Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อย่าถามเลยว่า ทำไมประชาธิปไตยมันแก้ปัญหาให้บ้านเมืองเราไม่ได้ เราไม่เคยอนุญาตให้ ‘จริต’ แบบประชาธิปไตยมันมีชีวิตในผืนแผ่นดินนี้เลยด้วยซ้ำ

ถ้าถามว่ามีอะไร/ใครในพรรคประชาธิปัตย์ที่ดิฉันยังไม่ได้รู้สึกแย่ คำตอบนั้นจะคือ คุณกรณ์ จาติกวณิช จนกระทั่งถึงตอนที่กำลังเขียนบทความนี้ คำตอบนั้นก็ยังไม่เปลี่ยน เรื่องที่คุณกรณ์เล่าให้ฟังผ่านเฟสบุคเกี่ยวกับการสัมภาษณ์จาก CNN แม่บ้านอย่างดิฉันฟังแล้วก็อยากจะมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวในประเด็นเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่คุณกรณ์และประชาชนจำนวนมากข้องใจตามหัวเรื่องที่จั่วไว้ข้างบน

สำหรับดิฉันแล้ว คิดว่าก่อนที่เราจะไปถึงคำถามนั้น เราจำเป็นต้องตอบคำถามนี้กับตัวเองกันก่อนว่าเราเคยมี และ/หรือเคยเป็นประชาธิปไตยกันด้วยหรือ? พูดตรงๆ ว่า ดิฉันไม่เคยรู้สึกหรือได้กลิ่นอายประชาธิปไตยในบ้านนี้เมืองนี้เลย ดิฉันขออธิบายมันผ่านมโนทัศน์บ้านๆ ง่ายๆ ที่เรียกว่า ‘จริตจะก้าน’

ใช่ค่ะ ดิฉันกำลังจะพูดว่า เราไม่มีจริตจะก้านแบบประชาธิปไตยเป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์ทางสังคม จริตอันแรงกล้าของเราไปผูกติดอย่างแน่นหนาอยู่กับระบบอาวุโส (seniority) ที่ไม่ใช่แค่ความแก่อย่างเดียวที่ ‘ยกสูง’ หรือ ‘กดต่ำ’ เราออกจากกัน แต่รวมไปถึงสถานภาพและเพศสภาพด้วย ยกตัวอย่างง่ายๆ ใน 3 เรื่องที่อยู่ในระดับชีวิตประจำวันของเรา

เรื่องบทเตียงหรือความสัมพันธ์ระหว่างหญิง-ชายในสังคมไทย มันคงไม่ใช่แค่ความไม่เท่าเทียมทางเพศอย่างที่เราพร่ำพูดกันจนเหมือนจะเข้าข่ายนกแก้วนกขุนทองกันหรอกค่ะ สังคมไทยของเราสาหัสกว่านั้น กรณีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทยกับหลากสรรพนามอำมหิตที่ใช้เรียกขานเธอ ที่ไม่มี ‘คนดี’ หน้าไหนสักคนจะรู้สึกรู้สาถึงความดำมืดภายใต้จิตใจที่ถูกกล่าวอ้างเนืองๆ ว่า ‘ดีกว่า’ ‘สูงส่งกว่า’ คนอื่นๆ อีกหลายคน (ดิฉันไม่เคยเห็นมันเกิดขึ้นกับนักการเมืองไทยที่เป็นผู้ชาย

คุณชัย ราชวัตร จะโกรธคุณกรณ์ หาว่าคุณกรณ์ขายชาติ ทำให้ชาติขายหน้าในสายตาประชาคมโลกหรือเปล่า กรณีให้สัมภาษณ์ CNN ว่า ‘เราล้าหลังมาหลายปีแล้ว ไม่ได้มาเริ่มล้าหลังเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา’) นั่นเป็นตัวอย่างหนึ่ง แต่ตัวอย่างคลาสสิคประจำชาติของเราคือ วัฒนธรรมการข่มขืนที่อยู่คู่ชาติของเรามานานแสนนาน แต่เสียงวิพากษณ์เพื่อโค่นล้มวัฒนธรรมชุดนี้ก็เงียบสงัด มันกลายเป็นสิ่งซึ่งเราไม่อยากแตะต้อง ไม่อยากพูดถึง และปล่อยให้เป็นความรับผิดชอบส่วนตัวของมนุษย์ผู้หญิงแต่ละคนผ่านการรณรงค์ที่หนักข้อขึ้นเรื่องการรักนวลสวงนตัว (ทั้งๆ ที่การข่มขืนสามารถเกิดขึันกับใครและเมื่อไหร่ก็ได้ ตั้งแต่เด็กทารกยันคุณยายทวดพิการที่ไหนสักคน

แต่ที่ผ่านมา สังคมไทยก็ยังเลือกที่จะปิดตาข้างหนึ่งและปิดใจทั้งหมดอยู่เสมอ) และทั้งที่จริงๆ แล้วหัวข้อรักนวลสวงนตัวมีไว้เพื่อผลิตซ้ำสภาวะไร้อำนาจของผู้หญิงด้วยการยัดเยียดให้ยอมรับ ‘ความจริง’ ว่าร่างกายของผู้หญิงนั้นเป็นร่างกายซึ่งเปราะบางยับย่อยได้ง่ายดาย และร่างกายแบบนั้น ใครก็ดูแลไม่ไหวหรอกค่ะ

เราไม่เคยมีกระบวนคิดแก้ไขวัฒนธรรมชุดนี้ โดยพิจารณาผ่านตัวผู้ชายและความเป็นชายในสังคมไทยอย่างเอาเป็นเอาตาย โดยไม่รู้ตัว (หรือรู้ตัวแต่ไม่อยากยอมรับ!) เราเป็นสังคมบูชาผู้ชายและความเป็นชายแหล่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก (ไม่เชื่อสังเกตสิ บ้านไหนบ้านนั้น ทั้งพูดจริงและพูดเล่น เรื่องความเจ้าชู้ของสามี/ผู้ชาย ความเจ้าชู้เป็นวิธีคิดที่ส่งเสริม ‘ความเป็นชาย’ ให้มากขึ้นผ่านตัวเลขประสบการณ์เกี่ยวกับผู้หญิง ยิ่งมาก ยิ่งแมน คำถามคือ ทำไมจะเป็นผู้ชายทั้งทีต้องเป็นผ่านชายกระโปรงผู้หญิงด้วย เป็นกันเองไม่ได้เลยหรือ) ผู้ชายบ้านนี้เมืองนี้ถึงได้เคยชินกับการทำอะไรตามอำเภอใจ และเข้าใจไม่ได้ว่า พวกเขาไม่มีสิทธิในการล่วงละเมิดร่างกายของใครสักคนบนโลกใบนี้...ไม่มีสิทธิ   

เรื่องที่สอง เรื่องในบ้าน/ครอบครัว ก็การเลี้ยงลูกของเรายังไงล่ะคะ ชัดเจนดี ดิฉันเห็นคนตีลูกผ่านเฟสบุ๊ค เจ้าตัวบอกเอง ตีนับครั้งไม่ถ้วน พร้อมหลักฐานโชว์มือแม่ที่ช้ำม่วงไปหมด ดิฉันเริ่มนับทันทีว่า มีกี่ความคิดเห็นที่จะพูดเรื่องความรุนแรงและการใช้อำนาจแบบเกินเลยของพ่อแม่ 99% ค่ะ ถามว่าลูกดื้ออะไร คำตอบที่ได้ชัดเจนดีว่า ลูกต้องการลองของหรือประลองกำลังของพ่อแม่ พ่อแม่เลยจัดให้ชุดใหญ่ และโดยปริยาย ‘ผู้ใหญ่’ ไม่ผิด

เราหมกมุ่นอยู่กับการบริหารอำนาจกันจนเคยตัว จนจินตนาการไม่ได้ว่าเด็กที่เพิ่งลืมตาดูโลกมายังไม่ถึงสิบปี พวกเขายังไม่รู้จักขอบเขตของตัวเองบนโลกใบนี้ว่า พวกเขาสามารถทำอะไรได้แค่ไหน สิ่งที่เขาทำตอนนี้ คือทดลองผลักไอ้เจ้าเส้นเขตแดนเหล่านั้นดูว่าเขามีสิทธิแค่ไหน อย่างไรและทำไม เรื่องแบบนี้คุยกันผ่านความรักและเมตตาก็ได้ค่ะ เพราะพวกเขายังต้องผลักเจ้าเส้นเขตแดนเหล่านี้ไปอีกหลายปีกว่าจะถึงจุดที่ ‘ยอมรับ’ ว่ามันก็ต้องเป็นแบบนี้....ผู้ใหญ่ไม่ใช่หัวหลักหัวตอนะ....อ้างขึ้นมาเมื่อไหร่ อำนาจเบ็ดเสร็จบิดเบี้ยวทำงานเมื่อนั้น

เรื่องสุดท้าย เรื่องการเมือง ไม่ต้องยกตัวอย่างไกล รัฐประหารสดๆ ร้อนๆ ของบ้านเราเอง ที่เสรีภาพในการลากปืนมาอุดปากประชาชนในชาติที่คิดต่างกับทหารเป็นเรื่องน่าปิติยินดีจนต้องสรรเสริญอำนาจเบ็ดเสร็จกันให้สนั่นโลก และพาลโกรธคนทั้งโลกใครก็ได้ที่ไม่เห็นด้วยกับปืนและทหารหล่อของเรา ‘ผู้หลักผู้ใหญ่’ ของบ้านเมืองออกมา ‘กอบกู้’ ชาติให้ ‘พ้นวิกฤตแล้ว’ แล้ว ยังจะดื้อด้านกันอยู่ไย  

จากตัวอย่างใน 3 ปริมณฑลที่พูดมา ถ้ามองดีๆ จะเห็นได้ว่า มันทำงานสอดประสานกันด้วยจากบ้านถึงการเมือง อำนาจถูกเสี้ยมสอนและสั่งสมมาในโทนเดียวกัน ภายใต้ธีม ‘หัวหงอก-หัวดำ’ และ ‘ผู้หญิง-ผู้ชาย’ และนี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมจริตจะก้านของเราจึงเข้มแข้งมากในเรื่องการนิยมอำนาจเบ็ดเสร็จและหล่อเลี้ยงความไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้คนต่างรุ่น ต่างเพศสภาพ และต่างสถานภาพ

ต่อให้เรา ‘ดัดจริต’ ว่าเรา ‘เป็น’ และ/หรือ ‘อยากเป็น’ ประชาธิปไตย...มันก็ไม่เนียนหรอกค่ะ มันฝังลึกอยู่ในดีเอ็นเอของเราเมื่อนานมาแล้ว ขนาดคุณกรณ์เองยัง ‘ดัดจริต’ ไม่ขึ้นเลย เมื่อคิดว่าตัวเองควรตอบการสัมภาษณ์ครั้งนั้นไปว่า “คุณว่านักธุรกิจเป็นอำมาตย์ แต่ชาวนายิ่งแฮปปี้ใหญ่ เพราะวันนี้ได้เงินจำนำข้าวที่ถูกเบี้ยวแล้ว” ค่ะ….ชีวิตชาวนามันก็แฮปปี้สุดๆ ได้แค่นี้ แค่ได้เงินที่ถูกเบี้ยวคืน แล้วนักการเมืองก็เอามาพูดเป็นผลงาน (และการพูดแบบนี้ดูเหมือนจะไปสลายเส้นแบ่งระหว่างทหารและนักการเมืองบางกลุ่มออกไป ให้คลับคล้ายคลับคลาจะกลายเป็นเนื้อเดียวกัน)

อย่าถามเลยว่า ทำไมประชาธิปไตยมันแก้ปัญหาให้บ้านเมืองเราไม่ได้ เราไม่เคยอนุญาตให้ ‘จริต’ แบบประชาธิปไตยมันมีชีวิตในผืนแผ่นดินนี้เลยด้วยซ้ำ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net