Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ช่วงนี้หากใครเดินทางไปเที่ยววัดพนัญเชิง กรุงเก่าพระนครศรีอยุธยา คงเกิดคำถามขึ้นในใจมากมาย จากสองวาทกรรมที่ตอบโต้ผ่านนัยการต่อสู้กันบนแผ่นป้าย

ฝ่ายวัดต้องการ "ทวงคืนพื้นที่สุสาน" ในขณะทีี่ฝ่ายประชาชนลูกหลานชาวจีนก็ขึ้นป้ายแดงหรากระจายเกลื่อนเมือง ไม่เว้นแม้แต่ตามร้านขายก๋วยเตี๋ยวว่า  "ขอคัดคานการรื้อสุสานของบรรพชนชาวจีน"

ผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งในบรรดานักท่องเที่ยวที่ได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนแหล่งโบราณสถานเมืองเก่าอยุธยาเมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ยอมรับว่าหัวใจห่อเหี่ยวเมื่อเห็นป้ายเหล่านั้่น จึงพยายามเกาะติดสถานการณ์ข่าวว่าเกิดอะไรขึ้น นำไปสู่การตัดสินใจร่วมเป็นหนึ่งในผู้ลงนามในจดหมายเปิดผนึกคัดค้านการรื้อย้ายสุสานชาวจีนออกจากวัดพนัญเชิง

แต่เนื่องจากความจำกัดด้านการเก็บข้อมูลเชิงลึก ผู้เขียนไม่ได้ไปสัมผัสบรรยากาศสุสานที่วัดพนัญเชิงอย่างเจาะลึกจริงจังในทุกมิติ ทั้งยามปกติและเทศกาลเชงเม้ง ไม่ทราบรายละเอียดของการบริหารจัดการ ไม่มีโอกาสได้สัมภาษณ์พุดคุยกับตัวแทนของคู่กรณี ทั้งจากฝ่ายวัดพนัญเชิง มูลนิธิเซียงเต๊กตึ้ง รวมถึงตัวแทนลูกหลานชาวจีนทายาทที่มีศพบรรบุรุษฝังในสุสานนั้น

ดังนั้นข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์นี้ จึงศึกษาจากเอกสารชั้นรองล้วนๆ ดังที่ทราบแต่ในเบื้องต้นกันแล้วว่า การที่วัดพนัญเชิงมีความประสงค์อยากให้มีการเคลื่อนย้ายสุสานศพชาวจีนออกไปจากวัดนั้น เริ่มมีเค้าลางก่อตัวมาแล้วนานกว่าทศวรรษ และค่อยๆ ปะทุอย่างต่อเนื่องขึ้นมาทีละน้อย ไม่ใช่เพิ่งมาเริ่มปุบปับเมื่อปลายปีกลาย

อันเป็นความขัดแย้งภายในระหว่างวัดกับมูลนิธิ จนในที่สุดก็นำไปสู่การยื่นคำขาดว่า ในฐานะที่วัดเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินผืนนี้ มีความประสงค์จะใช้ที่ดินไปทำกิจการให้เกิดประโยชน์ของวัด อาทิ ขยายพื้นที่โรงเรียนปรับปรุงภูมิทัศน์ ขยายลานจอดรถนักท่องเที่ยวเพื่อรองรับประชาคมอาเซียนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จึงขอให้ทายาทรีบมาดำเนินการเคลื่อนย้ายศพบรรพบุรุษภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2557

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อยู่ดีๆ ก็จะให้เหล่าลูกหลานหลายหมื่นหลายพันชีวิต ต้องรู้สึกผิดเป็นบาปเป็นกรรม คือต้องมาเปิดสุสานขุดกระดูกย้ายศพบรรพชนเชื้อสายจีนที่ตั้งรกรากมาตั้งแต่ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยาไปไว้ที่ไหนสักแห่งก็ตามแต่

นี่คือระฆังแม้ไม่ใช่ยกแรก แต่ก็ถือว่าใกล้ยกสุดท้าย ที่ส่งสัญญาณให้ฝ่ายมูลนิธิ ฝ่ายลูกหลาน และฝ่ายนักวิชาการท้องถิ่น ไม่อาจนิ่งนอนใจได้อีกแล้ว จำต้องปรับยุทธวิธีการต่อสู้ใหม่ เกิดการรวมกลุ่มกันทักท้วงไถ่ถามตอบโต้กับวัดพนัญเชิงถึงความคาใจของเรื่อง "กรรมสิทธิ์" สรุปแล้วจริงล่ะหรือที่ทางวัดอ้างว่าพื้นที่ตั้งสุสานหน้าวัดพนัญเชิงผืนนี้เป็นของวัดโดยสมบูรณ์

ก็ในเมื่อมีหนังสือสัญญายืนยันสิทธิการใช้ที่ดินบันทึกโดยอดีตเจ้าอาวาสวัดพนัญเชิงนามพระโบราณคณิศร ว่ายินดียกพื้นที่ประมาณ 14 ไร่ อันเป็นเขตป่าช้าวัดขอมร้าง หรืออีกชื่อคือวัดสวนพลู ให้แก่คนจีนได้ใช้ประโยชน์สร้างเป็นสุสานสาธารณกุศลอย่างถาวรได้ตลอดไป ลงวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2495

แต่ความที่วัดสวนพลูมีพระสงฆ์เพียงไม่กี่รูป และอยู่ติดกับวัดพนัญเชิงซึ่งเป็นวัดใหญ่ ดังนั้นก่อนพระโบราณคณิศรจะเขียนหนังสือสัญญาฉบับนั้น ในปี พ.ศ.2488 เคยมีมติสังฆมนตรี ประกาศให้รวมการปกครองสงฆ์วัดสวนพลูให้อยู่ในการบริหารจัดการของวัดพนัญเชิงมาก่อนแล้ว แต่ตามความเข้าใจของชาวจีนทั่วไปคิดว่า ประกาศสังฆมนตรีฉบับนั้นเป็นเรื่องการปกครองสงฆ์เท่านั้น ไม่น่าจะเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินป่าช้าวัดขอมร้าง

เมื่อชาวจีนได้รับอนุญาตให้จัดสร้างสุสานได้ ก็ดำเนินการบริหารภายใต้ "มูลนิธิเซียงเต๊กตึ้ง" ในระยะแรกเคยบริหารจัดการกันอย่างอิสระ แต่ต่อมาทางวัดพนัญเชิงขอให้มีตัวแทนของวัดหรือข้าราชการเข้าไปเป็นกรรมการคานน้ำหนักเพื่อร่วมตรวจสอบทรัพย์สิน รวมทั้งขอให้มูลนิธิย้ายที่ทำการเข้ามาในวัดเพื่อง่ายต่อการควบคุมดูแล

สุดท้ายก็มาถึงขั้นแตกหักเมื่อผลประโยชน์ไม่ลงเอยกัน วันที่ 5 มกราคม 2545 วัดมีหนังสือแจ้งแก่มูลนิธิให้ยกเลิกการเข้ามาใช้พื้นที่สร้างสุสานอันเป็นกรรมสิทธิ์ของวัด  แม้คหบดีชาวจีนจะมีการอ้างถึงหนังสือของพระโบราณคณิศร แต่ทางวัดก็ส่งเรื่องนี้ไปให้ศาลตีความ

ศาลลงความเห็นว่า พื้นที่วัดขอมร้างที่ตั้งสุสานนั้นเป็นสิทธิ์เด็ดขาดอันชอบธรรมของวัดพนัญเชิญ จริงอยู่แม้เคยมีจดหมายลายลักษณ์ของอดีตเจ้าอาวาสรูปก่อนที่แสดงน้ำใจเอื้ออารี อนุญาตให้ชาวจีนใช้พื้นที่สร้างสุสานในเขตวัดขอมร้างนั้น แต่นั่นก็เป็นแค่นโยบายหนึ่ง ณ ยุคสมัยหนึ่ง ในเมื่อกาลเวลาเปลี่ยน นโยบายใหม่ของวัดก็ควรได้รับการประยุกต์แทนที่เจตนารมณ์ดั้งเดิมได้ เพราะเจ้าอาวาสแต่ละรูปไม่ใช่เจ้าของวัด ด้วยวัดเป็นนิติบุคคล

ในเมื่อเรื่องข้อกฎหมาย ศาลได้ชี้สิทธิ์มาเช่นนั้น การต่อสู้ที่เหลือของลูกหลานชาวจีนจึงได้แต่ฝากความหวังไว้ที่ "การขอความเป็นธรรมด้วยน้ำหนักและเหตุผลทางประวัติศาสตร์"

แต่จะเป็นประวัติศาสตร์ของใครเล่า ตัวละครกี่ตัว เริ่มเมื่อไหร่ อย่างไร

ประวัติศาสตร์ราชธานีโบราณกรุงศรีอยุธยา หรือว่าจะสาวไปถึงยุคก่อนหน้า ซึ่งเรียกว่าศรีรามเทพนครอโยธยา

จะนับตั้งแต่ประวัติศาสตร์อันยาวนานของหลวงพ่อโต ซำปอกง เจ้ิงเหอ ผู้เดินทางรอบโลกได้ก่อนมาร์โคโปโล มาจนถึงตำนานรักรันทดระหว่าง เจ้าแม่สร้อยดอกหมาก เจ้าชายสายน้ำผึ้ง

หรือประวัติศาสตร์ของลูกหลานชาวจีนรุ่นหลังที่เพิ่งเข้ามาตั้งรกรากเมื่อหลัดๆ ในสมัยรัตนโกสินทร์กี่แซ่กี่สกุล

ต่อให้ขุดตัวละครจากหลุมศพหมดทั่วทั้งอโยธยา ยกขึ้นมาสาธยายพรรณนาถึงประวัติศาสตร์มนุษยชาติอันยิ่งใหญ่ที่ผ่านกาลเวลาทับซ้อนมิรู้กี่ยุคสมัย แต่หากทางวัดพนัญเชิงยังคงยืนยันประโยคเดียวประโยคเดิมตั้งแต่ 12-13 ปีก่อนว่า

“วัดต้องการใช้พื้นที่ 14 ไร่ผืนนี้บริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณชนเช่นกัน แต่ไม่ใช่ในรูปแบบของสุสาน"

ฝ่ายตรงข้ามจะว่าอย่างไร?

หรือว่าต้องชั่งน้ำหนักกันระหว่าง "โรงเรียน+ลานจอดรถ" กับ "สุสานชาวจีน" ว่าอะไรมีความสำคัญกว่า

สำหรับเหตุผลที่วัดกล่าวว่ามีความจำเป็นจะต้องใช้พื้นที่เพื่อขยายโรงเรียน (พระปริยัติธรรม?) และปรับปรุงภูมิทัศน์สร้างลานจอดรถขนาดใหญ่ เพื่อรองรับกระแสโลกเรื่องประชาคมอาเซียน  เนื่องจากเป็นวัดที่ชาวจีนหลั่ไหลมาอย่างคับคั่งนั้น

ผู้เขียนมีแนวคิดว่า หากเป็นเหตุผลเรื่องโรงเรียนของวัดต้องการใช้พื้นที่จริง เชื่อว่าประเด็นนี้หาทางออกได้ไม่ยาก ทางมูลนิธิและลูกหลานชาวจีนคงสามารถช่วยกันระดมทุนจัดสร้างโรงเรียนในสถานที่แห่งใหม่ให้แก่ทางวัดได้ เพียงแต่ขออย่าให้มีการย้ายสุสานนี้ออกไปเลย

ส่วนประเด็นการปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อสร้างลานจอดรถรองรับนักท่องเที่ยว ในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่าวัดพนัญเชิงเป็นวัดที่มีจุดเด่นมากมาย แต่เท่าที่ไปสัมผัสกลับพบสิ่งแปลกปลอมหลายอย่างที่ออกจะรุงรังไม่น้อย เช่นการปั้นรูปช้าง รูปยักษ์ รูปเทวดาจีนอะไรมากมายเพื่อให้คนมาสักการะ เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความสับสนไขว้เขวหาจุดเด่นไม่ได้

ทางที่ดีวัดควรจะเชิดชูเฉพาะโบราณวัตถุโบราณสถานที่เป็น "หัวใจหลักๆ" ที่อยู่คู่กับวัดพนัญเชิงจริงๆ เท่านั้น อาทิ พระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาทสมัยทวารวดีที่วิหารด้านหน้า ซึ่งไปปักป้ายว่า "หลวงพ่อประทานพร" นั้น นักโบราณคดีเห็นแล้วเศร้าใจ แทนที่จะเปิดผิวเนื้อศิลา หรือใช้ทองคำเปลวปิด กลับพ่นสีทองแบบสีวิทยาศาสตร์ เป็นการทำลายคุณค่าด้านสุนทรียศาสตร์ของหลักฐานประติมากรรมหินทรายสมัยทวารวดีลงอย่างสิ้นเชิง ควรมีป้ายคำบรรยายว่าพระพุทธรูปองค์นั้นสร้างพร้อมกันกับพระพุทธรูปอีก 4-5 องค์ ซึ่งกระจายประดิษฐานอยู่ที่วัดไหนกันบ้าง และควรบอกแหล่งอ้างอิงดั้งเดิมว่าขุดได้มาจากวัดหน้าพระเมรุจังหวัดนครปฐม

วัดพนัญเชิงมีของดีอย่างหาที่เปรียบมิได้ คือพระพุทธรูปประธานขนาดมหึมา ที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า "หลวงพ่อโต"หรือซำปอกง โดยเฉพาะวิหารประดิษฐานรูปปั้นของเจ้าแม่สร้อยดอกหมากนั้น หากไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้กันจริงๆ เชื่อว่านักท่องเที่ยวหลานคนคงเดินไปไม่ถึงจุดนี้แน่ เพราะจากวิหารหลวงพ่อโตกว่าจะไปถึงเจ้าแม่สร้ายดอกหมาก ต้องเดินผ่านหรือถูกคั่นดึงดูดความสนใจด้วยรูปปั้นอะไรต่อมิอะไรตามเบี้ยบ้ายรายทางเต็มไปหมด

วัดมีวิหารอุโบสถหลังงาม มีศิลปกรรมชิ้นเยี่ยมระดับสุดยอดฝีมือ มีตำนานคลาสสิกหลายเรื่องราว ก่อนที่วัดคิดจะไปรื้อสุสานเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์อะไรเหล่านั้น อยากให้วัดปรับปรุงภูมิทัศน์วัตถุจัดแสดงภายในวัดขณะนี้ก่อนจะได้หรือไม่ คัดกรองให้เหลือเฉพาะสิ่งที่เป็นรากเหง้าจิตวิญญาณดั้งเดิมที่เคยอยู่คู่กับวัดมาก่อนแล้วจริงๆ ผู้เขียนปวารณาตัวยินดีช่วยเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำในทุกๆ ด้านจากใจจริง

วัดที่จะทรงคุณค่าไม่ควรเต็มไปด้วยสิ่งแปลกปลอมจนดูเลอะเทอะ ไม่จำเป็นต้องทำให้วัดกลายเป็นศูนย์รวมทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อเอาใจนักท่องเที่ยวชาวจีนแบบฉาบฉวย โดยเอารูปแป๊ะยิ้ม ยักษ์จีน อะไรเข้ามากมาย

เพราะอันที่จริงแล้ว "หัวใจของคนจีน" ที่อยู่คู่กับวัดพนัญเชิง และมีค่าควรแก่ความภาคภูมิใจเหนือกว่ารูปเคารพใดๆ ก็คือ สุสานบรรพชนของชาวจีนหน้าวัดนั่นเอง

ไม่อยากให้มองว่าสุสานเหล่านี้เป็น "ทัศนะอุจาด" ทำให้วัดเสื่อมเสีย

สัปดาห์หน้าจะมีตัวอย่างของการบริหารจัดการสุสานคริสต์แห่งหนึ่งในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่ครั้งหนึ่งประชาชนละแวกนั้นก็เคยต้องลุกขึ้นต่อสู้กับบาทหลวงเรื่องความคิดที่จะรื้อย้ายสุสานออกไปจากชุมชนแล้วเหมือนกัน

แต่ผลสุดท้าย สุสานแห่งนี้กลับกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งท่องเที่ยวในระดับท็อปเท็นเมื่อใครไปถึงโบสถ์แห่งนั้น

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: คอลัมน์ปริศนาโบราณคดีตอนที่ 179  มติชนสุดสัปดาห์ (ฉบับวันที่ 28 เมษายน-4 พฤษภาคม 2557)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net