Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ประธานที่ปรึกษากลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บอกเล่าเหตุการณ์ในช่วงถูกควบคุมตัวโดยคณะรัฐประหาร คสช. 22-28 พฤษภาคม 2557


๐๐๐๐

เรื่องเล่าการถูกควบคุมตัว 22-28 พ.ค. 57

การประชุม 7 คณะ ที่สโมสรทัพบกที่ ผบ.ทบ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ขอนัดหลายฝ่ายรัฐบาล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ กปปส. นปช. คณะกรรมการ กกต. วุฒิสภา และผู้บัญชาการเหล่าทัพ พร้อม ผบ.ตร. เพื่อพบปะกัน โดยอ้างว่าเชิญมาตกลงเจรจากันเพื่อหาทางออกให้ประเทศ ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกฝ่าย ฝ่ายละ 5 คน

การเจรจาในวันแรก (21 พ.ค.) ให้ต่างฝ่ายแสดงความคิดเห็น ทิ้งประเด็นไว้ให้กลับมาพูดคุยใหม่ อันเกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรี, รัฐบาลกลาง, การเลือกตั้ง, การลงประชามติ, การสร้างบรรยากาศที่ดีและการยุติการชุมนุมทั้ง 2 ฝ่าย

ในวันรุ่งขึ้น (22 พ.ค.) ก็นัดประชุมใหม่เวลาบ่าย 2 โมง สำหรับพวกเรากลุ่ม นปช. ส่วนมากของแกนนำถูกฟ้องข้อหาก่อการร้าย ศาลนัดไต่สวนพยานในวันที่ 22 และขอให้ศาลอนุญาตให้ไปประชุมได้ในเวลาบ่าย 2 โมง กับคณะของพลเอกประยุทธ์ (กอ.รส. ปัจจุบันกลายเป็น คสช.) พวกเรา นปช. 5 คนมี จตุพร, ณัฐวุฒิ, ผู้เขียน, ก่อแก้ว และคุณวีระกานต์ ก็ไปรับประทานอาหารพูดคุยกันก่อนเวลานัดหมายประชุม ก็ไม่ค่อยได้คุยอะไรกันมากมาย เพราะมีแฟนคลับบ้าง แขกที่บังเอิญเห็นบ้างเข้ามาทักทายเป็นระยะ ๆ แล้วก็ออกเดินทางไปถึงสถานที่ประชุมเวลาประมาณบ่ายโมงครึ่ง เพื่อเตรียมตัวเข้าประชุม

ครั้นได้เวลาประชุมฝ่ายรัฐบาลก็เปิดการประชุมด้วยการยินดีถอยร่นให้คณะรัฐมนตรีได้ลดบทบาท Low Profile ให้ปลัดกระทรวงทำงานเป็นหลัก ยกเว้นเรื่องที่ต้องให้รัฐมนตรีทำ เช่น การรับสนองพระบรมราชโองการ งานรัฐพิธี ราชพิธี เท่านั้น ตามข้อเสนอสูตรหนึ่งของ กกต. เพื่อเตรียมการเข้าสู่การเลือกตั้ง แน่นอนว่าฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์โดยคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่เห็นด้วย ส่วน นปช. โดยคุณจตุพร พรหมพันธุ์ ยังใช้ข้อเสนอเดิมคือทำประชามติก่อน ในที่สุดฝ่าย กปปส. ขอเวลานอกให้ได้พบปะกับ นปช. เป็นการขอเจรจาอ้างว่าขอความร่วมมือฝ่ายประชาชนด้วยกัน ซึ่งยังอยู่ในกระบวนการเจรจา ยังไม่มีข้อยุติใด ๆ ทหารก็มาเตือนให้กลับเข้าห้องประชุมใหญ่

เมื่อกลับมายังห้องประชุมคุยกันได้ไม่กี่ประโยคลงท้าย ผบ.ทบ. ก็ลุกขึ้นยืนบอกว่า “ผมยึดอำนาจแล้ว” จากนั้นทหารถืออาวุธกรูกันเข้ามาในห้องประชุมแล้วก็เชิญออกมาควบคุมตัวขนาบ 2 ข้างทีละราย ที่ผู้เขียนเห็นคนแรกคือท่านรัฐมนตรีชัชชาติ ถัดมาเป็นคุณวีระกานต์ ต่อมาเป็นคุณจตุพร แล้วก็เป็นผู้เขียน ตามด้วยคุณก่อแก้ว จากนั้นจะควบคุมตัวใครอย่างไรผู้เขียนก็ไม่มีโอกาสรู้ จะควบคุมตัวฝั่ง กปปส. และพรรคฝ่ายค้านไปด้วยหรือเปล่าก็ไม่อาจทราบได้ แต่เดาว่าเขาคงควบคุมตัวด้วยชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้วคงปล่อยไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคประชาธิปัตย์ 5 คน

ส่วนตัวผู้เขียนเองถูกควบคุมตัวขึ้นรถตู้ เข้าใจว่ามีคุณก่อแก้วนั่งมาด้วย สักพักก็มีทหารใช้หมวกไหมพรมดำมาครอบหัวจงใจปิดตาเพื่อไม่ให้มองเห็น แล้วเอาเอ็นรัดข้อมือมามัดมือ 2 ข้างไว้ด้วยกัน หมวกไหมพรมครอบศรีษะ ปิดตาใช้ครอบซ้ำ 2 ชั้นเพื่อไม่ให้มองเห็นได้เลย ผู้เขียนคาดเดาว่ารถตู้ที่นำมาเพื่อขึ้นเฮลิคอปเตอร์ก็เป็นความจริง ก่อนหน้านี้ ณัฐวุฒิได้พูดในวงอาหารแล้วว่า ได้ข่าวว่ามีการเตรียมเฮลิคอปเตอร์ น่าจะเอา 2 ฝ่ายไปเก็บหมด แต่ไม่ได้ตระหนักว่าเป็นความจริง รวดเร็วเพียงไร แต่ละฝ่ายขนหัวหน้ามาหมด ยกเว้นฝ่ายรัฐบาลที่คุณนิวัฒน์ธำรงไม่มา และคุณจารุพงศ์หัวหน้าพรรคไม่มา

นี่ต้องยอมรับว่าฝั่งเราประเมิน ผบ.ทบ. ต่ำไปในแง่นี้ แต่ถามว่าการสรุปทางออกว่าอย่างไร เขาต้องทำรัฐประหารแน่นั้นเราสรุปเช่นนี้มาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปราศรัยของผู้เขียนใน 2-3 วันก่อนรัฐประหารว่า เมื่อวิถีทางต่าง ๆ ล้มเหลวในการกำจัดรัฐบาลและสิ่งที่เรียกกันว่า “ระบอบทักษิณ” ผู้เขียนได้ประเมินด้วยว่าจะประกาศใช้กฎอัยการศึกและทางสุดท้ายเขาจำเป็นต้องทำรัฐประหารในที่สุด นี่เป็นคำปราศรัยหลายครั้งที่ถนนอักษะ

เมื่อเฮลิคอปเตอร์บินมาสักพักก็จอด (ก่อนหน้าขึ้นเฮลิคอปเตอร์ แว่นตาผู้เขียนก็ถูกยึดไป และได้รับคืนในเวลาต่อมา) ผู้เขียนถูกนำตัวขึ้นรถปิ๊กอัพ ยังถูกหมวกไหมพรมคลุมหัวจนถึงจมูก แล้วก็ถึงบ้านที่เขาให้เก็บตัว มีทหารถือปืนรักษาการณ์เข้มแข็ง หน้าบ้านและหลังบ้านมีลวดหนามกลมขนาดใหญ่เต็มล้อมบ้านไว้ ตอนแรกยังคาดว่าจะได้อยู่กับก่อแก้ว แต่กลายเป็นอยู่คนเดียว แล้วก็มาเสื้อผ้าชุดเดียว ไม่มีกระเป๋าติดมาเลย ปกติต้องกินยารักษาความดันโลหิตทุกวัน ก็บอกเขาแล้วว่ายารักษาโรคความดันโลหิตสูงต้องรับประทานทุกวัน และยาสำหรับผู้สูงอายุอื่น ๆ ที่สำคัญคือยาความดันโลหิต

วันที่ 23 เช้า ยังออกมายืดเส้นยืดสายได้บ้าง แต่ไม่ถึงชั่วโมงทหารก็ขอให้ขึ้นไปอยู่เฉพาะในห้องข้างบน จะอยู่ภายในบ้านชั้นล่างก็ไม่ได้ ดังนั้นจากวันที่ 23 ถึงวันที่ได้รับการปล่อยตัวผู้เขียนก็ต้องอยู่ในห้องเล็ก ๆ 3.5 x 3.5 เมตร ตลอดเวลา...คนเดียว...ไม่มีหนังสือพิมพ์ ในวันที่ 26 จึงได้รับอนุญาตให้ดูทีวีได้ ดังนั้น 3 วันแรกนับจากถูกตำตัวออกมาจากห้องประชุม 7 ฝ่ายนั้น ผู้เขียนไม่ได้รับรู้ข่าวคราวข้อมูลใด ๆ ของพี่น้องประชาชนและสังคมไทยเลย

สิ่งที่ตัวเองได้รับการปฏิบัติ ไม่ว่าจะใช้ถุงครอบหัวและมัดมือดุจอาชญากร ไม่ได้ทำให้วิตกกังวลใด ๆ เมื่อเทียบกับชะตากรรมของพี่น้องประชาชนเสื้อแดงที่ถนนอักษะและในทุกพื้นที่ที่ไม่รู้ว่าจะเผชิญสภาพเลวร้ายเพียงใด เมื่อได้ดูทีวีจึงพอรับรู้ข้อมูลว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างเท่าที่โทรทัศน์จะสามารถให้ข้อมูลได้ อย่างน้อยก็ได้รับรู้ประกาศของ คสช.

ความจริงผู้เขียนต้องการเขียนบันทึกทุกวัน แต่เขาไม่ให้แม้แต่กระดาษเปล่า จึงเขียนได้ 4-5 หน้า หนังสือที่เอามาให้อ่านก็มีแต่หนังสือธรรมะแบบเดียวกับคนในคุก ประมาณว่าเป็นอาชญากร สมควรอ่านหนังสือธรรมะได้อย่างเดียว ผู้เขียนก็บอกว่าหนังสืออะไรก็ได้ ประวัติศาสตร์ ท่องเที่ยว อะไรก็ได้ เพราะตอนนั้นไม่แน่ใจว่าจะถูกขังอยู่นานเท่าไร?

ไม่ได้พูดกับใครเลย เขาให้อยู่ชั้นบน ห้องขนาด 3.5 x 3.5 เมตร แต่ยังดีมีแอร์คอนดิชั่น และช่วงหลังได้ดูทีวีบ้าง ของไทยไม่มีอะไรดูก็ไปดูสารคดีและหนังต่างประเทศบ้าง วันแรก ๆ ผู้เขียนมอง ๆ ดูชั้นล่างเห็นหนังสือชีวประวัติอาจารย์เสาร์ เล่มเบ้อเริ่ม อ่านแล้วได้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของพระป่าธรรมยุติและประวัติศาสตร์ของประชาชนอีสานส่วนหนึ่ง ถือว่าได้หนังสือดี ได้รับรู้เรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์ของพระสายธรรมยุติอีสาน สายอาจารย์เสาร์ อาจารย์มั่น ที่ผู้เขียนพูดกับนักข่าวว่า หนังสือธรรมะก็สนุกเหมือนกันคือเล่มนี้นี่เอง มีเรื่องราวกบฏ
ผีบุญ ซึ่งผู้เขียนเพิ่งรู้ว่าไม่ได้มีคนเดียว

สถานที่ที่ควบคุมตัวเป็นบ้านพักนายทหาร มองออกมามีต้นไม้ใหญ่ ด้านหน้ามีไม้ใหญ่เช่นมะม่วง ด้านขวามือมีต้นมะขามใหญ่ หน้าบ้านมีไม้ดอกลีลาวดีต้นใหญ่ รอบบ้านถูกล้อมด้วยลวดหนาม (หีบเพลง) มีทหารเฝ้าหน้าบ้าน หลังบ้าน ในบ้าน

แรก ๆ ก็ให้รับประทานอาหารกล่องแบบเดียวกับทหาร แต่หลังจากนั้น 2-3 วันก็เริ่มมีอาหารใส่จานเดินมาส่ง และก็พยายามบริการอาหารเครื่องดื่มดียิ่งขึ้น แต่ไม่เห็นมีใครมาคุยเลย โดยเฉพาะนายทหารคงจะไม่มีเวลากระมัง จนถึงวันสุดท้ายที่จะปล่อยตัว จึงมีนายทหารมาแจ้งและได้คุยกันเล็กน้อย พร้อมทั้งแจ้งว่ามีกระเป๋าเสื้อผ้าและยาจากครอบครัว

ผู้เขียนเข้าใจว่าคุณหมอสลักธรรมคงจะพยายามฝากยาและเสื้อผ้าให้แม่และพ่อ ลูกของเราคงจะยากลำบากในสถานการณ์เช่นนี้ และมารู้ภายหลังว่าในเย็นวันที่ 22 มีทหารมาค้นบ้าน ดีที่หมอสลักธรรมอยู่บ้านจึงได้เชิญตำรวจมาร่วมตรวจสอบและลงบันทึกหลักฐานและการตรวจสอบ วันรุ่งขึ้นทหารก็เอาเอกสารที่เก็บไปมาคืนที่สถานีตำรวจ

นอกจากนั้นลูกได้ไปยื่นหนังสือกับ ผบ.ทบ. ในนามครอบครัวร่วมกับภรรยาแกนนำอื่น ๆ เพื่อขอเยี่ยมในฐานะคนในครอบครัว ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกฎหมายระหว่างประเทศและข้อตกลงให้สัตยาบันกับองค์กรสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ ต้องเปิดเผยสถานที่คุมขัง ญาติต้องเยี่ยมได้ แต่ในที่สุดแม้จะเป็นประกาศกฎอัยการศึกเองก็รวมให้คุมขังไม่เกิน 7 วัน ไม่ว่าจะถูกคุมขังแบบไหนก็ตาม ซึ่งจริง ๆ หลักการของสังคมอารยะชน การจำกัดสิทธิเสรีภาพ การคุกคามและเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้

จึงอยากเรียกร้องมายังผู้กระทำรัฐประหารและประกาศกฎอัยการศึกให้เข้าใจประชาชนที่เขาต้องออกมาคัดค้านการทำรัฐประหารว่า ไม่ใช่เรื่องเกลียดชังส่วนตัว แต่เป็นปัญหาหลักการของประชาชนผู้รักประชาธิปไตย ดังที่ท่านก็ทราบดีว่าวิธีการทหารไม่อาจแก้ปัญหาทางการเมืองได้จริง แต่อารยชนในสังคมโลกและสังคมไทยย่อมไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารยึดอำนาจประชาชน การจับกุมคุมขังประชาชน และต้องการให้คืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็ว

คืนวันที่ 27 พ.ค. ก็มีนายทหารมาพูดคุยแจ้งว่าให้เตรียมตัวกลับพรุ่งนี้เช้าเวลา 06.00 น. ขอให้ตื่นตั้งแต่ 04.30 น. โดยจะให้ทหารมาเรียกที่ประตูพร้อมทั้งมีกระเป๋าใบเบ้อเร่อฝากมาให้ เราก็บอกเขาว่าต้องรีบเอามานะเพราะกลับไปแล้วจะต้องมาทวงคืนแน่นอน ก็ได้ผลคือเขารีบเอามาให้หลังจากนั้นทันที คุณหมอหวายขนเสื้อผ้ากับยามาเพียบเลยโดยเฉพาะยากับหนังสือสองเล่ม คงเข้าใจว่าแม่ต้องอยู่นานกระมัง ก็เลยได้มีโอกาสใช้ครีมล้างหน้าเพราะก่อนหน้าแชมพูสระผมเพียงขวดเดียวใช้งานในทุกกรณี

ผู้เขียนตื่น 04.00 น. โดยไม่ต้องมีใครมาปลุก จากนั้นทหารมาเรียกให้ลงไปรอประมาณตีห้าเศษและใช้ผ้าปิดตา ต่อมามีนายทหารมาโวยวายและขอโทษเพราะยังไม่ถึงเวลาที่จะต้องปิดตาและออกมารอ

จากนั้นประมาณหกโมงเศษก็ถูกนำขึ้นรถตู้และปิดตามาจนถึงกทม. สังเกตว่าบ้านใกล้ ๆ ก็มีรถตู้มาจอดอยู่ซึ่งทราบภายหลังว่าเป็นบ้านที่ควบคุมตัวคุณวีระกานต์ จนมาถึงใกล้สนามบินสุวรรณภูมิเขาก็เปิดตา ถือว่าเข้าเขตกรุงเทพฯ แล้ว ก็ตรงมาที่หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ เมื่อรถจอดจึงเห็นว่ามีรถตู้ตามกันมา 5 คัน ก็เข้าใจได้ว่าคงจะตามมาด้วยจตุพร ณัฐวุฒิ ก่อแก้ว ครบ 5 คนพอดี แล้วได้มาพบกันพร้อมหน้าในห้องประชุมเล็กเพื่อพูดคุยกันจนถึงบ่าย จากนั้นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ (มาก ๆ) ก็มาคุยแลกเปลี่ยนขอความเห็นใจในการทำรัฐประหารและขอความร่วมมือ

ผู้เขียนก็ได้แสดงความคิดเห็นดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นคือ คนที่ต่อต้านการทำรัฐประหารนั้นเป็นปัญหาหลักการของผู้รักประชาธิปไตยไม่ใช่ปัญหาส่วนตัว ขอให้หลีกเลี่ยงการจับกุมคุมขัง ในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนพวกเราตกลงกันว่าให้คุณจตุพรเป็นผู้แถลงต่อหน้าสื่อเพียงคนเดียว และอันที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องเป็นกังวลสักเท่าไร เพราะมีสื่อของกองทัพเพียงสื่อเดียวเท่านั้น จากนั้นนพ.สลักธรรมก็มารับพ่อกับแม่กลับบ้าน

มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่ได้แลกเปลี่ยนกันก่อนหน้านี้ได้ถามผู้เขียนว่าทำไมหน้าตาเฉย ๆ ไม่ยิ้มแย้มดีใจที่ได้กลับบ้าน ผู้เขียนกล่าวว่าจะยิ้มและดีใจได้อย่างไรเพราะยังมีคนที่ไม่ได้รับการปล่อยตัวอีกมาก!!!

เป็นอันว่าจบเรื่องไปตอนหนึ่ง ต้องถือโอกาสขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ให้ความเป็นห่วงปัญหาความปลอดภัยของแกนนำทุกท่าน แต่ว่าจริง ๆ เราเป็นห่วงความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนมากกว่า ดังนั้นความลำบากหรืออิสรภาพในช่วงเวลาสั้น ๆ นี้ไม่เท่ากับความห่วงใยซึ่งกันและกันของประชาชนผู้รักประชาธิปไตยทุกคน ขอบคุณและยังไม่รู้ว่าจะมีเรื่องทำนองนี้ให้เล่าในเวลาต่อไปอีกหรือเปล่า.

รักและห่วงใยพี่น้องทุกคน
ธิดา ถาวรเศรษฐ
13 มิ.ย. 57

 

ที่มา: เฟซบุ๊ก ธิดา ถาวรเศรษฐ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net