Skip to main content
sharethis

25 พ.ค.2557 กลุ่ม LAW PEACE ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาสาขาวิชาทางกฎหมาย ออกแถลงการณ์ประณามการทำรัฐประหาร รวมถึงประณามการกระทำต่างๆ อันละเมิดสิทธิอันชอบธรรมของประชาชน พร้อมเชิญชวนให้นักศึกษาทุกคนรวมถึงประชาชนทั่วไป ร่วมต้านรัฐประหารโดยสันติวิธี อีกทั้งขอเรียกร้องไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้รีบคืนอำนาจอธิปไตยสู่ปวงชนชาวไทยโดยผ่านกระบวนการเลือกตั้งหรือกระบวนการการลงประชามติที่ปราศจากการแทรกแซงไม่ว่าทางใดๆ ก็ตาม รวมทั้งนำรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมาบังคับใช้ให้เร็วที่สุดเท่าที่สามารถจะกระทำได้


แถลงการณ์
กลุ่ม LAW PEACE ฉบับที่ 1
เรื่อง คัดค้านการทำรัฐประหาร รวมถึงการกระทำต่างๆ อันละเมิดสิทธิอันชอบธรรมของประชาชน

เนื่องจากเหตุการณ์บ้านเมืองภายหลังการเตรียมออกกฎหมายนิรโทษกรรมที่นำโดยฝ่ายอดีตรัฐบาล ทำให้เกิดความเห็นที่แตกต่างเป็นอย่างมากจนกระทั่งเกิดการรวมตัวของประชาชนที่ต้องการคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่สามารถพึงกระทำได้ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ แต่ถึงอย่างไรก็ดีเมื่ออดีตรัฐบาลที่นำโดย น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มอบอำนาจอธิปไตยกลับมาคืนสู่ประชาชนผ่านกระบวนการการยุบสภาเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง  ก็เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายควรจะหันกลับมาสู่กระบวนการดังกล่าวเพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย โดยกระบวนการดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ก็เป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่จะต้องประคับประคองให้การเลือกตั้งเดินหน้าจนสำเร็จลุล่วงให้ได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตามแนวทางดังกล่าวได้ถูกบิดเบือนโดยนิติวิธีที่ร้ายแรงผ่านกระบวนการของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จนทำให้การเลือกตั้งที่ผ่านมาตกเป็นโมฆะก่อให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง จนกระทั่งฝ่ายทหารได้อาศัยช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายสับสนทางการเมืองเข้ามาประกาศกฎอัยการศึก  และท้ายที่สุดได้ประกาศยึดอำนาจตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ในนามของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญบางมาตรา โดยเฉพาะหมวด 3 อันเป็นหมวดที่ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย

จากเหตุการณ์ดังกล่าวทางกลุ่ม LAW PEACE  ในฐานะกลุ่มนักศึกษาสาขาวิชาทางกฎหมาย ได้เห็นถึงที่มาของปัญหา และกระบวนการ การแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้องของฝ่ายผู้ใช้อำนาจในปัจจุบัน ทางกลุ่มฯจึงขอคัดค้านกระบวนการ การทำรัฐประหาร รวมถึงการกระทำต่างๆอันละเมิดสิทธิอันชอบธรรมของประชาชน ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. การทำรัฐประหารเป็นกระบวนการทำลายหลักนิติรัฐและนิติธรรมอย่างร้ายแรงที่สุดที่มิอาจจะยินยอมได้ไม่ว่ากรณีใดๆก็ตาม  ซึ่งหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรมที่กล่าวมาข้างต้นนั้นต่างมีเป้าหมายที่จะจำกัดอำนาจของผู้ใช้อำนาจปกครองให้อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ทำให้ผู้ใช้อำนาจปกครองนั้นอยู่ในฐานะผู้ถูกจำกัดอำนาจโดยกรอบของกฎหมายนั่นเอง (limited government) หากไม่มีกฎหมายรองรับก็มิอาจจะกระทำตามอำเภอใจได้ แต่จากการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ตั้งตนเป็นผู้มีอำนาจในการตรากฎหมายหรือมีอำนาจในการระงับกระบวนการบังคับใช้กฎหมายเสียเอง  ส่งผลให้บรรดากฎหมายที่เคยมีมาไม่อาจจะประกันสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกชนได้อีกต่อไป ซึ่งหากฝ่ายผู้บังคับใช้กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ พนักงานอัยการ ตุลาการ หรือแม้แต่ทหารบังคับใช้กฎหมายที่ออกโดยคำสั่งของคณะรัฐประหารเพียงผิวเผินพิจารณาเพียงเนื้อหาของกฎหมายโดยมิสนใจถึงแก่นแท้ของตัวบทกฎหมายนั้นว่าจะถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่  ท้ายที่สุดหลักนิติรัฐและนิติธรรมที่พึงมีในรัฐเสรีประชาธิปไตยก็จะหายไปและกลายเป็นรัฐตำรวจในที่สุด

2. การประกาศคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลายคำสั่งเป็นการประกาศคำสั่งที่ทำให้กระบวนการพิจารณาคดีบิดเบี้ยวเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประกาศคำสั่งที่ 17 ซึ่งมีใจความว่าบรรดาความผิดที่เกิดจากการกระทำความผิดอันเกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 107 ถึง มาตรา 112  และความผิดที่เกี่ยวกับความมั่นคงตั้งแต่มาตรา 113 ถึงมาตรา 118 และรวมถึงความผิดเกี่ยวกับประกาศหรือคำสั่งที่ออกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้ผู้กระทำความผิดตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตการพิจารณาคดีของศาลทหาร ซึ่งกระบวนการพิจารณาคดีนั้นไม่ก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้กระทำความผิดหรือผู้ถูกกล่าวหาเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้กระทำความผิดหรือผู้ถูกกล่าวหาไม่มีสิทธิแต่งตั้งทนายเอง อีกทั้งองค์คณะของตุลาการก็ประกอบไปด้วย ตุลาการพระธรรมนูญ และตุลาการทหาร โดยเฉพาะตุลาการทหารนั้นมาโดยการแต่งตั้งจากนายทหารยศสัญญาบัตรขึ้นไปโดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านกฎหมายซึ่งอาจทำให้กระบวนการพิจารณาคดีมิอาจประกันถึงความเป็นธรรมและความถูกต้องในการวินิจฉัยอรรถคดีได้ และนอกจากนี้ยังมีประกาศอื่นๆ ที่กำหนดห้ามการกระทำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงข้อความหรือความคิดเห็นที่ก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม ซึ่งตามหลักแล้วไม่สามารถจะห้ามความคิดเห็นของ  ปัจเจกชนได้ เพราะในสังคมประชาธิปไตย ความเห็นต่างคือสิ่งที่เป็นจริง และเป็นสิ่งที่สวยงามที่พึงมีในรัฐเสรีต่างๆในโลกปัจจุบัน

3. การยกเลิกรัฐธรรมนูญบางมาตรา โดยเฉพาะหมวด 3 อันเป็นหมวดที่ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ทำให้การประกันสิทธิพื้นฐานของประชาชนได้หมดสิ้นไปด้วย ซึ่งการกระทำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองหรือการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไม่ได้รับการคุ้มครองภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญอีกต่อไป และเมื่อรัฐธรรมนูญมิได้ให้สิทธิดังกล่าวไว้  หากประชาชนได้กระทำสิ่งนั้นไป ฝ่ายผู้ใช้อำนาจปกครองย่อมมีอำนาจจับกุมคุมขังโดยมิพักต้องคำนึงว่าการกระทำดังกล่าวนั้นจะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพียงใด  เพราะไม่มีรัฐธรรมนูญให้สิทธิแก่ประชาชนอีกต่อไปแล้ว ดังจะเห็นได้จากการที่ฝ่ายทหารได้จับกุมคุมขังผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารจำนวนหลายคนในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาโดยที่ฝ่ายผู้บังคับใช้กฎหมายใช้เพียงดุลยพินิจของตนโดยมิพักต้องคำนึงถึงกฎหมายใดๆที่เคยมีมาก่อนเลย

จากเหตุผลที่ได้กล่าวมาข้างต้นทางกลุ่ม LAW PEACE ในฐานะกลุ่มนักศึกษาสาขาวิชาทางกฎหมายจึงขอประณามการทำรัฐประหาร รวมถึงประณามการกระทำต่างๆ อันละเมิดสิทธิอันชอบธรรมของประชาชน และขอเชิญชวนให้บรรดานักศึกษาทุกคนทุกฝ่ายรวมถึงประชาชนโดยทั่วไป ร่วมกันต่อต้านการรัฐประหารโดยสันติวิธี อีกทั้งขอเรียกร้องไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้รีบคืนอำนาจอธิปไตยสู่ปวงชนชาวไทยโดยผ่านกระบวนการเลือกตั้งหรือกระบวนการการลงประชามติที่ปราศจากการแทรกแซงไม่ว่าทางใดๆ ก็ตาม รวมทั้งนำรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมาบังคับใช้ให้เร็วที่สุดเท่าที่สามารถจะกระทำได้

LAW PEACE
26 พฤษภาคม 2557

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net