รายงาน: ทำความรู้จักทีวีดิจิทัล

เมื่อวันที่ 17 – 18 มิถุนายน 2557 คณะวิศวกรรมศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับโครงการความคิด  อรุณ สะเทศน์   ณ ลานเกียร์ จัดงานมาทำความรู้จักกับ Digital TV และงานเสวนาเรื่อง “สู่ยุคโทรทัศน์ดิจิทัล” สนับสนุนโดย กสทช. และสำนักพิมพ์จุฬาฯ  ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งภายในงานมีการออกบูธตัวแทนจำหน่ายกล่องสัญญาณดิจิทัลทีวี หรือ Set top Box  ของบริษัทต่างๆ และมีการให้ความรู้เกี่ยวกับดิจิทัลทีวี

ในการเสวนาเรื่อง "การเปลี่ยนผ่านโทรทัศน์สู่ระบบดิจิทัล" พันเอก นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. และประธาน กสท. กล่าวถึงความสำคัญของโทรทัศน์ว่าเป็นสื่อที่ดีที่สุดที่สามารถนำข้อมูลข่าวสารไปถึงผู้คนจำนวนกว้าง โดยคนไทยประมาณ 98% นั้นรับข้อมูลข่าวสาร ความบันเทิงผ่านทางโทรทัศน์  และนทีกล่าวต่อมาถึงความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านจากโทรทัศน์แบบอนาล็อกมาเป็นดิจิทัลซึ่งเป็นระบบสากลของโลกว่าเป็นการทำให้ระบบโทรทัศน์ของประเทศเป็นระบบสื่อสารเดียวกับระบบสื่อสารอื่นๆ  ทำให้โทรทัศน์สามารถที่จะหลอมรวมให้เข้ากับสื่ออื่นๆ ได้  อีกทั้งยังเป็นการเปลี่ยนจากระบบสัมปทานไปสู่ใบอนุญาตเพื่อลดการถือครองผูกขาดจากรัฐ  สำหรับโครงสร้างของกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลตามกฎหมายนั้นได้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ บริการสาธารณะ  บริการธุรกิจ  และบริการชุมชน  ซึ่งประเทศไทยนั้นเป็น 1 ใน 5% สุดท้าย ของ ASEAN ที่เปลี่ยนรูปแบบของโทรทัศน์จากอนาล็อกเป็นระบบดิจิทัล  การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ถือเป็นการพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน  เพราะการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ยากเสมอในประเทศไทย และการเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้ยังคงมีข้อจำกัดของกฎหมายอยู่หลายประการ  เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนจึงต้องอาศัยการพูดคุย และทำความเข้าใจกัน  ซึ่งต้องอยู่บนพื้นฐานของการปรองดอง  และประนีประนอมกันมากที่สุด สุดท้าย พ.อ.นทีได้กล่าวว่า ผู้ประกอบกิจการจะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็คงต้องดูกันไป อย่างไรก็ตาม เสริมว่าระบบทีวีดิจิทัลของไทยได้ออกแบบมาโดยให้ผู้ประกอบการมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ 50%  ไม่ใช่ศูนย์อย่างประเทศอื่น

ต่อไปเป็นการเสวนาในหัวข้อ  “ทำอย่างไร  จะได้ดูทีวีดิจิทัล?”   โดยมีวิทยากร ดังนี้ รศ.ดร.ประภัทร สงวนกชกร  กรรมการนโยบายสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส  ผศ.ดร.ทับทิม อ่างแก้ว อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬา ฯ  ไพโรจน์  ปิ่นแก้ว ตัวแทนจากสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3  กันตชัย ศรีสุคนธ์ ผอ.สำนักวิศวกรรมไทยพีบีเอส  และดำเนินการเสวนาโดยประวีณมัย  บ่ายคล้อย  ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่องสาม การเสวนาเริ่มต้นด้วยการอธิบายของไพโรจน์เกี่ยวกับลักษณะของระบบอนาล็อกและระบบดิจิทัลว่า มีโครงข่ายในการปล่อยสัญญาณที่ไม่ต่างกันแต่ความแตกต่างคือในระบบดิจิทัลมีโครงข่ายในการปล่อยสัญญาณได้ชัดเจนมากกว่าทั้งภาพและเสียง รวมถึงดิจิทัลสามารถส่งได้หลายโปรแกรมต่อความถี่  

ต่อมาเป็นการอธิบายถึงสัดส่วนการวางโครงข่ายในประเทศไทย   โดย ธีรภัทร สงวนกชกร ว่าตามข้อกำหนดของ กสทช. การวางโครงข่ายนั้นต้องครอบคลุม 95% ทั่วพื้นที่ของประเทศไทย  โ ดยการรับสัญญาณภาคพื้นดินในเขตเมือง  เทศบาล ต้องรับผ่านหนวดกุ้ง  ซึ่งทั้งหมดจะต้องแบ่งความถี่ให้กับโทรทัศน์ชุมชน 20% ซึ่งผู้บริการโครงข่ายทุกโครงข่ายจะต้องใช้สิ่งอำนวยความสะดวกร่วมกัน ซึ่งผู้ที่เป็นผู้ให้บริการโครงข่ายในประเทศไทย คือ ไทยพีบีเอส ช่องห้า อสมท. และช่องสิบเอ็ด ในการเสวนาได้มีการสาธิตวิธีการรับสัญญาณในระบบดิจิทัล จาก ผศ.ดร.ทับทิม อ่างแก้ว โดยทับทิมได้แนะนำว่าสำหรับทีวีในระบบเก่าที่ไม่มีตัวรับสัญญาณดิจิทัลมาให้นั้นให้ซื้อ Set top box หรือกล่องรับสัญญาณดิจัทัล เชื่อมต่อกับเสาอากาศหรือหนวดกุ้งที่มีอยู่เดิมภายในบ้าน ซึ่งช่วงเวลาที่สำคัญคือการหาสัญญาณในช่วงแรก ต้องให้ตัวเสาอากาศหรือหนวดกุ้งนั้นอยู่ภายนอกอาคารหรือต้องได้รับอากาศเพราะจะทำให้ได้รับช่องครบทั้ง 36 ช่อง  ต่อมาเป็นการอธิบายถึงการแบ่งกลุ่มจังหวัดในการขยายโครงข่ายในการรับสัญญาณระบบดิจิทัลจากภาคพื้นดิน ซึ่งอธิบายโดย  ธีรภัทร  ว่าการขยายโครงข่ายนั้นกำหนดจากขนาดของจำนวนประชากร โดยเริ่มจากพื้นที่ที่มีจำนวนประชากรมากก่อน และผู้บริการโครงข่ายจะต้องทำการขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 95%  ของพื้นที่ในประเทศไทย ตามกำหนดของ กสทช. ส่วนพื้นที่อีก 5% ที่เหลือเป็นเพราะข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ทำให้การขยายโครงข่ายไม่สามารถครอบคลุมไปถึง จึงอยู่นอกเหนือข้อกำหนด ของ กสทช . และสุดท้าย กันตชัยได้พูดถึงการพัฒนาขั้นต่อไปของไทยพีบีเอส ว่า อาจมีการเพิ่มบริการทางสาธารณะให้มากขึ้น เช่น การเพิ่มคำบรรยายใต้ภาพเพื่อผู้พิการทางหูหรือเสียงพากย์สำหรับผู้พิการทางสายตา เพื่อให้กลุ่มผู้พิการสามารถที่จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้เพิ่มมากขึ้น

“การเตรียมความพร้อมและความคาดหวังของผู้บริโภค”  บรรยายโดย สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยสุภิญญาได้พูดถึงความคาดหวังของผู้บริโภคว่ามี 2 ประการด้วยกันคือ การสนับสนุนคูปองจาก กสทช. ซึ่งสุภิญญากล่าวว่า ณ ตอนนี้ยังคงไม่มีข้อสรุปในเรื่องนี้จาก กสทช. เพราะฉะนั้นขอให้ทุกคนอย่าไปหลงเชื่อมิฉาชีพที่แอบอ้างว่าเป็นตัวแทนจาก กสทช.ในการให้คูปอง และในส่วนที่สอง ผู้บริโภคคาดหวังเกี่ยวกับคุณภาพเนื้อหาที่แต่ละช่องจะนำเสนอออกมา ซึ่งทาง กสทช.เองก็มีมาตรการในการกำหนดช่องให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยมีทั้งหมด 48 ช่อง คือเป็นช่องสาธารณะ 12 ช่อง ช่องธุรกิจ 24 ช่อง และช่องชุมชนอีก 12 ช่อง ซึ่งในช่องธุรกิจนั้น ต้องเป็นช่องข่าว  7 ช่อง และช่องวาไรตี้  14 ช่อง นอกจากนี้ กสทช.ยังกำหนดให้แต่ละช่องต้องเปิดช่องทางให้ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนเรื่องต่างๆ ได้ และช่องจะต้องทำการรายงานผลการแก้ไขต้องเก็บฐานข้อมูลในเรื่องการร้องเรียนเพื่อให้ กสทช. ได้ตรวจสอบ ที่สำคัญคือทุกช่องจะต้องกำหนดมาตรฐานในการจัดเรทรายการให้เหมาะสมเป็นมาตรฐานเดียวกัน  

ต่อมาเป็นการบรรยายในหัวข้อ “การกำกับดูแลการแข่งขันของอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล”   บรรยายโดย ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์    ธวัชชัยได้อธิบายถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลการแข่งขันอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล ว่าประกอบไปด้วย  พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง และ พ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ตามมาตรา 31 ซึ่งห้ามการครองสิทธิข้ามสื่อ และมาตรา 32 ซึ่งห้ามการผูกขาดการแข่งขัน พร้อมทั้งอธิบายเกี่ยวกับMust Carry Rule ซึ่งหมายถึงหลักการรับประกันว่าไม่ว่าประชาชนจะใช้เทคโนโลยีใดๆในการรับชมโทรทัศน์ จะสามารถรับชมบริการโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่ ซึ่งเป็นบริการที่ใช้ทรัพยากรของชาติ ได้อย่างเท่าเทียม และทั่วถึง ซึ่งสามารถออกอากาศได้ทั้งดาวเทียม เคเบิลทีวี และภาคพื้นดิน และ  Must Have Rule  คือการรับประกันจะสามารถรับชมรายการ ผ่านบริการโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่ ได้อย่างเท่าเทียมทั่วถึง และไม่มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม  เช่น โอลิมปิก บอลโลก เป็นต้น

ต่อมาเป็นการบรรยายในหัวข้อ “ลักษณะสื่อเพื่อการสร้างสรรค์ปัญญา”   บรรยายโดย สุภาพร โพธิ์แก้ว หัวหน้าภาควิชาสื่อสารมวลชน  คณะนิเทศศาสตร์จุฬาฯ สุภาพร เริ่มตันการบรรยายโดยการ  พูดถึงความสำคัญของการวิวัฒนาการของการสื่อสารในโลก ว่าเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นการใช้ความรู้ของคนรุ่นหนึ่งโดยคนอีกรุ่นหนึ่ง และการเปลี่ยนผ่านจากยุคอนาล็อกมายังยุคดิจิทัล นั้นก็ส่งผลต่อพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค เช่น การดูทีวีพร้อมไปด้วยกับการเล่นโทรศัพท์ เพราะฉะนั้นการผลิตสื่อให้สร้างสรรค์ก็จำเป็นที่จะต้องเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน 

ในช่วงสุดท้ายเป็นการเสวนาในหัวข้อ  “มีอะไรใหม่ในสื่อโทรทัศน์ ยุคดิจิทัล”  โดยมีวิทยากรดังนี้  จิตสุภา วัชรพล ผู้บริหารไทยรัฐทีวี  สุวิทย์ สาสนพิจิตร์   ผอ.สำนักอำนวยการไทยพีบีเอส ธานินทร์ ถาวรศาสนวงศ์  ตัวแทนจากสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท. การเสวนาในหัวข้อนี้เริ่มต้นด้วยการพูดถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค โดย สุวิทย์ ซึ่งสุวิทย์กล่าวว่าปัจจุบันผู้บริโภคมีพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  เปลี่ยนบ่อย ซึ่งทำให้ผู้ผลิตสื่อนั้นไปสามารถตามทัน อีกทั้งยังมีสื่ออื่นๆ นอกจากโทรทัศน์ เข้ามาแย่งพื้นที่ตลาด เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต เป็นต้น เพราะฉะนั้นการผลิตสื่อให้ถูกใจผู้บริโภคนั้นจึงยากขึ้น และต่อมาเป็นการพูดถึงเนื้อหาของแต่ละช่องรายการที่จะมีขึ้นในทีวีดิจิทัล โดยจิตสุภา ได้บอกถึงการกำหนดเนื้อหาของช่องไทยรัฐทีวี ซึ่งแบ่งเป็น รายการข่าว 50% และ รายการวาไรตี้ 50 % และต่อไปในอนาคตจะมีการพัฒนาเรื่องของ Connected TV  คือเป็น การเชื่อมต่อระหว่างทีวีกับโทรศัพท์มือถือ  ด้านธานินทร์ กล่าวว่า ผู้บริโภคนั้นคือคนที่สำคัญที่สุดสำหรับกิจการโทรทัศน์เพราะต่อไปผู้บริโภคจะเป็นผู้กำหนด เนื้อหาสื่อที่จะผลิตออกมาขณะที่สุวิทย์กล่าวเสริมว่า ต่อไปตลาดที่ใหญ่ที่สุด คือ กลุ่มคนชั้นกลางใหม่ ที่มีเพิ่มมากขึ้นในสังคม เพราะปัจจุบันเราไม่สามารถที่จะแบ่งออกเป็นเมืองและชนบทได้อีกต่อไปเพราะเทคโนโลยีในปัจจุบันช่วยให้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารนั้นเป็นไปได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว 

สำหรับในวันที่ 18 มิถุนายน 2557 มีการแบ่งการเสวนาออกเป็น สองช่วง โดยแบ่งเป็นช่วงอดีตและอนาคต โดยในช่วงแรกเป็นการเสวนา เรื่อง “ประวัติศาสตร์ทีวีไทย” มีวิทยากรดังนี้  ดร.บัณฑิต โรจน์อารยานนท์  ตัวแทนจากสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น  ไพโรจน์ ปิ่นแก้ว ตัวแทนจากสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ศรันย์ วิรุตมวงศ์ ตัวแทนจากสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7  เอกชัย ภัคดุรงค์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการอาวุโส ไทยคม จำกัด มหาชน   และ ดร.เจน จูฑา บริษัท เพนตา จำกัด 
สำหรับการเสวนาในหัวข้อนี้เป็นการพูดถึงวิวัฒนาการของทีวีไทย โดยไพโรจน์ได้กล่าวถึง การเริ่มต้นของทีวีไทยว่าเริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2498 โดยไทยรับนำเทคโนโลยีนี้มาจากสหรัฐอเมริกา แต่ต่อมาก็ต้องปรับเปลี่ยนเพราะว่าระบบไฟฟ้าที่แตกต่างกัน  ซึ่งในตอนนั้นสถานีที่ทำการออกอากาศคือ สถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรม โดยทำการออกอากาศทั้งรายการสด ภาพนิ่ง และภาพยนตร์ขาวดำซึ่งนำเข้ามาจากต่างประเทศ  ต่อมาก็ได้มีช่อง 7 เพิ่มขึ้นมา โดยศรันย์ได้เล่าถึงการเริ่มต้นการทำงานของช่อง 7 ว่าเริ่มจากการออกอากาศภายในรถเมล์  หลังจากนั้นจึงเริ่มขยายโดยการเช่าพื้นที่ของช่อง 5 แล้วเริ่มขยายสถานีไปยังต่างจังหวัด และพัฒนาเป็นดาวเทียม และเป็นดิจิทัลในปัจจุบัน  ต่อมาเอกชัยได้อธิบายถึงการเข้ามาของดาวเทียมว่าเริ่มเกิดขึ้นครั้งแรกใน  ปี 2537  ดาวเทียมที่ทำการส่งสัญญาณออกอากาศคือดาวเทียมไทยคมโดยเริ่มจากการเป็นช่องเพื่อการศึกษาของวังไกลกังวล และต่อมาทีวีดาวเทียมก็เริ่มเป็นที่นิยมในประเทศไทย จนปัจจุบันประมาณ 60 % ของครัวเรือนที่รับชมทีวีดาวเทียม   สุดท้าย ดร.เจน ได้พูดถึงพัฒนาการขั้นต่อไปของทีวี ว่าต่อไปการพัฒนาคงไม่ใช่เรื่องคุณภาพแต่คงเป็นการพัฒนาเรื่องของเทคนิคหรือเทคโนโลยีในทีวีให้สามารถตอบสนองผู้บริโภคได้มากขึ้นและตรงกับความต้องการมากที่สุด เช่น การพัฒนาให้มีหน้าแรกเหมือนเฟซบุ๊ก เพื่อรวบรวมช่องรายการที่ผู้บริโภคสนใจเพื่อให้เลือกและเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น  โดยต่อไปช่องรายการอาจไม่สำคัญ

ในช่วงที่สองเป็นการเสวนาเรื่อง  “อนาคตอุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทยสู่ยุคดิจิทัล” โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย  สุภาพ คลี่ขจาย  ประธานชมรมทีวีดิจิทัล  จำนรรค์ ศิริตัน โฆษิต สุวินิจจิต นายกสมาคมอุตสาหกรรมบันเทิง  อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ตัวแทนจาก เนชั่นทีวี  สำหรับในหัวข้อนี้เป็นการพูดถึงอนาคตของทีวีดิจิทัลว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งเริ่มต้นด้วยการพูดถึงชมรมทีวีดิจิทัล โดยสุภาพว่า เกิดจากการรวมตัวกันของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทั้ง 17 ราย  เพื่อต่อสู้และเรียกร้องในฐานะที่เป็นผู้ที่ประมูลได้ เพราะตอนนี้ไม่แน่ใจว่าอนาคตของทีวีดิจิทัลจะเป็นอย่างไรต่อไป  เนื่องจากมีช่องรายการเพิ่มขึ้นมากและมีผู้ดูแลเพียงแค่ กสทช.เท่านั้นจึงทำให้การดำเนินการในเรื่องต่างๆ นั้นเป็นไปอย่างล่าช้า และที่สำคัญการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารนั้นยังไม่ทั่วถึงมากพอ ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญต่อการอยู่รอดของทีวีดิจิทัล ขณะที่พนากล่าวเสริมว่าการเปลี่ยนให้องค์กรอิสระเข้ามาดูแลกิจการโทรทัศน์แทนหน่วยงานของรัฐนั้นเกิดขึ้นล่าช้าจึงทำให้ยังคงมีช่องว่างในการกำกับดูแลอยู่มาก ด้านอดิศักดิ์กล่าวว่ารู้สึกผิดหวังกับ กสทช.อย่างมากเนื่องจากเงื่อนไขหลายอย่างนั้นไม่เป็นไปตามที่ได้ระบุไว้ เช่น เงื่อนไขเรื่องเงินค่าธรรมเนียมในใบอนุญาตในส่วนของราคาขั้นต่ำที่ต้องจ่ายให้กับกองทุนวิจัยและพัฒนา ทางกองทุนจะต้องนำเงินไปสนับสนุนให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลอย่างทั่วถึง  ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่มีการดำเนินการหรือข้อตกลงที่แน่ชัด  ซึ่งอดิศักดิ์ย้ำว่า เขาจะต่อสู้ในเรื่องดังกล่าวอย่างถึงที่สุด

โดยช่วงท้าย จำนรรค์กล่าวว่า เนื่องจากตอนนี้นั้นมีช่องรายการเพิ่มขึ้นมากทำให้กิจการโทรทัศน์นั้นขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณภาพ ดังนั้นจึงอยากฝากไปถึงคนที่มีลูกมีหลานก็ให้ส่งเสริมให้เรียนเกี่ยวกับทางด้าน สื่อสารมวลชน หรือนิเทศศาสตร์ เพื่อเข้ามาช่วยการผลิตรายการโทรทัศน์ให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับงานเสวนาในครั้งนี้มีผู้ให้ความสนใจค่อนข้างมาก หนึ่งในนั้นคือผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ไม่น่าที่จะสนใจงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเช่นนี้  

โดย จำนง สุทธวารี  อายุ 77 ปี ให้สัมภาษณ์ว่า ทราบข่าวงานนี้มาจากเพื่อนเลยมาเข้าฟังเพราะว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับทีวีที่เราดูอยู่ทุกวัน เลยอยากรู้ว่ามันเป็นยังไงจะได้รู้เอาไว้แล้วจะได้เอาไปใช้ถูก  

ถนอม กุญเจริญสินชล อายุ  59 ปี ราชการปลดเกษียร ให้สัมภาษณ์ว่า ทราบข่าวจากป้ายประกาศที่เขาติดไว้ในมหาวิทยาลัย  และเห็นว่าทีวีเป็นเรื่องพื้นฐานและอยากรู้เกี่ยวกับทีวีดิจิทัล ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจและมีอะไรใหม่ๆ มาก  และเมื่อถามว่าจะเปลี่ยนมาใช้ทีวีดิจิทัลหรือไม่  ถนอมบอกว่า คงยังไม่เปลี่ยนเพราะเครื่องเก่ายังคงใช้ได้อยู่ แต่ถ้าจะเปลี่ยนคงซื้อทีวีที่เป็นดิจิทัลเลยมากกว่า
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท