Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เรียน อ.ชัยวัฒน์ ที่เคารพ

ยินดีอย่างยิ่งที่ อ.ชัยวัฒน์ พยายามนำเสนอความคิดเห็นโดยเจตนาที่จะนำพาประเทศของเราให้พ้นจากขอบเหว  ทว่าข้อเสนอของอาจารย์นั้นเกรงว่าจะมีการมองข้ามปัญหาหลายประการ ซึ่งการมองข้ามนี้อาจทำให้ข้อเสนอของอาจารย์ไม่ตรงประเด็นกับปัญหาในสังคมไทยปัจจุบัน

ประการแรกคือ คำว่า “คนกลาง” นั้น เป็นถ้อยคำอำพรางอย่างหนึ่ง ซึ่งนำเสนอออกมาโดยฝ่ายเดียว กล่าวคือ ฝ่าย กปปส.และกลุ่มสนับสนุน  การที่ฝ่าย กปปส.และกลุ่มสนับสนุนพยายามเสนอเรื่อง “นายกรัฐมนตรีคนกลาง” แท้ที่จริงเป็นแค่การอำพรางความต้องการที่จะได้ “นายกรัฐมนตรีฝ่ายตน” เท่านั้นเอง มิหนำซ้ำ กระบวนการจัดหานายกรัฐมนตรีที่ว่านี้ก็มุ่งที่จะลัดขั้นตอนของกระบวนการประชาธิปไตยทุกอย่าง เพื่อให้ได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาลที่ตนเองพอใจเท่านั้น  หากมิได้ดังอำเภอใจนี้แล้ว ดูท่า กปปส. ก็ยังไม่ยุติความเคลื่อนไหวโดยง่าย  นี่ไม่ใช่การต่อรองใด ๆ  แต่เป็นการยืนยันว่า กปปส. ต้องการเป็น “ฝ่ายชนะกินรวบ” (zero-sum game) ซึ่งอาจารย์ก็คงทราบดีว่า จุดยืนเช่นนี้ไม่เคยเป็นผลดีต่อการแสวงหาทางออกในเชิงสันติ

ประการที่สอง ข้อเสนอของ กปปส. ไม่ได้รับการยอมรับไม่เพียงในฝ่าย นปช. เท่านั้น แต่ฝ่ายอื่น ๆ ก็ไม่ยอมรับเช่นกัน  อาทิเช่น ข้อเสนอ “ประชาชนคือคนกลาง” ของกลุ่ม อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ นปช.หรือคนเสื้อแดง  และเราจะปฏิเสธได้อย่างไรว่า ข้อเสนอ “ประชาชนคือคนกลาง” นี้เป็นข้อเสนอที่มีความสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยมากที่สุดในตอนนี้

ประการที่สาม อาจารย์กล่าวถึงการ “ปฏิรูประบบเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรมเท่าที่จะทำได้” ราวกับระบบเลือกตั้งเป็นปัญหาใจกลางของความขัดแย้งทั้งหมดที่เกิดขึ้น  อันที่จริง หลังจากที่ประเทศเราเริ่มใช้รัฐธรรมนูญ 2540 จนกระทั่งถูกฉีกทิ้งไปในการรัฐประหาร 2549  การเลือกตั้งของไทยนั้น “บริสุทธิ์ยุติธรรมเท่าที่จะทำได้” ตามมาตรฐานสากลมาตลอด  การที่ทักษิณ ชินวัตรสามารถรอดจากคดีซุกหุ้นครั้งแรกจนได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น มันไม่ใช่ปัญหาของระบบเลือกตั้ง แต่เป็นปัญหาของระบบศาลที่ตัดสินอย่างไม่มีหลักการ  ความไม่มีหลักการและไม่เที่ยงธรรมของระบบศาลกลายเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยมาจนถึงทุกวันนี้

ในความคิดเห็นอันต่ำต้อยของข้าพเจ้านั้น  ต่อให้เราปฏิรูประบบเลือกตั้งให้ดีกว่านี้ ก็ไม่มีทางแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยได้ ทั้งนี้เพราะหัวใจของปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบัน เกิดมาจากปมสำคัญคือ ความพยายามที่จะลดอำนาจประชาชนและเพิ่มอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำที่ไม่ยอมรับระบอบประชาธิปไตย  ตราบใดที่แก้ปมปัญหานี้ไม่ได้  ความขัดแย้งในประเทศไทยก็คงไม่มีทางจบสิ้นลงง่าย ๆ

ประการที่สี่ ข้อเสนอข้อที่ 1 และ 2 ของอาจารย์นั้นมีปัญหาแน่นอน  ระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นระบอบที่มีกติกาแน่นอน แต่ผลลัพธ์ไม่แน่นอน  ดังนั้น เราไม่สามารถตั้งธงไว้ล่วงหน้าว่า เราจะได้นายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งมาจากพรรคการเมืองไหน  หากเราคาดทำนายผลการเลือกตั้งล่วงหน้าได้ขนาดนั้น ระบอบดังกล่าวก็ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยแล้ว

ประการที่ห้า ข้อเสนอข้อที่ 3 ของอาจารย์นั้น คล้ายกับจะนำพาเราย้อนอดีตกลับไปสู่ยุคเปรม ติณสูลานนท์ เพียงแต่กลับหัวกลับหางกัน กล่าวคือ ในยุคเปรม นายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่คณะรัฐมนตรีบางส่วนมาจากการเลือกตั้ง ข้อเสนอของอาจารย์เพียงแค่กลับหัวกลับหางมันเสียใหม่  แต่แก่นกลางยังเหมือนเดิม กล่าวคือ การมีรัฐบาลเทคโนแครต  ยังไม่ต้องกล่าวถึงว่า “สังคมส่วนใหญ่ยอมรับ” จะเป็นไปได้จริงหรือไม่  แต่หากมองผาด ๆ ด้วยการเมืองเชิงอำนาจของพื้นที่แล้ว  เทคโนแครตส่วนใหญ่ย่อมมาจากกรุงเทพฯ หรือผูกติดกับผลประโยชน์ของกรุงเทพฯ คนเหล่านี้ไม่มีความเข้าใจหรือไม่ตระหนักถึงความต้องการของพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศไทยนอกเหนือกรุงเทพฯ และปริมณฑลมากนัก  ประเด็นต่อมาคือ เทคโนแครตส่วนใหญ่มาจากชนชั้นสูง ซึ่งย่อมผูกผลประโยชน์ของตนไว้กับชนชั้นของตนไม่ว่าโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม  นโยบายหรือการปฏิรูปใด ๆ ที่ออกมาจากรัฐบาลเทคโนแครตย่อมสะท้อนผลประโยชน์ของชนชั้นสูงและไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของชนชั้นล่างที่เป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม ดังที่เคยมีตัวอย่างให้เห็นแล้วในรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน

ด้วยเหตุนี้เอง ต่อให้รัฐบาล “คนกลางที่มาจากการเลือกตั้ง” อยู่ในตำแหน่งเพียง 3-4 เดือน แล้วจัดการเลือกตั้งใหม่  ความขัดแย้งในสังคมไทยก็ยังไม่จบสิ้นง่าย ๆ  เพราะเราไม่มีทางรู้ล่วงหน้าว่า การปฏิรูประบบเลือกตั้งหรือนโยบายอะไรก็ตามที่รัฐบาลเทคโนแครตนี้จะนำออกใช้นั้นจะมีหน้าตาอย่างไร  หากเราต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง  ประชาชนก็ควรได้รับรู้ล่วงหน้าและมีส่วนร่วมในการปฏิรูประบบเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น  ไม่ใช่ยกปัญหานี้ไปให้เทคโนแครตหรือเนติบริกรเป็นผู้ออกแบบ แล้วประชาชนก็ต้องจำใจยอมรับเพราะไม่มีทางเลือกอื่น เหมือนดังเช่นที่ต้องจำใจยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ที่ใช้อยู่ในขณะนี้

และไม่ว่าจะปฏิรูประบบเลือกตั้งอีกกี่ครั้ง หากเงื่อนตายของความขัดแย้ง กล่าวคือ ความพยายามที่จะลดอำนาจประชาชนและเพิ่มอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำที่ไม่ยอมรับระบอบประชาธิปไตย ยังคงมีอยู่ต่อไป โดยได้รับการสนับสนุนโดยตรงหรือโดยอ้อมจากสถาบันทหาร สถาบันตุลาการและสถาบันกษัตริย์  ก็เชื่อได้ว่าสังคมไทยคงจะตกเหวในไม่ช้านี้

ด้วยความเคารพอย่างสูง
ภัควดี วีระภาสพงษ์
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net