Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ไม่ว่าจะเป็นวันอะไร วันหยุด เสาร์ อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ หรือวันธรรมดา พวกเราในคุก จะตื่นในเวลาเดิมเสมอ คือเริ่มตั้งแต่ 6 โมงเช้า เป็นต้นไป เราเรียกว่าเวลาตรงนี้ว่า “เวลาเปิดขัง” อย่าคิดเลยนะว่า พอเป็นวันหยุด เขาจะปล่อยให้เรานอนตื่นสายหน่อย ไม่มีแน่นอน

พวกเราที่นอนกันอยู่ในห้องนอน หรือในนี้จะเรียกว่า “เรือนนอน” บางส่วน จะตื่นนอนกันก่อน เพื่อมาแย่งกันใช้ห้องน้ำที่มีอยู่ห้องเดียว บางวัน มีน้ำเหลืออยู่บ้าง พวกขาใหญ่ ก็จะถือโอกาส อาบน้ำ แปรงฟัน ในเรือนนอนเลย ซึ่งโดยปรกติ ทางเรือนจำจะไม่อนุญาตให้อาบน้ำบนเรือนนอน เพราะเป็นเรื่องสิ้นเปลือง แต่ระเบียบนี้จะผ่อนคลายลงบ้างในช่วงฤดูร้อน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขัง ใช้น้ำในการคลายความร้อนกันได้บ้าง

สัญญาณ ที่จะเป็นตัวบ่งบอกว่า ได้เวลาเก็บที่นอน เตรียมตัวลงจากเรือนนอนได้แล้ว คือเสียงการเปิดประตูทางเข้าเรือนนอน เสียงประตูเหล็กหนักๆ กระทบกัน เสียงพวงกุญแจขณะไขแม่กุญแจลูกใหญ่ เป็นเสียงที่ฟังกี่ที ก็ทำให้นึกย้อนไปถึงบรรยากาศตอนอยู่ในนั้นทุกที

“หัวหน้าห้อง” จะเรียกให้ “ลูกห้อง” เก็บที่นอน และเก็บข้าวของ เพื่อมานั่งกลางห้องอย่างเป็นระเบียบ พอผู้คุม เดินมาถึงห้อง หัวหน้าห้องก็จะนับนำจากหัวแถว

“หนึ่ง สอง สาม.... สามสิบแปด ห้องสิบ ยอดผู้ต้องขัง สามสิบแปดคน ครบครับผม” เสียงหัวหน้า ที่ยืนอยู่หลังห้อง พูดสรุปอีกครั้ง ต่อผู้คุมที่ทำหน้าที่เปิดขัง และนี่คือการตรวจนับจำนวนผู้ต้องขัง ครั้งที่ 1 ในแต่ละวัน จะมีการตรวจนับกันแบบนี้ ถึง 5 ครั้งด้วยกัน

พอประตูห้องเปิด ทุกคนต้องออกจากห้อง ผู้คุม ต้องสอดส่ายสายตาดูว่า ไม่มีผู้ต้องขังแอบหลบอยู่ในห้อง เพื่อป้องกันการแอบฆ่าตัวตายของผู้ต้องขัง แต่ส่วนใหญ่จะไม่พลาด เพราะภายในเรือนนอนไม่มีเฟอร์นิเจอร์อะไรให้หลบ นอกเสียจากฟูกที่พับเก็บเป็นกองเรียบร้อย

ทันทีที่เราลงจากเรือนนอน ในช่วงเช้า สิ่งที่ผู้ต้องขังทำจะเป็นภารกิจส่วนตัว นั่นคือการอาบน้ำ แปรงฟัน เข้าห้องส้วม ซึ่งเวลาเช้าๆ แบบนี้ จะมีคนใช้บริการเป็นจำนวนมาก เรียกว่าต่อคิวกันยาวเลย ส้วมในคุก เราไม่เรียกว่าห้อง แต่จะเรียกว่า “บล็อค” เพราะลักษณะเป็นส้วมเปิดโล่ง ดังภาพ ผู้ต้องขังรายใหม่ๆ ที่เพิ่งเข้าไปในนั้น อาจยังทำใจใช้ไม่ได้ เพราะอาย แต่ถ้าอยู่ไปนานๆ แล้ว ก็ไม่มีทางเลือก


ที่ลานอาบน้ำ ผู้ต้องขังจะทยอยกันมาอาบน้ำ บรรยากาศค่อนข้างคึกคัก คนหลายร้อย ต่างคนต่างแย่งกันอาบน้ำ เพราะน้ำจะมีเวลาเปิดปิด ใครอาบช้า ก็อดอาบน้ำ ต้องไปรออาบอีกครั้งช่วงก่อนขึ้นเรือนนอน ในตอนเย็น ส่วนใครที่มีเสื้อผ้าจะซัก ก็ซักกันในตอนเช้านี้เลย

เมื่อทำภาระกิจส่วนตัวเสร็จแล้ว ก็จะเป็นช่วงเวลาหาอะไรกิน ใครสั่งอาหารอะไรไว้ เช่น โจ๊ก น้ำเต้าหู้ ก็ไปรับได้ที่ร้านค้าสงเคราะห์ ส่วนใครต้องการจะดื่มกาแฟ ที่โรงเลี้ยง ก็จะมีน้ำร้อนไว้ให้บริการ ซึ่งจะมี 2 เวลา คือช่วงเช้าก่อน 8 โมง และช่วงบ่ายอีกเวลาหนึ่ง

เวลานี้ ที่โรงเลี้ยงจะมีอาหารมื้อแรกไว้คอยให้บริการ ผู้ต้องขังที่ยังไม่พร้อม ไม่มีสมาร์ทการ์ด ไม่มีของกินของใช้ ก็ต้องพึ่งอาหารจากโรงเลี้ยงนี้ ใครต้องการกินก็ต้องไปต่อแถวเพื่อรอกินอาหารจากทางเรือนจำ ซึ่งอาหารตอนเช้า จะเป็นอาหารจืดซะเป็นส่วนใหญ่ เช่น แกงจืดผักกาดดอง ต้มจับฉ่าย เป็นต้น อาหารก็พอจะกินได้นะ อร่อยเลยหละ

เราจะมีเวลาในการทำภาระกิจข้างต้นจนกระทั่ง 8 โมงเช้า ก็จะมีการเรียกรวมแถวที่ลานหน้าเสาธง ทุกคนต้องมารวมกันที่นี่ โดยนั่งแยกเป็นห้อง ใครนอนห้องไหน ก็ตั้งแถวที่ห้องนั้น เพื่อให้ผู้คุม ทำการตรวจนับอีกครั้ง เป็นครั้งที่ 2 ก่อนเคารพธงชาติ


เมื่อร้องเพลงชาติ เคารพธงชาติ สวดมนต์เสร็จแล้ว ผู้คุมอาจมีการพูดคุยกับผู้ต้องขัง ผ่านทางไมโครโฟน ซึ่งเป็นการพูดคุยทั่วไปตามแต่สถานการณ์ หรือแจ้งข่าวสาร จากนั้น ทุกคนจะต้องแยกไปเข้าแถวตามกองงานที่ได้รับมอบหมาย เช่น กองงานปั่นถ้วย กองงานปลั๊กไฟ กองงานโรงเลี้ยง เป็นต้นฯ เพื่อทำการตรวจนับจำนวนผู้ต้องขัง เป็นครั้งที่ 3 คือการตรวจนับตามกองงาน เมื่อนับเสร็จแล้วก็แยกย้ายกันได้ ถ้าเป็นวันธรรมดาก็กระจายกันไปตามกองงานต่างๆ เพื่อทำงาน แต่ถ้าเป็นวันหยุด ใครอยากจะทำอะไรก็ทำได้เลย

ในวันธรรมดา สิ่งที่ผู้ต้องขังรอคอย ก็คือการรอญาติมาเยี่ยม ที่จะมีการประกาศชื่อผู้ต้องขัง ให้ออกไปรับใบเยี่ยมญาติ ระหว่างวัน นอกจากการเยี่ยมญาติแล้ว ก็จะมีการพบทนาย หรือพบเจ้าหน้าที่สถานทูต ฯลฯ เหล่านี้คือโอกาสที่ผู้ต้องขังจะได้เดินออกไปจากกรอบสี่เหลี่ยมในแดนได้บ้าง ถือเป็นการคลายเครียดให้หายเบื่อได้ในวันหนึ่งๆ ความสุขของคนในคุก คือการได้รับอิสรภาพ แม้จะเล็กน้อยแค่การเดินออกมาจากแดน แต่นั่นก็ทำให้มีความสุขได้เช่นกัน

ที่โรงเลี้ยง จะมีอาหารเที่ยงบริการ ในเวลาประมาณ 11 โมง อาหารเที่ยงจะเป็นอาหารเบาๆ เป็นก๋วยเตี๋ยวบ้าง ข้าวต้มบ้าง หรือบางวันจะมีของหวาน เช่น ต้มถั่วเขียว สาคู ฯลฯ ส่วนใครที่สั่งอาหารจากทางร้านค้าสงเคราะห์ไว้ ก็สามารถนำมากินได้ในเวลานี้ เพราะทางเรือนจำจะมีข้าวเปล่าไว้ให้ด้วย แต่จาน ภาชนะต่างๆ ผู้ต้องขังจะต้องเตรียมกันมาเอง และล้างเอง

เวลาบ่ายโมง “เสียงออด” จากที่ทำการแดน จะดังขึ้นอีกครั้ง เพื่อเป็นการเรียกรวมแถว เพื่อตรวจนับจำนวนผู้ต้องขังอีกครั้งตามกองงาน เป็นครั้งที่ 4 ช่วงนี้ ยังพอมีเวลาเหลือในการเยี่ยมญาติอยู่ หลายคนก็ยังมีความหวังในการมาเยือนของคนที่จะมาเยี่ยมอยู่ จนกระทั่งเวลาประมาณบ่าย 2 โมงครึ่ง ถ้าเป็นวันธรรมดา ก็จะเป็นเวลาเลิกการทำงานตามกองงานต่างๆ และจะอนุญาตให้อาบน้ำได้อีกครั้ง บรรยากาศก็จะเป็นเหมือนช่วงเช้าเลย ในขณะเดียวกัน โรงเลี้ยงก็จะกดสัญญาณ เรียกให้กินข้าวมื้อเย็น เป็นมื้อสุดท้ายก่อนขึ้นเรือนนอน อาหารมื้อนี้จะเป็นมื้อหนัก ลักษณะอาหารจะเน้นเผ็ดๆ ผู้ต้องขังที่ไม่มีญาติจะอัดข้าวมื้อนี้ให้หนัก เพราะเมื่อขึ้นไปบนเรือนนอนแล้ว หากหิวจะไม่มีอะไรให้กินเลย

เมื่ออาบน้ำเสร็จ ทุกคนจะเตรียมสัมภาระส่วนตัว อาหาร ขนม นม ของใช้ ที่จะนำไปใช้บนเรือนนอน ก่อนขึ้นเรือนนอน จะมีการตรวจค้นผู้ต้องขังทุกคน เพื่อค้นหาสิ่งของต้องห้าม เช่น บุหรี่ หรือของมีคม โดยทุกคนจะต้องถอดเสื้อ และให้ผู้คุมล้วงควักตามเสื้อผ้า และสัมภาระอย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อความเรียบร้อยและความปลอดภัย

บนเรือนนอน ผู้คุมจะทำการนับจำนวนผู้ต้องขังอีกครั้ง เป็นครั้งที่ 5 ก่อนจะล็อคเรือนนอน ลักษณะการตรวจนับก็เหมือนตอนเช้า ตอนเปิดขัง เมื่อนับเสร็จ ใครจะทำอะไรก็ทำ จะนอนเลยก็ได้ ในเรือนนอนจะมีโทรทัศน์เอาไว้ให้ผู้ต้องขังได้รับชมด้วย ซึ่งจะเปิดประมาณ 4 โมงเย็น จากฝ่ายควบคุมกลาง ผู้ต้องขังทุกห้อง ทุกแดน จะได้ดูโทรทัศน์ช่องเดียวกันหมด ไม่มีใครสามารถปรับเปลี่ยนหรือจูนโทรทัศน์ไปยังช่องอื่นได้ ไม่สามารถเลือกรายการที่จะดูได้

โทรทัศน์จะถูกปิดทุกห้องทุกแดนอีกครั้ง ในเวลาประมาณ 2 ทุ่ม เพื่อให้ผู้ต้องขังสวดมนต์และร้องเพลง “สรรเสริญพระบารมี” จากนั้น โทรทัศน์จะเปิดต่ออีกประมาณ 1 ชั่วโมง จนกระทั่ง 3 ทุ่ม โทรทัศน์จะปิดลง อันเป็นสัญญาณว่า ได้เวลานอนแล้ว

เสียงอึกทึก คึกโครม จากการจับกลุ่มพูดคุยกันของผู้ต้องขังในแต่ละห้อง ก็จะเงียบลง หลังเวลา 3 ทุ่มนี่เอง

เอนหลัง.. พักผ่อน.. เพื่อเริ่มต้นวันใหม่ ในแบบวันเก่าๆ เช่นนี้ จนกว่าวันแห่งอิสรภาพของแต่ละคน จะมาถึง..

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อสังคม  iLaw

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net