ไม้หนึ่ง ก.กุนที “ ประชาชนคือผู้ควรบูชา ”

 

 

การสูญเสียไม้หนึ่ง ก.กุนที เมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน ก็เหมือนกับการสูญเสียชีวิตของคนอื่นๆ ไม่ว่าใคร ฝ่ายไหน ก็ไม่สมควรต้องตาย แต่ความตายที่ไม่มีเหตุผลได้ถูกทำให้เป็น “ความสูญเสียที่จำต้องเป็น” เพราะมี “สาเหตุ” ที่กำหนดให้จำต้องเป็นเช่นนั้น นั่นคือระบบอำนาจอันเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้ง ความรุนแรงทางการเมืองตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

ตราบใดที่ประชาชนไม่มีเสรีภาพจะพูดความจริงเกี่ยวกับปัญหาของระบบอำนาจเหนือประชาธิปไตย ไม่สามารถแก้ไข “กติกา” เกี่ยวกับระบบอำนาจนั้นให้อยู่ภายใต้หลักเสรีประชาธิปไตย ไม่สามารถทำให้กลไกสำคัญของอำนาจรัฐคือกองทัพ ระบบตุลาการ สถาบันศาสนา ระบบการศึกษาให้เป็นของประชาชนและทำหน้าที่บนอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ยังปล่อยให้กลไกเหล่านี้แสดงบทบาทสนับสนุนอุดมการณ์กษัตริย์นิยมเหนือประชาธิปไตยอย่างอหังการ ตราบนั้นความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์กษัตริย์นิยมกับอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยย่อมเป็นเงื่อนไขของความตายของประชาชนอยู่เสมอไป

แต่อำนาจใดเล่าจะปิดกั้นการ “ตื่นขึ้น” ของประชาชนได้ ในเมื่อประชาชนคือมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ มีความคิด จิตใจ เขาจะถูกครอบงำกล่อมเกลาให้สยบยอมต่อระบบอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้ตลอดไปได้อย่างไร ไม้หนึ่ง ก.กุนที ก็คือหนึ่งในประชาชนผู้ตื่นขึ้นนับหลายล้านคนจากอดีตจวบปัจจุบัน บทกวี “หญ้าแพรกอมตะ” ของเขาสะท้อนพลังจิตวิญญาณประชาชนผู้ตื่นขึ้น ตาสว่างแล้วอย่างทระนงยิ่งนัก

 

บูชาครูเสรีชน                คนเช่น จิ้น กรรมาชน
และพี่น้องมวลประชา    ทุกผู้กล้า ใส่เสื้อแดง

บูชาการลุกตื่น              เงยหน้าขึ้นเผชิญแสง
ฟ้าพิษเทพเสแสร้ง        สูบน้ำแล้งดินยากจน

บูชาคนธรรมดา             ก้าวหน้าเดินเต็มถนน
กองทัพของผู้ทุกข์ทน    สู้ปิ่นโจรปล้นแผ่นดิน

บูชาพันธุ์หญ้าแพรก      ช้างเหยียบแหลกไม่เคยสิ้น
ขยายคลุมธรณินทร์       เกิดและกินอย่างซื่อตรง

บูชาคนตาสว่าง            แจ้งกระจ่าง เลิกลุ่มหลง
รู้สิทธิ์คนมั่นคง             ไม่ใช่ผงใต้ฝ่าตีน
 
รบเถิดสามัญชน            ไม่จำนนผู้โหดหิน  
ปราสาทสูงร่วมกันปีน    หักยอดปิ่นมงกุฎโจร!

นี่เป็นหนึ่งในบทกวีจากหนังสือ “สถาปนาสถาบันประชาชน” (สำนักพิมพ์หอนาฬิกา) ที่ไม้หนึ่งอ่านในงาน  Thai Poet Forum เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2552 เป็นบทกวีที่มีเนื้อหาตรง แรง แหลมคม และเปี่ยมด้วยจิตวิญญาณที่เคารพเชิดชู “สามัญประชาชน”

ความแหลมคมในแง่มุม “อำนาจนำเชิงวัฒนธรรม”  คือการที่ไม้หนึ่งร่าย “บทสวด” เป็นบทนำบทกวีบนเวที Thai Poet Forum ด้วยท่วงทำนองเพลงสวดสำเนียงแขก ว่า “ปูชา จะ ปูชะนียานัง เอตัมมังคละมุตตะมัง” (แปลว่า “การบูชาคนที่ควรบูชาเป็นอุดมมงคล”) นี่คือการเปลี่ยนจารีตบทสวดในวัฒนธรรมศาสนาสยามไทยที่ใช้ “บทสวดอันศักดิ์สิทธิ์” ของศาสนาปลุกเสกอำนาจนำเชิงวัฒนธรรมของชนชั้นปกครอง ให้สูงส่งวิเศษมหัศจรรย์ครอบงำเหนือจิตสำนึกของผู้ใต้ปกครองมาอย่างยาวนายหลายศตวรรษ

ไม้หนึ่งได้เปลี่ยนตำแหน่งและหน้าที่ของบทสวดอันศักดิ์สิทธิ์จากที่เคยอยู่ในตำแหน่งซึ่งมีหน้าที่รับใช้สถานะและและอำนาจของชนชั้นสูงมาเชิดชู “สามัญประชาชน” เพื่อประกาศว่า ประชาชนต่างหากคือ “ผู้ที่ควรบูชา” อย่างแท้จริง!

ช่างต่างจากบรรดา “กวีรัตนโกสินทร์” ผู้ซึ่งแสดงบทบาท “กวีธรรม” แต่เสแสร้งมองไม่เห็นรากฐานของปัญหาประชาธิปไตยที่ประชนชนผู้ตื่นต่างมองเห็น แถมยังกดเหยียดสามัญประชาชนว่าถูกสนตะพาย ยอมเป็นทาสนักการเมืองโกง มีพฤติกรรมต่ำช้าเป็น “ถ่อยอธรรม” และ “เถื่อนอธรรม” แล้วพร่ำสอนชาวบ้านว่าต้องรู้จักจำแนกว่าฝ่ายไหนคือฝ่ายธรรมะฝ่ายอธรรม ฝ่ายไหนคือเทพ คือมาร พร่ำเทศนาเพราะเผลอผยองว่าตนเองคือผู้สูงส่งกว่าสามัญประชาชนทั้งทางปัญญาและศีลธรรม

แท้จริงแล้วหากจะมีความยิ่งใหญ่ของกวีใน “ประวัติศาสตร์ปริ่มสงครามกลางเมือง” ที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ ความยิ่งใหญ่นั้นย่อมอยู่ที่จิตวิญญาณเคารพเชิดชู “สามัญประชาชน” คือประชาชนคนธรรมดาที่มีโง่ ฉลาด คิดถูก คิดผิด ทำถูกทำผิดได้ เรียนรู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงตนเองได้ มีสิทธิ์ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นด้วยกำลังแรงของตนเองได้ โดยไม่ยอมให้ใครตราหน้าว่าเป็น “ประชาชนผู้ยังไม่พร้อม” ไม้หนึ่งคือกวีที่ยิ่งใหญ่ในความหมายนี้

สามัญประชาชน ไม่ใช่ผู้เชียร์ให้ฆ่าโดยอ้างเรื่องปกป้องอุดมการณ์ “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ที่เป็นนามธรรมอันถูกผลิตสร้างให้ดูศักดิ์สิทธิ์ ขรึมขลัง ทว่าคลุมเครือ แต่ยกให้สูงส่งเหนือคุณค่าชีวิตประชาชนโดยปลูกฝังกล่อมเกลาว่าประชาชนมีหน้าที่ “พลีชีวิต” อันมีค่ายิ่งของพวกเขาเพื่อปกป้องนามธรรมอันศักดิ์สิทธิ์คลุมเครือนั้นที่ไม่เกี่ยวกับชีวิตจริงของพวกเขาเลย

ราวกับบรรดาไพร่ ทาสในกาลอดีตที่ถูกกล่อมเกลาให้พลีจิตวิญญาณ กำลังแรงงาน อิสรภาพ และความสุขของพวกเขาอุทิศแด่การสร้างปราสาทราชวัง ศาสนสถาน เทวาลัย รูปปั้นมหึมา ทั้งรูปปั้นศิวลึงค์ รูปปั้นพระเจ้า พระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าที่ใบหน้าเหมือนเจ้าผู้ปกครอง ที่สร้างขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติยศของคนเพียงคนเดียว หรือคนไม่กี่คน โดยไม่เกี่ยวอะไรกับชีวิตจริงของไพร่ ทาสใดๆ เลย

แต่สามัญประชาชนได้แก่ คนธรรมดาที่ ไม้หนึ่งมองว่า คือคนที่ต่อสู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ ปากท้อง โอกาสเข้าถึงทุน การปลดหนี้ การได้รับสวัสดิการต่างๆ จากนโยบายรัฐบาลที่พวกเขาเลือก การปกป้องสิทธิที่จะเลือกพรรคการเมืองและนโยบายพรรคการเมืองที่พวกเขาเห็นว่าเกิดประโยชน์แก่ “ชีวิตจริง” ของตนเอง และปกต้องความมีอยู่แห่ง “ตัวตน” ของพวกเขาที่มีศักยภาพที่จะแสดงออกซึ่งมิติที่หลากหลายของความเป็นคน คำว่าเสียสละ ต่อสู้เพื่อประเทศชาติ เสรีภาพ และประชาธิปไตยของพวกเขา ไม่ใช่เพื่อ “นามธรรมลอยๆ” ที่ไม่เกี่ยวกับชีวิตจริงของพวกเขา

สามัญประชาชนเหล่านี้คือ “ประชาชนผู้ควรบูชา” และควรยกย่องเทิดทูนให้เป็น “สถาบันประชาชน” เหนือสถาบันใดๆ ในความหมายของ “ไม้หนึ่ง ก.กุนที” กวีของราษฎรในยุคเปลี่ยนผ่านแห่งสยามไทยปัจจุบัน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท