‘วรเจตน์-กิตติศักดิ์-สถิตย์’ ถกตุลาการกับสถานการณ์ทางการเมือง

26 เม.ย. 2557 เวลา 9.20 น. ณ ห้องจี๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โครงการ “เชิดชูครูกฏหมาย” เนื่องในงานรำลึก ศ.ดร.หยุด แสงอุทัย จัดสัมมนาทางวิชาการ “บทบาทการใช้อำนาจของตุลาการกับสถานการณ์ทางการเมือง” โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สถิตย์ ไพเราะ อดีตรองประธานศาลฎีกาและ สราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม พร้อมด้วยนักศึกษาและประชาชนทั่วไปเข้าร่วมหลายร้อยคน

0000

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ลักษณะของอำนาจตุลาการ  

วรเจตน์  กล่าวว่า ลักษณะหรือธรรมชาติของอำนาจตุลาการนั้นโดยเนื้อแท้แล้วเป็นอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาททางกฏหมาย เป็นลักษณะสำคัญประการแรกสุด ถ้าข้อพิพาทนั้นไม่ใช่ทางกฏหมาย เป็นข้อพิพาทในทางการเมือง เศรษฐกิจ ทางสังคมและวัฒนธรรม แต่ไม่มีประเด็นทางกฏหมายไม่ใช่อำนาจตุลาการจะเข้าไปเกี่ยวข้อตัดสินได้ ถ้าเรื่องนั้นเป็นเรื่องในทางการเมืองก็ต้องทำให้เรื่องนั้นกลายเป็นเป็นประเด็นหรือปัญหาในทางกฏหมาย แล้วใช้กฏหมายเป็นเกณฑ์หรือเป็นมาตรในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทนั้นๆ ซึ่งศาลไม่สามารถใช้เกณฑ์อื่นได้ในการชี้ขาดข้อพิพาทได้นอกจากกฏหมาย

ประการที่ 2 เมื่อวินิจฉัยแล้วคำวินิจฉัยนั้นก็จะผูกพันคู่ความเป็นเด็ดขาด คำพิพากษานั้นจะถูกหรือผิดก็จะจบสิ้นลง หากคู่ความไม่เห็นด้วยก็อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษานั้นไปจนกระทั่งถึงที่สุด ศาลเองเมื่อตัดสินคดีไปแล้วก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคำตัดสินตัวเองได้ แม้ตัวเองจะเห็นว่าคำตัดสินนั้นไม่ถูกต้อง

ประการที่ 3 การใช้อำนาจตุลาการนั้นต้องใช้โดยองค์กรที่เป็นอิสระไม่ได้อยู่ภายใต้อาณัติของบุคคลใด แต่ในความเป็นจริงนั้นไม่มีใครอยู่โดยอิสระอย่างสิ้นเชิงได้ ดังนั้นอิสระนั้นจึงเป็นอิสระจากการตกอยู่ภายใต้การของบุคคลอื่นในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาททางกฏหมาย แต่ศาลต้องผู้พันกับกฏหมาย จะใช้เจตจำนงค์ของตัวเองเข้าแทนที่ตัวบทกฏหมายเข้าตัดสินหรือวินิจฉัยคดีตามความต้องการของตนโดยขาดฐานทางกฏหมายรองรับไม่ได้

ประการสุดท้าย อำนาจตุลาการมีลักษณะเป็นอำนาจในเชิงรับ คือ ศาลเองจะเริ่มการใดๆไม่ได้เลยหากไม่มีการฟ้องคดี ทำให้อำนาจตุลาการแตกต่างไปจากอำนาจบริหารและนิติบัญญัติซึ่งเป็นอำนาจในเชิงรุก ในแง่ที่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆได้โดยการวางแผนไปข้างหน้า ในแง่นี้การทำงานของผู้พิพากษาคือการมองย้อนไปในอดีตทั้งสิ้น เป็นการตัดสินข้อพิพาทที่ข้อเท็จจริงยุติลงไปแล้วในอดีต

ศาลอาจจะใช้อำนาจในเชิงรับนี้ในการแสดงทัศนะในเชิงสร้างสรรค์ผ่านคำพิพากษาได้ แต่การกระทำนี้ก็ยังไม่สามารถทำให้ตุลาการเป็นอำนาจในเชิงรุกได้ “ไม่มีผู้พิพากษา ถ้าหากไม่มีผู้ฟ้องคดี”

ปัญหาตุลาการภิวัฒน์

ในวันนี้ปัญหาที่มันเกิดขึ้นเป็นเวลายาวนานหลายปีแล้วยังไม่ยุติ จุดเริ่มต้นของปัญหามาจากแนวความคิดเรื่อง “ตุลาการภิวัฒน์” เมื่อประมาณ 8-9 ปีก่อน จากการเดินขบวนขับไล่ รัฐบาลทักษิณ หลังจากนั้นมีนักวิชาการเสนอคำว่าตุลาการภิวัฒน์ขึ้น โดยแปลมาจากคำว่า “judicial review” ซึ่งจริงๆ คือ การทบทวนตรวจสอบในทางตุลาการ ให้ศาลเข้าไปมีบทบาทในเชิงรุกเพื่อแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ความคิดนี้ได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวางในสื่อและสังคม แต่ตนกลับเฝ้ามองด้วยความวิตกกังวลว่าในอนาคตจะทำให้ปัญหามันยุ่งยาก แก้ไขได้ยากขึ้น

บรรดาสิ่งแรกๆที่ศาลออกมานั้นเราจะเห็นกรณีศาลชั้นต้นไม่ให้ประกันตัว กกต. ชุดที่จัดการเลือกตั้งเมื่อปี 49 ต่อมามีเสียงเรียกร้องให้ กกต. ลาออก แต่ กกต. ชุดนั้นไม่ได้ลาออก หลังจากนั้นมีการแจ้งความดำเนินคดีเรื่องของการจัดการเลือกตั้งโดยมิชอบ และศาลไม่ให้ประกันตัว เมื่อศาลไม่ให้ประกันตัวแล้ว ต่อมา กกต.ก็ลาออกและพ้นจากตำแหน่ง และมีการส่งคนอื่นมาเป็น กกต. ต่อ เพื่อดำเนินการจัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งกรณีนี้เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาศาลฏีกาได้ตัดสินยกฟ้องคดีนี้ โดยให้เหตุผลว่าผู้ฟ้องคดีไม่ใช่ผู้เสียหาย ซึ่งตอนที่ฟ้องคดีใหม่ๆตนก็มีความเห็นว่าผู้ฟ้องๆคดีไม่ได้เช่นกัน เพราะไม่ใช่ผู้เสียหายในคดีนี้ แต่ขณะนั้นไม่มีใครสนใจในประเด็นนี้ ทุกคนคิดว่ามันเป็นปัญหาที่ต้องแก้โดยใช้องค์กรตุลาการเข้ามาแก้ไขผ่านแนวคิดเรื่องตุลาการภิวัฒน์

การไม่ให้ประกันตัว กกต ครั้งนั้น มันส่งผลสะเทือนทางการเมือง ทำให้มีการเปลี่ยนตัว กกต. และในเวลาต่อมาก็กำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่เกิดการรํฐประหารก่อน เมื่อ 19 ก.ย. 49 ซึ่งหลังจากรัฐประหารแล้วการอ้างอิงอำนาจตุลาการยังคงดำเนินต่อไป เหตุที่ดำเนินต่อเพราะการใช้อำนาจของทหารมาจัดการทางการเมืองไม่ได้รับการยอมรับจาโลกสมัยใหม่ ดังนั้นต้องใช้อำนาจที่แนบเนียนกว่าคืออำนาจตุลาการที่ดูเหมือนมีพื้นฐานความชอบธรรมมากกว่า เพราะต้อทำผ่านคำพิพากษาที่ดูเหมือนมีกระบวนการพิจารณา

ตุลาการภิวัฒน์กับผลกระทบระยะยาว

โดยบทบาทแล้วอำนาจตุลาการนั้นถูกออกแบบมาให้เป็นกลาง ซึ่งคำว่าเป็นกลางนั้นไม่ได้หมายความว่าผู้พิพากษาตัดสินโดยไม่สนใจอะไรเลย แต่หมายความว่าตัวบทบาทของตุลาการต้องวางอยู่บนความเชื่อถือของสาธารณะชนว่าไม่ได้เอนเอียงไปในฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สภาพแบบนี้มันขัดกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก่อนและหลังการรัฐประหาร 49 เพราะคนคาดหวังหรือโดยแนวคิดตุลาการภิวัฒน์คนคาดหวังว่าศาลจะมาแสดงบทบาท ซึ่งการรัฐประหารคือการกำจัดคู่ปรปักษ์ในทางการเมือง ซึ่งคู่ประปักษ์นั้นจะดีหรือเลวเป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่ประเด็นการใช้อำนาจรัฐประหารเข้ามาจัดการทาการเมืองมันเท่ากับเป็นกาแบ่งฝ่ายทางการเมืองชัดเจน มันมีอยู่ 2 ข้าง มันไม่มีข้างที่ 3 เมื่อมีการเสนอตุลาการภิวัฒน์ในบริบทแบบนั้น บทบาทในการแสดงออกมาหลังจากนั้น แม้ศาลจะบริสุทธิหรือไม่ แต่ในสายตาทั่วไป ก็จะรู้สึกว่ามันเป็นอีกฝ่ายเป็นอีกด้าน เพราะถูกเสนอในบริบทความขัดแย้งทางการเมืองดังกล่าว ซึ่งตนเคยเตือนว่ามันจะเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา เพราะอำนาจตุลาการที่ถูกออกแบบเป็นอำนาจสุดท้ายที่ชี้ขาดข้อพิพาททางกฏหมาย ซึ่งผลมันต้องจบ ทำให้มันมีต้นทุนที่สูงมาก หากนำไปใช้ต่อสู้ในทางการเมือง ถ้าคนทั่วไปรู้สึกว่าศาลไม่เป็นกลางแล้ว มันก็มีผลต่อการยอมรับเชื่อถือ

คิดว่าคนที่เสนอเรื่องตุลาการภิวัฒน์นั้นไม่ได้เข้าใจธรรมชาติของอำนาจตุลาการ หวังเพียงแก้ปัญหาทางการเมืองระยะสั้น สายตาสั้นมากๆ โดยคิดว่าใช้อำนาจแบบนี้จะจัดการปรปักษ์ทางการเมืองให้จบลงไปได้ แต่มันไม่ง่ายอย่างนั้น เมื่อศาลถูกดึงเข้ามาแล้วจะกลับออกไปเริ่มไม่ง่าย และเมื่อคนตั้งคำถามมากขึ้น ศาลก็ยังไม่หยุด ยังเดินหน้าต่อ และสิ่งที่เกิดขึ้นคือมีข้อวิจารณ์หลายอย่างที่มีน้ำหนักมากว่าการตัดสินไปนั้นถูกต้องตามหลักเกณฑ์หรือไม่ หลายคดี

ความเป็นจริงเราเห็นโดยทั่วไป บางทีผู้พิพากษาตุลาการแสดงทัศนะออกมา เช่น มีการเดินขบวนของผู้พิพากษาตุลาการจำนวนหนึ่งในนาม “กลุ่มตุลาการผู้รักแผ่นดิน” ออกมาบทบาท แม้จะบอกว่าสิ่งที่ทำเป็นการทำในนามส่วนตัว แต่ภาพในทางสาธารณะ คนที่รู้สึกว่ามันมีไม่ถูกต้องอยู่นั้น เขาจะเชื่อคำตัดสินคดีแบบนี้ได้หรือไม่ แล้วในอนาคตถ้าท่านเหล่านั้นไปนั่งบัลลังก์พจารณาคดีในทางการเมืองใครจะเชื่อท่าน

ความเสื่อมศรัทธาในการใช้อำนาจตุลาการ

วันนี้ความเสื่อมศรัทธาในการใช้อำนาจตุลาการในบางระดับมันประจักษ์มากขึ้น มันไม่สายเกินไปที่จะมาดูว่าอะไรคืออำนาจตุลาการ ไม่ได้หมายความว่าอำนาจตุลาการไม่ควรมีบทบาทเลยในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง มีได้ แต่การมีบทบาทนั้นต้องมีภายใต้ข้อจำกัดตนเอง

“ถ้าเกินข้อจำกัดตัวเองออกไป มันก็จะพ้นไปจากกรอบอำนาจของตุลาการ ศาลในการตัดสินคดีนั้นก็จะพ้นไปจากการเป็นผู้ที่ใช้กฏหมายหรือการเป็นผู้ใช้รัฐธรรมนูญ กลายเป็นตัวกฏหมายและกลายเป็นรัฐธรรมนูญเสียเอง”

เช่นเวลาที่สภาออกกฏหมายมาหรือมีกฏหมายอยู่แล้วสภาจะแก้ไขกฏหมายนั้น เรายอมไหมที่จะให้ศาลยุติธรรม ศาลปกครองเข้ามาตรวจสอบการแก้ไขกฏหมายของรัฐสภา เราไม่ยอม เพราะนี่คือระบบการถ่วงดุลอำนาจ

เวลาที่สภาใช้อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เราก็ไม่ยอมให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวสอบการแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งยังไม่ยุติในชั้นสภา เพราะยังไม่ลงมติในวาระที่ 3 ถ้าเรายอมแบบนี้ได้ ต่อไปเราก็ต้อยอมเวลาที่สภาแก้ไขกฏหมายฉบับหนึ่งก็ร้องศาลได้ แล้วศาลก็เข้ามาระงับยับยั้งได้ อ้างอิง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งคุ้มครองชั่วคราวการลงมติในวาระที่ 2 และ 3 ของสภาได้ ซึ่งเราต้องไม่ยอม

“ถ้าระบบมันเสียไป โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้าควบคุมการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเสียเอง ระบบจะไม่มีทางออก เพราะว่าศาลได้สถาปนาตัวเองขึ้นไปกลายเเป็นผู้ที่เหนือกว่ารัฐธรรมนูญหรือกลายเป็นรัฐธรรมนูญเสียเอง เป็นคนอนุญาติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทุกครั้ง”

การใช้กฏหายนั้นตนค่อนข้างกังวลใจ เมื่อเห็นทัศนะตุลาการบางท่านแสดงทัศนะถึงเรื่องการปรับใช้กฏหมาย ว่า เวลาศาลตัดสินคดี ก็จะดูคำชี้แจงของคู่ความ แล้วดูว่าคำชี้แจงนไหนเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่ากัน แล้วศาลจะไปหาข้อฏหมายมาสนับสนุนความเห็นความคิดของฝ่ายที่ศาลเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่า นี่เป็นทัศนะ ที่โดยหลักการการใช้กฏหมาย นั้นทำแบบนี้ไม่ได้ ถ้าเช่นนั้นกฏหมายจะไม่มีความหมาย วิธีใช้กฏหมายไม่ได้ตัดสินว่าฝ่ายใดมีประโยชน์สาธารณะมากว่า เพราะเราเอาความคิดของตัวเราเองไปแทนที่ของคนทั้งหมดไม่ได้ ศาลจึงมีหน้าที่ฟังข้อเท็จจริงให้ยุติ จากนั้นจึงไปดูข้อกฏหมายว่าข้อเท็จจริงที่ยุตินั้นปรับเข้ากับข้อกฏหมายได้ไหม แล้วข้อกฏหมายนั้นกำหนดผลทางกฏหมายอย่างไร จึงให้ผลทางกฏหมายออกมา ไม่ใช่เอาตัวเองเข้าไปแทนที่เรื่องของข้อกฏหมาย

“ไม่ใช่เอาตัวเองเข้าไปตัดสินก่อนว่าฝ่ายใด้มีประโยชน์มากกว่าจากทัศนะของตัวเอง เพราะศาลอาจจะผิดได้ ผมเรียนว่าหนทางไปสู่ความยุติธรรมนั้นมันต้องไปผ่านทางกฏหมาย โอเคมันมีความยุติธรรมอยู่ ทุกคนก็อยากได้ความยุติธรรม แต่ความยุติธรรมนั้นมันไม่ได้โดยใครคนใดคนหนึ่งสมมติตัวเองขึ้นมาเป็นคนเข้าถึงความยุติธรรม แล้วก็บอกว่านี่คือความยุติธรรม เพราะฉะนั้นผมตัดสินอย่างยุติธรรม โดยที่ไม่ได้เดินไปตามทางในทางกฏหมาย มันต้องใช้ทางทางกฏหมายไปสู่ความยุติธรรมมันถึงจะเกิดความยอบรับกัน”

นักแสวงหาสูญญากาศ

การใช้กฏหมายจะต้องอิงธรรมะในแง่ที่ว่าธรรมะคือความสม่ำเสมอ ด้วยเหตุนี้การตีความกฏหมายถ้ามันนำไปสู่ความผิดปกติ แสวงหาให้เกิดสูญญากาศให้ระบบกฏหมายมันขัดข้องใช้ไม่ได้ คนเหล่านั้นก็ไม่ใช่นักกฏหมาย แต่เป็นนักแสวงหาสุญญากาศ ทำให้ระบบมันขัดข้องหมด แล้วมันก็ไม่เป็นธรรมะ เพราะธรรมะคือความสม่ำเสมอ ความปกติ

ความต้องการทางการเมืองของแต่ละฝ่ายทุกคนมีไม่เหมือนกันเราเข้าใจได้ แต่มันต้องผ่านกระบวนการต่อสู้ขัดแย้งด้วยเหตุด้วยผล และองค์กรที่ทำหน้าที่ตรงนี้ต้องรู้จักข้อจำกัดอำนาจตัวเอง บทบาทนำในองค์กรตุลาการจำนวนหนึ่งในระยะเวลา 8-9 ปีที่ผ่านมา ถ้าไม่ปรับบทบาทศาลจะไม่ใช่คนยุติปัญหา ความขัดแย้งในสังคม แต่จะเป็นผู้จุดชนวนความขัดแย้งในสังคมให้บานปลายขึ้น แล้วแก้ไขยากยิ่งขึ้น ใช้เวลาเป็นรุ่นๆในการแก้ไข เนื่องจากเมื่อศาลตัดสินคดีแล้วคำพิพากษาจะถูกอ้างอิงไปเรื่อยๆ อีก

ศาลไม่ใช่ผู้แทนของเจตจำนงค์ฝ่ายเสียงข้างน้อย

ไม่มีใครปฏิเสธเรื่องการตรวจสอบ อำนาจนิติบัญญัติและบริหาร โดยอำนาจตุลาการ มันเป็นหนึ่งในหลักการแบ่งแยกอำนาจ ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานนิติรัฐ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ที่เราต้องตระหนักให้มากว่าทำไมสภาพการณ์แบบนี้ที่ระเบิดไปลงศาลจึงมากขึ้น เราจะตอบคำถามนี้ได้นั้นต้องมองย้อนไปในอดีตว่าทำไมสังคมเราเดินมาได้ถึงจุดนี้ และฝ่ายตุลาการมีบทบาทผลักดันให้มาถึงจุดนี้หรือไม่ เป็นสิ่งที่เราต้องทบทวนตรวจสอบ

ตนอยู่ในฝ่ายที่คัดค้านการรับร่างรัฐธรรมนูญปี 50 เพราะคิดว่ามันจะนำไปสู่ทางตัน เพราะดุลยอำนาจในหลักการแบ่งแยกอำนาจมันเสียไปในทางรัฐธรรมนูญ ยิ่งผนวกกับการตีความของศาลรัฐธรรมนูญด้วยในระยะเวลาหลายปีมานี้ เราจะเห็นอะไรแปลกเช่นตอนทำประชามติก็ให้รับๆไปก่อนแล้วแก้กันทีหลัง แล้วเมื่อมีการขอแก้รัฐธรรมนูญ อย่างการแก้เรื่องที่มาของวุฒิสภาจากระบบเดิมให้เป็นเลือกตั้งทั้งหมด สิ่งที่เกิดขึ้นคือศาล รธน. วินิจฉัยว่าการแก้ดังกล่าวเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เมื่อมาถึงจุดนี้เราน่าจะตอบคำถามได้แล้วว่าการตัดสินมันเป็นเหตุเป็นผลหรือไม่ ทั้งที่ฝ่ายแก้ๆตามกลไกรัฐธรรมนูญ ไม่ได้แก้โดยกลไกนอกระบบ แต่ศาลบอกว่าทำไม่ได้และกำลังจะถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดซ้ำร้อยกว่าคน ซึ่งเท่ากับว่าในอนาคตจะมีปัญหาต่อไปอีก มันจะมีอะไรเป็นกติกาที่เราจะยอมรับได้ เรื่องนี้ต้อตระหนักให้ดี มันมากกว่าการได้และเสียทางการเมือง มันคือจุดขอการที่จะอยู่ร่วมกันได้หรือไม่ได้ ซึ่งสำคัญมาก

“เป็นไปได้ที่ศาลจะมีความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ศาลไม่ใช่ผู้แทนของเจตจำนงค์ของฝ่ายค้านหรือฝ่ายเสียงข้างน้อย ถ้าศาลต้องการแสดงบทบาททางการเมืองในแง่ของความเห็นทางนโยบายที่แตกต่างกัน ศาลไม่สามารถทำผ่านคำพิพากษาได้ ศาลต้องลาออกมาแล้วเสนอนโยบายผ่านทางการเมืองให้ประชาชนของประเทศตัดสิน”

คำพิพากษาของศาลไม่เท่ากับกฏหมาย

กรณีศาลรัฐธรรนูญที่คำวินิจฉัยให้ผูกพัน องค์กรของรัฐ นั้น คำถามมีอยู่ว่ากฏหมายกับคำพิพากษาของศาลเป็นเรื่องเดียวกันหรือเปล่า เพราะในช่วงนี้มีการพูดกันเรื่องให้เคารพกติกา ซึ่งการพูดแบบนี้พูดอย่างไรก็ถูก แต่คำพิพากษาของศาลนั้นไม่เท่ากับกฏหมาย

คำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงออกซึ่งความหมายของกฏหมาย ซึ่งในสังคมทั่วไปเรายอมรับว่าศาลตัดสินคดีมาก็พึงยุติไปตามนั้น แต่หากศาลตัดสินคดีไปผิดกฏหมายผิดรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง ในสายตาของสาธารณะชนจำนวนมากเห็นว่าศาลละเมิดรัฐธรรมนูญ ขณะที่อีกฝ่ายบอกว่าศาลวินิจฉัยอย่างไรให้เป็นอย่างนั้น เท่ากับว่าเราต้องเข้าใจใช่ไหมว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรนูญเท่ากับรัฐธรรมนูญ ถ้าอย่างนั้นศาลรัฐธรรมนูญไม่มีวันตัดสินคดีละเมิดรัฐธรรมนุญได้เลยใช่ไหม เท่ากับสิ่งที่ศาลตัดสินมาถูกตลอดเวลา ซึ่งในคดีปกติที่เกิดขึ้นในศาลยุติธรรมนั้นมีศาลที่สูงกว่าคอยกรั่นกรองสิ่งที่ศาลล่างตัดสินไปนั้นถูกหรือไม่ แต่ศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นศาลเดี่ยว ซึ่งไม่มีการตรวจสอบ ดังนั้นการถ่วงดุลของศาลรัฐธรรมนูญนั้นจึงถ่วงดุลกับองค์กรอื่นของรัฐในรัฐธรรมนูญเหมือนกัน แปลว่าถ้าฝ่ายบริหารหรือนิติบัญญัติเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญละเมิดรัฐธรรมนูญ องค์กรเหล่านั้นก็มีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญเช่นกัน เมื่อปัญหาขยับไปถึงจุดนั้นมันจะหมดคนชี้ขาดคนสุดท้าย

โดยระบบเราออกแบบให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนชี้ขาดคนสุดท้ายเพื่อยุติปัญหาทั้งปวง แต่ถ้าคนชี้ขาดคนสุดท้ายมีปัญหาเอง และสังสมมาจนสาธารณะชนเห็นว่ามันผิดมันขัด ตนคิดว่าเวลาดูเรื่องนี้ต้องตระหนักถึงความมั่นคงในนิติฐานะ แม้รู้ว่าคำพิพากษาของศาลจะผิดไปบ้าง แต่เพื่อสันติสุขของสังคม เราก็ยอมรับนับถือ แต่เมื่อไหร่ที่คำพิพากษาของศาลกลายเป็นการกดขี่ แสดงกฏหมายที่มันไม่มีวันเป็นอย่างนั้นไปได้ การแสดให้เห็นถึงการเป็นฝ่ายทางการเมืองอย่างชัดแจ้ง จึงคิดว่าหน้าที่ในการเคารพคำพิพากษาของคนในสังคมนั้นๆ จึงยุติลง

นักกฏหมายฝายที่ยืนยันว่ากฏหมายต้องเป็นกฏหมาย คำพิพากษาต้องเป็นคำพิพากษา ภายหลังสงครามโลกนั้น ก็ยอมรับหลัก แต่ไม่ได้ยอมรับหลักการนี้แบบไม่มีเงื่อนไข ไม่ได้เคารพแบบจำนนเมื่อตัดสินอะไรมาแล้วทุกอย่างต้องจบแบบนั้น ถ้าเป็นแบบนั้นศาลจะเป็นเผด็จการผ่านคำพิพากษา เราจะเกิดเผด็จการผ่านทางตุลาการ

แม้ว่าตุลาการภิวัฒน์จะเกิดขึ้นในต่างประเทศ แต่ระดับไม่เหมือนกับในไทย เพราะจากการจัดกลุ่มเทียบกับประเทศอื่นๆ สถานะของศาลรัฐธรรมนูญไทย อยู่ในกลุ่มล่างสุดที่เป็นกลุ่ม Politicized Courts  

ที่พูดแบบนี้ไม่ได้มุ่งมั่นทำลายอำนาจตุลาการ เพราะสังคมมันตั้งมั่นอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีศาลที่เป็นอิสระ แต่ผมกำลังบอกว่าระวังเถอะ ถ้าเราคิดสั้นทางการเมือง เราสร้างปรปักษ์ทางการเมืองขึ้นมา และเรามุ่งหมายกำจัดปรปักษ์ทางการเมืองนั้นโดยไม่เลือกวิธีใช้ เราทุ่มเอาต้นทุนที่วางระบบตุลาการมาหลายสิบปีในการสร้างความเชื่อถือขึ้นมาเพื่อจัดการกับนักการเมืองหรือฝ่ายที่เราไม่ชอบโดยใช้ใจเป็นที่ตั้งไม่ใช้หลักเป็นที่ตั้งระบบจะพัง และเมื่อระบบพังแล้วพอคนไม่ฟังแล้ว มันไม่มีใครฟังใครทุกคนเท่ากันหมดแล้วถึงตอนนั้นมันกลับสู่สภาวะธรรมชาติตั้งเดิมแล้ว เป้นการปะทะกันในอำนาจความเป็นจริง ตนไม่อยากให้เห็นสภาพแบบนั้นเกิดขึ้นในสังคมไทย สุดท้ายแล้วเราก็จะไม่เหลืออะไร จะเหลือแต่ความเจ็บปวดความเศร้าโศก

 

0000

กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ตุลาการภิวัฒน์ - ตุลาการเชิงรุก

กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาของศาลปัจจุบันนี้ อาจมาจากการที่คนมองและคาดหวังบทบาทของศาลที่แตกต่างกัน ปรกติในการตัดสินคดีของศาล ต้องมีการแสดงเหตุผลให้เแจ่มชัดว่าใช้เหตุผลและกฎหมายวินิจฉัยข้อใด ทั้งหมดนี้กำหนดอยู่ในวิธีพิจารณาความแพ่งและอาญาอยู่แล้ว มิเช่นนั้นจะไม่ถือว่าเป็นคำพิพากษาที่สมบูรณ์ และหากเมื่อเกิดข้อพิพาทในตัวบทกฎหมายก็ต้องจะอาศัยข้อทางกฎหมายที่ชัดเจนในการวินิจฉัย

ต่อเรื่องการตัดสินของศาลในประเด็นทางการเมือง มีหลายกรณีในระดับโลกที่ศาลเป็นผู้ตัดสินสุดท้ายเรื่องหลักการปกครอง ไม่ใช่แค่ในไทยเท่านั้น โดยเขายกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกากรณีการขังนักโทษคดีก่อการร้ายในเรือนจำกวนตานาโม ประนาธิบดีจอร์จ บุช พยายามไม่ให้ศาลไต่สวนผู้ต้องขังโดยอ้างเรื่องความมั่นคงของรัฐและคดีการก่อการร้าย อย่างไรก็ตามผู้ต้องขังได้ยื่นอุทธรณ์ว่าการขังโดยไม่ได้รับการไต่สวนนั้นไม่เป็นธรรม

เมื่อศาลตัดสินว่าผู้ต้องขังสามารถมีสิทธิได้รับการไต่สวนโดยศาล ปธน.บุชจึงแก้กฎหมายตอบโต้เพื่อไม่ให้ศาลพิจารณาคดีก่อการร้ายเรื่องกวนตานาโม แต่ในที่สุด ศาลสูงสุดได้ตัดสินว่าการแก้กฎหมายดังกล่าวขัดต่อรธน. และได้ข้อสรุปสุดท้ายว่าผู้ที่วินิจฉัยว่าตามหลักการปกครอง คือศาลเท่านั้น ไม่ใช่ปธน.หรือฝ่ายบริหาร

อย่างไรก็ตาม มีบางกรณีที่ศาลเห็นว่าเรื่องการเมืองควรต้องถูกกันออกไป เช่นเรื่องการเลือกตั้ง มีคดีเลือกตั้งที่ศาลวินิจฉัยว่าเป็นอำนาจของกกต. ในการให้ใบแดง แม้มีการอุทธรณ์คำตัดสิน ศาลก็ยืนยันว่าจะไม่ก้าวก่ายและเป็นอำนาจของกกต. เท่านั้น

เรื่องตุลาการภิวัฒน์ หรือ คำศัพท์ในภาษาอังกฤษทั้ง judicial review, judicial activism (ตุลาการเชิงรุก) และ judicialization มีหลักการคือ ปัญหาทุกปัญหาในทางการปกครองต้องหาข้อยุติได้ด้วยกฎหมาย แม้จะเป็นปัญหาการเมืองก็ต้องทำให้เป็นปัญหากฏหมาย และวินิจฉัยตากฏหมาย ไม่ปล่อยไปเป็นอำนาจทางการเมืองเท่านั้น เพราะมองว่าจะเป็นทางหนึ่งที่นำไปสู่ความสงบในสังคม แนวคิดนี้แพร่หลายในยุโรปมาก และนั่นเป็นที่มาของการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญ เพราะมองว่าหากใช้การเมืองแก้ปัญหาการเมือง อาจจะนำไปสู่การใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกันดังเช่นสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเหตุผลและข้อเท็จจริงที่ใช้ในการวินิจฉัยของศาลด้วย

“ถ้าหากไม่ใช้มาตรา 68 มาตรา 69 ก็อาจจะถูกเอามาใช้ โดยมาตรา 69 ระบุว่า การได้มาซึ่งอำนาจซึ่งไม่ชอบธรรมตามรธน. ประชาชนสามารถใช้กำลังต่อต้านโดยสงบ การใช้ศาลมาแก้ปัญหา จึงเป็นที่มองเห็นกันว่าน่าจะเป็นการยุติข้อโต้แย้งต่างๆ โดยใช้กำลังน้อยที่สุด” 

ตุลาการภิวัฒน์ ทำให้หลักนิติธรรมกลายเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ทั้งนี้ มีบางส่วนวิจารณ์ว่า ตุลาการภิวัฒน์ คือการทำเรื่องกฎหมายให้เป็นเรื่องการเมืองมากกว่า (politization of judiciary) ในประเด็นนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกัน แต่ในยุโรปทั่วไปยังยอมรับว่า judicialization ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นอยู่ โดยมองว่า มันจะทำให้หลักนิติธรรมกลายเป็นรูปธรรมมากขึ้น (concretization of the rule of law) หากมีคนที่ไม่เห็นด้วย ก็สามารถโต้แย้งคำตัดสินดังกล่าวด้วยทฤษฎีหรือความคิดเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้

ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าศาลมีบทบาททางการเมืองเพิ่มขึ้นในกระแสโลก ในยุโรป ตุลาการภิวัฒน์เป็นการขยับตัวของอำนาจจากฝ่ายนิติบัญญัติไปฝ่ายตุลาการ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา นอกจากนี้ ยังมีการลุกฮือของผู้พิพากษาของอิตาลีที่ลุกออกมาต่อสู้กับระบบมาเฟีย หรือในฝรั่งเศสที่มีการตรวจสอบเอาผิดนักการเมืองอย่างเข้มข้น และยังมีการเอาผิดผู้นำที่เคยกระทำผิดในประเทศต่างๆ เช่น ผู้นำเผด็จการของเปรูที่อาศัยอยู่ในอังกฤษแต่ถูกศาลสเปนใช้อำนาจศาลส่งตัวกลับมา

จากหลักการตุลาการภิวัฒน์ ศาลทำหน้าที่นิติบัญญัติในสามแง่ หนึ่ง คือการวินิจฉัยคดีด้วยการตรวจสอบฝ่ายนิติบัญญัติ โดยใข้ศาลรัฐธรรมนูญวางข้อจำกัดของการใช้อำนาจในรูปของคำพิพากษาว่าขัดต่อรธน.หรือหลักนิติธรรม สอง ระดับการตีความกฎหมาย ทำให้ศาลเป็นผู้มีส่วนกำหนดนโยบายทางการเมืองด้วยการตีความการใช้กฎหมาย สาม ระดับที่ศาลเป็นผู้ค้นคว้าอย่างกระตือรือร้อนว่ากม. นั้นๆ มีกม. ที่จะปรับใช้ตามเหตุผลของเรื่องวินิจฉัยอย่างไร (law in the making)

ทั้งนี้ ในต่างประเทศ ยังเห็น judicialization of politics เป็นของจำเป็นเพราะฝ่ายการเมืองนั้นยากที่จะตอบสนองความต้องการของสังคมในเวลาวิกฤติ โดยเฉพาะเวลาที่เกิดความแตกแยกในสังคม และผู้กุมอำนาจฝ่ายเสียงข้างมากไม่อยู่ในสถานะที่ได้รับความไว้วางใจในการแก้ปัญหาสังคม

ตุลาการมีบทบาทการเมืองทั่วโลก ผลจากเสียงข้างมากทำลายกฎเกณฑ์ของระบบ

นักวิชาการต่างประเทศอธิบายปรากฎการณ์นี้ว่า การที่ตุลาการเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองทั่วโลก เพราะมักปรากฎว่าในจุดหนึ่งฝ่ายเสียงข้างมากทำลายกฎเกณฑ์สำคัญของระบบเสียเอง และหากฝ่าฝืนแล้วควรต้องมีคนคานอำนาจ ถ้าจะเอาการเมืองด้วยกันคานก็จะเป็นเสียงข้างน้อยและคานไม่ได้ จึงกำหนดกลไกว่า ต้องใช้เสียงข้างน้อยที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นกลางมาเป็นตัวคาน นั่นคือฝ่ายตุลาการ

“ดังนั้นบทบาทนี้ของศาลก็ควรระวัง เมื่อตุลาการเข้ามาแสดงบทบาททางการเมืองแล้วอาจจะถูกวิจารณ์มาก แต่ขณะเดียวกัน นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องเหล่านี้มองว่า กระบวนการตรากม.โดยฝ่ายการเมืองไม่ได้ใช้เหตุผลอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะในสังคมประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา พลังการใช้เหตุผลและโต้แย้งอย่างเป็นระบบ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างกว้างขวาง ไม่ได้เป็นมติมหาชนที่กำกับเสียงข้างมากได้ จึงเป็นภารกิจฝ่ายตุลาการในการคานอำนาจการเมือง และสิ่งนี้เกิดขึ้นบ่อยในประเทศต่างๆ ไม่ใช่ในไทยเท่านั้น”

หากเสียงข้างมากนี้ครอบงำสังคมอย่างจริงจังด้วยเหตุผลที่หนักแน่น ฝ่ายตุลาการก็อาจจะไม่เข้ามามีบทบาท เพราะตุลาการก็จะยอมรับเหตุผลดังกล่าว แต่หากฝ่ายข้างมากมีอำนาจแต่ใช้เหตุผลน้อย ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองที่อาจเกิดความรุนแรง ฝ่ายตุลาการจะเข้ามามีบทบาทมาก อย่างไรก็ตามศาลก็ควรต้องมีบทบาทพอดีและเหมาะสม

นอกจากนี้ ยังยกตัวอย่างในหลายกรณีที่เกิดขึ้นในเยอรมนีตะวันออกก่อนรวมประเทศว่า มีผู้พิพากษาที่ถูกดำเนินคดีและให้ออกจากตำแหน่งหลายรายหลังรวมประเทศแล้ว เนื่องจากตัดสินคดีไปในทางที่บิดเบือนกฎหมายและใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ

ดังนั้น ตุลาการภิวัฒน์ควรต้องมีอย่างสร้างสรรค์และรับผิดชอบ ในขณะเดียวกันก็ต้องถูกตรวจสอบและวิจารณ์ได้โดยไม่ใช้อำนาจในการลงโทษผู้วิจารณ์ศาลอย่างสุจริตใจและสมเหตุผล 

 

0000

สถิตย์ ไพเราะ อดีตรองประธานศาลฏีกา 

ศาล รธน. เป็นศาลทางการเมืองต้องยึดอุดมการณ์ประชาธิปไตย

สถิตย์ กล่าวว่า เวลาศาลตัดสินคดีมันจะมีอุดมการณ์ของมันโดยเฉพาะ อย่างคดีแพ่งก็มีอุดมการณ์ในการวินิจฉัยเฉพาะเรื่อง เช่น จะต้องวินิจฉัยในทางที่เป็นคุณของผู้จะเสียในมุลหนี้ หรือกฏหมายอาญาก์มีหลักว่าต้องตัดสินตามตัวอักษรอย่างเคร่งครัดจะขยายไม่ได้เพราะจะเป็นโทษแก่จำเลย คดีแพ่งก็อย่างหนึ่ง คดีอาญาก็อย่างหนึ่ง แต่ทั้ง 2 คดีจะไปใช้ในรัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะคดีรัฐธรรมนูญเป็นคดีทางการเมือง จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อต้องยึดอุดมการณ์ทางการเมือง เป็นหลักในการวินิจฉัย มิฉะนั้นก็เกิดเรื่องอย่างที่เป็นอยู่ อุดมการณ์ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยคือ หนึ่ง อำนาจสูงสุดเป็นของราษฏรทั้งหลาย สอง เสรีภาพสำคัญที่สุด สาม ความเสมอภาค สี่ นิติรัฐนิติธรรม ห้า รัฐบาลต้องมาจากเสียงข้างมาก ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาสทางการเมืองต้องยึดเหล่านี้ แต่ที่ตัดสินมาก็ถูกโจมตีมาโดยตลอด ขณะนี้ความน่าเชื่อถือต่ำถึงขนาดติดลบ เพราะการตัดสินขัดอุดมการณ์ประชาธิปไตย

อุดมการณ์ของผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมไม่มีแม้แต่บรรทัดเดียวให้ผู้พิพากษาคำนึงว่าอำนาจตุลาการเป็นของประชาชน เพราะฉะนั้นผู้พิพากษาก็อาจจะมีความรู้สึกว่าอำนาจตุลาการเป็นของตน และคิดเลยไปว่าอำนาจนสูงสุดเป็นของตน เพราะเราไม่ได้เน้นเวลาสอนในมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้เน็นว่าอำนาจสูงสุดเป็นของราษฏร มันจึงเกิดความขัดแย้งระหว่าง 2 แนวทางที่ฝ่ายหนึ่งอยากเป็นเผด็จการกับฝ่ายที่จะเป็นประชาธิปไตย

การวินิจฉัยที่ไม่ยึดอุดมการณ์ประชาธิปไตยมันก็ไปไม่รอด เพราะนอกจากภายในประเทศจะต่อต้านแล้ว ระหว่างประเทศเขาก็ไม่คบด้วย จะรัฐประหารจะอยู่ได้อย่างไร จะไม่เลือกตั้งจะอยู่ได้อย่างไร

ที่ผิดหวังคือการที่อธิการบดีหลายแห่งมีความเห็นในลัษณะที่ให้นายกทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ทั้งที่เขียนไว้ชัดเจนว่านายกจะ “ต้อง” อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แสดงว่านายกจะต้องอยู่ตามรัฐธรรมนูญมาตรานี้ เขาไม่ได้อยู่อย่างปกติ เป็นเพียงนายกรักษาการ ถ้าลาออกก็ขัดรัฐธรรมนูญมาตรานี้ กฏหมายเขียนคำ "ต้อง" นักกฏหมายทั้งปวงก็ต้องยอมรับว่าเป้นคำบังคับ ว่าต้องปฏิบัติตามนี้ถ้าไปลาออกนี่ขัดรัฐธรรมนูญ

มีคำเตือนของนักปราชญ์ไทย คือ ชิต บุรทัต เขียนไว้ใน สามัคคีเภทคําฉันท์ ว่า “เมืองใดไร้ธรรมอำไพ เมืองนั้นบรรไลแน่นอน” ของฝรั่งเศสมี มองเตสกิเออ ท่านบอกว่า “ไม่มีความเลวร้ายใดที่เลวร้ายไปกว่า ความเลวร้ายที่ได้ก่อขึ้นภายใต้กฏหมายและกระบวนการยุติธรรม”

ไม่มีกฏหมายใดห้ามวิจารณ์คำพิพากษา

เรื่องคำพิพากษาวิจารณ์ได้หรือไม่นั้น ไม่มีกฏหมายใดในประเทศไทยที่ห้ามไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษา มีกฏหมายห้ามไม่ให้ดูหมิ่นศาล ซึ่งดูหมิ่นกับวิพากษ์วิจารณ์คนละเรื่องกัน ขณะที่ข้อหาละเมิดอำนาจศาลนั้น เราไปใช้กันเพื่อสร้างอาณาจักรแห่งความกลัวในประเทศ เพราะการละเมิดอำนาจศาลหลักเบื้องต้นคือไม่ปฏิวัติตามข้อกำหนดที่ศาลกำหนดขึ้นในศาล ซึ่งต้องอยู่ในบริเวณศาลเท่านั้น อย่างไรก็ตามระดับการดูหมิ่นกับระดับการวิพากษ์วิจารณ์นั้นก็ยังเป็นเรื่องที่เสียวไส้ เพราะคนที่วินิจฉัยคือศาลซึ่งเป็นผู้เสียหายด้วย ซึ่งก็อาจมีเรื่องอคติเข้ามาเกี่ยวข้อง

“คำวินิจฉัยที่วินิจฉัยว่าการแก้ที่มา ส.ว.จากแต่งตั้งเป็นเลือกตั้ง เป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยนั้น มันเท่ากับเป็นการตัดสินว่าพระอาทิตย์ขึ้นทางตะวันตก แล้วใครจะไปยอมรับได้”

รัฐธรรมนูญมาตรา 130 เขียนไว้ชัดเจนว่าการอภิปรายแสดงความเห็น การออกเสียงของ ส.ว.และ ส.ส. ในสภา เป็นเอกสิทธิ์ เด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปฟ้องร้องในทางใดๆมิได้ แต่ ป.ป.ช.กลับอ่านกฎหมายมาตรานี้ไม่ออก จะชี้มูลเพื่อถอดถอน ส.ว.และ ส.ส.ที่แก้รัฐธรรมนูญเหล่านั้น

0000

สราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม 

กลไกการตรวจสอบศาล

สราวุธ กล่าวถึงประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องความเป็นอิสระและการตรวจสอบศาลว่า ในแง่การตรวจสอบตุลาการ จะมีกระบวนการตรวจสอบที่สูงกว่าอย่างศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์อยู่แล้ว ตัวอย่างเช่นศาลตำแหน่งผู้ดำรงคดีทางการเมือง ที่ก่อนหน้านี้ เมื่อศาลตัดสินแล้วจะเป็นคำตัดสินสุดท้ายไม่สามารถอุทธรณ์ได้อีก ต่อมามีการเรียกร้องให้ต้องมีศาลที่สูงกว่าต้องเข้ามาตรวจสอบเพิ่มอีกชั้น รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 จึงกำหนดให้สามารถอุทธรณ์คำตัดสินดังกล่าวต่อศาลฎีกาได้หากว่ามีหลักฐานใหม่ภายใน 30 วัน

นอกจากนี้ในระบบศาลกันเอง ก็ยังมีการตั้งคณะกรรมการตุลาการที่ตรวจสอบคุณธรรม จริยธรรมและวินัยของผู้พิพากษา คณะกรรมการดังกล่าวมีตัวแทนจากวุฒิสภาด้วย 2 คน นอกจากนี้ ศาลยังถูกตรวจสอบโดยนักวิชาการซึ่งสามารถแสดงความคิดเห็นได้ ในเรื่องการวิจารณ์อาจจะไปละเมิดอำนาจศาลนั้น จริงๆ แล้ว เครื่องมือนี้เป็นเพียงเครื่องมือป้องกันกระทบความเป็นอิสระของผู้พิพากษาเท่านั้น ซึ่งไม่ต้องการให้วิพากษ์วิจารณ์รูปคดีในทางชี้นำเพราะอาจเป็นอันตรายต่อบุคคลในคดี ไม่ใช่ว่าศาลไม่สามารถถูกแตะต้องได้

ต่อเรื่องที่ศาลถูกวิจารณ์ว่าเอียงข้างกลุ่มทางการเมืองเพื่อจะล้มล้างรัฐบาลนั้น สราวุธกล่าวว่า โดยหลักจริยธรรมและข้อกำหนดไม่ให้ผู้พิพากษาเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ศาลจึงไม่สามารถเข้าข้างฝักฝ่ายทางการเมืองได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท