Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันการจับคู่ปะทะกันระหว่าง  ชนบท-เมือง  ชนชั้นกลางที่เป็นคนเมือง-ชนชั้นล่างที่เป็นคนชนบท ดูจะเป็นคู่ตรงข้ามที่ถูกพาดพิง และกล่าวถึงมากที่สุด ในฐานะตัวแสดงหน้าฉาก ที่มีนักการเมือง และอำมาตย์หลบอยู่หลังฉาก

จากการติดตามสถานการณ์ความขัดแย้ง และประสบการณ์การสอนวิชาเกี่ยวกับชนบทไทย ทั้งในระดับปริญญาตรี ประกาศนียบัตร และปริญญาโท[i]พบว่า มุมมองต่อชนบทของผู้คนในสังคมไทยแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ซึ่งทั้งสองกลุ่มมีลักษณะแนวความคิดที่แตกต่างกันจนกลายเป็นคู่ตรงข้าม 

กลุ่มแรกเรียกว่า กลุ่ม “คนดี”  กลุ่มคนดีดูจะได้รับอิทธิพลทางความคิดจากวัฒนธรรมชุมชน และเศรษฐกิจพอเพียง เป็นด้านหลัก ส่วนอีกกลุ่มเรียกว่า กลุ่ม  “คนเท่ากัน”  ซึ่งได้รับอิทธิพลจากแนวคิดแบบ Marxist เป็นด้านหลัก บทความนี้ต้องการเสนอภาพการมองชนบท และคนชนบท ซึ่งเป็นมุมมองสองกระแสหลักของความขัดแย้ง (หมายความว่ายังมีกลุ่มอื่นอีกมากที่ไม่ได้ถูกกล่าวถึง)  ที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน   โดยมีพื้นที่ชนบทเป็นฉาก และคนชนบทเป็นผู้แสดงหลักในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองและการพัฒนาของประเทศไทย

ในอดีตมุมมองที่มีต่อชนบทคือพื้นที่ซึ่งมีลักษณะความเป็นอื่น แตกต่าง จากจุดยืนของผู้ให้ความหมาย พื้นที่เป็นอื่นนี้คือพื้นที่อยู่ห่างไกลไม่คุ้นเคย ไม่รู้จัก และคาดการณ์ว่าจะมีลักษณะที่แตกต่างทางวัฒนธรรมอย่างสิ้นเชิง ชนบทไทยก็เช่นเดียวกัน การเกิดขึ้นของมโนทัศน์ชนบทก็คล้ายกับการเกิดขึ้นของการพัฒนา คำว่า “ชนบท” ปรากฏครั้งแรกในไตรภูมิพระร่วงในตอนที่กล่าวถึง มนุสสภูมิ[ii]พระมหาธรรมราชาลิไทยทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1864  หรือ 693 ปีผ่านมาแล้ว

“เมื่อพระมหาจักรพรรดิราชเจ้า แลรี้พลทั้งหลายอันมาด้วยพระองค์ดังกล่าวมานั้น ก็ขึ้นไปเถิงบนอากาศด้วยอำนาจแห่งกงจักรแก้วนั้น เขาก็แลเห็นทั่วทุกแห่งทุกตำบล... แลเห็นเมืองน้อยแลเมืองใหญ่เมืองรามแลถิ่นถามคามชนบทอันมิรู้จักชื่อนามนั้นจะนับมิถ้วนได้เลยฯ”

ชนบทในความหมายเริ่มแรกจึงมีลักษณะของความเป็นอื่น เป็นถิ่นที่ไม่รู้จัก ห่างไกลออกไปในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้นิยามไว้ว่า “ชนบท  คือ บ้านนอก, เขตแดนที่พ้นจากเมืองหลวงออกไป”  ความหมายของชนบทในการรับรู้โดยทั่วไปจึงมีลักษณะการมองชนบทจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ห่างไกล มีพื้นที่กว้างใหญ่  มีสภาพเป็นธรรมชาติมากกว่าการประดิษฐ์สร้างด้วยน้ำมือของมนุษย์ ป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำ ที่สวยงามอุดมสมบูรณ์  ขณะที่คำว่าบ้านนอก ดูจะเป็นคำที่มีการให้คุณค่าในเชิงล้าหลังกันดาร และด้อยพัฒนา ดังจะเห็นได้จาก สารานุกรมฉบับเยาวชนไทย เล่มที่ 13 (2532) ว่าด้วยเรื่อง ชีวิตชนบทไทย กล่าวถึงชนบทไว้ว่า[iii]

 

 “สำหรับชนบทอีกส่วนหนึ่งที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เราอาจเรียกได้ว่า "เขตชนบทยากจน" คนชนบทในเขตนี้ยังมีความเป็นอยู่ในสภาพเดิมหรือเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยบ้านเรือนส่วนใหญ่ยังเป็นกระท่อมหลังคามุงจากอาหารการกินก็พึ่งผักหญ้า พวกสัตว์และแมลงที่อยู่ตามธรรมชาติในท้องถิ่นน้ำกินน้ำใช้ก็อาศัยบ่อน้ำบาดาลหรือสระน้ำสาธารณะที่มีอยู่ในหมู่บ้าน เจ็บไข้ได้ป่วยก็อาศัยยากลางบ้านยาแผนโบราณ หรือในบางท้องที่ก็รักษาทางไสยศาสตร์ การทำมาหากินก็ใช้แรงงานโคกระบือในการไถนา ข้าวที่กินก็ใช้วิธีตำและฝัดข้าวการหุงหาอาหารก็ใช้ฟืน ยังไม่มีไฟฟ้าต้องตะเกียงลาน”

ชนบทในมุมมองเริ่มแรกจึงมี 2 ลักษณะที่ผสมปนเปกันอยู่คือ ชนบทในฐานะพื้นที่ทางกายภาพที่ห่างไกล ป่าเขา และคนชนบทซึ่งอาศัยอยู่ในความแห้งแล้งกันดาร ขาดแคลน โดยจะเห็นได้อย่างชัดเจนในการให้ความหมายของชนบทล้าหลัง ห่างไกล ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรกเป็นต้นมา (2504)  นอกจากนั้นใน  ละครโทรทัศน์  เพลง  โฆษณา บทร้อยแก้ว (ทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย งานเขียนทางวิชาการ)  และร้อยกรอง ล้วนตอกย้ำความแตกต่างระหว่างชนบท กับเมือง ในลักษณะจัดชั้นสูงต่ำ คือเมือง คนเมืองอยู่ในฐานะที่เหนือกว่า ดีกว่า ชนบท   รวมทั้งคำล้อเลียนที่พบเห็นได้ทั่วไปในสังคมไทยก็จะเป็นการล้อเลียนถิ่นฐานที่อยู่ที่มีความเป็นอื่นของผูถูกล้อ เช่น “เสี่ยว”  “ลาว”  “บ้านนอก” ปัจจุบันมีคำว่า สร็อกกราว หรือเซาะกราว แปลว่า บ้านนอก ในภาษาเขมรเพิ่มมาด้วย

แม้ในปัจจุบัน  ที่ชนบทจะมีความพยายามเสนอภาพชนบทในลักษณะลูกผสม พร่าเบลอ และพื้นที่ความตรงข้ามกับเมืองถูกสั่นคลอนด้วยการ สลายเส้นแบ่ง และเกิดขึ้นของเส้นแบ่งใหม่ ๆ[iv]

ระหว่างเมือง-ชนบท แต่คนสองกลุ่มที่ถกเถียงกันอยู่ในเวลานี้ก็มีมุมมองต่อชนบทที่มีฐานการมองไม่ได้ต่างกัน กล่าวคือ ทั้งสองกลุ่มยังคงมองชนบทว่าเป็นอื่น แตกต่าง และล้าหลังเมื่อเทียบกับเมืองอยู่นั่นเอง

กลุ่มคนดี มองชนบทว่า งดงามในน้ำใจ เรียบง่ายในวิถีชีวิต และมีความสุขกับธรรมชาติกับวิถีพอเพียง เป็นชนบทที่ “โลกสวย” ไร้การเมือง บริสุทธิ์ ตรงไปตรงมา ไม่เสแสร้งหลอกลวง   คนดีเหล่านี้มีความใฝ่ฝันอยากจะไปใช้ชีวิตอยู่ในชนบท  อยากไปเป็นชาวนา  อยากมีที่ดินสัก 5 ไร่ ทำการเกษตรทฤษฏีใหม่ ปลูกข้าว และ “ปลูกทุกอย่างที่กินกินทุกอย่างที่ปลูก” ชนบทในความหมายของคนเหล่านี้คือ อากาศบริสุทธิ์  พื้นที่เขียวขจีไปด้วยต้นไม้  มีลำธารไหลผ่าน มีป่าอันอุดมสมบูรณ์ ผู้คนมีน้ำใจช่วยเหลือเกื้อกูลกันดุจดังหมู่บ้านในนิทาน   กลุ่มคนดีจึงเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่บริโภคความเป็นชนบท เพราะสินค้าและบริการชนบทตอบสนองต่อรสนิยมการบริโภคของคนเมืองสมัยใหม่  ที่นิยมสินค้าเชิงอัตลักษณ์ผลิตขึ้นด้วยวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ซึ่งมีเรื่องเล่าความเป็นมา เป็นสินค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และเป็นผลดีต่อสุขภาพ ทั้งยังเป็นการบริโภคที่ส่งเสริมอัตลักษณ์ความเป็นคนดี คือได้ช่วยเหลือให้ชาวบ้านมีอาชีพ มีรายได้   คนดีจึงชี่นชม “เศรษฐกิจพอเพียง” เพราะ เศรษฐกิจพอเพียงช่วยธำรงรักษาความเป็นชนบทในฐานะแหล่งสินค้า และบริการ ที่ยังคงเป็นสินค้าพื้นเมือง เชื่อมั่นและไว้วางใจได้[v]  ดังเช่น “ข้าวคุณธรรม” ที่ชาวนาผู้รักษาศีลห้าเป็นผู้ปลูก

 

แต่ในอีกด้านหนึ่ง กลุ่มคนดี ก็ไม่ยอมรับคนชนบทที่ใส่เสื้อสีแดง ชาวชนบทผู้นิยมชมชอบนโยบายประชานิยมของทักษิณ โดยกันแยกคนกลุ่มนี้ออกไปจากชนบท แต่ให้สลากโดยลดทอนให้กลายเป็น “ควายแดง” เป็น “ทาสทักษิณ” แทนโดยคนดีเหล่านี้ประกาศตัวว่ารักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นที่สุด และแสดงออกถึงความรักด้วยการทำลาย ขจัด ปราบปราม ฝ่ายตรงข้ามที่ไม่นิยมเทิดทูลสถาบันหลักของชาติ ดังเช่น ตั้งองค์กรเก็บขยะแผ่นดินขึ้นมาทำหน้าที่ “ขจัดพวกหมิ่นให้สิ้นซาก”

มุมมองแบบนี้ได้รับการวิจารณ์จากฝ่ายคนเท่ากัน ว่า เป็นวิธีคิดแบบอำมาตย์ มองชนบท คนชนบท แบบโลกสวย(romanticize) ขณะเดียวกันก็แช่แข็งความเป็นชนบทไว้ในแนวทางที่ตนเองต้องการจะให้เป็น มองไม่เห็นความทุกข์ยากขาดแคลน ความไม่เท่าเทียม ถูกเอารัดเอาเปรียบ การต้องต่อสู้ดิ้นรน โลกของคนดีมีศูนย์กลางของจักรวาลอยู่สองขั้วหลัก คือ สถาบันกษัตริย์คือตัวแทนของความดีงามทั้งปวง  ซึ่งชนบทในสายตาของคนดีเหล่านี้ก็คือชนบทที่น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต ขณะที่ศูนย์กลางอีกขั้วคือ ทักษิณ ซึ่งเป็นเหตุแห่งความเลวร้าย และสร้างสิ่งแปลกปลอม และมอมเมาชาวชนบทกลุ่มหนึ่งให้หลงผิด เห็นแก่เงิน และนโยบายประชานิยมที่ทักษิณหยิบยื่น   คนดีจึงถูกเรียกโดยคนเท่ากันว่า “สลิ่ม”[vi]เป็นกลุ่มคนที่ไม่เคยมองเห็นคนเท่าเทียมกัน

กลุ่มคนเท่ากัน มีวิธีคิดว่า คนเท่าเทียมกัน สิ่งที่ชัดเจนคือ มักจะกล่าวอ้างว่า แม้นักการเมืองอย่างทักษิณจะผิดพลาด มีปัญหาการคอรัปชั่น แต่ประชาชนก็ด่าได้ ถอดถอนออกจากตำแหน่งตามกระบวนการได้ ซึ่งต่างจากอำมาตย์ที่ทำอะไรก็ล้วนเป็นต้องถูกต้อง ดีงาม แม้จะกระทำผิดพลาดแต่ไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์หรือถอดถอดออกจากตำแหน่งได้ [vii]กลุ่มคนเท่ากันมีจุดยืนในการมองคนชนบทว่า มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่นเดียวกับคนเมือง หรือชนชั้นกลาง คนชนบทมีวิธีคิดอย่างมีเหตุมีผลผ่านกระบวนการเลือกตั้งในฐานะที่เป็นเป็นผู้บริโภคสินค้าสาธารณะที่ตอบสนองต่อความต้องการ การเลือกนโยบายประชานิยม เพราะนโยบายเอื้อประโยชน์ให้โดยตรง และเป็นการใช้สิทธิในการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย งานวิชาการหลายชิ้นเสนอว่า คนชนบทไม่ได้ตัดสินใจเลือกผู้แทนจากเงินที่ถูกซื้อเสียง เป็นเพียงเงินพิเศษหรือ “แต๊ะเอีย”[viii]  คนชนบทรู้จักการเมือง และใช้เหตุผลในการตัดสินใจดียิ่งกว่าคนเมือง เพราะมีประสบการณ์การเลือกตั้งบ่อยครั้งกว่าทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับชาติ[ix]นอกจากนั้นคนชนบทยังเป็นผู้ตื่นรู้ เท่าทัน ติดตามข้อมูลข่าวสารทางการเมือง ซึ่งบางทีอาจจะมากยิ่งกว่าคนเมืองที่เป็น “สลิ่ม” ซึ่งเดียงสาทางการเมืองด้วยซ้ำ  กลุ่มคนเท่ากันยกชูคนชนบท ในอีกด้านหนึ่งซึ่งต่างไปจากกลุ่ม คนดี เพราะในขณะคนดี มองว่าชนบทนั้นงดงาม ใสซื่อบริสุทธิ์ คนเท่ากันกลับมองว่า คนชนบทผ่านกระบวนการต่อสู้เคลื่อนไหว และต้องการเรียกร้องประชาธิปไตย ผ่านการแสดงออกทางการเมืองในนามคนเสื้อแดง  แต่ในขณะเดียวกัน คนชนบททางใต้ก็ถูกกันแยกออกไปจากความเป็นคนชนบทไม่ต่างจากที่คนดี กันคนชนบทเสื้อแดงออกจากความเป็นชนบท คนทางใต้ไม่ได้ตื่นรู้เท่าคนอีสาน  และคนเหนือยังคงเลือกพรรคการเมืองเดิม ๆ ที่ถูกเรียกว่า “แมลงสาบ” โดยไม่คิดตั้งคำถาม ข้อสงสัย ยังคงมองเห็นนักการเมืองที่เคยถูกกล่าวหาว่าทุจริตคอรัปชั่นว่าเป็นคนดี  กลุ่มคนเท่ากันโจมตีไปยังความไม่เท่าเทียมกันทั้งหลายที่เกิดขึ้นสังคม เช่น คัดค้านมาตรา 112   การให้คนดีมาปกครองบ้านเมืองโดยไม่ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง   รวมทั้งตั้งคำถามการล้มโครงการที่จะกระจายการพัฒนาไปสู่ชนบท เช่น กรณีรถไฟความเร็วสูง  หรือการจัดสรรงบประมาณที่มักจะกระจุกอยู่ที่ส่วนกลางและการเคลื่อนไหวของชนชั้นกลาง เช่น กรณีเขื่อนแม่วงก์[x]คนเท่ากัน ชื่นชมนโยบายประชานิยมแบบทักษิณ ชื่นชมนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะเชื่อว่าจะนำไปสู่ความเท่าเทียมกัน หรืออย่างน้อยก็ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมลง

กลุ่มคนเท่ากันได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นพวกเสรีนิยม ไม่สำนึกในบุญคุณแผ่นดิน ไม่รู้ว่าแผ่นดินนี้เป็นของใคร และใครที่เป็นผู้ปกป้องรักษาแผ่นดินไทยมาจวบจนทุกวันนี้  คนเท่ากันเป็นทำให้ระบบคุณธรรม ศีลธรรมทางสังคมสั่นคลอน [xi]โดยยอมรับนักการเมืองที่ “เลว” ทุจริตคอรัปชั่น  และเรียกกลุ่มคนเท่ากันนี้ว่าเป็นทาสหรือถูกซื้อทักษิณ ถ้าเป็นระดับชาวบ้านก็เป็น “ควายแดง”

ชนบทในจินตกรรมของทั้งคู่จึงต่างกันที่ชนบทในสายตาของคนดี คือชนบทที่รักษาไว้ซึ่งความดีงาม วัฒนธรรมดั้งเดิม วิถีชีวิตพอเพียงที่ยึดโยงอยู่กับธรรมชาติ ไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้อง สัมพันธ์กับนักการเมือง กับการเลือกตั้ง เพราะมักจะเลือกนักการเมืองที่เข้ามาทุจริต คอรัปชั่น คนชนบทควรจะเข้าใจ และเรียนรู้การเมืองให้เพียงพอก่อน ก่อนจะได้รับสิทธิเลือกตั้ง กล่าวอีกนัยหนึ่ง “คนชนบทยังไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย”

ขณะที่ คนเท่ากัน มองคนชนบทว่า เป็นผู้ตื่นรู้ ตาสว่าง เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ทางการเมือง มีเหตุมีผล รู้จักคิดใคร่ครวญ รักในประชาธิปไตย เพราะรับรู้ว่า ประชาธิปไตยทำให้ “คนเท่ากัน”       

อย่างไรก็ตามทั้งสองกลุ่ม

1. ยังคงมีวิธีการมองคนชนบทไม่ต่างกันคือ มีความเป็นอื่น ที่แตกต่างไปจากตนเอง และยังคงเดินตามหลังคนเมือง คนชั้นกลาง  กลุ่มคนดี ต้องการให้ชนบทอยู่ในแบบที่เคยอยู่ในอดีต รักษาสิ่งที่ดีงามในสายตาของคนดีไว้ และยังคงไม่พร้อมในหลาย ๆ ด้านหากจะมีวิถีชีวิตแบบคนเมืองเพราะไม่รู้เท่าทัน  ขณะที่ คนเท่ากัน แม้จะยกย่องเชิดชูชนบทว่าเท่าทัน และเปลี่ยนแปลงแล้ว แต่ก็ยังคงมีเมือง มีชนชั้นกลาง เป็นตัวแบบที่คนชนบทต้องเดินตาม นั่นคือแนวคิด ความเป็นประชาธิปไตย ความเท่าเทียมกัน สิทธิ เสรีภาพ แบบชนชั้นกลางซึ่งวิธีคิดกลุ่มคนเท่ากับ มองว่าเริ่มได้รับการยอมรับในชนบท  แต่ในอีกนัยหนึ่งก็คือ ชนบทยังคงเดินตาม โดยมีเมือง คนชั้นกลางเป็นตัวแบบอยู่เช่นเดิม

2. ทั้งคู่มองชนบทแบบโลกสวย ไม่ต่างกัน คือคนดี มองว่าชนบทสวยงามด้วยจิตใจเอื้ออาทร มีธรรมชาติสมบูรณ์ และพอเพียง โดยมองไม่เห็นความทุกข์ยาก ขาดแคลน การต่อสู้ดิ้นรน และถูกเอารัดเอาเปรียบ ขณะที่ คนเท่ากัน ก็มองคนชนบทเสมือนเป็นผู้มาปลดปล่อย เป็นภาคประชาชนที่มีพลังลุกขึ้นมาต่อสู้ ทางสิทธิ์ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง โดยมองไม่เห็นระบบความสัมพันธ์แบบเครือญาติ ผู้มีบุญคุณ ผู้อุปถัมภ์ ที่ดำรงอยู่ในชนบท คนยากจน ชายขอบ ซึ่งถูกเบียดขับและไม่เคยรับรู้เกี่ยวข้องกับการเมือง  ในขณะเดียวกันก็ยอมรับไม่ได้กับการ ธรรมเนียมประเพณี และเศรษฐกิจ-การเมืองท้องถิ่นที่ยึดโยงกับตัวบุคคลของภาคใต้ ที่ยังคงยึดมั่นกับพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวมาโดยตลอด ความไม่เท่าทันและไม่ประสาทางการเมืองจึงยังคงมีอยู่ในการรับรู้ต่อชนบทของทั้งสองกลุ่มไม่ต่างกันและต่างก็ยกชูชนบทที่สอดคล้องตามภาพฝันที่ตนเองอยากจะให้เป็น

3. ทั้งสองฝ่ายต่างมองข้ามบริบทของท้องถิ่น  อธิบายชนบทด้วยการเมืองส่วนกลางที่มีผลกระทบต่อชนบท คนชนบท โดยลดทอนความซับซ้อนของการเมืองในท้องถิ่น กลุ่มผลประโยชน์ และองค์กรทางสังคมที่หลายหลายแตกต่าง แม้ว่าทั้งสองฝ่ายอธิบายชนบทด้วยการเมือง ฝ่ายแรกเป็นการเมืองแบบพ่อปกครองลูก ที่ลดทอนการเมืองของชนบทลงเหลือเพียงความไม่รู้เท่าทัน ส่วนฝ่ายที่สองเป็นการเมืองในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่   แต่ทั้งสองฝ่ายละเลยบริบทภายในพื้นที่ชนบทเอง เป็นการเมืองท้องถิ่น ซึ่งมีอิทธิพลของหัวคะแนน นักการเมืองท้องถิ่น ระบบเครือญาติ โครงข่ายการเมืองและการพัฒนาที่ซ้อนทับกันอยู่ในชนบท เงื่อนไขบริบทเหล่านี้ ไม่เคยถูกหยิบยกมาอธิบายชนบท

ปัญหาที่สำคัญมากของการมองชนบทในแวดวงวิชาการที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคือ ทั้งสองฝ่ายก็ยังยึดติดกับคู่ตรงข้าม ชนบทยังคงมีคนเมือง ชนชั้นกลางเป็นคู่สนทนาที่ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างชนบทกับเมือง  และหากเมืองหมดสิ้นไป ชนบทก็จะไม่สามารถดำรงอยู่อย่างมีความหมายด้วยตนเองได้เพราะอิงแอบความหมาย และนิยาม ผ่านการส่องกระจกที่มองเห็นชนบทผ่านเงาของเมืองในกระจก ซึ่งเป็นภาพกลับทิศในทางตรงข้ามแต่ไม่เคยที่จะมองชนบทในฐานะที่มีอาณาบริเวณ (territorial) ตัวตนของตัวเอง มีปฏิสัมพันธ์ทั้งในความขัดแย้ง แข่งขัน พึ่งพากับเมืองอย่างแนบแน่น เป็นชนบทและเมืองที่ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนสินค้า และบริการ  เป็นการเมืองเฉพาะของท้องถิ่น ที่การเมืองใหญ่เป็นเพียงองค์ประกอบของการขับเคลื่อน วิธีการอธิบายแบบนี้คือการมองที่เห็นถึงความแตกต่าง หลากหลาย และให้คุณค่ากับชนบท ที่มีคุณค่า วัฒนธรรม และมีการเมืองที่เป็นของตัวเอง ซึ่งเป็นชนบทที่ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นชนบทกึ่งเมืองที่พร่าเลือน หรือเป็นชนบทที่เป็นขั้วตรงข้ามกับเมือง แต่เป็นชนบทที่มีพื้นที่อาณาบริเวณเฉพาะที่เป็นของตนเอง แตกต่าง และมีศักดิ์ศรี ที่เท่าเทียมกับอาณาบริเวณอื่นๆ  ซึ่งจะช่วยขยายพรมแดนความรู้ด้านชนบทศึกษาให้ก้าวหน้าขึ้น เป็นความรู้ที่มาจากภายใน (within) มากกว่าจะมาจากข้างบน (top-down) หรือข้างล่าง (bottom-up)  ที่หนีไม่พ้นวิธีคิดและมุมมองความรู้จากคนเมือง ชนชั้นกลาง  ที่เลือกคนชนบทมาเป็นตัวแสดงหลักของความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในเวลานี้

 

 




[i]สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, http://www.gvc.tu.ac.th

[ii]พระญาลิไทย, ไตรภูมิพระร่วง ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2,2506. http://olddreamz.com/bookshelf/tibhum/tibhum.doc

[iii]โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จ, สารานุกรมไทยฉบับเยาวชน เล่มที่ 13, 2532.

http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=13&chap=2&page=t13-2-infodetail04.html

[iv]สามชาย ศรีสันต์, “บัณฑิตอาสาสมัคร ในยุคเปลี่ยนผ่านของชนบทไทย”, วารสารสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร ปีที่9 ฉบับที่ 2, 2556, น.50-56,81.

[v]สามชาย ศรีสันต์, เศรษฐกิจพอเพียงกับการสร้างอัตลักษณ์ความพอเพียงให้กับคนชนบท, วารสารสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร ปีที่ 7 ฉบับที่1, 2555, น.15-27. https://www.academia.edu/5147195/_

[vi]FarisYothasamuth, อะไรคือสลิ่ม,http://prachatai.com/journal/2011/11/37957)

[vii]ดูความเห็นทำนองนี้ได้ใน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, https://www.facebook.com/somsakjeam

[viii]ดู 'ผาสุก พงษ์ไพจิตร' ชำแหละมายาคติเรื่องการซื้อเสียง,

http://shows.voicetv.co.th/voice-news/94003.html

[ix]ยุกติ มุกดาวิจิตร, ชนบทเปลี่ยนไปแล้ว, http://www.youtube.com/watch?v=EVaFCtFeOBU

[x]noname, ค้านเขื่อนแม่วงก์ ความฟินของชนชั้นกลางhttp://blogazine.in.th/blogs/noname/post/4368

[xi]ดูงานของสมบัติ จันทรวงศ์  วิกฤตความแตกแยกของธรรมวิทยาของพลเมือง การศึกษาการประกาศธรรมของประกาสกร่วมสมัย  ธรรมวิทยาสังคมไทย, ปาฐกถาของเกษียร เตชะพีระ, ปาฐกถา เกษียร เตชะพีระ: โจทย์ใหม่ เหลือง-แดง และการเมืองแบบศีลธรรมhttp://prachatai.com/journal/2013/06/47422

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net