Skip to main content
sharethis

ท่ามกลางข้อเรียกร้องเรื่องนายกฯคนกลางจาก กปปส.และกลุ่มการเมืองต่างๆ "เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์" นักวิชาการจากจุฬาฯ ผู้ประกาศตัว "ขั้วที่ 3" เสนอ "ประชาชนคือคนกลาง" ย้ำการเลือกตั้งคือวิธีการหาข้อสรุปที่สงบสันติที่สุด 

สถานการณ์การเมืองไทยกลับมาร้อนระอุอีกครั้ง หลัง แกนนำ กปปส.เสนอให้วุฒิสภาทูลเกล้าถวายรายชื่อนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้ผ่านการคัดเลือกจากประชาชน ขณะที่กลุ่ม นปช.ชุมนุมใหญ่รอบนอกกรุงเทพฯ จ่อต่อต้านการได้มาซึ่งนายกฯ นอกรัฐธรรมนูญ  “ประชาไท” สัมภาษณ์ “เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์” อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยาคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็น “ขั้วที่ 3” ซึ่งพยายามเสนอว่ายังมีทางเลือกอื่นนอกจากทางออกสองขั้ว และยินดีอย่างยิ่งหากมีขั้วที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ตามมา เพื่อให้สังคมได้มีทางเลือกที่หลากหลายขึ้น

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เจษฎาเป็นแนวร่วมรณรงค์กับกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มพอกันที ที่จุดเทียน ส่งสารไม่เอาความรุนแรงและเอาการเลือกตั้ง ตอนนี้ เขาและกลุ่มต่างๆ กลับมารวมกันอีกครั้งในนามภาคี “ประชาชนคือคนกลาง” โดยเขาชวนผู้คนเขียนป้ายข้อความ “ประชาชนคือคนกลาง” พร้อมถ่ายรูปลงโซเชียลเน็ตเวิร์ก โดยได้ไอเดียนี้จาก #BringBackOurGirls การรณรงค์เรื่องเด็กหญิงที่ถูกลักพาตัวไปในไนจีเรีย

 





"กระบวนการที่ผ่านมา คุณพยายามจะถอดถอนนายกฯ เปิดปมทุจริตต่างๆ ซึ่งดีแล้ว ทำได้
แต่ตอนนี้ถึงเวลาที่เราต้องกลับมาดูแลกันเองแล้ว
ไม่ใช่ปล่อยให้คนอื่นเข้ามาจัดการแทนเรา เอาเรื่องนายกฯคนกลางเข้ามา"

00000
 

"ถึงเวลาที่อาจจะต้องถอยลงมาบ้างไหม เพื่อที่จะสามารถนำสู่ทางออกของบ้านเมืองได้
มีความเชื่อมั่นกลับมาที่ประชาชนบ้างไหม จากที่ท่านเชื่อว่าจะต้องดูแลประเทศเอง
ลองกลับมาที่ประชาชน ให้ประชาชนทั้งประเทศดูแลประเทศด้วยบ้างมั้ย"

00000


"...และถ้าเห็นด้วยรีบชิงประกาศเลยว่าเห็นด้วยกับภาคประชาชนแล้วนะ ซึ่งมันก็เป็นความได้เปรียบ
ใครก็ตามที่บอกว่าเห็นด้วยก่อนนั่นคือความได้เปรียบ
แต่ถ้าบอกว่าไม่ฟัง คิดอย่างเดียวว่าถ้ากำนันสุเทพเข้ามาเมื่อไหร่จะไปปราบกบฏวันนั้น
นั่นคือเส้นทางที่ไปหาทางปะทะกัน แล้วก็จะไม่ได้ใจของประชาชนตรงกลางๆ ไปด้วย"

00000

"เราเริ่มเปลี่ยนแปลงจากการไล่คนที่เราคิดว่าทุจริตคอร์รัปชัน
กลายเป็นเรื่องว่าประชาธิปไตยไม่เหมาะกับประเทศไทย ใช้ระบบอื่นไหม
มันคล้ายกับในประเทศเหล่านั้นที่มีการทำให้รู้สึกว่านักการเมืองเป็นตัวเลวร้าย
ไม่ใช่ตัวแทนที่แท้จริงของเรา แล้วทางออกคืออะไร" 


ทางออกตอนนี้
เราจะเห็นว่าสถานการณ์บ้านเมืองมาค่อนข้างไกลกว่าที่เราคิดมาก เริ่มตั้งแต่ พ.ย. ธ.ค. นึกว่าเรื่องที่จะจบที่ 2 ก.พ. แต่ไม่จบและยาวมาถึงวันนี้ และวันนี้เหมือนไม่เห็นทางออกที่ชัดเจน ทางออกมันเหมือนมีแค่สองแพร่ง ทางหนึ่งก็จะเอานายกฯ คนกลาง เรื่องมาตรา 7 เรื่องอะไรที่ดูเหมือนจะทำให้รัฐธรรมนูญบิดเบือนไป อีกทางหนึ่งก็บอกว่าเป็นการเลือกตั้ง ที่ดูเหมือนถูกสะกัดไว้อยู่ตลอดเวลา และมีแนวโน้มจะเกิดทางที่สามที่น่ากลัวคือจะเกิดการปะทะระหว่างสองกลุ่ม เพราะฉะนั้นทางออกเหมือนจะไม่มี

ด้านประชาชนทั่วๆ ไปที่เรานั่งคุยกันมา ช่วยกันรณรงค์ให้มีการเลือกตั้งเมื่อ 2 ก.พ. จนถึงวันนี้ เรายังเชื่อว่ายังมีทางออกได้ เรายังสามารถดึงเอาจุดเด่นของแต่ละกลุ่มที่เขาต้องการมารวมกัน ถ้าเขามีความจริงใจ เช่น กปปส. ตั้งใจจะคิดเรื่องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เราก็ดึงเอาเรื่องปฏิรูปขึ้นมาว่าสำคัญอย่างไรบ้าง หรืออย่างรัฐบาลบอกว่าต้องการรักษาเรื่องของนิติรัฐ กฎหมายเอาไว้ ต้องทำให้มีการเลือกตั้งให้ได้ ก็ดึงเรื่องการเลือกตั้งเข้ามา แต่ว่าทั้งสองอย่างต้องผสมผสานกันให้ได้ และนี่คือทางออกที่แท้จริง

ผมเคยเสนอไว้ตั้งแต่ก่อน 2 ก.พ. แล้วว่าเราสามารถคุยกันได้ตั้งแต่ตอนนั้นว่าถ้าเกิดการเลือกตั้งขึ้น ไม่ใช่เลือกตั้งเพื่อครองอำนาจ คือตอนนี้เราชอบคิดว่าเลือกตั้ง ใครชนะไปก็ได้เสียงไปสี่ปี แต่ปัญหาของบ้านเมืองตอนนี้คือความเชื่อมั่นระหว่างสองฝ่าย มันหายไปเยอะมาก ความชอบธรรมถูกดึงขึ้นมาใช้มากกว่าเรื่องของกฎหมายแล้ว ฉะนั้น เราจำเป็นที่จะต้องเลือกตั้งเพียงแค่ชั่วคราวแล้ว เราเคยพูดเรื่องนี้มาก่อนแล้วว่าเลือกตั้งเพื่อปฏิรูป แล้วค่อยกลับมาเลือกตั้งอีกครั้ง

ฉะนั้น จะทำอะไรได้บ้าง เราอยากจะผลักดันให้ สมมติถ้ากำหนด 20 ก.ค. เป็นวันเลือกตั้ง มีพระราชกฤษฎีกาออกมา ทุกคนต้องไปเลือกตั้ง มันเป็นหน้าที่พลเมือง เราจะมาอ้างไม่ได้ว่าเราพยายามขัดขวาง มันไม่ถูก พระองค์โปรดเกล้ามาแล้ว เราก็ต้องไปเลือกตั้งในวันนั้น แม้ว่าฝ่ายไหนจะขัดขวาง เราต้องพยายามทำให้การขัดขวางนั้นน้อยลง

กกต.เองคราวนี้ก็ต้องเปลี่ยน คราวที่แล้ว กกต.ทำงานได้ไม่เต็มที่ คราวนี้ก็ต้องเต็มที่มากขึ้น ดึงทหาร ดึงหน่วยต่างๆ เข้ามาช่วยให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นได้

กปปส.เอง หรือใครก็ตามที่คัดค้านการเลือกตั้ง ก็ต้องถอยออกมา ต้องดูว่าที่ทำไป ทำให้เกิดผลลบอะไรต่อตัวเองหรือไม่

พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งครั้งที่แล้วไม่ลงเลือกตั้ง ครั้งนี้ก็น่าจะต้องมาลงเลือกตั้งได้แล้ว เพราะเรารู้แล้วว่าการที่ไม่ลงเลือกตั้ง ทำให้บ้านเมืองเดินหน้าไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราสามารถจัดการเลือกตั้งได้ ควรจะเป็นเลือกตั้งเพื่อปฏิรูป แล้ว

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ทุกพรรคการเมืองควรมีสัตยาบันร่วมกัน มาคุยกันให้เรียบร้อยว่าถ้าครั้งนี้เลือกตั้งอีก 1 ปี หรือ 1 ปีครึ่ง เราต้องยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ระหว่างนั้นก็ควรจะต้องตั้ง ครม.ให้ได้ เพราะวันนี้เราเห็นภาพว่า บรรยากาศที่คล้ายๆ สุญญากาศ ไม่มี ครม. เราทำงานไม่ได้ การที่มีแค่นายกฯ รักษาการ ครม.รักษาการ งบประมาณก็ผ่านไม่ได้ การเบิกจ่ายก็ผ่านไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราจำเป็นต้องมี ครม.

แต่ถ้าเราอยู่ตรงกลางๆ ต้องเห็นใจทั้งสองฝ่าย บอกแล้วว่า กปปส.เองหรือว่ามวลชนจำนวนมากเอง ไม่เชื่อถือรัฐบาลเพื่อไทยอีกแล้ว ไม่เชื่อในหลายพรรคอีกแล้ว จะทำอย่างไรที่เรายังคงระบบการเลือกตั้ง และยังเชื่อถือกันได้

แทนที่เราจะมาคุยเรื่องนายกฯ คนกลาง เอาใครคนไหนก็ไม่รู้ อาจจะย้อนยุคไปตั้งแต่ก่อนสมัยพฤษภาทมิฬที่เป็นคนนอก ซึ่งผิดหลักการแล้ว รัฐธรรมนูญไม่ได้เปิดโอกาสตรงนั้น เราควรต้องใช้ถามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ที่เรามีอยู่ ซึ่งเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ ก็คือ คนเป็น ส.ส. ถ้าเราเลือกตั้งเสร็จเรียบร้อยใน 500 คนของ ส.ส. มันต้องมีสักคนในนั้นที่ตกลงกันได้ว่าขอให้เขาเป็นนายกฯ ที่ค่อนข้างเป็นกลางที่สุุดแล้ว แล้วก็ตั้ง ครม.ขึ้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องเอานักการเมืองเข้ามาแล้ว รัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้เอาใครก็ได้ที่เราคิดว่ามีความสามารถ เป็นกลาง และดูว่าทำงานได้ ช่วยเข้ามาดูแล ตั้งเป็น ครม.ร่วมกัน เพื่อให้การปฏิรูปเกิดขึ้นได้ การปฏิรูปที่บอกว่ายากๆ มันก็ไม่ยาก เพราะว่าเรามีเอกสารทำไว้เยอะมาก ตั้งแต่ของ ท่านอานันท์ ปันยารชุน คุณหมอประเวศ วะสี อ.คณิต ณ นคร เอกสารพวกนี้เอากลับมาทบทวนดูเลย ถ้าต้องการทำเรื่องเกี่ยวกับคอร์รัปชันก็แก้เลย การเลือกตั้งที่มีจุดบอดตรงไหนก็แก้เลย

ทำปุ๊บแก้ปั๊บ ผ่านสามวาระมันไม่ยากแล้ว ถ้าเราตกลงกันได้ แล้วหากเกิดปัญหาที่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ อันนี้สำคัญหน่อย จำเป็นต้องกลับมาลงประชามติ แต่ทั้งหมดก็เชื่อว่าทำได้ใน 1 ปี 1 ปีครึ่ง เสร็จเรียบร้อยนี่คือการปรองดองที่เกิดขึ้น บ้านเมืองเดินหน้าได้ จากเดิมที่จะปะทะกัน หลังจากนั้น สำคัญแล้ว ต้องมาเลือกตั้งจริง ซึ่งคราวนี้น่าจะเป็นบรรทัดฐานที่ทุกคนยอมรับ มีกติกาใหม่เรียบร้อยแล้ว แล้วเราต้องยอมรับล่วงหน้าด้วยว่า ถ้าใครชนะ เขาก็จะมีอำนาจบริหารบ้านเมืองไปอีกสี่ปี ถ้าใครแพ้ ก็ต้องถอยออกมา จับตาดูว่ามีข้อบกพร่อง มีการทุจริตอะไรหรือเปล่า นี่คือประชาธิปไตยที่แท้จริง

เราอยู่บนรัฐธรรมนูญที่มีพื้นฐานมาจาก รัฐธรรมนูญ 2540 2550 ที่กำหนดให้มีสองพรรคใหญ่เป็นหลัก เพราะฉะนั้นเราต้องยอมรับกลไกแบบนี้ให้ได้ว่าต้องมีคนชนะ พรรคที่เราเชียร์หากแพ้ก็ต้องยอมรับได้ แล้วก็จับตาดูพรรคที่ชนะ นี่คือประชาธิปไตย

แต่ ณ วันนี้ ถ้าเราไม่เดินตามเส้นที่พูดไปทั้งหมด เรากำลังจะหลงไปในทิศทางอื่นๆ อาจจะกลับไปในยุคที่ไม่มีประชาธิปไตยเลยก็ได้ อาจจะไปในยุคที่ต้องมีการต่อสู้ สงครามกลางเมือง เรื่องน่ากลัวต่างๆ แบบในหลายประเทศเกิดขึ้นได้

ผมเลยเรียกร้องว่าทุกฝ่ายโดยเฉพาะแกนนำ ต้องถอยออกมาแล้วฟังเสียงประชาชนมากขึ้น คือที่ผ่านมาทุกคนจะอ้างแต่ประชาชนของตัวเอง ประชาชนของเขาเองเป็นเสียงส่วนหนึ่งที่เยอะนะ แต่ไม่ใช่คนทั้งประเทศ ต้องมาฟังเสียงของคนอื่นๆ ทั้งประเทศบ้าง ผมเลยใช้คำว่าประชาชนคือคนกลาง คือเราทุกคนเป็นคนกลาง ที่ช่วยกันตัดสินประเทศได้ ไม่ใช่ให้คนไม่กี่คน แล้ววันนี้ ส.ว. 100 กว่าคน กำลังจะตัดสินแทนเรา อันนี้ไม่ถูกต้อง

แคมเปญ "ประชาชนคือคนกลาง"  มีเสียงตอบรับมากน้อยแค่ไหน
คำว่า "ประชาชนคือคนกลาง" ไม่ใช่มาจากผมเพียงคนเดียว ต้องย้อนกลับไปว่า ก่อนเลือกตั้ง 2 ก.พ. จะเห็นว่ามีกลุ่มคนเกิดขึ้นหลายกลุ่มมาก จะคุ้นๆ กันว่า มีกลุ่มขั้วที่สาม กลุ่มจุดเทียน กลุ่มเสื้อขาว โดยมีเป้าหมายเดียวกันขณะนั้นคือไม่ต้องการความรุนแรง ต้องการแก้ปัญหาด้วยสันติ และใช้การเลือกตั้งในการแก้ปัญหา และแต่ละกลุ่มดำเนินกิจกรรมคนละทาง แต่ว่าจะมีรูปแบบคล้ายๆ กัน แต่ว่าพอเกิดการเลือกตั้งแล้วมีปัญหาขึ้นมา ทุกกลุ่มก็ดำเนินกิจกรรมตัวเองไปเรื่อยๆ โดยที่ยังไม่มีการมารวมกัน แต่วันนี้เราบอกว่าบ้านเมืองไม่ไหวแล้ว มันถึงจุดที่นักการเมืองหรือผู้มีอำนาจต่างๆ ทำให้บ้านเมืองถอยหลังไปไกลมาก เลยคิดว่าต้องมารวมกัน

ฉะนั้น แนวคิดก็คือเหมือนเป็นภาคี ทุกกลุ่มยังเป็นกลุ่มตัวเองเหมือนเดิม แต่อยู่บนพื้นฐานเดียวกัน ใช้สโลแกนเดียวกันว่า "ประชาชนคือคนกลาง" ภาษาอังกฤษคือ "Let's the people decide" คือให้ประชาชนนี่แหละเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ กระบวนการที่ผ่านมา คุณพยายามจะถอดถอนนายกฯ เปิดปมทุจริตต่างๆ ซึ่งดีแล้ว ทำได้ แต่ตอนนี้ถึงเวลาที่เราต้องกลับมาดูแลกันเองแล้ว ไม่ใช่ปล่อยให้คนอื่นเข้ามาจัดการแทนเรา เอาเรื่องนายกฯคนกลางเข้ามา

คิดว่าได้รับการตอบรับดี อย่างน้อยในระดับเฟซบุ๊ก ในโซเชียลมีเดีย ผมสังเกตว่าเมื่อโพสต์ข้อความ รูปภาพเกี่ยวกับตรงนี้ไป ผลตอบรับเข้ามาเยอะมาก แม้แต่คนกลางๆ ทั่วไปที่ไม่ค่อยสนใจบ้านเมืองเท่าไหร่ แต่วันนี้ได้รับผลกระทบต่างๆ ทั้งจากเศรษฐกิจ การจราจร ปัญหาต่างๆ ความเก็บกดที่เกิดในสังคม พอเขาเห็น "ประชาชนคือคนกลาง" เขาบอกใช่เลย แนวคิดตรงกัน

หลายๆ กลุ่มที่เคยกระจายกันไป ตอนได้สโลแกนนี้ทุกคนก็เห็นพ้องแล้วก็เข้ามา มีนักวิชาการหลายคนอาจจะไม่ได้เป็นกลุ่มก้อนชัดเจน แต่พอบอกสโลแกน เขาก็เห็นด้วยว่าเข้าที และผมเชื่อว่าบรรยากาศจะค่อยๆ เปลี่ยน และถ้าเราสามารถดึงคำนี้ขึ้นมาได้ จะทำให้สังคมเห็นภาพมากขึ้นว่านี่คือประชาธิปไตยที่แท้จริง ประชาธิปไตยก็คือต้องเคารพเสียงประชาชนเป็นหลัก ว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการอย่างไรและเคารพเสียงส่วนน้อย ว่าต้องการให้ดูแลตรงไหนบ้าง แต่ไม่ใช่ให้คนไม่กี่คนมาจัดการประเทศแทนเรา

อะไรคือปัจจัยที่ทำให้คนอยากเข้ามาร่วมเยอะขึ้น
ผมมองว่าบรรยากาศการเมืองรวมๆ มันค่อนข้างจะลดลงมาระดับหนึ่งนะ จากคนที่ออกไปในส่วนของ กปปส. ถ้าเห็นภาพชัดหน่อย ในส่วนที่ว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลง ผลักดันแก้ไขบ้านเมืองให้ดีขึ้น ผมว่าเขายังคงตรงนั้นไว้ซึ่งเป็นเรื่องนี้ แต่ความรู้สึกที่ว่าต้องล้มรัฐบาลให้ได้ ต้องเข้ามายึดอำนาจ ตั้งท่านสุเทพเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ผมรู้สึกว่าบรรยากาศมันน้อยลงไปเรื่อยๆ

ผมเชื่อว่าการที่เราผ่านช่วงเลือกตั้งเมื่อ 2 ก.พ. ที่มันมีปัญหาเกิดขึ้น เป็นจุดที่เปลี่ยนสำคัญ ผมเจออาจารย์ผู้ใหญ่หลายท่านหรือคนที่เป็นกองเชียร์ประชาธิปัตย์ที่บอกว่าเตรียมตัวจะไปเลือกตั้งแล้ว แต่ประชาธิปัตย์ไม่ลง แล้วเขาเสียใจกันมาก บางคนบอกว่าเขาเชียร์ กปปส.ก็จริง แต่นี่เป็นสิทธิและหน้าที่ เขาก็จะไปเลือกตั้ง แต่ไปถึงถูกขัดขวาง สิทธิเลือกตั้งเขาหายไปตรงไหน

บรรยากาศตรงนี้มันสะสมขึ้นมาว่าจริงๆ ทุกคนเริ่มรู้นะว่าเรากำลังโดนลิดรอนสิทธิไปหรือเปล่า สิ่งที่ทำอยู่ในอุดมคติอาจจะดี แต่วิธีการอาจจะไม่เหมาะสม แต่ถ้าเกิดเรามีทางเลือกใหม่ๆ ขึ้นมา ณ วันนี้ เราเหมือนกับไม่มีทางเลือก พอเราพูดถึงโรดแมป ก็มีแค่ของท่านอภิสิทธิ์ สุเทพ หรือเพื่อไทย แต่เราไม่มีโรดแมปกลางๆ ที่มาจากประชาชนเลย ทุกคนอ้างประชาชนหมด แต่ไม่ได้ฟังว่าประชาชนทั่วๆ ไปเองเขาต้องการอะไรบ้าง พอผมพูดเรื่องโรดแมปออกไปก็เสียงตอบรับค่อนข้างดี เรื่องประชาชนคือคนกลางก็เสียงตอบรับก็ค่อนข้างดี หรือแม้แต่กลุ่มเล็กๆ ต่างๆ ที่ไม่ค่อยได้ติดต่อกันเมื่อก่อน พอเสนอไอเดียนี้เขาก็เห็นด้วยและติดต่อกลับมา น่าจะเป็นการตอบรับค่อนข้างดี เมื่อวานก็มีกลุ่มแพทย์เพื่อประชาธิปไตย ซึ่งแต่ก่อนเราอาจจะเห็นกลุ่มแพทย์รวมตัวกันเคลื่อนไหวค้านไอเดียเพื่อไทยเรื่อง P4P และนำสู่การร่วม กปปส. แต่วันนี้ก็มีกลุ่มแพทย์หลายกลุ่มที่บอกว่าประชาธิปไตยสำคัญต้องดึงกลับมา

เพราะฉะนั้น วันนี้อาจจะไม่เห็นภาพชัดว่า ประชาชนคือคนกลาง ทั้งประเทศรับได้แค่ไหน แต่ถ้าสื่อช่วยกันทำ กระจายทางเลือกออกไป ทำให้คนทั้งประเทศเห็นว่ามันมีทางเลือกใหม่อีกทางเลือกหนึ่ง เข้ามาช่วยบริหารการเมืองผ่านการเลือกตั้ง อาจจะทำให้กระแสดีขึ้นกว่านี้
 


ย้อนกลับไปเมื่อต้นปี อยากให้ถอดบทเรียนว่าการรณรงค์ตอนนั้นสำเร็จหรือไม่และปัจจัยคืออะไร
จริงๆ แล้วระบบการเมืองทั่วๆ ไป ที่เขาใช้วิธีการ ผมเรียกว่าการเมืองภาคประชาชน หรือบางคนอาจจะเริ่มเรียกว่าการเมืองข้างถนน คือออกมาถนนมากขึ้น มันมีหลักจิตวิทยาง่ายๆ อยู่หลักหนึ่งซึ่งน่ากลัวเหมือนกัน คือการแบ่งแยกผู้คนเป็นสองฝ่าย บอกว่าเป็นฝ่ายเขาฝ่ายเรา หลักจิตวิทยานี้ใช้มาทั่วโลกในประเทศที่มีปัญหาซึ่งเราคุ้นๆ กัน ในรวันดา เวเนซุเอลา ยูเครน และเมื่อเราไม่สามารถจะอยู่ตรงกลางได้ นั่นคือความสำเร็จของเขา เช่น เราบอกว่าไม่เห็นด้วยกับการปิดถนนนะ เขาก็จะบอกว่าคุณเป็นขี้ข้าใช่ไหม เป็นควายเหมือนฝั่งนู้นใช่ไหม หรือพอบอกว่าไม่เห็นด้วยกับจำนำข้าว อยากเป่านกหวีดตรงนี้ อ้อ เป็นพวกสุเทพสิ ซึ่งนั่นเป็นกระบวนการแบ่งแยกให้คนเป็นสองฝ่าย เมื่อนั้นเขาพยายามปะทะ หรือแย่งชิงมวลชนกันได้

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือตอนนั้นเราคิดว่าเราไม่ใช่นะ เราเป็นคนกลางๆ คำว่า “กลาง” ไม่ใช่เราไม่สนใจอะไรเลย คำว่ากลางคือเราเห็นด้วยกับบางเรื่องไม่เห็นด้วยกับบางเรื่องของทั้งสองฝ่าย บางอย่างดี เช่น ปฏิรูปเราชอบ แต่เราไม่เห็นด้วยกับวิธีการ ไอเดียของเรื่องขั้วที่สามจึงเกิดขึ้นมา ไอเดียของการที่บอกว่าคุณมีพื้นที่ยืนมากกว่านี้นะ ไอเดียของกลุ่มที่บอกว่าพอกันที ไม่ไหวแล้ว ที่มีแค่อย่างนี้มาปะทะกันอยู่ หาพื้นที่ให้หน่อยได้ไหม ฉะนั้นพอเราเปิดเรื่องนี้ออกมาประมาณช่วงต้นมกราคม ซึ่งมันก็ใกล้เลือกตั้ง เราไม่คิดว่าจะมีใครตอบรับเท่าไหร่ แต่ไม่นานกระแสมันไปได้เร็วมาก จากที่เริ่มจุดเทียนที่จุฬาฯ แล้วก็กลุ่มพอกันที จุดที่หอศิลป์ แป๊บเดียวมันกระจายไปทั่วประเทศไทย

มีคนมาเรียกร้องตรงนี้ ซึ่งเขาไม่สามารถพูดได้ วันธรรมดา อยู่ในสังคมเพื่อนฝูงญาติพี่น้อง อาจจะพูดไม่ได้ แต่กลางคืนมารวมกลุ่มกันเล็กๆ จุดเทียนผ่านทางโซเชียลมีเดีย สื่อออนไลน์ต่างๆ พยายามบอกว่าเรามีพวกนะ เป็นกลุ่มที่สามเกิดขึ้น จริงๆ จะมี 4 5 6 ก็ได้ มันทำให้เกมการเมืองที่เขาเคยแบ่งแยกผู้คนล้ม ดึงคนกลับมาให้มีสติได้ว่าที่เราถูกบิ้วท์อารมณ์ขึ้นมาให้รู้สึกว่าต้องมีการปะทะกัน จริงๆ ยังมีทางออกอยู่นะ ก็คือไปเลือกตั้ง

เพียงแต่สุดท้าย ก็น่าเสียดายว่าการเลือกตั้งมันไม่เกิดขึ้น แต่เรามองผลสำเร็จก็คือว่าแม้ว่ากระแสการขัดขวางการเลือกตั้งจะสูงมาก ทุกคนหวาดกลัวการเลือกตั้ง มีการปะทะที่หลักสี่ แต่คนกว่า 20 ล้านคนจากผู้ใช้สิทธิประมาณ 40 ล้านคนที่กล้าออกไปเลือกตั้งในวันนั้น ถ้าไม่นับว่ามีการขัดขวางการเลือกตั้งเกิดขึ้นเลย หรือว่าไม่มีการปิดคูหาหรือไม่มีการที่ กกต.ในแต่ละหน่วยเลือกตั้งปิดคูหาเร็วเกินไป เชื่อว่าจะมีผู้ใช้สิทธิเยอะกว่านี้อีก นั่นแสดงว่าเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่ง

แล้วก็ในช่วงเวลาที่ผ่านมา คนก็จำบทบาทนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป หรือนักการเมืองเองก็พูดถึง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์เองก็พูดถึงว่ากระแสนี้มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร การที่มีจุดเทียนใส่เสื้อขาวปล่อยลูกโป่งต่างๆ แม้ว่าจะโดนบิดเบือนไปบ้างว่าเป็นเรื่องของเกมการเมืองหรือเปล่า เป็นเสื้อแดงแอ๊บมาเป็นเสื้อขาวก็ตาม แต่โดยภาพรวมผมยังเชื่อว่าเป็นความสำเร็จ ฉะนั้นเราก็จะเห็นว่ามีคนกลุ่มนี้อยู่ แต่ว่าไม่ควรจะสลายไป เพียงแต่บรรยากาศในช่วงที่ผ่านมา มี.ค. เม.ย. มันไม่ใช่ช่องทางที่ประชาชนจะได้ออกมาทำอะไรอีก จะพูดอะไรก็ยังไม่ค่อยมีเสียง

แต่วันนี้มันต้องรวมตัวกลับมาแล้วอาจจะเอาบทเรียนตรงนั้นว่าเรารวมตัวเป็นก้อนเหนียวแน่นทำให้สื่อสนใจ ทำให้ประชาชนสนใจ แล้วเขารู้ว่าเขารวมได้ใหม่ มีเสียงใหม่ที่ส่งเสียงขึ้นไปให้กับคนข้างบนเขารู้ได้ ตรงนี้อาจเป็นความสำเร็จรอบใหม่ก็ได้ ซึ่งเราก็ยังคาดหวังไม่ได้มาก แต่ก็อยากจะให้เกิดตรงนั้น
 

มีอะไรที่จะต่างไปจากเดิม
เป้าหมายอาจจะค่อนข้างต่างไปนิดนึง เพราะคราวที่แล้วเป้าหมายมันค่อนข้างชัดว่ายังไงก็ขอเลือกตั้งให้ได้ก่อน แล้วดูผลเลือกตั้งอีกทีหนึ่งว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรบ้าง แต่คราวนี้มันมีความแตกต่างคือว่ามีคนถามว่า ถ้าเลือกตั้งไม่ได้ผล จะเลือกตั้งทำไม มันต้องให้เห็นภาพได้ว่าเราเลือกตั้งไปทำไม อย่างที่เกริ่นแล้วว่าเราเลือกตั้งเพื่อไปปฏิรูป แล้วค่อยมาเลือกตั้งอีกทีหนึ่ง ในกลุ่มเองอาจจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ในกลุ่มบางกลุ่มอาจจะมองว่าเลือกตั้งก็ให้ชนะไปเลยสิ แต่เราก็พยายามขอคิดให้คล้ายๆ กันก่อน

วิธีการอาจจะมีความแตกต่างกันไปหลังจากวันนี้ กลุ่มบางกลุ่มอาจจะใช้สัญลักษณ์บางอย่างที่อาจจะดูน่ารักเรียบร้อย เฮฮา บางกลุ่มอาจจะล้อเลียน เล่นละคร เรียกร้องความสนใจมากขึ้น ทั้งหมดนี้เพื่อให้ประชาชนสนใจว่ามีกลุ่มนี้เกิดขึ้น แล้วคุณเองล่ะ

ความสำเร็จของครั้งที่แล้วคือเรากระตุ้นว่าคุณเองอยู่ที่บ้านก็จุดเทียนได้ คราวนี้เราพยายามบอกว่าคุณเองล่ะ อยู่ที่บ้านคุณทำอย่างอื่นได้ไหม กิจกรรมเพื่อให้คนอื่นเขารู้ว่าหมู่บ้านเรา โรงเรียนเรา หรือตำบลเรา มหาวิทยาลัยเรา ก็อยากแสดงความเป็นประชาชนที่เป็นคนกลางเช่นกัน ทำออกไป
 

อะไรคือความท้าทายของกิจกรรมครั้งนี้
ความท้าทายมีสองสามอย่างที่ค่อนข้างจะหนักใจเหมือนกัน หนึ่งก็คือว่า เกมการเมืองตอนนี้มันเร็วมากจนเราตามไม่ทัน มีคนบอกว่าสัปดาห์หน้าจะเป็นอย่างไร บอกไม่ได้ มันวันต่อวัน เร็วมาก มีแนวคิดใหม่ๆ แทกติกใหม่ๆ ละครใหม่ๆ ส.ว.หลายคนที่เราไม่คุ้นชื่อก็เด่นขึ้นมาช่วงนี้ นักการเมือง นักวิชาการหลายๆ คน พวกนี้ทำให้เราไม่แน่ใจว่าแผนเราเป็นยังไง เราคุยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สัปดาห์นี้จะเปลี่ยนไปไหม อยู่ๆ บอกว่าพรุ่งนี้จะประกาศเปิดตัวกลุ่มครั้งแรก แต่บ่ายนี้เองเขาเลือกนายกฯ คนกลางเสร็จแล้ว หรือเผื่อมีใครกล้าไปถวายฎีกาขอพระราชวินิจฉัย ซึ่งผมไม่เห็นด้วยเอามากๆ เพราะเป็นการเอาเรื่องไประคายเบื้องพระยุคลบาท แต่เกิดมีใครกล้า เกมมันก็เปลี่ยนแปลงไป

สอง คือทำอย่างไรให้สังคมรู้ว่ามีพวกเราอยู่ เพราะพื้นที่ของพวกเรามีน้อยมาก ช่วงที่ผ่านมาสื่อกระแสหลักแทบไม่เคยมาสัมภาษณ์เรา อาจจะเป็นกระแสรองบ้าง ซึ่งถ้าเราทำให้มันเกิดเป็นประเด็นขึ้นมาได้ ตรงนี้อาจจะเป็นความสำเร็จมากขึ้น แต่เป็นประเด็นขึ้นมาเสร็จแล้วยังไงอีก มันจะทำให้คนที่เขาเคยอยู่ฝั่งใดฝั่งหนึ่งเขามาอิงตามเราบ้างไหม

มาสู่เรื่องที่สาม ทำยังไงให้เสียงของเรา ไม่ใช่แค่ประชาชนที่มาสนใจ แต่แกนนำของทั้งสองฝ่าย หรือหลายฝ่ายสนใจเราด้วย หรือคนที่น่าจะเป็นคนกลางที่ไม่เคยฟังพวกเราเลย มาสนใจเรา เรียกเราเข้าไปคุย แลกเปลี่ยน หรืออ้างอิงถึงพวกเราบ้าง 


มีข้อเสนออะไรต่อ กปปส.
ในส่วนของการเข้าไปคุยกับ กปปส.อาจจะค่อนข้างยาก เพราะมีคนเข้าไปคุยด้วยค่อนข้างเยอะมาก แล้วเราเห็นภาพเลยว่าไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ในโลกความจริง เราอาจจะต้องคุยกับผู้หลักผู้ใหญ่ท่านอื่นที่ กปปส.อาจจะเคารพ ถ้าเรามีสิทธิ สมมติเลยนะ คุยกับ พล.อ.เปรม ประธานองคมนตรี หรือคณะองคมนตรี หรือผู้นำเหล่าทัพ ซึ่งประชาชนทั่วไปไม่มีโอกาสได้เข้าไปคุย แต่ถ้ามีโอกาสได้เข้าไปคุย ตรงนี้ อาจจะเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดบางอย่างที่ท่านอาจจะสนใจและมีบทบาทพอที่จะคุยกับท่านสุเทพ หรือ กปปส.เอง ว่าจะมีแนวโน้มอื่นบ้างไหม เราอาจจะมองมุมอื่นบ้างก็ได้ว่าอาจจะมีอีกหลายๆ องคกรที่น่าจะเข้าไปคุยได้

ถ้าบรรยากาศมันเริ่มให้ แล้วกำนันสุเทพหรือใครก็ตามบอกว่าจะรับฟังความเห็นมากขึ้น เราอาจจะพร้อมเข้าไปคุยโดยตรงแต่การคุยโดยตรงก็คือการบอกว่าท่านได้มาถึงจุดหนึ่งแล้ว ประสบความสำเร็จถึงจุดหนึ่งแล้ว สามารถทำให้คนทั้งประเทศสนใจเรื่องการเมือง เรื่องปฏิรูปมากขึ้น ถึงเวลาที่อาจจะต้องถอยลงมาบ้างไหม เพื่อที่จะสามารถนำสู่ทางออกของบ้านเมืองได้ มีความเชื่อมั่นกลับมาที่ประชาชนบ้างไหม จากที่ท่านเชื่อว่าจะต้องดูแลประเทศเอง ลองกลับมาที่ประชาชน ให้ประชาชนทั้งประเทศดูแลประเทศด้วยบ้างมั้ย ถ้าทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานของความสุจริตใจ บนพื้นฐานของความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เช่นเดียวกัน ผมเชื่อว่าน่าจะเจรจาพูดคุยกันได้ แต่มันต้องค่อยๆ ทีละสเต็ปๆ
 

อาจจะมีเรื่องหนึ่งที่เป็นอุปสรรค คือ มีคนจำนวนไม่น้อยเลยมีความรู้สึกว่าไม่เชื่อมั่นในระบบเลือกตั้ง ซึ่งต่างจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เราเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งเพื่อให้ประชาชนเป็นผู้เลือกคนที่เข้ามาบริหารประเทศเอง แต่คราวนี้มีคนที่รู้สึกว่าไม่เอาการเลือกตั้ง เพราะไม่เป็นทางเลือกสำหรับเขา

หลายๆ คนพูดเรื่องประชาธิปไตยกับการเลือกตั้งว่าคืออะไรกันบ้าง ประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกตั้ง ไม่ใช่ว่าการเลือกตั้งเป็นทุกอย่างของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในประชาธิปไตย ประชาธิปไตยคือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แต่ทำยังไงล่ะที่ถึงเวลาจะหาข้อสรุปได้ การเลือกตั้งคือวิธีการหาข้อสรุปที่สงบสันติที่สุด เราถามว่ามีทางออกอื่นๆ ในประชาธิปไตยไหม ในหลายๆ ประเทศก็มี แต่ทุกทางออกนำไปสู่ทางตันต่อไป อย่างที่เราเห็นแล้ว เราใช้กำลัง เอาอำนาจมาอยู่กับตัว อีกฝ่ายก็จะบอกว่าเขาก็มีอำนาจเหมือนกัน รัฏฐาธิปัตย์คนหนึ่งเป็นได้ อีกคนก็เป็นได้ ฉะนั้นมันจะไม่จบ ทุกอย่างที่เราเลือกทางที่ต่างออกไป อาจจะฟังดูดี แต่สุดท้ายมันนำไปสู่ทางตัน และเป็นทางตันที่บาดเจ็บ ล้มตาย นองเลือด ทางออกของการเลือกตั้งคือสิ่งที่ประเทศที่พัฒนาแล้วเรียนรู้มาแล้ว

เราบอกว่ามีการปฏิวัติประชาชนเกิดขึ้นที่จีน ที่ฝรั่งเศส ทำอย่างเขาก็ได้ ถ้าคุณกลับไปดูประชาธิปไตยของเขา กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ เขาตายกันเป็นแสนๆ หรือบางทีเป็นล้านคน เราอยู่ในยุคใหม่ เราบอกว่าประชาธิปไตยไทยมันเด็กมากเลย เราต้องเรียนรู้อีกเยอะ แต่เราสามารถเรียนรู้จากโลกอินเทอร์เน็ต โลกออนไลน์ โลกศตวรรษที่ 21 คือไม่ต้องไปซ้ำรอยบาดแผลเขาแล้ว เราเอาความรู้ ประสบการณ์เขามาใช้ได้ว่าถ้าคุณเลือกทางนั้น สุดท้ายมันก็จนตรอกกลับไปที่เรื่องของการบาดเจ็บล้มตายอีกที

กระบวนการทุกวันนี้ผมเชื่อว่ามันมีการสร้างขึ้น มันคล้ายกับในละตินอเมริกามาก คล้ายกับเวเนซุเอลามาก คล้ายกับในเปรูมากๆ สภาวะที่ทำให้คนคิดว่าเริ่มไม่ชอบประชาธิปไตย เราเริ่มเปลี่ยนแปลงจากการไล่คนที่เราคิดว่าทุจริตคอร์รัปชันกลายเป็นเรื่องว่าประชาธิปไตยไม่เหมาะกับประเทศไทย ใช้ระบบอื่นไหม มันคล้ายกับในประเทศเหล่านั้นที่มีการทำให้รู้สึกว่านักการเมืองเป็นตัวเลวร้าย ไม่ใช่ตัวแทนที่แท้จริงของเรา แล้วทางออกคืออะไร ... เอาทหารเข้ามา นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในละตินอเมริกา ของเราในช่วงต้นก็จะเห็นบรรยากาศนี้ แกนนำ กปปส.อาจจะพูดไม่ชัด แต่ผมเห็นบรรยากาศของนักวิชาการหลายๆ คนที่บอกว่าต้องเอาทหารเข้ามา

แต่ทหารเองเขาก็เรียนรู้เรียบร้อยแล้ว ผมเชื่อว่าเขาเรียนรู้ ณ วันนี้มันพิสูจน์แล้ว ผ่านมา 4-5 เดือนได้ว่า ประสบการณ์ของเขาเองทหารกลายเป็นจำเลย ไม่ต่างอะไรกับในละตินอเมริกาหรือที่อื่นๆ พอทหารเข้ามาปุ๊บ ดูแลไปอีก 20-30 ปี ประเทศกลับยิ่งตกต่ำลง คนทั่วโลกเริ่มรับไม่ได้ เกิดปัญหาของการที่มีอำนาจล้นมือเกินไป เกิดการกวาดล้างฆ่าฝ่ายตรงข้าม ประเทศไม่สงบสุขเลย แล้วสุดท้ายเกิดอะไรขึ้น กลับมาเลือกตั้ง ยังไงทุกคนก็ต้องย้อนกลับมาเลือกตั้ง เราจะต้องผ่านกระบวนการนั้นก่อนเหรอ มันไม่จำเป็นเลย

เพราะฉะนั้น ถ้าทหารเองเขาเห็นภาพชัดแล้วว่าถ้าเข้ามาวันนี้ เขาเป็นจำเลยแน่ๆ ในสังคม องค์กรอื่นๆ ก็ไม่สามารถทำอะไรแบบนั้นได้ คนที่คิดแบบที่ว่า ต่อต้านประชาธิปไตย ก็ต้องถอยมาเหมือนกันว่า วิธีการเขาฟังเป็นอุดมการณ์ที่แท้จริงก็จริง แต่วิธีการมันไม่ได้ผลและนำไปสู่ความสุ่มเสี่ยงอื่นๆ มากกว่า

สู้เราหาทางออกร่วมกันด้วยแนวทางอื่น ผมเคยเสนอว่าถ้า กปปส.อยากแสดงสัญลักษณ์ว่าไม่ชอบการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ไปโหวตโนก็ได้ มากกว่าจะไปคัดค้านการเลือกตั้ง ประชาธิปัตย์เองก็ยังทำได้เลย แต่ในทางตรงข้าม ถ้าเราต้องการประชาธิปไตย เราต้องการพรรคฝ่ายค้านที่มีความเข้มแข็งต่างหาก ถ้าบอกว่าที่ผ่านมา เราไม่สามารถจะไปต่อสู้กับรัฐบาลได้ เพราะเขาเป็นเผด็จการเสียงข้างมากในสภา คุณก็ต้องพยายามเป็นฝ่ายค้านที่เข้มแข็งให้ได้ ทำไมกระแสคุณชูวิทย์ถึงแรงขึ้นทุกวันๆ ทั้งๆ ที่แกมีของแกคนเดียว

เราบอกว่าเราเป็นคนทั่วๆ ไปเริ่มเกลียดนักการเมือง นักการเมืองทุจริตคอร์รัปชัน มันมีทางออกสองทาง ทางหนึ่งคือคุณไปเป็นนักการเมืองเอง ต้องสร้างตัวเอง พัฒนาตัวเอง หาเข้าสู่เส้นทาง หรือสอง คุณพยายามสร้างพรรคที่ดี พรรคทางเลือกใหม่ๆ ขึ้นมา หานักการเมืองใหม่ๆ ขึ้นมา พยายามจะรวมตัวกันให้ได้

ผมเชื่อว่าถ้ามีพรรคที่สามที่สี่ขึ้นมา ประกาศนโยบายว่าใครคอร์รัปชัน จำคุกตลอดชีวิตโดยไม่มีข้อยกเว้น หรือประหารชีวิตเหมือนเมืองจีน ไม่แน่คุณอาจได้เสียงถล่มทลายก็ได้ แต่ที่ผ่านมา พรรคการเมืองแต่ละพรรคก็ต้องยอมรับว่ายังไม่สามารถเข้าสู่ระบบของโลกสากลได้ นโยบายก็ดูล่องลอย ที่อเมริกายังมีเดโมแครตกับรีพับลิกันชัดเจน คุณชอบแนวนายทุน คุณชอบแนวแรงงาน คุณเลือกชัดเจน ของเราทุกพรรคมันมั่วหมดเลย

แต่ต่อไปผมคิดว่าเกมการเมืองจะไปเปลี่ยนไป นโยบายจะชัดขึ้น แล้วไม่ใช่ประชานิยมเพียวๆ อย่างที่ผ่านมาแล้วว่าฉันจะให้เงินคุณเท่าไหร่ จะทำอะไรบ้าง แต่จะเห็นภาพชัดว่าฉันเป็นคนที่แนวเศรษฐกิจแบบนี้ แนวคิดสังคมแบบนี้ แล้วถ้าบอกจะต่อสู้วันนี้ วันเลือกตั้งคุณไปสู้สิ คือผมเห็นหลายคนที่ไปเย้วๆ กับม็อบไม่ว่าจะม็อบไหนก็ตาม แต่เลือกตั้งไม่ไปโดยเฉพาะคนกรุงเทพ นอนอยู่กับบ้าน ถึงเวลาไม่สนใจไปเลือกตั้ง อ้าว แล้วจะมาโวยวายอะไร ผมเองเสนอตั้งแต่แรกว่าจะไปสู้ จะไปล้มพรรคเพื่อไทย ผมไม่เห็นด้วยกับพรรคเพื่อไทย แต่ผมใช้ปากกากากบาทว่าไม่เลือกพรรคเขา ก็เป็นแนวทางหนึ่ง

ฉะนั้น ถ้าค่อยๆ เรียนรู้ กลับมาเรียนรู้ใหม่กัน ถ้าใครคิดว่าไม่ชอบการเมืองแล้ว ไม่ชอบระบบประชาธิปไตยแล้ว ไม่มั่นใจในนักการเมืองแล้ว กลับไปดูประวัติศาสตร์ชาติอื่นก่อน ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ดูชาติเราเองในยุคที่ไม่มีการเมืองแท้จริงสิว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วถอยกลับมาดูสิว่าคุณยังมีประชาธิปไตยที่แสดงออกได้มากกว่านี้


ข้อเสนอต่อกลุ่ม นปช.
ณ วันนี้ในความรู้สึกน่าจะคุยง่ายกว่า แม้ว่าที่ผ่านมา อิมเมจที่ผ่านๆ มาจะเห็นภาพค่อนข้างจะรุนแรงระดับหนึ่ง เพราะเราจะเห็นภาพที่มีการประท้วง การเกาะกลุ่มต่างๆ แต่ถ้าเราฟังการปราศรัยของแต่ละท่านที่เป็นแกนนำ นปช. ผมว่าก็มีแนวคิดและมีตรรกะในเชิงประชาธิปไตยตรงกัน คือทุกคนมีสิทธิมีเสียงเท่าเทียมกัน ปกครองตนเองด้วยหลักประชาธิปไตยทั่วๆ ไป แต่วิธีการอาจจะต่างกัน เพราะฉะนั้นผมคิดว่าน่าจะมีโอกาส

ถ้ามีโอกาส น่าจะคุยได้โดยง่ายและชี้ให้เห็นความแตกต่างกันระหว่างแนวคิด เช่นที่บอกว่าแนวคิดของเพื่อไทย โรดแมปของเขาคือการเลือกตั้งตรงๆ เลย แล้วให้แต่ละพรรคเสนอนโยบายว่าจะปฏิรูปอย่างไร ใครชนะก็ปฏิรูปตามแนวของพรรคนั้นๆ ซึ่งผมเห็นว่าไม่ค่อยน่าจะรับได้ในสถานการณ์นี้ คนที่เป็น กปปส.คงจะรับไม่ได้ ประชาชนทั่วไปอย่างผมเองก็ไม่เคยเลือกพรรคเพื่อไทย ผมก็ไม่คิดว่าผมจะต้องเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยปฏิรูปตามนั้นจริงและสำเร็จ ผมคิดว่าแนวที่ผมเสนอไปแล้วคือทุกคนต้องมาช่วยกันเรื่องปฏิรูป การมีนายกฯที่ดูกลางๆ ที่มาจาก ส.ส. และครม.ที่เป็นกลางๆ รัฐบาลแห่งชาติ นี่คือสิ่งที่ต้องทำ นี่คือสิ่งที่อยากไปนำเสนอ

และถ้าเห็นด้วยรีบชิงประกาศเลยว่าเห็นด้วยกับภาคประชาชนแล้วนะ ซึ่งมันก็เป็นความได้เปรียบ ใครก็ตามที่บอกว่าเห็นด้วยก่อนนั่นคือความได้เปรียบ แต่ถ้าบอกว่าไม่ฟัง คิดอย่างเดียวว่าถ้ากำนันสุเทพเข้ามาเมื่อไหร่จะไปปราบกบฏวันนั้น นั่นคือเส้นทางที่ไปหาทางปะทะกัน แล้วก็จะไม่ได้ใจของประชาชนตรงกลางๆ ไปด้วย จริงๆ ประเทศแบ่ง 100% อาจจะมีคนที่ชื่นชอบ นปช. 20% ชื่นชอบ กปปส. 20% แล้วที่เหลือตรงกลางอีกตั้ง 60% ตรงนี้ต่างหากคือมวลชนที่แท้จริงของสังคมไทย ที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องพยายามแย่งชิง พยายามจะซื้อใจ ทำให้พวกเราเห็นว่าเป็นพวกเดียวกัน โดยไม่ใช้ความรุนแรงและหาทางออกร่วมกัน ผมเชื่อว่าน่าจะคุยได้


มองบทบาทของสื่ออย่างไร
ผมมองบทบาทของสื่อในช่วงที่ผ่านมาว่าค่อนข้างเป็นปัญหา คือจริงๆ แล้วสื่อก็ทำหน้าที่ปกติทั่วไปคือการนำเสนอข่าวว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในสังคม แต่การเสนอข่าวแบบที่มีสีสันด้วยจะทำให้คนคุ้นเคยแต่ข่าวแค่สองฝ่ายเท่านั้น จะเห็นว่าข่าวแต่ละวัน เมื่อก่อนก็ถามว่าวันนี้ใครจะปะทะกันที่ไหน ม็อบจะรวมตัวไหม อีกฝั่งจะทำยังไง ศอ.รส.จะมีแผนอะไรบ้าง คือคิดแค่อยู่นี้ เหมือนลุ้นเกมไปเรื่อยๆ

สื่อจะต้องทำให้เกมที่มีลักษณะแบบนี้ลดทอนลงมา คือต้องพยายามเปิดทางให้กับพื้นที่ตรงกลางมากขึ้น วันนี้มันทำให้เกิดสงครามกลางเมืองหรือการแบ่งแยกประเทศได้ด้วยซ้ำ เพราะงั้นสื่อเองจะต้องเริ่มเรียนรู้ปัญหาในครั้งที่ผ่านมา ต้องให้พื้นที่กลางๆ มากขึ้น ต้องเริ่มไปถามภาคต่างๆ มากขึ้น ถามภาคประชาชนที่กลุ่มรณรงค์ เอ็นจีโอ ถามประชาชนทั่วไปตามท้องถนน ภาคธุรกิจ เอสเอ็มอี บริษัทร้านค้า ภาคแรงงาน นักศึกษา นักวิชาการ

คือต้องพยายามกระจาย หาข้อมูลให้มากขึ้น มากกว่าการแค่บอกว่ามีแค่สองส่วนนี้ แล้วมันจะได้เรียนรู้มากขึ้นว่าสังคมต้องการอะไร ที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นบ้างจากทั้งสองฝ่าย ถ้าปรับเข้าสู่แนวทางนี้ได้คิดว่าสังคมจะเริ่มเป๋ๆ ไปแล้วว่าเราอยู่เฉยๆ ปล่อยเขาทะเลาะกันไม่ได้ เราน่าจะมีส่วนร่วมบ้างเหมือนกัน เพราะเขาก็พูดได้ คนข้างบ้านยังพูดได้เลย ฉันน่าจะมีสิทธิที่จะพูดได้บ้าง นี่คือหน้าที่ของสื่อในยุคใหม่ที่ต้องพยายามทำ

อยากจะเพิ่มเติมว่า คนอย่างพวกผมเองก็มีอายุมาประมาณหนึ่ง เราผ่านเหตุการณ์มาหลายเหตุการณ์ในอดีต ผมผ่านตุลานะ อายุ 1 ขวบ ที่บ้านพาไปเดินตอนนั้นด้วย เราเห็นสถานการณ์ที่มันมีความรุนแรงเกิดขึ้น คนไทยเราแทบไม่เคยทำสงครามกับต่างชาติ แต่คนไทยทะเลาะกันเองมาตลอด แล้วเวลามีปัญหาคนไทยก็ฆ่ากันเอง ผมผ่านพฤษภาทมิฬมา ตอนเป็นนักศึกษาปี 3 ซึ่งก็ไม่ได้ขนาดว่าไปอยู่ตรงนั้น ไปโดนล้อมยิง ไปวิ่งหลบเข้าโรงแรม คือผมไปเรื่อยๆ แต่ผมมาอีกวันหนึ่งพอผมไปเย้วๆ ปุ๊บทหารก็เอาปืนยิง ก็หมอบคลานกันออกมา มันเกิดความรู็สึกแว่บในวันนั้นว่าทำไมคนไทยต้องฆ่ากัน เรามาเรียกร้องแค่ประชาธิปไตยเต็มใบ ถ้าเราย้อนกลับไปในยุคนั้นเด็กรุ่นใหม่ๆ จะไม่เข้าใจว่าจริงๆ แล้วเราเหมือนกับอยู่มาอย่างสันติแต่จริงๆ แล้วเราอยู่ในยุคที่ประชาธิปไตยไม่เต็มใบ เราไม่ได้สามารถปกครองโดยตนเองได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ตอนนั้นเราเรียกร้องว่านายกฯ ควรจะมาจากคนที่เป็นตัวแทนของประชาชนจริงๆ คือการเลือกตั้งเข้าไป ซึ่งการเดินประท้วงที่เกิดขึ้น นำไปสู่ปัญหามากมาย

แล้ววันนี้ มองย้อนกลับไปเราเห็นว่ามันเป็นเกมที่คนที่หวังไม่ดีหลายคนเอาประชาชนเป็นเครื่องมือ ในการเมืองตลอดมา ไม่ว่าจะยุคตุลา ยุคพฤษภา ผ่านมาถึงสมัยเสื้อแดง นปช. จนถึงวันนี้ จะเห็นว่าแกนนำไม่เป็นอะไร แต่ประชาชนนั่นแหละที่เป็นหมากเบี้ยไปตายแทนเขา นั่นคือสิ่งที่ผมรู้สึกได้จากตอนพฤษภาทมิฬ

ฉะนั้น สิ่งที่เราต้องการทำก็คือว่าเก็บในส่วนของอุดมการณ์มา แต่ต้องหาทางออกที่สันติให้ได้ ถ้าเราบอกว่าเราสามารถต่อสู้จนได้ประชาธิปไตยเต็มใบแล้ว มีนายกฯ ที่มาจาก ส.ส.แล้ว เราต้องสามารถรักษาระบบนี้มาได้ จะมาอ้างว่าตอนนั้น สมัยพฤษภาฯ ท่านอานันท์ยังมาเป็นนายกฯ คนกลางให้ได้เลย ไม่เกี่ยว เพราะรัฐธรรมนูญตอนนั้นยังไม่ได้เปิด บอกแค่ว่าใครก็ได้เข้ามาเป็นนายกฯ แต่ตั้งแต่เรามีรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งน่าจะเป็นประชาธิปไตยที่สุดอันหนึ่งแล้วในยุคใหม่ที่เรามี เราต้องรักษาไว้ให้ได้ เพราะการที่มีนายกฯ มาจากการเลือกตั้ง มาจาก ส.ส. ใน 2550 ที่เราลงประชามติกันทั้งประเทศ คนส่วนใหญ่บอกว่าเห็นด้วยกับวิธีการนี้ ฉะนั้นเราจะย้อนยุคกลับไปวิธีการนั้นไม่ได้

การบอกถึงนายกฯ มาตรา 7 ต่างๆ มันผิดยุค ตกยุคแล้ว เราทิ้งเรื่องนายกฯ คนกลางมาตั้งแต่ยุคพฤษภาแล้ว วันนี้ถ้าคุณจะใช้คำว่าจารีตประเพณี จารีตต้องเริ่มตั้งแต่ปี 2540 แล้วก็บอกว่าเราต้องหาทางออก ก็ต้องหานายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งให้ได้ การเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นโดยเร็ว ถ้ากำหนด 20 ก.ค. ก็ต้อง 20 ก.ค. แล้วทุกคนก็ไปเลือกตั้ง ไม่มีการขัดขวาง นั่นแหละคือทางออกของประเทศ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net