ครบรอบ 25 ปี โศกนาฏกรรมฮิลส์โบโรของแฟนหงส์แดง: บทสะท้อนเรื่องความปลอดภัยในวงการกีฬาฟุตบอลอังกฤษ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

กีฬาฟุตบอลในประเทศอังกฤษถือเป็นกีฬายอดนิยมอย่างยิ่ง ที่ประชาชนชาวอังกฤษต่างให้ความสนใจติดตามการแข่งขันฟุตบอลระดับต่างๆ และสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ที่ทางสโมสรกีฬาฟุตบอลที่ตนเองชื่นชอบได้จัดขึ้น ซึ่งนอกจากการแข่งขันกีฬาฟุตบอลจะเป็นกีฬาที่เสริมสร้างสุขภาพและให้ความเพลิดเพลินแก่ผู้เข้าร่วมการแข่งขันและผู้ชมกีฬาฟุตบอลแล้ว ในปัจจุบันการแข่งขันกีฬาฟุตบอลของอังกฤษในระดับต่างๆ ยังสามารถสร้างกำไรและผลประโยชน์ทางธุรกิจอย่างมหาศาลให้กับอุตสากรรมกีฬากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในระดับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดระบบการแข่งขันฟุตบอลลีกในระดับต่างๆ เจ้าของสโมสรกีฬาฟุตบอล ผู้จัดการสโมสรกีฬาฟุตบอล เจ้าหน้าที่สโมสรกีฬาฟุตบอล ธุรกิจที่เป็นสปอนเซอร์สโมสรกีฬาฟุตบอล นักกีฬาฟุตบอล ผู้ค้าส่งและผู้ค้าปลีกสินค้าของที่ระลึกกีฬาฟุตบอลและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

การแข่งขันกีฬาฟุตบอลภายใต้ระบบการแข่งขันฟุตบอลลีกในระดับต่างๆของประเทศอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นบาร์เคลย์สพรีเมียร์ ลีก (Barclays Premier League) สกายเบทแชมเปี้ยนชิพ (Sky Bet Championship) สกายเบทลีกหนึ่งและสอง (Sky Bet League One-Two) สกริลล์คอนเฟอร์เรนซ์พรีเมียร์ (Skrill Conference Premier) สกริลล์คอนเฟอร์เรนซ์เหนือและใต้ (Skrill Conference North-South) ต่างก็ต้องการให้ผู้ชมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลระดับต่างๆ หันมาติดตามการแข่งขันระหว่างสโมสรกีฬาฟุตบอลระดับชาติหรือระดับท้องถิ่นที่มาเข้าร่วมการแข่งขันในระบบการแข่งขันฟุตบอลลีก เพราะผู้จัดระบบการแข่งขันฟุตบอลลีกในระดับต่างๆย่อมได้ประโยชน์ทางธุรกิจจากการจัดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลที่มีประชาชนให้ความสนใจหรือมีผู้ติดตามเข้าชมการแข่งขันเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้เอง ผู้จัดระบบการแข่งขันฟุตบอลลีกและสโมสรกีฬาฟุตบอลที่เข้าร่วมลีกต่างๆ จึงต้องพยายามแสวงหาวิธีการเพื่อเชิญชวนให้ผู้ชมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลมาติดตามการแข่งขันทั้งในสนามและนอกสนาม

การเข้าชมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในสนามกีฬาฟุตบอล (football stadium attendance) ของผู้ชมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกในระดับต่างๆ ถือเป็นเป้าหมายทางธุรกิจของภาคอุตสาหกรรมกีฬาฟุตบอลประการหนึ่ง เพราะการแข่งขันกีฬาฟุตบอลที่มีผู้เข้าชมเป็นจำนวนมากย่อมส่งผลดีต่อภาคธุรกิจผู้จัดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลและสโมสรกีฬาฟุตบอลเจ้าของสถานที่การแข่งขัน โดยตรง ทำให้ผู้จัดการแข่งขันและสโมสรกีฬาฟุตบอลเจ้าของสถานที่การแข่งขันสามารถทำกิจกรรมที่สนับสนุนการธุรกิจการกีฬาของตนได้ ตัวอย่างเช่น การขายตั๋วเข้าชมการแข่งขัน การขายอุปกรณ์กีฬาและของที่ระลึกของสโมสร การขายอาหารเครื่องดื่มสำหรับผู้เข้าชมการแข่งขัน และการประกอบกิจกรรมอื่นๆ ที่สร้างประโยชน์ทางธุรกิจให้กับผู้จัดการแข่งขันและสโมสรกีฬาฟุตบอล อนึ่ง การเข้าชมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในสนามกีฬาฟุตบอลย่อมแตกต่างจากการติดตามชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันหรือการติดตามการถ่ายทอดย้อนหลัง เพราะการเข้าชมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในสนามฟุตบอลย่อมทำให้ผู้ชมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลมีส่วนร่วมกับเกมการแข่งขันอย่างใกล้ชิดและทำให้ผู้ชมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลมีปฏิสัมพันธ์กับเกมการแข่งขันได้อย่างมีอรรถรส ผ่านการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการแข่งขันกีฬาฟุตบอล เช่น การร้องเพลงเชียร์ประจำสโมสรกีฬาฟุตบอล การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เล่นกีฬาฟุตบอลของสโมสรที่ตนชื่นชอบ และการพบปะระหว่างผู้สนับสนุนสโมสรกีฬาฟุตบอลที่สนับสนุนสโมสรเดียวกัน เป็นต้น

แม้การเข้าชมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในสนามให้อรรถรสแก่การติดตามการแข่งขันกีฬาฟุตบอลและอำนวยประโยชน์ให้กับภาคธุรกิจกีฬาฟุตบอลสักเพียงใดก็ตาม แต่ทว่าการแข่งขันกีฬาฟุตบอลที่ขาดการจัดการความปลอดภัยในสนามกีฬาฟุตบอล (stadium safety management) ที่ดี ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายและอนามัยของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในสนามกีฬาฟุตบอล นักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลและผู้เข้าชมการแข่งขันกีฬาฟุตบอล

อนึ่ง ผู้เข้าชมการแข่งขันกีฬาฟุตบอล ทั้งที่เป็นผู้เข้าชมที่เป็นแฟนบอลประจำสโมสรกีฬาฟุตบอลที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกของสโมสรกีฬาฟุตบอลหรือเป็นผู้เข้าชมที่มาเข้าชมการแข่งขันที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกของสโมสรกีฬาฟุตบอลก็ตาม ต่างล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยสนามกีฬาฟุตบอลเป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมการติดตามชมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลและกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน ซึ่งหากเป็นการแข่งขันระหว่างสโมสรที่มีชื่อเสียงหรือเป็นการแข่งขันที่อาจมีเกมการแข่งขันที่สนุกเร้าใจ ก็อาจมีผู้เข้าชมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในสนามกีฬาฟุตบอลเป็นจำนวนมาก

ด้วยจำนวนผู้เข้าชมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลที่มากระหว่างการแข่งขันระหว่างสโมสรที่มีชื่อเสียงหรือเป็นการแข่งขันที่อาจมีเกมการแข่งขันที่สนุกเร้าใจ ก็อาจเป็นเหตุให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาด้านความปลอดภัยต่อผู้เข้าชมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลได้ ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาด้านความปลอดภัยต่อผู้เข้าชมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลภายในสนามกีฬาฟุตบอล นั้นก็คือ การมีจำนวนผู้เข้าชมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลที่มากจนเกินไปทำให้อัฒจรรย์สนามกีฬาฟุตบอลที่แออัดจนเกินไป (overcrowding) จนอาจนำไปสู่ปัญหาด้านความปลอดภัยหลายประการ เช่น ความปลอดภัยของโครงสร้างอาคารอัฒจรรย์ ความปลอดภัยอันเกิดจากการใช้ความรุนแรงระหว่างผู้ชมการแข่งขันกีฬาฟุตบอล และความปลอดภัยเกี่ยวกับสุขอนามัยของผู้เข้าชมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลกับความปลอดภัยด้านอาชีวอนามัยของผู้ปฏิบัติงานในสนามกีฬาฟุตบอล เป็นต้น

ตัวอย่างเหตุการณ์หนึ่งที่สำคัญที่ได้รับการจารึกในประวัติศาสตร์กีฬาฟุตบอลอังกฤษและเป็นประเด็นเกี่ยวกับกฏหมายความปลอดภัยด้านการกีฬาของอังกฤษ นั้นก็คือ โศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร ค.ศ. 1989 (Hillsborough disaster 1989)

โศกนาฏกรรมฮิลส์โบโรได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1989 ระหว่างการแข่งขันฟุตบอลเอฟเอคัพรอบรองชนะเลิศระหว่างทีมสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลกับทีมน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ที่สนามเชฟฟิลล์เวนส์เดย์ ในเกมการแข่งขันดังกล่าวมีผู้สนับสนุนทั้งสองสโมสรมาเข้าร่วมชมการแข่งขันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นเกมการแข่งขันระหว่างสโมสรที่มีชื่อเสียง ที่มีแนวโน้มว่าเกมการเล่นจะเร้าใจผู้เข้าชมในสนามกีฬาฟุตบอลในขณะนั้น ด้วยปัญหาที่ความจุของสนามไม่ได้สัดส่วนกับจำนวนผู้เข้าชมเกมการแข่งขันในขณะนั้น ประกอบกับทางสโมสรเชฟฟิลล์เวนส์เดย์ที่เป็นสโมสรที่เป็นเจ้าของสนามที่ทำการแข่งขัน ไม่ได้ตระเตรียมการสำหรับรอบรับจำนวนผู้เข้าชมกีฬาฟุตบอลที่ล้นหลามที่มีปริมาณมากเกินไปกว่าพื้นที่บางส่วนของสนามจะรับได้ อนึ่ง รัฐบาลอังกฤษได้แต่งตั้งลอร์ดปีเตอร์ เมอร์เรย์ เทย์เลอร์ บารอนแห่งกอสโฟทท์หรือลอร์ดเทย์เลอร์ (Lord Taylor of Gosforth) ให้เป็นผู้จัดทำรายงานแสวงหาข้อเท็จจริงกรณีโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร รายงานของลอร์ดเทย์เลอร์ (Taylor Report) ได้กล่าวสรุปว่าสาเหตุที่สำคัญประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมดังกล่าว ได้แก่ ปัญหาด้านความปลอดภัยในสนามกีฬาฟุตบอลที่ใช้ในการแข่งขัน อันเนื่องมาจากการขาดมาตรการส่งเสริมมาตรฐานความปลอดภัยในสนามกีฬาฟุตบอลที่เหมาะสม เพราะจากหลักฐานและการไต่สวนข้อเท็จจริงพบว่าอัฒจรรย์ฝั่งตะวันตก (West Stand) มีพื้นที่รองรับผู้ชมกีฬาฟุตบอลได้น้อยกว่าอัฒจรรย์ฝั่งตะวันออก (East Stand) แต่ทางสโมสรฟุตบอลเชฟฟิลล์เวนส์เดย์ที่เป็นเจ้าของสนามที่ใช้ในการแข่งขันกลับให้ผู้ชมกีฬาฟุตบอลจากสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลที่มีจำนวนมากกว่าไปเข้าชมในอัฒจรรย์ฝั่งตะวันตกและให้ผู้ชมกีฬาฟุตบอลจากทีมน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ที่มีจำนวนน้อยกว่าไปเข้าชมทางอัฒจรรย์ฝั่งตะวันออก อันส่งผลให้เกิดการเข้าสู่สนามอย่างเบียดเสียดยัดเยียดของผู้ชมกีฬาฟุตบอลจากสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลในอัฒจรรย์ฝั่งตะวันตก โดยขาดการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยที่ดีจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในขณะนั้นเป็นเหตุเกิดการถล่มของอัฒจรรย์บางส่วน (crush on the terraces) ส่งผลให้ผู้สนับสนุนสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลเสียชีวิตถึง 96 คน

http://www.gkstill.com/_Media/27-2_med_hr.jpeg

รูปที่1: โศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร ค.ศ. 1989 เกิดจากการถล่มของอัฒจรรย์ฝั่งตะวันตกบริเวณทางเข้า Leppings Lane อันเนื่องมาจากการอนุญาตให้ผู้สนับสนุนสโมสรลิเวอร์พูลเข้าไปจนเกินไปกว่าความจุของอัฒจรรย์ที่จะรับได้ ตามมาตรฐานความปลอดภัยโครงสร้างอาคาร จนเป็นเหตุให้ผู้สนับสนุนสโมสรลิเวอร์พูล เสียชีวิตถึง 96 คน                                                                                                                                                    
อ้างอิง: Keith Still, G., Crowd Risk Analysis and Crowd Safety, http://www.gkstill.com/CV/PhD/Chapter2.html

http://i4.liverpoolecho.co.uk/incoming/article3256819.ece/alternates/s615/hillsborough-scene-620-796406119.jpg

รูปที่ 2: การอนุญาตให้ผู้ชมกีฬาฟุตบอลเข้าไปในสนามเป็นจำนวนมากในโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร ค.ศ. 1989 จนทำให้มีผู้ชมล้นอัฒจรรย์ (serious overcrowding) ย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัยและความปลอดภัยของผู้ชมกีฬาฟุตบอลอย่างหลีกเลียงไม่ได้                                                                                                                                                          
อ้างอิง: Liverpool Echo, South Yorkshire Police Hillsborough smear campaign revealed, http://www.liverpoolecho.co.uk/news/liverpool-news/south-yorkshire-police-hillsborough-smear-3334725

ภายหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว รัฐบาลอังกฤษนำเอาปัญหาที่ถูกนำเสนอและข้อเสนอแนะในรายงานของลอร์ดเทย์เลอร์มาเป็นแนวทางในการปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยในสนามกีฬาฟุตบอลของอังกฤษ รัฐบาลอังกฤษได้ทำการแก้ไขพระราชบัญญัติผู้ชมกีฬาฟุตบอล ค.ศ. 1989 (Football Spectators Act 1989) โดยบรรจุสาระสำคัญบางประการเพื่อแก้ปัญหาจำนวนผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่ล้นสนามหรือจำนวนกีฬาฟุตบอลไม่ได้สัดส่วนกับมาตรฐานความปลอดภัยโครงสร้างสนามกีฬาฟุตบอล ได้แก่ มาตรการจำกัดที่นั่งของผู้เข้าชมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลให้ได้สัดส่วนของมาตรฐานความจุของอัฒจรรย์ (all-seated policy) กฎหมายฉบับดังกล่าวได้ระบุให้เจ้าของสนามจัดการแข่งขันและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการจัดการแข่งขันฟุตบอลระดับพรีเมียร์ลีกและแชมเปี้ยนลีกต้องกำหนดให้ผู้เข้าชมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลแต่ละคนมีที่นั่งหนึ่งที่ในสนามกีฬาฟุตบอล (all-seat accommodation) มาตรการตามกฎหมายฉบับนี้ทำให้ผู้จัดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลและเจ้าของสนามกีฬาฟุตบอลสามารถควบคุมจำนวนผู้เข้าชมการแข่งขันให้ได้สัดส่วนกับพื้นที่อัฒจรรย์ของสนาม อย่างไรก็ตาม เจ้าของสนามจัดการแข่งขันและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการจัดการแข่งขันนอกระดับพรีเมียร์ลีกและแชมเปี้ยนลีก อาจกำหนดให้มีพื้นที่สำหรับผู้ชมที่ต้องการยืนชมการแข่งขัน (Standing Room Only-SRO) ซึ่งโดยมากพื้นที่นี้จะจัดไว้สำหรับผู้เข้าชมที่ถือตั๋วเข้าชมการแข่งขันราคาถูกและจำนวนผู้ชมในพื้นที่นี้จะถูกจำกัดโดยจำนวนตั๋วเข้าชมการแข่งขัน ให้ได้สัดส่วนกับความจุของอัฒจรรย์ที่ถูกสงวนไว้สำหรับการยืนชมการแข่งขัน ตัวอย่างเช่น เมื่อไม่นานมานี้ สโมสรฟุตบอลบริสตอลได้จัดอัฒจรรย์ยืน (Standing terraces) ไว้สำหรับผู้ชมกีฬาฟุตบอลในเกาะอังกฤษ (โปรดดู Metro, Standing terraces make football stadium return as Bristol City trial gets go-ahead, http://metro.co.uk/2014/02/12/standing-terraces-make-football-stadium-return-as-bristol-city-trial-given-the-go-ahead-4302013/  และ BBC Sport Football, Football League calls for safe-standing areas in Championship, http://www.bbc.co.uk/sport/0/football/26079503) ซึ่งการจัดที่นั่งในลักษณะเช่นนี้ถือเป็นการท้าทายกฎเกณฑ์ด้านความปลอดภัยของวงการกีฬาฟุตบอลอังกฤษเป็นอย่างมาก

http://imageceu1.247realmedia.com/RealMedia/ads/Creatives/LiverpoolFC/Hillsborough_Apr2014/hills-2014-Splash2.jpg/1397464050

รูปที่ 3:  รูปภาพของผู้สนับสนุนสโมสรลิเวอร์พูลทั้ง 96 ชีวิต ที่เสียชีวิตอันเนื่องมาจากโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร ค.ศ. 1989 โดยปีนี้ถือเป็นปีครบรอบ 25 ปีของโศกนาฏกรรมดังกล่าว (1989-2014)                                                                                                                                                    
อ้างอิง: Liverpool FC, Welcome to Liverpool FC, http://www.liverpoolfc.com/welcome-to-liverpool-fc

แม้ว่าพระราชบัญญัติผู้ชมกีฬาฟุตบอล ค.ศ. 1989 (Football Spectators Act 1989) ได้บัญญัติมาตรการจำกัดที่นั่งของผู้เข้าชมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลให้ได้สัดส่วนของมาตรฐานความจุของอัฒจรรย์สำหรับการแข่งขันฟุตบอลระดับพรีเมียร์ลีกและแชมเปี้ยนลีก แต่ทว่าหลายสโมสรนอกระดับพรีเมียร์ลีกและแชมเปี้ยนลีกต่างพยายามละเลยเรื่องความปลอดภัย โดยหลายสโมสรได้พยายามหลีกเลี่ยงที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดและมุ่งขายตั๋วเข้าชมการแข่งขันให้ได้จำนวนมากเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยไม่สนใจความปลอดภัยที่อาจกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัยและความปลอดภัยของผู้เข้าชมการแข่งขันกีฬาฟุตบอล ด้วยเหตุนี้เองปัญหาด้านความปลอดภัยในวงการกีฬาฟุตบอลอังกฤษจึงถูกท้าทายขึ้นใหม่อีกครั้ง

ผู้สูญเสียทั้ง 96 ชีวิตของสโมสรลิเวอร์พูลในโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโรไม่อาจถูกทำให้ฟื้นขึ้นมาได้อีกครั้ง แต่ความสูญเสียดังกล่าวน่าจะเป็นอุทธาหรณ์ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่ายในวงการกีฬาฟุตบอลอังกฤษและวงการกีฬาฟุตบอลของโลก ให้หันมาตระหนักถึงมาตรฐานความปลอดภัยในสนามกีฬาฟุตบอลและผลกระทบอันเนื่องมาจากจำนวนของผู้เข้าชมการแข่งขันเกินไปกว่าสัดส่วนที่โครงสร้างอัฒจรรย์จะรับได้

เอกสารอ้างอิง

[1] Taylor, P., Final Report of Inquiry by Lord Justice Taylor into the Hillsborough Stadium Disaster; Text submitted to the Home Secretary 19 January 1989, http://hillsborough.independent.gov.uk/repository/docs/HOM000028060001.pdf

[2] Woodhouse, J., Standing at football matches, file:///C:/Documents%20and%20Settings/User/My%20Documents/Downloads/SN03937.pdf

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

[1] The National Achieves, Football Spectators Act 1989, http://www.legislation.gov.uk/ukpga/1989/37/part/II/crossheading/banning-orders

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท