องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ หนุน คสช.ปฏิรูปประชาธิปไตย

29 พ.ค.2557 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)  โดย ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรฯ ออกแถลงการณ์เรื่อง “สนับสนุนปฏิรูปประชาธิปไตยด้วยการขจัดคอร์รัปชัน” โดยระบุว่า สถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน เป็นช่วงจังหวะที่เหมาะสมที่จะปฏิรูปมาตรการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยที่สมบูรณ์  โดยการปิดช่องทางในการทุจริตคอร์รัปชันให้ได้ทั้งระดับนโยบายจนถึงระดับปฎิบัติการ ครอบคลุมโครงการระดับชาติและระดับท้องถิ่น  ที่สำคัญที่สุด จะต้องมีหน่วยงานที่เข้มแข็งและมีอำนาจในการป้องกันและปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง

โดย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เสนอให้ คสช. พิจารณาดำเนินการอย่างเร่งด่วนใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1.แก้ไขกฏหมายและข้อบังคับต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคของหน่วยงานภาครัฐในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน 2.ส่งเสริมและให้อำนาจองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันสามารถทำงานได้อย่างมีอิสระและมีประสิทธิภาพ 3.ส่งเสริมและสร้างกลไกให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐให้เป็นไปอย่างโปร่งใส และ 4.ปฏิรูประบบการเลือกตั้ง สส.และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีความโปร่งใส

มีรายละเอียดดังนี้

แถลงการณ์สนับสนุนปฏิรูปประชาธิปไตยด้วยการขจัดคอร์รัปชัน

สถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน เป็นช่วงจังหวะที่เหมาะสมที่จะปฏิรูปมาตรการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยที่สมบูรณ์  โดยการปิดช่องทางในการทุจริตคอร์รัปชันให้ได้ทั้งระดับนโยบายจนถึงระดับปฎิบัติการ ครอบคลุมโครงการระดับชาติและระดับท้องถิ่น  ที่สำคัญที่สุด จะต้องมีหน่วยงานที่เข้มแข็งและมีอำนาจในการป้องกันและปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง

ในระหว่างที่คณะกรรมการรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้ามามีบทบาทในการสร้างความสามัคคีและความสงบสุขให้กับประเทศชาตินั้น ได้ดำเนินนโยบายที่เน้นความโปร่งใสและรวดเร็วโดยสั่งการปลดล็อคเรื่องเร่งด่วนหลายโครงการ เช่น  จ่ายหนี้จำนำข้าวชาวนา ให้เสร็จใน 20 วัน พร้อมเปิดเผยความเสียหายและการทุจริตในโครงการจำนำข้าว, ออกใบอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรม (รง 4) ที่ถูกต้องและยังติดค้างอยู่, ทบทวนโครงการที่ใช้งบประมาณสูงและเป็นโครงการที่ประชาชนเคลือบแคลงสงสัย  เช่น  โครงการรถไฟความเร็วสูง, โครงการรถเมล์ NGV ของขสมก.  3,000 คัน และแผนการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท เป็นต้น   ซึ่งองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ สนับสนุนการดำเนินการของ คสช. ดังกล่าว และขอเสนอเพิ่มเติมว่าการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เฉพาะเรื่องคงไม่เพียงพอ ควรมีการปรับโครงสร้างและสร้างกลไกกระบวนการทำงานภายในให้เป็นรากฐานที่แข็งแรง เพื่อให้โครงการต่างๆ ขับเคลื่อนไปได้อย่างโปร่งใสและเป็นรูปธรรมในอนาคต

ดังนั้น องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ  ขอเสนอให้ คสช. พิจารณาดำเนินการในประเด็นต่อไปนี้ อย่างเร่งด่วน

1. แก้ไขกฏหมายและข้อบังคับต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคของหน่วยงานภาครัฐในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน และจัดทำระบบเพื่อขับเคลื่อนแผนปฎิบัติการให้เป็นรากฐานที่ป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ว่าบุคคลที่เข้ามามีอำนาจจะเป็นใครก็ตาม

2. ส่งเสริมและให้อำนาจองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท) และ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)  สามารถทำงานได้อย่างมีอิสระและมีประสิทธิภาพ

3.ส่งเสริมและสร้างกลไกให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐให้เป็นไปอย่างโปร่งใส เช่น ปรับปรุงกระบวนการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐให้สะดวกและรวดเร็ว กำหนดให้มีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมในโครงการจัดซื้อจัดจ้างสำคัญๆ ของภาครัฐ

4.ปฏิรูประบบการเลือกตั้ง สส.และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีความโปร่งใส เพื่อให้ได้ผู้นำประเทศที่บริหารบ้านเมืองโดยยึดมั่นหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) มีความรับผิดชอบ (Accountability) และสำนึกรู้ชอบชั่วดี (Moral) เพื่อป้องกันไม่ให้คนไม่ดีเข้าสู่สภา
ทั้งนี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ มีความพร้อมที่จะเป็นองค์กรหนึ่งในการร่วมทำงานและผลักดันงานปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันให้หมดสิ้นไปจากสังคมไทย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ได้ศึกษารูปแบบการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชัน ร่วมกับภาคีเครือข่ายนานาประเทศ และได้นำเสนอประเด็นสำคัญๆ ไว้ในหลายเวทีที่ผ่านมาแล้ว

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้เสนอแผนแม่บทให้สังคมได้ร่วมกันพิจารณา ขับเคลื่อน และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชันในประเทศไทยมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยมีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมและปฏิบัติได้ ดังนี้

1) “การปฏิรูปด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม” (Reform “Rule of Law”)
เพื่อปรับปรุงกฏหมายให้ทันกับโลกปัจจุบันและมีมาตรการที่บังคับใช้ได้อย่างจริงจัง ได้มาตรฐาน สากล ทำให้กระบวนการยุติธรรมและบุคคลากร ทั้ง ตำรวจ อัยการ ศาลยุติธรรมและองค์กรอิสระ สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง

2) การปฏิรูปด้านการสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชนและสังคม” (Reform “Social Participation”)
เพื่อเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการของรัฐตั้งแต่การกำหนด การตัดสินใจ และการติดตามตรวจสอบ ตามที่ได้บัญญัติไว้รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 มาตรา 78 (5) และ 87 เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และมั่นใจได้ว่าทรัพยากรของประเทศได้ถูกใช้ไปในทางที่เหมาะสม

3) “การปฏิรูปด้านการรณรงค์คุณธรรม จริยธรรมและการต่อต้านคอร์รัปชัน” (Reform “Social Morality”)
เพื่อเป็นการวางรากฐานและสร้างแบบอย่างทางคุณธรรม จริยธรรมในระดับปัจเจกบุคคล ตั้งแต่เด็ก เยาวชน รวมถึงประชาชนทั่วไป นักธุรกิจ เจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลในสาขาวิชาชีพต่างๆ รวมถึงการรณรงค์อย่างเข้มข้นให้คนไทยและสังคมไทยไม่ยอมรับการโกงทุกรูปแบบ

4) “การปฏิรูปด้านมาตรการเรื่องความโปร่งใสฯ” (Reform “Transparency”)
เพื่อสร้างความโปร่งใสในการดำเนินงานของภาครัฐ อันเป็นหัวใจสำคัญของการป้องกันคอร์รัปชัน ซึ่งจะส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนได้เป็นอย่างดี

5) “การปฏิรูปด้านการสร้างความเข้มแข็งหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันภาครัฐ” ( Reform “Roles & Accountability”)
เพื่อให้เกิดการทำงานของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมและหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันภาครัฐ เช่น ป.ป.ช. สตง. และ ป.ป.ท. มีความเป็นอิสระ เป็นกลาง มีสำนึกรับผิดชอบ (Accountability) และได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท