Skip to main content
sharethis

กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกาเผยสถานการณ์ค้ามนุษย์ปี 2557 - ลดอันดับไทยไปบัญชี 3 เลวร้ายเทียบเกาหลีเหนือ อิหร่าน มาเลเซีย รัสเซีย ซิมบับเว - ระบุไทยเป็นต้นทาง ปลายทาง ทางผ่านค้ามนุษย์ ค้าประเวณี บังคับใช้แรงงานโดยเฉพาะภาคประมง ละเมิดแรงงานข้ามชาติ ทางการไทยยังพยายามไม่พอในการแก้ไข - ถูกจับตามาแล้ว 2 ปี ปีนี้จึงลดชั้นไปบัญชี 3 อัตโนมัติ ด้านปลัดบัวแก้วแถลงข่าว 10.30 น. เสาร์นี้

จอห์น แครี่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาในการแถลงรายงานประจำปี เรื่อง สถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2557 ที่วอชิงตัน ดีซี เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2557 นอกจากนี้ยังมีการมอบรางวัลให้กับ 10 บุคคล ผู้มีความพยายามอย่างไม่ลดละเพื่อทำให้เกิดการขจัดทาสยุคใหม่ ได้แก่ กิลเบิร์ต มุนดา จากคองโก, เอลิซาเบ็ธ ซิอูฟี จากเลบานอน, เบียทริซ เจดี อักบา จากไนจีเรีย, โมนิกา บอเซฟ จากโรมาเนีย, ทา ง็อก วัน จากเวียดนาม, บานูจา ชาราน ลาล จากอินเดีย, เต็ก นารายัน คุนวาร์ จากเนปาล, จินนา ปินชี จากเปรู, ชามาญ กานดี-แอนดรูว์ จากทรินิแดด แอนด์ โตเบโก, และมยง จิน โก จากเกาหลีใต้ (ที่มาของภาพ: State Department photo/Public Domain)

แผนที่ในรายงานประจำปี สถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2557 ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา แสดงสถานการณ์ด้านเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก โดยสีเขียวหมายถึงอยู่ในบัญชีที่ 1 (Tier 1) สีเหลืองอยู่ในบัญชีที่ 2 (Tier 2) สีส้มอยู่ในบัญชีที่ 2 ซึ่งต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) สีแดงหมายถึง บัญชีที่ 3 (Tier 3) สถานการณ์เลวร้าย โดยไทยและมาเลเซียอยู่ในกลุ่มสีส้มสลับแดง หมายถึง บัญชีที่ 3 ซึ่งถูกลดอันดับลงมาอัตโนมัติจากกลุ่มบัญชีที่ 2 ซึ่งต้องจับตามอง โดยในภูมิภาคเดียวกันนี้มีปาปัว นิวกินี และเกาหลีเหนือ ซึ่งอยู่ในกลุ่มบัญชีที่ 3

 

วันนี้ (20 มิ.ย.) กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา โดยนายจอห์น แครี่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา เผยแพร่รายงานประจำปี เรื่อง สถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2557 (Trafficking in Persons Report 2014 หรือ TIP Report) เป็นการสำรวจทุกประเทศในโลก โดยในปีนี้ประเทศไทยถูกลดอันดับจากบัญชีกลุ่มที่ 2 ซึ่งต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) ลงมาอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีสถานการณ์ค้ามนุษย์ระดับเลวร้ายที่สุด

โดยในรายงานประจำปี 2557 ดังกล่าว มี 23 ประเทศที่ถูกจัดอันดับให้อยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) ได้แก่ แอลจีเรีย, แอฟริกากลาง, คองโก, คิวบา, อิเควทอเรียล กินี, เอริเทรีย, แกมเบีย, กินี-บิซเซา, อิหร่าน, เกาหลีเหนือ, คูเวต, ลิเบีย, มาเลเซีย, มอริเตเนีย, ปาปัว นิวกินี, รัสเซีย, ซาอุดิอาระเบีย, ซีเรีย, ไทย, อุซเบกิซสถาน, เยเมน, เวเนซุเอลา, ซิมบับเว

โดยในจำนวนนี้มีประเทศเคยอยู่ใน บัญชีกลุ่มที่ 2 ซึ่งต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) และถูกลดอันดับลงอัตโนมัติไปอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) ได้แก่ ไทย มาเลเซีย เวเนซุเอลา

 

ระบุไทยเป็นประเทศต้นทาง-ปลายทาง-ทางผ่านค้ามนุษย์

ในกรณีของประเทศไทย (อ่านรายงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง) ในรายงานระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศต้นทาง ปลายทาง และทางผ่านสำหรับการค้าผู้ชาย ผู้หญิงและเด็กเพื่อการบังคับใช้แรงงานและการบังคับค้าประเวณี เหยื่อจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งได้แก่ จีน เวียดนาม รัสเซีย อุซเบกิสถาน อินเดีย และฟิจิ เต็มใจอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย บ่อยครั้งได้รับความช่วยเหลือจากญาติหรือคนในชุมชน หรือผ่านเครือข่ายแบบไม่เป็นทางการที่ทำหน้าที่จัดหาหรือลักลอบนำพาบุคคล ทั้งนี้ประมาณการว่ามีแรงงานข้ามชาติในไทย 2 ถึง 3 ล้านคน ส่วนใหญ่มาจากพม่า ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของเหยื่อการค้ามนุษย์ในไทย ทั้งนี้จากการประมาณการขั้นต่ำเหยื่อหลายหมื่นคนซึ่งเข้ามาในประเทศไทยถูกบังคับ ขู่เข็ญ หลอกลวง ให้เข้าสู่การใช้แรงงานหรือถูกกดขี่ในอุตสาหกรรมทางเพศ สิ่งที่สำคัญ แรงงานที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในประเทศไทยถูกกดขี่ในธุรกิจประมง และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประมง กิจการสิ่งทอระดับล่าง โรงงาน และการทำงานบ้าน และเหยื่อบางรายถูกบังคับให้เป็นขอทานข้างถนน

ทั้งนี้รายงานพฤติกรรมคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่ทั้งสองประเทศตามแนวชายแดน ซึ่งอำนวยความสะดวกให้กับการเคลื่อนย้ายแรงงานที่ไม่มีเอกสารประจำตัวระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านได้แก่ ลาว พม่า และกัมพูชา แรงงานเหล่านี้ต่อมาได้กลายเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ เหยื่อการค้ามนุษย์ซึ่งระบุตัวตนไม่ได้เป็นคนจำนวนส่วนใหญ่ของแรงงานข้ามชาติที่ถูกส่งกลับลาว พม่า และกัมพูชาในแต่ละปี ทั้งนี้ชายชาวพม่า กัมพูชา และไทย ตกเป็นเป้าหมายบังคับเกณฑ์แรงงานในเรือประมงสัญชาติไทยที่ล่องเรืออยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และใกล้เคียง ลูกเรือประมงบางคนอยู่ในทะเลเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน และได้รับค่าแรงน้อยนิด พวกเขาต้องทำงานวันละ 18 ถึง 20 ชั่วโมงต่อวัน และทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ ซ้ำบางคนยังถูกข่มขู่และทุบตี ทั้งนี้รายงานในปี 2556 พบว่าร้อยละ 17 ของลูกเรือประมงที่ถูกสำรวจ ที่เริ่มทำงานในเรือประมงชายฝั่งซึ่งใช้เวลามากกว่า 1 เดือนในทะเล มีประสบการณ์อยู่ภายใต้เงื่อนไขของการถูกบังคับเกณฑ์แรงงาน บ่อยครั้งมีการข่มขู่ว่าจะตัดเงิน รวมทั้งการไม่จ่ายเงินค่าจ้างเต็มจำนวน

ในรายงานประจำปี 2557 ยังระบุถึงสถานการณ์ค้ามนุษย์ในเรือประมงว่า ในปี 2553 จากการประเมินความเสี่ยงสะสมของการลักลอกค้าแรงงานในหมู่แรงงานชาวพม่าในอุตสาหกรรมอาหารทะเลใน จ.สมุทรสาคร พบว่า ร้อยละ 57 ของแรงงานที่ได้รับการสำรวจจำนวน 430 คน เคยผ่านประสบการณ์อยู่ภายใต้เงื่อนไขการเป็นแรงงานบังคับ ทั้งนี้การทำประมงในภูมิภาคนี้เป็นกิจการที่ไม่มีระเบียบกำกับ ทั่วไปแล้วลูกเรือประมงไม่มีการทำสัญญาว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรกับนายจ้าง และรายงานในรอบปีนี้พบว่ารูปแบบการบังคับใช้แรงงานนี้ยังคงดำเนินต่อไป และจากการติดตามตรวจสอบของนานาชาติ ทำให้นายหน้าค้ามนุษย์หันไปใช้วิธีการใหม่ๆ ที่ทำให้การตรวจจับอาชญกรรมของพวกเขาเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ชายจากไทย พม่า และกัมพูชา ถูกบังคับให้ทำงานในเรือประมงสัญชาติไทยในน่านน้ำไทยและน่านน้ำสากล และได้รับความช่วยเหลือจากประเทศต่างๆ รวมทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และติมอร์ จำนวนของเหยื่อชาวกัมพูชาที่ได้รับความช่วยเหลือจากเรือประมงไทยหลายประเทศทั่วโลกในปี 2556 เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว มีแรงงานชาวกัมพูชาและชาวพม่าจำนวนมากขึ้นที่ไม่ต้องการทำงานในเรือประมงไทย เนื่องจากอันตรายและสภาพการทำงานที่ขูดรีดซึ่งทำให้พวกเขาเสี่ยงที่จะถูกค้ามนุษย์

ทั้งนี้ในรายงานยังระบุด้วยว่ามีข้าราชการไทยและเจ้าหน้าที่ในกองทัพที่ได้รับผลประโยชน์จากการลักลอบขนย้ายผู้แสวงหาที่ลี้ภัยชาวโรฮิงยา ซึ่งมาจากพม่าและบังกลาเทศ ซึ่งเดินทางผ่านประเทศไทยเพื่อไปยังประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย โดยชาวโรฮิงยาเหล่านี้ยังถูกขายเป็นแรงงานบังคับเกณฑ์ในเรือประมงด้วย นอกจากนี้ รายงานฉบับนี้ยังกล่าวหากองทัพเรือของไทยและเจ้าหน้าที่ว่าเปลี่ยนเส้นทางเรือ โดยใช้เรือไทยขนชาวโรฮิงยาซึ่งมีจุดหมายไปยังมาเลเซีย และอำนวยให้มีการขนถ่ายผู้เข้าเมืองบางส่วนไปยังคนลักพาและนายหน้าที่จะขายชาวโรฮิงยาไปเป็นแรงงานบังคับทำงานในเรือประมง

และมีรายงานในสื่อมวลชนระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยเคลื่อนย้ายผู้ชายชาวโรฮิงยาอย่างเป็นระบบจากศูนย์กักกันในไทย และขายพวกเขาให้กับคนลักพาและนายหน้า ซึ่งคนลักพาและนายหน้าเหล่านี้จะส่งชาวโรฮิงยาไปในพื้นที่ภาคใต้ของไทย ซึ่งพวกเขาจะถูกบังคับให้ทำงานในครัวหรือเป็นยามในค่าย หรือถูกขายให้ไปเป็นแรงงานบังคับในภาคการเกษตรหรือบริษัทขนส่งทางเรือ

ในรายงานประจำปียังกล่าวถึงสถานการณ์ที่แรงงานข้ามชาติ แรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ และคนไร้สัญชาติในไทยก็มีความเสี่ยงที่จะถูกค้ามนุษย์เช่นกัน พวกเขาเผชิญการละเมิดซึ่งบ่งชี้ว่าถูกค้ามนุษย์ เช่น ถูกยึดหนังสือเดินทาง บัตรแรงงานต่างด้าว ใบอนุญาตทำงาน และยึดเงินค่าจ้าง พวกเขาเผชิญกับการถูกหักเงินเดือนขัดหนี้ซึ่งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ถูกละเมิดทั้งทางร่างกายและจิตใจ และถูกข่มขู่ว่าจะถูกส่งกลับ และมีแรงงานข้ามชาติกลุ่มที่ไม่มีเอกสารอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกค้ามนุษย์อันเนื่องมาจากขาดสถานะทางกฎหมาย บ่อยครั้งทำให้พวกเขากลัวว่าจะถูกนำไปฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ แรงงานข้ามชาติจำนวนมากอยู่ในสภาพเป็นแรงงานขัดหนี้

รายงานฉบับนี้ยังกล่าวด้วยว่า กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่ภูเขาในภาคเหนือของไทยทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก มีความเสี่ยงที่จะถูกค้ามนุษย์เช่นกัน รายงานของสหประชาชาติระบุว่าการขาดสถานะทางกฎหมายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พวกเขาถูกละเมิด เด็กบางคนในไทย กัมพูชา และพม่าถูกพ่อแม่บังคับขายให้กับนายหน้าเพื่อให้มาขายดอกไม้ เป็นขอทาน หรือทำงานบ้านในเขตเมืองใหญ่

ในรายงานกล่าวด้วยว่ามีเหยื่อชาวไทยสมัครไปทำงานในต่างประเทศ และถูกหลอกลวงให้ต้องกู้หนี้จำนวนมากเพื่อจ่ายเป็นค่านายหน้าและค่าดำเนินการ บางครั้งก็ต้องใช้ที่ดินของครอบครัวเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทำให้พวกเขามีความเสี่ยงที่จะถูกแสวงประโยชน์เมื่อเดินทางถึงประเทศปลายทาง เหยื่อชาวไทยเหล่านี้ถูกบังคับใช้แรงงาน หรือทำงานในธุรกิจค้าประเวณีในออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ และในประเทศย่านตะวันออกกลาง อเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย แรงงานชายไทยบางรายที่เดินทางไปในต่างประเทศเพื่อทำงานที่ใช้ทักษะต่ำและงานในภาคเกษตรต้องเผชิญกับการถูกบังคับใช้แรงงานและมีสภาพเป็นแรงงานขัดหนี้

เหยื่อค้ามนุษย์เพื่อการค้าประเวณีโดยทั่วไปเป็นผู้หญิงและเด็กหญิง  การท่องเที่ยวเพื่อซื้อบริการทางเพศยังคงเป็นปัญหาในประเทศไทย และอุปสงค์ดังกล่าวน่าจะเป็นสิ่งผลักดันให้มีการค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจค้าประเวณี  ประเทศไทยเป็นประเทศทางผ่านสำหรับเหยื่อค้ามนุษย์จากเกาหลีเหนือ จีน เวียดนาม ปากีสถาน บังคลาเทศและพม่าซึ่งจะถูกส่งไปค้าในประเทศที่สาม เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ รัสเซีย เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันตก  มีรายงานว่า กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของประเทศไทยเกณฑ์เด็กวัยรุ่นมาร่วมปฏิบัติการก่อการร้าย นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ของเหยื่อการค้ามนุษย์ชาวไทยในปีนี้ยังพบเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ทางเพศ ผู้หญิงและเด็กหญิงจากไทย ลาว เวียดนาม และพม่า รวมทั้งผู้ที่ตั้งใจมาทำงานในประเทศไทยซึ่งมีธุรกิจค้าประเวณีอย่างกว้างขวาง ทั้งหมดนี้ตกเป็นเป้าหมายของการค้าประเวณี การค้าประเวณีเด็ก และยังมีรายงานขององค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศรายงานด้วยว่ามีการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อจัดหาผู้หญิง และเด็กเข้าสู่การค้ามนุษย์ทางเพศ

ในรายงานยังระบุว่า เหยื่อเหล่านี้เป็นเป้าหมายของการค้ามนุษย์ทางเพศ โดยเป็นการจัดหาตามความต้องการในท้องถิ่น รวมทั้งในเชิงธุรกิจอย่างในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ซึ่งมีการจัดหาให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ความต้องการซื้อบริการทางเพศ

นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นทางผ่านสำหรับเหยื่อจากเกาหลีเหนือ จีน เวียดนาม ปากีสถาน บังกลาเทศ และพม่า ซึ่งตกเป็นเป้าหมายของการค้ามนุษย์ทางเพศ หรือถูกบังคับใช้แรงงานในประเทศอย่างเช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ รัสเซีย เกาหลีเหนือ สหรัฐอเมริกา และประเทศในยุโรปตะวันตก มีรายงานด้วยว่ากลุ่มแบ่งแยกดินแดนทางภาคใต้ของไทยยังคงเกณฑ์และใช้เด็กในการร่วมก่อเหตุความไม่สงบ รวมทั้งทำงานสอดแนม

 

ไทยพยายามไม่พอ ถูกจับตาแล้ว 2 ปีจึงลดอันดับอัตโนมัติ - ยืนยันไม่เกี่ยว รปห. - บัวแก้วเตรียมแถลงด่วน

รายงานฉบับนี้ระบุว่า รัฐบาลไทยไม่สามารถดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของสหรัฐอเมริกาเพื่อการขจัดการค้ามนุษย์ ในรายงานการค้ามนุษย์ปี 2555 และ 2556 ประเทศไทยได้รับการยกเว้นจากการถูกลดระดับไปอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) เนื่องจากรัฐบาลได้เสนอแผนที่จะดำเนินการให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตามตามกฎหมายว่าด้วยการปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์ (TVPA) ให้ยกเว้นประเทศจากการถูกลดอันดับได้ 2 ปี มาตรการยกเว้นนี้ไม่สามารถใช้ได้กับประเทศไทย ด้วยถือว่าไม่ได้มีความพยายามอย่างเพียงพอที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในการขจัดการค้ามนุษย์ จึงให้ลดระดับลงไปอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3)

อนึ่งระหว่างการแถลงรายงานประจำปี เรื่อง สถานการณ์การค้ามนุษย์ มีผู้สื่อข่าวถาม นายหลุยส์ ซี ดีเบกา (Luis C. deBaca) ผู้แทนเอกอัครราชทูตประจำสำนักงานติดตามและต่อต้านการค้ามนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้แถลงด้วยว่า การลดระดับประเทศไทยไปอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารในไทยหรือไม่ โดยนายหลุยส์ กล่าวว่า ลำดับเหตุการณ์และอันดับของไทยอยู่บนพื้นฐานของทุกสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่าง 1 เมษายน 2556 ถึง 31 มีนาคม 2557 การรัฐประหารที่ผู้สื่อข่าวกล่าวถึงนั้นยังไม่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น

ทั้งนี้มีรายงานว่า นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ จะแถลงท่าทีของไทยเกี่ยวกับผลรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ในวันที่ 21 มิ.ย. เวลา 10.30 น

สำหรับรายงานประจำปี เรื่อง สถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) เป็นรายงานที่กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา จัดทำขึ้นเป็นประจำทุกปี ตามกฎหมายว่าด้วยการปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์ (Trafficking Victims Protection Act of 2000 หรือ TVPA) เพื่อรายงานต่อรัฐสภาสหรัฐอเมริกา โดยเปรียบเทียบสถานการณ์การค้ามนุษย์ของทั่วโลก กับมาตรฐานของสหรัฐฯ และจัดลำดับประเทศต่างๆ ออกเป็น 4 ระดับ

ระดับที่ดีที่สุด คือ Tier 1 หมายถึง ประเทศที่ดำเนินการสอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกา ในการป้องกันละบังคับใช้กฎหมายการต่อต้านการค้ามนุษย์

ระดับถัดมาคือ Tier 2 หมายถึง ประเทศที่มีการดำเนินการยังไม่สอดคล้องกับกฎหมายของสหรัฐอเมริกา แต่ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะแก้ไขปัญห

ระดับ Tier 2 Watch List หมายถึง ประเทศที่มีรายงานเหยื่อการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้น หรือไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ารัฐบาลได้พยายามต่อต้านการค้ามนุษย์

และระดับต่ำสุด คือ ระดับ Tier 3 หมายถึงประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายสหรัฐอเมริกา และไม่มีความพยายามแก้ไขปัญหา

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Trafficking in Persons Report 2014, http://www.state.gov/j/tip/rls/tiprpt/2014/index.htm

Briefing on the Trafficking in Persons Report 2014, Special Briefing, Luis CdeBaca Ambassador-at-Large, Office to Monitor and Combat Trafficking in Persons Via Teleconference, June 20, 2014 http://www.state.gov/j/tip/rls/rm/2014/228067.htm

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net