสดิการคนงานที่โรงงานหยวน เจียว ใน อ.แม่สอด จ.ตาก (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) โดยไม่เกี่ยวข้องกับเหตุชุมนุมทางการเมืองแต่อย่างใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท