ความเสื่อมของดิจิตอลในอเมริกา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 

ว่าไปแล้วการกำเนิดขึ้นของทีวีดิจิตอลสะท้อนความเป็นไปของสังคมได้อย่างหนึ่งเช่นกัน ในอเมริกาเองได้กว่าการออกกฎหมายบังคับการส่งสัญญาณทีวีดิจิตอลจะเกิดขึ้นได้ก็ใช้เวลานานหลายปีทีเดียว ประชาชนทั่วไปจำนวนไม่น้อยไม่เห็นด้วยการเปลี่ยนไปใช้ระบบคลื่นสัญญาณทีวีแบบใหม่อย่างฉับพลันทันที คนอเมริกันจำนวนมากยังพอใจกับการใช้ทีวีระบบอนาล็อกแบบเดิมอยู่

ทางการอเมริกันให้ทีวีทุกช่องเปลี่ยนเป็นระบบทีวีดิจิตอล และยกเลิกทีวีอนาล๊อกภายในวันที่ 12 มิถุนายน  2009 แต่กฎหมายนี้ยกเว้นเส้นตายให้สถานีขนาดเล็กหรือที่เรียกว่า Low Power Station

เพื่อช่วยให้คนอเมริกันเปลี่ยนไปใช้ทีวีระบบดิจิตอล รัฐบาลอเมริกัน กำหนดมาตรการซึ่งเป็นแรงจูงใจให้คนเปลี่ยนไปใช้ทีวีระบบดิจิตอลโดยเร็วที่สุด โดยมีการแจกคูปองให้กับครัวเรือนๆละ 50 ดอลลาร์ (DTV Converter Box Coupon Program)  เพื่อให้อเมริกันไปซื้อกล่องทีวีดิจิตอลหรือซื้อทีวีที่รองรับทีวีดิจิตอลในตัวการเปลี่ยนระบบทีวีดังกล่าว มีคนประท้วงกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากคิดว่าการรับสัญญาณทีวีระบบดิจิตอลเป็นเรื่องยุ่งยาก

ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดี บารัก โอบามา ได้ลงนาม กฎหมายเปลี่ยนระบบจากอนาล๊อกทีวีมาเป็นระบบดิจิตอลทีวี แต่ก็เกิดปัญหาในการรับชมทีวีระบบดิจิตอลในหลายจุดทั่วประเทศ  ขณะเดียวกันในส่วนของผู้ชมเองกลับยังไม่มีความพร้อม มีการวิจารณ์ถึงการบังคับให้เปลี่ยนระบบการส่งสัญญาณทีวีของรัฐบาลดังกล่าวว่าไม่มีความยุติธรรมกับประชาชนและรัฐควรให้ทางเลือกกับประชาชน คือแล้วแต่ใครจะเลือกที่จะชมทีวีแบบไหน

ข้อวิพากษ์เกี่ยวกับการบังคับรับชมทีวีดิจิตอลนี้ ได้รับการประนีประนอม โดยเมื่อวันที่  21 มกราคม2009  สมาชิกวุฒิสภา(ซีเนต) Jay Rockefeller เสนอกฎหมายที่เรียกว่า DTV Delay Act ซึ่งเป็นกฎหมายยืดระยะเวลาการบังคับรับชมทีวีดิจิตอลออกไป เพราะตามรายงานของ Nielsen Company ปรากฏว่าอเมริกันจำนวนราว 6.5 ล้านคนไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนไปใช้ดิจิตอลทีวีตามระยะเวลาเส้นตายในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2009  ขณะที่คูปองที่ออกมานั้นมีจำนวนไม่พอกับความต้องการของผู้ที่ต้องการ ท้ายที่สุดนำมาซึ่งการออกกฎหมายเลื่อนบังคับรับชมทีวีดิจิตอลไปเป็นวันที่ 12 มิถุนายน 2009  โดยเป็นการบังคับผู้ประกอบการทีวี ขณะที่ในส่วนของผู้รับชมก็ยังคงไม่มีความพร้อมที่จะเปลี่ยนเหมือนเดิมจนถึงบัดนี้เช่นเดิม

ดังนั้นก่อนหน้าวันที่ 12 มิถุนายน 2009 ทีวีช่องสำคัญๆช่องใหญ่ๆของอเมริกัน อย่างเช่น ABC, CBS, Fox, NBC, Telemundo, CW, myNetworkTV และสถานีอิสระ (independent statons) ซึ่งเป็นเจ้าของโดย CBS และ myNetworkTV stations ซึ่งเป็นเจ้าของโดย Fox รวมถึงอีก 191 สถานีได้จบสิ้นการส่งสัญญาณแบบอนาล็อก

พร้อมกันนี้คณะกรรมการสื่อสาร (Federal Communications Commission – FCC) อเมริกันขีดเส้นตายใหม่สำหรับสถานีทีวีขนาดเล็กที่ใช้กฎหมาย DTV Delay Act ซึ่งจะต้องเปลี่ยนเป็นทีวีดิจิตอลและต้องยกเลิกทีวีอนาล๊อกถาวร ในวันที่ 1 กันยายน ค.ศ.2015

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนจากระบบอนาล๊อกทีวีมาเป็นดิจิตอลทีวีของทีวีอเมริกัน ไม่ได้มีผลอะไรมากนักกับรายการทีวีหรือเนื้อหาของทีวีต่อชีวิตประจำวันของคนอเมริกัน ปัญหาคือ ความไม่พร้อมของคนอเมริกันที่จะเปลี่ยนเครื่องรับโทรทัศน์หรือกล่องรับสัญญาณมากกว่า เพราะจนถึงตอนนี้อเมริกันจำนวนไม่น้อยก็ยังใช้เครื่องรับโทรทัศน์แบบอนาล๊อก โดยในส่วนของฟรีทีวีนั้น สถานี ABC, CBS, Fox, NBC, The CW และ PBS ยังเป็นสถานีหลักของการทำธุรกิจทีวีในอเมริกา โดยสถานีเหล่านี้มีสถานีท้องถิ่นตามเมืองสำคัญๆ ทั่วอเมริกา  ขณะที่ยังมีสถานีทีวีอีกประเภทคือ เคเบิลทีวีที่ผู้รับต้องจ่ายค่าบริการ (pay per view)  ซึ่งสถานีทีวีประเภทหลังนี้ก็มีอิทธิพลต่อผู้ชมสูงเช่นกัน แต่ก็มีลักษณะเหมือนกับฟรีทีวี คือ มีเพียงไม่กี่ช่องที่ได้รับความนิยมอยู่ในบรรดาผู้ชมกระแสหลัก ก็คือ ABC, CBS, Fox, NBC, CNN , ESPN  และในส่วนของเคเบิลทีวีนี้ ไม่มีโฆษณายกเว้นการโฆษณารายการหรือเนื้อหาของสถานีทีวีเหล่านี้เอง รายได้หลักมาจากสมาชิกของทีวีนั้นๆเอง

ในส่วนของ PBS นั้น ได้รับเงินสนับสนุนจากองค์กรต่างๆมากมาย จึงถือเป็นทีวีคุณภาพช่องหนึ่งของอเมริกัน ส่วนใหญ่เน้นรายการคุณภาพทั้งเพื่อผู้ชมที่เป็นผู้ใหญ่และเด็ก (ช่อง PBS kids)

กล่าวกันว่าชีวิตอเมริกันอยู่กับสื่อตลอดเวลา ในส่วนของทีวีแม้มีสื่ออื่นเกิดขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะสื่อออนไลน์และซอฟท์แวร์ประยุกต์ (application) ต่างๆ แต่สื่อทีวีอเมริกันยังเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จเชิงผลกำไรจำนวนมหาศาล

เมื่อมองในเชิงวัฒนธรรมการทำงานของทีวีอเมริกันซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ทีวีอเมริกันเป็นวัฒนธรรมต้นแบบของการทำทีวีทั่วโลก โดยเฉพาะทีวีในโลกเสรีและต้นแบบของการสื่อสารมวลชนรูปแบบเครือข่ายนานาชาติ (international networks) ซึ่งถูกจุดประกายโดยสื่ออุดมการณ์ในยุคสงครามเย็น อย่าง วิทยุเอเชียเสรี วิทยุเสียงอเมริกา จนต่อมาเอกชนที่นำโดยอเมริกัน Ted Turner แห่ง CNN ได้มีการริเริ่มครั้งใหญ่ในการส่งสัญญาณเพื่อทำธุรกิจข่าวสารข้ามพรมแดนในรูปแบบทีวีนานาชาติจนประสบผลสำเร็จอย่างสูง โดยเฉพาะในช่วงเริ่มแรก คือ สงครามอ่าวเปอร์เซีย ตอนอิรักยึดคูเวต  ซึ่งเป็นการเปิดตลาดข่าวสารสำหรับ CNN เป็นอย่างดี จนต่อมาทีวีกระแสหลักของอเมริกันอีกหลายช่องดำเนินธุรกิจเช่นเดียวกัน CNN เช่น ABC , NBC, CBS และ FOX  โดยแนวคิดดังสะท้อนไปยังสถานี BBC ของอังกฤษ และจุดประกายของการกำเนิด อัลซาซีร่าห์ และ CCTV ของจีนในปัจจุบัน

ประเด็นสำคัญของการอยู่รอดของช่องทีวีเหล่านี้ หากไม่พูดว่าเป็นเพราะ “คุณภาพ” ก็คงไม่ได้ โดยเหตุที่มีการนำเสนอเชิงเนื้อหาที่เข้มข้นและรวดเร็ว มีการพัฒนาการอย่างไม่หยุดยั้ง ไม่หวังแค่เรื่องการยึดครองสัญญาณหรือคลื่นเท่านั้น หากแต่ทีวีถูกพัฒนาตลอดเวลาในด้านการบริหาร ด้านเทคนิคและด้านคุณภาพของบุคลากรของสถานี โดยเฉพาะวัฒนธรรมการบริหารจัดการองค์กรทีวี ที่ต้องมีความคิดเชิงก้าวหน้าตลอดเวลา  เพราะการนำเสนอในรูปแบบสื่อทีวี ข้อมูลต้องแน่นอนและรวดเร็ว รวมถึงรายการต้องเป็นที่น่าสนใจและน่าติดตามของผู้ชม“โดยไม่จำกัดพื้นที่และเวลา” ซึ่งหมายถึงรายการทีวีมีการนำเสนอทั่วไปทั่วภาคพื้นอเมริกาหรือทั่วโลก ตลอด 24 ชั่วโมง

ในเรื่องวัฒนธรรมการเป็นเจ้าของทีวีนั้น อเมริกันอาศัยกลไกการซื้อขายแบบธรรมดา คือ มีการซื้อขายกิจการทีวีตามกลไกตลาดเสรีปกติทั่วไป แม้อาจกล่าวได้ว่าผู้เป็นเจ้าของกิจการทีวีอเมริกัน คือผู้ที่ทรงอิทธิพลในจำนวนผู้ทรงอิทธิพลด้านต่างๆหลายคน แต่ผู้ประกอบการทีวีก็เหมือนนักธุรกิจอเมริกันโดยทั่วไป ซึ่งก็คือนักธุรกิจคนหนึ่งเท่านั้นเอง ขณะที่ความกระตือรือร้นต่อการแสดงออกเชิงสังคมของเจ้าของสื่อทีวีเหล่านี้กลับมีน้อย ในอเมริกายกเว้น Rupert Murdoch เจ้าของ 21st Century Fox แล้วเกรงว่า จะไม่มีใครค่อยรู้จักเจ้าของบริษัททีวีช่องอื่นมากนัก

ทีวีอเมริกันได้ชื่อว่า เป็นส่วนหนึ่งของผลประโยชน์ของอเมริกันทั่วโลก เมื่อได้รับการร้องขอจากรัฐบาลหรือหน่วยงานอเมริกันที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและผลประโยชน์อเมริกัน สื่อทีวีเหล่านี้ก็พร้อมปฏิบัติตามคำร้องขอ มิใช่มุ่งแต่การเสนอข่าวหรือข้อมูลได้ทั้งหมดตามใจชอบ หรือเพียงแค่การมุ่งหวังขายข่าวเท่านั้น

การแข่งขันในเรื่องการตลาดของทีวีของอเมริกันเสถียรมานานแล้ว ช่องฟรีทีวีผลิตรายการโดยทั่วไป และมีรายได้จากการโฆษณา  ซึ่งในความเป็นจริงแล้วสื่อฟรีทีวีมีน้อยช่อง แต่มีการนำเสนอเนื้อหาเชิงการแข่งขันค่อนข้างสูง เหมือนกับความรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่นำเสนอด้วยเช่นกัน

สื่อทีวีอเมริกันก็เหมือนสื่ออื่นๆโดยทั่วไปตามแบบฉบับอเมริกัน คือ มีการลงทุนค่อนข้างสูงทั้งในเรื่องของเทคโนโลยีและเนื้อหา กล่าวสำหรับช่องฟรีทีวีแม้น้อยช่องแต่เนื้อหามีคุณภาพตามมาตรฐานของสื่อ ที่เป็นอย่างนี้ เพราะ FCC กำหนดจำนวนช่องตามลักษณะการดำเนินธุรกิจทีวีในอเมริกา คือ กำหนดจำนวนช่องทีวีในส่วนกลางและจำนวนช่องในท้องถิ่นทั่วประเทศโดยอิงฐานประชากรอเมริกันจำนวนประมาณกว่า 300  ล้านคน (ผลการสำรวจพบว่า จนถึงเดือนสิงหาคมปี 2013 คนอเมริกันต่อครัวเรือนมีทีวีจำนวน 114,200,000 เครื่อง ในปี 1996-1997  เป็นที่อเมริกันเป็นเจ้าของทีวีในอัตรามากที่สุดคือ 98.4 เปอร์เซ็นต์ )

อย่างหนึ่งที่ FCC ตระหนักเกิดจากผลการศึกษาพบว่า การอนุญาตเปิดช่องฟรีทีวีควรอยู่ในจุดที่เหมาะสมไม่น้อยและไม่มากเกินไป ขณะที่ผู้ประกอบการทีวีเองต้องมีศักยภาพในการลงทุนและดำเนินกิจการจริงๆ  หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องสามารถบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสม คือ สมดุลระหว่างเรื่องความมั่นคง การเผยแพร่ลัทธิอเมริกัน และเสรีภาพของสื่อสารมวลชน ขณะที่ในอเมริกามีทีวีแบบอื่น เช่น ทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี ร่วมอยู่ด้วยเป็นทางเลือกจำนวนมาก

แม้ว่าจำนวนช่องทีวีจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญมากกว่าการที่ธุรกิจทีวีสามารถแข่งขันและดำรงอยู่ได้อย่างเหมาะสมในสังคมอเมริกัน รวมถึงผู้ประกอบอาชีพสื่อมวลชนดำรงตนอย่างเสมอภาคกับประชาชนเหมือนงานๆหนึ่งโดยทั่วไปซึ่งต้องอาศัยจรรยาบรรณวิชาชีพปกติในการทำงาน มิใช่อาศัยสภาพเป็น“ฐานันดรสี่” ตีค่าตนเหนือกว่าคนดู อุปโลกน์ตนเป็นผู้ชี้นำและอ้างการสร้างสรรค์สังคม (เรื่องนี้ส่วนหนึ่งมาจากฐานความคิดในสังคมเสรีนิยมของผู้ชมอเมริกันด้วยที่มีความเป็นอัตลักษณ์สูงกันอยู่แล้ว) 

ซึ่งว่าไปแล้วประชาชาชนอเมริกัน รวมถึงเจ้าของและผู้บริหารทีวี มีภาพของความเห่อเหิมทีวีดิจิตอลทำนองภาพสวยคมชัดให้เห็นน้อยมาก  เป้าหมายของการวิจารณ์พุ่งไปที่เนื้อหาของรายการทีวีมากกว่า เท่าที่เห็นตั้งปี 2009 ซึ่งเป็นปีที่มีปัญหาเรื่องความไม่พร้อมของประชาชนคนดูอเมริกันแล้ว แทบไม่มีการพูดถึงการเปลี่ยนไปใช้ทีวีดิจิตอลอีกเลย ที่พากันโวยวายก็ด้วยเหตุผลไม่อยากเปลี่ยนไปใช้ดิจิตอลมากกว่า

ที่สำคัญ เพราะทางเลือกของคนดูทีวีมีมาก ทั้งเคเบิลทีวี  ทีวีดาวเทียม ทีวีที่ต้องจ่ายเงินเมื่อต้องการรับชม (pay per view) เต็มพิกัด มนต์ขลังของทีวีดิจิตอลในอเมริกาก็มีอันต้องเสื่อมไปด้วยเหตุนี้
    

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท