เลือกตั้งอินเดีย คำถามประชาธิปไตยไทย ?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

สังคมไทยเป็นสังคมที่มีรากฐานหลายประการมาจากอินเดีย แต่ก็มักจะชอบทำให้เป็นไทยๆ เสีย และเมื่อพูดถึงการทำความเข้าใจเรื่องอินเดียในปัจจุบัน ก็มักจะไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ หรือพูดง่ายๆ ก็คือเราสนใจเฉพาะบางเรื่องบางราวในสังคมอินเดีย แต่บางเรื่องเราก็เลือกที่จะสนใจและเข้าใจ ทั้งที่อินเดียก็อยู่ไม่ไกลจากบ้านเราและเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนของเรา

ถ้าจะพูดให้ดูยุ่งยากนิดหนึ่ง เรามีทั้งทฤษฎีที่ว่าด้วยการที่เราถูกทำให้เป็นอินเดีย (Indianization ของ เซเดย์) คือเราเป็นส่วนขยายต่อจากอินเดีย และเรามีทั้งทฤษฎีที่ว่าด้วยชนชั้นนำท้องถิ่นในละแวกนี้ที่ "เลือกรับและปรับเปลี่ยน" วัฒนธรรมต่างๆ รวมทั้งอินเดียเพื่อให้เหมาะสมกับการปกครองและการสถาปนาอำนาจนำของชนชั้นนำเหล่านี้ต่อคนในพื้นที่ (ทฤษฎีของ O.W. Wolters)

พูดให้ง่ายขึ้นหน่อย เราเฉลิมฉลองเรื่องอารยธรรมพุทธศาสนา แต่ไม่สนใจว่าทำไมพุทธศาสนาถึงไม่ตอบโจทย์กับคนในอินเดีย หรือเราฟูมฟายกราบกรานคานธี แต่ไม่สนใจว่าว่า คานธีถูกวิจารณ์จากคนยากคนจน และเป็นอริกับพลังประชาธิปไตยอย่างไรนั่นแหละครับ

การติดตามข่าวและความเป็นไปของการเลือกตั้งในอินเดียจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจทั้งในระดับโลกเอง และในลักษณะของการสนทนากับการรับรู้ที่เรามีต่ออินเดียและต่อประชาธิปไตยนานัปการ ข้อดีในการพยายามติดตามสนใจเรื่องประชาธิปไตยในอินเดียก็คือการที่เราอาจจะไม่ต้องยกย่องอินเดียเป็นต้นแบบเหมือนพวกประชาธิปไตยผิวขาว แต่ในอีกด้านหนึ่งเราก็น่าจะเรียนรู้ถึงหลากหลายเรื่องราวที่เราคิดว่ามันจะต้องเป็นไปเช่นนั้น เช่นนี้ แต่ในอินเดียนั้นเขาพยายามต่อสู้ข้ามผ่านเรื่องราวเช่นที่ว่าไปได้อย่างไร

ผมอยากจะขอแบ่งเรื่องราวการนำเสนอในพื้นที่นี้ออกเป็นสามส่วน หนึ่งคือ ข้อมูลพื้นฐานที่น่าสนใจของการเลือกตั้งและประชาธิปไตยของอินเดีย สองคือ รากฐานของประชาธิปไตยในอินเดียสมัยใหม่ และสามคือ ประเด็นท้าทายในประชาธิปไตยร่วมสมัยของอินเดีย

ข้อมูลที่น่าสนใจของการเลือกตั้งและประชาธิปไตยในอินเดีย : อินเดียถือเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก หากวัดด้วยประชากรของประเทศ ซึ่งมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 814 คน (ซึ่งมากกว่าทวีปยุโรป จากการเปรียบเทียบของ CNN.com) และการเลือกตั้งในรอบนี้ (ซึ่งจัดทุกห้าปี) นั้นมีจำนวนผู้มีสิทธิที่มากกว่ารอบที่แล้วถึงร้อยล้านคน (ซึ่งเทียบเท่ากับประชากรถึงหนึ่งในสามของสหรัฐอเมริกา) ตลอดจนมีประชากรที่อยู่ในวัยเยาวชนที่จะได้ลงคะแนนเสียงครั้งแรกถึง 23 ล้านคน (เทียบเท่ากับประชากรของออสเตรเลีย)

ที่สำคัญการเลือกตั้งของอินเดียนั้นใช้เวลาถึง 5 สัปดาห์กว่าจะสิ้นสุดลง โดยไม่ต้องมานั่งคิดให้เมื่อยตุ้มว่าการเลือกตั้งนั้นจัดในวันเดียวกันหรือไม่ (เริ่มจาก 7 เมษา ถึง 12 พฤษภา) มีคูหาเลือกตั้ง 930,000 แห่ง มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องถึง 11 ล้านคน และมีเครื่องลงคะแนนเสียงอิเล็กทรอนิกส์ 1.7 ล้านเครื่อง ซึ่งอินเดียถือเป็นประเทศที่ใช้เครื่องมือเลือกตั้งสมัยใหม่เต็มรูปแบบ และเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นโบแดงของคณะกรรมการการเลือกตั้งของอินเดีย ที่หาญกล้าลบคำสบประมาทว่าอินเดียนั้นเป็นประเทศยากจนและด้อยการศึกษาจะมาใช้เครื่องมือที่ซับซ้อนเช่นนี้ได้อย่างไร (มีการให้แต่ละพรรคนั้นมีสัญลักษณ์พรรคในบัตรเลือกตั้ง และในรอบนี้เป็นครั้งแรกที่สามารถเลือกแบบไม่ประสงค์ลงคะแนนเสียงได้)

และที่สำคัญก็คือ กกต.อินเดียนั้นทรงอิทธิพลมากเพราะเอาจริงกับการจัดการกับการทุจริตการเลือกตั้ง ในการสอยนักการเมือง แต่ที่ทำได้ก็เพราะเขามาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดีผ่านการเสนอชื่อของสภา และสามารถถูกถอดถอนโดยสภาด้วยเสียง 2 ใน 3 กกต อินเดียจึงเป็นต้นแบบของ กกต. ที่มีอำนาจสอยนักการเมืองได้

รากฐานของประชาธิปไตยในอินเดียสมัยใหม่ : อินเดียได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศแรกในโลกที่ยอมมอบอำนาจให้ประชาชนที่ไม่รู้หนังสือนั้นมีอำนจทางการเมือง ทั้งนี้ ในปี 1952 นั้น ประธาน กกต.ของอินเดีย (Sukumar Sen) เชื่อว่าการมอบสิทธิทางการเมืองให้กับประชาชนในประเทศแม้ว่าจะไม่รู้หนังสือนั้นถือเป็นการทดลองทางประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ทั้งที่การมอบสิทธิดังกล่าวให้กับประชาชนเหล่านี้นั้นถูกวิจารณ์อย่างมากมายว่าเป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ เพราะเชื่อว่าหากผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นไม่สามารถอ่านและเขียนได้เขาก็น่าจะถูกหลอกด้วยข้อมูลที่ผิดๆ ดังนั้น ในช่วงต้นของการนำเสนอเรื่องประชาธิปไตยในอินเดียนั้นจึงมีคนที่เสนอตามสูตรว่าจะปลอดภัยขึ้นหากประชาธิปไตยนั้นควรจะถูกนำเข้าทีละเล็กละน้อยโดยผู้นำที่มีความเข้มแข็งจนกว่าอินเดียจะพร้อมมีประชาธิปไตย

รัฐบุรุษที่มีความสำคัญในการวางรากฐานของประชาธิปไตยในอินเดีย ที่บ้านเราไม่ค่อยสนใจก็คือ ดร.อัมเพทการ์ (Dr. B.R. Ambedkar) ในฐานะของสถาปนิกแห่งรัฐธรรมนูญอินเดีย (และเป็นรัฐธรรมนูญที่ยาวที่สุดในโลก) นั้นมีศรัทธาในการมอบอำนาจให้กับประชาชนผู้ถูกปกครอง เขาเชื่อว่าถ้าต้องการให้ประชาธิปไตยนั้นทำงาน ก็จำเป็นจะต้องละทิ้ง "มรรควิธีแบบคานธี" ที่เคยมอบอำนาจให้กับประชาชนนับล้านผ่านการต่อสู้เพื่อเสรีภาพในแบบอารยขัดขืน การไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐ(บาล) และอำนาจทางจิตใจในการยืนหยัดต่อความจริง (satyahraha)

อัมเพทการ์มองว่ามรรควิธีของคานธีเหล่านี้เป็น "ไวยากรณ์ของอนาธิปไตย" และจำเป็นจะต้องถูกละทิ้งให้เร็วที่สุด และแทนที่สิ่งเหล่านี้ด้วยการมอบสิทธิในการเลือกตั้งและการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้คนที่เสียเปรียบและคนชั้นล่างของอินเดียมีโอกาสที่จะทำลายระบบวรรณะและเปลี่ยนแปลงสถานทางสังคมของพวกเขาที่ถูกตอกตรึงเอาไว้ชั่วนิรันดร์

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ควรขยายความในสองประเด็น หนึ่งคือ อัมเพทการ์ นั้นเป็นรัฐบุรุษที่มีความสำคัญของอินเดีย ในฐานะของคนที่เกิดในวรรณะจัณฑาลหรือวรรณะที่ต่ำที่สุด และเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาจนจบระดับปริญญาโททางกฎหมายและปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์ จากอินเดีย อเมริกา และอังกฤษ ตามลำดับ ที่สำคัญเขาเป็นผู้นำชาวจัณฑาลหันมานับถือพุทธศาสนา และส่งเสริมการนับถือพุทธศาสนาในอินเดียสมัยใหม่ รวมทั้งชี้ให้เห็นถึงคุณประโยชน์ของพุทธศาสนาและพระพุทธเจ้าที่ไม่ได้ละเลยคนยากคนจนในสังคมอินเดีย

และการตั้งคำถามกับการถ่ายทอดคำสอนแบบอิงพุทธประวัติและการตีความแบบภายในโลกของพุทธศาสนาเองโดยละเลยการตั้งคำถามสมัยใหม่ และคำถามจากผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธมาก่อน ในช่วงระยะหลังนี้ผมเห็นปรากฏการณ์ที่น่ายินดีที่มีความสนใจที่จะศึกษาประวัติของอัมเพทการ์ในสังคมไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่นักคิดทางพุทธศาสนาของเรามากขึ้น

ประการต่อมาก็คือ จุดใหญ่ใจความหนึ่งของการต่อสู้ของอัมเพทการณ์นั้นไม่ใช่แค่ขับไล่อาณานิคมจากภายนอกแบบคานธี แต่หมายถึงการเปลี่ยนแปลงรากฐานทางสังคมอินเดียตั้งแต่ก่อนอาณานิคม นั่นก็คือระบบวรรณะ และระบบคิดทางศาสนาฮินดูที่ผูกติดกับระบบวรรณะ โดยย้อนกลับไปทั้งจากการตีความศาสนาพุทธซึ่งกำเนิดจากทวีปอินเดียเอง และการพยายามนำเอาความเป็นสมัยใหม่ทางการเมืองอย่างการร่างรัฐธรรมนูญ การประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และการสถาปนาอำนาจประชาธิปไตยผ่านหลักการหนึ่งคนหนึ่งเสียงให้สถิตสถาพร (หรือสร้างให้เป็นสถาบันในภาษาของรัฐศาสตร์กระแสหลัก) ในอินเดีย ที่ต่อกรกับความเชื่ออันทรงพลังว่าประชาธิปไตยนั้นจะมีได้ก็ต่อเมื่อประชาชนมีความพร้อมทางการศึกษาและฐานะเสียก่อน

ธรรมะสำหรับอัมเพทการ์จึงไม่ได้รับใช้สังคมที่ไม่เป็นธรรม แต่ต้องรับใช้และชี้ทางให้ผู้ทุกข์ยากเคียงข้างไปกับการสร้างสถาบันทางการเมืองสมัยใหม่ที่รองรับความเท่าเทียมกันของผู้คนในสังคมโดยยกเลิกระบบที่สืบทอดความไม่เท่าเทียมและไม่เป็นธรรมในสังคมเสียด้วยนั่นแหละครับ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของอินเดียจึงไม่ใช่แค่เรื่องของ "จิตนิยม" คือการขัดเกลาจิตใจและสร้างความเข้มแข็งในการต่อสู้กับอำนาจที่ไม่เป็นธรรม ผ่านการ "ลุกฮือ" ของประชาชน แต่จะต้องหมายถึงการขัดเกลาและเปลี่ยนแปลง "สภาพสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ" ผ่านการสถาปนากฏกติการ่วมกันและคำนึงถึงความเท่ากันของประชาชนในหลักหนึ่งคนหนึ่งเสียงเสียด้วย หรือพูดอีกอย่างก็คือ การต่อสู้ทางการเมืองและการสถาปนาประชาธิปไตยนั้นไม่ใช่แค่การล้มกติกาเก่า แต่ต้องหมายถึงการสร้างกติกาใหม่ให้ยั่งยืนและยอมรับกันทุกฝ่ายบนรากฐานของความเท่าเทียมด้วย

ประเด็นท้าทายในประชาธิปไตยร่วมสมัยของอินเดีย : จะว่าไปแล้วในฐานะคนนอกอย่างผม ผมก็ไม่ได้คิดว่าคานธี หรืออัมเพทการ์นั้นถูกกว่ากัน แต่ผมคิดว่าอินเดียนั้นได้ประโยชน์จากการมีทั้งการต่อสู้แบบคานธี คือความยืนหยัดในการต่อสู้กับสิ่งที่ไม่เป็นธรรมผ่านความกล้าหาญทางจิตใจ แต่ก็ต้องมีการสร้างสถาบันที่ยั่งยืนและคำนึงถึงความขัดแย้งและความไม่เท่าเทียมที่เป็นรากเหง้าของสังคมแบบอัมเพทการ์ด้วย

แต่อย่างไรก็ดี สำหรับประชาธิปไตยและการเลือกตั้งที่ถูกออกแบบมาโดยอัมเพทการ์นั้นก็อาจจะไม่ได้หมายความว่าเป็นประชาธิปไตยที่ดีที่สุด และในพัฒนาการของการเมืองอินเดียเองนั้น พูดง่ายๆ ก็คือประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งในสังคมที่มีอิทธิพลในท้องถิ่นแบบที่เป็นอยู่ก็นำมาสู่ปัญหาทั้งการสืบทอดอำนาจใน "วงศ์" ของนักการเมืองเอง (dynasty politics) และลักษณะประชานิยมที่ขาดหลักธรรมภิบาลอยู่เช่นกัน แต่กระนั้นก็ตามเราก็ต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอินเดียอย่างเข้าอกเข้าใจ อาทิ ลักษณะของการเลือกตั้งที่มีคนลงคะแนนเสียงสูงกว่าการเลือกตั้งในประเทศตะวันตก ทั้งนี้ ก็เพราะประชาชนนั้นเห็นว่าประชาธิปไตยนั้นให้ในสิ่งที่นักการเมืองเหล่านั้นสัญญาไว้กับประชาชนได้

ที่สำคัญสถาบันทหารนั้นไม่ได้มีบทบาทในการครอบงำประชาธิปไตย ตลอดจนสื่อมวลชนก็ทำงานอย่างเต็มที่ และนักวิชาการก็มีเสรีภาพในการวิจารณ์และนำเสนอความคิดเห็นอย่างหลากหลาย แต่กระนั้นก็ดี นักวิชาการบางคนก็ให้คำนิยามสังคมประชาธิปไตยแบบอินเดียไว้อย่างน่าสนใจว่า ปัญหาของการเมืองอินเดียนั้นไม่ได้อยู่ที่ว่าผู้นำนันไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าเมื่อพวกเขาได้รับเลือกตั้งเข้ามาแล้ว ยังขาดระบบการตรวจสอบที่ดีและต้องรอจนกว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป หรือพูดง่ายๆ ว่าประชาธิปไตยในอินเดียนั้นทำงาน แต่เป็นประชาธิปไตยที่ขาดหลักธรรมาภิบาล (Democracy functions, but governance does not.)

สิ่งที่ได้กล่าวไปนี้จึงน่าสนใจที่จะพบว่าการต่อสู้กันในครั้งนี้ของการเมืองอินเดียจึงเป็นการต่อสู้ที่ท้าทายการเข้าใจและการพัฒนาประชาธิปไตยในอินเดียและในโลก ก็เพราะการมีพรรคการเมืองที่แข่งกันสามพรรค ที่ทำให้เราได้เรียนรู้ได้อย่างมาก นั่นก็คือ หนึ่ง พรรคคองเกรส ที่ยังสืบทอดธรรมเนียมการปกครองจากวงศ์เนรูห์-คานธี ในฐานะผู้ปกครองประเทศที่ยาวนานในอินเดียสมัยใหม่ และอ้างอิงถึงความเป็นประชานิยมกับประชาชน

สอง พรรคบีเจพี (Baratiya Janata) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน แต่ก็มีผลงานการพัฒนาทางเศรษฐกิจในบางรัฐที่เป็นที่น่าเลื่อมใส แต่ขณะเดียวกันก็มีการจุดอ่อนตรงการปล่อยให้เกิดความรุนแรงทางศาสนา

และ สาม พรรคทางเลือกที่มีจุดยืนของการต่อต้านการคอร์รัปชั่น (พรรค Aam Aadmi - AAP) ซึ่งจะเป็นตัวสอดแทรกที่สำคัญสำหรับคนที่ไม่ศรัทธาในระบอบนักการเมืองที่มีอยู่ แต่ก็ยังศรัทธาในการเลือกตั้งและการต่อสู้ในระบบอยู่เช่นกัน และเมื่อเทียบกับสมาชิกพรรคคองเกรสแล้ว พรรคใหม่ๆ นั้นมีลักษณะของการสืบทอดวงศ์ตระกูลน้อยกว่า ซึ่งก็เป็นประเด็นท้าทายในเรื่องของความเป็นประชาธิปไตยในพรรคและการคัดเลือกผู้สมัครเช่นกัน ไม่ใช่แค่การมีประชาธิปไตยท่ามกลางตัวเลือกที่สืบทอดวงศ์ตระกูลและมีข้อหาในการใช้เงินทองมากมายในการเลือกตั้ง

แน่นอนว่าการเลือกตั้งอาจไม่ใช่ทุกอย่างของประชาธิปไตย และการเลือกตั้งกับประชาธิปไตยของอินเดียอาจจะดูยุ่งเหยิง วุ่นวายและเต็มไปด้วยความรุนแรงในหลายพื้นที่ อาทิ ข่าวระเบิดในพื้นที่บางแห่ง แต่เราก็ควรจะพิจารณาการเลือกตั้งและประชาธิปไตยของอินเดียในฐานะพัฒนาการในอารยธรรมประชาธิปไตยทั้งในประเทศของเขาและในระดับโลก ที่มีคุณูปการมากมาย

แทนที่จะเชื่อหรือไขว่คว้าหา "ตัวแบบบริสุทธิ์" ที่จะนำมาถอดรื้อปรับปรุงใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญบ้านเรา เราควรพิจารณาถึงจิตวิญญาณและความมุ่งมั่นของผู้คนที่มากมายในแต่ละสังคมที่พยายามต่อสู้ผลักดันให้ประชาธิปไตยนั้นทำงานและเชิดชูคุณค่าความดีงามของความเท่าเทียมกันทางการเมืองท่ามกลางขวากหนามและอุปสรรคมากมายที่เกิดขึ้น

 

หมายเหตุ: นอกเหนือจากข้อมูลข่าวจากเว็บไซต์ข่าวการเลือกตั้งในอินเดียแล้ว หากท่านสนใจงานของอัมเพทการ์ ควรพิจารณาคำถามสำคัญของเขาใน Buddha and His Dhamma (1957) และ The Annihilation of Caste (1936) ขอขอบคุณ ศาสตราจารย์ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับบทความของ Patrick French. "Parsing the Grammar of Anarchy" ใน Reimagining India : Unlocking the Potential of Asia′s Next Superpower. Simon & Schuster. และ คุณจิตอนงค์ สารภีเพ็ชร แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยาวหราล เนห์รู สำหรับการสนทนาและข้อมูลเบื้องต้นที่ทำให้ผมสนใจเรื่องวิวาทะของอัมเพทการ์กับคานธี

 

ที่มา: มติชนออนไลน์

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนรายวัน 15 เมษายน 2557

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท