Skip to main content
sharethis
แถลงการณ์จากกลุ่มคนหนุ่มสาวลุ่มแม่น้ำโขงออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอาเซียน เข้ามาร่วมสร้างกลไกในการแก้ปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากกรณีของนายพอละจี รักจงเจริญ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการวางรากฐานแห่งสิทธิมนุษยชนให้หยั่งรากผลิใบในภูมิภาคอาเซียนต่อไป
 
 
 
17 พ.ค. 2557 กลุ่มคนหนุ่มสาวลุ่มแม่น้ำโขงออกแถลงการณ์ "กรณีการหายตัวไปอย่างมีเงื่อนงำของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน" โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
แถลงการณ์จากกลุ่มคนหนุ่มสาวลุ่มแม่น้ำโขง
วันที่ 17 พฤษภาคม 2557
 
กรณีการหายตัวไปอย่างมีเงื่อนงำของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
 
เป็นเวลา 1 เดือนแล้ว หลังจากที่มีรายงานข่าวว่า “บิลลี่” หรือนายพอละจี รักจงเจริญ เยาวชนแกนนำสิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (หรือปกาเกอะญอ) แห่งบ้านบางกลอย และสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี หายตัวไประหว่างเดินทางออกจากบ้านเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 เพื่อลงมาเตรียมข้อมูลเรื่องคดีที่ชาวบ้านฟ้องร้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชต่อศาลปกครอง กรณีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเผาบ้าน ไร่นาและยุ้งข้าว เมื่อปี 2554
 
นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ออกมายอมรับกับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 21 เมษายน ว่าได้ควบคุมตัวบิลลี่ไว้เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตรวจพบน้ำผึ้งป่าในความครอบครอง แต่หลังจากว่ากล่าวตักเตือนก็ได้ปล่อยตัวไปด้วยเห็นว่าเป็นเพียงความผิดเล็กน้อย โดยหลังจากนั้นก็ไม่มีใครพบเห็นบิลลี่อีกเลย ต่อมาเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2557 ศาลจังหวัดเพชรบุรีนัดไต่สวนนายชัยวัฒน์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวเพื่อพิจารณาว่าบิลลี่หายตัวไประหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่หรือไม่ และล่าสุดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม มีคำสั่งย้ายนายชัยวัฒน์ออกจากพื้นที่เป็นเวลา 1 เดือนเพื่อเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าครอบครัวและญาติมิตรของบิลลี่ต้องออกมาดำเนินการเรียกร้องและร้องเรียนหลายต่อหลายครั้ง กว่ากระบวนการในการตามหาตัวบิลลี่อย่างจริงจังและเคร่งครัดจะเกิดขึ้น ซึ่งเวลาก็ล่วงเลยมาค่อนข้างมาก อาจส่งผลต่อสวัสดิภาพของตัวบิลลี่เองและกระทบโดยตรงต่อสภาพจิตใจ รวมถึงการดำเนินชีวิตประจำวันของคนในครอบครัวและชาวบ้านคนอื่น ๆ ในพื้นที่ แต่จนถึงบัดนี้ การสืบสวนสอบสวนและตามหาตัวบิลลี่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ 
 
พวกเรากลุ่มคนหนุ่มสาวลุ่มน้ำโขง เป็นกลุ่มที่ก่อตั้งขึ้นมาอย่างอิสระบนความแตกต่างหลากหลายของคนหนุ่มสาวกลุ่มต่าง ๆ ใน 5 ประเทศอาเซียน ได้แก่ ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม และพม่า ด้วยความห่วงใยต่อสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อนักกิจกรรมที่มีบทบาทช่วยเหลือสังคม ซึ่งส่งผลกระทบต่อความคิด ความเชื่อ ความศรัทธาของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในการสืบทอดงานภาคสังคมต่อไปในอนาคต พวกเรารู้สึกสะเทือนใจอย่างยิ่งต่อการหายตัวไปของบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ เพราะ “บิลลี่” ถือเป็นแกนนำคนรุ่นใหม่ที่เป็นเรี่ยวแรงสำคัญของบ้านบางกลอย ชาติพันธุ์กะเหรี่ยงดั่งเดิมที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐเรื่องคนกับป่าซึ่งมีปัญหายืดเยื้อยาวนาน จนกระทั่งปี 2554 พวกเขาถูกอพยพโยกย้ายลงมาจากบ้านเกิดใน “ใจแผ่นดิน” นำไปสู่การฟ้องร้องเป็นคดีความโดยมีคู่กรณีคือเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ยิ่งไปกว่านั้น พวกเราเห็นว่ากรณีการหายตัวไปของบิลลี่จะทวีความขัดแย้งและนำมาซึ่งความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนทั่วไปต่อกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ร่วมกับป่า
 
พวกเรากลุ่มคนหนุ่มสาวลุ่มแม่น้ำโขงขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน ด้วยความจริงจังและจริงใจตามข้อเรียกร้องของครอบครัวของนายพอละจี รักจงเจริญ ชาวบ้านบางกลอย เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม (KNCE) เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) ร่วมกับองค์กรภาคีและเครือข่ายภาคประชาชนทั้ง 3 ข้อและที่มีเพิ่มเติมดังนี้
 
1. ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเร่งดำเนินการสอบสวนหาผู้กระทำผิดและตามหาตัวนายพอละจี รักจงเจริญให้พบโดยเร็วที่สุด
 
2. ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดูแลคุ้มครองครอบครัวของนายพอละจี รักจงเจริญ และผู้นำชุมชนในพื้นที่ระหว่างดำเนินการสอบสวนหาความจริง
 
3. ขอให้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีคำสั่งให้นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานย้ายออกจากพื้นที่ตลอดระยะเวลาที่ยังไม่มีความคืบหน้าของกรณีการหายตัวไปของบิลลี่  เพื่อให้การสอบสวนเป็นไปอย่างเป็นธรรม โปร่งใสและลดความหวาดกลัวของคนในพื้นที่ และ
 
4. ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอาเซียน เข้ามาร่วมสร้างกลไกในการแก้ปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากกรณีของนายพอละจี รักจงเจริญ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการวางรากฐานแห่งสิทธิมนุษยชนให้หยั่งรากผลิใบในภูมิภาคอาเซียนต่อไป
 
เราเชื่อว่าการจะสร้างประชาคมอาเซียนให้ได้อย่างที่มีการประกาศความร่วมมือไว้นั้น รัฐจำเป็นที่จะต้องสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนของตนเอง ว่าเรามีความพร้อมจริง ๆ ที่จะสร้างชุมชนเพื่อจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขฉันท์พี่น้อง ภายใต้การเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์บนความแตกต่างหลากหลายของแต่ละคน
 
สิทธิมนุษยชนจะต้องถูกยกระดับให้เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรตระหนัก และเป็นเรื่องสากลที่เราต้องร่วมมือกันเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกระดับลงมือปฏิบัติการอย่างจริงจัง เพื่อสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นในภูมิภาค โดยมีคนหนุ่มสาวเป็นพลังสำคัญในการผลักดันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว หากปัญหานี้ไม่ได้รับการสอบสวนและคลี่คลายให้กระจ่างในเวลาอันสมควร  พวกเราจะไม่หยุดเคลื่อนไหวเพื่อค้นหาความจริงและเรียกร้องความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับบิลลี่และครอบครัว
 
ขอแสดงความนับถือ
กลุ่มคนหนุ่มสาวลุ่มแม่น้ำโขง
 
 
 
 
เกี่ยวกับกลุ่มคนหนุ่มสาวลุ่มน้ำโขง
 
อนึ่งกลุ่มคนหนุ่มสาวลุ่มน้ำโขง เป็นกลุ่มที่ก่อตั้งขึ้นมาอย่างอิสระบนความแตกต่างหลากหลายของคนหนุ่มสาวกลุ่มต่าง ๆ ใน 5 ประเทศอาเซียน ได้แก่ ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม และพม่า ด้วยความห่วงใยต่อสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะการถูกทำให้หายไปโดยเจ้าหน้าที่รัฐ (Enforced Disappearance) ของนักกิจกรรมที่มีบทบาทช่วยเหลือสังคม ซึ่งส่งผลกระทบต่อความคิด ความเชื่อ ความศรัทธาของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในการสืบทอดงานภาคสังคมต่อไปในอนาคต กลุ่มจึงได้เริ่มทำงานรณรงค์เรื่องสันติภาพในลุ่มน้ำโขงขึ้นภายใต้โครงการ “มองไปไกลกว่าสมบัด สมพอน” (Sombath Somphone and Beyond Project) หลังการหายตัวไปของสมบัด สมพอน นักพัฒนาอาวุโสชาวลาว เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2555
 
สมชาย-สมบัด-บิลลี่ สิ่งที่เหมือนกันของ 3 กรณีสำคัญ คือทั้งสามคนถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐก่อนจะหายตัวไป!
 
12 มีนาคม 2547: ทนายสมชาย นีละไพจิตร ถูกทำให้หายไปโดยมีประจักษ์พยานเห็นเหตุการณ์ในช่วงเวลาสองทุ่มครึ่งบริเวณถนนรามคำแหง 65 หน้าร้านแม่ลาปลาเผาว่าเห็นรถของทนายสมชาย นีละไพจิตร มาจอดและมีรถเก๋งสีดำอีกคันมาจอดต่อท้ายทนายสมชายเดินลงจากรถมาพูดคุยกับพ.ต.ต.เงิน ทองสุก และพรรคพวกอีกรวม 3 – 5 คน และพยานเห็นพ.ต.ต.เงิน ทองสุกผลักนายสมชายขึ้นรถแล้วขับออกไป ส่วนรถที่ทนายสมชายขับมานั้นถูกพรรคพวกของพ.ต.ต.เงิน ทองสุกอีกคนหนึ่งขับออกไปจอดทิ้งไว้บริเวณใกล้สถานีขนส่งหมอชิต ในกระบวนการสืบสวนคดีนี้มีเพียงประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์และบันทึกการโทรศัพท์เข้าออกของพ.ต.ต. เงินและพรรคพวกในคืนเกิดเหตุ จนได้ตัวพ.ต.ต.เงินและพรรคพวกรวม 5 คนมาเป็นจำเลย
 
15 ธันวาคม 2555: ลุงบัด หรือสมบัด สมพอน ถูกทำให้หายไปโดยมีหลักฐานจากกล้องวงจรปิดในช่วงเวลาค่ำให้เห็นภาพที่สมบัดถูกเรียกให้หยุดโดยตำรวจจราจรบนถนนท่าเดือในกรุงเวียงจันทน์ ก่อนถูกนำตัวไปโดยกลุ่มชายฉกรรจ์กลุ่มหนึ่งด้วยรถกระบะส่วนรถของสมบัดถูกชายฉกรรจ์อีกคนหนึ่งขับออกไป แม้ว่ากลุ่มภาคประชาสังคม รัฐบาลอาเซียนและนานาชาตินำภาพที่บันทึกได้นั้นมาใช้เป็นหลักฐานสำคัญในการตั้งคำถามต่อรัฐบาลลาว และทวงถามการสืบสวนแต่จนถึงวันนี้ กว่า 1 ปีผ่านไป รัฐบาลลาวกลับนิ่งเฉยต่อข้อเรียกร้องจากนานาประเทศ
 
17 เมษายน 2557: บิลลี่ หรือนายพอละจี รักจงเจริญ เวลา 10.00 น. ออกเดินทางจากหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอยเข้าสู่ตัวเมืองอำเภอแก่งกระจาน เวลา 14.00 น. ชาวบ้านได้ทราบข่าวอย่างไม่เป็นทางการว่าเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจับกุมและนำตัวบิลลี่ไปสอบสวนโดยยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน วันต่อมาได้ออกตามหาและไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน แต่ก็ยังไม่พบร่องรอยจนกระทั่งในวันที่ 21 เมษายน 2557 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนยอมรับว่าได้จับตัวบิลลี่ไปจริง เพราะได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่าจับกุมผู้บุกรุกป่าและพบของกลางเป็นน้ำผึ้งจำนวนหนึ่ง จึงมารับตัวไปเพื่อสอบสวนและตักเตือน ต่อมาได้ปล่อยตัวไปที่แยกหนองมะข้าและหลังจากนั้นก็ไม่ได้รับข่าวจากบิลลี่อีกเลย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net