Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
หลังจากการรัฐประหารล่าสุดในไทย มีการควบคุมอย่างเข้มงวดต่อเสรีภาพด้านการพูด การรวมตัว และเสรีภาพทางวิชาการ ในขณะนี้ทางเผด็จการทหารไทยยังพยายามขยายการควบคุมข้ามายังต่างประเทศอีกด้วย
 
เผด็จการทหารไทยได้ควบคุมสื่อวิทยุและโทรทัศน์และสื่อสิ่งพิมพ์ พยายามเซ็นเซอร์สื่อสังคมออนไลน์ พร้อม ๆ กับปราบปรามการประท้วงต่อต้านรัฐประหาร ที่น่าตกใจคือได้สั่งให้ผู้สื่อข่าวและนักวิชาการไป “รายงานตัว” กับตน พวกเขายังควบคุมตัวบุคคลเหล่านี้ไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอกโดยไม่มีเวลากำหนด และประกาศว่าจะปล่อยตัวหากมีการลงนามในข้อสัญญาว่าจะต้องควบคุมการแสดงออกด้วยการพูดและการกระทำ 
 
บรรดาผู้สังเกตการณ์และคนไทยที่อยู่ต่างแดนจึงรู้สึกตกใจอย่างมากกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ พวกเขาต้องการทราบว่าเหตุใดจึงเกิดสิ่งนี้ขึ้น และจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป เป็นเหตุให้ผมร่วมจัดรายการอภิปรายที่มหาวิทยาลัย School of Oriental and African Studies (SOAS) เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน โดยจัดร่วมกับสยามสมาคมของมหาวิทยาลัย ผู้อภิปรายประกอบด้วยนักกฎหมายไทยที่มีชื่อเสียงอย่างนายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคลที่ทหาร “เรียกตัว” และDr. Carlo Bonura อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสถาบันเดียวกับผม
 
ผมจึงรู้สึกรังเกียจ รวมทั้งประหลาดใจ เมื่อทราบว่าทางสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอนได้กดดันทางสยามสมาคมของมหาวิทยาลัย SOAS ให้ยกเลิกรายการนี้ โดยระบุว่า “การจัดกิจกรรมในช่วงเวลานี้ไม่มีความเหมาะสม” เป็นที่ชัดเจนว่า พวกเขาขัดขวางไม่ให้นายวีรพัฒน์เข้าร่วมรายการนี้ เพราะเขาเป็นอดีตที่ปรึกษาของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย แม้ว่าเขาจะวิพากษ์วิจารณ์พรรคเพื่อไทยเช่นกัน
 
เป็นเรื่องน่าเศร้าใจที่มากดดันนักศึกษาเช่นนี้ นักศึกษาไทยหลายคนในอังกฤษมาเล่าเรียนด้วยทุนจากรัฐบาลไทย และทางสยามสมาคมได้อาศัยความสัมพันธ์ที่ดีกับสถานเอกอัครราชทูตในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ บางทีทางสถานทูตอาจไม่ได้คาดหวังว่าสิ่งที่เรียกร้องจะได้รับการตอบสนองมากนัก เพียงแต่ปฏิบัติหน้าที่ขัดขวางการจัดกิจกรรมเพื่อหวังเอาใจเจ้านายคนใหม่ที่กรุงเทพฯ แต่สำหรับนักศึกษาเหล่านี้ พวกเขารู้สึกลำบากใจกับแรงกดดันจากสถานทูตไทย เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง ข้อเรียกร้องของสถานทูตส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลอย่างมากต่อชุมชนไทยที่อยู่ต่างแดน 
 
ทางสยามสมาคม SOAS และผมตัดสินใจเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของสถานทูตให้ยกเลิกการจัดกิจกรรม เนื่องจากเสรีภาพทางวิชาการเป็นหมุดหมายสำคัญของชีวิตในสถาบันอุดมศึกษา และเป็นคุณูปการสำคัญของสถาบันอุดมศึกษาที่มีต่อสังคมสมัยใหม่ หมายถึงสิทธิอย่างเบ็ดเสร็จที่จะทำการตรวจสอบเรื่องราวต่าง ๆ โดยปราศจากความกลัวหรืออคติ โดยเฉพาะในช่วงเวลาเช่นนี้ มหาวิทยาลัยต้องให้พื้นที่เพื่อการทบทวนอย่างมีความรู้ การพูดคุยอย่างมีอารยะ และการอภิปรายถกเถียงอย่างเสรี การจัดกิจกรรมเช่นนี้เท่านั้นจึงจะช่วยให้เกิดแนวคิดซึ่งชี้นำสังคมต่อไป 
 
ในทางตรงข้าม รัฐประหารของไทยทำให้สังคมย้อนหลังกลับไปในอดีตกาล รัฐประหารครั้งนี้เป็นผลมาจากวิกฤตด้านสังคม-การเมืองที่ลึกซึ้งและยืดเยื้อมาครบทศวรรษแล้ว ครั้งสุดท้ายที่ทหารยึดอำนาจในปี 2549 พวกเขาก็ไม่สามารถแก้ไขวิกฤตที่เกิดขึ้นได้เลย แม้จะมีการฉ้อฉลจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ แต่พวกเขาก็ไม่สามารถขจัดอำนาจของ “กลุ่มคนเสื้อแดง” ซึ่งมีตัวแทนเป็นพรรคเพื่อไทย (ในอดีตเป็นพรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชน) เมื่อกลับสู่วิถีทางประชาธิปไตย ปรากฏว่าคนกลุ่มเหล่านี้ก็ได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามาใหม่ และได้ชนะการเลือกตั้งทุกครั้งตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา ในทำนองเดียวกันตอนที่ทหารเข้ามาชักใยการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเมื่อปี 2551 รัฐบาลใหม่ก็อยู่ได้ไม่นาน และจบลงด้วยการสังหารผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลประมาณ 90 คนในการปราบปรามอย่างรุนแรงเมื่อปี 2553 
 
ไม่มีเหตุผลควรเชื่อว่ารัฐบาลทหารชุดใหม่จะประสบความสำเร็จในการขจัด “คนเสื้อแดง” ออกไปจากประวัติศาสตร์ แม้ว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะตัวแทนเป็นสส.คณาธิปไตยที่ไร้เกียรติในรัฐสภา แต่พวกเขาเป็นตัวแทนของกลุ่มพลังทางสังคมที่เติบโตขึ้นและมีฐานสมาชิกเป็นคนไทยที่มีรายได้ระดับต่ำและปานกลาง พวกเขาเบื่อหน่ายกับการเป็นฐานเสียงให้กับกลุ่มอำมาตย์เก่า และเรียกร้องจะมีส่วนร่วมในเชิงอำนาจและได้รับประโยชน์จากความเจริญมากขึ้นของไทย
 
ทางออกของปัญหามีเพียงทางเดียวคือ การจัดทำสัญญาประชาคมใหม่เพื่อการกระจายอำนาจและทรัพยากรอย่างเท่าเทียมมากขึ้น ซึ่งทำได้โดยผ่านการพูดคุยและเจรจา ไม่ใช่ผ่านปลายกระบอกปืน ยิ่งมีการฟื้นคืนเสรีภาพที่จำเป็นเพื่อการอภิปรายเหล่านี้เร็วเพียงไร ยิ่งเป็นผลดีต่อประเทศไทยมากเท่านั้น 
 
หมายเหคุ
ข้อมูลเพิ่มเติม ณ วันที่ 30 พ.ค. 57 เป็นเรื่องน่าแปลกพิลึกที่ปรากฏว่าทางตัวเอกอัครราชทูตไทยประจำสหราชอาณาจักร ได้ถูก “เรียกตัว” โดยระบอบเผด็จการทหารของไทย เนื่องจากมีข่าวว่าเขาเคยให้ความสนับสนุนเป็นการส่วนตัวกับรัฐบาลประชาธิปไตยที่ถูกขับไล่ออกไป นายปสันน์ เทพรักษ์ เอกอัครราชทูตเคยเป็นกงสุลใหญ่ไทยที่กรุงดูไบระหว่างปี 2549-2554 ในช่วงที่ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ พรรคไทยรักไทยที่ถูกขับไล่ออกไปเมื่อปี 2549 เคยไปพำนักอยู่หลายครั้ง ทั้งเขายังเคยช่วยเหลือยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นน้องสาวของทักษิณ ตอนที่เธอขึ้นเป็นนายกฯ เมื่อปี 2554 โดยเคยให้ความเห็นเกี่ยวกับความชอบธรรมแบบประชาธิปไตยอย่างหนักแน่นของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ บางทีการพยายามยกเลิกกิจกรรมครั้งนี้เป็นเพียงความพยายามของเขาที่จะแสดงความจงรักภักดีต่อผู้นำประเทศชุดใหม่ แต่ชัดเจนแล้วว่ามันไม่เพียงพอ 
 

Dr Lee Jones เป็นผู้บรรยายอาวุโสด้านการเมืองระหว่างประเทศที่ Queen Mary, University of London เว็บไซต์ของเขาคือ http://www.leejones.tk และเขาใช้ทวิตเตอร์ @DrLeeJones 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net