Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
ท่ามกลางความวุ่นวายสับสนในยูเครน กองกำลังติดอาวุธและประชาชนกลุ่มหนึ่งของบางรัฐในภาคตะวันออกของยูเครนได้พยายามผลักดันให้มีการลงประชามติเพื่อแยกตัวเองออกจากยูเครน สาเหตุที่กองทัพจากกรุงเคียฟไม่สามารถจัดการกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเหล่านั้นเกิดจากความไม่พร้อมเรื่องกองทัพแถมด้วยขวัญและกำลังใจอันตกต่ำ นอกจากนี้กรุงเคียฟยังพบปัญหากับการรุกฮือของประชาชนที่กองทัพไม่สามารถเข้าปราบปรามได้อย่างรุนแรงเพราะจะเข้าทางรัสเซียที่ว่ารัฐบาลเป็นพวกฟาสซิสต์ใหม่ (เอากันตามจริงถ้าไม่มีรัสเซีย กรุงเคียฟก็สามารถทำได้โดยไม่เกรงว่าจะถูกโจมตีจากตะวันตกว่าล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนเพราะตะวันตกก็หน้าไหว้หลังหลอกอยู่ไม่เบา ดูดังเช่นในกรณีการกวาดล้างชาว ภราดรภาพมุสลิมในอียิปต์อย่างรุนแรงโดยปราศจากการประท้วงอย่างจริงจังจากรัฐบาลตะวันตก) ที่สำคัญจำนวนทหารจำนวนหลายหมื่นนายของรัสเซียยังคงประจำอยู่ประชิดชายแดนเพื่อเป็นการคุมคามแบบทางอ้อมทำให้กรุงเคียฟไม่สามารถทำอะไรได้สะดวก
 
การเคลื่อนไหวทางทหารของรัสเซียไม่ว่าการซ้อมรบครั้งใหญ่เมื่อปีที่แล้ว และการจัดงานครั้งยิ่งใหญ่ในกรุงมอสโคว์เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมาเพื่อระลึกถึงชัยชนะเหนือเยอรมันนาซีรวมไปถึงการแสดงแสนยานภาพของกองทัพที่มีอาวุธสำคัญคือขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ รวมไปถึงการเยือนแหลมไครเมียของปูตินได้ทำให้ตะวันตกหวาดหวั่นถึงภาพเก่าๆ ของสหภาพโซเวียตในฐานะนักล่าดินแดน กระนั้นถ้าเปรียบกับข้อมูลการเข้าไปแทรกแซงทางทหารของสหรัฐอเมริกาตามในบทความที่แล้วของผู้เขียนจะเห็นได้ว่าทางด้านสหภาพโซเวียตมีน้อยกว่ามาก เช่นในฮังการี เชคโกสโลวาเกีย และอัฟกานิสถาน โดยประเทศสุดท้ายเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลาย จึงเป็นประเด็นน่าสนใจว่าหากรัสเซียตัดสินใจส่งทหารบุกรุกยูเครนจะพบกับชะตากรรมแบบเดียวกับในอัฟกานิสถานเมื่อหลายสิบปีก่อนหรือไม่และจะส่งผลถึงยูเครนและชาวยูเครนรวมไปถึงการเมืองของโลกเหมือนกับอัฟกานิสถานหรือไม่อย่างไร ถึงแม้ว่าบริบททางการเมือง วัฒนธรรม ศาสนาของทั้งยูเครนและอัฟกานิสถานจะแตกต่างกันมากมายก็ตาม แต่เป็นที่แน่ชัดว่าหากเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น ทางตะวันตกก็จะสนับสนุนฝ่ายขบถหรือกลุ่มใต้ดินยูเครนเช่นเดียวกับที่สหรัฐฯ เคยช่วยเหลือกลุ่มมูจาหิดินในอัฟกานิสถานเมื่อทศวรรษที่ 80 และที่สำคัญก็จะมีคนตายอีกมากมายอีกตามเคย
 
บทความต่อไปนี้เป็นการเรียบเรียงเสียใหม่จาก http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=historyandphilosophy&date=18-02-2008&group=1&gblog=39 (ซึ่งเป็นบล็อกแห่งแรกที่เขียนบทความนี้) โดยผู้แปลนำมาจากบทความ "ประสบการณ์ของ โซเวียตในอัฟกานิสถาน :เอกสารและบันทึกช่วยจำของโซเวียต" โดยสเวตลานา ซาฟรานสกายา ผสมกับข้อมูลเพิ่มเติมในตอนท้ายจาก infoplease.com โดยผู้แปลเองเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์กว่าเดิม
 
เอกสารซึ่งเพิ่งได้รับการเปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้จากหอจดหมายเหตุของสหภาพโซเวียตเก่าและบันทึกช่วยจำของผู้นำทางการเมืองและกองทัพของโซเวียตได้นำเสนอภาพอันน่าเศร้าและซับซ้อนของการเข้าเกี่ยวข้องของกองทัพโซเวียตเป็นเวลาสิบปีในอัฟกานิสถาน ผู้สังเกตการณ์เกือบทั้งหมดเห็นร่วมกันว่าสงครามครั้งสุดท้ายของโซเวียตได้ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวภายในซึ่งนำไปสู่การล่มสลายของตัวโซเวียต เอกสารซึ่งถูกนำเสนอในที่นี้จะให้ความกระจ่างแก่ช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของสงคราม โซเวียตในอัฟกานิสถาน นั้นคือการร้องขอของรัฐบาลอัฟกานิสถานสำหรับความช่วยเหลือ การปฏิเสธช่วงแรก ๆของโซเวียตในการส่งกำลังทหาร การเปลี่ยนแปลงนโยบายนี้โดยโปลิตบูโรกลุ่มเล็ก ๆ และการตัดสินใจของโซเวียตในการเข้ารุกราน รวมไปถึงการขยายตัวของปฏิบัติการช่วงเริ่มต้นซึ่งรวมไปถึงการทำสงครามกับฝ่ายต่อต้านชาวอัฟกานิสถานและการวิพากษ์วิจารณ์ในช่วงต้น ๆ ต่อนโยบายของโซเวียตและรัฐบาลภายใต้พรรคประชาธิปไตยประชาชนอัฟกานิสถาน (พีดีพีเอ) และการตัดสินใจถอนกองกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถาน เอกสารเหล่านั้นเมื่อนำมารวมกันแล้วก็ได้ให้บทเรียนบางประการซึ่งอาจจะเกิดจากการประสบการณ์ของโซเวียตในการทำสงครามในอัฟกานิสถาน
 
 การตัดสินใจส่งกองกำลังทหารของสหภาพโซเวียตเกิดขึ้นภายหลังจากการแสดงความเจตจำนงมาเนิ่นนานและการร้องขอซ้ำซากจากประธานาธิบดีซึ่งเป็นผู้นำของพีดีพีเอนั้นคือนูร์ มูฮามัด ทารากิ และ ฮาฟิซูลลาห์ อามิน การถกเถียงกันในคณะโปลิตบูโรแสดงให้เห็นบรรดาผู้นำโซเวียตนั้นลังเลใจอย่างมากในการแทรกแซงทางทหารหรือแม้แต่จะตอบสนองความต้องการของรัฐบาลอัฟกานิสถานเรื่องอาวุธและอุปกรณ์การทหารมาให้ตลอดฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนในปี 1979 อย่างไรก็ตามการโค่นล้มทารากิโดยอามินในเดือนกันยายนภายหลังจากที่ทารากิได้เดินทางกลับจากกรุงมอสโคว์ได้ทำให้เกิดความวิตกกังวลของ โซเวียตว่าอามินอาจจะหันไปพึ่งสหรัฐอเมริกาเพิ่มสูงขึ้น การตัดสินใจที่แท้จริงในการรุกรานนั้นมีขึ้นอย่างลับ ๆ โดยสมาชิกกลุ่มเล็ก ๆในโปลิตบูโร ซึ่งต้องพบกับการต่อต้านอย่างเปิดเผยและแข็งขันของกองทัพและโดยสมาชิกโปลิตบูโรคนอื่นๆ ผู้นำของกองทัพคือจอมพล โอการ์คอฟและผู้ช่วยของเขาคืออาค์โรมีฟแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างมากในการส่งกองกำลังเข้าไปในพื้นที่ซึ่งกองกำลังอันมีจำนวนจำกัดไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้
 
 การตัดสินใจของกรุงมอสโคว์ที่จะส่งทหารเข้าไปในอัฟกานิสถานตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่จำกัด จากคำให้การของอดีตทหารผ่านศึกโซเวียต แหล่งข่าวของหน่วยข่าวกรองเคจีบีนั้นถูกป้อนให้กับหน่วยสืบราชการลับของกองทัพ อันแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลที่เพิ่มมากขึ้นของประธานของหน่วยข่าวกรองเคจีบีนั้นคือยูริ อันโดรปอฟผู้ซึ่งควบคุมข้อมูลที่จะถูกส่งไปยังเลขาธิการพรรคคือลีโอนิด เบรซเนฟซึ่งล้มป่วยและเริ่มเสื่อมสมรรถภาพในการตัดสินใจตลอดปี 1979 รายงานของเคจีบีจากอัฟกานิสถานได้สร้างภาพของความจำเป็นอันเร่งด่วนและเน้นอย่างมากต่อความเป็นไปได้ของความสัมพันธ์ของอามินและซีไอเอกับกิจกรรมของสหรัฐฯ ในการต่อต้านโซเวียตของตามภูมิภาคต่างๆ (ประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ได้ลงนามอย่างลับๆ ในเดือนกรกฏาคมปี 1979 ในการอนุมัติความช่วยเหลือแบบใต้ดินต่อผู้ต่อต้านรัฐบาลทารากิและอามิน)
 
 อัฟกานิสถานนั้นไม่ได้เข้ากับกรอบทางอุดมการณ์และแผนที่ความคิดของเหล่าผู้นำโซเวียตเลย การวิเคราะห์ของพวกเขาต่อความเป็นไปทางทางสังคมภายในของอัฟกานิสถานนั้นถูกสร้างขึ้นมาผ่านมุมมองของลัทธิเลนินมาร์กซิสต์ อันทำให้พวกเขามองไม่เห็นความเป็นจริงของสังคมชนเผ่าซึ่งมีมาตั้งแต่โบราณของประเทศนี้ โดยการเชื่อว่าไม่มีประเทศไหนที่ไม่สุขงอมสำหรับลัทธิสังคมนิยม นักคลั่งอุดมการณ์ มาร์กซิสต์ของพรรคอย่างเช่น มิคเคล สัสลอฟและบอรีส โปโนมารอพเห็นว่าอัฟกานิสถานนั้นเป็น "มงโกเลียแห่งที่สอง" (โซเวียตเคยบุกรุกมงโกเลียเมื่อปี 1967 และสามารถเอาชนะกับยึดครองฝ่ายหลังโดยปราศจากปัญหา – ผู้แปล) การวิเคราะห์สถานการณ์เช่นนี้นำไปสู่ความพยายามในการนำวิธีการปฏิบัติแบบต่างชาติมาสู่สังคมอัฟกานิสถานเช่นการปฏิรูปที่ดินเชิงบังคับ
 
 การตัดสินใจของสหภาพโซเวียตมองข้ามบทบาทสำคัญของศาสนาอิสลามที่มีต่อสังคมอัฟกานิสถาน มีผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับอิสลามเพียงไม่กี่คนในรัฐบาลและสถาบันทางการศึกษาของโซเวียต ผู้นำสูงสุดนั้นได้รับความข้อมูลอย่างกระท่อนกระแท่นเกี่ยวกับพลังความเชื่อทางศาสนาที่มีต่อมวลชนชาวอัฟกานิสถาน ผู้นำทางการเมืองและกองทัพ ต่างประหลาดใจที่พบว่าแทนที่กำลังของโซเวียตจะถูกมองว่าเป็นกองกำลังต่อต้านจักรวรรดินิยมผู้เกรียงไกร ชาวอัฟกานิสถานกลับมองพวกเขาว่าเป็นผู้รุกรานต่างชาติ และ "ผู้ทรยศ" รายงานจากอัฟกานิสถานแสดงให้เห็นถึงความตระหนักต่อ"ปัจจัยของศาสนาอิสลาม"ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆในส่วนของนายทหารและนักการเมืองของโซเวียต
 
 พรรคคอมมิวนิสต์พีดีพีเอของอัฟกานิสถานนั้นไม่เคยเป็นพรรคสามัคคีกัน ด้วยพรรคถูกแบ่งแยกไปตามชนเผ่าและเชื้อชาติ การต่อสู้ระหว่างก๊ก "คาร์ค" และ"ปาร์ชาม" ได้ทำให้การเข้าควบคุมสถานการณ์นั้นเป็นการท้ายทายอย่างมากต่อกรุงมอสโคว์ถึงแม้ว่าจะมีที่ปรึกษาของโซเวียตจำนวนมากมายในทุกระดับของพรรคและรัฐบาลอัฟกานิสถาน การประเมินค่าที่ต่ำเกินไปของโซเวียตต่อความขัดแย้งของชนเผ่าภายในสังคมอัฟกานิสถานนั้นกลายเป็นเหตุผลหนึ่งของนโยบายที่ไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างสมานฉันท์ระหว่างคนในชาติ
 
สงครามในอัฟกานิสถานนั้นได้ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการเมืองภายในประเทศของโซเวียต มันเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักในการทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ต้องหมดความชอบธรรมไป (เช่นเดียวกับหน้าตาของสหภาพโซเวียตเองเมื่อฝ่ายตะวันตกได้ประท้วงโดยการไม่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่กรุงมอสโคว์ในปี 1980 - ผู้แปล) ส่วนภาคประชาสังคมของโซเวียตได้มีปฏิกิริยาต่อสงครามโดยการไม่ใส่ใจต่อทหารผ่านศึกจากสงครามอัฟกานิสถาน กองทัพนั้นสูญเสียขวัญและกำลังใจอันเนื่องจากถูกมองว่าเป็นผู้รุกราน อังเดรย์ ซาการอฟ นักวิชาการ นักกิจกรรมต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและปรปักษ์คนสำคัญของรัฐบาลโซเวียต ได้กล่าวประณามอย่างเปิดเผยต่อสงครามของโซเวียตในอัฟกานิสถาน ภาพของกองทัพ โซเวียตในการต่อสู้กับศาสนาอิสลามในอัฟกานิสถานนำไปสู่การกำเนิดอย่างรวดเร็วของพวกหัวรุนแรงมุสลิมในบรรดาสาธารณรัฐในเอเชียกลางและนำไปสู่การรวมพลังของขบวนการต่อสู้เพื่ออิสรภาพใน เชเชน ซึ่งยังคงเป็นภัยคุมคามต่อความมั่นคงของรัสเซียจนถึงทุกวันนี้
 
 กองทัพโซเวียตนั้นยังตระหนักอย่างรวดเร็วต่อการเตรียมตัวและการวางแผนที่ไม่ดีของตนต่อภารกิจในอัฟกานิสถาน ภารกิจช่วงต้นคือการป้องกันเมืองสำคัญ ๆและการบูรณะประเทศนั้นในไม่ช้ากลายเป็นการต่อสู้ ซึ่งเพิ่มความรุนแรงอย่างรวดเร็ว กองหนุนในฐานะส่วนใหญ่ของกองทัพของโซเวียตในช่วงแรก ๆที่ถูกส่งไปนั้นถูกดึงเข้าไปสู่การสู้รบเต็มรูปแบบกับฝ่ายต่อต้าน ในขณะที่กองทัพของรัฐบาลอัฟกานิสถานนั้น มักขาดความน่าไว้ใจเพราะมีแต่คนหนีกองทัพและขาดระเบียบวินัย 
 
 กองทัพโซเวียตยังไม่ได้ถูกฝึกให้พบกับการสู้รบแบบกองโจร ในขณะที่ภารกิจแบบเป็นทางการของกองทัพนั้นคือการปกป้องพลเรือนจากพวกต่อต้านรัฐบาล ตามความเป็นจริงแล้ว ทหารโซเวียตมักจะพบว่าพวกตนต่อสู้กับพลเรือนที่เคยตั้งใจจะมาปกป้อง สิ่งนี้หลายครั้งได้นำไปสู่การฆ่าชาวบ้านแบบไม่เลือกหน้า ปฏิบัติการในการติดตามและจับกุมกลุ่มต่อต้านนั้นมักจะไร้ผลสำเร็จและต้องถูกทำซ้ำ ๆ กันในพื้นที่เดียวกันเพราะกองกำลังต่อต้านนั้นมักจะล่าถอยไปยังภูเขาและกลับไปยังหมู่บ้านของพวกตนทันทีที่กองทัพโซเวียตกลับไปที่ค่ายทหาร อาวุธและอุปกรณ์ทางทหารของโซเวียตโดยเฉพาะรถและรถถังหุ้มเกราะนั้นเปราะบางอย่างมากต่อพื้นที่ของอัฟกานิสถาน
 
 กองทัพของโซเวียตยังต้องพบกับปัญหาจากความสับสนในเป้าหมายของตนนั้นคือภารกิจอย่างเป็นทางการในครั้งแรกคือการปกป้องรัฐบาลของพีดีพีเอ แต่เมื่อกองทัพเข้าถึงกรุงคาบูล คำสั่งที่พวกเขาได้รับคือการโค่นล้มรัฐบาลของอามิน และคำสั่งก็เปลี่ยนอีกครั้ง แต่บรรดาผู้นำไม่ได้ตั้งใจจะยอมรับว่ากองทัพ โซเวียตนั้นที่จริงแล้วต่อสู้ในสงครามกลางเมืองของอัฟกานิสถานเพื่อพีดีพีเอแต่เกิดจาก "หน้าที่ของวีรบุรุษโลก” หรืออุดมการณ์ล้วน ๆ นั้นคือกองทัพของสหภาพโซเวียตกำลังปกป้องการปฏิวัติของสังคมนิยมในอัฟกานิสถาน ในขณะที่ประสบการณ์ในภาคพื้นดินก็ได้ทำลายเหตุผลเหล่านั้น
 
 การตระหนักที่ว่าไม่อาจใช้กำลังทหารมาแก้ไขความขัดแย้งในอัฟกานิสถานเกิดขึ้นกับบรรดาผู้นำทางทหารของโซเวียตในช่วงต้นๆ ประเด็นของการถอนกำลังทางทหารและการหาการทางแก้ไขโดยวิธีทางการเมืองนั้นถูกยกมาพูดกันในช่วงปี 1980 แต่ก็ไม่มีการทำอะไรไปมากกว่านั้น และกองกำลังที่มีจำนวนจำกัดก็ยังรบในอัฟกานิสถานต่อไปโดยปราศจากเป้าหมายที่ชัดเจนแน่นอน รายงานของกองทัพในช่วงต้น ๆ ได้เน้นถึงความยากลำบากในการต่อสู้บนพื้นที่แถบภูเขา ซึ่งกองทัพโซเวียตไม่ได้ฝึกมาก่อน ความคล้ายคลึงกันของสงครามของสหรัฐฯ ในเวียดนามนั้นชัดเจนและมักจะถูกยกมาพูดโดยนายทหารในกองทัพของโซเวียต 
 
 ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1988 ประธานาธิบดีมิคาอิล กอร์บาชอฟประกาศการถอนกองทัพโซเวียต ซึ่งสิ้นสุดภายในหนึ่งปี เพราะประชาชนโซเวียตนั้นเริ่มไม่พอใจกับสงครามซึ่งยืดเยื้อและไม่มีท่าทีจะประสบความสำเร็จนอกจากการสูญเสียของทหารไปเรื่อยๆ 
 
 ในฤดูใบไม้ผลิปี 1992 รัฐบาลของ มูฮัมหมัด นาจิบูลลาห์ได้ถึงกาลอวสาน ภายหลังการปกครองของพรรคประชาธิปไตยประชาชนเป็นเวลา 14 ปี กรุงคาบูลก็ได้ตกอยู่ใต้อำนาจของรัฐบาลผสมของกลุ่ม มูจาหิดีนภายใต้การปกครองของกองทัพของอาห์เม็ด ชาห์ มาสซุด สงครามได้ทำให้อัฟกานิสถานพบกับปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ชาวอัฟกานิสถานมากกว่าหนึ่งล้านคนต้องเสียชีวิตจากสงครามและห้าล้านคนได้กลายเป็นผู้อพยพในประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ ทหารโซเวียตจำนวน 15,000 นายเสียชีวิตและบาดเจ็บไปอีกหลายหมื่นนาย เศรษฐกิจต้องหดตัวอย่างรวดเร็วและพื้นดินส่วนใหญ่ถูกปล่อยให้ไร้ประโยชน์ เมื่อสงครามสิ้นสุด ทุ่นระเบิดกว่าห้าล้านจุดซึ่งถูกฝังอยู่ในพื้นที่รวมกันได้สองเปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศก็ยังคงเป็นอันตรายต่อทั้งคนและสัตว์จนมาถึงปัจจุบันนี้ กลุ่มกองโจรที่ได้รับชัยชนะมีหลายกลุ่มไม่สามารถรวมกันได้และอัฟกานิสถานก็ถูกแบ่งออกเป็นพื้นที่ของการยึดครองหลายแห่ง การแบ่งแยกทางการเมืองเหล่านั้นได้ทำให้กลุ่มตาลิบันก้าวขึ้นมามีอำนาจภายในหนึ่งทศวรรษต่อมา (และได้หมดอำนาจไปเมื่อสหรัฐฯ ได้บุกรุกอัฟกานิสถานในปี 2001 -ผู้แปล)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net