Skip to main content
sharethis
สปส.ลงทุน 1.2 หมื่น ล.หวังกำไรพันล้าน/ปี เดินหน้าเพิ่มสิทธิประกันสังคม
 
(11 มิ.ย.) ที่สำนักงานประกันสังคม  ดร.อำมร เชาวลิต เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน แถลงผลงานครึ่งปีแรก 2557 ว่า สปส. ได้มีการปรับโครงสร้างหน่วยงานการลงทุนให้มีความคล่องตัวรองรับกานลงทุนที่เติบโตมากขึ้น โดยขยายสัดส่วนการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ โดยตั้งเป้าเพิ่มเงินลงทุนให้เป็น 2 ล้านล้านบาท ในปี พ.ศ. 2561 จากปัจจุบัน 1.1 ล้านล้านบาท พร้อมตั้งเป้าว่าจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนเพิ่มจากร้อยละ 4.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 5.5 ต่อปี เพื่อรองรับการจ่ายเงินบำนาญและบำเหน็จชราภาพ ทั้งนี้ สปส. กำลังอยู่ระหว่างการยกระดับ สำนักบริหารการลงทุนให้เป็นหน่วยงานอิสระ ที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีลักษณะการบริหารงานแบบเบ็ดเสร็จในตัวเอง โปร่งใสตรวจสอบได้และสามารถแข่งขันได้อย่างคล่องตัวโดยทีมงานมืออาชีพ ในการบริหารงาน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงยิ่งขึ้น ซึ่งได้เสนอเรื่องนี้ต่อ คณะกรรมการรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รับทราบแนวคิดของ สปส. แล้ว โดยอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลส่งไห้ปลัดกระทรวงแรงงาน นำไปเสนอแผนงานกับ คสช. ต่อไป ทั้งนี้เมื่อวันที่ 3 มิถุนายนทีผ่านมา คณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ได้มีมติให้ขยายสัดส่วนการลงทุนใน 2 ส่วน คือ การนำผลกำไรที่ได้จากการลงทุนตราสารหนี้ไปลงทุนในหุ้นไม่เกิน 5,000 ล้านบาท และการเพิ่มเงินลงทุนรวมหุ้นต่างประเทศที่จำหน่ายในประเทศไทย อีกไม่เกิน 7,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างกำไรเพิ่มขึ้นอีกกว่าปีละ 1,000 ล้านบาท
       
นอกจากนี้ สปส. ได้สนับสนุนงบประมาณให้กับโรงพยาบาลของรัฐจำนวน 98 แห่ง ในการจัดตั้งคลินิกโรคจากการทำงาน แห่งละ 2 แสนบาท ในการทำหน้าที่ตรวจรักษาโรคที่เกิดจากการทำงาน อาทิ การปวดเมื่อยร่างกาย หรือ ระบบทางเดินหายใจ ขณะที่การสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ข้อมูล ณ วันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมาจำนวน 1,765,708 คน จากเป้าที่ตั้งไว้จำนวน 1,759,000 คน ในสิ้นปีนี้
       
ดร.อำมร กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา สปส. ได้ปรับปรุงสิทธิประโยชน์ด้านการให้บริการทางการแพทย์ ดังนี้ เพิ่มรายการอุปกรณ์ อวัยวะเทียมของผู้ทุพลภาพ จาก 50 รายการเป็น 85 รายการ และเพื่มรถนั่งคนพิการเป็นแบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า และให้สามารถเบิกค่าซ่อมแซมได้ หากอุปกรณ์ที่ต้องใช้ไม่มในรายการที่กำหนดสามารถเบิกเพิ่มได้ตามรายการของกรมบัญชีกลาง ซึ่งในปี 2557 มีผู้ทุพพลภาพจำนวน 10,016 ราย จะใช้งบประมาณจำนวน 4.5 ล้านบาท รวมทั้งจะเพิ่มรายการค่าตอบแทนแพทย์ในการตรวจร่างกายผู้ทุพพลภาพจาก 200 บาทต่อราย เป็น 500 บาทต่อราย การตรวจนอกสถานที่จาก 200 บาทต่อชั่วโมงต่อราย เป็น 500 บาทต่อชั่วโมงต่อราย แต่ไม่เกิน 2,500 บาท ซึ่ง สปส. จะออกเป็นประกาศคณะกรรมการแพทย์เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคมต่อไป
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 11-6-2557)
 
นศ.แจ้งจับเอเยนต์หลอกฝึกงานโรงแรมแดนลอดช่อง
 
(11 มิ.ย.) ที่กองปราบปราม เมื่อเวลา 13.30 น. นางปวีณา หงสกุล อดีต รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี พาผู้เสียหายซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ กว่า 30 คนที่ถูกตัวแทนบริษัทจัดหางานหลอกลวงให้เดินทางฝึกงานที่ประเทศสิงคโปร์ แต่กลับมีการปลอมแปลงเอกสารจนถูกยกเลิกการฝึกงาน เดินทางเข้าพบ พล.ต.ต.นรบุญ แน่นหนา รอง ผบช.ก.รักษาราชการ ผบก.ป. เพื่อแจ้งความดำเนินคดีต่อตัวแทนบริษัทจัดหางานดังกล่าว
       
ผู้เสียหายรายหนึ่งกล่าวว่า ถูกนายหน้าบริษัทจัดหางานดังกล่าวหลอกลวงให้ร่วมโครงการฝึกงานที่โรงแรมในประเทศสิงคโปร์ และมีรายได้ดี แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายรายละ 25,000-29,000 บาท และต้องออกค่าตั๋วเครื่องบินเอง ตนและนักศึกษากว่า 100 คนหลงเชื่อทำสัญญาและบินไปสิงคโปร์ กระทั่งทราบว่าถูกนายหน้าจัดหางานรายนี้ปลอมเอกสารมหาวิทยาลัย เนื่องจากโรงแรมดังกล่าวเปิดรับเฉพาะนักศึกษาจาก 3 สถาบัน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่อยู่ที่นั่นต้องทำงานหนัก ที่พักก็คับแคบ ความเป็นอยู่ยากลำบาก ไม่เป็นไปตามสัญญาที่มีการชักชวนจากนายหน้าจัดหางาน
       
ด้านนางปวีณากล่าวว่า เบื้องต้นได้ประสานกับทางกระทรวงการต่างประเทศเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาที่ยังตกค้างอยู่ในประเทศสิงคโปร์แล้ว รวมทั้งประสานไปยังกระทรวงแรงงานในการช่วยเหลือเรื่องค่าจ้างและเงินล่วงเวลาที่นักศึกษายังไม่ได้รับด้วย
       
ส่วน พล.ต.ต.นรบุญกล่าวว่า ได้รับเรื่องไว้โดยมอบหมายให้พนักงานสอบสวน บก.ป.ได้สอบปากคำผู้เสียหายไว้ ก่อนจะรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป โดยจะต้องสืบหาข้อเท็จจริงให้รอบด้านจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนความผิดที่เกิดขึ้นน่าจะเข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน และความผิดฐานจัดหางานโดยให้คนงานไปฝึกงานหรือทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 11-6-2557)
 
กกจ. เรียกประชุม คกก. ช่วยคนทำงานต่างประเทศ ร่วมวางแผนอพยพแรงงานจากลิเบีย หวั่นสถานการณ์บานปลาย
 
(11 มิ.ย.) นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศลิเบีย ว่า มีการสู้รบกันของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงติดอาวุธประมาณ 250,000 คน ซึ่งที่ผ่านมามีการกราดยิงสถานที่ราชการ ที่พักผู้นำประเทศ และมีประกาศจะทำร้ายชาวอเมริกัน จนรัฐบาลสหรัฐฯต้องอพยพพลเมืองออกจากลิเบีย รวมทั้งประเทศฟิลิปปินส์ก็ประกาศอพยพพลเมืองแล้ว ทั้งนี้ เพื่อความไม่ประมาท กกจ. จึงได้มีการเตรียมการล่วงหน้า โดยวันนี้ได้เรียกประชุมคณะกรรมการกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ เพื่อกำหนดวิธีการช่วยเหลือ เนื่องจากหากมีการอพยพแรงงานไทยจะเงินจากกองทุนนี้ ซึ่งปัจจุบันมีแรงงานไทยอยู่ในลิเบียจำนวน 1,580 คน ส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมน้ำมันและแก๊ส ขณะเดียวกัน ได้เรียกประชุม 6 บริษัทที่ได้รับอนุญาตให้จัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่ลิเบียมาหารือ และให้สอบถามแรงงานว่าจะเดินทางกลับประเทศไทยหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่มีแรงงานแจ้งความจำนงกลับ นอกจากนี้ การเดินทางออกนอกประเทศลิเบียจะต้องทำเอ็กซิตวีซ่า เพื่อให้สามารถเดินทางกลับประเทศได้
       
อย่างไรก็ตาม หากมีแรงงานแจ้งความจำนงจะเดินทางกลับไทยจะต้องใช้เวลาในการจัดทำเอกสารประมาณ 7 วัน หากมีสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็ได้มีการนัดหมายจุดที่สามารถอพยพแรงงานออกนอกประเทศได้ ทั้งทางบก ทางเรือ และอากาศ โดยออกทางประเทศตุรกี อียิปต์ อีกทั้งประสานสถานทูตเพื่อเตรียมออกเอกสารรับรองตัวบุคคลทดแทนหากเอกสารสูญหาย
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 11-6-2557)
 
แรงงานเขมรในไทยยังตื่นข่าวลือ ทหารไทยกวาดล้างแรงงาน แห่หนีกลับประเทศจนล้นทะลัก "พลโท" เขมรรุดเจรจา 
 
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 11 มิ.ย. 57 ที่กองร้อยทหารพรานที่ 1206 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 12 กองกำลังบูรพา บริเวณจุดตรวจ อ.05 หน้าด่านพรมแดนอรัญประเทศ จ.สระแก้ว พ.อ.พิชิต มีคุณสุต ผบ.ฉก.กรม.ทพ.12 กกล.บูรพา และ ร.อ.อภินันท์ สงครามชัย ผบ.ร้อย ทพ.1206 ฉก.กรม.ทพ.12 กกล.บูรพา ได้ให้การต้อนรับ พลโท เป็ก วันนา หัวหน้าสำนักงานประสานงานชายแดนกัมพูชา-ไทย ประจำพื้นที่ภูมิภาคทหารที่ 5 ของกัมพูชาซึ่งดูแลพื้นที่แนวชายแดนกัมพูชาที่ติดกับประเทศไทยตั้งแต่ทางด้าน จ.อุบลราชธานี จนถึง จ.ตราด รวมระยะทากว่า 800 กม.
 
พลโท เป็ก เผยว่า ที่ผ่านมา มีข่าวลือในกลุ่มแรงงานชาวกัมพูชาที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยถูกทหารไทยกวาดล้างจับ โดยให้เวลาถึง 30 มิ.ย.57 และมีการใช้ปืนยิงชาวกัมพูชาเสียชีวิต ข่าวลือดังกล่าวได้ส่งผลให้แรงงานกัมพูชาในไทยทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายต่างตื่นกลัวจนเกิดการอพยพหนีกลับประเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงเวลา 2-3 วันที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าข่าวดังกล่าวไม่มีมูลความจริง แต่ทางโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กของกัมพูชายังไม่หยุดแชร์ข่าว ทำให้ชาวกัมพูชายังคงโทรศัพท์เรียกญาติของตนกลับประเทศ ทำให้ด่านพรมแดนอรัญประเทศ จ.สระแก้ว มีชาวกัมพูชาจำนวนมากแห่ทยอยกลับจนล้นทะลัก 
 
"เบื้องต้น ได้ขอความร่วมมือกับ จนท.ทหารไทยช่วยชี้แจงและประชาสัมพันธ์ให้แรงงานชาวกัมพูชาได้รับรู้ข้อเท็จจริงและอย่าหลงเชื่อข่าวลือดังกล่าวด้วย ซึ่งการเจรจาเป็นไปด้วยมิตรไมตรีที่ดีต่อกัน" พลโทเป็ก
 
ด้าน พ.อ.พิชิต กล่าวว่า ได้รับปาก พลโทเป็ก ว่าทางทหารไทยจะดูแลและอำนวยความสะดวกให้แก่แรงงานชาวกัมพูชา และจะประชาสัมพันธ์ให้แรงงานชาวกัมพูชาได้รู้ข้อเท็จจริงและอย่าตื่นตระหนกเรื่องข่าวลือดังกล่าวด้วย
 
ขณะที่ พ.ต.ท.เบญจพล รอดสวาสดิ์ รอง ผกก.ตม.จว.สระแก้ว เผยว่า จากข่าวลือดังกล่าวทำให้แรงงานกัมพูชาได้อพยพกลับประเทศครั้งใหญ่ จนห้องกักกันรอส่งกลับไม่พอรองรับ อีกทั้งยังต้องเสียงบประมาณหาว่าจ้างรถยนต์บรรทุกนับสิบคันมาทยอยนำชาวกัมพูชาทั้งหมดไปผลักดันกลับประเทศบริเวณหน้าด่านพรมแดนอรัญประเทศ ซึ่งในห้วง 3 วันที่ผ่านมา ได้ผลักดันกลับประเทศไปแล้วเกือบ 5,000 คน ซึ่งคาดว่ะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากข่าวลือดงกล่าวยังไม่ยุติ
 
พ.ต.ท.เบญจพล เผยอีกว่าขณะนี้ผู้ประกอบการต่างๆ ที่ใช้แรงงานกัมพูชาทั้งใน กทม.และจังหวัดภาคตะวันออกแทบเจ๊งหมดแล้วเนื่องจากแรงงานชาวกัมพูชาแห่หนีกลับประเทศ โดยเฉพาะแรงงานก่อสร้าง กทม.ผู้ประกอบการต้องหยุดการก่อสร้างเนื่องจากขาดแรงงาน
 
(ไทยรัฐ, 11-6-2557)
 
สธ.เผย ปชช.ระยอง 118 รายได้รับผลกระทบจากเหตุไฟไหม้โรงงาน
 
11 มิ.ย.-สธ. เผยพบประชาชนได้รับผลกระทบจากโรงงงาน 2 แห่งใน จ.ระยอง รวม 118 ราย จากเหตุเพลิงไหม้บริษัทไออาร์พีซี อ.เมืองระยอง 91 ราย และจากกลิ่นที่มาจากโรงงานพูแรด อ.บ้านฉาง 27 ราย อาการไม่รุนแรง ส่วนใหญ่วิงเวียนศีรษะ ระคายเคืองผิวหนัง อาการไม่รุนแรง ส่งทีมแพทย์เฝ้าระวังต่อเนื่องอีก 1 สัปดาห์ ทั้ง 2 จุด ผลการตรวจคุณภาพอากาศพบว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ
 
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยความคืบหน้าผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่บริการประชาชนในพื้นที่ 3 ตำบลที่อยู่ใกล้บริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) อ.เมือง จ.ระยอง ได้แก่ ต.เชิงเนิน, ต.ตะพง และ ต.บ้านแลง จากเหตุระเบิดภายในบริษัทไออาร์พีซีว่า ได้รับรายงานล่าสุดเมื่อเวลา 17.00 น. มีประชาชนมารับบริการ 91 ราย ส่วนใหญ่มีอาการวิงเวียนศีรษะ ระคายเคืองผิวหนัง ไม่มีอาการรุนแรง จำนวน 67 ราย มารับบริการตรวจโรคทั่วไป 24 ราย   
 
สำหรับที่โรงงานพูแรค ซึ่งตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย อ.บ้านฉาง จ.ระยอง มีประชาชนไปรับบริการที่โรงพยาบาลมาบตาพุด 27 ราย เป็นพนักงาน 18 ราย และประชาชนที่อยู่ใกล้โรงงาน 9 ราย ส่วนใหญ่มีอาการวิงเวียนศีรษะจากการสูดกลิ่นสารเคมี ไม่มีอาการรุนแรง แพทย์ให้กลับบ้าน รวมทั้ง 2 แห่งมีประชาชนได้รับผลกระทบรวม 118 ราย
 
นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยองเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพประชาชนทั้ง 2 จุดต่อเนื่องไปอีก 1 สัปดาห์ ระหว่างวันที่ 10-17 มิถุนายน 2557 โดยได้แจกเอกสารแผ่นพับให้ความรู้การป้องกันตนเองจากกลิ่นสารเคมี พร้อมทั้งได้ส่งทีมดูแลสุขภาพจิตลงพื้นที่เพื่อสำรวจความเครียด พบว่าประชาชนยังมีสภาพจิตใจดี เข้าใจสภาพปัญหาของพื้นที่ดี  
 
นพ.ชุมพล สุวรรณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระยอง กล่าวว่า จากการตรวจสอบคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ พบว่าค่าสารระเหยในบรรยากาศอยู่ในเกณฑ์ปกติ ประชาชนไม่ต้องวิตกกังวลแต่อย่างใด วันนี้ นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตบริการสุขภาพที่ 6 ได้เดินทางตรวจเยี่ยม และประชุมหน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง โรงพยาบาลระยอง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองระยอง โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต และผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ จากสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 6 ชลบุรี กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ และการเฝ้าระวังผลกระทบต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อสุขภาพ พร้อมทั้งจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่บริการตรวจสุขภาพประชาชนต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่พักอาศัยอยู่บริเวณใกล้โรงงาน หากประชาชนพบว่ามีอาการผิดปกติสามารถเข้ารับบริการได้ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือโรงพยาบาลที่ใกล้เคียงได้ทันที
 
(สำนักข่าวไทย, 11-6-2557)
 
กสร.เตรียมเสนอของบปี 58 เร่งสำรวจการใช้แรงงานเด็ก
 
นายสุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการแก้ปัญหาการใช้แรงงานเนื่องในวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 12 มิ.ย. ทุกปี ว่าระหว่างเดือนตุลาคม 2556-พฤษภาคม 2557 พบว่าลูกจ้างเด็กอายุ 15-18 ปี ซึ่งเป็นการจ้างงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายในสถานประกอบการต่างๆ ทั่วประเทศ 3,470 คน และมีสถานประกอบการ 6 รายในจังหวัดสมุทรสาคร นนทบุรี และราชบุรี ที่จ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ทำงานรวม 21 คน โดยทั้งหมดเป็นเด็กต่างด้าว ซึ่งพนักงานตรวจแรงงานได้แจ้งความดำเนินคดีกับสถานประกอบการทั้ง 6 ราย และได้ช่วยเรียกร้องสิทธิต่างๆ
 
ส่วนสถานการณ์การใช้แรงงานเด็กดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา แต่ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติมีข้อมูลว่ามีเด็กทำงานหลายแสนคนนั้นเป็นการสำรวจเด็กที่มีอายุ 15-18 ปี ที่ครอบคลุมเด็กทำงานในภาพรวม เช่น นักเรียนที่ทำงานพาร์ทไทม์ในร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด ซึ่งไม่ได้มีการแยกเรื่องกรณีลูกจ้างเด็กและการใช้แรงงานเด็กโดยผิดกฎหมายออกมาโดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีกรณีแรงงานต่างด้าวบางรายในอุตสาหกรรม เช่น ประมง เครื่องนุ่งห่ม มีรูปร่างเล็กดูเหมือนเด็ก ทำให้ถูกมองว่าเป็นการใช้แรงงานเด็ก
 
ทั้งนี้ กสร. จะสำรวจสภาวะการทำงานของเด็กว่าในสถานประกอบการต่างๆ ทั่วประเทศว่ามีลูกจ้างเด็กทำงานอยู่เท่าไร และมีการใช้แรงงานเด็กโดยผิดกฎหมายหรือไม่ โดยจะเสนอของบประมาณในปี 2558 จากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำนวน 20 ล้านบาท ซึ่งผลสำรวจจะเป็นประโยชน์ในการเสนอให้สหรัฐอเมริกาถอดสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานเด็ก ซึ่งไทยจะเสนอถอดถอนสินค้ากุ้งและน้ำตาลก่อนเป็นอันดับแรกที่สหรัฐอเมริกาจะพิจารณาในเดือนกันยายนนี้
 
(สำนักข่าวไทย, 12-6-2557)
 
ปลัด ก.แรงงาน เตรียมเสนอ กนร.พิจารณาผ่อนผันแรงงานต่างด้าวยังไม่ได้พิสูจน์สัญชาติอยู่ในไทยอีก 1 ปี
 
นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ดีใจที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวที่ยังมีปัญหาอยู่มาก จึงได้ตั้งคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว (กนร.) โดยมี พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะรองหัวหน้า คสช.ฝ่ายความมั่นคง เป็นประธาน ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ โดยเฉพาะการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ได้ผ่านการพิสูจน์สัญชาติสามารถอยู่ในไทยได้อีก 1 ปี เนื่องจากใบอนุญาตการทำงานจะครบกำหนดในวันที่ 11 สิงหาคมนี้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับนโยบายของ คสช.เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน
 
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานรับผิดชอบเรื่องการใช้แรงงานในการให้แรงงานต่างด้าวทำงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่อยู่ตามแนวชายแดนของไทยแบบมาเช้า-เย็นกลับ และแรงงานตามฤดูกาล รวมทั้งการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะงานก่อสร้างที่มีการเคลื่อนย้ายงานไปตามที่ต่าง ๆ ซึ่งนายจ้างที่จะพาแรงงานออกนอกจังหวัดที่ได้รับอนุญาตต้องยื่นเรื่องขออนุญาตเคลื่อนย้ายแรงงานกับกรมการจัดหางานก่อน ซึ่งมีค่าธรรมเนียมครั้งละ 1,000 บาทต่อการเคลื่อนย้ายแรงงาน 1 ครั้ง ซึ่งนายจ้างมองว่าเป็นการเพิ่มภาระ เพราะลักษณะของงานไม่ได้อยู่เพียงจังหวัดเดียว  โดยกระทรวงแรงงานอาจจะเสนอเรื่องนี้ต่อ กนร.พิจารณาด้วย พร้อมมอบหมายให้นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน ในฐานะรองประธานอนุกรรมการ กนร.นำประเด็นนี้ไปหารือฝ่ายเลขานุการ กนร.ด้วยว่าควรนำมาพิจารณาหรือไม่
 
(สำนักข่าวไทย, 12-6-2557)
 
ปลัดแรงงานเตรียมพูดคุยนายจ้าง-สหภาพโตโยต้า สร้างความมั่นใจนักลงทุน
 
วันที่ 13 มิถุนายน ที่กระทรวงแรงงาน นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในวันที่ 14 มิถุนายน จะมีการประชุมสมาพันธ์สหภาพแรงงานโตโยต้า ประจำปี 2557 และบริษัทในเครือทั้งหมด 42 แห่ง ที่เดอะไทน์รีสอร์ท จ.ชลบุรี และได้เชิญตนในฐานะผู้บริหารกระทรวงแรงงานไปร่วมพูดคุย ซึ่งตนได้ตอบรับเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้และในการประชุมจะมีนักลงทุนชาวญี่ปุ่นมาร่วมงานด้วย 
 
โดยตนจะไปบรรยายพิเศษเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน อีกทั้งจะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการและลูกจ้างบริษัทโตโยต้าและบริษัทในเครือ42แห่งและลูกจ้างรวมกว่า 10,000 คน เป็นต้นแบบในการมีความปรองดองสมานฉันท์กันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเพื่อส่งเสริมการลงทุนในไทยซึ่งจะเป็นตัวอย่างให้แก่บริษัทต่างชาติอื่นๆและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนว่าจะไม่มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง 
 
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้บริษัทโตโยต้าและบริษัทเครือข่ายเตรียมจะย้ายฐานการลงทุนออกไปจากประเทศไทยซึ่งมีมูลค่าการลงทุนถึง 20,000 ล้านบาท เนื่องจากประเทศไทยมีปัญหาวิกฤตทางการเมือง ทำให้บรรยากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน
 
แต่ขณะนี้ไทยพ้นวิกฤตทางการเมืองมาแล้ว เนื่องจากการเข้ามาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และบริษัทโตโยต้าก็เกรงว่าหากบริษัทคู่ค้า(พาร์ทเนอร์)ย้ายฐานการผลิตไป จะเกิดความเสี่ยงในการส่งชิ้นส่วนรถยนต์การผลิตให้ไม่ทัน อีกทั้งมีค่าต้นทุนสูงขึ้นทั้งค่าภาษีและค่าขนส่งจะเพิ่มขึ้นจะมีผลทำให้ราคาสินค้าเพิ่มตามไปด้วย บริษัทโตโยต้าจึงพยายามดึงบริษัทคู่ค้าให้อยู่ในไทยต่อไปเพื่อร่วมกันผลิตรถยนต์
 
(มติชน, 13-6-2557)
 
คาดมีแรงงานเวียดนามลักลอบทำงานในไทยไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นคน 
 
นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการทะลักเข้ามาของชาวเวียดนาม จนมีประชาชนย่านการค้าในกรุงเทพฯ แจ้งว่า กลุ่มแรงงานต่างด้าวจำนวนมากส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมาร์ และเวียดนาม ได้เข้ามาค้าขายแย่งอาชีพคนไทย ทั้งที่เป็นอาชีพต้องห้าม ว่า จำนวนชัดเจนยังไม่แน่นอน เพราะมาในคราบนักท่องเที่ยว แต่คาดว่ามากกว่า 5 หมื่นคน ซึ่งปัจจุบันไทยอนุญาตให้แรงงาน 3 สัญชาติ คือ ลาว เมียนมาร์ กัมพูชา ที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องเข้ามาทำอาชีพกรรมกรและรับใช้ในบ้านเท่านั้น จะไปค้าขายไม่ได้ ส่วนเวียดนามยังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงาน แต่แอบเข้ามา คนกลุ่มนี้น่ากลัวเพราะมาแล้วไม่กลับ ไม่ได้มาสร้างประโยชน์ แต่มาแย่งอาชีพคนไทยทำมาหากิน ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กเสิร์ฟ ขายของ อยู่ร้านอาหาร ถนนบางเส้นมีทำงานเต็มไปหมด เมื่อก่อนเคยเข้าไปจับ แต่มีหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้องและช่วยเหลือ ทำให้ทำงานลำบาก โดยแรงงานเวียดนาม แฝงเป็นนักท่องเที่ยวมีหนังสือเดินทางจึงไม่ผิดพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง แต่การลักลอบทำงานมีความผิดตามพระราชบัญญัติการทำงานคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 มาตรา 51 กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับตั้งแต่ 2,000 - 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้ายอมออกนอกราชอาณาจักร ตำรวจจะปรับเพียง 2 พันบาท เมื่อถูกขับออกไปแล้วก็แอบกลับเข้ามาใหม่ จึงไม่หมดสิ้น ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองน่าจะรู้ดี เพราะเวียดนามลักลอบทำงานอยู่ในเมืองไทย 30 วัน แล้วออกไปชายแดนไปแสตมป์กลับเข้ามาอยู่ต่ออีก 30 วัน จะไม่รู้เลยหรือว่าคนกลุ่มนี้ไม่ใช่นักท่องเที่ยว 
 
(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 14-6-2557)
 
นศ.ที่ถูกทางการสิงคโปร์ยึดพาสปอร์ต เดินทางถึงไทยแล้ว
 
เมื่อเวลา 19.00 น. วันที่ 14 มิ.ย.57 นักศึกษาไทยที่ถูกหลอกลวงไปทำงานประเทศสิงคโปร์ผ่านบริษัท เอเยนซี่ ชื่อ ศูนย์แนะแนวการศึกษาต่อต่างประเทศ (Goaboard Education Group )และบริษัท Study Plus จนถูกเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานสิงคโปร์กักตัวไว้สอบสวนและยึดหนังสือเดินทาง จำนวน 40 คน เนื่องจากตรวจสอบพบว่าเอกสารที่ใช้ในการยื่นขอใบอนุญาตทำงานในประเภท Management Trainee เป็นเอกสารปลอมนั้น ได้เดินทางถึงไทยเรียบร้อยแล้ว โดยสายการบินเจ็ทสตาร์ เที่ยวบิน 3K 517 วันนี้ จำนวน 3 คน 
 
ประกอบด้วย นายวีรศักดิ์ มนตรี อายุ 24 ปี , น.ส.ทัศนีย์ ทองแถว อายุ 22 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะการจัดการทั่วไป มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี และ น.ส.ณัฐภาวี ชัยพุฒิกร อายุ 19 ปี นักศึกษาชั้นปีที่2 คณะสำนักวิชาการทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังทางการสิงคโปร์คืนหนังสือเดินทางให้วานนี้(13มิ.ย.) โดยมีนายเชิดศักดิ์ วิสุทธิกุล ผอ.กองตรวจและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน พร้อมเจ้าหน้าที่รอรับที่ชั้น 4 อาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
 
นายวีรศักดิ์ เปิดเผยว่า วันนี้ได้กลับบ้านรู้สึกดีใจมาก ตั้งแต่เกิดเรื่องได้สถานทูตไทยดูแลเป็นอย่างดีทั้งเรื่องการประสานงาน เอกสาร และการใช้ชีวิตประจำวัน หลังถูกกระทรวงแรงงานสิงคโปร์ ยึดหนังสือเดินทางไว้ ส่วนสาเหตุที่ตนตัดสินใจไปฝึกงานกับบริษัทแห่งนี้ เพราะเข้ามาแนะนำการเดินทางไปฝึกงานที่มหาวิทยาลัย จึงทำให้เกิดความเชื่อมั่น โดยการันตีรายได้ที่ประมาณ 12,500 บาท จึงตัดสินใจไป โดยตนเสียเงินค่าใช้จ่ายในการไปฝึกงาน 25,000 บาท ไม่รวมตั๋วเครื่องบินที่ตนต้องซื้อเอง แต่เมื่อไปถึงกลับมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเติม ทำให้เงินสดที่เตรียมไปเกือบไม่พอจ่าย และเมื่อไปถึงกลับได้ทำงานในแผนกแม่บ้าน (Housekeeping) แต่ก็ได้เงินเดือนตามที่ระบุไว้ และได้รับใบรับรองการฝึกงานกลับมา โดยตนเดินทางไปพร้อมกับเพื่อนๆ ในวันที่ 2 มี.ค.57 ที่ผ่านมา
 
ขณะที่ น.ส.ทัศนีย์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ค.57 ที่ผ่านมา ขณะที่ตนกำลังทำงานในตำแหน่งแม่บ้านที่โรงแรมแห่งหนึ่งในสิงคโปร์ ก็ถูกเจ้าหน้าที่จากกระทรวงแรงงานสิงคโปร์ มาเชิญตัวไปสอบสวนพร้อมยึดหนังสือเดินทาง โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่า เอกสารที่ใช้ประกอบการขออนุญาตทำงาน/ฝึกงาน กับโรงแรมที่ตนไปฝึกงานนั้นเป็นของปลอม ตนก็ตกใจพร้อมทั้งพูดคุยว่า ตนและเพื่อนไม่ได้ปลอมเอกสาร และเสียค่าใช้จ่ายมาอย่างถูกต้อง ทำให้เจ้าหน้าที่ของสิงคโปร์ดำเนินการสอบสวนต่อ จนทราบว่า นักศึกษาไทยทั้งหมดไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดในครั้งนี้ และได้คืนหนังสือเดินทางให้ ตนและเพื่อนอีก 2 คน จึงตัดสินใจเดินทางกลับ เนื่องจากครบกำหนดและได้ใบผ่านงานเรียบร้อย ส่วนที่เหลือนั้น จะทยอยกลับ เพราะทุกคนต้องการได้รับใบผ่านงานเช่นกัน
 
ด้าน นายเชิดศักดิ์ วิสุทธิกุล ผอ.กองตรวจและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน กล่าวว่า นักศึกษากลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรกที่ตัดสินใจเดินทางกลับ หลังได้รับคืนหนังสือเดินทางจากทางการสิงคโปร์ ซึ่งทางกรมการจัดหางาน ได้ให้นักศึกษากลุ่มนี้เขียนคำร้องทุกข์ ณ ด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิ ก่อนสอบปากคำเบื้องต้น เพื่อประกอบการแจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทดังกล่าว รวมทั้งตั้งศูนย์และจัดเจ้าหน้าที่มารอรับข้อร้องทุกข์ต่างๆ เพื่อรอรับนักศึกษาที่เหลือที่เตรียมเดินทางกลับอีกด้วย บริเวณ ชั้น 4 อาคารผู้โดยสารขาออก และจัดเตรียมรถรับ-ส่ง นักศึกษาเหล่านี้ กลับภูมิลำเนา.
 
(ไทยรัฐ, 15-6-2557)
 
สำนักงานประกันสังคมคืนความสุขเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนกรณีชราภาพ และให้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปสามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกได้
 
โดยสำนักงานประกันสังคม ได้ปรับปรุงกฎหมายเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนตาม มาตรา 40 พร้อมปรับปรุงสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ โดยเพิ่มรายการอุปกรณ์ อวัยวะเทียมเพื่อการฟื้นฟูกว่า 444 รายการ และ เพิ่มรถนั่งคนพิการแบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า รวมทั้ง ค่าซ่อมแซมอวัยวะเทียมในการบำบัดรักษาโรค
 
ขณะเดียวกัน ยังเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ โดยผู้ประกันตนจ่ายเงินเดือนละ 100 บาท รัฐบาลจ่ายอุดหนุน 100 บาท พร้อมลดเงื่อนไขกรณีผู้ประกันตนนอนโรงพยาบาลตั้งแต่ 1 วันขึ้นไปจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้วันละ 200 บาท เป็นระยะเวลา 30 วัน/ปี และกรณีเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ ผู้จัดการศพมีสิทธิได้รับเงินค่าทำศพ 20,000 บาท รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้สูงวัย ที่มีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนได้ แต่ต้องสมัครขึ้นทะเบียนภายใน 9 ธ.ค.56 - 8 ธ.ค.57 เป็นต้น
 
(ครอบครัวข่าว, 15-6-2557)
 
เผยจบปริญญาตรีแชมป์เตะฝุ่น สถิติคนว่างงานเดือน พ.ค.พุ่งติดลมบน 3.6 แสนคน
 
เผยสถิติคนไทยว่างงานเดือน พ.ค.ที่ผ่านมามีจำนวน 362,000 คน เพิ่มขึ้น 58,000 คน เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย.ชี้คนจบปริญญาตรีครองแชมป์ว่างงานมากที่สุด ขณะที่คนในภาคอีสาน มีอัตราว่างงานมากที่สุด รองลงมาเป็นภาคใต้
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ได้รายงานภาวการณ์ทำงานของประชากร เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่า จำนวนผู้ว่างงานมีทั้งสิ้น 362,000 คน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 0.9% เมื่อเปรียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นถึง 58,000 คน ต่อเนื่องจากช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่ง คนว่างงานส่วนใหญ่เป็นกลุ่มของคนที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาจำนวน 144,000 คน กลุ่มนี้เพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย.จำนวน 20,000 คน รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย ประถมศึกษา และเป็นผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา
 
สำหรับการพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นมากที่สุด 43,000 คน คิดเป็น 1% รองลงมาคือภาคใต้ 23,000 คน คิดเป็น 1.3% ภาคกลาง 13,000 คน คิดเป็น 1.1% และภาคเหนือ 6,000 คน คิดเป็น 0.7% ส่วนกรุงเทพฯ มีจำนวนผู้ว่างงานลดลง 27,000 คน คิดเป็น 0.4% ส่งผลให้อัตราว่างงานทั่วประเทศเพิ่มขึ้นจาก 0.8% ในเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้นเป็น 0.9% ในเดือน พ.ค.
 
ทั้งนี้ จำนวนผู้มีงานทำในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 37.76 ล้านคน โดยทำงานในภาคเกษตรกรรม 12.30 ล้านคน หรือคิดเป็น 32.6% ของผู้มีงานทำ และทำงานนอกภาคเกษตรกรรม 25.46 ล้านคน หรือคิดเป็น 67.4% ของผู้มีงานทำ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเดือน พ.ค.2556 พบว่า ในภาคเกษตรกรรมมีจำนวนผู้ทำงานลดลง 520,000 คน แต่นอกภาคเกษตรกรรมมีจำนวนผู้ทำงานเพิ่มขึ้น 80,000 คน โดยจำนวนนี้เป็นการเพิ่มขึ้นในสาขาการผลิตมากที่สุด 240,000 คน รองลงมาเป็นสาขากิจกรรมด้านสุขภาพ และงานสังคมสงเคราะห์ 80,000 คน สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 70,000 คน
 
ขณะเดียวกัน สาขากิจกรรมการบริการด้านอื่นๆ เช่น กิจกรรมบริการ เพื่อสร้างเสริมสุขภาพร่างกาย การดูแลสัตว์เลี้ยง การบริการซักรีดและซักแห้ง มีผู้มีงานทำเพิ่มขึ้น 50,000 คนสาขาการศึกษา 40,000 คน และสาขากิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ และสาขาการบริหารราชการ การป้องกันประเทศและการประกันสังคมภาคบังคับเพิ่มขึ้นเท่ากัน 10,000 คน ส่วนสาขาที่ลดลงคือ สาขาการก่อสร้าง 250,000 คน สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 60,000 คน สาขากิจกรรมทางการเงิน และการประกันภัย 20,000 คน และสาขาการขายส่งการขายปลีก การซ่อมยานยนต์ และรถจักรยานยนต์ 10,000คน ที่เหลือกระจายอยู่ในสาขาอื่นๆ
 
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงชั่วโมงทำงาน ของผู้มีงานทำต่อสัปดาห์ในเดือน พ.ค. พบว่าส่วนใหญ่ทํางานตั้งแต่ 35 ชั่วโมงขึ้นไป ถือได้ว่าเป็นผู้ทำงานเต็มที่ ในเรื่องชั่วโมงทำงานมีจำนวน 31.38 ล้านคน หรือคิดเป็น 83.1% ของผู้มีงานทำทั้งหมด และผู้ที่ทำงาน 1-34 ชั่วโมง มีจำนวน 5.83 ล้านคน คิดเป็น15.4%.
 
(ไทยรัฐ, 16-6-2557)
 
ชง"คสช."ฟื้นกองทุนการออมแห่งชาติ เปิดทางบำนาญแรงงานนอกระบบ วางหลักประกัน 24 ล้านคนยามชรา
 
สศค.เสนอ คสช.แก้ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ-พ.ร.บ. ประกันสังคม เปิดช่องทางการออมสร้างหลักประกันยามชราสำหรับแรงงานนอกระบบกว่า 24 ล้านคน หรือ 63% ของผู้มีงานทำ พร้อมเสนอโครงการศึกษาสวัสดิการรับไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอีก 10 ปีข้างหน้า
 
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาและเห็นชอบในการแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) พ.ศ.2554 และพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม รวมทั้งออกกฎกระทรวง ให้ กอช.มีแนวทางการปฏิบัติในการดำเนินงานและสามารถเปิดรับสมาชิกได้ เพื่อเป็นช่องทางการออมและสร้างหลักประกันทางรายได้ในยามสูงอายุที่เป็นรูปแบบบำนาญให้กับแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศกว่า 24 ล้านคน หรือคิดเป็น 63% ของผู้มีงานทำ 
 
ทั้งนี้ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2554 และกำหนดให้มีการเปิดรับสมาชิก กอช. และจ่ายเงินสะสมเมื่อพ้นกำหนด 360 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ได้ประกาศว่าจะเริ่มรับสมาชิก กอช. ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2555 แต่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเห็นว่าแนวทางดังกล่าวจะสร้างภาระทางการคลังในอนาคต ดังนั้น จึงมีนโยบายให้สำนักงานประกันสังคมขยายความคุ้มครองให้มีรูปแบบที่ใกล้เคียงกับ กอช. เพื่อประหยัดงบประมาณและลดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่ทำหน้าที่คล้ายกัน จึงทำให้ กอช.ไม่สามารถเปิดรับสมาชิกได้ 
 
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นอกจากนี้ สศค.ยังเสนอให้ คสช.เห็นชอบในหลักการในโครงการศึกษาแนวทางการจัดสวัสดิการสังคมที่เหมาะสมของประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรไทย ทำให้ประเทศได้เข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ที่ สศค.คาดว่าจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ภายในปี 2567 แม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะมีนโยบายสวัสดิการต่างๆ เช่น ด้านชราภาพ การรักษาพยาบาล การศึกษา การประกันรายได้ และการประกันการว่างงาน แต่ยังค่อนข้างจำกัด ขาดภาพรวมของการบูรณาการรายจ่ายภาคสาธารณะ ทำให้การวางแผนนโยบายการคลังขาดประสิทธิภาพ ซ้ำซ้อน และขาดแนวทางการจัดการที่เหมาะสมและเป็นธรรม 
 
"สวัสดิการสังคมเป็นสวัสดิการที่ภาครัฐจัดให้กับประชาชน เพื่อดูแลและช่วยเหลือประชาชนตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงสิ้นชีวิต โดยการดูแลมีองค์ประกอบหลักสองส่วน คือ การรับประกันสิทธิขั้นพื้นฐานและการช่วยเหลือในยามตกยาก เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถรับกับความเสี่ยงต่างๆ ได้ แต่การจัดสวัสดิการสังคมอาจทำให้เกิดภาระทางการคลัง ซึ่งถ้าจัดการและบริหารภาระทางการคลังอย่างมีวินัยและเคร่งครัด ก็จะนำไปสู่ความยั่งยืนทางการคลังได้"
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 16-6-2557)
 
คสช.สั่งนายจ้างจัดทำบัญชีแรงงานต่างด้าว ลงดาบส่วนราชการเพิกเฉย-ฉวยโอกาส
 
(17 มิ.ย.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ออกประกาศฉบับที่ 68 /2557 เรื่อง มาตรการเร่งด่วนในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว ระยะที่ 1 เป็นการชั่วคราว ระบุว่า ตามที่ปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายได้ทวีความรุนแรงและยืดเยื้อมาเป็นเวลานาน เพื่อให้การแก้ไข้ปัญหาดังกล่าวเป็นไปอย่างจริงจัง มีประสิทธิภาพและมีการบูรณาการ เคารพต่อหลักการสากลด้านสิทธิมนุษยชน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีประกาศดังต่อไปนี้
       
ข้อ 1 ให้ผู้ประกอบการ นายจ้าง ที่ใช้แรงงานต่างด้าว ดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย เพื่อให้แรงงานต่างด้าวได้รับการคุ้มครองในการทำงานและไม่ถูกบังคับใช้แรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการ นายจ้าง ในอุตสาหกรรมประมงและกิจการต่อเนื่อง โดยในช่วงนี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีมาตรการผ่อนผันให้ผู้ประกอบการ นายจ้าง จัดทำบัญชีแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในความดูแลให้ครบถ้วน เพื่อให้ง่ายต่อการจัดระเบียบในห้วงต่อไป
       
ข้อ 2 ให้ผู้ประกอบการ นายจ้าง และแรงงานต่างด้าวที่อยู่อาศัยในประเทศไทยให้ความร่วมมือในการดำเนินการตามแนวทางที่ทางราชการกำหนด ทั้งนี้ เพื่อทางการไทยสามารถให้การคุ้มครองดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรม ตามมาตรการระยะที่ 1 ที่ยังมีการผ่อนผันอยู่ในปัจจุบัน แต่ต้องมีการควบคุม
       
ข้อ 3 ให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเร่งบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง มีประสิทธิภาพในการป้องกันปราบปรามผู้กระทำผิดด้านการค้ามนุษย์ และขบวนการลักลอบนำพาแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
       
ข้อ 4 เจ้าหน้าที่ของรัฐคนใดปล่อยปละละเลย หรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะการค้ามนุษย์ กลุ่มแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย แรงงานเด็ก สตรี และการลักลอบนำเข้าแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายจะต้องถูกดำเนินการทางวินัยและทางอาญาทันที
       
ข้อ 5 ให้การดำเนินการข้างต้นสอดคล้องกับความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและประชาคมโลก ตลอดจนมาตรฐานสากลด้านสิทธิแรงงานและหลักการด้านมนุษยธรรม เพื่อความเป็นธรรม เสมอภาค และมนุษยธรรม
       
ข้อ 6 ให้คณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว ติดตามผลการดำเนินงานตามข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 5 และให้รายงานผลให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติทราบอย่างต่อเนื่อง
       
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 17 มิถุนายน พุทธศักราช 2557 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 17-6-2557)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net