Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

                                                                                               

กว่า 25 ชั่วโมงที่ทีวีทุกบ้านต้องฟังเพลงปลุกใจของทุกเหล่าทัพ ภายหลังพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้อำนวยการ กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ตัดสินใจยึดอำนาจอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลรักษาการณ์ ก่อนที่ฟรีทีวีจะตัดสู่รายการละครตามปกติ

หลายคนน่าจะฮัมกระทั่งร้องเพลงเหล่านั้นได้บ้างแล้ว แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าเพลงเหล่าคือเพลงอะไร  เราขอทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลของเพลงเหล่านั้นมาเสนอให้ท่านได้ทราบทั่วกัน เพื่อความบันเทิงในชีวิตประจำวัน

เริ่มต้นด้วยคอมโบเซ็ต เพลงมาร์ชของ 4 เหล่าทัพ คอมโบเซ็ทชุดนี้อาจจะเป็นที่คุ้นเคยสำหรับชายไทยผู้ต้องเข้ารับการเกณฑ์รับใช้ชาติเป็นพิเศษมากกว่าบทเพลงอื่นๆ เพราะเป็นเพลงมาร์ซประจำของแต่ละกองทัพ (ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และตำรวจ) สำหรับเยาวชนชายไทยอายุไม่ถึงยี่สิบปีอาจจะยังไม่คุ้นสักเท่าไร แต่แนะนำให้ฟังไว้ตั้งแต่ต้นถ้าได้มีโอกาสเข้าไปรับใช้ชาติ จะได้ร้องแรกมาร์ซกองทัพได้เป็นคนแรก

ในคอมโบเซ็ตชุดถัดมาคือ ชุดรวมบทเพลงพระราชนิพนธ์ ประกอบด้วย "ความฝันอันสูงสุด" ซึ่งมาพร้อมเสียงอันทรงพลังของ เรือตรีไพศาล ลุนเผ่ หรือที่รู้จักกันในนาม สันติ ลุนเผ่ เพลงนี้เป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 43 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2514                                                                                         

บทเพลงนี้มีที่มาจาก ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ซึ่งได้รับพระราชเสาวนีย์จากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ให้เขียนบทกลอนแสดงความนิยมส่งเสริมคนดีให้มีกำลังใจทำงานเพื่ออุดมคติเพื่อประเทศชาติ ออกมาเป็นกลอน 5 บท เมื่อปี พ.ศ.2512 โดยถอดความมาจากเพลง The Impossible Dream ซึ่งเป็นเพลงละครบรอดเวย์ มาจากเรื่อง Man of La Mancha แสดงระหว่างปี 2508-2514 บทละครเขียนโดย Dale Wasserman ทำนองเพลงโดย Mitch Leigh และคำร้องโดย Joe Darion ต่อมาได้รับการสร้างเป็นหนังในปี 2515 เป็นเรื่องราวของดอน กิโฮเต้                                                   

จากนั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถโปรดให้พิมพ์บทกลอนนี้ลงในกระดาษการ์ดแผ่นเล็ก ๆ พระราชทานแก่ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน และผู้ทำงานเพื่อประเทศชาติ เตือนสติมิให้ท้อถอยในการทำความดี ต่อมา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใส่ทำนองเพลงในคำกลอน "ความฝันอันสูงสุด" ใน พ.ศ. 2514        

หลายท่านคงระลึกถึงได้ทันทีเมื่อได้ยินเพลงนี้ ว่าภารกิจของ “คนดี” ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว เนื้อเพลงที่ประทับตราตรึงอยู่ห้วงสำนึกของคนไทยนั้น เห็นจะหนีไม่พ้นเนื้อเพลงท่อนที่ว่า 

“…จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด   จะรักชาติจนชีวิตเป็นผุยผง    จะยอมตายหมายให้เกียรติดำรง   จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา…”                                                                                               

นอกจากนี้ในชุดบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่ถูกเปิดขึ้นโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ยังมีอีกหลายบทเพลงเช่น “เราสู้”  “ไกลกังวล”(เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย) “สยามมานุสติ”  และอีกหลายบทเพลง                                                       

“เราสู้”  เป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์ เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 44 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ.2516 ซึ่งมีที่มาจากกลอนสุภาพ 4 บท ที่นายสมภพ จันทรประภา ได้ประพันธ์จากพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่สมาชิกสภานิติบัญญัติที่เข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน มาเขียนเป็นคำกลอนถวาย        

เมื่อทรงเกิดแรงบันดาลพระราชหฤทัย ที่จะทรงพระราชนิพนธ์เพลง "เราสู้" พระราชทานให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ทหาร อาสาสมัครและตำรวจชายแดน ในปี 2517 ซึ่งแนวคิดสังคมนิยมกำลังเฟื่องฟูในหมู่นักศึกษาปัญญาชน ขณะที่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เคยเขียนบทความชี้ให้เห็นว่าเพลงนี้ถูกแต่งขึ้นราวปี 2518-19 ซึ่งเป็นภาวะตึงเครียดทางการเมืองก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ เนื้อหาในเพลงนี้ประกาศชัดว่า เราจะสู้ และวันนี้กลับถูกนำมาใช้ในช่วงเวลาที่ฝ่ายทหารต้องการทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย…. ท่อนหนึ่งในเนื้อเพลงที่ปลุกใจให้เราอยากออกไปทำลายอะไรก็ตามที่ถูกมองว่าเป็นศัตรูยังคงทรงพลังไม่เปลี่ยนแปลง

 “…ถึงขู่ฆ่าล้างโคตรก็ไม่หวั่น จะสู้กันไม่หลบหนีหาย สู้ตรงนี้สู้ที่นี่สู้จนตาย ถึงเป็นคนสุดท้ายก็ลองดู…”

“ไกลกังวล” (เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย) เป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 26 ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงประพันธ์เมื่อ พ.ศ.2500 เพื่อพระราชทานให้เป็นเพลงประจำวงดนตรี "อ.ส.วันศุกร์" ใช้บรรเลงเป็นเพลงสุดท้ายก่อนเลิกเล่นดนตรี                        

ต่อมา พ.ศ. 2518 บ้านเมืองอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค แต่งคำร้องภาษาไทย "เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย" เพื่อปลุกจิตสำนึกให้คนไทยรักและหวงแหนแผ่นดินไทย เมื่อเปรียบเทียบเนื้อเพลงทั้งสองพบว่ามีเนื้อหาที่แตกต่างกันมาก

อยู่ไกลกังวลชนม์ชื่นฉ่ำ     หาดทรายและน้ำนำไกลเศร้า  
ไม่มีหาดไหนงามเทียมเท่า คลื่นครวญคลอเคล้าวอนรักฝั่ง                            
ค่ำคืนไม่เหงาเราเริงสุข    ไม่มีความทุกข์ใดมาบัง   
ได้ยินแต่เสียงดนตรียัง    สนุกกันทั้งยามค่ำคืน.
รุ่งอรุณแล้วฟ้าเรืองเรื่อ    แต่ใจยังเหลือความเริงรื่น   
สนุกจริงหนอคลอเสียงคลื่น    โต้ลมฉ่ำชื้นยามพลิ้วผ่าน.
โน่นเดือนยังค้างฟ้าลอยเด่น   แต่เราไม่เว้นความสำราญ   
แข่งกันคอยรับทิวาวาร     สนุกสนานกันเถิดเอย
                                                                             "ไกลกังวล”
 

เกิดเป็นไทยแล้วใจต้องสู้    ถิ่นไทยเรารู้เรารักยิ่ง  ศัตรูหน้าไหนไม่เกรงกริ่ง   หากมาช่วงชิงตายเสียเถิด.
เผ่าไทยเดิมล้วนคนใจเด็ด   แกร่งดังเหล็กเพชรชูชาติเชิด   ต่างรักษาไว้แดนกำเนิด    เกิดเป็นไทยแล้วจำใส่ใจ
ปกครองรักษาทำหน้าที่    ห่วงเมืองไทยนี้ให้ยิ่งใหญ่    สิ้นเมืองไทยแล้วใครอยู่ได้   ชาติไทยคงไร้ความเสรี.
เผ่าไทยเราพร้อมอาสาสมัคร    เด็ดเดี่ยวยิ่งนักยอมชีพพลี   เสี่ยงภัยทั้งผองปองความดี  ปกป้องปฐพีตายเพื่อไทย
                                                                                                                         “เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย”

 

 

อย่างไรก็ตามเวอร์ชั่นที่เราได้ฟังกันผ่านฟรีทีวีในเวลานี้ คือเนื้อเพลง “เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย” ซึ่งแน่นอนเป็นเพลงปลุกใจคนไทยให้สู้ สู้กับอะไรสักอย่างที่ถูกรับรู้ว่าเป็นศัตรูทำลายชาติ ภายใต้สถานการณ์ที่ต้องการความสงบ…..

“สยามมานุสติ” จัดได้ว่าเป็นบทเพลงที่มีอายุมากที่สุดเท่าที่เราได้ยิน บทเพลงนี้เป็นบทเพลงซึ่งมีที่มาจาก คำโคลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ไว้ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2461 และได้พระราชทานแก่ทหารอาสาสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ต่อมาได้มีการนำโคลงนี้มาแต่งเป็นเพลงปลุกใจ ซึ่งประพันธ์ทำนองโดยนารถ ถาวรบุตร                                                                                 

หลายท่านอย่าเพิ่งเข้าใจผิด เราไม่ได้นั่งไทม์แมชชีน กลับไปสู่สมัยสงครามโลกแต่อย่างใด เรายังอยู่ในยุคที่มีสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า “แท็บเล็ต”  และมีระบบอินเทอร์เน็ตที่เรียกว่า “ระบบ 3G” การฟังเพลงนี้ก็มีประโยชน์หลายอย่าง เช่น อาจทำให้นึกถึงความทรงจำร่วมของประเทศชาติในอดีต เพียงแต่ปัจจุบันกับอดีตเมื่อร้อยกว่าปีนั้นดูใกล้กันมาก หรือเราเดินวนในสนามเดินเล่น ยังเคยไม่ได้ออกไปวิ่งแข่งกับผู้ใหญ่คนอื่นเขาสักที

คอมโบเซ็ตชุดสุดท้าย เราขอตั้งชื่อว่า “เพลงแปลกที่หาฟังยาก” เพลงแรกที่ได้ยินแล้วคนรุ่นใหม่อาจตกใจ เฮ้ย! เพลงอะไรกัน เชื่อว่าหลายท่านก็คงสะดุดกับเนื้อเพลงท่อนหนึ่งที่ว่า “ไทยฆ่าไทยให้ชาติอื่นครอง วิญญาณปู่จะร้องไอ้ลูกหลานจัญไร วิญญาณปู่จะร้องไอ้ลูกหลานจัญไร” ฟังไปเหมือนกำลังถูกต่อว่า…

เมื่อตามไปค้นดูจึงทราบว่าชื่อเพลง “ถามคนไทย” ประพันธ์คำร้องและทำนองโดย สุรพล โทณะวณิก และขับร้องโดย สันติ ลุนเผ่ อีกเช่นเคย ท่านที่ติดตามฟังเพลงอยู่ตลอดเวลาอาจจะร้องได้แล้วทั้งที่ยังไม่รู้จักชื่อเพลงก็เป็นได้

สำหรับท่านที่ยังร้องตามไม่ได้ เรามีเนื้อเพลงมาฝาก เพื่อที่ท่านจะได้ไม่ตกกระแสสมัยนิยม ร้องเสร็จก็นุ่งโจงกระเบนไปกู้ชาติด้วยกัน

หัวใจถูกแทงกี่ขั้ว ตามตัวถูกฟันกี่แผล   ปู่ไทยตายไปกี่คนแน่ ไทยจึงได้แผ่มาถึงแหลมทอง
กระดูกไทยกระเด็นไปกี่ท่อน เชิงตะกอนเผาไปกี่หน   คอขาดกันไปกี่คน ไทยทุกคนจึงได้ไทยครอบครอง
เสียเลือดกันไปเท่าไหร่ เสียใจกันไปกี่ครั้ง น้ำตาของไทยไหลหลั่ง ทุกๆครั้งที่ถูกเฉือนขวานทอง
เข่นฆ่ากันทำไม เราเป็นคนไทยด้วยกันทั้งผอง  ไทยฆ่าไทย ให้ชาติอื่นครอง
วิญญาณปู่จะร้องไอ้ลูกหลานจัญไร  ไทยฆ่าไทยให้ชาติอื่นครอง
วิญญาณปู่จะร้องไอ้ลูกหลานจัญไร วิญญาณปู่จะร้องไอ้ลูกหลานจัญไร…..

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net