Skip to main content
sharethis
สิงคโปร์-จับกุมนายจ้างหลังไม่จ่ายเงินเดือนลูกจ้าง
 
2 เม.ย. 2014 - รัฐบาลสิงคโปร์เริ่มบังคับใช้กฏหมายใหม่ว่าด้วยการจ้างงานเมื่อวานนี้โดยให้อำนาจกับกระทรวงแรงงานมีอำนาจในการจับกุมนายจ้างที่เบี้ยวจ่ายค่าจ้างให้กับพนักงานได้แบบคาบริษัท และกำหนดโทษปรับสูงกว่าเดิมถึง 5 เท่าคือจาก 25,000 บาทเป็น 125,000 บาท โดยขณะนี้ทางกระทรวงแรงงานสิงคโปร์กำลังฝึกฝนเจ้าหน้าที่เพื่อให้เกิดทักษะในการจับกุมเช่นฝึกความชำนาญในการใส่กุญแจมือหรือการใช้ตะบองแบบตำรวจรวมถึงการควบคุมผู้ต้องหา
 
กฏหมายใหม่นี้นับเป็นการเพิ่มบทบาทให้กับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงานมากยิ่งขึ้นโดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวานนี้เพื่อให้การจ่ายค่าตอบแทนเป็นไปตามที่กฏหมายกำหนด
 
ปัจจุบันสิงคโปร์ได้ปรับเพดานเงินเดือนของพนักงานทั่วไปจาก 5 หมื่นบาท เป็น 62,500 บาท ส่วนระดับผู้บริหารซึ่งมีเงินเดือนไม่เกิน 112,500 บาท ก็จะได้รับการคุ้มครองจากการถูกให้ออกจากงานโดยไม่เป็นธรรม นอกจากนั้นยังกำหนดให้จ่ายค่าโอทีให้กับแรงงานที่ได้ค่าจ้างไม่เกินเดือนละ 62,500 บาท จากเดิมไม่เกิน 56,250 บาท
 
“ซีเมนส์” ใจป้ำมอบหุ้นให้พนักงาน 7.5 หมื่นคน รวม 41 ล้านยูโร
 
4 เม.ย. 2014 - “ซีเมนส์” ใจป้ำแจกหุ้นให้พนักงานของบริษัทที่อยู่ทั่วโลกราว 75,000 คน  มูลค่ารวม 440 ล้านหุ้น หรือ 41 ล้านยูโร เพื่อสร้างแรงแรงจูงใจ และทำให้ตระหนักถึงความรับผิดชอบในฐานะเจ้าของบริษัท และเพื่อแผนการออมเงินในช่วงเกษียณอายุที่มั่นคง
       
รายงานข่าวแจ้งว่า  พนักงานสามารถมีโอกาสในการเป็นหุ้นส่วน บริษัท ซีเมนส์ เพิ่มมากขึ้น โดยการเข้าร่วมโครงการ “การจัดสรรหุ้นสำหรับพนักงาน” (Employee Share Programs) ที่เรียกว่า Share Matching Plan และ Base Share Plan โดยในปีนี้บริษัทได้มีการโอนหุ้นให้แก่พนักงานเป็นจำนวน 440,000 หุ้นโดยมีมูลค่าถึง 41 ล้านยูโร ซึ่งเพิ่มมากขี้นถึงร้อยละ 25 จากปีก่อนที่มีจำนวนหุ้นเพียง 350,000 หุ้น
       
นายโจ เคเซอร์ ประธานและหัวหน้าฝ่ายบริหาร บริษัท ซีเมนส์ เอจี กล่าวว่า การที่พนักงานเข้ามามีบทบาทในการเป็นเจ้าของบริษัทเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดประโยชน์หลายด้าน นอกจากจะเป็นการสร้างแรงจูงใจ และทำให้ตระหนักถึงความรับผิดชอบในฐานะเจ้าของบริษัทแล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าสำหรับแผนการออมเงินในช่วงเกษียณอายุที่มั่นคงอีกด้วย
       
ด้านนายแอนโทนี่ เชย์ ประธานและหัวหน้าฝ่ายบริหาร บริษัท ซีเมนส์ จำกัด ประเทศไทย (พม่า และกัมพูชา) กล่าวเสริมว่า โครงการนี้ทำให้พนักงานเข้าถึงบทบาทในการเป็นเจ้าของบริษัทได้เป็นอย่างดี ความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับบริษัท ทำให้เกิดแรงจูงใจ และความรับผิดชอบในการที่จะพัฒนาองค์กรให้ยั่งยืนต่อไป
       
สำหรับโครงการ Share Matching plan ของบริษัท ทำให้พนักงานสามารถลงทุนในหุ้นของซีเมนส์ และยังได้มีส่วนร่วมโดยตรงในการที่จะพัฒนาบริษัท ทุกๆ 3 หุ้นที่พนักงานซื้อ ทางบริษัทจะสมทบให้อีกหนึ่งหุ้นโดยไม่คิดมูลค่าหลังจากที่ได้พนักงานได้ถือหุ้นดังกล่าวเป็นระยะเวลา 3 ปีแล้ว
       
ปัจจุบัน มีพนักงานราว 75,000 คน ใน 60 ประเทศ ได้รับหุ้นภายใต้โครงการดังกล่าวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้จำนวนพนักงานซีเมนส์ที่ถือหุ้นของบริษัทในปัจจุบันมีจำนวน 140,000 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ถึงร้อยละ 50 ขณะนี้ พนักงานปัจจุบันและอดีตพนักงานของซีเมนส์ได้มีการถือหุ้นร่วมกันเป็นจำนวนร้อยละ 5 ของหุ้นซีเมนส์ทั้งหมด ซึ่งถือได้ว่าเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นที่ใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่ง
 
คนงานโรงงานสิ่งทอในกัมพูชาเป็นลมหมู่อีก 102 คน
 
4 เม.ย. 2014 - สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานอ้างนายตำรวจในกรุงพนมเปญของกัมพูชาว่า คนงานโรงงานสิ่งทอ 2 แห่งในกรุงพนมเปญเป็นลมหมู่อีกอย่างน้อย 102 คน เมื่อเช้าวันนี้ หลังจากคนงาน 118 คน ที่โรงงานสิ่งทออีก 2 แห่ง ล้มป่วยเมื่อวานนี้
 
ตำรวจรายงานว่า มีคนงานราว 52 คน เป็นลมที่โรงงานนิวไวด์ และอีก 50 คน รู้สึกไม่สบายที่โรงงานไอ.ซี. ทั้งหมดถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที ไม่มีผู้เสียชีวิต บางคนฟื้นและกลับบ้านได้แล้ว ตำรวจคาดว่ายาฆ่าแมลงเป็นสาเหตุที่ทำให้คนงานในโรงงานนิวไวด์เป็นลมหมู่ 3 วันติดต่อกันนับตั้งแต่วันพุธ ส่วนเหตุการณ์ที่โรงงานไอ.ซี. คาดว่าเป็นเพราะสภาพแวดล้อมในโรงงานไม่ดี ประกอบกับอากาศร้อน
 
เมื่อวานนี้คนงาน 118 คน ที่โรงงานสิ่งทอ 2 แห่งก็เป็นลมหมู่เช่นกัน เนื่องจากรับประทานอาหารปนเปื้อน สภาพที่ทำงานไม่ดี และอากาศร้อน เหตุการณ์คนงานเป็นลมหมู่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในโรงงานสิ่งทอของกัมพูชา รายงานของกระทรวงแรงงานกัมพูชาระบุว่า เมื่อปีที่แล้วมีคนงานล้มป่วย 823 คน ในโรงงาน 15 แห่ง เนื่องจากการทำงานหนักเกินไป สุขภาพไม่ดี ได้รับสารเคมีและโรคทางจิตเวชในกลุ่มอาการวิตกกังวล
 
'คูเวตแอร์เวย์ส' เตรียมปลด พนง.1000 ตำแหน่ง
 
7 เม.ย. 2014 - นางราสฮา อัล รูมี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ของคูเวต แอร์เวย์สเผยผ่าน “อาระเบียน บิสเนสส์” สื่อดังแห่งแวดวงธุรกิจของโลกอาหรับในวันอาทิตย์ (6) โดยระบุ มีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อให้สายการบินแห่งชาติของคูเวตซึ่งก่อตั้งกิจการมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1954 กลับมามีผลกำไรอีกครั้ง หลังประสบภาวะขาดทุนสะสมต่อเนื่องมานานหลายปี
 
ซีอีโอหญิงของคูเวต แอร์เวย์สซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนธันวาคม เผยว่า พนักงานทั้ง 1,000 คนที่จะถูกปลดออกในครั้งนี้ จะเป็นพนักงาน “ชาวต่างชาติ” และมิได้เป็นพนักงานระดับอาวุโส โดยทางสายการบินจะทยอยแจ้งพนักงานที่จะถูกเลิกจ้างทั้งหมด ภายในระยะเวลา 3-4 เดือนจากนี้
 
"ในปีนี้เราจะปลดพนักงานออก 1,000 คน แต่ข้าพเจ้าตั้งเป้าจะปลดพนักงานออกให้ได้ราว 4,500 คน เพื่อลดค่าใช้จ่ายภายใน และปรับโครงสร้างขององค์กร ให้เรากลับสู่เส้นทางแห่งการทำกำไรได้อีกครั้ง" นางราสฮา อัล รูมี กล่าว
 
อย่างไรก็ตาม ซีอีโอหญิงรายนี้ ยอมรับว่า อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี กว่าที่สายการบินคูเวต แอร์เวย์สซึ่งมีพนักงานในสังกัดมากกว่า 6,000 คน จะกลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง แม้รัฐบาลคูเวตจะเพิ่ง “ล้างหนี้สิน” จำนวน 1,550 ล้านดอลลาร์ (ราว 50,300 ล้านบาท) ให้กับคูเวต แอร์เวย์ส เมื่อปีที่แล้ว โดยหนี้สินจำนวนนี้ เป็นหนี้ที่พอกพูนสะสมมาตั้งแต่ปี 2004
 
รายงานข่าวระบุว่า คูเวต แอร์เวย์สได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับ “แอร์บัส” ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่จากฝรั่งเศส ในการขอ “เช่า” เครื่องบินจำนวน 12 ลำภายในสิ้นปีนี้ เพื่อนำมาใช้ทดแทนเครื่องบินเดิม ที่มีอายุใช้งานมานานเกินกว่า 20 ปี และเตรียม “สั่งซื้อ” เครื่องบินใหม่เพิ่มอีก 25 ลำซึ่งจะทยอยส่งมอบนับจากปี 2019 เป็นต้นไป
 
ศาลยูเออีพิพากษายืนจำคุก 15 ปีหญิงที่ให้สาวใช้ดื่มยาฆ่าแมลง
 
7 เม.ย. 2014 - ศาลนครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้จำคุก 15 ปี หญิงชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่ทรมานสาวใช้ชาวเอธิโอเปียจนเสียชีวิตด้วยการบังคับให้ดื่มยาฆ่าแมลง
 
หนังสือพิมพ์กัลฟ์นิวส์ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์รายงานว่า หญิงชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ วัย 46 ปี ทรมานสาวใช้ชาวเอธิโอเปียด้วยการปล่อยให้อดอาหารและบังคับให้ดื่มยาฆ่าแมลง ทั้งยังไม่ยอมพาไปรักษา หลังจากที่สาวใช้คนดังกล่าวมีอาการปอดอักเสบจนเสียชีวิตในเวลาต่อมา ส่วนสามีของเธอซึ่งเป็นชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เช่นกันได้กักขังสาวใช้ชาวเอธิโอเปียผู้นี้ในห้องและปิดผนึกหน้าต่างในห้องดังกล่าวทั้งหมด เขาถูกศาลตัดสินจำคุก 3 ปี ฐานให้ความช่วยเหลือและส่งเสริมการกระทำความผิดดังกล่าว
 
หญิงชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์รายนี้ยังถูกกล่าวหาว่า ทรมานสาวใช้ชาวฟิลิปปินส์และทำร้ายร่างกายสาวใช้ไม่ทราบสัญชาติอีกคน สาวใช้ชาวฟิลิปปินส์ให้การต่อศาลระหว่างการไต่สวนเมื่อวานนี้ว่า นายจ้างรายนี้ทำร้ายร่างกายพวกเธอด้วยการใช้ไม้ตี จับศีรษะโขกกับกำแพงจนเลือดออก และบังคับให้ดื่มน้ำยาซักผ้าเนื่องจากไม่พอใจวิธีที่สาวใช้ทำความสะอาดห้องน้ำ ทั้งยังบังคับให้สาวใช้ถอดเสื้อผ้า ถ่ายภาพพวกเธอขณะเปลือยกายแล้วบังคับให้ส่งภาพเหล่านั้นให้กับเพื่อนๆ สาวใช้ชาวฟิลิปปินส์ยังให้การว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์สาวใช้ชาวเอธิโอเปียเสียชีวิตนายจ้างได้ให้เงินก้อนใหญ่กับเธอเพื่อให้ปิดเรื่องนี้เป็นความลับ อย่างไรก็ตาม สามีภรรยาคู่นี้ต่างปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดและมีเวลา 30 วันในการยื่นอุทธรณ์คำตัดสินต่อศาลสูงสุด
 
สหภาพแรงงานกัมพูชาชวนคนงานผละงานประท้วงหลังหยุดยาวปีใหม่
 
10 เม.ย. 2014 - นักเคลื่อนไหวหลายสิบคนแจกใบปลิวให้แก่บรรดาแรงงานที่บริเวณหน้านิคมอุตสาหกรรมคานาเดีย ชานกรุงพนมเปญ เมื่อวันพุธ (9) ระหว่างช่วงพักกลางวัน โดยข้อความในใบปลิวระบุว่า การผละงานประท้วงมีวัตถุประสงค์ที่จะเรียกร้องการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ 160 ดอลลาร์ต่อเดือน และเรียกร้องการปล่อยตัวแรงงาน 21 คน ที่ถูกจับกุมตัวระหว่างการประท้วงรุนแรงในช่วงต้นเดือน ม.ค.
       
ประธานสมาพันธ์พนักงานด้านบริการและอาหารกัมพูชา เผยกับผู้สื่อข่าวว่า สหภาพแรงงาน และสมาคม 18 แห่ง ได้เรียกร้องให้แรงงานผละงานประท้วงหลังวันหยุดเทศกาลปีใหม่ช่วงวันที่ 14-16 เม.ย.
       
ขณะที่ประธานสหภาพเคลื่อนไหวแรงงาน กล่าวว่า สหภาพแรงงานแนวร่วมฝ่ายค้านเป็นตัวแทนของแรงงาน 100,000 คน จากแรงงานทั้งหมด 600,000 คน ในโรงงานผลิตรองเท้า และตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปกว่า 900 แห่งทั่วประเทศ
       
แรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปอายุ 23 ปี จากนิคมอุตสาหกรรมคานาเดีย เผยกับผู้สื่อข่าวว่า อาจไม่ร่วมผละงานประท้วงเพราะเกรงว่าจะตกงาน
       
“แน่นอนว่าเราต้องการค่าแรงสูงขึ้น แต่งานที่มั่นคงนั้นสำคัญกว่ามาก หากผมไม่มีงาน ผมก็ไม่มีเงินเลี้ยงดูครอบครัว” แรงงานชายคนหนึ่ง กล่าว
       
ค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปในปัจจุบันอยู่ที่ 100 ดอลลาร์ต่อเดือน ขยับเพิ่มขึ้นจาก 80 ดอลลาร์ต่อเดือนเมื่อปีก่อน
       
อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป ถือเป็นแหล่งรายได้จากต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา และในปี 2556 ที่ผ่านมา ภาคส่วนนี้ทำรายได้ให้กับประเทศถึง 5,500 ล้านดอลลาร์
       
นายกรัฐมนตรีฮุนเซน กล่าวว่า ค่าแรงที่เรียกร้องให้ปรับเพิ่มขึ้นนั้นสูงเกินกว่าจะจ่ายได้ และเตือนว่า สหภาพแรงงานที่ยั่วยุปลุกปั่นให้แรงงานผละงานประท้วงเพื่อเรียกค่าแรงสูงขึ้นต้องรับผิดชอบหากมีโรงงานปิดตัวลง พร้อมย้ำว่า ค่าแรงในปัจจุบันของแรงงานชาวกัมพูชานั้น สูงกว่าค่าแรงของแรงงานในลาว บังกลาเทศ อินเดีย เนปาล และพม่า
 
เกาหลีใต้เข้มงวดระเบียบการแต่งงานกับคนต่างชาติ
 
10 เม.ย. 2014 - เกาหลีใต้ออกระเบียบใหม่เข้มงวดการแต่งงานกับคนต่างชาติ ขณะที่มีเสียงติงว่าทางการควรหาทางสนับสนุนให้คู่สมรสชาวต่างชาติสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมเกาหลีใต้มากกว่า
 
ทางการเกาหลีใต้ออกกฎหมายใหม่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน กำหนดให้ผู้ขอวีซ่าผู้อาศัยจากการสมรสจะต้องผ่านการทดสอบความรู้ด้านภาษา ส่วนว่าที่คู่สมรสชาวเกาหลีใต้จะต้องแสดงหลักฐานว่ามีรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 14.8 ล้านวอน (ราว 455,000 บาท) บริษัทจัดหาคู่ติงว่า กฎหมายนี้จะทำให้ชาวเกาหลีใต้ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการหาคู่เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 50 จากค่าธรรมเนียมเฉลี่ยปัจจุบันที่ 10 ล้านวอน (ราว 325,000 บาท) ขณะที่นักสังคมสงเคราะห์ชี้ว่า กฎหมายใหม่อาจยิ่งเพิ่มความตึงเครียดให้แก่ชีวิตสมรสที่มีปัญหาเรื่องความรุนแรงในครอบครัวอยู่แล้ว
 
เจ้าสาวต่างชาติเริ่มหลั่งไหลเข้าเกาหลีใต้ตั้งแต่ปี 2543 ตัวเลขสูงสุดในปี 2548 เมื่อสตรีต่างชาติได้รับวีซ่าผู้อาศัยจากการสมรสกว่า 30,000 คน สาเหตุเกิดจากสตรีเกาหลีใต้พากันทิ้งชีวิตชนบทไปาหาชีวิตใหม่ในเมืองหลวงและเมืองใหญ่ ทำให้ผู้ชายในชนบทหาคู่ยากขึ้น สำนักงานสถิติเกาหลีใต้เผยว่า ตั้งแต่ปี 2543 จนถึงขณะนี้ มีสตรีต่างชาติเข้ามาตั้งถิ่นฐานผ่านการสมรสแล้ว 236,000 คน ให้กำเนิดบุตรธิดา 190,000 คน ส่วนใหญ่เป็นสตรีจากจีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ไทยและมองโกเลียที่ผ่านการจัดการของบริษัทจัดหาคู่
 
เดิมทางการเกาหลีใต้ไม่เห็นว่าเจ้าสาวต่างชาติเป็นปัญหาเพราะถือว่าช่วยชดเชยอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนแรงงานในชนบทที่ลดลง จนกระทั่งปี 2553 เริ่มมีสตรีต่างชาติอายุน้อยถูกทำร้ายมากขึ้น บางรายถึงขั้นถูกสามีฆาตกรรม ทางการจึงได้ออกกฎหมายลงโทษจำคุก 2 ปี บริษัทจัดหาคู่ที่ไม่เปิดเผยข้อมูลว่าที่คู่สมรส หรือจัดหาคู่ซ้อนให้แก่ผู้ชายคนเดียว ส่งผลให้ตัวเลขบริษัทจัดหาคู่ลดลงจาก 1,697 รายเมื่อปี 2554 เหลือเพียง 512 รายเมื่อสิ้นปีก่อน
 
เจ้าของโรงงานถล่มตายกว่าพันคนในบังกลาเทศจะถูกตั้งข้อหาฆาตกรรม
 
15 เม.ย. 2014 - ตำรวจบังกลาเทศเผยว่า เจ้าของอาคาร 9 ชั้นที่พังถล่มทำให้คนงานสิ่งทอเสียชีวิตมากถึง 1,135 คนเมื่อเดือนเมษายนปีก่อนจะถูกตั้งข้อหาฆาตกรรม
 
ตำรวจแผนกสอบสวนคดีอาญากล่าวว่า เตรียมตั้งข้อหาฆาตกรรมกับนายโซเฮล รานา เจ้าของอาคารรานาพลาซา ชานกรุงธากา และผู้ต้องหาบางส่วนจากทั้งหมด 40 คนที่เกี่ยวข้องกับโศกนาฏกรรมดังกล่าว หากถูกตัดสินว่ามีความผิดนายรานามีโทษสูงสุดคือประหารชีวิต
 
นับเป็นครั้งแรกที่ตำรวจบังกลาเทศระบุชัดเจนว่า จะตั้งข้อหาฆาตกรรมกับนายรานาซึ่งถูกจับกุมขณะพยายามหนีออกนอกประเทศข้ามไปยังอินเดีย หลังเกิดเหตุอาคารถล่มเมื่อวันที่ 24 เมษายนปีก่อน นับเป็นเหตุร้ายแรงที่สุดที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมสิ่งทอบังกลาเทศ เขากลายเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของประเทศเมื่อผู้รอดชีวิตเล่าว่า คนงานหลายพันคนถูกบังคับให้เข้าไปทำงานในอาคารดังกล่าวทั้งที่มีคนร้องเรียนว่าเห็นรอยร้าวที่ผนังอาคาร
 
คนงานร่วมแสนของโรงงานผลิตรองเท้าชื่อดัง ชุมนุมเดือดเรียกร้องสวัสดิการฯ
 
17 เม.ย. 2014 - คนงานราว 40,000 คน ของโรงงานผลิตรองเท้าอี้ว์หยวนทั้ง 7 แห่ง ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของเครือบริษัทอี้ว์หยวน (裕元集团, Yue Yuan Industrial) ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง และผลิตรองเท้าให้กับแบรนด์ดัง อาทิ ไนกี้ อาดิดาส และทิมเบอร์แลนด์ เป็นต้น ได้เดินขบวนไปตามท้องถนนของเมือง
       
บรรดาคนงานที่เริ่มเกาะกลุ่มกันตั้งแต่วันจันทร์ (14 เม.ย.) ที่ผ่านมา ต่างตำหนิระบบสวัสดิการสังคมของบริษัทฯ โดยเฉพาะการแจกจ่ายเงินบำนาญ การประกันสุขภาพ ที่พักอาศัย และการจ่ายค่าชดเชยจากการบาดเจ็บระหว่างทำงาน
       
“มีตำรวจอย่างน้อย 500 นาย ตรึงกำลังอยู่บนท้องถนน จนกระทั่งราวบ่ายสามโมง รถตำรวจจำนวนมากก็เริ่มกระจายเข้าคุมพื้นที่” ลูกจ้างภัตตาคารรายหนึ่งซึ่งเห็นเหตุการณ์กล่าว
       
ด้านโฆษกของบริษัทฯ ระบุว่า บริษัทเห็นด้วยที่จะยกระดับผลประโยชน์ตามที่คนงานได้เสนอมา
       
“หลังจากมีการวิเคราะห์และคิดคำนวณทุกๆ ปัจจัยอย่างละเอียดถี่ถ้วน เราตกลงจะพัฒนาระบบสวัสดิการอันเป็นประโยชน์ต่อคนงานทั้งหมด” โฆษกกล่าว
       
ทางด้าน หลิน ตง ตัวแทนจากชุนเฟิง เลเบอร์ ดิสพิว เซอร์วิส (Chunfeng Labour Dispute Servive) กลุ่มเอ็นจีโอที่รณรงค์เพื่อสิทธิแรงงานในนครเซินเจิ้น กล่าวว่า เขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวออกไปในคืนวันอาทิตย์ (13 เม.ย.) เมื่อเดินทางถึงเขตตงกวนของก่วงตง โดยเสริมว่า เจ้าหน้าที่ได้ซักถามก่อนปล่อยตัวตอน 04.00 น.ของเช้าวันถัดมา แต่ก็ผลักดันเขาให้ออกจากเมือง
 
“เราต้องการให้คำแนะนำทางกฎหมายแก่กลุ่มคนงานเพื่อช่วยปกป้องสิทธิ แต่ความพยายามของเราก็ถูกกีดกันโดยเจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่น” หลินกล่าว
       
ขณะที่คนงานรายหนึ่งเผยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมคนงานไปราว 20 คน ในวันจันทร์ และพบผู้ชุมนุมบางส่วนที่ชูป้ายประท้วงถูกรุมทำร้ายร่างกาย
       
“พวกเราค้นพบว่านายจ้างจ่ายเงินประกันสังคมขาดไปจากที่ควรอย่างน้อย 200 หยวน (ราว 1,000 บาท) ทุกเดือน ซึ่งนับย้อนกลับไปได้เกือบ 20 ปี” คนงานวัย 40 ปี รายหนึ่งกล่าว
       
“โรงงานเล่นไม่ซื่อกับพวกเรามานานนับสิบๆ ปี” คนงานหญิงอีกรายกล่าว
       
ทั้งนี้ กระแสความไม่พอใจปะทุขึ้นมาในเดือน มี.ค. หลังจากสมาชิกโรงงานผู้หนึ่ง ซึ่งทำงานมานานกว่า 18 ปี อ้างว่าเธอไม่ได้รับเงินบำนาญเต็มจำนวนอย่างที่ควรจะเป็น ทำให้กลุ่มคนงานต่างสงสัยจนนำไปสู่การลุกขึ้นเรียกร้องดังกล่าว โดยส่วนใหญ่ยืนยันว่าจะประท้วงต่อไปจนกว่าจะมีการปรับปรุงระบบสวัสดิการฯ อย่างแท้จริง
 
คาดบริษัทญี่ปุ่นจะจ้างงาน “บัณฑิตจบใหม่” มากกว่า 1.1 แสนคนในปีหน้า หลัง ศก.เริ่มฟื้นตัว
 
20 เม.ย. 2014 - ผลสำรวจล่าสุดในญี่ปุ่นที่จัดทำโดยสื่อสิ่งพิมพ์ชื่อดังด้านธุรกิจอย่าง “นิกเกอิ” ระบุว่า บริษัทแดนปลาดิบจะจ้าง “บัณฑิตจบใหม่” เข้าทำงานในปีหน้าถึง 111,505 คน และถือเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปีที่ตัวเลขการจ้างงานแก่ผู้ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาในญี่ปุ่นทะลุหลัก 100,000 ตำแหน่ง
       
ผลสำรวจที่มีการเผยแพร่ในวันเสาร์ (19) ซึ่งรวบรวมความเห็นของผู้บริหารบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นจำนวน 2,724 แห่งระบุว่าในปี 2015 จะมีการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่เข้าทำงานสูงถึง 111,505 คน หรือเพิ่มขึ้นราว 16.6 เปอร์เซ็นต์จากปีนี้โดยบริษัทที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มจะจ้างผู้ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาในปีหน้าราว 18.5 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เริ่มฟื้นตัว และคำสั่งซื้อสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากภายในและต่างประเทศ
       
ขณะที่ผู้บริหารห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ เผย พวกเขาจะจ้างบัณฑิตใหม่เข้าทำงานเพิ่มขึ้น 21.9 เปอร์เซ็นต์ ส่วนในภาคการก่อสร้าง พบว่าจะมีการจ้างบัณฑิตใหม่เข้าทำงานสูงถึง 29.2 เปอร์เซ็นต์
       
ผลสำรวจยังพบว่า นิสสัน มอเตอร์ และฮอนด้า สองผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น จะมีการจ้างบัณฑิตจบใหม่เข้าทำงานในปี 2015 ราว 23.5 เปอร์เซ็นต์ และ 11.7 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ
       
อย่างไรก็ดี ผลสำรวจกลับพบว่า พื้นที่ประสบภัยทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อปี 2011 ยังคงเป็นพื้นที่ที่จะมีการจ้างแรงงานใหม่ในระดับ “ต่ำที่สุด” เมื่อเทียบกับพื้นที่ส่วนอื่นๆของญี่ปุ่น ขณะเดียวกัน บัณฑิตจบใหม่จากรั้วมหาวิทยาลัยทั่วแดนปลาดิบ ก็มีแนวโน้มที่จะไม่เดินทางไปสมัครงานกับองค์กรธุรกิจที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ประสบภัยเช่นกัน และอาจส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในพื้นที่ดังกล่าว
 
คนงานโรงงานรองเท้าในจีนผละงานประท้วงเข้าสัปดาห์ที่ 2
 
21 เม.ย. 2014 - การผละงานประท้วงของคนงานในโรงงานผลิตรองเท้า ซึ่งเป็นหนึ่งในการผละงานประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในจีนยืดเยื้อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 ในวันนี้ และขยายจากโรงงานผลิตขนาดใหญ่ในมณฑลกวางตุ้ง ทางตอนใต้ของจีนไปยังโรงงานของบริษัทเดียวกันในมณฑลเจียงซีที่อยู่ใกล้เคียง
 
กลุ่มไชนาเลเบอร์วอทช์ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในสหรัฐรายงานว่า คนงานที่โรงงานของบริษัทเย่หยวนอินดัสเทรียลโฮลดิงส์ในเมืองตงกวน มณฑลกวางตุ้ง ตอกบัตรเข้างานเมื่อเช้าวันนี้ แต่ยังคงผละงานเนื่องจากไม่พอใจที่บริษัทไม่ยอมจ่ายประกันสังคมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้มาเป็นเวลาหลายปี ขณะที่คนงานกว่า 2,000 คนที่โรงงานของโรงงานเย่หยวนในเมืองเกาปู้ มณฑลเจียงซี ซึ่งผลิตรองเท้าให้บริษัทอาดิดาส เอจีเป็นหลัก ได้เข้าร่วมการผละงานประท้วงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาและมีแผนจะผละงานประท้วงในวันนี้เช่นกัน
 
การผละงานประท้วงครั้งนี้เริ่มขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากบริษัทเย่หยวนไม่สามารถทำตามข้อเรียกร้องของคนงานได้ตามกำหนด ทั้งนี้บริษัทเย่หยวนประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่าจะเปลี่ยนแปลงผลประโยชน์ของลูกจ้างเพื่อพยายามให้คนงานสงบลงและยุติการผละงาน แต่คนงานปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว
 
คนงานหลายคนในเมืองเกาปู้กล่าวว่า คนงานทั้งหมดซึ่งบริษัทเย่หยวนระบุว่ามีอยู่ราว 40,000 คน ได้เข้าร่วมการผละงานประท้วงครั้งนี้ นักเคลื่อนไหวด้านแรงงานกล่าวว่า การผละงานประท้วงครั้งนี้นับเป็นครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ ด้านบรรดาผู้นำในท้องถิ่นต่างขอให้บริษัทเย่หยวนหาทางออกให้กับข้อเรียกร้องของคนงานตามกฎหมายและกฎระเบียบ
 
นักเคลื่อนไหวจีนที่ช่วยคนงานโรงงานรองเท้าประท้วงใหญ่หายตัวลึกลับ
 
23 เม.ย. 2014 - นักเคลื่อนไหวชาวจีนที่ช่วยเหลือคนงานโรงงานรองเท้าประท้วงใหญ่หายตัวลึกลับนานกว่า 24 ชั่วโมงแล้ว ภรรยาคาดว่าเขาอาจถูกเจ้าหน้าที่ข่าวกรองควบคุมตัวไว้
 
นายจาง จื่อหรูและกลุ่มนักเคลื่อนไหวรวมทั้งทนายความติดตามการประท้วงของคนงานโรงงานรองเท้าเย่หยวน 40,000 คน ที่ผละงานมาตั้งแต่วันที่ 14 เมษายนและพยายามช่วยพวกเขาผลักดันข้อเรียกร้องเรื่องการจ่ายเงินประกันสังคม ภรรยาของเขาเผยว่า  ได้คุยกับสามีครั้งหลังสุดขณะคุยโทรศัพท์กันช่วงเที่ยงวันอังคารเขาออกจากบ้านที่เมืองเซินเจิ้นไปตั้งแต่เช้าวันอังคารโดยบอกว่า ถูกเรียกให้เข้าพบเจ้าหน้าที่กระทรวงความมั่นคงแห่งรัฐซึ่งเป็นหน่วยงานข่าวกรองของจีน เป็นเจ้าหน้าที่จากเมืองตงก่วน เมืองอุตสาหกรรมทางตอนใต้และที่ตั้งของโรงงานรองเท้าเย่หยวน แต่จนถึงขณะนี้เขาก็ยังไม่กลับบ้าน ทุกคนพยายามโทรศัพท์หาแต่ไม่สามารถติดต่อได้ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ดูเหมือนโทรศัพท์ของนายจางถูกปิดเครื่องในวันนี้ขณะที่รอยเตอร์พยายามโทรติดต่อ
 
นายจางเผยกับรอยเตอร์เมื่อวันศุกร์ที่แล้วว่า ช่วงต้นสัปดาห์ได้พยายามเดินทางไปหาคนงานโรงงานรองเท้าที่ผละงานแต่ถูกตำรวจกักตัวและส่งกลับบ้าน ด้านนักวิจัยแรงงานคนหนึ่งเผยว่า นายจางและทนายความด้านแรงงานดั้นด้นเดินทางไปหารือกับคนงานได้ในที่สุดเมื่อวันจันทร์ จึงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาถูกควบคุมตัวไว้
 
บาร์เคลย์ส ธนาคารใหญ่อันดับ 2 ในอังกฤษ เตรียมปลดพนักงาน 7,500 คน
 
24 เม.ย. 2014 - ธนาคารบาร์เคลย์ส ซึ่งเป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่อันดับ 2 ในอังกฤษ เปิดเผยว่า เตรียมปลดพนักงานสายงานวาณิชธนกิจจำนวน 7,500 คน หรือคิดเป็น 25-30% ของการจ้างงานทั้งหมด โดยคาดว่า การตัดลดพนักงานในสายงานดังกล่าวจะสร้างผลตอบแทนคืนให้กับหน่วยธุรกิจหลักทรัพย์ในอนาคตได้
 
องค์การนิรโทษกรรมสากลอัดกาตาร์ ไม่คุ้มครองแรงงาน
 
24 เม.ย. 2014 -สำนักข่าวเอพีรายงานว่า องค์การนิรโทษกรรมสากล เปิดเผยรายงานเมื่อวันที่ 23 เมษายนว่า แรงงานต่างด้าวที่ทำงานในบ้าน รวมถึงแรงงานในภาคก่อสร้างในประเทศกาตาร์ ไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสม บางรายต้องทำงานมากกว่า 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์โดยไม่มีวันหยุด ขณะที่บางรายถูกคุกคามด้วยคำพูด ถูกทำร้ายร่างกายและถูกคุกคามทางเพศ รายงานระบุว่าปัญหาดังกล่าวเป็นผลมาจากระบบผู้สนับสนุนแรงงานซึ่งมักจะเป็นนายจ้างที่จะดูแลเรื่องวีซ่า รวมถึงสถานะทางกฎหมายต่างๆของแรงงาน ส่งผลให้แรงงานไม่สามารถเปลี่ยนงานได้ง่าย และหากหลบหนีก็จะถูกจับกุมและถูกส่งตัวกลับประเทศ นับเป็นแรงกดดันล่าสุดจากองค์กรนานาชาติ ขณะที่กาตาร์กำลังเร่งเตรียมพร้อมเพื่อเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 2020
 
'เยอรมนี' จ่อไฟเขียว ลูกจ้างมาทำงานสายได้ช่วงบอลโลก
 
24 เม.ย. 2014 - สหภาพนายจ้างของเยอรมนี เตรียมอนุญาตให้ลูกจ้างสามารถมาทำงานสายได้ เพื่อสนับสนุนลูกจ้างตนเองมีส่วนร่วมเชียร์ทีมบ้านเกิด ทำศึกฟุตบอลโลก 2014 ที่บราซิล ระหว่างวันที่ 12 มิ.ย.-13 ก.ค.นี้ 
 
เนื่องจากปัญหาระยะเวลาที่ต่างกันระหว่างทวีปยุโรป และอเมริกาใต้ ทำให้หลายๆ แมตช์การแข่งขันที่ บราซิล จะเริ่มคิกออฟ ในเวลาหลังเที่ยงคืนเป็นส่วนใหญ่ จึงนำมาสู่การรวมตัวเรียกร้องของพนักงานในครั้งนี้ 
 
หนึ่งในแกนนำสหภาพลูกจ้าง เปิดเผยกับ "บิลด์" หนังสือพิมพ์ชื่อดังเมืองเบียร์ว่า "มันน่าจะเป็นการเคลื่อนไหวที่สง่างาม โดยกลุ่มนายจ้าง ถ้าพวกเขาแสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นในการทำงานบ้าง ระหว่างศึกเวิลด์คัพ"
 
"สำหรับเกมทีมชาติเยอรมนี หลัง 4 ทุ่มไปแล้ว ถ้าเป็นไปได้ การทำงานมันก็ควรจะเริ่มงานช้าได้เล็กน้อย นายจ้างและคณะกรรมการด้านการทำงาน ควรจะคุยถึงการปรับตารางการทำงาน เพื่อให้คนของพวกเขาสามารถมีความสุขในการชมเกมฟุตบอลโลก" แกนนำคนเดิมกล่าว
 
ทั้งนี้ หลายๆ หน่วยงานได้ปรับตารางการทำงานให้ลูกจ้าง ซึ่งปกติจะเริ่มงานในเวลา 06.00 น. เป็นที่เรียบร้อย และเมื่อต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ทางการของเยอรมนี ได้อนุญาตให้พื้่นที่สาธารณะยามค่ำคืน ประดับตกแต่งสร้างบรรยากาศระหว่างทัวร์นาเมนต์ได้แล้วเพื่อเพิ่มอรรถรสในการเชียร์
 
สำหรับ เยอรมนี อยู่ในกลุ่มจี ร่วมกับ โปรตุเกส, กานา และสหรัฐอเมริกา โดยโปรแกรมนัดแรก วันที่ 16 มิ.ย. จะพบกับ โปรตุเกส จากนั้นวันที่ 21 มิ.ย. ดวลแข้งกับ กานา ก่อนปิดท้ายรอบแบ่งกลุ่ม วันที่ 26 มิ.ย. กับ สหรัฐฯ ตามลำดับ
 
มัลดีฟส์กวาดล้างแรงงานต่างด้าวไม่มีใบอนุญาต
 
25 เม.ย. 2014 - สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานอ้างเจ้าหน้าที่ของมัลดีฟส์ว่า รัฐบาลมัลดีฟส์กำลังกวาดล้างแรงงานที่เข้ามาทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตโดยเฉพาะในกรุงมาเล ทำให้แรงงานหลายพันคนที่ไม่มีใบอนุญาตอาจต้องถูกเนรเทศออกนอกประเทศ
 
สื่อมัลดีฟส์รายงานว่า ปัจจุบันมัลดีฟส์มีแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมายราว 110,000 คน และแรงงานที่ไม่มีใบอนุญาตอีกราว 44,000 คน ก่อนหน้านี้ มีแรงงานผิดกฎหมายราว 4,000 คนซึ่งสมัครใจลงทะเบียนกับทางการถูกเนรเทศออกนอกประเทศ แต่ได้รับอนุญาตให้กลับมาทำงานในมัลดีฟส์อย่างถูกกฎหมายภายในเวลา 6 เดือน แต่โครงการปัจจุบัน ทำให้ผู้ที่ถูกเนรเทศ ต้องรอ 5-10 ปีจึงจะกลับมาทำงานที่มัลดีฟส์ได้
 
ล่าสุดนายโมฮาเหม็ด นาซิม รัฐมนตรีกลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติมัลดีฟส์ และผู้อำนวยการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกล่าวว่า กรุงมาเลจะปลอดแรงงานเถื่อนภายใน 3-4 เดือน รัฐบาลมีแผนปฏิบัติการอย่างจริงจังเพื่อลดจำนวนแรงงานที่ไม่มีใบอนุญาตในมัลดีฟส์ เพื่อความปลอดภัยและความมั่นคงของประชาชนและเศรษฐกิจ
 
ทั้งนี้ ปฏิบัติการกวาดล้างแรงงานผิดกฎหมายดังกล่าวจะเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างกองทัพมัลดีฟส์  สำนักงานตำรวจ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและการย้ายถิ่นฐาน และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่ถูกควบคุมตัวในปฏิบัติการครั้งนี้จะถูกเนรเทศโดยใช้เงินที่นายจ้างมัดจำเมื่อสรรหาแรงงานเหล่านี้เข้ามาทำงาน นอกจากนี้ ทางการยังได้เตรียมสถานที่พิเศษเป็นที่ควบคุมตัวแรงงานที่ไม่มีใบอนุญาตที่ถูกจับกุมในปฏิบัติการดังกล่าว ขณะเดียวกันสภาท้องถิ่นจะออกปฏิบัติการกวาดล้างแรงงานผิดกฎหมายบนเกาะที่อยู่ห่างไกล
 
นิตยสารไทม์ยกย่องสาวใช้อินโดฯ ที่ถูกนายจ้างทารุณเป็นบุคคลทรงอิทธิพลของโลก
 
25 เม.ย. 2014 - นิตยสารไทม์ระบุว่า สาวใช้ชาวอินโดนีเซียที่ถูกนายจ้างชาวฮ่องกงทารุณกรรมเป็น 1 ใน 100 บุคคลทรงอิทธิพลที่สุดในโลก ซึ่งทำให้ทั่วโลกหันมาให้ความสนใจการปฏิบัติต่อแรงงานต่างชาติในฮ่องกง
 
ก่อนหน้านี้เออร์เวียนา ซูลิสตยานิงซีห์ วัย 23 ปี ถูกนายจ้างชาวฮ่องกงกระทำทารุณเป็นเวลาหลายเดือน และถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลในเมืองสราเกน บนเกาะชวาของอินโดนีเซียหลังจากเดินทางกลับจากฮ่องกงในเดือนมกราคมที่ผ่านมา คดีดังกล่าวทำให้เกิดกระแสกังวลครั้งใหม่เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อสาวใช้ในฮ่องกงและจุดกระแสประท้วงจากผู้ที่ไม่พอใจ ล่าสุดนิตยสารไทม์ยกย่องความกล้าหาญของหญิงสาวชาวอินโดนีเซียผู้นี้ในการออกมาเปิดเผยถึงความโหดร้ายของนายจ้างและผลักดันให้มีกฎหมายคุ้มครองสาวใช้ในฮ่องกง  
 
โฆษกหน่วยประสานงานของสำนักงานผู้อพยพชาวเอเชียกล่าวว่า การที่นิตยสารไทม์ยกย่องให้สาวใช้คนดังกล่าวเป็นบุคคลทรงอิทธิพลทำให้ต่างประเทศหันมาให้ความสนใจการปฏิบัติต่อแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานเป็นสาวใช้ในฮ่องกง
 
นอกจากนี้ มาลาลา ยูซาฟไซ เด็กสาวชาวปากีสถานนักรณรงค์เพื่อการศึกษาของเด็กหญิงที่ถูกกลุ่มตอลีบานจ่อยิงศีรษะในปี 2555 แต่รอดชีวิตมาได้ ก็เป็น 1 ใน100 บุคคลทรงอิทธิพลที่สุดในโลกเช่นกัน
 
ศาลกัมพูชาเดินหน้าพิจารณาคดีผู้ชุมนุมร้องเพิ่มค่าแรง ไม่สนต่างชาติขอปล่อยตัว
 
26 เม.ย. 2014 - นักเคลื่อนไหว และแรงงานชาวกัมพูชา 23 คน ที่ถูกจับกุมตัวในช่วงการปราบปรามการผละงานประท้วงของอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปเมื่อเดือน ม.ค. เข้ารับการพิจารณาคดีเมื่อวันศุกร์ (25) แม้หลายประเทศจะเรียกร้องให้ทางการกัมพูชาปล่อยตัวคนกลุ่มนี้ก็ตาม
       
คดีดังกล่าวสร้างความวิตกกังวลอย่างมากต่อกลุ่มสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับการปราบปรามการชุมนุมประท้วงบนท้องถนนที่ถูกมองว่าเป็นการท้าทายการปกครองเกือบ 3 ทศวรรษของนายกรัฐมนตรีฮุนเซน
       
กลุ่มสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า หากศาลตัดสินจำเลย 23 คน ที่ส่วนใหญ่ถูกควบคุมตัวนานหลายเดือนโดยไม่ได้รับการประกันตัว ได้กระทำผิดจริง อาจต้องโทษจำคุกนานถึง 5 ปี จากความผิดที่รวมทั้งการเจตนาก่อความรุนแรง
       
ผู้ชุมนุมหลายร้อยคนรวมตัวกันใกล้กับศาลกรุงพนมเปญเมื่อการพิจารณาคดีเริ่มขึ้น
       
ในเหตุชุมนุมประท้วงเมื่อต้นเดือน ม.ค. มีพลเรือนเสียชีวิตอย่างน้อย 4 คน เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดฉากยิงใส่กลุ่มแรงงานโรงงานตัดเย็บที่ผลิตเสื้อผ้าให้แก่แบรนด์ดัง เช่น Gap Nike และ H&M ซึ่งกำลังชุมนุมประท้วงเรียกร้องปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำที่ 160 ดอลลาร์ต่อเดือน
       
สมาพันธ์สหภาพแรงงานสากลได้เริ่มโครงการ “Free the 23” กระตุ้นให้บรรดาแรงงานหาเสียงสนับสนุนจากสถานทูตกัมพูชาทั่วโลก
       
นายกง อาธิท สมาชิกสหภาพของสมาพันธ์สหภาพแรงงานกัมพูชา ได้ประณามสิ่งที่เกิดขึ้นโดยระบุว่าเป็น “ข้อกล่าวหาที่มีแรงจูงใจทางการเมือง”
       
“แรงงานไม่ได้ทำอันตรายต่อบุคคลใด พวกเขาเพียงแค่ประท้วงเรียกร้องค่าแรงเพื่อความอยู่รอด” นายกง อาธิท กล่าว
       
เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลกัมพูชามีคำสั่งห้ามผู้สนับสนุนพรรคฝ่ายค้านจัดการชุมนุมในเมืองหลวง และทางการได้ใช้กำลังเข้าปราบปรามการชุมนุมประท้วงบนท้องถนน โดยที่หลายครั้งเจ้าหน้าที่ใช้ระเบิดควัน และกระบองไฟฟ้าเข้าสลายผู้ชุมนุม
       
และในเดือน ก.พ. ทางการระบุว่า ได้ยกเลิกคำสั่งห้ามดังกล่าว แต่กลับพบว่าตำรวจปราบจลาจลได้เข้าสลายกลุ่มผู้ชุมนุมที่ร้องขอใบอนุญาตตั้งสถานีโทรทัศน์อิสระอย่างรุนแรง โดยระบุว่าผู้ชุมนุมเหล่านั้นไม่ได้รับอนุญาตให้จัดการชุมนุม.
 
เจ้าของโรงงานเสื้อผ้าสำเร็จรูปกัมพูชาร้องรัฐบาลเร่งจัดการปัญหาผละงานประท้วงผิดกฎหมาย
 
28 เม.ย. 2014 - สมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป (GMAC) ในกัมพูชา เรียกร้องให้รัฐบาลจัดการปัญหาการผละงานประท้วงผิดกฎหมายของแรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่เกิดขึ้นในสัปดาห์นี้ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ในเมืองบาเวต (Bavet) และคาดว่าแรงงานจะผละงานไปจนถึงสัปดาห์หน้า
       
“GMAC รู้สึกผิดหวังที่รัฐบาล และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นปล่อยให้การกระทำผิดกฎหมายเช่นนี้เกิดขึ้นและไม่มีการดำเนินมาตรการใดๆ เพื่อป้องกัน GMAC คาดการณ์ว่า การกระทำที่ผิดกฎหมายนี้จะแปรเปลี่ยนไปสู่ความรุนแรงเพราะบรรดาผู้ผละงานประท้วงขว้างปาก้อนหินเข้าใส่โรงงาน ข่มขู่แรงงานคนอื่นๆ ไม่ให้ทำงาน และยังทำลายทรัพย์สินของโรงงาน” คำแถลงของ GMAC ระบุ
       
คำแถลงยังระบุว่า การผละงานประท้วงจะแพร่ลามไปยังนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ หากทางการยังไม่มีมาตรการป้องกัน
       
“เราต้องการเรียกร้องให้กระทรวงแรงงาน และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นดำเนินมาตรการที่จะควบคุมการผละงานประท้วงผิดกฎหมายนี้โดยทันที เพื่อรักษาความสงบ และความปลอดภัยของนักลงทุนและแรงงานที่ต้องการทำงาน”
       
คำแถลงยังเรียกร้องให้แรงงานที่ผละงานประท้วงกลับเข้าทำงาน ไม่เช่นนั้นแรงงานจะไม่ได้รับค่าแรงตามจำนวนวันที่ผละงานประท้วง
       
คำแถลงฉบับนี้มีขึ้นหลังแรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป และรองเท้าหลายพันคนที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 แห่ง ในเมืองบาเวต จัดชุมนุมผละงานประท้วงตลอดสัปดาห์เพื่อเรียกร้องเงิน 50 ดอลลาร์ ที่พวกเขาอ้างว่า เจ้าของโรงงานสัญญาที่จะมอบให้ หากพวกเขาไม่เข้าร่วมการผละงานประท้วงหลังปีใหม่เขมรที่สหภาพแรงงานแนวร่วมฝ่ายค้านจัดขึ้นเมื่อกลางเดือน เม.ย.
       
ด้าน GMAC ออกมาปฏิเสธว่าโรงงานไม่ได้ให้คำสัญญาดังกล่าว และอ้างว่า สหภาพแรงงานแนวร่วมฝ่ายค้านกุข้อมูลดังกล่าวขึ้นหลังไม่สามารถดึงแรงงานเข้าร่วมการผละงานเรียกร้องค่าแรงได้
       
ประธานสหภาพเคลื่อนไหวแรงงาน หนึ่งในสหภาพที่เป็นแนวร่วมฝ่ายค้านระบุว่า แรงงานในเขตเศรษฐกิจจะผละงานประท้วงต่อไปหากข้อเรียกร้องยังไม่ได้รับการตอบสนอง
       
ข้อขัดแย้งเรื่องค่าแรงในภาคตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปของกัมพูชายังคงร้อนแรง เมื่อสหภาพแรงงานสนับสนุนฝ่ายค้านที่เป็นตัวแทนของแรงงานประมาณ 19% ของแรงงานทั้งหมด ยังคงเรียกร้องให้รัฐบาล และ GMAC ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้เป็น 160 ดอลลาร์ต่อเดือน ขณะที่รัฐบาลระบุว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวสูงเกินกว่าจะตอบสนองได้ ปัจจุบัน ค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานอยู่ที่ 100 ดอลลาร์ต่อเดือน
 
ชาวลอนดอน “เรือนล้าน” เปลี่ยนแผนเดินทาง หลัง พนง.รถไฟนัด “ผละงานประท้วง” 2 วันติด
 
28 เม.ย. 2014 - โดยสารหลายล้านคนกำลังเตรียมใจเผชิญกับความสับสนอลหม่านขณะเดินทางในช่วงเย็นของวันนี้ (28 เม.ย.) ในเวลาที่ลูกจ้างเครือข่ายการรถไฟใต้ดินของกรุงลอนดอนวางแผนผละงานประท้วง 2 วัน เพื่อต่อต้านแผนปลดคนงาน และแผนปิดสำนักงานจำหน่ายตั๋วรถไฟ
       
โฆษกของ TfL ระบุว่า การเจรจาอันยืดเยื้อยาวนานระหว่างองค์การขนส่งมวลชนลอนดอน (TfL) กับสหภาพแรงงานการรถไฟ การเดินเรือ และการขนส่ง (RMT) จะมีขึ้นวันนี้ (28) เพื่อมุ่งหมายไม่ให้ลูกจ้างนัดหยุดงานประท้วงติดต่อกัน 48 ชั่วโมง ซึ่งมีกำหนดจะเริ่มต้นขึ้นในเวลา 20.00 น.ตามเวลาโลก (ตรงกับ 03.00 น.ของวันพรุ่งนี้ (29) ในเมืองไทย)
 
การประท้วงในลักษณะคล้ายคลึงกันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้ทำให้เครือข่ายการคมนาคมซึ่งมีผู้ใช้บริการถึงราว 3 ล้านคนแทบทุกวันถึงกับเป็นอัมพาต ขณะที่แผนนัดผละงานระลอกสองถูกขัดขวาง เพื่อเปิดทางให้การเจรจาเดินหน้าต่อไป ทว่าในที่สุดการพูดคุยกันก็ล้มเหลวเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา
       
บรรดาผู้สันทัดกรณีด้านสหภาพแรงงานระบุว่า การประท้วงครั้งนี้มีขึ้นหลัง บ็อบ โครว์ ประธานสหภาพแรงงาน RMT เสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 มีนาคม หลังจากสามารถชนะสัมปทานจากบรรดานายจ้าง ภายหลังนั่งโต๊ะเจรจากันอย่างลำบากยากเข็ญ และนัดหยุดงานประท้วงจนภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ และในที่สุดกลายเป็นแม่แบบของบรรดาผู้ที่หวังก้าวขึ้นมานั่งเก้าอี้ประธานต่อจากเขา
       
นอกจากนี้ยังจะมีการนัดหยุดงานอีก 3 วัน โดยจะเริ่มต้นในวันที่ 5 พฤษภาคมนี้
       
ขณะอ้างเหตุผลว่า ปัจจุบันมีผู้โดยสารน้อยกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ที่ใช้บริการเครือข่ายรถไฟใต้ดินอันเก่าแก่ถึง 151 ปี ซึ่งยังใช้บริการสำนักงานจำหน่ายตั๋วรถไฟ TfL กล่าวว่า จะยังเปิดสำนักงานจำหน่ายตั๋วไว้ให้บริการในบางเส้นทาง ขณะที่จะหันมาให้บริการรถบัส และเรือข้ามฟากเพิ่มเติม
       
TfL กล่าวว่า แผนพัฒนาให้ทันสมัยซึ่งรวมถึงการลดจำนวนลูกจ้างในสถานีรถไฟลง 953 อัตรา สามารถประสบความสำเร็จได้โดยที่ไม่ต้องมีการบังคับปลดคนงาน หรือปรับลดค่าแรง ทั้งยังให้สัญญาว่าจะยังมีจ้างพนักงานไว้ประจำตามสถานีรถไฟตลอดเวลา
       
สหภาพแรงงานโต้แย้งว่า การปลดพนักงานจะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการคมนาคม และทำให้การบริการมีคุณภาพต่ำลง ทั้งยังกล่าวว่า การที่การเจรจานาน 8 สัปดาห์ประสบความล้มเหลว เป็นเพราะการบริหารจัดการรถไฟ นอกจากนี้สหภาพระบุว่า คาดหวังว่าประท้วงครั้งนี้จะช่วยให้พวกเขาได้มีโอกาสพูดคุยหารือกันอย่าง “จริงจังและมีความหมาย”
       
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน แห่งอังกฤษกล่าวว่า การประท้วงครั้งนี้มีลักษณะ “ไม่ชอบธรรม และไม่เป็นที่ยอมรับ” พร้อมระบุว่า จะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ครอบครัวนับล้าน ตลอดจนทำให้เกิดความสับสนอลหม่านขึ้นในภาคธุรกิจ
       
ทางด้าน กลุ่มล็อบบี้ชี้ว่า การประท้วงของพนักงานรถไฟเมื่อก่อนหน้านี้ได้ทำให้เศรษฐกิจของลอนดอนเสียหายคิดเป็นมูลค่าถึง 50 ล้านปอนด์ต่อวัน (ราว 2.7 พันล้านบาท)
 
นายจ้างชาวฮ่องกงที่ทรมานแม่บ้านอินโดฯ ถูกตั้งข้อหาเพิ่ม
 
28 เม.ย. 2014 - สตรีชาวฮ่องกงผู้ต้องหาทรมานแม่บ้านชาวอินโดนีเซียจนกลายเป็นกระแสตื่นตัวทั่วโลก ถูกตั้งข้อหาเพิ่มเรื่องไม่จ่ายเงินเดือนและไม่ให้แม่บ้านลางานตามกฎหมายกำหนด
 
ผู้พิพากษาศาลแขวงในฮ่องกงอ่านข้อหาใหม่ 25 ข้อหา ระหว่างการไต่สวนนางหลอ หวันต่ง มารดาลูกสองวัย 44 ปี ที่ถูกจับกุมเมื่อเดือนมกราคมกรณีทำร้ายร่างกาย น.ส.เออร์เวียนา ซูลิสตยานิงซีห์ วัย 23 ปี อย่างสาหัสเป็นเวลาหลายเดือน จนจุดกระแสกังวลเรื่องชาวฮ่องกงปฏิบัติไม่ดีต่อแม่บ้านต่างชาติขึ้นมาอีกครั้ง ข้อหาใหม่ครอบคลุมหลายช่วงเวลาที่นางหลอไม่ให้ น.ส.ซูลิสตยานิงซีห์ ลางานรวมทั้งหมด 16 วัน และไม่จ่ายเงินเดือนรวม 28,000 ดอลลาร์ฮ่องกง (กว่า 112,000 บาท) ผู้พิพากษาเห็นด้วยกับอัยการว่า ควรส่งฟ้องต่อศาลระดับสูงกว่านี้ และได้เลื่อนการพิจารณาไปเป็นวันที่ 20 พฤษภาคม ขณะที่นางหลอนิ่งเงียบตลอดการไต่สวน เพียงแต่ตอบผู้พิพากษาว่าเข้าใจข้อหาที่ถูกตั้งเพิ่ม
 
ก่อนหน้านี้นายจ้างชาวฮ่องกงรายนี้ถูกตั้งข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่นให้ได้รับอันตรายทางร่างกาย ข้อหาทำร้ายร่างกายไม่สาหัส และข้อหาข่มขู่ทางอาญาอีก 4 กระทง เป็นการกระทำกับ น.ส.ซูลิสตยานิงซีห์ และแม่บ้านชาวอินโดนีเซีย 2 คนก่อนหน้านี้
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: ครอบครัวข่าว, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, สำนักข่าวไทย, กรุงเทพธุรกิจ, ไทยรัฐออนไลน์, เดลินิวส์, กรุงเทพธุรกิจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net