‘กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด’ร้องถูกนายทหารคุกคาม ปมออกระเบียบชุมชนตั้งด่านกั้นทางขนแร่

เผยนายทหารอ้างเป็นตัวแทนผู้ซื้อทองแดงจากเหมืองทุ่งคำเข้าข่มขู่คุกคามแกนนำ ร้องให้ กสม.สอบสวนการละเมิดสิทธิฯ ขอ ผบ.ทบ.สอบวินัยกลุ่มนายทหาร ส่วน ผบ.ตร.สอบสวนการปฏิบัติงานของตำรวจในท้องที่ ด้าน DSI ให้สอบสวนการซื้อ-ขาย-ขนแร่ และดำเนินการด้านความปลอดภัยของแกนนำ-ชาวบ้านเป็นคดีพิเศษ
<--break- />
 
 
24 เม.ย. 2557 กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย เผยแพร่จดหมายเปิดผนึก ร้องเรียนการละเมิดสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน และกรณีปัญหาการข่มขู่ คุกคามคนในหมู่บ้าน ส่งถึง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ อุตสาหกรรมจังหวัดเลย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง
 
สืบเนื่องจากจากกรณีเมื่อ 22 เม.ย. 2557 เวลาประมาณ 10.00 น. พล.ท.ปรเมษฐ์ ป้อมนาค และผู้ติดตามประมาณ 15 คน เดินทางไปยังบ้านของ นายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ แกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด โดยอ้างว่าเป็นทหารและเป็นตัวแทนของ นายธนาวุธ ทิมสุวรรณ นายก อบจ.เลย ผู้ซื้อแร่ทองแดงจาก บริษัท ทุ่งคำ จำกัด โดยมีการทำสัญญาซื้อ-ขายกันแล้ว และได้ขอใบอนุญาตขนแร่แล้ว แต่ไม่สามารถขนแร่ทองแดงออกมาจากเหมืองได้เนื่องจากการคัดค้านของกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดและประชาชนในพื้นที่ ด้วยระเบียบชุมชนห้ามรถบรรทุกน้ำหนักเกิน 15 ตันใช้ทาง และทำกำแพงกั้นบนถนนสาธารณะของชุมชน
 
 
ระหว่างการเจรจามีชาวบ้านประมาณ 60 คน ติดตามสถานการณ์อยู่ โดยพล.ท.ปรเมษฐ์ ย้ำจะขอคำตอบว่าจะมีการขนแร่ผ่านทางสาธารณะของชุมชนได้หรือไม่ แต่นายสุรพันธ์กล่าวว่าการเจรจาจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีการประชุมชาวบ้านกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดทั้ง 6 หมู่บ้านก่อน เนื่องจากการตัดสินใจทั้งหมดจะผ่านที่ประชุม และเป็นมติของที่ประชุม
 
อย่างไรก็ตาม ตามความคิดเห็นของชาวบ้าน การที่ผู้ซื้อแร่ส่งทหารมาเป็นผู้แทนในการเจรจา และห้ามไม่ให้สื่อมวลชนในพื้นที่ถ่ายรูป รวมถึงพฤติกรรมในการสอบถามพูดคุยกับชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านมีความกังวลในเรื่องความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
 
จดหมายเปิดผนึก ระบุถึงข้อร้องเรียนของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดต่อหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบ 6 ข้อ ดังนี้ 1.ขอให้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดำเนินการสอบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนต่อกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน
 
2.ขอให้ ผู้บัญชาการทหารบก ดำเนินการสอบสวนวินัยกลุ่มนายทหารดังกล่าวในข้อความข้างต้น 3.ขอให้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการสอบสวนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่จากคดีวางระเบิด 2 จุดในหมู่บ้านไม่มีความคืบหน้า 4.ขอให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินการสอบสวนการซื้อ-ขาย-ขนแร่ และดำเนินการด้านความปลอดภัยของแกนนำและชาวบ้านเป็นคดีพิเศษ
 
5.ขอให้ อุตสาหกรรมจังหวัดเลย ดำเนินการตรวจสอบใบอนุญาตการซื้อ-ขายแร่ และใบอนุญาตขนแร่ ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และ 6.ขอให้ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง ในฐานะผู้อำนวยการทางหลวงท้องถิ่น เฝ้าระวังอย่างเคร่งครัดในการใช้รถบรรทุกขนย้ายแร่ที่มีน้ำหนักเกินกฎหมายกำหนด
 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ก่อนหน้านี้ว่า เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2557 เหมืองทองคำพยายามรุกเจรจาแกนนำผู้ใหญ่บ้านในยามวิกาล ขอขนแร่ทองแดงมูลค่าหลายร้อยล้านบาท (ตามคำให้การของพนักงานทุ่งคำในชั้นศาล บริษัท ทุ่งคำ จำกัด มีแร่ทองแดงพร้อมขายในโกดังประมาณ 1,200 ตัน มูลค่า 300 ล้านบาท) ผ่านถนนสาธารณะของชุมชน โดยยื่นข้อเสนอจะยกฟ้องคดีอาญา 3 คดีให้ชาวบ้าน
 
ต่อมาวันที่ 21 เม.ย. 2557 ระหว่างงานทำบุญประเพณีของชาวบ้านหมู่บ้านนาหนองบง “คุ้มใหญ่” เกิดสถานการณ์ปั่นป่วนในหมู่บ้าน เนื่องจากมีรถพ่วง 18 ล้อ 4 คัน รถเครน 1 คัน จะขึ้นไปยังเหมืองทอง ชาวบ้านกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดและประชาชนในพื้นที่จึงระดมเฝ้าด่านตรวจเข้มและเฝ้าระวังความปลอดภัย ด้วยการตรวจสอบรถบรรทุกที่จะผ่านทางเข้า-ออก โดยยกระเบียบชุมชนจากมติประชาคม 6 หมู่บ้าน ห้ามรถบรรทุกน้ำหนักเกิน 15 ตัน ผ่านถนนสาธารณะของชุมชน และข้อกฎหมายที่ระบุว่า รถบรรทุกน้ำหนักเกิน 20 ตันห้ามใช้ทางหลวงชนบท
 
ทั้งนี้ จดหมายเปิดผนึกดังกล่าวมีรายละเอียดระบุถึงข้อสังเกตต่อเหตุการณ์ที่เกิดในพื้นที่ ดังนี้
 
 
จดหมายเปิดผนึก
 
เรื่อง      ร้องเรียนการละเมิดสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน และกรณีปัญหาการข่มขู่ คุกคามในหมู่บ้าน
 
เรียน      คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ผู้บัญชาการทหารบก
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
อุตสาหกรรมจังหวัดเลย
นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง
 
ความเป็นมาจากเหตุการณ์ วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๗ ที่มีการส่งนายหน้าเข้ามาเจรจากับแกนนำผู้ใหญ่บ้านในยามวิกาล เพื่อให้ผู้ซื้อแร่ทองแดงจาก บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ขนแร่ผ่านทาง บนถนนสาธารณะของชุมชน ที่มีระเบียบชุมชนห้ามรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ๑๕ ตันใช้ทาง โดยยื่นข้อเสนอจะยกฟ้อง ๓ คดีอาญา ซึ่งชาวบ้านจะต้องไปขึ้นศาลในวันที่ ๒๘ เมษายนนี้
 
รุ่งเช้าวันต่อมา เมื่อรถเครน ๑ คันวิ่งผ่านทางเข้าไปยังเหมืองทอง ตามด้วยรถบรรทุก ๑๘ ล้อ ๔ คัน รถปิดบังป้ายทะเบียนอีกไม่ต่ำว่า ๓ คันวิ่งเข้าออกระหว่างเหมืองทองกับหมู่บ้านตลอดวัน จากนั้น พล.ท.ปรเมษฐ์ ป้อมนาค และผู้ติดตามชายฉกรรจ์อีก ๑๖ คน (๔ คนใน ๑๖ คนอ้างว่าเป็นทหาร) ที่อ้างถึงความเกี่ยวพันกับคนในตระกูลทิมสุวรรณที่มีสายสัมพันธ์ต่อกันอย่างแน่นแฟ้น ได้บุกเข้าไปยังบ้าน นายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ แกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด อีกทั้งได้แสดงอาการคุกคามนักข่าวซึ่งอยู่ในช่วงปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ ก่อนจะยื่นข้อเจรจา จะขอผ่านทางชุมชนเพื่อขนแร่ทองแดง บีบคั้นจะเอาคำตอบให้ได้จากแกนนำ ทั้งนี้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด มีแร่ทองแดงพร้อมขายในโกดังประมาณ ๑,๒๐๐ ตัน มูลค่า ๓๐๐ ล้านบาท (ตามคำให้การของพนักงานทุ่งคำในชั้นศาล) จึงเป็นเหตุผลให้ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดปิดด่านตรวจรถบรรทุกที่ผิดระเบียบชุมชน ผิดกฎหมายจราจรที่ห้ามรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ๒๐ ตันใช้ทางหลวงชนบท และเพื่อป้องกันเหตุร้ายแรงที่ส่อเค้าคุกคามแกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดและประชาชนในหมู่บ้าน
 
ในคืนวันนั้น ชาวบ้านกลุ่มรักษ์บ้านเกิด ๖ หมู่บ้านรวมตัวประชุมใหญ่ มติที่ทุกคนเห็นตรงกัน คือ ไม่อนุญาตให้รถบรรทุกเกิน ๑๕ ตันใช้ถนนสาธารณะร่วมกับชุมชน และให้เพิ่มมาตรการด้านความปลอดภัย
 
ส่วนอีกเหตุผลสำคัญอีกประการ คือ พล.ท.ปรเมษฐ์ นายทหารนอกราชการที่ออกหน้าเข้ามาเจรจาในฐานะผู้ซื้อแร่ ไม่ได้เข้าใจสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่มาก่อน หรือเพียงตั้งใจเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหากำแพงใจให้ทุ่งคำ
 
ที่น่าสังเกต เช้านี้ (๒๓ เมษายน ๒๕๕๗) นายปรเมศ ปันสิทธิ์ ลูกชายของ นายปราโมทย์ ปันสิทธิ์ กรรมการ บริษัท ทุ่งคำฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) ต่อสายถึง นายสมัย ภักมี แกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดแต่เช้าขอนัดคุยแกนนำ ขณะเดียวกันผู้ติดตามของ พล.ท.ปรเมษฐ์ ต่อสายจะเข้ามาทวงถามคำตอบของชาวบ้านว่ามีความคืบหน้าอย่างไร แต่ผู้ติดตามของ พล.ท.ปรเมษฐ์ ก็ยกเลิกการนัดหมายที่จะมาฟังคำตอบอย่างง่ายดายเพียงแค่รู้ว่า นายปรเมศได้ติดต่อเพื่อขอพูดคุยกับชาวบ้านแล้ว
 
๑๑:๐๐ น. ของวันดังกล่าว นายปรเมศ และผู้ติดตามรวม ๓ คน มาถึงจุดนัดหมายที่จะพูดคุยกับตัวแทนของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด
 
ตัวแทนของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้ตั้งคำถามต่อการรับรู้ของทุ่งคำถึงการเข้ามาของกลุ่มทหารในฐานะผู้ซื้อแร่ ซึ่งสร้างความหวั่นเกรงในความไม่ปลอดภัยให้ชาวบ้าน
 
นายปรเมศยอมรับว่า ทุ่งคำรู้มีกลุ่มทหารเข้ามาในหมู่บ้าน แต่ปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับวิธีการ-พฤติกรรมในการเจรจาที่สร้างความหวั่นเกรงในความไม่ปลอดภัยให้ชาวบ้านจากท่าทีของกลุ่มทหารที่เข้ามาเหล่านั้น และยังไม่ทราบว่าใครหรือบริษัทใดเป็นผู้ซื้อแร่ของทุ่งคำ เพราะต้องสอบถามไปยังสำนักงานใหญ่ก่อน
 
ทั้งนี้ นายปรเมศ ได้ยื่นข้อเสนอให้ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเปิดการเจรจากับทุ่งคำอีกครั้ง โดยยกเรื่องการ “ปิดเหมือง ฟื้นฟู”  ซึ่งเป็นความต้องการของชาวบ้านขึ้นมาเป็นประเด็น
 
แต่จากประสบการณ์การเจรจาที่ผ่านมาระหว่างทุ่งคำกับชาวบ้าน ประเด็นแรกที่ทุ่งคำใช้ในการแลกเปลี่ยน คือ การให้ชาวบ้านทำลายกำแพงใจ เพื่อแลกกับการถอนฟ้องคดีเสมอมา โดยปัจจุบันตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ๓๓ คน ถูกฟ้องเป็นคดีแพ่งและอาญา ๗ คดีเรียกค่าเสียหายมากกว่า ๒๗๐ ล้านบาท
 
อีกทั้ง ทุ่งคำ โดยนายปราโมทย์ ปันสิทธิ์ กรรมการ บริษัท ทุ่งคำฮาเบอร์ ก็เคยยื่นข้อเสนอนอกรอบโดยจะแบ่งหุ้นให้กับชาวบ้าน ๒๐% จะผลิตทองคำโดยไม่ใช้ไซยาไนด์ จะให้ชาวบ้าน ๖ หมู่บ้าน เข้าตรวจสอบการดำเนินกิจการเหมืองแร่ได้ตลอดเวลา และจะแบ่งผลกำไรให้กับชาวบ้านในรูปแบบกองทุน
 
ด้านนายธนาวุธ ทิมสุวรรณ นายก อบจ. เลย ก็เคยออกตัวว่าเป็นนายหน้าที่ต้องการจะซื้อแร่ทองแดงจากทุ่งคำ โดยเสนอจะให้ค่าหัวคิวกับชาวบ้าน ๕% เพื่อแลกกับการขนแร่ผ่านถนนสาธารณะ ซึ่งจะต้องมีการทำลายกำแพงใจในช่วงขนแร่และจะสร้างคืนให้เมื่อขนแร่แล้วเสร็จ
 
แต่การเจรจาทั้งหมดที่เกิดขึ้นระหว่างทุ่งคำกับชาวบ้าน ๖ หมู่บ้าน ขาดความจริงใจ ไม่ใช่การแก้ปัญหา เป็นเพียงการหาแง่และกฎหมายที่นายทุนนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองกับชาวบ้านที่จะขนแร่ผ่านถนนสาธารณะและทำเหมืองต่อไปเท่านั้น
 
ดังนั้น ตัวแทนในการเจรจาของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จึงตั้งเงื่อนไขก่อนที่จะมีการเจรจา ให้ทุ่งคำรับประกันว่า จะไม่มีการขนแร่ทองแดงก่อนการเจรจา ให้เปิดเผยบริษัทผู้ซื้อแร่ ให้แสดงสัญญาซื้อขายแร่ระหว่างทุ่งคำกับคู่สัญญา ให้แสดงใบอนุญาตขนแร่ที่ผ่านการอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว และให้ผู้ที่จะมาเจรจามีเอกสารบันทึกการประชุมของกรรมการบริษัทที่มอบอำนาจในการตัดสินใจเด็ดขาดมาแสดง ทั้งนี้ เพื่อแสดงความจริงใจ และพิสูจน์ว่า กระบวนการในการซื้อ-ขาย และขนแร่ที่ผู้ซื้อและผู้ขายทำให้เป็นประเด็นเร่งด่วนถึงขนาดนี้ จะไม่ใช่การซื้อ-ขาย และขนแร่เถื่อน ผิดกฎหมาย โดยนายปรเมศ ตัวแทนของทุ่งคำที่แสดงความต้องการจะให้มีการเจรจาได้รับเงื่อนไขของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดทุกประการ
 
แต่ยังไม่พอ สำหรับความกังวลของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด เมื่อวิเคราะห์ถึงความเชื่อมโยงจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาทั้งหมด เริ่มจากขบวนรถตู้ของกลุ่มนายทหาร มีรถตำรวจนำหน้าเปิดทางและปิดท้ายให้ขบวน
 
ย้อนไปถึงการใช้กองกำลังตำรวจ บัญชาการโดย พล.ต.ต.ศักดา วงศ์ศิริยานนท์ หรือ “ผู้การเสือ” เพื่อปิดกั้นชาวบ้านไม่ให้เข้าร่วมใน เวทีพับลิก สโคปปิง ๒ ครั้ง อีกทั้งตำรวจยังเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการทำลายกำแพงใจของชาวบ้าน ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ตำแหน่งราชการในขณะนั้น) มีตำแหน่งเป็น กรรมการตรวจสอบและกรรมการอิสระของทุ่งคำ ตลอดจนการที่ตำรวจไม่เคยได้เข้ามาดูแลรักษาความปลอดภัยให้ชาวบ้าน เช่น คดีขู่วางระเบิด ๒ จุดในหมู่บ้านไม่มีความคืบหน้า
 
ที่น่าสังเกตคือ พล.ท.ปรเมษฐ์ เป็นอดีตนายทหารที่ทำธุรกิจหลายอย่างและรู้จักมักคุ้นกับ พล.อ.กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ อดีตกรรมการบริหารของทุ่งคำ
 
ปัจจุบันทั้งคู่ยังเป็นที่ปรึกษาให้กับ บริษัท เสริมทรัพย์ไพศาล กรุ๊ป 1999 และ พล.ท.ปรเมษฐ์ ยังอ้างถึงความสัมพันธ์อย่างชัดเจนระหว่างการเจรจากับแกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดว่า “เป็นพี่เป็นน้อง” กับ ตระกูลทิมสุวรรณ ซึ่งเป็นกลุ่มอิทธิพลเหมืองแร่ในจังหวัดเลย
 
ยิ่งเมื่อมองเหตุการณ์ความรุนแรงจากความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ กรณีที่ดินตลาดปัฐวิกรณ์ ซึ่งปรากฏชื่อในพาดหัวข่าวว่า พล.ท.ปรเมษฐ์ ป้อมนาค เป็นประธานที่ปรึกษา บริษัท ปัฐวิกรณ์ จำกัด
 
เครือข่ายความสัมพันธ์เชิงผลประโยชน์ที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้วิเคราะห์มาเหล่านี้ จะมีการเชื่อมโยง เกื้อหนุน โดยทุกฝ่ายจะแบ่งบทบาทกันอย่างไร
 
แล้วความปลอดภัยของชาวบ้านหากเกิดกรณีคุกคาม หรือความสุ่มเสี่ยงต่ออันตรายใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ?
 
ยิ่งในทัศนะของชาวบ้านที่ผ่านมา ทุ่งคำไม่เคยมีความชัดเจนในการแก้ปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ และความรู้สึกของชาวบ้านที่รับรู้ได้ในขณะนี้ คือ มีการส่งหน่วยปฏิบัติการพิเศษเข้ามาก้าวร้าว ข่มขู่ พร้อมข่าวลือแพร่สะพัดเรื่อง”อุ้มแกนนำ” ซึ่งน่าแปลกที่ทุ่งคำส่งตัวแทนมาให้ความหวังกับชาวบ้านต่อการเจรจาว่าจะมีการปิดเหมืองและฟื้นฟู
 
“ความสับสนกังวล” จึงเป็นคำถามในเวลานี้ที่ชาวบ้านทุกคนมีต่อท่าทีของทุ่งคำ
 
ธุรกิจค้าทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และละเมิดสิทธิของชุมชนอย่างร้ายแรง ทิศทางนี้หรือที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดหรือคนไทยต้องการ
 
ด้วยเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นดังนี้ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจึงขอร้องเรียนมายังหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบ
๑. ขอให้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดำเนินการสอบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนต่อกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน
 
๒. ขอให้ ผู้บัญชาการทหารบก ดำเนินการสอบสวนวินัยกลุ่มนายทหารดังกล่าวในข้อความข้างต้น
 
๓. ขอให้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการสอบสวนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่จากคดีวางระเบิด ๒ จุดในหมู่บ้านไม่มีความคืบหน้า
 
๔. ขอให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินการสอบสวนการซื้อ-ขาย-ขนแร่ และดำเนินการด้านความปลอดภัยของแกนนำและชาวบ้านเป็นคดีพิเศษ
 
๕. ขอให้ อุตสาหกรรมจังหวัดเลย ดำเนินการตรวจสอบใบอนุญาตการซื้อ-ขายแร่ และใบอนุญาตขนแร่ ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด
 
๖. ขอให้ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง ในฐานะผู้อำนวยการทางหลวงท้องถิ่น เฝ้าระวังอย่างเคร่งครัดในการใช้รถบรรทุกขนย้ายแร่ที่มีน้ำหนักเกินกฎหมายกำหนด
 
โดยขอให้ทุกหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบพิจารณาและดำเนินการอย่างเร่งด่วน
 
กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด
 
วันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๗
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท