Skip to main content
sharethis

ฟรีดอมส์เฮาส์เผยรายงานเสรีภาพและสิทธิทางการเมืองโดยรวมของโลกแย่ลง โดยเฉพาะอียิปต์ ขณะที่ไทยคะแนนคงเดิม ด้านอินโดฯ ถูกลดระดับจากประเทศเสรีกลายเป็นเสรีบางส่วนจากกฎหมายควบคุมเอ็นจีโอ หลายประเทศคะแนนลดจากปัญหากีดกันความหลากหลายทางเพศ

2 พ.ค. 2557 องค์กรฟรีดอมส์เฮาส์ได้นำเสนอรายงาน "เสรีภาพโลกประจำปี 2557" ระบุว่าโดยรวมแล้วสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพของประชาชนแย่ลงมาโดยตลอดตั้งแต่ช่วง 8 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในประเทศอียิปต์ซึ่งมีการก้าวถอยหลังของประชาธิปไตยเนื่องจากเกิดการรัฐประหารโดยกองทัพ รวมถึงประเทศที่ปัญหาด้านประชาธิปไตยของพวกเขาส่งผลออกไปยังนอกประเทศ เช่น รัสเซีย, ยูเครน, ตุรกี, เวเนซุเอลา, อาเซอร์ไบจาน, อินโดนีเซีย และไทย

ในรายงานเสรีภาพโลกประจำปี 2557 ระบุว่ามี 54 ประเทศที่เสื่อมถอยลงด้านสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพประขาขน ขณะที่อีก 40 ประเทศมีคะแนนดีขึ้นในด้านนี้ และในอีกหลายประเทศยังเกิดสงครามกลางเมืองหรือมีการโจมตีจากผู้ก่อการร้าย

รายงานฉบับนี้มาจากการสำรวจเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปี 2556 เพื่อนำมาชี้วัดด้านสิทธิทางการเมืองซึ่งดูจากกระบวนการเลือกตั้งผู้นำ การทำงานของรัฐบาล การมีส่วนร่วมของประชาชน และสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยวัดจากเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการชุมนุม หลักนิติธรรมและเสรีภาพในเชิงปัจเจกบุคคล

"การสำรวจเสรีภาพโลกได้บันทึกไว้ว่าประชาธิปไตยโดยรวมทั่วโลกแย่ลงติดต่อกันเป็นปีที่ 8 แล้ว" ฟรีดอมส์เฮาส์ระบุในหน้าเว็บไซต์

ฟรีดอมส์เฮาส์ระบุว่าปี 2556 เป็นปีที่ผู้นำทางการเมืองเกิดความขัดแย้งและที่แย่กว่านั้นคือผู้ที่เคยปราบปรามประชาชนหรือกระทำการโหดร้ายไม่ถูกตำหนิแต่ในบางกรณีได้รับการชื่นชมว่า "เป็นผู้นำที่เข้มแข็ง" หรือ "มีความเป็นรัฐบุรุษ" ซึ่งฟรีดอมส์เฮาส์ระบุว่าเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดน่าจะเป็นการรัฐประหารโค่นล้มประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งในอียิปต์ ทำให้อียิปต์เปลี่ยนจากประเทศที่เสรีเพียงบางส่วน (Partly Free) กลายเป็นประเทศไม่เสรี (Not Free)

อีกกรณีหนึ่งคือบาชาร์ อัล-อัสซาด ผู้นำซีเรียซึ่งอาศัยเรื่องการสัญญากำจัดอาวุธเคมีในประเทศเบี่ยงเบนความสนใจจากการใช้ความรุนแรงกับฝ่ายต่อต้าน ทำให้ซีเรียเกิดสงครามกลางเมือง มีผู้เสียชีวิตนับแสนและมีผู้อพยพถึง 2 ล้านคน ฟรีดอมส์เฮาส์ระบุให้ซีเรียมีคะแนนแย่ที่สุดในรายงาน

อย่างไรก็ตามในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางมีประเทศตูนิเซีย ที่มีพัฒนาการดีขึ้นทางด้านเสรีภาพประชาชน จากด้านเสรีภาพทางวิชาการ การจัดตั้งสหภาพแรงงานใหม่ และการยกเลิกข้อจำกัดการเดินทาง


อินโดฯ - มาเลย์ อันดับตกจากกฎหมายจำกัดเสรี

ในรายงานของฟรีดอมส์เฮาส์ไม่มีการกล่าวถึงประเทศไทยในเชิงรายละเอียด แต่คะแนนสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพประชาชนยังอยู่ที่ 4 ระดับ (จาก 1-7 ระดับ ระดับที่น้อยกว่าถือว่าดีกว่า) ทั้งสองหัวข้อไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากจากปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตามมีการกล่าวถึงประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างอินโดนีเซียซึ่งถูกลดระดับจากประเทศเสรี (Free) กลายเป็นประเทศที่เสรีเพียงบางส่วน (Partly Free) เนื่องจากการใช้กฎหมายใหม่ซึ่งจำกัดการดำเนินกิจกรรมขององค์กรเอ็นจีโอ รวมถึงบังคับให้องค์กรต่างๆ ต้องสนับสนุนหลัก "ปัญจศีล" ซึ่งแม้จะมีการระบุถึงหลักการประชาธิปไตยและความยุติธรรมในสังคม แต่ก็ยังระบุถึงการนับถือพระเจ้าองค์เดียวด้วย

ทางด้านมาเลเซียมีคะแนนแย่ลงเนื่องจากฟรีดอมส์เฮาส์มองว่ามีการโกงการเลือกตั้งและพยายามสกัดกั้นไม่ให้ฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้ง อีกทั้งยังพิจารณากรณีที่ศาลสั่งห้ามไม่ให้ผู้ที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมใช้คำว่า "อัลเลาะห์" กล่าวถึงพระเจ้า รวมถึงการที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศถูกมองด้วยอคติมากขึ้น

รานงานฉบับนี้ยังได้กล่าวถึงประเทศมหาอำนาจในพื้นที่อย่างจีนว่า แม้ผู้นำจีนจะให้สัญญาเรื่องการต่อสู้คอร์รัปชันและพัฒนาด้านหลักนิติธรรมแต่กลับมาการปิดกั้นสื่อและพยายามควบคุมแนวคิดอุดมการณ์ของผู้คน รวมถึงมีการจับกุมกลุ่มนักเคลื่อนไหวสิทธิพลเมือง นอกจากนี้แม้ว่าทางการจีนจะยกเลิกค่ายแรงงาน แต่ก็มีการเพิ่มโทษและการสั่งลงโทษพิเศษกับกลุ่มนักกิจกรรมและนักสิทธิมนุษยชน


หลายประเทศพัฒนาขึ้นเพราะจัดการเลือกตั้งลุล่วง

ทางด้านประเทศแถบแอฟริกาใต้ทะเลทรายสะฮารามีหลายประเทศได้คะแนนดีขึ้นเช่น รวันดา, ซิมบับเว, โตโก ซึ่งกรณีของรวันดาเนื่องจากมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น ขณะที่โตโกมีพัฒนาการเนื่องจากสามารถจัดการเลือกตั้งได้อย่างลุล่วง อีกประเทศหนึ่งที่เปลี่ยนจากสถานะไม่เสรีเป็นประเทศมีเสรีภาพบางส่วนคือสาธารณรัฐมาลี ซึ่งสามารถจัดการเลือกตั้ง ส.ส. ประธานาธิบดีได้สำเร็จลุล่วงและลดบทบาทกองทัพที่มีต่อการเมืองลงได้

ในยุโรปก็มีประเทศที่ได้รับการชื่นชมเนื่องจากจัดการเลือกตั้งลุล่วงด้วยดีคืออิตาลี ซึ่งถูกมองว่ามีพัฒนาการด้านการต่อต้านการทุจริตดีขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามในรายงานได้วิพากษ์วิจารณ์ประเทศตุรกีที่มีการปราบปรามผู้ประท้วงอย่างหนักอีกทั้งมีการกดดันบริษัทเอกชนให้ยอมตามวาระของพรรครัฐบาล

ทางด้านรัสเซียถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการออกกฎหมายสั่งห้าม "การโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ที่ไม่เป็นไปตามแบบแผนเดิม" ซึ่งเป็นการปิดกั้นเพศสภาพที่หลากหลาย รวมถึงการจับกุมแรงงานข้ามชาติตามอำเภอใจ ส่วนยูเครนถูกวิจารณ์เรื่องการใช้ความรุนแรงต่อนักข่าวและการตัดสินใจของประธานาธิบดีที่ไม่ยอมรับข้อตกลงความร่วมมือสหภาพยุโรปซึ่งฟรีดอมส์เฮาส์มองว่าเป็นการตัดสินใจโดยไม่ฟังความเห็นของประชาชน


อังกฤษอันดับตกกรณีพยายามสกัด เดอะ การ์เดียน เปิดโปงโครงการสอดแนม

ส่วนประเทศอังกฤษมีอันดับตกลงจากเดิมเป็นเพราะรัฐบาลอังกฤษพยายามปราบปรามผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับรายงานข่าวเปิดโปงโครงการสอดแนมซึ่งได้ข้อมูลจากเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตคนทำงานด้านข่าวกรองในสหรัฐฯ

เหตุการณ์ดังกล่าวคือการควบคุมตัวเดวิด มิแรนดา คนรักของเกลน กรีนวัลด์ นักข่าวที่รายงานเรื่องโครงการสอดแนมโดยยังมีการทำลายฮาร์ดดิสก์เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์และกักตัวมิแรนดาไว้ 9 ชั่วโมง

เมื่อพิจารณาโดยรวมทั่วโลกแล้ว รายงานปี 2557 ระบุว่ามีประเทศที่นับเป็นประเทศเสรี 88 ประเทศคิดเป็นร้อยละ 45 ประเทศที่เสรีเพียงบางส่วน 59 ประเทศคิดเป็นร้อยละ 30 แลมีอยู่ 48 ประเทศที่เป็นประเทศไม่เสรีคิดเป็นร้อยละ 25


'ลัทธิอำนาจนิยมยุคสมัยใหม่' และ 'วิกฤติความเชื่อมั่นของระบอบประชาธิปไตย'

อาช พุดดิงตัน รองประธานการวิจัยของฟรีดอมส์เฮาส์ยังได้กล่าวถึงปรากฏการณ์ที่เขาเรียกว่าเป็น 'ลิทธิอำนาจนิยมยุคสมัยใหม่' ซึ่งผู้นำหลายประเทศแม้ว่าอาจจะไม่ได้พยายามยึดกุมอำนาจโดยตรงด้วยการรัฐประหารแต่ก็ใช้วิธีที่แนบเนียนกว่า เช่นการพยายามบ่อนทำลายฝ่ายตรงข้าม พยายามสร้างความชอบธรรมและความมั่งคั่งโดยไม่คำนึงหลักนิติธรรม อีกทั้งยังพยายามขยายอำนาจผ่านสื่อ, ศาล, ภาคประชาสังคม, เศรษฐกิจ และหน่วยงานความมั่นคง

"ยุทธศาสตร์หลักๆ ของลัทธิอำนาจนิยมยุคสมัยใหม่คือการยึดกุมอำนาจโดยผ่านสถาบันต่างๆ ซึ่งเป็นการเหยียบย่ำพหุนิยมทางการเมือง" พุดดิงตันกล่าวในรายงาน

ในรายงานฉบับย่อ มีการระบุในหัวข้อ 'วิกฤติความเชื่อมั่นของระบอบประชาธิปไตย' ไว้ว่าประเทศสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรซึ่งเคยช่วยสนับสนุนการสร้างประชาธิปไตยและการเคลื่อนไหวเรียกร้องเสรีภาพในประเทศต่างๆ แต่กลับไม่สามารถดำเนินบทบาทของตนได้ดีพอในการลุกฮือแถบภาคพื้นอาหรับ ซึ่งภูมิภาคนี้กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านโดยไม่รู้ว่าจะได้สังคมที่มีเสรีภาพมากขึ้นหรือจะตกอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการใหม่

 


เรียบเรียงจาก

รายงาน Freedom in the World 2014, Freedom House
http://freedomhouse.org/sites/default/files/Freedom%20in%20the%20World%202014%20Booklet.pdf

Freedom in the World 2014 : Overview Fact Sheet, Freedom House
http://freedomhouse.org/sites/default/files/Overview%20Fact%20Sheet.pdf

UK slips down global press freedom list due to Snowden leaks response, The Guardian, 01-04-2014
http://www.theguardian.com/media/2014/may/01/uk-slips-press-freedom-list-snowden-nsa-leaks

Freedom in the World 2014, Freedom House
http://www.freedomhouse.org/report/freedom-world/freedom-world-2014#.U2PTTYGSzjL

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net