Skip to main content
sharethis
'Citizen for hope' มุ่งเป้าประชาชนร่วมกันนำสังคมกลับไปสู่ชีวิตปกติ หยุดยั้งสงครามกลางเมือง ลดความแตกแยก สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกความเห็นต่าง ปฏิรูปประเทศภายใต้กรอบกติกาประชาธิปไตย เตรียมเปิดเวทีอบรมเสริมเครื่องมือสร้างสันติ
 


 
26 เม.ย. 2557 เวลา 17.00 น. กลุ่มรณรงค์ทางประชาธิปไตย อาทิ กลุ่มพอกันที...หยุดการชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง กลุ่ม WE VOTE กลุ่มศิลปวัฒนธรรม ANTs’ POWER กลุ่มคนเท่ากัน กลุ่ม Thai Freedom กลุ่มดาวดิน กลุ่มรักประชาธิปไตย ฯลฯ รวมตัวกันแถลงเปิดตัว เครือข่ายพลเมืองแห่งความหวัง (Citizen for hope) มุ่งแสวงหาอนาคตของประเทศอย่างมีความหวัง โดยสร้างพื้นที่เปิดใจที่ปลอดภัย หยุดสงครามกลางเมือง ชวนคนกลับสู่กติกา พร้อมสนับสนุนการปฏิรูปและคัดค้านความรุนแรงในทุกรูปแบบ
 
กิจกรรม ในครั้งนี้ประกอบด้วย ดนตรีในสวน โดย กลุ่มแฟน (F.A.N.: Friend of Activist Network) ฉายวีดิโอ Presentation ของกลุ่ม แถลงการณ์เครือข่าย Citizen for HOPE โดยชูประเด็น ‘หยุดสงครามกลางเมือง ประชาชนคือคนกลาง เดินหน้าเลือกตั้ง’ กิจกรรมร่วมจุดเทียนของผู้ที่มาร่วมงาน ปิดท้ายด้วยการแนะนำกิจกรรมและการอบรมเสริมเครื่องมือให้กับพลเมืองของเครือข่ายที่จะมีต่อไปในอนาคต
 


กิตติชัย งามชัยพิสิฐ นักกิจกรรมผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเพื่อความหวัง ซึ่งเดิมเคลื่อนไหวในชื่อกลุ่มกลุ่มพอกันทีฯ กล่าวว่า การกลับมาทำกิจกรรมครั้งนี้ยังคงเน้นเรื่อง ‘ไม่เอาความรุนแรง’ และ ‘สนับสนุนการเลือกตั้ง’ เหมือนเดิม แต่ที่ผ่านมาในกลุ่มมีการคุยกันว่าแค่การจุดเทียนอาจยังไม่พอที่จะหยุดยังความรุนแรงได้ จึงกลับมาจุดเทียนแห่งความหวังและขับไล่ความกลัวกันอีกครั้ง โดยมุ่งเป้าหมายที่ประชาชนทั่วๆ ไป
 
กิตติชัย กล่าวต่อมาว่า ประชาชนเป็นความหวังในการแก้ปัญหา เพราะท่ามกลางบรรยากาศของสังคมที่ดูเหมือนความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างทุกวันนี้ จะคาดหวังเฉพาะกับแกนนำคู่ขัดแย้งอย่างเดียวคงไม่ได้ และหากเป็นเช่นนั้นคงมองเห็นเพียงแค่คน 2 ฝ่ายที่ยืนประจันหน้า พยายามมุ่งเอาชนะกัน ทั้งที่คนในสังคมมีความแตกต่างหลากหลาย มีคนที่ต้องการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ไม่เอาคอรัปชั่น เอาการปฏิรูป ไม่ชอบทักษิณ ขณะเดียวกันก็ต้องการแสดงออกซึ่งสิทธิผ่านการเลือกตั้ง แล้วทำไมต้องเลือกเพียงแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง
 
ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเพื่อความหวังกล่าวว่า ทางเครือข่ายฯ ต้องการสร้างพื้นที่ที่สร้างสรรค์ สร้างจินตนาการใหม่ๆ เพื่อเปลี่ยนผ่านจากความขัดแย้งโดยการมีส่วนร่วมของคนธรรมดา โดยวางแผนทำกิจกรรมต่อเนื่อง อาทิ การจัดอบรมเพิ่มเครื่องมือเป็นทักษะให้กับประชาชนในหัวข้อการสื่อสารด้วยสันติ ปฏิบัติการ (รณรงค์) ไร้ความรุนแรง และการพัฒนาทักษะการสื่อสารนักข่าวพลเมือง ในระหว่างวันที่ 10-11 พ.ค.2557 นอกจากนั้นจะมีกิจกรรมการระดมความคิดเห็นเพื่อการปฏิรูป และการเปิดเวทีเสวนาประเด็นเศรษฐกิจ สังคม การเมือง 
 
กิตติชัย กล่าวด้วยว่า ผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ สามารถติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวของเครือข่ายพลเมืองเพื่อความหวัง ได้ทาง Facebook เพจ Citizen for HOPE – พลเมืองเพื่อความหวัง ส่วนการทำกิจกรรมของกลุ่มต่างๆ ที่มารวมตัวกันเป็นเครือข่ายพลเมืองเพื่อความหวังก็ยังคงมีเหมือนเดิม เพราะแต่ละกลุ่มต่างมีเป้าหมายและแนวทางเป็นของตัวเอง
 
สำหรับเป้าหมายของ เครือข่ายพลเมืองเพื่อความหวัง คือ การนำสังคมกลับไปสู่ชีวิตปกติ มีความปลอดภัย หยุดยั้งสงครามกลางเมือง และชักชวนให้ทุกคนกลับสู่การดำรงอยู่ภายใต้กรอบกติการ่วมกัน เพื่อลดความแตกแยก อีกทั้ง ในระยะยาวเครือข่ายยังวางพันธกิจในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกความเห็นต่างทางการเมือง นำเสนอแผนปฏิรูปประเทศภายใต้กรอบกติกาประชาธิปไตย และหยุดยั้งการสร้างความรุนแรงทุกรูปแบบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
 
แถลงการณ์ เครือข่ายพลเมืองแห่งความหวัง (Citizen for hope) มีรายละเอียดดังนี้
 
 
 
แถลงการณ์
เครือข่ายพลเมืองแห่งความหวัง (Citizen for Hope)
“หยุดสงครามกลางเมือง ประชาชนคือคนกลาง เดินหน้าเลือกตั้ง”
 
เครือข่ายพลเมืองแห่งความหวัง (Citizen for Hope) เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มประชาชนที่ปรารถนาจะเห็นการเปลี่ยนผ่านการเมืองอย่างสันติ อันได้แก่ กลุ่มพอกันที! กลุ่มคนเท่ากัน กลุ่ม ant’s power กลุ่มดาวดิน ฯลฯ เรามองเห็นสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันว่ามีแนวโน้มจะนำไปสู่ความรุนแรงที่จะขยายตัวขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง  จึงร่วมกันก่อตั้งเครือข่ายประชาชนผู้ไม่ยอมจำนนต่อการสร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรงทุกรูปแบบ เพื่อปลุกความหวังของสังคมที่จะหยุดยั้งความรุนแรงอันอาจขยายตัวไปสู่สงครามกลางเมืองที่จะเป็นความบอบช้ำของสังคมไทยอย่างยากจะเยียวยา 
 
ถึงแม้ว่าความขัดแย้งทางการเมืองอันร้าวลึกในรอบนี้จะมีพัฒนาการมาหลายปีจนผู้คนสั่งสมความเกลียดชัง กีดกันผลักไสกันและกัน แต่เรายังเชื่อมั่นว่าการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองพึงต้องเป็นไปตามกติกาที่เรามีร่วมกัน เพื่อที่จะขัดแย้งกันอย่างไม่ใช้ความรุนแรง  เราจึงยืนยันการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกติกาที่ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ดีที่สุดในปัจจุบัน ทั้งยังเปิดโอกาสให้มีการเปลี่ยนแปลงตามกติกา เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันเชิงนโยบายอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ที่สำคัญที่สุดคือเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนได้มีส่วนร่วมในระบบการเมืองอย่างเท่าเทียม หนึ่งคนหนึ่งเสียง ไม่ว่าจะแตกต่างทางกายภาพ ฐานะ ภูมิภาค หรืออื่นใด แต่ทุกคนมีสิทธิขั้นพื้นฐานทางการเมืองเท่าเทียมกัน
 
สิ่งที่น่ากังวลในปัจจุบันคือองค์กรที่พึงทำหน้าที่ตามภารกิจจัดการเลือกตั้งเพื่อให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเสียงของตนตามระบอบประชาธิปไตย กลับไม่ยอมทำหน้าที่ของตนให้สำเร็จลุล่วง  เราเห็นว่า กกต. มักจะสร้างเงื่อนไขเกินจำเป็น ทำให้การเลือกตั้งไม่อาจดำเนินไปอย่างลุล่วงจนส่งผลกระทบไปทุกภาคส่วน เราขอเน้นย้ำว่า กกต. มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งและจัดการคนที่ขัดขวางการเลือกตั้งตามกฎหมาย  กกต. ต้องพึงทำหน้าที่นี้ให้ลุล่วงเท่านั้น  นอกจากนั้นคู่ขัดแย้งใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ต่างก็สร้างการเมืองมวลชนที่มีแนวโน้มนำไปสู่การปะทะอันรังแต่จะก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตมวลชน เราเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้ง เคารพหนึ่งคนหนึ่งเสียง เคารพกฎหมาย เคารพกฎกติกาของสังคม คือหนทางในการลดการเผชิญหน้าลดการปะทะรุนแรง และไม่นำพาสังคมเข้าสู่สงครามกลางเมืองที่ไม่มีใครปรารถนา
 
ในท่ามกลางความหวาดกลัวที่จะเกิดความรุนแรง ในท่ามกลางหนทางไปสู่สุญญากาศทางการเมือง ในท่ามกลางความเกลียดชัง เราจำเป็นต้องมีความหวัง และความหวังจะเปรียบดังแสงสว่างนำทางเราไปสู่สังคมที่ยอมรับหลักการคนเท่ากัน และอยู่ร่วมกันกับความคิดที่แตกต่างอย่างเคารพกติกา
 
ความพยายามที่จะสร้างสุญญากาศทางการเมืองและนำไปสู่การขอนายกฯ คนกลาง เป็นวิถีทางที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ถือเป็นความพยายามที่อยู่นอกวิถีทางประชาธิปไตย กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่หนักหน่วงขึ้น นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทุกคนเท่านั้น
 
เราคือประชาชน เราคือพลเมืองแห่งความหวัง เราจะสร้างพื้นที่แห่งความหวังให้แผ่ขยายออกไป ให้ประเทศไทยก้าวสู่การจัดการความขัดแย้งอย่างสันติ
 
“หยุดสงครามกลางเมือง ประชาชนคือคนกลาง เดินหน้าเลือกตั้ง!”
 
26 เมษายน 2557  ณ สวนเบญจสิริ กรุงเทพฯ
 
 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net