สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: กรุงเทพฯเมืองหนังสือโลก

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 

เมื่อวันที่ 23 เมษายน ที่ผ่านมา โครงการ”กรุงเทพฯเมืองหนังโลก”ได้ปิดตัวลงอย่างเงียบงัน โดยมีสื่อมวลชนเพียงไม่กี่ฉบับที่เสนอข่าวนี้ ทั้งที่โครงการนี้เคยเป็นโครงการที่เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ เป็นโครงการด้วยความภูมิใจของผู้ว่าการ กทม. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร และเป็นโครงการที่ใช้เงินงบประมาณไปราว 1,400 ล้านบาท โครงการนี้จบด้วยการมอบ'หนังสือทองคำ' และส่งต่อ 'เมืองหนังสือโลก'ไปยังเมืองพอร์ต ฮาร์คอร์ต ประเทศไนจีเรีย โดยมีคณะของรองผู้ว่าราชการ กทม.เดินทางไปมอบงาน ซึ่งมีคณะหุ่นกระบอกโจหลุย และกวีซีไรต์ 3 ราย ได้แก่ ศักดิ์สิริ มีสมสืบ จิระนันท์ พิตรปรีชา และ ซะการีย์ยา อมตยา เดินทางไปร่วมงานส่งมอบที่ประเทศไนจีเรียด้วย

ทั้งนี้ โครงการเมืองหนังสือโลกเป็นโครงการริเริ่มขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ที่กำหนดให้วันที่ 23 เมษายนของทุกปี เป็นวันหนังสือและลิขสิทธิ์โลก (World Book and Copy right Day) ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2539 ด้วยเหตุผลที่ว่า หนังสือ คือ สิ่งที่มีพลังอำนาจสูงสุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการกระจายความรู้และรักษาไว้ซึ่งความรู้นั้นๆ เพื่อมนุษยชาติ ยูเนสโกจึงต้องการให้ทั่วโลกส่งเสริมให้เกิดการอ่าน การจัดพิมพ์หนังสือ และการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาผ่านความคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์

จากนั้น ต่อมา ใน พ.ศ.2544 ยูเนสโกก็ร่วมกับสมาพันธ์ผู้จัดพิมพ์นานาชาติ สมาพันธ์ผู้จัดจำหน่ายหนังสือนานาชาติ และองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้องจัดให้มีโครงการ“เมืองหนังสือโลก”(World Book Capital)เพื่อกระตุ้นให้เกิดการอ่านหนังสือมากขึ้นทั่วโลก แล้วเชิญชวนประเทศสมาชิกให้เสนอโครงการเป็นเจ้าภาพ โดยในการเสนอตัวนั้น ผู้เสนอต้องระบุให้ชัดเจนว่า จะดำเนินการส่งเสริมการอ่านหนังสืออย่างกว้างขวางด้วยวิธีใด และเมื่อได้รับเลือกแล้ว จะต้องเริ่มต้นงานตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน ซึ่งเป็น “วันหนังสือและลิขสิทธิ์โลก” ไปตลอดทั้งปี จนถึงวันที่ 22 เมษายนปีถัดไป จึงจะส่งมอบไปยังเมือง ที่ได้รับการคัดเลือกล่วงหน้าไว้แล้ว

เมืองแรกที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเมืองหลวงของหนังสือก็คือกรุงมาดริด ของสเปน ต่อจากนั้น ได้แก่เมืองอเล็กซานเดรียของอียิปต์ นิวเดลีของอินเดีย อันต์เวิร์ปของเบลเยียม อัมสเตอร์ดัมของเนเธอร์แลนด์ เบรุตของเลบานอน ลูบลิยานาของสโลวีเนีย บัวโนสไอเรสของอาร์เจนตินา เยเรวานของอาร์เมเนีย และ กรุงเทพมหานครที่ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพเมื่อ พ.ศ.2556

ในงานเปิดตัวโครงการเมื่อ 21-23 เมษายน พ.ศ.2556 ได้มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ มีการจัดนิทรรศการเป็น 16 โซน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้เสด็จมากเป็นประธานในงาน จึงได้มีการจัดโซนสวนอักษรสมเด็จพระเทพรัตน์ เพื่อให้ประชาชนได้ชื่นชมผลงานของพระองค์ และไฮไลต์ คือ “นิทรรศการกลางใจราษฎร์ : หกทศวรรษแห่งการทรงงาน” และเปิดตัวหนังสือ “กลางใจราษฎร์” ของบริษัท เอเชียบุ๊คส์ และในงานนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ได้อธิบายเป้าหมายโครงการว่า กรุงเทพมหานครมีนโยบายที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น โดยการส่งเสริมการและสนับสนุนให้ประชาชนมีนิสัยรักการอ่าน ค้นคว้าความรู้ เพื่อสร้างวัฒนธรรมรักการอ่านให้เกิดขึ้นในทุกภาคส่วนของสังคมไทย อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น กทม.จะจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนชาวกรุงเทพฯ เห็นความสำคัญของการอ่าน ไม่ว่าจะเป็นการอ่านผ่านหนังสือ สื่อออนไลน์ และสื่อดิจิตอล ตลอดจนสื่ออื่นๆ ในอนาคต อีกทั้ง กทม.จะจัดสร้างห้องสมุดชุมชนและบ้านหนังสือเพิ่มเติม รวมถึงปรับปรุงที่มีอยู่เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการอ่านและเรียนรู้ภูมิปัญญาให้มากที่สุด นอกจากนี้ กทม.จะจัดสร้างพิพิธภัณฑ์การ์ตูน และพิพิธภัณฑ์และหอสมุดของเมือง ซึ่งเป็นพันธกิจที่ กทม.ได้สัญญาไว้กับยูเนสโกอีกด้วย โดยมีการตั้งเป้าไว้ให้คนกรุงเทพฯอ่านหนังสือเฉลี่ย 15 เล่มต่อปีต่อคน และทำให้กรุงเทพฯเป็นมหานครและการอ่านอย่างจริงจังและยั่งยืน

แต่กระนั้น โครงการดังกล่าว ก็ได้ถูกตั้งคำถามในข้อสำคัญมาตั้งแต่แรก เช่น ในเรื่องการรณรงค์ให้คนอ่านหนังสือแต่ไม่ได้กล่าวถึงในเชิงคุณภาพว่า จะส่งเสริมการอ่านหนังสือประเภทไหน อย่างไร เพราะหนังสือประเภทไร้สาระ มอมเมาประชาชนให้ลุ่มหลงงมงายอยู่ในเรื่องอันไม่เป็นแก่นสารก็มีอยู่ไม่น้อย การอ่านจึงไม่ใช่บทสรุปแทนความเป็นคนฉลาดหรือมีความรู้ โดยอ่านอะไรก็ได้ แต่จะต้องเป็นการอ่านเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กว้าง ให้ลึก ฝึกให้คิด ฝึกให้เข้าใจ ซึ่งจะเป็นการพัฒนามนุษย์ พัฒนาสังคมอย่างแท้จริง แต่เป็นไปได้หรือไม่ว่า สังคมไทยไม่ได้ต้องการให้คนอ่านคิดรอบด้าน หรือคิดเป็น แต่อยากให้อ่านแล้วคิดด้านเดียว จะได้คงลักษณะแห่งความเป็น”ตอแหลแลนด์”เอาไว้

แต่ที่ยิ่งกว่านั้น แม้กระทั่งการส่งเสริมการอ่านตามเป้าหมายก็ตาม ก็ไม่เป็นที่ชัดเจนว่า กทม.มีกลไกหรือมีวิธีการรณรงค์ในลักษณะใด ที่จะบรรลุเป้าหมายให้เยาวชนในกรุงเทพฯอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้น จนส่งผลรูปธรรมที่จะทำให้เมืองอื่นมาศึกษาแบบอย่างให้การอ่านหนังสือขยายตัวออกไป วิธีการทั่วไปที่ใช้ก็คือ การจัดซื้อจัดจ้าง โดยให้มีบริษัทธุรกิจเข้ามารับช่วงเสนอโครงการ แล้วรับงานไปทำ ดังมีหลักฐานว่า บริษัทหนึ่งที่รับงานโครงการใหญ่ไปดำเนินงาน คือ ดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด ซึ่งจะนำมามาสู่การจัดงานนิทรรศการ และงานส่งเสริมการอ่าน จนเกิดข้อวิจารณ์ต่อมาว่า โครงการเมืองหนังสือ กลายเป็นแค่งานอีเวนต์ ยิ่งกว่าที่จะทำให้คนอ่านหนังสือจริงจัง และยังไม่เห็นชัดด้วยซ้ำว่า มีการส่งเสริมการเขียนหนังสือใหม่ หรือการพิมพ์หนังสือที่มีคุณภาพให้มากขึ้น เพื่อมาสร้างปัญญาให้แก่ผู้อ่าน

ต่อมา เมื่อสิ้นสุดโครงการ ก็ยิ่งมีคำถามตามมาว่า โครงการประสบความสำเร็จเพียงใดในการที่จะทำให้ประชาชนชาว กทม.อ่านหนังสือมากขึ้น หรือทำให้กรุงเทพฯเป็นเมืองแห่งการอ่านจริง ประชาชนกรุงเทพทั่วไปมีปฏิสัมพันธ์ และรับรู้ หรือถูกกระตุ้นให้อ่านมากขึ้นเพราะโครงการนี้หรือไม่ หรือจะเป็นคำถามที่ง่ายกว่านั้นว่าคนกรุงเทพฯเอง และคนไทยส่วนใหญ่รู้หรือยังว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองหนังสือโลก และสิ้นสุดภารกิจไปแล้ว และมีการใช้จ่ายเงินในโครงการถึง 1.400 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาเรื่องนี้แล้ว อยากจะลองตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมย้ำจากเรื่องกรุงเทพเมืองหนังสือว่า ปัญหาเรื่องการอ่าน หรือการแสวงหาความรู้ในสังคมไทย ไม่น่าจะเป็นเพียงแต่เรื่องการอ่านหนังสือน้อย แต่เป็นการอ่านหนังสือแล้วไม่สร้างระบบคิดให้เป็นเหตุเป็นผล และเป็นไปตามกรอบของสังคมชนชั้น ตัวอย่างคือ นักอ่านหนังสือกฎหมายจำนวนมาก อ่านหนังสือแล้วกลายเป็นตุลาการศรีธนญชัย แปลงกฎหมายตามใจชอบ รับใช้ชนชั้นนำ นักเขียนนักกลอนกวีทั้งหลายที่อ่านหนังสือจำนวนมาก จนเป็นถึงกวีซีไรท์ กลายเป็นนักกลอน กวีฝ่ายขวา ร่ายกลอนเพื่อรักษาสถานะเดิมของสังคม ตำหนิดูแคลนประชาชน มุ่งทำลายล้างประชาธิปไตย รับใช้อภิสิทธิชน ลักษณะของปัญหาวัฒนธรรม และความคิดอย่างนี้ คงจะแก้ไขไม่ได้ด้วยการส่งเสริมการอ่านเพียงอย่างเดียว

นี่น่าจะเป็นลักษณะพิเศษของเมืองหนังสือโลกในตอแหลแลนด์ ที่เมืองอื่นเลียนแบบได้ยาก

 

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 463 วันที่ 10 พฤษภาคม 2557

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท