Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาสมัยใหม่ของญี่ปุ่นนั้น นักเขียนปัญญาชนแห่งยุคสมัยใหม่มีชื่อระดับโลกคนสำคัญคนหนึ่งคือนัทซึเมะ โซเซะคิ (Natsume Soseki) ในยุคที่อาจเรียกว่า “แสงสว่าง” ของความคิดในญี่ปุ่นดังกล่าวนั้น มีปัญญาชนนักขียนญี่ปุ่นหลายคน เช่น โตกุโตมิ โซโฮ (อิชิโร), มอริ โองาย, มารูยามา มาซาโอะ, โกเบ อาเบ, และฟูกุซาวา ยูกิชิ เป็นต้น แต่นวนิยาย เรื่อง "โคะโคะโระ" (Kokoro) ติดตรึงในดวงใจคนค่อนโลกมากกว่าเล่มอื่นๆ

"โคะโคะโระ" ไม่ใช่นิยายแนวเพื่อชีวิตแบบที่เราคุ้นเคย ไม่ได้เสนอแนวทางนโยบายและทางออกที่สูงส่งให้แก่สังคมและประเทศชาติ พระเอกหรือตัวละครเอกของเรื่อง ไม่ใช่คนดีที่สังคมหรือผู้อ่านจะยึดถือ เอามาเป็นแบบอย่างหรือไปสั่งสอนให้เป็นที่พึ่งทางศรัทธาแก่คนอื่นๆ ได้ง่ายๆ ไม่ต้องพูดว่าจะนำไปปลุกระดมมวลชนที่ไหนได้หรือไม่ ที่สำคัญโลกของ "โคะโคะโระ" กลับเป็นโลกที่ดำมืดและเป็น "ส่วนตัว" ยิ่งนัก  ความเป็นส่วนตัวและเป็นปัจเจกบุคคลอย่างยิ่งของตัวละครแสดงออก ถึงขนาดที่ว่าพระเอกไม่มีชื่อ ผู้อ่านไม่มีโอกาสรู้จักชื่อเสียงเรียงนามของเขาตั้งแต่ต้นจนจบ ว่าไปแล้วไม่แต่พระเอกเท่านั้นที่ไม่มี "ชื่อตัว" ตัวละครทุกตัวที่เดินเข้ามาและเดินออกไปในนิยายเรื่องนี้ ล้วนแต่ไม่มี "ชื่อตัว" ซึ่งเป็นเครื่องแสดงถึงตัวตนและความเป็น "คน" ปัจเจกชนอย่างแรกๆ ของเราในยุคสมัยใหม่



"โคะโคะโระ" เป็นวรรณกรรมในชีวิตที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและแตกต่างจาก วรรณกรรมเพื่อชีวิตเพื่อประชาชนที่เรารู้จักอย่างยิ่ง ข้อความและเหตุการณ์ความเป็นไปที่เกิดขึ้นในเรื่องนั้น หากอ่านด้วยใจแล้วจะรู้สึกเสมือนประหนึ่งเอาน้ำเย็นเฉียบราดลงไปในหัวใจ บางตอนรู้สึกถึงสภาพของความเปลี่ยนแปลงและความขัดแย้งร่วมกัน แม้จะห่างทั้งกาละและเทศะก็ตาม  นี่เองที่ทำให้มีคำกล่าวเปรียบเปรยว่าวรรณกรรมคือวิญญาณ (หรือหัวใจ) ของสังคมนั้นๆ  ตราบใดที่ยังไม่อาจ "รู้สึก" กับวรรณกรรมและความคิดของประเทศนั้น ก็ไม่อาจรู้จักและเข้าใจประวัติศาสตร์และอื่นๆ ของประเทศนั้นได้

นัทซึเมะ โซเซะคิ เป็นคนรุ่นสมัยเมจิอันเป็นยุคของการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศญี่ปุ่นครั้งสำคัญ เป็นยุคร่วมสมัยกับการปฏิรูปของรัชกาลที่ 5 แห่งสยามประเทศ เขาเกิดในปี ค.ศ.1867 ที่โตเกียวและสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโตเกียว สาขาวิชาภาษาอังกฤษ แล้วไปเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในจังหวัดคุมะโมะโตะ อันเป็นจังหวัดที่เริ่มทดลองและรับความเป็นตะวันตกในระบบการศึกษาแบบใหม่ในสมัยเมจิ ที่นั่นโซเซะคิได้ทุนไปเรียนต่อที่อังกฤษ 2 ปี กลับมาเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยโตเกียวแล้วเริ่มเขียนนิยาย โซเซะคิจบชีวิตของเขาด้วยวัยเพียง 49 ปีด้วยโรคกระเพาะอาหารอักเสบในปี ค.ศ.1916

เหตุหนึ่งที่ "โคะโคะโระ" จับใจและอยู่ในใจผู้อ่านมาอย่างยาวนานได้นั้น เป็นเพราะนัทซึเมะ โซเซะคิ เป็นปัญญาชนตัวแทนแห่งการเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยเมจิ การเปิดประเทศทำให้ญี่ปุ่นเป็นสมัยใหม่และเป็นแบบตะวันตกนั้น ได้สร้างความขัดแย้งใหม่ให้เกิดขึ้นในวิญญาณ (ซึ่งลึกกว่า "วัฒนธรรม") ของคนรุ่นใหม่  ความเปลี่ยนแปลงที่มาภายหลังการปฏิรูป (ทั้งเมจิและจักรี) ไม่เพียงแต่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในด้านวัตถุและเทคโนโลยีเท่านั้น ทว่าที่สำคัญและลึกซึ้งยาวไกลกว่าที่คนในประวัติศาสตร์จะซึมซับและเข้าใจได้อย่างเท่าทัน ก็คือความเปลี่ยนแปลงในโลกของวิญญาณและความคิด 

ความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยใหม่หนีไม่พ้นจากการขับดันและเคลื่อนไหวของระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ "ไม่ว่าที่ใดที่ระบบทุนนิยมไปถึง มันจะทำให้ชีวิตเป็นอย่างเดียวกันหมด และยังสร้างให้เกิดสไตล์อย่างสากลขึ้นด้วย...มันไม่ใช่เพียงการลอกเลียนแบบ หากแต่เป็นการโยกย้ายสร้างชีวิตใหม่ทีเดียว ระบบทุนนิยมจะสร้างสังคมเมืองขึ้นมา ทำให้เมืองขึ้นต่อนคร พัฒนาชีวิตแบบกระฎุมพี ทำลายชีวิตดั้งเดิมแบบประเพณีและในท้ายที่สุดฉุดลากสังคมนั้นให้เข้าไปสู่ในวังวนของประวัติศาสตร์โลก"

เนื้อเรื่องของ "โคะโคะโระ" ไม่มีอะไรตื่นเต้นโลดโผน ถ้าจะสรุปให้ธรรมดาก็จะฟังเหมือนนิยายรักอกหักและเศร้าสลดทั่วไป ตัวเอกของเรื่องถูกเรียกว่า "เซนเซ" (แปลว่าอาจารย์) มีเพื่อนสนิทคนหนึ่งชื่อ "K" (ภาษาอังกฤษ) ทั้งสองหลงรักผู้หญิงคนเดียวกันตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย แต่เซนเซดูจะมีภาษีดีกว่า K ซึ่งต่อมาเปิดความในใจ ให้เซนเซรู้เพื่อหวังให้เขาช่วยเป็นพ่อสื่อ แต่ในที่สุดเซนเซเองกลับเป็นคนไปขอลูกสาวนั้นให้ตัวเอง K จึงฆ่าตัวตาย แต่กรรมอันนั้นก็ตามสนองเซนเซ ชีวิตหลังจากมีครอบครัวเป็นฝั่งเป็นฝา กลับยิ่งทิ่มแทงสำนึกแห่งความผิดที่ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย

นิยายเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อ "ข้าพเจ้า" ซึ่งจะเป็นผู้เล่าเรื่องนิยายนี้ทั้งหมดมาพบและสนิทสนมกับเซนเซ "ข้าพเจ้า" จึงกลายเป็นเครื่องมือในการแสวงหาทางออกให้แก่ ชีวิตของเซนเซ ซึ่งหลังจากการฆ่าตัวตายของ K แล้วก็กลายเป็นคนที่โดดเดี่ยว ไร้วิญญาณยิ่งขึ้นทุกวัน เพราะความรู้สึกผิดต่อการกระทำของตนในหนหลัง ในท้ายที่สุดเซนเซก็หาทางออกให้แก่ตนได้ด้วยการยุติ "ชีวิตใหม่" เช่นกัน และมอบจดหมายเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้แก่ "ข้าพเจ้า"

สังเกตว่าตัวละครทั้งหมดในเรื่องนี้ไม่มี "ชื่อ" ยกเว้น K ถ้ายอมรับว่าการใช้อักษรตัวเดียวก็เป็นชื่อได้ แต่กระนั้นผู้เขียนก็เขียนเป็นภาษาอังกฤษ แสดงว่า K เป็นคน ที่มีอะไรไม่เหมือนคนญี่ปุ่นทั่วไป อาจไม่ใช่ "ญี่ปุ่น" ด้วยก็ได้ ในเรื่องนี้ K เป็นมนุษย์ที่อ่อนแอและในที่สุดเป็นเหยื่อของความอ่อนแอของเขาเองด้วย ก่อนตายเขาจะเดินวนเวียนไปมาระหว่าง อุดมการณ์ กับ ความเป็นจริง เขาจะเป็น "บาป" ผลักดันให้คนรุ่นใหม่เช่นเซนเซได้รับประสบการณ์ของการเป็นคนโดดเดี่ยวไร้วิญญาณและไร้ซึ่งศีลธรรมไปด้วย

จดหมายฉบับสุดท้ายเมื่อลาตาย เซนเซเขียนว่า "ฉันตั้งใจจะอุทิศอดีตทั้งหมดของฉันทั้งที่ดีและไม่ดีให้เป็นข้อคิดสำหรับคนอื่นๆ แต่ขอให้เธอรับรู้ว่า ภรรยาฉันคนเดียวเท่านั้นที่ฉันขอให้เป็นข้อยกเว้น เพราะฉันไม่อยากให้ภรรยารู้อะไรเลยแม้ แต่น้อย สิ่งที่ฉันปรารถนาที่สุดก็คือ ฉันอยากจะรักษาความทรงจำของภรรยาฉันที่มีต่อเรื่องราวในอดีตฉันให้ขาวบริสุทธิ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้..." (จากฉบับภาษาไทยแปล โดยดร.ปรียา อิงคาภิรมย์ โฮะริเอะ กับกนก ศฤงคารินทร์, สนพ.ดอกหญ้า, หน้า 388)

เซนเซอาศัยความตายของเขาเพื่อทำให้เกิด "อดีต"ขึ้นมา และอดีตนี้ซึ่งมีทั้งดี และไม่ดีจะได้เป็นข้อคิดเตือนใจคนอื่นๆ ต่อไป จุดนี้เองที่เรื่องราวชีวิตอย่างธรรมดา ของเซนเซกับ K และ"ข้าพเจ้า" กลายมาเป็นประวัติศาสตร์สังคมและการเมืองไปได้ อดีตทั้งดีและไม่ดีของเซนเซนั้นก็คือประสบการณ์ทางสังคมของปัญญาชนและคนญี่ปุ่นรุ่นเมจิ นับแต่ปี ค.ศ.1868 ถึง 1912 อันเป็นการสิ้นสุดรัชสมัยเมจิ สังคมญี่ปุ่นได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ทั้งในทางวัตถุและในทางวัฒนธรรม หนทางของการพัฒนาให้เป็นสมัยใหม่ ซึ่งผู้นำและปัญญาชนญี่ปุ่นเห็นพ้องต้องกันว่าจะเป็นทางออกให้แก่เสรีภาพและอำนาจของญี่ปุ่นก็คือต้องเดินตามรอยของตะวันตก การนำเข้าและศึกษาจากตะวันตกทั้งรูปแบบและเนื้อหาค่อยๆ นำไปสู่การแตกร้าวและขัดแย้งภายในสังคมญี่ปุ่นเอง อย่างไม่มีใครจะทัดทานหรือหยุดยั้งไว้ได้  นี่เองที่เซนเซต้องอาศัย ความตายมายุติตัวตนและการเปลี่ยนแปลง จึงจะทำให้ "อดีต" อันนี้ปรากฏออกมาต่อความรับรู้ของคนอื่นๆ ได้

เคียงคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่โลกสมัยใหม่ สังคมญี่ปุ่นก็ยังมีอีกด้านที่เป็นประเพณีเป็นแบบสังคมเก่า จุดหนึ่งซึ่งเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์สำหรับประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิมก็คือครอบครัว การที่เซนเซกำชับ "ข้าพเจ้า" ไม่ให้นำเรื่องเบื้องหลัง การฆ่าตัวตายของเขาไปบอกแก่ "ภรรยา" เพราะต้องการให้ "ความทรงจำของภรรยาฉันที่มีต่อเรื่องราวในอดีตฉันให้ขาวบริสุทธิ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้" สะท้อนถึงความขัดแย้งอันนี้เองระหว่างความเป็นสมัยใหม่ที่เป็นปัญหา กับประเพณีเก่าที่คนยึดถือ และต้องการให้เป็นของบริสุทธิ์

เซนเซกำลังบอกว่า ความจริงในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงเป็นสมัยใหม่นั้นเต็มไปด้วยความขัดแย้ง มีทั้งดีและไม่ดี เป็นอดีตที่ผู้รับต้องไตร่ตรองและศึกษา เพื่อเสาะหาความจริงแท้ต่อไป ในอีกด้านก็มีความจริงในระดับส่วนตัวหรือเฉพาะส่วนเช่นในครอบครัว ในจุดนี้ไม่ว่าจะได้รับอิทธิพลความสมัยใหม่ทันสมัยเท่าใด ก็ยังคงเป็นที่ซึ่งควรรักษาให้ "บริสุทธิ์" ไว้ หมายความว่าไม่จำเป็นต้องไปรู้หรือสนใจใน "ความจริง" ของสังคมก็ได้ คิดอย่างนี้ก็ถามต่อไปได้ว่า ถ้าเช่นนั้น "ความจริงทางสังคม" ก็ไม่ใช่สิ่ง "บริสุทธิ์" ใช่หรือไม่ ยิ่งในสังคมสมัยใหม่มากเท่าไร ก็จะยิ่งมี "ข้อเท็จจริง" มากมายทั้งทางกฎหมายและทางการเมือง ซึ่งอาจไม่ใช่สิ่งสำคัญสำหรับชีวิตที่มีความหมายทางจริยธรรมก็ได้

หลังจากญี่ปุ่นปฏิรูปเมจิ นำประเทศเข้าสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมและการค้า ความสำเร็จของกระบวนการสร้างอุตสาหกรรมปรากฏออกมาในชัยชนะทางสงครามที่ญี่ปุ่นมีเหนือจีนและรัสเซียในปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ชัยชนะทางการทหารช่วยทำให้ความตึงเครียดในหมู่ประชาชนลดคลายลงบ้าง แต่ขณะเดียวกันก็ยิ่งทำให้คนบางกลุ่ม โดยเฉพาะนักคิดนักเขียนปัญญาชนกลับต้องคิดหาคำตอบต่ออนาคตที่สังคมญี่ปุ่นกำลังจะมุ่งไปหามากยิ่งขึ้น ความสำเร็จทางวัตถุและความเรียกร้องต้องการของสังคมทำให้ปัญญาชนหลายคนถามตัวเองและเสาะหาความ เป็นตัวของตัวเองมากยิ่งขึ้น ในระยะนี้เองซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นัทซีเมะ โซเซะคิ เขียนนิยายออกมา เป็นช่วงที่เกิดแนวทางวรรณกรรมลัทธิธรรมชาตินิยม (Naturalism school) ขึ้นมา สิ่งที่พวกเขาต้องการแสวงหาคือการค้นหาสัจธรรมและการเปิดเผยความเร้นลับภายในตัวเอง ออกมาต่อสาธารณชน ความขัดแย้งในสภาวะภายในของคน โซเซะคิมองเห็นว่า เป็นความหลงตัวเองของปัจเจกชน (egoistic individualism) ซึ่งเกิดขึ้นในระยะสุดยอดของการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย

ปัจเจกชนผู้ยึดตัวเองเป็นสรณะคือสิ่งที่ปัญญาชนรุ่นเมจิหวาดเกรงว่าจะเกิดขึ้นในสังคมญี่ปุ่นใหม่ที่เป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น ปัจเจกชนเช่นนี้คือ "ปีศาจ" ในทรรศนะและความเชื่อของคนเอเชียที่มีต่อภาพลักษณ์ของมนุษย์แบบตะวันตกในสังคมทุนนิยมและวัตถุนิยมเต็มขั้น ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากการแข่งขันในการดำรงชีวิตในเศรษฐกิจ การเมืองแบบทุนอุตสาหกรรมนั่นเอง เมื่อปัจเจกชนถูกดึงเข้าสู่วังวนของการแข่งขัน เขา (และเธอ) ก็มีแต่จะสูญเสียความผูกพันทางศีลธรรมที่เคยมีติดตัวมาแต่กำเนิด รวมทั้งความเป็นตัวของตัวเองด้วย

ในตอนหนึ่งของ "โคะโคะโระ" เซนเซจึงสรุปว่า ตัวเขาเองก็ไม่ได้ดีกว่าลุงของ เขามาบัดนี้เขาเองก็ได้กลายเป็นคนที่ไร้อนาคตและไร้ค่า ถ้าหากเขาต้องการจะมีชีวิตอยู่ต่อไปด้วยการอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ เขาจะต้องสละความเป็นตัวของตัวเองออกไปและยอมรับร่วมมือกับระบบสังคมที่เป็นอยู่ หรือไม่ก็มีชีวิตอยู่ แต่ต้องอยู่แบบตัวคนเดียวในโลกของเขาคนเดียว คำถามก็คือถ้าหากเขาเลือกมีชีวิตแบบหลัง มันจะมีความแตกต่างอะไรระหว่าง "คนตายที่ยังเป็น" กับ "คนเป็นที่ตาย" แล้ว

ในความขัดแย้งระหว่างการมีชีวิตอยู่ของปัจเจกชนกับความหมายหรือคุณค่าที่มีต่อสังคม โซเซะคิได้แสดงออกผ่านความคิดเกี่ยวกับกาละหรือเวลา ตัวละครที่เป็น "ข้าพเจ้า" ซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่องและเดินเรื่องนี้ทั้งหมด เปรียบเสมือนกับเวลาปัจจุบัน ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมต่อกาละของเซนเซให้เข้ากับปัจจุบันสมัยของผู้อ่าน จะพูดอีกอย่างก็คือ "ข้าพเจ้า" ช่วยทำให้จินตนากรรมถึงชีวิตและความทุกข์ (หรือความขัดแย้ง) ของเซนเซเป็นสิ่งที่เป็นจริงที่เราสัมผัสมันกับตัวเองได้ ไม่ใช่แค่เรื่องนิยายเล่าผ่านกันอย่างธรรมดา
 
เมื่อเซนเซเปรียบเทียบระหว่างคนที่อยู่อย่างตายกับคนตาย อันไหนจะหนักหน่วง หรือเท่ากัน เขาจะใช้เหตุการณ์จริงในการฆ่าตัวตายของนายพลโนะงิมาอุปมา ด้วยการถามตัวเองว่า "สำหรับคนอย่างท่าน ระยะเวลาสามสิบห้าปีที่ท่านมีชีวิตอยู่ กับระยะเวลาเพียงชั่ววูบที่เอามีดแทงท้องของตัวเองนั้น อย่างไหนจะทรมานกว่ากัน"

นายพลโนะงิเพลี่ยงพล้ำแก่ฝ่ายตรงข้ามในการสงครามเซนัน ซึ่งเป็นการกบฏต่อต้านรัฐบาลสมัยปฏิรูปเมจิ เคยคิดจะฆ่าตัวตายเพราะรู้สึกผิดตั้งแต่ตอนนั้น นายพลโนะงิอาจเป็นตัวแทนของวิญญาณการปฏิรูปเมจิ ซึ่งประสบปัญหาแต่เริ่มแรก ดำรงชีวิตเก่าในโครงครอบสังคมใหม่ต่อมาได้ เพราะท่านมีความจงรักภักดีและผูกพันอยู่กับพระจักรพรรดิ เมื่อสิ้นรัชกาลเมจิท่านก็สิ้นสิ่งยึดเหนี่ยวในชีวิตแบบเก่าซึ่งคนรุ่นใหม่ไม่อาจซึมซับและข้าใจได้อย่างมีความหมายต่อชีวิตแบบสมัยใหม่ของพวกเขา

จุดนี้เป็นความขัดแย้งอีกอันของคนรุ่นใหม่เช่นเซนเซ ที่ไม่มีความผูกพันและความจงรักภักดีอันเป็นเฉพาะให้แก่สิ่งใดสถาบันใดในอดีตอย่างสุดชีวิตสุดใจ ภารกิจและความผูกพันใหม่ที่กำลังสร้างขึ้นมาก็มีแต่ต่อตัวเองเท่านั้น แต่ความเป็นตัวของตัวเองในสังคมใหม่ก็ไม่ได้สร้างค่านิยมและจริยธรรมอันเป็นแบบแผนที่ทำให้ทุกคนยึดและปฏิบัติในชีวิตจริงได้อย่างง่ายดายตรงไปตรงมา ตรงกันข้ามปัจเจกชนที่เกิดขึ้นมาใหม่กลับนำไปสู่ความหลงตนเองหรือการไร้ซึ่งตัวตนอย่างที่สุด ทั้งสองทางไม่ใช่หนทางออก ที่ให้ความสุขและความพึงพอใจแก่คนรุ่นใหม่ที่มีสำนึกของอดีตและความเปลี่ยนแปลงได้

เราคงสรุปได้ในระดับหนึ่งว่า "สังคมญี่ปุ่นได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างรวดเร็ว กระทั่งไม่มีที่ว่างพอสำหรับคนอย่างเซนเซที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างมีความหมายได้" ขณะที่ผู้คนรอบข้างร่วมสมัยและกระทั่งที่อยู่ต่อมา ก็ยังไม่อาจตระหนักถึงพลังและผลกระทบอันลึกซึ้งยาวไกลที่ความเป็นสมัยใหม่ได้นำเข้ามาให้ ซึ่งคนรุ่นเรารู้จักมันในนามของ "การพัฒนา" ว่าจะมีความซับซ้อนและซ่อนเงื่อนไว้ไม่น้อย  มันได้สร้างและปลูกฝังรากของความขัดแย้งทั้งที่เป็นปฏิปักษ์และที่ไม่เป็นปฏิปักษ์เอาไว้ในแทบทุกสังคมที่สายลมแห่งความเป็นสมัยใหม่พัดผ่านไปถึง ผลลัพธ์และการคลี่คลายของความขัดแย้งในแต่ละขั้นแต่ละตอน จึงเป็นความสำเร็จและชัยชนะของบางชนชั้นและบางกลุ่มบางพวก กับเป็นโศกนาฏกรรมของบางชนชั้นบางกลุ่มและบางคน ทว่าสำหรับคนชั้นล่างมันถูกรู้จักในวลีว่ากรรมของพวกเขาเท่านั้นเอง.


9 พฤษภาคม 2014

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net