Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา เฟซบุ๊กของอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ถูกประพรมด้วยบางบทบางตอนของเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาอยู่เสมอ… "กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยจะถอยจม” ความวิปริตอาเพศของบ้านเมือง ทำลายระเบียบสังคมซึ่งกำหนดสิทธิและอำนาจของผู้คนตามช่วงชั้น ฉะนั้น จึง “ผู้ดีจะเดินตรอก ขี้ครอกจะเดินถนน”

แต่บัดนี้ดูเหมือนขี้ครอกจะถูกไล่กลับเข้าตรอกหมดแล้ว ผู้ดีออกมาเดินสง่าบนท้องถนนดังเดิม แต่ระเบียบสังคมจะกลับคืนมาอย่างยั่งยืนแค่ไหนไม่ทราบ เพราะสิ่งที่คนอยุธยามองว่าเป็นความวิปริตอาเพศ อาจเป็นการเปลี่ยนผ่านทางสังคมซึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา และไม่มีใครไปหยุดยั้งมันได้

ระเบียบทางสังคมที่ตั้งอยู่บนความต่างศักดิ์ ต่างสถานะ ต่างกำเนิด ต่างหน้าที่ ฯลฯ นั้น จะว่าไปก็เป็นอุดมคติของสังคมโบราณทั้งหลาย จึงเป็นธรรมดาที่จะพบวรรณกรรม (ทั้งลายลักษณ์และมุขปาฐะ) ของหลายสังคมที่แต่งกันขึ้นเพื่อตอกย้ำระเบียบทางสังคมแบบนี้ และในบรรดาวรรณกรรมประเภทนี้ทั้งหมด ผมชอบเรื่องกวนเกษียรสมุทรของศาสนาพราหมณ์ที่สุด เพราะระเบียบทางสังคมที่วรรณกรรมเรื่องนี้พูดถึง มีความลึกซึ้งและสลับซับซ้อนกว่าเรื่องประเภทเดียวกันในวัฒนธรรมอื่นๆ และด้วยเหตุดังนั้นจึงไม่แข็งทื่่อตายตัว มีช่องที่จะเกิดการเปลี่ยนผ่านทางสังคม จนอาจเกิดระเบียบทางสังคมแบบใหม่ขึ้นได้

แม้แต่ระเบียบทางสังคมที่พราหมณ์ - ฮินดูยกย่องเป็นอุดมคติ ก็เป็นระเบียบใหม่ เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อกวนเกษียรสมุทรนี้เอง

เรื่องกวนเกษียรสมุทรของพราหมณ์ปรากฏในวรรณกรรมมหาภารตยุทธ และในภควัตปุราณะ แต่ก็ปรากฏในวรรณกรรมรุ่นหลังอีกมาก รวมทั้งถูกนำเสนอในรูปแบบอื่น ๆ อีกหลายอย่าง ทั้งในอินเดียและสังคมที่รับอารยธรรมอินเดียไป

แต่ในหลายรูปแบบนั้น ผมไม่เห็นสังคมไหนจะทำได้ยิ่งใหญ่เร้าใจเท่ากัมพูชา สลักเป็นภาพบนระเบียงผนังด้านใต้ของนครวัด มีราวพญานาคลงมายังสระน้ำและบาราย (คือเกษียรสมุทรจำลอง)    เป็นตัวแทนของการกวนเกษียรสมุทร แนวคิดนี้พัฒนาต่อมาที่นครธม โดยมีภาพของเทวดาและอสูรฉุดพญานาคคนละข้าง นักวิชาการบางท่านตีความว่า ปราสาทประธานที่มีบารายของกัมพูชา เป็นตัวแทนของเขามันทระที่ใช้กวนเกษียรสมุทรทั้งนั้น เพื่อผลิตน้ำอมฤตหรือ “ความมีชีวิต” ให้แผ่กระจายไปทั่วราชอาณาจักร

ตำราบางเล่มเล่าว่า แต่เดิมพวกอสูร (หรือทานวะ) ก็เป็นฝ่ายที่มีธรรมะไม่ต่างจากเทวดา แต่มาเปลี่ยนกลายเป็นฝ่ายอธรรม คอยรังแกและรังควานเทวดาในภายหลัง เหล่าเทวดาได้รับความเดือดร้อนจึงไปปรึกษาพระวิษณุซึ่งนอนอยู่บนหลังพญานาคกลางเกษียรสมุทร ทรงให้คำแนะนำว่า ที่ก้นเกษียรสมุทรมีน้ำอมฤต (ดื่มแล้วไม่มีวันตาย) จะได้มาก็ต้องกวนเกษียรสมุทร เทวดาฝ่ายเดียวไม่มีกำลังจะกวนได้ จึงไปชวนอสูรให้มาช่วยกัน สัญญาว่าเมื่อได้น้ำอมฤตแล้วก็จะแบ่งกัน

ในการกวนเกษียรสมุทรต้องใช้ภูเขามันทระเป็นไม้กวน พญานาคยืดตัวออกมาเป็นเชือกพันภูเขา แล้วฝ่ายเทวดากับอสูรก็ช่วยกันดึงพญานาค โดยเทวดาอยู่ทางหาง อสูรอยู่ทางหัว    แต่พอเริ่มกวน    เขามันทระก็จมลงใต้พื้นเกษียรสมุทร พระวิษณุจึงแปลงกายเป็นเต่าใหญ่รองรับยอดของเขามันทระไว้     จนเทวดาและอสูรสามารถกวนเกษียรสมุทรต่อไปได้

ระหว่างการกวนสมุทรนี้เอง ก็มีสิ่งมหัศจรรย์นานาชนิดผุดขึ้้นจากความปั่นป่วนวุ่นวาย หรือ chaos นี้ สิ่งแรกคือ พระลักษมีซึ่งกลายเป็นชายาของพระวิษณุ อย่าลืมด้วยว่าพระลักษมีหรือพระศรีเป็นเทพีแห่งโชคลาภและความเป็นมงคล ถัดจากนั้นเหล่านางอัปสรก็ผุดขึ้น ต่อมาก็โคสุรภี อันเป็นโคแห่งความอุดมสมบูรณ์ก็ผุดขึ้น ม้าขาว ดวงจันทร์ ดวงมณีซึ่งประดับพระอุระของพระวิษณุ ต้นปาริชาติที่อาจประทานพรแก่ผู้ขอได้ แต่ก็ไม่ได้มีแต่สิ่งดีๆ  เท่านั้นที่ผุดขึ้นจากความปั่นป่วนวุ่นวายนี้ ไอพิษก็กรุ่นขึ้นมาด้วย พระศิวะจึงกลืนไอพิษเหล่านี้ไว้หมดเพื่อปกป้องจักรวาลมิให้ถูกทำลาย จนกลายเป็นเทพที่มีพระศอสีดำ (นีลกัณฐ์) สิ่งสุดท้ายที่ผุดขึ้นมาคือ หมอของเทวดาซึ่งถือภาชนะบรรจุน้ำอมฤต

เหล่าอสูรเมื่อได้เห็นเช่นนั้นจึงพากันตะโกนเรียกร้องขอส่วนแบ่ง พระวิษณุจึงแปลงตัวเป็นสาวสวยชื่อ นางโมหิณี (ซึ่งคุณไมเคิล ไรท์ ใช้ตั้งชื่อแมวของตนอย่างแยบคายมาก) ยั่วยวนให้พวกอสูรหลงใหลลืมตัว แล้วก็จัดแบ่งน้ำอมฤตแจกจ่ายแก่เหล่าเทวดาได้ดื่มกันทั่ว จากนั้นเหล่าเทวดาซึ่งได้กำลังจากน้ำอมฤตก็รบราขับไล่พวกอสูรให้ปราชัยหลีกเร้นไปได้ เทวดาจึงกลายเป็นใหญ่ในโลก

นิทานจักรวาลเรื่องนี้เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ที่เผยความเป็นจริงของโลกและชีวิตหลายอย่าง   และนักปราชญ์ก็ได้อธิบายสัญลักษณ์เหล่านี้ไว้แตกต่างกันหลายนัยยะ

ความปั่นป่วนวุ่นวายนำมาซึ่งสิ่งใหม่ ๆ ทั้งที่ดีและไม่ดี (ตามใจมนุษย์) ว่าไปแล้วปราศจากความปั่นป่วนวุ่นวายเลย ก็คือไม่มีอะไรใหม่เกิดขึ้นได้เลยนั่นเอง ทั้งนี้ รวมทั้งน้ำอมฤตด้วย หากโลกนี้มีแต่ความสงบ โลกนี้ก็ไม่มีวันจะได้พบน้ำอมฤต (ซึ่งแปลว่า อสูรย่อมรังแกเทวดาตลอดไป)

กว่าที่คนผิวดำในสหรัฐจะได้น้ำอมฤต คือสิทธิเสมอภาคทางกฎหมายและทางปฏิบัติ แค่สงครามกลางเมืองอย่างเดียวก็ยังไม่พอ แต่การเคลื่อนไหวของคนดำจำนวนมากทั่วประเทศในหลายแนวทาง คือ ทางสันติวิธีอย่าง ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง และทางใช้ความรุนแรงอย่าง มัลคอล์ม เอกซ์ ก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายต่อเนื่องกันในสังคมอเมริกันมาหลายปี จลาจลสีผิวในบางเมืองทำให้เกิดการเผาและปล้นสะดมไปทั่ว การเดินขบวนอย่างใหญ่ทำให้กรุงวอชิงตันแทบกระดิกไม่ได้ไปหลายวัน ในที่สุดสีผิวก็มีความสำคัญลดลงในการเข้าถึงสิทธิพลเมืองจนถึงวันนี้เมื่อมีประธานาธิบดีผิวสีคนแรก

ในอังกฤษ กว่าที่แรงงานอุตสาหกรรมจะสามารถได้สิทธิการเลือกตั้งเท่าเทียมกับเจ้าสมบัติ ก็มีทั้งการสไตรก์ การจลาจล การจลาจลที่มุ่งทำลายทรัพย์สินของนายทุน หรือแม้แต่การลุกขึ้นสู้ของแรงงานบางกลุ่ม กลายเป็นความปั่นป่วนวุ่นวายที่สืบเนื่องกันตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 จนตลอดครึ่งแรกของศตวรรษที่ 19

น้ำอมฤตไม่เคยหลั่งมาเองจากฟ้าเหมือน “ฝนอันชื่นใจ” แต่อย่างใด ล้วนเป็นผลมาจากความปั่นป่วนวุ่นวายทั้งสิ้น

แม้แต่มหาเทพอย่างพระวิษณุ ก็ไม่สามารถใช้อิทธิฤทธิ์ ดำลงไปนำเอาน้ำอมฤตขึ้นมาจากก้นเกษียรสมุทรเพื่อแจกจ่ายแก่เหล่าเทวดาได้ จะได้มาซึ่งน้ำอมฤตก็ต้องกวนเกษียรสมุทรก่อนเท่านั้น

อันที่จริง ความเสื่อมสลายลงของระเบียบทางสังคมใด ๆ ก็ตาม ย่อมนำมาซึ่งความปั่นป่วนวุ่นวายอย่างแน่นอน ก่อนที่ระเบียบทางสังคมอันใหม่จะตั้งมั่นขึ้นได้ หากพระวิษณุไม่ชอบความปั่นป่วนวุ่นวาย และพยายามใช้อิทธิฤทธิ์ระงับยับยั้งให้สงบลง พระวิษณุก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของความปั่นป่วนวุ่นวายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระเบียบทางสังคมใหม่ ความสงบที่มองเห็นในช่วงหนึ่งจึงเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ ในความปั่นป่วนวุ่นวายอันใหญ่ ที่ครอบงำการเปลี่ยนผ่านซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้

ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง พลวัตของความปั่นป่วนวุ่นวายที่จะทำให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นมานั้น มีทั้งความดีและความชั่ว ผมไม่ได้หมายความเพียงการแบ่งฝ่ายระหว่างเทพและอสูร แต่ผมหมายถึงความดีและความชั่วซึ่งมีในทั้งเทพและอสูรต่างหาก ทั้งสองฝ่ายต่างถือประโยชน์ตนเป็นที่ตั้ง กล่าวคือ ต่างไม่รู้ว่าความวุ่นวายปั่นป่วนที่ตัวช่วยกันก่อขึ้้นนั้น จะทำให้เกิดพระศรี โคสุรภี หรือพระจันทร์ขึ้น ซึ่งล้วนเป็นสิ่งดีแก่มวลสรรพสัตว์บนโลก (ความอุดมสมบูรณ์) มุ่งแต่จะเอาน้ำอมฤตเพื่อให้รอดพ้นจากความตายของตนเท่านั้น เหล่าเทวดามีโอกาสโกงอสูรได้ ก็รีบฉวยโอกาสนั้นทันทีที่อสูรหลงใหลกับนางโมหิณี ไม่ได้นึกละอายใจแต่อย่างใด ฝ่ายอสูรเองเมื่อถูกโกงก็ถือว่าตนมีอำนาจเหนือกว่าเทวดาอยู่แล้ว จึงเข้าทำสงครามต่อสู้เพื่อจะช่วงชิงหรือปราบปรามเทวดา ซึ่งเคยเป็นฝ่ายอ่อนแอกว่าทันที

การมองแต่ฝ่ายนั้นดี ฝ่ายนั้นชั่ว เป็นความไร้เดียงสา ที่ไม่เข้าใจความเป็นจริงของโลกและชีวิต ที่น่าวิตกก็คือ คนไร้เดียงสาเหล่านี้แหละที่ชอบตั้งตนเป็นมหาเทพพระวิษณุอวตารกันเรื่อย ไม่มีหลักมีเกณฑ์      ระเบียบทางสังคมที่เหมาะกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมจึงเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะพระวิษณุปลอมอวตารถี่เกินไป ที่ปั่นป่วนวุ่นวายอ่อน ๆ ก็ปั่นป่วนวุ่นวายมากขึ้น ที่ปั่นป่วนวุ่นวายมากอยู่แล้ว ก็แทบระเบิดเป็นจุณ เพราะมองไม่เห็นฝั่งเอาเลย

นางโมหิณีนี่ยิ่งน่าสนใจใหญ่ นักวิชาการบางท่านอธิบายว่า นางโมหิณีมีสองมิติ ด้านหนึ่งคือ โมหะหรือความหลงใหลจนลืมตน ทำให้ไม่ใส่ใจกับเป้าหมายที่พวกอสูรมาช่วยกันกวนเกษียรสมุทร นางโมหิณีมิตินี้เป็นที่รับ “รู้” ของฝ่ายอสูร แต่อีกด้านหนึ่งคือ พระผู้เป็นเจ้าหรือความดีสูงสุด ซึ่งเหล่าเทวดา “รู้” ว่าเป็นองค์แปลงของพระวิษณุ ทำไมสองฝ่ายจึงรับรู้ผิดกัน คำตอบก็เพราะฝ่ายหนึ่งเป็นอสูร อีกฝ่ายหนึ่งเป็นเทพ ดังนั้น น้ำอมฤตจึงไม่ใช่ของวิเศษที่ทำให้รอดพ้นจากมฤตธรรมหรือความตาย แต่คือความรู้ต่างหาก ที่ทำให้ฝ่ายหนึ่งแตกต่างจากอีกฝ่ายหนึ่งได้

ใครจะเห็นนางโมหิณีเป็นอะไรก็ขึ้นอยู่กับว่าได้ดื่มน้ำอมฤตหรือไม่ ความงามของนางโมหิณีนั้น ไม่ต้องอธิบายก็เข้าใจได้ไม่ยากว่าคือ สัญลักษณ์ของสิ่งที่มนุษย์หลงใหลได้ปลื้มทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นอำนาจ ทรัพย์ ชื่อเสียง ความไม่ตาย (ทางประวัติศาสตร์) ความยึดติดนานาชนิด ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประทับใจผมมากก็คือ น้ำอมฤตกับนางโมหิณีนั้นเป็นของคู่กัน เมื่อน้ำอมฤตปรากฏขึ้นที่ริมขอบฟ้า นางโมหิณีก็จะปรากฏตัวขึ้น เพื่อยั่วยวนให้ผู้คนคิดว่าน้ำอมฤตคือไอพิษซึ่งจะทำลายสรรพชีวิตบนโลก ครั้นเมื่อน้ำอมฤตถูกนำใกล้เข้ามา นางโมหิณีก็จะเตือนให้ฝูงชนดื่มอย่างระมัดระวัง เพราะน้ำอมฤตที่มากเกินไปจะทำให้ท้องเฟ้อเรอเหม็นเปรี้ยว สังคมที่อยู่ภายใต้การครอบงำของนางโมหิณี จึงเป็นสังคมที่ดื่มน้ำอมฤตอย่างครึ่ง ๆ กลาง ๆ หรือน้ำอมฤตครึ่งใบ มีความเสมอภาคเป็นหลักการบนพานแว่นฟ้า แต่ในความเป็นจริง มีคนบางคนหรือบางกลุ่มที่เสมอภาคมากกว่าคนอีกบางคนและบางกลุ่ม

จะหลุดรอดจากความยั่วยวนของนางโมหิณีได้ ก็ต้องอาศัยความรู้เท่านั้น ด้วยเหตุดังนั้น นางโมหิณีจึงกลัวความรู้ นอกจากตัวเองไม่มีแล้ว ก็ไม่อยากให้คนอื่นมีด้วย.

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 6 มิถุนายน 2557 ปีที่ 34 ฉบับที่ 1764

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net