ธีรภัทร์-พลเดช-จรัส แนะแนวปฏิรูปประเทศ คสช.

ธีรภัทร์ ชี้ 'ประยุทธ์' ไม่จำเป็นต้องเป็นนายกฯ แต่ควรเป็น เสนอเอาการศึกษาออกจากการเมือง-ชงตั้งสภาพลเมือง พลเดช เสนอเลือกนายกฯ ทางตรง ไม่สังกัดพรรคการเมือง จรัส หนุนกระจายอำนาจ ตั้งจังหวัดปกครองตนเอง และปฏิรูปตำรวจ

25 มิ.ย. 2557 มูลนิธิ Insight Foundation โดยศูนย์วิจัยข้อมูลการเมืองไทย ร่วมกับ มูลนิธิฟรีดริช เนามัน จัดเสวนาหาทางออกประเทศไทยจากความขัดแย้ง ภายใต้หัวข้อ  “ยกเครื่องประเทศไทย โจทย์ใหญ่ปฏิรูปประเทศ”  โดยมีผู้ร่วมเสวนาดังนี้  นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง และ จรัส สุวรรณมาลา อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย เสถียร วิริยะพรรณพงศา ผู้สื่อข่าวเนชั่น ทีวี

ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง กล่าวว่า การปฏิรูปประเทศคงไม่ใช่แต่เพียงเป็นการปฏิรูปการเมืองเท่านั้น แต่ต้องปฏิรูปด้านอื่นพร้อมไปด้วย ทั้งด้าน สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และหากมองย้อนกลับไปมองประสบการณ์การปฏิรูปประเทศที่ผ่านมา เราจะพบว่าประเทศไทยเคยมีการปฏิรูปมาแล้วในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยในครั้งนั้นเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก แต่หลังจากนั้นมาประเทศไทยไม่มีการปฏิรูปอีกเลย ซึ่งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองครบ 82 ปี ประเทศไทยต้องประสบกับปัญหา ทั้งทางด้านการเมือง สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจมาโดยตลอด และรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ล้วนแล้วแต่ไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ เพราะฉะนั้นตอนนี้ คสช. มีอำนาจเป็นองค์อธิปัตย์ ที่สามารถจะออกกฎหมายหรือยกเลิกกฎหมายก็ได้ แต่หากไม่ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อแก้ไขปัญหา ก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะยึดอำนาจไว้  เพราะฉะนั้นเมื่อมีอำนาจแล้วก็ควรแก้ไขปัญหาให้ได้ 

ธีรภัทร์ ระบุว่า สิ่งที่สมควรปฏิรูปอย่างแรก คือ สิ่งที่เป็นปัญหาสะสมมานาน เช่น การคอร์รัปชั่น และระบบการศึกษา โดยควรนำระบบการศึกษาออกจากระบบการเมือง เนื่องจากมีการเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อยทำให้การพัฒนาการศึกษาขาดความต่อเนื่อง โดยอาจจะให้กลุ่มเทคโนแครตหรือผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดูแล  เพื่อให้ระบบศึกษามีความต่อเนื่องขึ้น

เขากล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องที่สภาพัฒนาการเมืองกำลังผลักดันและนำเสนอต่อ คสช. ก็คือ การจัดตั้ง "สภาพลเมือง" ซึ่งก็คือ เวทีของตัวแทนจากส่วนภูมิภาคของทุกจังหวัด เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจและเสนอแนวทางปฏิรูปประเทศ โดยมีการนำมาตรการปรองดองของ คสช.เข้ามาบูรณาการกับสภาพลเมือง ซึ่งจะสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ในระยะยาว

ธีรภัทร์ ระบุว่า ส่วนหน้าที่ของ คสช.ตอนนี้เข้ามาเป็นผู้พิทักษ์หรือผู้ปกครองต้องทำให้ชัดเจน และต้องทำหน้าที่ให้จบกระบวนการจนไปถึงขั้นตอนของการคืนอำนาจให้กับประชาชน สำหรับเรื่องท่าทีของต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็น EU หรือ สหรัฐอเมริกา คสช.ควรใช้การรับมือแบบเชิงรุก ซึ่งควรให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาดูแล

ส่วนเรื่องที่สำคัญที่สุดในการปฏิรูปคือ การเมือง เราต้องมานั่งคิดว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในระบอบรัฐสภาที่เราเอาแบบมาจากอังกฤษนั้นเหมาะสมกับคนไทยหรือไม่ เพราะคนไทยนั้นไม่มีระเบียบวินัย เรื่องสิทธิเสรีภาพนั้นเอา แต่ความรับผิดชอบไม่มี เพราะฉะนั้น คสช.ต้องเข้ามาดูแลเรื่องระเบียบวินัยของคนไทย 

ธีรภัทร์ กล่าวด้วยว่า ถ้าถามว่าพลเอกประยุทธ์จำเป็นต้องเป็นนายกฯ ไหม ก็ต้องตอบว่าไม่จำเป็นแต่ควรจะเป็นนายกฯ

ด้านมุมมองและแนวทางการปฏิรูปประเทศ นายแพทย์ พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กล่าวว่า สำหรับวงจรการปฏิรูปนั้นเป็นเรื่องปกติที่ต้องเกิดขึ้น สำหรับประเทศอื่นนั้นจะต้องมีการปฏิรูปในทุกๆ 20 – 30 ปี  ซึ่งต้องขอชื่นชม คสช.ในเรื่องการดำเนินงานปฏิรูปประเทศที่มีการทำอย่างจริงจัง และมีการทำงานที่เป็นระบบ ซึ่งกรอบการปฏิรูปมีด้วยกันทั้งหมด 4 กรอบ คือ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และกระบวนการยุติธรรม ซึ่งใน 4 กรอบนี้จะแบ่งย่อยออกเป็น 11 ประเด็น 

พลเดชเห็นว่าการปฏิรูปประเทศไม่ควรมุ่งเน้นไปที่กฎหมายหรือปล่อยให้เป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งรับผิดชอบ แต่ภาคประชาชนเองควรเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

พลเดช ระบุว่า สำหรับการปฏิรูปการเมือง หรือการแยกอำนาจทางการเมือง เสนอให้มีการเลือกตั้งนายกฯ ทางตรง โดยผู้ที่ลงเลือกตั้งนายกฯ ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง แต่ผู้ชนะสามารถที่จะจัดตั้ง ครม.ได้ โดยที่เขาต้องอยู่ได้ด้วยความดีและสามารถตรวจสอบได้  ถึงแม้ว่าตอนนี้จะมีหลากหลายความคิดเห็นจากหลากหลายสำนักคิดก็ตาม แต่เชื่อว่า ภายในอีก 1 ปีข้างหน้า คงสามารถหาจุดลงตัวของการปฏิรูปร่วมกันได้

สุดท้ายเป็นมุมมองการปฏิรูปประเทศของ จรัส สุวรรณมาลา รองศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขากล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้ว สนใจการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะจะเป็นการปฏิรูปที่ช่วยตอบโจทย์ได้หลายอย่าง ทั้งเรื่องของการ คอร์รัปชั่นนโยบาย นโยบายการคลังแบบขาดดุล ซึ่งการปฏิรูปในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก จนทำให้ไม่มีใครกล้าเปลี่ยนแปลงเพราะเชื่อว่าการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางนั้นดีที่สุดแล้ว  ซึ่งจรัสได้เสนอต่อไปว่า เราควรมีการกระจายอำนาจ และปฏิรูปให้เกิดจังหวัดปกครองตนเอง เท่าที่ผ่านมาก็มีการพยายามที่จะเสนอเรื่องนี้อยู่หลายครั้ง แต่ก็ต้องตกไป เพราะฉะนั้นในสถานการณ์ปัจจุบันที่ไม่มีนักการเมืองมาบริหารประเทศ อาจจะเป็นโอกาสดีที่จะทำให้เกิดจังหวัดปกตรองตนเอง 

สำหรับการปฏิรูปเรื่องที่สองที่จรัสเสนอคือ การปฏิรูปตำรวจ เพราะตำรวจเป็นต้นตอของปัญหากระบวนการยุติธรรม และยังโดนแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองได้ง่าย เพราะฉะนั้นนี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ คสช.ควรหยิบยกขึ้นมาจัดการ  สุดท้ายจรัสกล่าวว่า การเปิดเวทีปฏิรูปนี้จะช่วยสลายสีได้ เพราะทุกคนต่างตกอยู่ในความทุกข์เดียวกัน และที่สำคัญคือ กระบวนการจัดเวทีต้องทำให้ประชาชนรู้สึกว่าไม่ได้เป็นเวทีของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ก็จะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งลงได้ และอยากให้สื่อ ช่วยกันนำเสนอสาระและความสำคัญของการปฏิรูปที่จะตามมาเพื่อให้เกิดบรรยากาศของการปฏิรูปมากขึ้น 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท